Case Study ; แว่นชัด..แต่ใช้งานจริงไม่ได้ เกิดจากอะไร ?

By Dr.Loft

Public  : 31 March 2021

 

Intro

"โมหะ" หรือ "ความหลงผิด" เป็นอกุศลธรรมที่เมื่อเกิดขึ้นกับสิ่งใดๆแล้วย่อมนำมาความเสื่อมให้แก่สิ่งนั้น ตัวอย่างชัดเจนที่สุดในปัจจุบันเช่น "สาลิกาตาหวาน" ซึ่งหลวงพี่ที่ทำพิธีปลุกเสกตุกรุดยัดเข้าไปในตาโยมก็มีโมหะในหน้าที่ของความเป็นพระสงฆ์ คือแทนที่จะสร้างปัญญาให้กับโยม ให้เข้าใจเรื่องกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าอยากจะได้เมตตามหานิยมก็ควรจะสอนเรื่อง สังคหวัตถุ 4 ได้แก่ ทาน ปิยวจา อัตถจริยา สมานัตตา ถ้ารู้จักให้ พูดจาดี ทำตัวให้เกิดประโยชน์ ทำตัวให้เสมอผู้อื่น แล้วใครเขาจะไม่รัก แบบนี้เรียกว่าให้ปัญญา

 

แต่การที่จะไปเสกไปเป่าโลหะให้กลายเป็นของวิเศษโดยสันดอนของโยมยังคงที่นั้น จะไปเกิดเมตตามหานิยมได้ยังไง ผิดหลักผิดธรรมของพระพุทธศาสนาโดยตรง นั่นคือโมหะตัวแรกคือ ไม่รู้หน้าที่ ไม่ทำหน้าที่ และ ทำผิดหน้าที่ แล้วยังไปก้าวล่วงวิชาชีพเวชกรรม เพราะการกระทำใดๆที่เกี่ยวข้องกับดวงตามนุษย์นั้น อย่าว่าแต่ตะกรุดยัดเข้าไปในตาเลย ทัศนมาตรที่เรียนเรื่องยาเรื่องโรคมามาก แค่อยากจะหยอดยาขยายม่านตาเพื่อตรวจสุขภาพดวงตา หรือ จะหยอดยาเพื่อให้เลนส์ตาคลายเพื่อตรวจสายตา ยังต้องทำภายในสถานพยาบาล ไม่สามารถทำได้ในร้านตัวเอง แต่หลวงพี่ยัดโลหะเข้าไปใต้เปลือกตา นอกสถานพยาบาล และทำอะไรไม่ได้นอกจากเตือน โชคดีที่เรื่องนี้ยุติโดยเร็ว ไม่อย่างนั้นแล้ว หมอคงเหนื่อยกับการคอยรักษาคนเขลาเหล่านี้

  

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรื่องราวอัพเดตปัจจุบัน ที่เป็นความเสื่อมอันมีเหตุมาจากโมหะคือความไม่รู้ ทำให้หลงผิด ทำผิด และย่อมจะเกิดผลกรรมตามมาจากกรรมที่ผิด  และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมีพูดกันในเรื่องศรัทธา เพราะมันเกี่ยวข้องกับสุขภาพของอวัยวะดวงตาโดยตรง เพราะถ้าเป็นอะไรขึ้นมา ตาติดเชื้อหรือตาบอด เช่ือว่าโยมก็คงเดือดร้อนหมอ พระก็คงจะรอดตัวไป

 

โมหะนั้นเกิดได้ในทุกสาขาวิชาอาชีพ มันจึงเกิดวิชาธาตุไฟต่างๆเกิดขึ้นมากมาย บนพื้นฐานตรรกะที่ป่วย แต่คนที่ปึกและยึดตรรกะป่วยเหล่านั้นอยู่ก็จะหลงว่ามันเป็นจริง ด้วยหลัก "ไม่เชื่อ แต่อย่าลบหลู่" ซึ่งคนเราควรอยู่บนพื้นฐานคำว่า "ทำไม..ถึงเป็นอย่างนั้น อย่างนี้" จะดีกว่า และไม่ขัดกับหลักพุทธที่กว่ากันด้วยเหตุและผล คือ ด้วยเหตุนี้มี เหตุนี้จึงมี เป็นต้น 

 

ส่วนโมหะสำคัญที่เป็นตัวขัดขวางความเจริญของวิชาชีพทัศนมาตรในบ้านเราคือ "โมหะที่เกี่ยวข้องกับความคมชัด" ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเช่น "อย่าชัดเกินไป เดี๋ยวปวดหัว" แล้วโมหะนี้ก็ได้ถูกพัฒนากลายไปเป็นอวิชชาสูตรสำเร็จเทคนิคการจัดสายตาอย่างไรให้ใส่ง่าย ด้วยการกระทำต่างๆ ตัวอย่างเช่น การพยายามปรับสายตาให้เท่าๆกันทั้งสองข้าง หรือถ้าคนไข้ยังไม่เคยใส่สายตาเอียงก็อย่าไปใส่ให้เขาหรือถ้าใส่ก็ใส่น้อยๆ   หรือถ้าเขาชินกับค่าเดิมก็จ่ายล้อกับค่าของเลนส์เดิม  ถ้าเริ่มจ่ายสายตาเอียงก็ให้จ่ายแค่ครึ่งก่อนแล้วเพิ่มสายตาสั้นเอา  ถ้าองศาไม่ได้อยู่ในแกนหลักก็ตบให้มันอยู่ในแกนหลักสองข้างเท่าๆกันเช่นแกน 180 หรือ แกน 90 ส่วนแกนเฉียงๆอย่าง oblique astig. ก็พยายามเลี่ยงๆเอาเดี๋ยวจะใส่ไม่ได้  ถ้าสายตาเอียงไม่ถึงร้อยก็ตัดทิ้งก็ได้  เหล่านี้เป็นอวิชชาที่มีการถ่ายทอดความรู้ที่ผิดๆนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง เมื่อการทำผิดเกิดขึ้นในคนหมู่มาก ความผิดเพี้ยนนี้จึงกลายเป็นดูเหมือนว่าถูกต้องเพราะคนหมู่มากเขาทำๆกันมา อย่างน้อยฉันก็ไม่ได้ผิดคนเดียว หนำซ้ำยังมีคนเชื่อว่าเป็นจริงตามที่อวิชชาข้างต้นนี้ไปสอนต่อ  ได้ยินได้ฟังแล้วก็รู้สึกสลดใจกับอนาคตวิชาชีพที่ยังวนอยู่ในอ่างเพราะไม่สามารถทำลายอวิชชานี้ไปได้ กับอวิชชาศาสตร์แห่งการจัดค่าสายตา https://www.loftoptometry.com/(อ)วิชาศาสตร์จัดค่าสายตา 

 

วันนี้จึงเป็นเรื่องที่ "แว่นเดิมที่ใช้งานนั้น มองไกลชัด แต่ใช้งานจริงไม่ได้"  เกิดคำถามว่าทำไม "ชัดแล้วใส่ไม่ได้" หรือว่าเป็นจริงที่เขาว่าๆกันว่า "ชัดแล้วจะใส่ไม่ได้" วันนี้ผมก็เลยอยากจะเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อให้เห็นว่า เคสนี้ที่ว่าใส่แว่นเดิมซึ่งเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟคู่หลายหมื่นบาทมองไกลแล้วที่บอกว่าชัดนั้น แต่ทำไมจึงไม่สามารถใช้งานจริงๆนั้น มีสาเหตุมาจากอะไร 

 

เรื่องมีอยู่ว่า คนไข้ท่านนี้ ถ้ามองด้วยตาเปล่านั้นมองไกลไม่ชัดและเข้าใจว่าตัวเองสายตาสั้นมาตลอด(เพราะจำมาว่าถ้าเป็นสายตาสั้น มองไกลมัว อ่านหนังสือชัด และคนไข้ก็มีอาการลักษณะนั้น) และที่เข้าใจอย่างนั้นเพราะร้านแว่นบอกว่าไม่ชัดเพราะสายตาสั้นและจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟสายตาสั้น+แอดดิชั่น เพื่อให้เห็นชัดทั้งไกลและใกล้ โดยไม่ต้องถอดแว่นเข้าแว่นออก ซึ่งเมื่อทำมาก็มองไกลชัดขึ้นกว่าไม่ใส่ แต่อ่านหนังสือไม่ชัด มองไม่ถนัด ต้องถอดแว่นอ่านหนังสือถึงจะพอมองเห็น แม้ไม่ค่อยชัด แต่ก็ดีกว่าเลนส์โปรเกรสซีฟเลนส์คู่หลายหมื่นซึ่งมัวกว่ามากและปัญหานี้ก็เป็นมานานตั้งแต่เริ่มใส่เลนส์โปรเกรสซีฟใหม่ๆ ตอนอายุ 40 ปี จนกระทั่งปัจจุบันอายุ 59 ปี เปลี่ยนมาแล้ว 5 คู่ ก็ยังมีปัญหาเดิมอยู่ และได้ยินคำแนะนำจากเพื่อนให้มาลองปรึกษาปัญหาการใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟที่คลินิกเพื่อหาเหตุว่าที่ใช้ดูใกล้จริงไม่ได้นั้นมีสาเหตุมาจากอะไรและผลจากการตรวจก็เป็นที่มาของ case study ในวันนี้

 

Case History

คนไข้ชาย อายุ 59 ปี มาด้วยปัญหาเลนส์โปรเกรสซีฟเดิมที่ใช้อยู่หลายๆคู่ในช่วงหลายปีตั้งแต่เริ่มใส่มานั้นไม่สามารถใช้งานดูใกล้ได้จริง ซึ่งคนไข้เล่าว่า คนขายบอกว่าเลนส์รุ่นนี้ มันดีที่สุดมุมมองกว้าง นุ่มสบาย ปรับตัวง่าย แต่ราคาก็หลายหมื่น แต่ใช้จริงก็มีปัญหา ดูใกล้ยังต้องถอดแว่นและไม่สะดวกในการใช้ชีวิตจริง  จึงเข้ามาปรึกษาเพื่อทำเลนส์โปรเกรสซีฟ

ตาเปล่ามองไกลมัว ภาพมีเงา แสงฟุ้ง แสบตาและแพ้แสง  

ตาเปล่าดูใกล้ พออ่านหนังสือได้ ไม่ชัดมาก แต่อ่านได้ ตัวหนังสือมีเงา 

ไม่มีประวัติโรคตา หรือ อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับดวงตาหรือศีรษะ และไม่เคยพบทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์มาก่อน

ไม่มีปัญหาปวดหัว

สุขภาพแข็งแรง

ใช้สายตาขับรถ และ ดูมือถือบ้าง ไม่ได้ใช้งานคอมพิวเตอร์เท่าไหร่  เน้นการใช้งานในระยะไกลและใกล้เป็นสำคัญ

 

Preliminary Eye Exam

PD.    : 34.5/33

VAsc : OD20/40-1 / OS 20/40-2

 

Habitual Rx (progressive lens) since 2 years ago.

OD -1.25  ,VA 20/20 add +2.50

OS -1.25  ,VA 20/20 add +2.50

 

Aberrometer Data (1.8 mb.)

 

Retionoscopy

OD  Plano -1.75 x 100   ,VA 20/20

OS  Plano -2.00 x 80     ,VA 20/20

 

Monocular Subjective

OS  0.00 -1.75 x 107   ,VA 20/20

OS -0.25 -2.00 x 87    ,VA 20/20

 

BVA (finetuning on trial frame)

OS +0.25 -1.25 x 110 ,VA 20/15

OS   0.00 -2.00 x 85  ,VA 20/15

 

Functional  : Vergence / Accommodation @ 6 m.

Horz.phoria       : 2 BI ,exophoria (mild)

BI-vergence      : x/ 16/2

BO-vergence.   : 12/24/13

Vertical phoria  : 1BU Left Hyperphoria  w/ VonGrafe’s technique (fals positive)

                         : Ortho w/ Maddox rod

Functional : Vergence / Accommodation @ 40 cm

Horz.phoria     : orthophoria

BCC                : +1.75 D

NRA/PRA       : +1.25D /-1.25D

 

Assessment

1.mixed hyperopic astigmatism OD/simple myopic astigmatism OS

2.Normal binocular function

3.presbyopia

 

Plan

1.Full Rx

OS +0.25 -1.25 x 110

OS   0.00 -2.00 x 85

2.N/A and F/U

3.Progressive lens Rx : Multigresiv MyLife 2 ,Active 1.6 w/ Solitaire protect pro 2 x-clean + DNEye Technology

 

Analysis

“Blur Vison”

เมื่อคนไข้เห็นภาพไม่ชัด นั่นก็แสดงถึงว่า โฟกัสของภาพที่เกิดจากแสงวิ่งผ่านระบบหักเหแสงของตา ไม่ว่าจะเป็นชั้นน้ำตา กระจกตา หรือ เลนส์แก้วตานั้น ไม่สามารถถูกจัดระเบียบแสงให้รวมกันเป็นจุด(focal point) หรือไม่สามารถทำให้จุดโฟกัสนั้นตกบนจุดรับภาพ เราเรียกว่ามี refractive error เช่นอย่างที่เรารู้ๆกันก็คือ สายตาสั้น(myopia) สายตายาว(hyperopia)  หรือ สายตาเอียง (astigmatism) ซึ่งสายตาเอียงเองก็แบ่งเป็นชนิดย่อยๆคือ เอียงล้วนไม่มีสั้นยาวผสม เรียกว่า simple myopic astigmatism หรือเอียงมีสั้นผสมเรียกว่า compound myopic astigmstism หรือเอียงแบบมีสายตายาวผสมเรียกว่า compound hyperopic astigmatism  หรือเอียงรวมทั้งสั้นทั้งยาวเรียกว่า mixed hyperopic astigmatism

ใครที่สนใจศึกษาเรื่องสายตาเอียงโดยละเอียดก็สามารถกดลิ้งเข้าไปอ่านได้ที่ลิ้งที่แนบมา >> https://www.loftoptometry.com/Astigmatism_สายตาเอียง

ลักษณะอาการสำคัญของสายตาเอียงนั้นคือจะเห็นวัตถุที่มีลักษณะมีเงา ซึ่งเกิดจากโฟกัสของคนไข้สายตาเอียงนั้นมีมากกว่า 1 จุด ทำให้โฟกัสแต่ละจุดนั้นห่างจากจุดรับภาพไม่เท่ากัน จึงเกิดภาพชัดมัวที่ไม่เท่ากัน เกิดเป็นภาพมีเงาซ้อนดังกล่าว 

 

ในการแก้ไขปัญหาสายตาเอียงนั้นก็ไม่ยาก เพราะสายตาเอียงมันก็เป็นเพียง refractive error ชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าทำ ไม่ค่อยกล้าที่จะแก้ และมักจะกังวลเรื่องการปรับตัวของคนไข้กับเลนส์สายตาเอียง นั้นมีสาเหตุหลักๆคือ ไม่มั่นใจค่าที่ตัวเองหาได้ หรือไม่มั่นใจว่าค่าที่ตัวเองวัดได้นั้นจะเรียกได้ว่าเป็นค่า full correction หรือเปล่า เนื่องจากตัวแปรของสายตาเอียงนั้นค่อนข้างซับซ้อนจากการมีเรื่องของแกนองศาสายตาเอียงเข้ามาร่วมด้วยซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่องศาที่ 1 ถึงองศาที่ 180 และระหว่างแกนของ sphere กับ แกนของ cylinder ก็จะมีการไล่ค่าสายตาเอียงแบบ gradient  ถ้าหาแกนหลัก (principle meridian) ไม่เจอ ค่าอื่นๆก็จะเพี้ยนตามๆกันไป หรือถ้าไป over minus หรือ under plus ก็ทำให้สายตาเอียงมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของกำลังและทิศทางของแกนองศาเอียง ซึ่งถ้าไม่ทำ retinoscope นั้นโอกาสพลาดถือว่าสูงมาก   ดังนั้นปัญหาการปรับตัวส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากเลนส์สายตาเอียง  แต่มาจากค่าสายตาเอียงที่คิดว่าถูกต้องนั้นมันไม่ถูกต้อง หรือ เป็นค่าที่ผิดจากค่าสายตาจริง ก็เลยมีความพยายามที่จะปรับแต่งค่าสายตา หรือ ที่เรารู้จักในคำว่า "ศาตร์การจัดค่าสายตา" ให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการปรับตัว แล้วก็บอกต่อความเข้าใจผิดนี้จากรุ่นสู่รุ่น จนดูเหมือนเป็นเรื่องจริง เพราะแท้จริงแล้ว ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้จัด

 

ถ้าเราพิจารณาสายตาของคนไข้ท่านนี้ที่ตรวจวัดทางคลินิกได้ค่า

ตาขวา +0.25 -1.25 x 110...ถ้าคิดเป็นค่า Spherical Equivalent ,S.E. =+0.87D (S.E.= sphere +1/2astigmatism)

ตาซ้าย  0.00 -2.00 x 85  ...ถ้าคิดเป็นค่า Spherical Equivalent  ,S.E. = +1.00D  (S.E.= sphere +1/2astigmatism)

เมื่อเทียบกับแว่นเก่าคนไข้  OD -1.25  / OS -1.25  ก็จะได้ค่าที่ใกล้เคียงกับค่า Spherical Equivalent แสดงว่า ค่าแว่นเดิมที่วัดได้นั้น แม้จะทำให้คนไข้อ่านได้ 20/20 แต่ไม่ใช่ค่าที่ถูกต้องกับสายตาจริงแต่เป็นเพียงสายตาที่ทำให้คนไข้อ่านได้ชัด 20/20 เท่านั้น และค่าแบบนี้ ไม่ได้เรียกว่าค่า full correction 

 

ซึ่งจากปัญหาสายตาข้างต้น ถ้าคนไข้ถอดแว่นนั้น ก็จะพอเกร็งๆตาสู้ได้บ้าง แต่เนื่องจากอายุมากแล้ว กำลังเพ่งลดลง จึงเพ่งไม่ค่อยไหว ทำให้ตาเปล่านั้นมองเห็นได้ VA 20/40-2  ในทางกลับกัน เมื่อคนไข้ถอดแว่นอ่านหนังสือ จะพออ่านได้บ้าง เนื่องจาก สายตาเอียงมีค่าเป็นลบ ทำให้มี focal line ของสายตาเอียงนั้น ตกบนจอตาได้เมื่อดูใกล้ ซึ่งคล้ายๆกับคนสายตาสั้นถอดแว่นอ่านหนังสือนั่นเอง+

 

และในเคสนี้ คนไข้ไม่เคยได้รับการแก้ไขสายตาเอียงมาก่อนเลย และไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีสายตาเอียง และแว่นที่ใช้อยู่เดิมนั้น ก็เป็นเลนส์สายตาสั้นมาตลอด และ เมื่อจ่ายสายตาสั้นให้คนไข้ที่ไม่มีสายตาสั้น สายตาเอียงก็จะถูกกลบหายไปด้วย S.E.  มองไกลก็ดีกว่าตาเปล่าจริง เพราะมันไปช่วยกลบสายตาเอียงบางส่วน แล้วก็อาศัยเลนส์แก้วตาเพ่งเอา เมื่อกำลังเลนส์แก้วตาถูกใช้เพ่งไกลไปแล้วบางส่วน ก็ทำให้เหลือกำลังดูใกล้ไม่มาก เมื่อหาค่า addition จึงได้ค่าที่มากเกินจริงไปมาก คือแว่นเก่าใช้ add ถึง +2.50D เพื่อที่จะให้คนไข้เห็นชัดที่ 40 cm ทั้งๆที่ add ที่ถูกต้องหลังจากแก้ไขสายตาถูกต้องนั้นให้ค่า add มาเพียง +1.75D และที่สำคัญที่ต้องมีความรู้เมื่อต้องจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟคือ addition สูงมากเท่าไหร่ ค่า distortion ที่เกิดบนโครงสร้างโปรเกรสซีฟก็เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น ทำให้สนามภาพใช้งานน้อยลงไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น uncorrected astigmatism จะไปรวมกับ obliqe astigmatism ที่เกิดขึ้นบนโครงสร้างโปรเกรสซีฟเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้โครงสร้างมีการบิดเบี้ยวไป และเมื่อมองพร้อมกันสองตา binocular จึงมีปัญหาและเป็นที่มาของการใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟไม่ได้ดังกล่าว

 

ดังนั้นการแก้ไขก็ง่ายเพียงแค่ “แก้ค่า refractive error ให้ถูกต้อง” ตั้งแต่การตรวจวัดสายตา การวางเซนเตอร์ การเลือกใช้เลนส์ที่เหมาะสม การประกอบเลนส์ให้ได้เซนเตอร์  การดัดแว่นให้มีค่าพารามิเตอร์ที่ถูกต้องเหมาะสมโครงสร้างที่ออกแบบมา โปรเกรสซีฟก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาทันที เพราะโปรเกรสซีฟนั้นง่ายมาก ถ้ารู้แค่ 3 เรื่องนี้ https://www.loftoptometry.com/สิ่งสำคัญ 3 อย่างที่ต้องรู้เมื่อต้องการทำเลนส์โปรเกรสซีฟ

 

Discussion

กลับมาที่คำที่เอาขึ้นเป็นหัวข้อในวันนี้คือ “แว่นเก่าก็ชัด ทำไมถึงใช้งานจริงไม่ได้” แต่ที่แน่ๆ ว่าแว่นเดิมที่สามารถทำให้เห็นความชัดที่เห็นได้ถึง 20/20 นั้น  ไม่ใช่ค่าที่ corrected แต่เป็นค่าที่ over minus ก็เลยเห็นชัดเท่านั้น 

 

“ชัดบอกอะไร และ ไม่บอกอะไร”

คนที่ทำงานด้านบริการแก้ไขปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นในบ้านเรานั้น ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ใครๆก็สามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย มีความรู้หรือไม่มีความรู้ก็มีสิทธิ์ในการทำ เพราะกฎเกณฑ์กติกาในการควบคุมดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยด้านระบบการมองเห็นให้ปลอดภัยนั้น เขาไม่ถือเป็นเรื่องสาธารณสุข จึงไม่เคยมีกฎหมายออกมาคุ้มครองสุขภาพประชาชนด้านนี้  แต่ก็ไม่เป็นใร เพราะในยุค internet แล้วความรู้สามารถหากันได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ทองไม่แท้จะค่อยๆหลุดลอกไปเอง 

 

“ปัญหาของภาษา”

ศัพท์แพทย์หลายๆคำ ที่พอแปลเป็นไทยแล้ว บางศัพทย์ก็อาจทำให้เราสับสนได้ง่ายเช่นศัพท์ตระกูลต้อทั้งหลาย ได้แก่ cataract=ต้อกระจก  pinguacula=ต้อลม  Pteringium=ต้อเนื้อ  Glaucoma=ต้อหิน ซึ่งคนสมัยก่อนก็พยายามคิดให้เป็นคำที่ง่ายต่อการสื่อสารให้คนไข้เข้าใจง่ายๆ  พอเน้นให้เข้าใจง่ายๆ  ก็มีคนมักง่าย คิดว่าเป็นต้อ ก็เลยจะใช้วิธีเอาต้อออกโดยใช้หนามบ่งต้อ เกิดเป็นการรักษาต้อด้วยการเอาหนามบ่ง ซึ่งเรื่องนี้ผมว่ามีฐานความเข้าใจคำศัพท์ที่ผิดพลาด เพราะถ้าเป็นคำเดิมทับศัพท์ เราคงไม่คิดเอาหนามไปบ่ง cataract หรือบ่ง pinguacula pteringium หรือ บ่ง glaucoma แต่พอใช้ชื่อว่า ต้อ ก็คิดง่ายว่าบ่งเอาก็หาย  ซึ่งหลายท่านอาจยังไม่ทราบว่ามีการรักษาแบบนี้ ก็ลองค้นหาใน google ว่า "รักษาต้อด้วยหนามหวายขม" ก็จะเห็นว่ามีเรื่องนี้อยู่ในสังคมเราจริงๆ 

 

ยิ่งพอเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบหักเหของแสงยิ่งไปกันใหญ่และเป็นเหตุให้เกิดความสร้างตรรกะแบบผิดๆขึ้นมามากมาย และเกิดเป็นสารพัดศาสตร์อวิชาทั้งหลายเกิดขึ้นมา เช่น  เรียกการทำ refraction ว่าการ “วัดแว่น” ก็เลยนึกว่ามันคงง่ายเหมือนเอาไม้บรรทัดไปวัดความสั้นความยาวอะไรสักอย่าง หรือ คงเหมือนการเอาเลนส์ไปวัดด้วยเครื่องวัดกำลังเลนส์ที่เรียกว่า lens meter แล้วให้ค่าเป็นตัวเลขออกมา  

 

อีกตัวอย่างหนึ่งเช่นการเรียก "hyperopia" ว่า “สายตายาว” แล้วก็ไปงงกันเองกับ "presbyopia" ซึ่งเป็นสายตาคนสูงอายุแต่กลับก็เรียกว่า “สายตายาว” เหมือนกัน ไปๆมาๆ ก็เลยเหมารวมว่า สายตายาวคือสายตาคนแก่ซึ่งเกิดเฉพาะในผู้สูงอายุ  เด็กน้อยๆที่เป็นสายตายาวอยู่ก็เลยซวยเพราะไปร้านแว่นก็ได้สายตาสั้นกลับมา แล้วเด็กก็งงว่าทำไมถอดแว่นชัดและสบายตากว่าใส่แว่น  บางครั้งเกิดความเข้าใจผิดไปขนาดที่ว่าคนละเรื่องคนละราวเช่นคิดเอาเองว่า ตอนเด็กสายตาสั้น พออายุมากก็จะสายตายาว งั้นมันจะหักล้างหายไปในที่สุด เหล่านี้เป็นปัญหาที่พูดมาหลายปีปัจจุบันคนที่เข้าใจเรื่องนี้แบบผิดๆก็ยังมีอยู่มาก

 

พอเริ่มเข้าสู่ยุคเครื่อง auto-refractometer ออกมา หรือบ้านเราเรียกว่า เครื่องวัดสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์  เครื่องก็มักยิ่งค่าออกมาได้ตัวเลขเหมือนกัน ยิงซ้ำๆได้ค่าเดิม ก็ไปเหมาว่า ค่านั้นมันถูกต้อง ที่ไหนได้มันเป็นค่าที่ผิดซ้ำๆมากกว่า พอไม่รู้ก็เอาเครื่องที่ไม่สามารถพึ่งพาได้เอามาเป็นสรณะ  เกิด gimmick ขึ้นมาว่า “ตรวจวัดสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ละเอียดแม่นยำที่สุดในโลก วาซั่น...”  ขณะที่วิทยาการโลกล้ำขนาดที่ว่า  Space X จะพาคนไปทัวร์ดาวอังคารกันแล้วแต่วิทยาการด้านการแก้ไขปัญหาการมองเห็นยังเกาะเทคโนโลยีเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างเหนียวแน่นและไม่ยอมเปลี่ยนแปลง 

 

ตรรกกะวิบัติ

“ชัดแปลว่าใช่” ตรรกะนี้เป็นตรรกะที่เพี้ยน เพราะความชัด หรือ เห็นตัวหนังสือเล็กแถว 20/20 ได้นั้น  บอกเราได้เพียงว่า แสงขณะนั้นตกบนจุดรับภาพ แต่ไม่ได้บอกเราเลยว่า มันตกลงด้วยตัวมันเอง หรือ มันตกลงด้วยแรงมาบังคับหรือกระทำให้มันตกบนจอรับภาพ เพราะเลนส์ที่สายตาเกินแล้วเลนส์ตายังเพ่งไหวมันก็ชัดกันทั้งนั้นแหล่ะ เช่น คนสายตายาวมองไกลแต่กำเนิดนั้น ถ้าเลนส์มันยังพอมีแรงเพ่งไหวมันก็ชัด หรือ คนสายตาสั้น ที่ใส่กำลังเกินค่าเลนส์จริง ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเพ่งไหวมันก็ชัด  หรือคนสายตาเอียงที่ไม่ได้แก้ไข ถ้า circle of least confusion มันอยู่กลางจอรับภาพได้มันก็มองเห็น แต่ชัดที่พูดมาเหล่านี้ไม่ได้บอกอะไร ไม่ได้บอกว่าฟังก์ชั่นมันทำงานปกติ  ไม่ได้บอกว่ามันชัดเฉยๆบนความผ่อนคลาย ดังนั้นพอมันชัดด้วยความตึงเครียดของฟังก์ชั่น มันก็เลยชัดได้ไม่นาน หรือ ชัดแต่ปวดหัว เมื่ยตา ล้าตา ปวดกระบอกตา ภาพซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน

 

มันก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่เปิดโปรแกรมทิ้งไว้เยอะๆ หรือมี virus รันอยู่ มันก็ใช้ทรัพยากรของ cpu พอทำงานสักพัก เดี๋ยวเครื่องมันก็แฮ้ง เพราะมันเหลือ buffer ให้เราทำงานนิดเดียว ทำงานไปหน่วงไป งานไม่เสร็จ ก็เช่นเดียวกัน  ก็ถ้าแรงเพ่งของระบบฟังก์ชั่นของตาถูกนำเอาไปใช้ compensate ปัญหาสายตาที่ไม่ได้แก้ไข แล้วมันจะเหลืออะไรเอาไว้ทำงาน ทำได้หน่อยมันก็เพี้ยน มันก็เอ๋อ นี่ต่างหากคือแก่นของปัญหา  ดังนั้น “ชัดไม่ได้แปลว่าฟังก์ชั่นจะดี”

 

“ชัดแบบไหนที่ใช่”

ชัดที่ใช่ คือ ชัดโดยไม่มี refractive error หลงเหลืออยู่เลย คือแสงที่เดินทางมาจากระยะอนันต์ เมื่อเดินผ่านระบบหักเหแสงไม่ว่าจะเป็นชั้นน้ำตา กระจกตา เลนส์แก้วตาแล้ว แสงมีการรวมกันเป็นจุดแล้วจุดนั้นตกบนจุดรับภาพบนจอประสาทตา โดยเงื่อนไขของเลนส์ตาอยู่ในภาวะผ่อนคลาย ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะสบายของระบบ ไม่มีการ effort ช่วยหลือ หรือ บังคับ ใดๆ จากเลนส์แก้วตาที่คอยประคองให้จุดนั้นอยู่บนจุดรับภาพ คือมันตกบนจอรับด้วยตัวของมันเอง เราเรียกภาวะนี้ว่า “emmetropia” ซึ่งคนไข้จะมองไกลชัด 20/20 หรือดีกว่า โดยไม่มีการเพ่งของระบบเพ่งของดวงตา

 

ดังนั้นในการทำ refraction ก็เพื่อหาดูว่าคนไข้มี refractive error อยู่หรือไม่ ถ้ามี มีอยู่เท่าไหร่ ก็หาค่ากำลังเลนส์ซึ่งอาจจะเป็นเลนส์บวก เลนส์ลบ เลนส์สายตาเอียง ในการจัดระบบแสงใหม่ให้รวมเป็นจุด แล้วนำจุดไปวางบนจอตาด้วยเลนส์สายตา เพื่อให้ total optical system ใหม่ที่มาช่วยระบบเดิมเช่นเลนส์สายตา เมื่อทำงานร่วมกันแล้ว จะทำให้เกิดภาวะเสมือน emmetropia เพื่อให้เกิดความชัดสบายของระบบ ก็จะมี buffer ของฟังก์ชั่นทำให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เหนื่อย ไม่ล้า  นี่ต่างหากคือการทำ refraction ในอุดมคติ  ไม่ใช่การ “วัดแว่น” หรือ “จัดสายตา”ไปเรื่อยเปื่อยเพื่อหาค่าชัด

 

ดังนั้นให้ทำความเข้าใจกันเสียใหม่ว่า “งานทัศนมาตรไม่ใช่งานวัดแว่น แต่เป็นงาน refraction” และ ทัศนมาตร เป็นวิชาชีพที่มีปริญญาสูงสุดของตัวเอง หรือ doctor degree สามารถตรวจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ไข รักษา ได้ด้วยตัวเอง ทัศนมาตรจึงไม่ใช่อาชีพวัดแว่น ไม่ใช่ผู้ช่วย มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในวิชาชีพของตัวเอง ก็ขอให้ทัศนมาตรทุกคนยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ในการทำงาน อย่าเอาง่าย อย่าเอาแต่ hardsale อย่าเอาแค่คิดเรื่องทำโปรโมชั่น  อย่าอยากขายจนขาดสติจนแยกแยะผิดชอบชั่วดีไม่ออก  ถ้ายังไม่รู้ก็อ่านหนังสือให้มาก  เรียกว่า “ปริยัติ”  พอรู้แล้วก็ปฏิบัติให้ชำนาญเรียกว่า “ปฎิบัติ”  แล้วอยู่กับมันให้งานของเรามันซึมอยู่ในสายเลือดและลมหายใจเรียกว่า “ปฎิเวช

 

ถ้าคนส่วนใหญ่ยังคงก้มหน้าก้มตาวัดแว่นเอาชัด แล้วเกิดตรรกะวิบัติว่า “ชัดแปลว่าใช่” ก็จะเกิดการไปยึดเอา“ศาสตร์แห่งการจัดสายตา” ที่หาแก่นสารไม่ได้ขึ้นมาเป็นสรณะ และเรื่องนี้เคยได้เขียนไว้แล้วในเรื่อง  “อวิชชาศาสตร์แห่งการจัดสายตา” เพราะศาสตร์นี้ “มันไม่ใช่วิชา แต่มันเป็นอวิชชา” และ อวิชชานี้ มีอิทธิพลขนาดว่าศาสตร์แห่งทัศนมาตรที่เป็นศาสตร์สากลของโลกที่เกิดขึ้นในพัฒนาแล้ว นอกจากยังทำลายอวิชชาตัวนี้ไม่ได้แล้ว และบางคนที่ยังถูกอวิชชานี้ครอบงำก็ยังไปยึดเอาอวิชชานี้ไปถ่ายทอดต่อในการเรียนการสอนเด็กที่ยังไม่ประสีประสา และเชื่อแล้วนำไปปฎิบัติตามด้วยความเดียงสา ส่งต่อกรรมไม่รู้จบ  และไม่แปลกใจหากคนในวงการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแว่นตาหรือสายตาถ้าหากยังมีอวิชชานี้ครอบอยู่ ไม่ว่าจะทำโดยใครก็ดูเหมือนไม่ต่างกันนัก เพราะศาสตร์นี้เกิดขึ้นในยุคแรกที่การทำแว่นนั้นไม่มีการเรียนการสอนในระดับ doctor degred แต่เป็นการจำๆส่งต่อๆกันมาจากประสบการณ์การทำงาน แต่เมื่อทัศนมาตรศาสตร์เกิดขึ้นแล้ว กะลาตัวผู้ที่ไร้รูแสงเข้านี้ควรจะถูกเคาะให้แตก ไม่ใช่มาช่วยกันปกป้องและสอบทอดอวิชชาเหล่านี้ 

 

แต่การที่จะเคาะกะลานี้ให้แตกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องที่ฝังหัวผู้ให้บริการคนไทยเกือบจะลึกลงไปใน DNA ว่าจะต้องจัดแว่นให้ใส่สบาย และถ้าใครจัดได้ให้ลูกค้าใส่ได้ เรียกผู้นั้นว่า เทพ  ซึ่งสำหรับผมขอเรียกว่า หยาบ น่าจะถูกต้องกว่า แท้จริงแล้วแว่นที่มัน corrected ถูกต้องมันใส่สบายทุกคนนั่นแหล่ะ ไม่ต้องไปจัดมัน แค่แก้ให้มันถูกต้อง เอาแค่นั้น แต่ที่มันยังต้องจัดก็เพราะยังไม่มีทักษะพอที่จะหาค่าที่ถูกต้องก็เท่านั้นเอง จึงต้องพยายามจัดอันที่ผิดๆนั้นให้พอใส่ได้ เรื่องมันมีเท่านี้

 

ปัญหาที่หยั่งรากแท้จริงของเรื่องนี้คือ คนเขลามักเข้าใจว่าการวัดสายตาเป็นเรื่องง่าย และยังแสดงออกถึงความเดียงสาของตังเองออกมาให้โลกรู้ เช่นคำว่า บริการตรวจวัดสายตาด้วยเครื่องมือที่ละเอียดและทันสมัยที่สุดในโลก ทั้งๆที่ใช้เครื่องผิดประเภท เพราะเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ไม่ได้ทำงานกันแบบนั้น หรือเอาค่ามาใช้ตรงๆแบบนั้นไม่ได้  ซึ่งคู่มือเขาก็เขียนเอาไว้ว่ามันไม่ใช่เครื่อง Diagnosis เป็นเพีย investigation instrument ในการใช้ประกอบการวินิจฉัยเท่านั้น  แต่เมืองไทย การมีเครื่องพรรณนี้เหมือนเป็นยันต์กันผี หรือ เป็นจุดขาย  เลยเอาของที่ขายไม่ได้เอามาขาย ซื้อมาแพงก็เลยตั้งกลางร้านเสียเลย ก็เลยสร้างปัญหาต่างๆออกมามากมาย

 

คนไข้ข้างต้นก็คือหนึ่งในหลายพันหลายหมื่นคนที่เป็นเหยื่อของความชัด  เพราะแม้ว่าคนไข้จะ complain ปัญหากับเลนส์ที่ใช้ แต่พอช่างให้อ่าน VA chart ก็อ่านได้ และสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพสายตาส่วนใหญ่ในประเทศไทย ถ้าอ่านได้ 20/20 แปลว่า ปัญหาของผู้วัดได้เสร็จสิ้นแล้ว ที่เหลือเป็นปัญหาของผู้รับบริการ ให้ไปหาทางใส่ปรับตัวให้ได้เอาเอง ซึ่งเคสนี้ คนไข้ไม่มีสายตาสั้นเลยแม้แต่น้อย แต่แว่นที่ใส่มาร่วม 20 ปี เป็นแว่นสายตาสั้นมาตลอด โดยไม่เคยมีการแก้ไขสายตาเอียงเลย  

 

คำถามคือ  สายตาเอียงพึ่งจะมีหรือเกิดขึ้นตอนที่มาตรวจ refraction หรือ อยู่ๆสายตาสั้นก็หลายไป หลังจากมาตรวจที่ลอฟท์หรือ 

 

คำตอบคือไม่  คนไข้ก็มี refractive erro แบบนี้มาตั้งแต่ต้น และเป็นมาตั้งแต่เด็ก แต่คนตรวจวัดต่างหาก ที่ไปยัดเยียดสายตาสั้นให้กับคนไข้ ทั้งๆที่เขาไม่มี  แล้วค่าผิดๆที่ยัดๆให้ไป พอคนไข้เห็นชัดอ่านได้ก็ไปมโนเอาเองว่า ตัวเองนั้นจ่ายถูกต้อง พอเลนส์ใส่ไม่ได้ก็โทษโครงสร้างเลนส์ แต่ย้ายเลนส์ไปทุกค่ายแล้วก็ใส่ไม่ได้สักค่าย กลายเป็นกรรมของคนไข้ ที่ต้อง shopping around ไปเรื่อยๆ

 

นี่ไง...ความคิดที่ว่า วัดแว่นเรื่องง่าย ใครๆก็ทำได้  คงจะเห็นว่าเป็นเพียงตัวเลขกระมัง เพราะค่าต่างๆที่ทัศนมาตรใช้ในการวิเคราะห์นั้นอยู่ในรูปของตัวเลข และ เวลาแก้ไขก็ใช้การวิเคราะห์โดสจากตัวเลขเช่นกัน แต่คนไม่รู้ก็ไปดูเอาแค่ตอนจบว่ามันเลขอะไร โดยไม่ได้สนใจที่มาที่ไปของตัวเลข และ คิดเอาเองว่า คอมพิวเตอร์ก็ทำได้ ฉันก็ทำชุดตัวเลขได้ และใครก็ห้ามฉันไม่ได้ แค่เอาคอมพ์ยิง ได้เลข หยิบเลขไปเสียบ อันไหนชัดเอาอันนั้น และบอกว่า "ทำได้เหมือนกัน"  จริงๆต้องพูดใหม่ว่า "ทำได้..เพราะไม่มีกฎหมายห้ามทำ  แต่ค่าที่ได้ไม่เหมือนกัน"  ดังนั้น Refractive error เกิดขึ้นแล้วเขาให้แก้ erro ให้มันหายไป ไม่ใช่จัด error หนี่งไปสู่ error อีกอัน ด้วยอวิชชาศาสตร์จัดค่าสายตา

 

“ทลายอวิชชา”

หนทางเดียว ง่าย เร็ว และ ประหยัด และทำได้ทันที คือ “การทำ retinoscopy” เพราะ retinoscopy นั้นไม่เคยหลอกใคร  ถ้าแสงไม่ nutral ก็คือไม่ nutral และเพียงแค่การเห็นชัดนั้น reflect ที่เห็นอาจจะไม่ nutral ก็ได้  ส่วนแสงที่ nutral นั้นเป็นจริงเสมอคือเป็นสายตาที่เป็นจริง และ ชัดจริง ไม่ใช่ชัดเพ่งอย่างที่เครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ทำและเด็ดดวงที่สุดของ retinocope คือ สายตาเอียงจะไม่สามารถหลบหนีการควานหาด้วยเรติโนสโคปได้แม้สักเสี้ยว 0.25DC แต่ถ้าไม่ใช้ หรือ ใช้ไม่เป็น หรือเขลาที่เชื่อ aberrometer เครื่องละ 2 ล้านนั้น สามารถให้ค่าที่เพี้ยนไปได้มากกว่า 2.00D ซึ่งเป็นเรื่องจริง 

 

ดังนั้น ความแม่นยำของ retinoscope นั้น มีมากกว่า 80% ในคนที่ skill พื้นฐานทั่วๆไป  และมากกว่า 95% สำหรับ expert ดังนั้นผู้ให้บริการด้านสายตาในประเทศไทยลุกขึ้นหยิบ retinoscope มาใช้  แน่นอนว่าถ้าทำได้ สายตาของคนไทยส่วนใหญ่ทั่วไปจะได้รับการแก้ไขที่ใกล้เคียงค่าสายตาจริงกว่า 80%  ไม่ใช่เหมือนปัจจุบันที่ค่าสายตาที่อยู่บนแว่นตาคนส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่แท้จริงเลย  บางคนที่ใส่ได้ก็ทนใส่ผิดๆจนชิน  และ คิดว่าผิดคือถูกต้อง พอจะแก้ให้ถูกต้องก็กลายเป็นเรื่องวุ่นวายกันเลยทีเดียว    

 

และฝากถึงท่านผู้ให้บริการแก้ไขปัญหาสายตาทั้งหลายว่า ถ้ายังทำงานยึดหลักจัดสายตาอยู่หรือยังยึดค่าสายตาเก่าของคนไข้อยู่ ยังตัดนั่นตัดนี่ทิ้งอยู่  ยังปัดค่าสายตาให้มันเท่าๆกันอยู่  ยัง over minus เพื่อตัด cylinder ทิ้งอยู่  ยังตบองศาเข้าแกนหลักอยู่  ถ้าจะทำอย่างนั้นก็ไม่ต้องตรวจวัดสายตาก็ได้  และ ไม่ต้องตรวจ binocular vision ก็ได้ เพราะมันไม่จำเป็น เพราะ uncorrected refractive error นั้น สร้างปัญหา binocular vison ได้เต็มไปหมด  ดังน้ัน ถ้าไม่คิดแก้ ก็ไม่ต้องตรวจ binocular ให้เสียเวลา และ ถ้าคุณยังไม่สนใจถึงความจำเป็นต้องให้คนไข้มี primary gaze มองไปที่ระยะอนันต์เพื่อดูตำแหน่ง phoria ด้วยการมีห้องตรวจที่ลึก 6 เมตร  นั่นก็แสดงถึงว่าคุณไม่ได้มีความเข้าใจเรื่อง binocular vision ซึ่งเป็นเรื่อง vergence เลย  

 

The point

เรื่องนี้ ถ้าเรามองแค่ผลสายตาตอนสุดท้ายว่า

OS +0.25 -1.25 x 110

OS  0.00 -2.00  x 85

 

มันก็ดูไม่เห็นจะเป็นอะไร หรือ แปลกตรงไหน กะอีแค่ตัวเลขธรรมดาๆ  แต่ตัวเลขธรรมดานี่แหล่ะ ที่ใส่ค่าผิดๆ มานานกว่า 20 ปี และใช้เงินทำโปรเกรสซีฟที่ไม่สามารถใช้งานได้จริงไปหลายแสน จนหมดศรัทธาในเลนส์โปรเกรสซีฟไปแล้ว  จนกระทั่งปัญหาได้ถูกแก้กับอิแค่ชุดตัวเลขใหม่  ปัญหาทุกอย่างก็หมดไป  และเป็นบทสรุปว่าคำว่า full correction ที่ผมบอกว่าต้องจ่ายอย่างตรงไปตรงมา คือตรวจเจอเท่าไหร่ก็ให้แก้ให้หมดนั้น  มันต้องเป็น correction แท้จริง ไม่ใช่คิดเอาเองว่ามันคือ correction ทั้งๆที่ยังไม่ได้เห็นด้วยตาผ่านกล้อง retinoscope  ถ้ายังไม่ทำก็อย่าพึ่งไปมั่นใจ subjective มากนัก เพราะมันง่ายที่จะผิด 

 

เรื่องการแก้ไขปัญหาสายตานั้น ยิ่งไม่มีความรู้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมองว่าปัญหาสายตาเป็นเรื่องง่าย ในทางตรงกันข้าม ถ้ายิ่งมีความรู้มากเท่าไหร่ ก็จะต้องมีเรื่องที่ต้อง concern ต้องระวังอยู่มากขึ้นตามความรู้ที่มี  ยิ่งรู้ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ผลของการตรวจวัดและการตรวจสอบระบบการทำงานร่วมกันของสองตา ก็จะยิ่งต้องอุดช่องที่อาจทำให้ผลการตรวจคาดเคลื่อนมากเท่านั้น ตั้งแต่การมีห้องตรวจมาตรฐาน 6 เมตร คุมไฟมืดสว่างได้ มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่เชื่อถือได้ ตลอดจนใช้กระบวนทักษะต่างให้เหมาะสมแต่ละเคสและสถานการณ์ เพื่อลดความผิดพลาดให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าไม่รู้ถึงการณ์ ก็สามารถวัดแว่นได้แม้ตามตลาดนัดและลานจอดรถ

 

 เหมือนโบราณว่า "รู้มากจะยากนาน"

 

สรุปทิ้งท้าย 

"ชัดไม่ได้บอกอะไร" ชัดไม่ได้บอกว่าค่าสายตาที่ใช้อยู่นั้น corrected หรือไม่ หรือ binocular function ทำงานสมบูรณ์ดีอยู่หรือไม่ 

 

ชัดอาจจะแปลว่า ใช้ค่าสั้นที่มากเกินจริง (over minus) หรือใช้ค่าบวกที่อ่อนเกินจริง (under plus) หรือมีการใช้ spherical equivalent ในการแก้สายตาเอียงแทนที่จะใช้เลนส์ cylinder แก้ error แบบตรงไปตรงมา หรือแม้กระทั่งความพยายามปัดค่าสายตาให้มันเหมือนๆกัน การพยายามตัดเอียงทิ้ง การพยายามปัดองศาเอียงเข้าแกนหลัก การจ่ายเลนส์ลักษณะนี้ คนบางประเภทเรียกว่า "ศาสตร์การจัดสายตา" ด้วยมีความเชื่อว่า จะช่วยในการปรับตัว

 

แต่สำหรับผม การจ่ายลักษณะนี้มันเป็นการนำขยะไปหมกอยู่ใต้พรม และถ้ามันใช่มันก็ไม่มีเรื่องที่ปรับตัว เว้นแต่ค่าที่หามานั้น มันยังไม่ใช่ และการทำดังกล่วยังแสดงถึงความไม่รู้ หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า uncorrected refractive error นั้นมันเชื่อมโยงกับ binocualar dysfunction ยังไง ก็เลยทำๆไป วัดเอาชัดไป โดยไม่สนใจว่าตามนุษย์มี 2 ข้อง และต้องทำงานร่วมกัน ไม่เหมือนวัว ควาย ที่ตาสองข้างมันอิสระต่อกัน ต่างคนต่างดูต่างเห็นต่างมอง แต่คนไม่ใช่แบบนั้น

 

หนำซ้ำยังกลับเรียกสิ่งนั้นว่า งานศิลปะ พอไปเรียกการมั่วนั้นว่า ศิลปะ มันก็เลยไม่มีหลักมีเกณฑ์ แล้วมโนเอาในใจว่านี่คืองาน abstract แล้วก็เอางานประเภทนี้ไปสอนคนต่อ เห็นแล้วก็อดเป็นห่วงสาวกที่ถูกปลูกฝังมาอย่างนั้นไม่ได้ เพราะคงลืมนึกไปว่า สุขภาพคนไม่ใช่งาน abstract ที่จะมโนตามจินตนาการของคนตรวจได้

 

ก็อยากจะฝากเอาไว้  ซึ่งก็ขอขอบคุณแฟนเพจ แฟนคอลัมน์ ทุกท่าน ที่ให้กำลังใจในการติดตามอ่านกันเรื่อยมา ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ก็ขอให้ท่านทราบไว้อย่างหนึ่งว่า เป้าหมายในใจผมสูงสุดคือ ยกระดับมาตรฐานการทำงานในระดับวิชาชีพให้สูงขึ้นทัดเทียมอารยะประเทศ  เพราะเราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนามานานเกินไปแล้ว อยากจะได้ยินก่อนสิ้นใจว่า ไทยคือประเทศพัฒนาแล้ว อย่างน้อยก็ในด้านสาธารณสุขด้านสายตาและระบบของการมองเห็น ก็หวังว่าจะเข้าใจในเจตนารมย์​  

 

สวัสดีครับ  

ดร.ลอฟท์

 

 

 

 


คลินิกทัศนมาตร ลอฟท์ ออพโตเมทรี 

578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220

โทร 090-553-6554

LineID : loftoptometry

Fb : www.facebook.com/loftoptometry

Googlemaps : https://goo.gl/maps/loft_optometry_location