Topic : " สิ่งสำคัญ 3 อย่างที่ต้องรู้เมื่อต้องการทำเลนส์โปรเกรสซีฟ" 

by Dr.Loft 

update : 28 May 2021

 

เลนส์โปรเกรสซีฟกับสายตายาวในผู้สูงอายุ 

เลนส์โปรเกรสซีฟนั้นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสายตายาวในผู้สูงอายุ (Presbyopia) ซึ่งเป็นปัญหาของคนวัยสี่สิบ สิ่งที่ต้องเจอกันทุกคน คือ มองใกล้ไม่ชัด ต้องเลื่อนหนังสือออกไปห่างและเริ่มมีปัญหาเมื่อต้องอ่านหนังสือในที่ที่มีแสงน้อย ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึงเราทุกคนจะได้เป็นกัน ก็คือ

 

- คนที่สายตาสั้น จะเริ่มมองลอดแว่นเมื่ออ่านหนังสือ

- คนสายตามองไกลปกติ จะเริ่มเลื่อนหนังสือออกไปเมื่อต้องดูใกล้

- คนสายตายาวมองไกลอยู่แล้ว จะเริ่มมองไกลไม่ชัด  อ่านหนังสือจะมีปัญหามากกว่าเคสอื่นๆ

 

ครั้นจะใส่แว่นอ่านหนังสือ...ก็มองไกลไม่ชัด ต้องมองลอดแว่น ทั้งเสียบุคลิค บ่งบอกอายุ ครั้นจะใส่เลนส์สองชั้น ระยะคอมพิวเตอร์ก็มองไม่เห็น หนำซ้ำยังดูแก่ ไม่สวยงาม ใครก็อยากดูสาวดูหนุ่มกันทุกคนแหล่ะว่าไหม (จริงๆก็แก่แหล่ะ แต่ไม่อยากแก่แบบประเจิดประเจ้อ)

 

เลนส์โปรเกสรสซีฟจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดทั้งฟังก์ชั่นและความสวยงาม  คือสามารถมองเห็นได้ทุกระยะและไม่มีรอยต่อซึ่งดูสวยงามกว่า ทำให้ปัจจุบันนั้น ตลาดเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นเติบโตมากและโครงสร้างในปัจจุบัน ก็ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก เพราะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย สามารถจัดการกับภาพบิดเบี้ยวได้ดีขึ้น ใส่ง่ายขึ้น ปรับตัวง่ายขึ้น ในปัจจุบันเลนส์โปรเกรสซีฟจึงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสายตาคนแก่  

 

แต่กระนั้นก็ตามแต่ คนที่ประสบความสำเร็จกับเลนส์โปรเกรสซีฟจริงๆหรือสามารถได้ใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟแบบเต็มประสิทธิภาพของมันนั้นส่วนตัวคิดว่าน้อยกว่าคนใส่ไม่ได้อยู่มาก  ส่วนใหญ่แล้วก็ใส่ๆถอด ๆ ใส่ไม่ติดตา รำคาญ ต้องคอยขยับแว่น บางคนตกบันได ปรับตัวไม่ได้เข็ดไปเลยก็มี  ทำไมถึงได้เป็นอย่างนั้น วันนี้ก็เลยเอาหัวใจของเลนส์โปรเกรสซีฟมาเล่าให้ฟัง ซึ่งมีกันอยู่ 3 เรื่องที่ผู้จะจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟจะต้องรู้ก็คือ สายตา(ที่ถูกต้อง) กรอบแว่น(ให้เหมาะสม)  ฟิตติ้ง(ให้ได้พีดีตรงกับเซนเตอร์) เท่านี้ จะช่วยให้คนไข้ใช้งานโปรเกรสซีฟได้ง่ายขึ้นมาก ซึ่งวันนี้เราจะไปรู้เหตุผลว่าทำไมถึงทำให้คนไข้สามารถปรับตัวกับโปรเกรสซีฟได้ง่าย 

 

หัวใจ 3 ประการของเลนส์โปรเกรสซีฟ

1. ค่าสายตา

2. กรอบแว่น

3. พีดี

 

มีแค่นี้แหล่ะ ....จบแล้ว...ง่ายมั้ย...ถ้าเข้าใจ 3 เรื่องนี้ผมว่าเราสามารถช่วยให้คนไข้ทุกคนสามารถใส่เลนส์โปรเกรสซีฟได้อย่างสบาย และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปรับตัวเข้ากับเลนส์ไม่ได้ ถ้าโครงสร้างโปรเกรสซีฟคู่นั่นไม่แย่จริงๆ  เรามาค่อยๆไล่กันเป็นเรื่องๆ 

 

แม้ว่าเลนส์โปรเกรสซีฟจะเป็นเลนส์อเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้ในทุกระยะและไม่มีรอยต่อให้เห็น แต่ปัญหาของการปรับตัวกับเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น คือภาพบิดเบี้ยวที่อยู่ด้านข้างของเลนส์ ซึ่งถ้าเลนส์ไม่ดี ด้านข้างจะเบี้ยวมาก ใส่แล้วคลื่นใส้ อยากอาเจียน ภาพจะโคลงเคลงเวลาเดิน ชวนเวียนหัว บางคนก็เข็ดไปเลยก็มี  ส่วนเลนส์คุณภาพดีๆ ด้านข้างของเลนส์จะไม่ถึงกับภาพเบี้ยว แต่เป็นภาพลักษณะมัว  สนามภาพกว้าง ทำให้สามารถปรับตัวได้ง่าย  ทีนี้เรามาคุยกันถึงว่า “ถ้ารุ่นเลนส์ที่เราใช้นั้น เป็นรุ่นที่ดีแล้ว จะทำอย่างไรให้เลนส์คู่นี้ทำออกมาแล้ว ให้มันดีที่สุด” มาเริ่มจากพื้นที่บิดเบี้ยวก็แล้วกัน ว่ามันมาจากไหน 

 

“ภาพบิดเบือนของเลนส์โปรเรสซีฟ”

คนส่วนใหญ่นั้นรู้ว่าเลนส์โปรเกรสซีฟจะต้องมีภาพบิดเบี้ยวด้านข้างเสมอ แต่หลายคนไม่รู้ว่าภาพบิดเบือนที่มีอยู่นั้นคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และส่วนใหญ่ก็จะรู้จากปากของ detail lens ว่าเลนส์รุ่นนี้มีมุมมองกว้างกว่ารุ่นนั้นรุ่นนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ และก็มักจะส่งสารต่อคนไข้ไปอย่างนั้นโดยไม่ค่อยได้เอะใจว่า มันเป็นจริงอย่างที่เซลล์ขายของพูดหรือไม่  ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ ภาพบิดเบี้ยวที่ว่านั้นคืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร และถ้าจะแก้ไขหรือทำให้ภาพเบี้ยวลดลงก็จะได้แก้ที่สาเหตุ น่าจะเป็นทางที่ให้ผลดีที่สุด 

 

รูปซ้ายมือเป็นโครงสร้างโปรเกรสซีฟที่ไม่ดีที่ยังไม่ผ่านการ optimize จะเห็นว่ามีการบิดเบี้ยวของโครงสร้างที่ค่อนข้างมาก  ขณะที่ข้างขวานั้นเป็นโครงสร้างที่ผ่านการ optimize ทำให้พื้นที่บิดเบี้ยวด้านข้างนั้นลดลงไปได้มากปรับตัวง่ายกว่า 

 

Distortion vs  ขยะ 

เลนส์โปรเกรสซีฟเป็นเลนส์หลายชั้นไร้รอยต่อ ที่เกิดจากการขัดสายตาเอียงที่ไม่พึงประสงค์ใส่เข้าไปเพื่อสมานชั้นเลนส์ให้เป็นเนื้อเดียว เพื่อให้ได้ทั้งฟังก์ชั่นใช้งานได้ในทุกระยะและความสวยงาม แต่ก็จะต้องแลกกับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์คือภาพบิดเบี้ยวที่เกิดบริเวณด้านข้างและเราเรียกว่า distortion เมื่อเผลอไปมองแล้วจะเกิดภาพไหวๆ เบี้ยวๆ ล้มๆ เห็นแล้วอยากอ๊วก เหมือนเมาเรือ ซึ่งเราอาจจะเรียกสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่จำเป็นต้องมีนั้นว่า "ขยะบิดเบือน"

 

จริงๆแล้ว ขยะไม่ใช่ปัญหาของบ้าน ถ้าตราบใดขยะนั้นอยู่ในถึงขยะที่ปิดมิดชิดในที่ที่เหมาะสม บ้านก็ดูสะอาดดี ไม่มีใครเดือดร้อนกับการมีขยะในบ้าน  แต่ปัญหามันจะกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีสัตว์เลี้ยงและไม่เลี้ยงเช่น หมา แมว หมี หรือหนู มาคุ้ยขยะออกมาจากถังเพ่นพ่านทั่วบ้านไปหมด มองทางใหนก็เจอแต่ขยะ อันนี้สร้างปัญหาให้กับเจ้าของบ้านแน่นอน 

 

เลนส์โปรเกรสซีฟก็เช่นกัน distortion บนโครงสร้างโปรเกรสซีฟก็เหมือนขยะส่วนเกินที่อยู่บนเลนส์ แต่มันจะไม่สสร้างปัญหาถ้าหากว่ามันอยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ล้นออกมาเพ่นพ่านบนสนามภาพใช้งาน จากปัจจัยต่างๆ เช่น base curve effect , lens tilt , inset ไม่ถูกต้อง เป็นต้น 

 

ขยะ Oblique Astig. เกิดขึ้นได้อย่างไร  

 

คำตอบคือ มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดเมื่อเราสร้างเลนส์โปรเกรสซีฟหรือเลนส์ที่มีการไล่ค่าสายตาโดยการเปลี่ยนความโค้งของเลนส์ ซึ่งต้องเข้าใจกันก่อนว่า ความโค้งทำให้เกิดกำลังหักเห ถ้าโค้งนูนจะเกิดหักเหแบบรวมแสง(Converge ray) ถ้าโค้งเว้าจะเกิดการหักเหแบบถ่างแสง (Diverge ray) และหนึ่งโค้งต่อหนึ่งค่ากำลังหักเห (lens power)  เลนส์ยิ่งโค้งมากกำลังหักเหก็จะยิ่งมาก เราจะเห็นได้ว่าคอนแทคเลนส์สายตา -10.00D นั้นบางกว่าเลนส์แว่นตามาก เพราะค่ากำลังได้เกี่ยวกับความหนาของเลนส์ แต่เกิดจากความโค้งของเลนส์  

 

หนึ่งโค้งหนึ่งค่าสายตา....นั่นคือ เลนส์สเฟียร์ (Spherical Lens)

ถ้าสองโค้ง..สองค่าสายตา...นั่นคือ เลนส์สองชั้นที่มีรอยต่อ ที่คนแก่สมัยโบราณชอบใช้

 

ถ้าอยากได้หลายค่าสายตา...ก็ต้องเอาหลายๆโค้งมาต่อกัน 

 

แต่ทีนี้การที่จะเอาส่วนของโค้งที่ไม่เท่ากันมาต่อให้เป็นเนื้อเดียวนั้น มันจะเกิดเป็นสเตปขั้นบันไดเหมือนในรูป นึกถึงเราเอาลูกส้มโอ  ลูกส้มเช้ง  ลูกส้มเขียวหวาน ลูกมะนาว ไปจนถึงลูกปัด มาฝานๆ บางๆแล้วเอาผิวโค้งมันมาสัมผัสกัน  ส่วนที่สนิทกันได้ดีคือส่วนของผิวสัมผัส แต่ถ้าเลยจากจุดนั้นมาแล้วก็จะเป็นสเตป ซึ่ง ณ เวลานี้ ได้เลนส์ที่มีฟังก์ชั่นครบแล้ว คือ หลายโค้ง หลายค่าสายตาก็ดูได้หลายระยะ แต่จะทำอย่างไร ให้สเตปมันหายไป เพราะถ้าฟังก์ชั่นได้ แต่เลนส์ไม่สวย คงไม่มีใครกล้าใส่  มานั่งมองๆแล้วก็เลยเห็นว่า สามารถขัดเลนส์สายตาเอียงเข้าไปกลบสเตปนั้นได้ แต่ Cylinder ที่ขัดเข้าไปนั้นไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรกับค่าสายเลย...  "ขยะล้วนๆ” แต่ขัดเข้าไปให้เลนส์สวยเฉยๆ  (ดูรูปล่างประกอบ) การอุดรอยต่อของโปรเกรสซีฟด้วย Oblique Cylinder ทำให้เกิดการบิดเบือนด้านข้าง แต่ก็ได้ผลนะ “ได้เลนส์โปรเกรสซีฟที่สวย และ ใช้งานได้จริง เลนส์ใสๆ ใช้ได้ทุกระยะ”

การอุดรอยต่อของโปรเกรสซีฟด้วย Oblique Cylinder ทำให้เกิดการบิดเบือน

จากรูปจะเห็นได้ว่า การที่จะประสานเลนส์ที่มีความโค้งต่างกันให้เป็นเนื้อเดียวกัน จะเกิดเป็นสเตปบันได ซึ่งต้องใช้เลนส์ Cylidner เข้าไปอุด จึงจะสามารถประสานเป็นเนื้อเดียวกันได้  ดังรูปขวาล่าง ทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟจะเกิดมาพร้อมกับภาพบิดเบี้ยวที่เกิดจาก Oblique cylinder ที่ใส่เข้าไป  และเมื่อเราเอาเลนส์โปรเกรสซีฟไปวัดค่ากำลังสายตาก็จะได้ค่ามาตามรูปตัวอย่างด้านล่าง

 

ดังนั้น...ขยะบิดเบือนจาก Oblique Astig. ในเลนส์โปรเกรสซีฟจำเป็นต้องมีเลนส์คู่ละแสนก็หนีไม่พ้นครับ เพียงแต่เขามีวิธีที่จะบริหารจัดการขยะที่ดีเท่านั้นเอง  แต่อย่างที่บอกครับว่า “ถ้าขยะมันอยู่ในถังขยะดีๆ ไม่วิ่งออกมาเพ่นพ่านขวางหูขวางตาก็คงไม่เป็นอะไร”

 

ถ้าภาษาเลนส์...ก็คือ...การบิดเบือนด้านข้างก็ควรจะอยู่ด้านข้าง อย่าออกมาเพ่นพ่านในโซนพื้นที่ใช้งาน ไม่ว่าจะจุดมองไกล  มองระยะกลาง หรือดูใกล้  และโซนการใช้งานก็ควรจะสะอาดจริงๆ  การใช้งานก็ไม่มีปัญหาอะไรกับชีวิตประจำวัน ปรับตัวง่าย มีความสุขกับการใช้สายตา  แต่ถ้ามีปัจจัยภายนอกที่จะทำให้ขยะล้นถังออกกระจายทั่วบ้าน เช่น หมา แมว ก็สร้างปัญหากับผู้อยู่อาศัยได้เช่นกัน 

 

“มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ขยะบิดเบือนออกมาเพ่นพ่านนอกถัง”

ตัวแปรสำคัญ 3 ตัวแปรที่พูดไว้ข้างต้น คือ ค่าสายตา กรอบแว่นตา และระยะห่างระหว่างกึ่งกลางจมูกถึงกลางตาดำ (PD)  คือ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้โครงสร้างโปรเกรสซีฟดีหรือไม่ดี 

1. ขยะบิดเบือนที่เกิดจากผลของสายตา

การที่จะสร้างค่ากำลังสายตานั้น เป็นการไปเปลี่ยนแปลงความโค้งของผิวเลนส์​ ให้ได้ค่ากำลังตามต้องการ  แต่ตัวที่ควบคุมคุณภาพของออพติกที่จะออกมาว่ามีประสิทธิภาพเต็มที่ไหมคือ ความโค้งของผิวหน้าเลนส์ (Base Curve) จะสังเกตได้ว่า  ถ้าสายตาสั้นมากๆผิวหน้าเลนส์จะแบนๆ ถ้าสายตายาวมากๆ ผิวหน้าเลนส์จะนูน ๆ นั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการบังคับว่า ในการขัดค่าสายตาหนึ่งๆนั้น จะต้องเลือก Base curve ให้เหมาะสม และถ้าไปฝืน Base ก็จะทำให้เกิด Base curve effect ส่งผลให้เกิดสายตาไม่พึงประสงค์ขึ้นมา ที่เราเรียกว่า Unwated obliqe astigmatism  ทำให้เกิดขยะจากภาพบิดเบี้ยวเข้าไปรบกวนสนามภาพใช้งาน 

กฏของ Base curve effect 

 

กฏทางฟิสิกส์แสงว่า “ใน 1 ค่าสายตา จะมี Base Curve ที่เหมาะสมกับมันเพียง 1 Base เท่านั้น”  เราเรียก Base ที่เหมาะสมนั้นว่า Base Form Lens และเราจะได้เลนส์ในอุดมคติออพติกที่ดีที่สุด เกิดความคลาดเคลื่อนของค่าสายตาที่น้อยที่สุด โครสร้างเลนส์โปรเกรสซีฟก็จะดีที่สุด

 

แต่ในทางการผลิตนั้น การที่จะต้องใช้ 1 โค้งต่อ 1 ค่าสายตานั้น มันเป็นการลงทุนที่  “แค่คิดก็เจ๊งแล้ว...ไม่คุ้มทุน..ทำไม่ได้แน่ๆ” เขาก็เลยจำเป็นต้องใช้ 1 Base คุมค่าสายตเป็นช่วง (power range) เช่น ใช้ Base 3.5 ในการคุมค่าสายตาตั้งแต่ Plano ถึง -4.00 (ดูรูปบนประกอบ)  ซึ่งผู้ผลิตเองก็รู้อยู่แก่ใจว่า จริงๆแล้ว Base Form Lens ของ Base 3.5 คือสายตา -2.00 ส่วนสายตาที่เหลือก็ถือว่า หยวนๆ กันไป   ดังนั้น Base 3.5 จะซวยสำหรับทุกคนที่ไม่ใช่สายตา -2.00  เพราะทำเมื่อ Base ไม่เหมาะกับค่าสายตาก็จะทำให้เกิด Oblique Astig. ออกมาวิ่งเพ่นพ่านเต็มไปหมด ที่เราบอกว่าโครงสร้างมันแคบนั่นแหล่ะ มันแคบจาก  ยิ่งถ้าเป็นสายตาเอียงสูงๆด้วยแล้วถ้าโครงสร้างเลนส์ยังไม่มีเทคโนโลยีมารองรับยิ่งสร้างปัญหาได้มาก  ในอดีตจึงมักจะถูกบอกๆกันต่อมาว่าเลนส์ค่ายนี้เก่งสายตาบวก..เลนส์ยี่ห้อนี้เก่งสายตาลบ...แต่ไม่ว่าแบรนด์ไหนถ้าเจอสายตาเอียงก็ต้องระมัดระวัง เป็นต้น  เหตุข้างต้นก็เนื่องจากการเกลี่ย Base ให้มากไปในทางตาบวก หรือตาลบ เลยเป็นที่มาของความรู้ดังกล่าว แต่ปัจจุบันปัญหาลักษณะนี้น้อยลงมากหลังจากเทคโนโลยีฟรีฟอร์มเลนส์ถูกนำมาใช้ในการผลิตเลนส์ 

 

จากเรื่อง base curve นี้เองทำให้เกิดปัญหาอย่างหนึ่งคือเลนส์บางค่ายนั้นไม่สามารถสั่ง base curve lens ได้ เพราะ base ถูกกำหนดไว้สำหรับแต่ละค่าสายตาไปแล้วนั่นเอง แต่ก็มีบางค่ายเช่นโรเด้นสต๊อกที่สามารถสั่งโค้งผิวเลนส์ได้อย่างอิสระ เนื่องจากใช้เทคโนโลยีเอามาแก้ไขชดเชย base curve effect ได้ 

 

Unwanted Oblique Astigmatism

Base Curve Effect มันทำให้เกิดขยะการบิดเบือน ทำให้เกิด

Sphere……เพี้ยนนนน

Cylinder…..ที่สั่งก็เพี้ยน....ที่ไม่ได้สั่ง...ก็แถมให้  

Prism…. ไม่ได้สั่งก็ประเคนให้เสร็จสรรพ ผลลัพธ์คือปรับตัวไม่ได้ เพราะรวมๆแล้วคาดเคลื่อนไปไกลมาก

นี่แหล่ะขยะบิดเบือนที่ เรียกกว่า Unwanted Oblique Astigmatism ที่เกิดจากสายตาไม่ตรง  Base

 

การแก้ไข Base Curve Effect 

ย้อนกลับไปเมื่อยุค 1900 การผลิตเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น ใช้การหล่อแม่พิมพ์โครงสร้างโปรเกรสซีฟไว้ทางผิวหน้าเป็น Add สำเร็จรูป และขัดค่าสายตาไว้ทางผิวหลังของเลนส์ด้วยกลไกของหัวทูล ดังนั้น โครงสร้างทุกอย่างจะถูกออกแบบสำเร็จจากแม่พิมพ์ และ Base curve เป็นตัวแปรสำคัญที่จะต้องใส่เข้าไปเพื่อควบคุมค่าสายตา แต่ก็ต้องใส่ให้พอดีและผู้ผลิตอยู่ได้ เพราะถ้าละเอียดมากเกินไป  สต๊อกจะบวม แล้วธุรกิจก็อาจเดินต่อไม่ได้  

 

 

การแข่งขันเลนส์กันในอดีต จึงไปอยู่ที่ว่าใครมีโครสร้างที่มากกว่าใคร  ซึ่งจำนวนโครงสร้างก็มากจาก [จำนวน Base curve] x [จำนวน Addition ]= จำนวนโครงสร้าง  เช่น Rodenstcok PureLife คุมค่าสายตาทั้งช่วงด้วย Base curve จำนวน 6 Base ,และจำทำสต๊อกของค่าแอดดิชั่นทั้งหมด 12 Addition ดังนั้น Progressiv PureLife จะมีโครงสร้าง =6x12=72 โครงสร้าง เป็นต้น แต่ 72 โครงสร้างนั้นไม่ได้แปลว่าจะสต๊อกเลนส์ 72 แบบ แต่ความเป็นจริงแล้วต้องสต๊อกมาถึง 1920 แบบที่แตกต่างกันต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการเล่นของ Mass product 

 

Conventional progressive จะมีดีไซน์ข้อนข้างจำกัด จากขีดจำกัดการลงทุน ที่ต้องใช้แม่พิมพ์ปริมาณมาก

 

โครงสร้างโปรเกรสซีฟจำนวน 1920 โครงสร้างนั้น ยังไม่ได้คำนึงถึงลักษณะกรอบแว่นเลยว่า มีความโค้งกี่องศา (Face form angle)  มุมเทกี่องศา (Pantoscopitc tilt angle)  มีระยะห่างระหว่างเลนส์ถึงกระจกตา (Cornea vertex distant) กี่ มม.และมีระยะห่างระยะห่างระหว่างกึ่งกลางจมูกแต่ละข้างถึงกลางตาดำข้างละกี่มม. (Monocular PD) ซึ่งถ้าผมคำนวณหาค่า Potability ของโครงสร้างเมื่อใส่ค่า พารามิเตอร์ของกรอบแว่นเข้าไป จะต้องมีโครงสร้างโปรเกรสซีฟเป็นจำนวน 13,816,258,560 โครงสร้างที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับการสต๊อกโครงสร้างมากมายขนาดนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะใส่ค่าพารามิเตอร์เข้าไปในการผลิตแบบเดิม 

 

ดังนั้น การออกแบบเลนส์ตระกูล Front Progressive ได้แก่ Conventional Progressive Lens ทั้งหลายที่ต้องอาศัยแม่พิมพ์จะใช้งานได้กับคนที่มีสายตาง่ายๆ เลือกกรอบมาตรฐาน จึงจะสามารถใช้งานเลนส์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

 

เปลี่ยนเสื้อโหลเป็นเสื้อสั่งตัด

ถ้ารสนิยมของผู้ใส่เสื้อมีความแตกต่างกันมาก ก็ใช้วิธีการตัดเสื้อหรือตัดสูทจะช่วยลดปัญหาการสร้างสต๊อกได้มาก  จะตัดสูทเป็นรูปอะไร ก็สุดแท้แต่ดีไซเนอร์  ไม่มีขีดจำกัด อิสระอย่างแท้จริง จะมีออพชั่นอะไรก็ใส่ลงไป มาทรงใหน ไซต์ใหน ออกงานอะไร เฉดสีอะไร เลือกทั้งหมด 

 

 

เลนส์ก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อตัวแปรที่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างเลนส์มันมากมายขนาดนั้น ก็ทำสดคู่ต่อคู่ ออกแบบโครงสร้างคู่ต่อคู่  รอค่าจริง สายตาจริง ค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่นจริง ค่าพีดีจริง คำนวณเป็นคู่ๆ แล้วมาดูว่าเลนส์สายตาที่จะทำนี้เมื่อไปอยู่บนโครงสร้างแว่นแบบนี้ควรจะหน้าตาอย่างไร  ซึ่งการที่จะทำแบบนี้ได้ก็ต้องพัฒนากระบวนการขัดแบบกลไกมาใช้ซอฟแวร์ในการออกแบบโครงสร้าง หลังจากออกแบบโครงสร้างที่ดีที่สุดแล้วก็สั่งงานให้เครื่อง CNC-Freeform กัดเลนส์ตามซอฟแวร์ 

ไว้โอกาสหน้าจะเมาเล่าเรื่องฟรีฟอร์มกันโดยละเอียดอีกครั้ง 

 

2. ขยะบิดเบือนที่เกิดจาการมองแบบทำมุม (Lens tilt)

 

ปัจจัยอีกตัวที่ส่งผลที่จะทำให้ “ขยะบิดเบี้ยว” นั้นออกมาระเกะระกะบนสนามภาพใช้งานก็คือ แสงที่วิ่งผ่านเลนส์แบบไม่ตั้งฉาก ซึ่งตัวแปรนี้จะสัมพันธ์กับกรอบแว่นที่เลือกโดยตรง ดังนั้นการเลือกแว่นที่จะนำมาทำเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น จึงต้องเลือกให้ถูกประเภท ให้เข้าใจเรื่องมุมที่ตามองผ่านเลนส์ และเลือกเลนส์ให้เหมาะกับกรอบแว่น รวมไปถึงเข้าใจการออกแบบโครงสร้างเลนส์ในแต่ละตัว เพื่อให้เรารู้ว่าควรจะดัดแว่นแบบไหน 

 

แสงตั้งฉาก

การวัดสายตาในห้องตรวจเป็นการจำลองให้แสงผ่านเลนส์แบบตั้งฉาก  ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แนวการมอง (Visual axis) ที่กระทำต่อเลนส์ที่แตกต่างกันนั้นจะ Induce ให้เกิดค่ากำลังสายตาที่ไม่เหมือนกัน  ดังนั้น เครื่องมือที่ใช้ในการวัดสายตาและวัดค่ากำลังเลนส์นั้นจะถูกออกแบบมาให้แสงผ่านเลนส์แบบตั้งฉาก เช่น เครื่องวัดค่ากำลังเลนส์ (Lensometer) จะออกแบบมาให้มีขาสปริงสำหรับล๊อคเลนส์ เพื่อให้เลนส์นั้นตั้งฉากกับแนวแสงที่วิ่งผ่านเลนส์ จึงจะได้ค่าที่ถูกต้องและแม่นยำ  และเครื่องมือที่ใช้ในการวัดสายตานั้น จะถูกออกแบบมาให้มีลักษณะที่จะทำให้เลนส์ตั้งฉากกับแนวการมอง ไม่ว่าจะเป็นแว่นลอง (Trial frame) หรือ กระโหลกวัดตา (Phoropter) เพื่อไม่ให้เกิดการมุมเท มุมเอียง ของแนวสายตากับเครื่องมือ ซึ่งจะทำให้ได้ค่าสายตาที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

 

การมองผ่านแว่นจะไม่ตั้งฉาก

แนวการมองผ่านเลนส์บนแว่นใช้งานจริงนั้นไม่ตั้งฉาก  เหมือนขณะใส่บนแว่นจริง ถ้าเราเป็นคนที่ช่างสังเกตสักหน่อยเราจะเห็นว่า กรอบแว่นตานั้นจะมีค่าพารามิเตอร์ของมันที่เฉพาะเจาะจงอยู่ 3 ค่า ที่ต้องรู้จัก คือ  

 

1. ความโค้งของหน้าแว่น หรือ Face Form Angle  

เขียนย่อว่า “FFA” ซี่งเป็นมุมที่กระทำกับแนวการมองในแนวแกนนอน (แนวแกน X)  ซึ่งกรอบแว่นตาที่ได้มาตรฐานทุกแบรนด์จะทำออกมาให้มีโค้งอยู่ที่ 5-6 องศา ด้วยเหตุผลว่า การเคลื่อนที่ของลูกตาเรานั้น เป็นการเคลื่อนที่รอบจุดหมุน ไม่ได้เป็นการเคลื่อนที่แบบสไลด์ไปมาบนล่าง-ซ้ายขวา ซึ่งการเคลื่อนที่แบบจุดหมุนนั้น  ถ้าแว่นเป็นหน้าตรง ก็จะทำให้ระยะจากผิวหลังเลนส์ (Back vertex distant) นั้นไม่คงที่ ซึ่งระยะที่เปลี่ยนไป ก็จะทำให้ค่าสายตาเปลี่ยน ซึ่งจะส่งให้ผู้ใส่นั้นไม่สบายตา เพราะเกิดการเพ่งเพื่อปรับเข้าหาภาพที่คลาดเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา และความโค้ง 5 องศานี้ เป็นมุมที่สวยงามและเหมาะสมที่สุดในการทำแว่นสายตามาตรฐานทั่วไป  

 

ส่วนกรอบแว่นประเภทอื่น ที่ออกแบบมาให้มีความเป็นสปอร์ต ก็จะทำหน้าแว่นให้มีค่าความโค้งที่มากขึ้น ให้นึกถึงกรอบแว่น Okley หรือ ic!Berlin หรือ Mykita หรือแว่นสปอร์ตอื่นๆ ซึ่งแว่นที่โค้งมากกว่า 7 องศา ขึ้นไปจัดว่าอยู่ในกลุ่มแว่นโค้ง และเทคโนโลยีโรเด้นสต๊อกปัจจุบัน สามารถทำโค้งได้สูงสุด 30 องศา โดยประสิทธิภาพของเลนส์ไม่ลดลง  และในการออกแบบโครงสร้างโปเกรสซีฟนั้น จำเป็นต้องรู้มุมที่ดวงตากระทำต่อแนวการมองที่ถูกต้องและแน่นอน เพื่อให้สามารถคำนวณความคลาดเคลื่อนของกำลังเลนส์เมื่อไปประกอบอยู่บนแว่นจริงได้อย่างถูกต้องและจะได้ชดเชยไว้ล่วงหน้า   

 

ดังนั้น เลนส์โปรเกรสซีฟในรุ่นที่รองจาก Impression EyeLT 2 อย่าง Mulitgressiv MyVeiw 2 และ Progressiv PureLife Free 2 นั้น จะใช้ค่าความโค้งมาตรฐานที่ 5 องศาในการคำนวณโครงสร้าง  ซึ่งแว่นที่จะใช้ได้กับรุ่นนี้ต้องมีค่าความโค้งที่ 5 องศา หรือสามารถดัดเป็น 5 องศาได้ จึงจะสามารถได้ประสิทธิภาพการการใช้งานเต็มประสิทธิภาพ 

 

แต่ถ้าหากแว่นที่เลือกนั้น มีค่าความโค้งมากกว่า 7 องศา  จะต้องพิจารณาใช้รุ่นที่นำค่าความโค้งเฉพาะกรอบแว่นไปคำนวณอย่าง Impression 2 เพื่อให้การคำนวณออกแบบโครงสร้างนั้นสามารถทำได้อย่างแม่นยำและแว่นที่มีลักษณะกรอบแว่นที่โค้งนั้น จะมาพร้อมกับผิวหน้าเลนส์ที่โค้งตามมาด้วย ดังนั้นเพื่อให้ประกอบเลนส์ออกมาแล้วแว่นมีความโค้งหน้าแว่นเหมือนเดิม เราจะต้องเลือก Base Curve หรือผิวโค้งของเลนส์ ให้ได้เหมือน Lens demo จึงจะได้ค่าความโค้งหน้าแว่นเหมือนตอนวัดบนเดโมเลนส์  

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรอบแว่นเซาะร่องโลหะของ ic!Berlin นั้น กรอบแว่นจะโค้งตาผิวเลนส์ ถ้าเลนส์แบนๆ กรอบจะแบนตาม  ดังนั้นต้องระมัดระวังถ้าหากว่า เลือกเลนส์ที่สั่ง Base curve ไม่ได้ จะทำให้หน้าแว่นนั้นผิดไปจากเดิม ซึ่งทำให้การคำนวณค่าที่ได้จากการวัดนั้นเป็นโมฆะ และไม่สามารถใส่ใช้งานได้  และการเลือก Base curve นี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง Base curve effect เนื่องจากโรเด้นสต๊อกมีเทคโนโลยีที่สามารถกำจัด Base curve effect ได้ทั้งหมด และสามารถเลือก Base  ได้อิสระโดยไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างเลนส์​

 

2. มุมเทหน้าแว่น หรือ Pantoscopic tilt angle 

หรือเขียนย่อว่า PTA ซึ่งเป็นมุมเทหรือมุมที่กระทำแต่แนวการมองในแนวดิ่ง (มุมแนวแกน Y)  ซึ่งมุมเทนี้ เป็นมุมสำคัญอย่างยิ่งยวดกับเลนส์ทุกชนิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเลนส์โปรเกรสซีฟถือว่า “คอขาดบาดตาย” กันเลยทีเดียว เนื่องจากมุมนี้จะทำให้ แนวของ Optical center นั้นวิ่งผ่านจุดหมุนของดวงตาพอดี (Center of rotation)  ดังนั้น แว่นที่มีคุณภาพดีๆ จะออกแบบมาให้มีมุม Panto 8-9 องศาโดยที่แนวของขาแว่นนั้นขนานกับพื้น 

 

แต่เนื่องจากว่า มุมนี้เมื่ออยู่บนใบหน้าของแต่ละคน จะกระทำมุมที่แตกต่างกันไป  จากตัวแปรของตำแหน่งสันจมูกกับร่องหูของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน  โดยถ้าตำแหน่งของสันจมูกที่รองรับแป้นจมูกแว่นนั้นอยู่ในระนาบเดียวกับร่องหู ก็จะได้มุมที่สวยงาม 8-9 องศา แต่ถ้าหากว่าสันจมูกอยู่สูงกว่าร่องหู จะทำให้มุม Panto นั้นลดลง และถ้าน้อยกว่า 5 องศาเมื่อไหร่จะเริ่มใช้งานยาก โดยเฉพาะมองใกล้ ยิ่งถ้ามุม Panto ทำมุมกลับแถบติดลบแล้วหล่ะก็ ใส่ไม่ได้เลย  

 

ดังนั้น แว่นดีๆจะต้องออกแบบขามาให้สามารถดัดปรับให้เหมาะสมกับแต่ละคน  ส่วนแว่นที่ไม่สามารถดัดมุมเทของหน้าแว่น จะต้องใช้เลนส์รุ่นที่สูงอย่าง Impression ที่ออกแบบตาม Individual parameter จึงจะสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ

 

และในการประกอบเลนส์ชั้นเดียวไม่ว่าจะเป็น Spherical, Aspherical lens ก็ต้องนำไปชดเชย ตำแหน่งสูงต่ำของตาดำหรือ Fitting high คือ ทุกครั้งในการฟิตติ้งจะต้องทดความสูงของตำแหน่งตาดำ โดยให้ปรับ FH ลง 1 มม ต่อมุม panto 2 องศา  เช่น ถ้าเกิดว่าแว่นที่คนไข้ใส่นั้นวัดได้มุม pato 6 องศา ในการประกอบเลนส์ชั้นเดียวจะต้องวางเซนเตอร์ของเลนส์ให้ต่ำกว่าตำแหน่งตาดำจริง 3 มม. 

 

ส่วนโปรเกรสซีฟรวมถึงเลนส์ชั้นเดียวที่ใช้การขัดแบบฟรีฟอร์มนั้นใช้ Fitting cross ในการฟิตติ้งได้เลย เนื่องจากเป็นเลนส์ที่ออกแบบชดเชย Center of rotation กับ Panto มาแล้ว  ซึ่งเราจะสังเกตุได้ว่า ในเลนส์ทั่วไปนั้น ตำแหน่งของ Fitting cross นั้นจะอยู่ต่ำกว่า Power มองไกล 4 มม. ก็ด้วยเหตุนี้แหล่ะ เพราะเขาคำนวณว่าแว่นมาตรฐานจะต้องมีมุม Panto 8 องศา แต่จะต่างกับ Rodnestock ที่ใช้ Fitting cross กับ Power มองไกลเป็นจุดเดียวกัน เนื่องจากเขาออกแบบคำนวณโครงสร้างชดเชยไว้เรียบร้อยก่อนจะขัดโครงสร้างจริงลงบนผิวเลนส์  ทำให้ทำงานได้สะดวกขึ้น และไม่ต้องจำเทคนิคการฝนประกรอบ ปรับฟิตสูงต่ำเอาเอง กลายเป็นสูตรลับเฉพาะคน แต่โรเด้นสต๊อกไม่มีสูตรลับ

 

ดังนั้น ถ้าเลนส์โปรเกรสซีฟที่ใช้อยู่นั้น ดูหนังสือระยะใกล้ไม่ดี ให้เช็คมุม Panto ก่อน ว่าได้มุมถูกต้องตามที่สั่งไปหรือไม่ หรือ ดัดให้ได้พารามิเตอร์ที่ถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าดัดแล้วยังไม่ดี แปลว่าเลนส์คุณภาพต่ำเกินไป 

 

3.ระยะห่างระหว่างเลนส์ถึงกระจกตา หรือ Cornea vertex distant  

หรือย่อว่า CVD นั้น ส่งผลกระทบทั้งในส่วนกำลังสายตาสั้นยาวที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อเลนส์อยู่ใกล้ตาหรือห่างตาออกไป  โดยสายตาสั้น (เลนส์ลบ) นั้นค่ากำลังจะมากขึ้นเมื่อเลนส์อยู่ใกล้ตาและกำลังสายตาจะลดลงเมื่อเลนส์อยู่ห่างออกไป ดังนั้น คนสายตาสั้นมากๆจะรู้สึกแว่นชัดขึ้นเมื่ออยู่ใกล้ตาและชัดน้อยลงเมื่อแว่นไหลหรือแว่นตกหรือในกรณีการชดเชยเบอร์คอนแทคเลนส์เองก็ต้องปรับค่าสายตาลงในคนไข้ที่สายตาสั้นมากกว่า -4.00D  แต่ถ้ากำลังสายตาน้อยๆที่ไม่เกิน -3.00 D กำลังจะเปลี่ยนน้อยมากขนาดที่ไม่มีนัยยะสำคัญที่จะต้องระวัง

 

ผลอีกอย่างของ CVD ต่อโครงสร้างโปเกรสซีฟ คือ ทำให้โครงสร้างโปรเกรสซีฟนั้นแคบหรือกว้าง โดยถ้าเลนส์อยู่ใกล้ตามากๆ จะให้สนามภาพที่กว้าง และจะแคบลงเมื่อเลนส์อยู่ห่างตา เนื่องจากปราฏกการ “รูกุญแจ” หรือ Keyhole effect  ถือถ้าเราจะทำตัวเป็นถ้ำมอง จะต้องเอาตาไปแนบกับรูเราถึงจะเห็นสนามภาพที่กว้างขึ้น ฉันไดฉันนั้น

 

และผลอีกอย่างคือ CVD เลนส์ที่อยู่ใกล้ตาทำให้ภาพบิดเบี้ยวต่ำกว่าเลนส์ที่อยู่ห่างออกไป ด้วยเหตุของกำลังขาย (Magnified) คือ เลนส์ที่มีค่าสายตาย่อมมีกำลังขยาย และกำลังขยายจะลดลงเมื่อเลนส์นั้นอยู่ใกล้ตา นึกถึงแว่นขยายทีวางอยู่บนพื้น เราจะไม่เห็นว่ามันขยาย และมันจะขยายก็ต่อเมื่อ มีอยู่ห่างออกไป ดังนั้น ยิ่งห่างก็จะยิ่งขยาย ทีนี้เลนส์โปรเกรสซีฟที่มีพื้นที่บิดเบี้ยวก็จะถูกขยายให้ดูเยอะ หรือภาพบิดเบี้ยวก็จะถูกขยายให้ดูใหญ่โต ทำให้เลนส์ที่ห่างตาก็จะวูบวาบมากกว่า บิดเบี้ยวมากกว่า  ถ้าอย่างนั้นก็ปรับแว่นให้ชิดตาสิ  ถ้าเราทำอย่างนั้น จะช่วยมองไกลได้ดี แต่จะอ่านหนังสือยาก เพราะเลนส์ที่ชิดตามากๆ ทำให้เราต้องเหลือบต่ำมากกว่าจะเจอพื้นที่อ่านหนังสือ

 

ดังนั้น เลนส์โปรเกรสซีฟจึงมี Ideal position คือ โค้ง 5 องศา มุมเท 8 องศา ห่างลูกตา 13 มม. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ภาพบิดเบี้ยวน้อย อ่านหนังสือง่าย และอยู่ในตำแหน่งที่รู้สึกเป็นธรรมชาติ

 

และเนื่องจากมุมเหล่านี้นั้นคำนวณจากแนวการมอง (Line of sigh) มองผ่านเลนส์ในตำแหน่องมองตรง (Primary gaze) และคำนวณแต่ละจุดที่หลุดจากตำแหน่งอ้างอิง ว่าเมื่อหลุดจาก Reference point จะทำให้เกิดมุมตกกระทบเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และทำการชดเชย  ดังนั้น ถ้าเราฟิตติ้งเคลื่อน ก็จะทำให้ค่าทุกอย่างที่คำนวณมานั้น คลาดเคลื่อนทั้งหมด ดังนั้น เลนส์โปรเกรสซีฟจึงต้องละเอียดปราณีตตั้งแต่การวัดสายตา การฟิตติ้ง การวัดพารามิเตอร์ของกรอบแว่น การเลือก Base curve และการเลือกโครงสร้างเลนส์ที่เหมาะกับค่าสายตา  จนกระทั่งการฝนประกอบให้ได้เซนเตอร์  การแนะนำการใช้งานเบื้องต้นให้คนไข้เข้าใจ และใช้งานให้ๆถูกประเภท

 

มุมที่กลาวนี้เป็นมุมที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่งในการจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟ  ในอดีตเนื่องจากความรู้เหล่านี้ไม่ได้หากันง่ายๆ แต่จะรู้กันเหมือนเป็นความลับอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ทำให้เกิดมีช่างแว่นเก่งๆที่สามารถดัดแว่นให้คนไข้ไม่กี่ทีก็ชัดใส่สบาย แต่เบื้องหลังก็คือมุมทั้ง 3 นี้แหล่ะครับ ถ้าดัดแล้วยังไม่ได้ ให้กลับไปมองที่ สายตามองไกลว่าถูกต้องหรือไม่  การฝนประกอบคลาดเคลื่อนหรือ ถ้าทุกอย่างถูกต้องหมด แสดงว่าเลนส์ที่ใช้นั้นคุณภาพต่ำ ให้เปลี่ยนแบรนด์ หรือเปลี่ยนรุ่นครับ

 

แต่ถ้าเราต้องการเลือกแว่นกรอบโค้งๆ แบบสปอร์ตและไม่ต้องการให้ดัดแว่น อยากได้แว่นที่โค้งสวยเหมือน original ก็ต้องใช้เลนส์ที่มีเทคโนโลยี individual parameter ซึ่งเทคโนโลยีตัวนี้ จะมีอยู่ในเลนส์กลุ่ม impression  ทุกรุ่น ได้แก่ Impression FreeSign®3 ,Impression® EyeLT2, Impression® Hyperop ,Impression® Myop ,Impression® FashionCurve ,Impression® Sport2 ,Impression® mono sport2 ,Impression® Ergo FS3 ,Impression® Ergo 2

 

3. ระยะพีดี (Pupillary Distant:PD)

อีกหนึ่งเรื่อง...เรื่องสุดท้าย...คือ PD ของตา  (Pupillary Distant:PD)

PD...คือ หัวใจสำคัญ...สำหรับการออกแบบเลนส์โปรเกรสซีฟ  สำคัญมากทั้งในส่วนของการออกแบบโครงสร้างเลนส์โปรเกรสซีฟ และในส่วนของการประกอบเลนส์ให้ได้เซนเตอร์ตรงกับตำแหน่งตาดำของคนไข้  แม้ว่า PD ไม่ได้ไปทำให้ขยะบิดเบือนเพิ่มหรือลดลง ไม่ได้ไปช่วยให้โครงสร้างกว้างหรือแคบ  แต่มันเป็นตัวควบคุมตำแหน่งที่อยู่ของภาพบิดเบี้ยว ไม่ได้รุกล้ำมาอยู่บนสนามภาพใช้งาน  พูดง่ายๆ ก็คือ “กวาดขยะออกจากทางเท้า” หมายความว่า ถ้าเราต้องการทำเส้นทางเดินเส้นทางหนึ่ง อาจต้องมีการคดเคี้ยว และระหว่างที่เราเดินไปตามทางที่เดินประจำ เราก็ไม่อยากเดินเหยียบขยะ  และ Inset  คือ การสร้างทางเดินให้สอดคล้องกับการเดินของเรา และถ้าหากเราเดินบนทางนี้ เราก็ไม่มีโอกาสได้ไปเหยียบขยะ แต่ถ้าหากทางที่ทำ ไม่ใช่ทางที่เราชอบเดิน เราก็จะเผลอเดินออกนอกเส้นทาง แล้วก็ไปเหยียบบนขยะ เราจะรู้สึกไม่ดี 

ถ้าเราเปรียบทางเดินของลูกตาที่ต้องมองผ่านเลนส์โปรเกรสซีฟ ทางเดินของลูกตาเราที่มองผ่านเลนส์ ก็คือ “แนวของ Inset”  inset  เป็นแนวการเยื้องของสนามภาพใช้งานบนเลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งที่ต้องออกแบบให้เลนส์โปรเกรสซีฟมี Inset เนื่องจากขณะที่เราดูใกล้นั้น ตาเราจะเหลือบเข้ามาอัตโนมัติ และเนื่องจากโปรเกรสซีฟนั้นมีสนามภาพที่ใช้งานได้และใช้งานไม่ได้ ดังนั้นเพื่อให้สามารถใช้งานได้มากที่สุด ก็ต้องเยื้องสนามภาพให้สอดคล้องกับการเหลือบของตา ซึ่งเราเรียกว่า “Inset” ของเลนส์

ในเลนส์โปรเกรสซีฟยุคก่อนนั้นจะไม่มี inset คือเป็นโครงสร้างท่อวางตัวในแนวดิ่งทื่อๆเลย ดังนั้น เวลาผู้ใช้งานเหลือบตาเข้ามา จะทำให้ตาไปชนขอบของสนามบิเบี้ยว ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ แล้วเขาก็เริ่มสังเกตว่าจะต้องเยื้องโครสร้างตามการเหลือบของตา  ก็เลยเริ่มพัฒนาเป็นเลนส์มี Inset  แต่ Inset จะเป็นค่าคงที่ คือ เยื้องเข้าจากตำแหน่งมองไกล 2.5 มม. ซึ่งคำนวณจากคนไข้สายตา 0.00 ,พีดี 60 มม. อ่านหนังสือที่ 40 ซม. ก็จะได้ inset 2.5 มม. ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีเลนส์ประเภทนี้ขายอยู่ 

แต่ทุกคนไม่ใช่ว่า PD จะเหมือนกัน ระยะอ่านหนังสือก็ใช่ว่าจะ 40 เสมอไป และสายตาก็ใช่ว่าจะเป็น 0.00 เสมอไป จึงต้องมีการคิดค้นเทคโนโลยี Variable Inset ซึ่งเริ่มใช้ตัวแปรค่าสายตา ค่าแอดดิชั่น มาคำนวณ inset  แต่ยังคงคำนวณจากค่า Standard PD  และ อ่านหนังสือที่ 40 ซม. ซึ่งเทคโนโลยีตัวนี้ จะมีอยู่ในโปรเกรสซีฟรุ่น Progressiv PureLife Free 2 ของโรเด้นสต๊อก 

แต่เทคโนโลยีที่ดีที่สุดนั้น ต้องใ่ช้ตัวแปรทั้ง 3 ค่าคือ พีดี,ค่าสายตา,และระยะอ่านหนังสือเฉพาะคน ซึ่งโรเด้นสต๊อกพัฒนาเทคโนโลยีนี้มาให้ชื่อว่า PD-Optimized inset  ซึ่งเรามาดูรายละเอียดกันว่า เขามีวิธีคิดในการออกแบบอินเซตอย่างไร 

 

ปัจจัยที่ส่งผลกับการออกแบบ Inset 

1. พีดี (PD ,Pupillary Distant) 

หรือระยะห่างระหว่างตาทั้งสองข้าง โดยวัดจากกึ่งกลางจมูกถึงกึ่งกลางตาดำและต้องวัดแยกข้าง หรือเรียกว่าวัดแบบ Monocular PD และไม่สามาถวัดรวมได้แล้วจับหารสองได้ เพราะใบหน้ามนุษย์นั้นไม่ค่อยจะสมมาตร  เช่น จากรูม่านตาขวาถึงซ้ายวัดได้ 64 มม. ไม่ได้จะแปลว่ากึ่งกลางจมูกถึงตาดำของแต่ละข้างจะกว้าง 32/32  แต่อาจะเป็น 30/34 ก็ได้ และโปรเกรสซีฟไม่ได้มีพื้นที่ใช้สอยเหลือเฟือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามภาพในระยะกลางซึ่งจะแคบกว่าระยะอื่น แต่ถ้าต้องเสียไปกับการประกอบ PD ไม่ตรงแล้ว ก็ถือว่า “เสียของ” ดังนั้นต้องระมัดระวัง แสงมีความยาวคลื่นเป็น นาโนเมตร ดังนั้น 1 มม.สำหรับแสงและดวงตานี่ถือว่าไม่น้อย  แล้วพีดีสำคัญกับโปรเกรสซีฟอย่างไร  

 

2. Convergecne 

หรือการเหลือบตาเข้านั้น เป็นระบบอัตโนมัติเมื่อเราดูวัตถุหรือหนังสือที่อยู่ใกล้ ๆ ตาจะเหลือบเข้ามาเอง  ซึ่งการเหลือบตาเข้ามานี้จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับขนาดของPD  ถ้าคนที่มีPDกว้าง ก็จะต้องเหลือบเข้าลึกมากกว่าคนที่มีPDแคบ และคนที่มีPDซ้าย/ขวา ไม่เท่ากัน ตาซ้าย/ตาขวาก็จะเหลือบไม่เท่ากัน

 

3. ระยะอ่านหนังสือ

ยิ่งเราอ่านใกล้มาก ตาก็จะเหลือบเข้ามา ถ้าอ่านห่างๆ ตาก็จะเหลือบน้อยลง ดังนั้น ในเลนส์รุ่นมาตรฐานจะใช้ 40 ซม. ในการคำนวณเข้าระบบ ซึ่งถ้าต้องการประสิทธิภาพเต็มที่ก็ต้องนำไปใช้ที่ระยะ 40 ซม. 

 

4. ค่าสายตาที่มองผ่าน

คนที่มีค่าสายตาต่างกันต่อให้มี PD เท่ากัน  อ่านที่ 40 ซม.เท่ากัน แต่การเหลือบเข้าจะไม่เท่ากัน เนื่องจากว่าการเหลือบตาเข้าน้ัน เป็นการเหลือบผ่านเลนส์ ไม่ใช่เหลือบตาเข้ามาเปล่าๆ  การที่เหลือบผ่านเลนส์ที่มีค่าสายตานั้น เป็นการมองผ่านแบบหลุเซนเตอร์ ซึ่งจะ Induce prism ให้เกิดขึ้นมา 

คนที่มีค่าสายตาบริเวณ Readign area เป็นบวก ก็จะเจอกับปริซึม Base out ทำให้ต้องเหลือบตาเข้ามากกว่าปกติ 

คนที่มีค่าสายตาบริเวณ Reading area เป็นลบ ก็จะเจอกับปริซึม Base in ทำให้การเหลือบตาเข้าน้อยลง 

คนที่มีค่าสายตาบริเวณ Readign zone เป็น 0.00 ก็จะไม่ได้รับอิทธิพลของปริซึม ทำให้การเหลือบตานั้นไม่มีตัวแปรค่าสายตามาเกี่ยวข้อง 

ดังนั้น การออกแบบ inset ที่ถูกต้องนั้นต้องประเมินให้ครบทุกตัวแปร

 

การออกแบบอินเซต (Inset)

จากรูป รูปแรกเป็นการออกแบบ Inset ที่ไม่สอดคล้องกับการเหลือบ ทำให้รูม่านตาไม่อยู่ตรงกลางโซน ทำให้สนามภาพในระยะกลางและใกล้แคบลง  ส่วนรูปสองนั้นเป็นการเยื้องของอินเซตที่สอดคล้องกับการเหลือบ ทำให้สามารถใช้งาานเลนส์ได้เต็มประสิทธิภาพ 

 

เนื่องจาก inset เป็นระยะเยื้องของโครงสร้างโปรเกรสซีฟ คือ โปรเกรสซีฟจะว่าไปก็เหมือนท่อ สำหรับมองไกล มองกลางและใกล้ ซึ่งท่อนั้นบริเวณขอบท่อจะเกิดจากภาพบิดเบี้ยวด้านข้างที่ใช้งานไม่ได้มารบกวน  ดังนั้น ยามเราเลือบตาอ่านหนังสือ โปรเกรสซีฟที่ดีจะต้องเยื้องสนามภาพสำหรับใช้งานให้สอดคล้องกับการเหลือบของตา  ซึ่งการเหลือบของตาก็ขึ้นอยู่กับขนาดของพีดี  ดังนั้น พีดีจึงสำคัญกับ Inset ด้วยประการละฉะนี้แล 

 

ทีนี้มาถึงการออกแบบดีไซน์ Inset ให้สอดคล้องกับการเหลือบ ซึ่งดูๆแล้วก็ตรงไปตรงมา ไม่น่าจะยุ่งยากอะไร เอาเข้าจริงมันไม่ยุ่งถ้าสามารถออกแบบโครงสร้างขึ้นมาใหม่  คือ ถ้าเริ่มต้นด้วยวัตถุดิบจะปั้นเป็นรูปอะไรก็ได้ แต่ถ้าขึ้นรูปมาแล้วจะปั้นเปลี่ยนรูปนี่มันยุ่ง  ดังนั้น การออกแบบอินเซต นั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากสำหรับเลนส์เทคโนโลยีเก่าที่ปั๊มโครงสร้างโปรเกรสสำเร็จผ่านทางแม่พิมพ์ซึ่งอยู่ทางผิวหน้า ซึ่งเราเรียกว่า Front progressive lens ซึ่งโครงสร้างที่ปั๊มมาก็จะมีค่าแอดดิชั่น มีอินเซต มีสนามภาพบิดเบือนแบบสำเร็จรูปฝังอยู่บนแม่พิมพ์ และรอการขัดค่าสายตาทางผิวหลัง ซึ่งทำอะไรกับอินเซตไม่ได้เลย เพราะได้วางแนวท่อเรียบร้อยไปแล้ว 

 

ดังนั้น พวกเทคโนโลยีเก่าจะปวดหัวมากเมื่อเจอคนไข้ที่ พีดีกว้างมากๆ หรือแคบมากๆ หรือพีดีตาซ้าย/ตาขวาต่างกันมากๆ  ซึ่งอาการที่พบก็คือ สนามภาพในระยะกลางใกล้แคบมาก อาจต้องมองผ่านเลนส์แบบตะแคงหัวไปข้างหนึ่ง หรือต้องหลับตาข้างหนึ่งแล้วสนามภาพกว้างขึ้น อะไรทำนองนั้น  ซึ่งอาการคล้ายกับการวางเซนเตอร์ผิด  แต่ถ้าเช็คว่าเซนเตอร์ถูกต้องแล้ว แต่คนไข้ยังมีอาการ แสดงว่าเป็นที่อินเซต  แต่ไม่ใช่รู้แค่พีดีอย่างเดียวแล้วจะนำไปคำนวณอินเซตที่ถูกต้องได้ แต่ต้องใช้ตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย  ตัวแปรที่ว่านั้น ก็คือ

1. ค่า Monocular PD หรือ พีดีแยก (ไม่ใช่พีดีรวม)

 

2. ระยะจริงที่ใช้ในการดูใกล้  โดยปกติจะล๊อคไว้ที่ระยะ 40 ซม. แต่ระยะใช้งานเฉพาะบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน บางคนแขนยาวอาจชอบอ่านหนังสือที่ไกลกว่า 40 ซม.ก็ได้ ส่วนคนที่แขนสั้นอาจชอบอ่านที่ระยะใกล้กว่า 40 ซม.ก็ได้ ซึ่งถ้ายิ่งดูใกล้มาก ก็จะยิ่งต้องการมุมเหลือบที่มากตาม การออกแบบอินเซตก็ควรจะเยื้องท่อโครงสร้างให้มากตามด้วย  ส่วนคนที่แขนยาวอ่านหนังสือห่าง การเหลือบตาก็จะน้อยลง การออกแบบอินเซตก็ควรจะเยื้องน้อยลงตามการเหลือบที่น้อยลงด้วย 

 

3. ค่าสายตา+แอดดิชั่น  หมายความว่า ค่าสายตาที่รวมกับค่าแอดดิชั่นในแต่ละจุดบนเลนส์โปรเกรสซีฟขณะที่มีการไล่ค่าสายตานั้น จะส่งผลต่อการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟ เนื่องจากการเหลือบดูใกล้นั้นเป็นการมองผ่านเลนศ์แบบหลุดเซนเตอร์  ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำให้เกิดปริซึมเอฟเฟก ส่งผลต่อเนื่องให้ภาพนั้นย้ายไปจากตำแหน่งเดิม ทำให้ลักษณะของการเหลือบก็เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย 

 

ดังนั้น คนที่สายตามองไกลรวมกับค่าแอดดิชั่นแล้วเป็นเลนส์บวก (มีค่าเป็นบวก) จะได้รับผลของปริซึม Base out ทำให้คนไข้ต้องเหลือบมากขึ้นเมื่อมองผ่านปริซึม Base out ซึ่งตรงข้ามกับคนที่เป็นสายตาสั้น เมื่อเหลือบตาเข้าจะเจอปริซึม Base in ทำให้การเหลือบตาเข้านั้นน้อยลง  ซึ่งการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟจะต้องเอาค่าเหล่านี้ไปคำนวณดูว่า  คนไข้สายตาเท่านี้ มองผ่านเลนส์ที่มีกำลังเท่านี้ ที่ระยะเท่านี้ จะทำให้ภาพเปลี่ยนตำแหน่งไปอย่างไร ตาจะเหลือบลักษณะไหน มากขึ้น หรอน้อยลง และออกแบบอินเซตให้มีการเยื้องที่เหมาะสม 

 

Rodenstock รุ่นที่สามารถออกแบบ Individual inset จากตัวแปรที่กล่าวมาทั้งหมดจะมีอยู่ในรุ่น Multigressiv MyView 2, Impression FreeSign®3, Impression®EyeLT2, Impression®Hyperop, Impression® Myop, Impression® FashionCurve, Impression® Sport2, Impression®mono sport2, Impression® Ergo FS3, Impression®Ergo 2

สรุปได้ว่า

ถ้า Inset ไม่เหมาะสม

โครงสร้างกว้าง...ก็เหมือนแคบ

โครงสร้างสะอาด...ก็ดูเหมือนมีขยะ

เพราะการเยื้องของท่อโครงสร้างไม่เหมาะกับการเหลือบ  หรือภาษาช่างแว่นเขาเรียกว่า inset ไม่เหมาะสม พอเหลือบไปแล้วเจอขอบท่อบ้างไรบ้าง มันก็ดูเสมือนแคบนั่นเอง

ดังนั้น พีดี...ส่งผลรุนแรงต่อโครงสร้างโปรเกรสซีฟดังกล่าวมา

 

สรุปเลนส์โปรสซีฟมี 3 เรื่องที่ต้องรู้

1. ค่าสายตา ควรเลือกเลนส์รุ่นที่สามารถจัดการกับ Base curve effect ได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีสายตาเอียงสูงกว่า -1.50DC ซึ่งมีอยู่ในโรเด้นสต๊อกรุ่น Progressiv PureLife Free 2 ขึ้นไป 

2. มุมต่างๆ ที่เกิดจากรอบแว่นเช่น ความโค้งหน้าแว่น (FFA), มุมเทหน้าแว่น (PTA) ก็ส่งผลให้เกิดภาพบิดเบี้ยวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งควรดัดให้ได้ค่าพารามิเตอร์มาตรฐาน หรือใช้รุ่นที่ออกแบบตามค่าพารามิเตอร์เฉพาะบุคคล ; FFA 5 องศา , PTA 9 องศา และปรับระยะห่างเลนส์ถึงกระจกตาคนไข้ให้ได้ 13 มม. ก็จะเหมาะสมกับการใช้งานโปรเกรสซีฟ 

3.PD ไปส่งผลต่อเลนส์โปรเกรสซีฟในส่วนของ Inset ทำให้ Inset นั้นเหมาะสมกับการเหลือบ ถ้าไม่เหมาะสม จะส่งผลให้สนามภาพใช้งานกลาง/ใกล้ แคบใช้งานลำบาก 

ถ้าสามารถควบคุมทั้ง 3 ตัวแปรนี้ได้ ก็ถือได้ว่าคุณได้กุมหัวใจของเลนส์โปรเกรสซีฟไว้ได้แล้ว ขอให้มีความสุขกับการวัด การจ่าย การสวมใส่เลนส์โปรเกรสซีฟนะครับ 

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม

ดร.ลอฟท์

 


ปรึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบของการมองเห็น

Loft Optometry 

578 ถ.วัชรพล  ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220  
โทร 090-553-6554  ,lineID : loftoptometry  ,FB: www.facebook.com/loftoptometry 

ต่างจังหวัดเข้ารับบริการได้ที่ 

พิจิตรและจังหวัดใกล้เคียง 

สุธน การแว่น (ดร.จักรพันธ์)

ถ.ศรีวรา  ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิจิตร  056-61-435 

google map : https://g.page/SuthonOptic


เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง 

Tokyo Progressive (ดร.ชัชวีร์) 

ตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โทร 064-297-6768

FB : https://www.facebook.com/Tokyoprogressive/