เปิดโลกโปรเกรสซีฟเลนส์ ตอนที่ 2

เรื่อง สองปัจจัยหลักที่ทำให้โครงสร้างเลนส์โปรเกรซีฟพัง

by Dr.Loft ,O.D. 

update 18 June 2024

 

Introduction 

การเดินทางเพื่อมุ่งเปิดโลกโปรเกรสซีฟนั้นได้เดินทางมาถึงตอนที่ 2 ซึ่งผมตั้งชื่อตอนว่า "สองปัจจัยทำให้โครงสร้างเลนส์โปรเกรซีฟพัง" ซึ่งจุดประสงค์ของตอนนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้ว่า มีตัวแปรไหนบ้างที่ท่านต้องระวังเวลาวัดหรือประกอบเลนส์โปรเกรสซีฟหรือผู้บริโภคเองอยากจะศึกษาเพื่อประเมินช่างที่ทำการประกอบเลนส์ให้กับเราว่าเขาใส่ใจกับรายละเอียดเหล่านี้หรือไม่และหากท่านรู้สึกว่าแว่นโปรเกรสซีฟที่ท่านใส่อยู่มันยังรู้สึกว่าไม่ดีพอ ท่านอาจประเมินสาเหตุของปัญหาจากบทความตอนนี้ได้ เพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป 

 

ตอนที่แล้ว (https://www.loftoptometry.com/เปิดโลกโปรเกรสซีฟตอนที่1) ผมได้เปรียบการออกแบบโครงสร้างเลนส์โปรเกรสซีฟเหมือนกับ ทฤษฎีกระบะทราย เพื่อให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการเป็นรูปธรรมจับต้องทางความรู้สึกได้และเข้าใจได้ว่า“เราไม่สามารถเอาพื้นที่บิดเบี้ยวบนเลนส์โปรเกรสซีฟออกไปได้ทั้งหมด เฉกเช่นเดียวกันกับเราไม่สามารถเอาทรายไปทิ้งนอกกระบะได้  เราทำได้แต่เพียง “ย้าย” พื้นที่ภาพบิดเบี้ยวเหล่านั้นให้ไปอยู่นอกสายตา เพื่อไม่ให้ภาพบิดเบี้ยวนั้นมา รบกวนสนามภาพใช้งาน โดยการคิดค้นเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆที่จะทำให้พื้นที่บิดเบี้ยวบนเลนส์โปรเรกสซีฟดูเสมือนว่าน้อยลง” ดังนั้น เลนส์โปรแกรสซีฟทำได้เพียง ลดภาพบิดเบี้ยวให้ได้มากที่สุด และ “ย้าย” ภาพที่บิดเบี้ยวให้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ และที่ตรงไหนไม่ควรอยู่ก็ไม่ควรจะมาให้เกะกะขวางหูขวางตา ซึ่งตัวอย่างที่ยกแล้วเห็นภาพก็คือ 

 

“เปรียบภาพบิดเบี้ยวด้านข้างของโปรเกรสซีฟเหมือนขยะตามบ้าน”

ภาพ 1 : ขวดน้ำดื่มน้ำทิพย์ ถูกออกแบบมาให้ปริมาตร ดูเล็กลงแม้มวลจะเท่าเดิมก็ตาม เช่นเดียวกันการไล่ความโค้งเพื่อให้เกิดกำลังหักเหที่มากขึ้นในเลนส์โปรเกรสซีฟที่ ทำให้เกิดภาพบิดเบือนด้านข้าง เราไม่สามารถเอามันทิ้งไปได้ แต่เราสามารถทำให้มันดูน้อยลงได้ 

 

ทุกบ้านที่มีคนอยู่ย่อมมีขยะ....บ้านท่านมีขยะ...บ้านผมก็มีขยะ (เยอะด้วย!)  ไม่ว่าบ้านท่านจะหลังใหญ่หรือหลังน้อย  แต่ทุกบ้านล้วนมีขยะ!!! ลองกวาดดู ยังไงก็เจอ 

แต่ถ้าถามว่า...มีใครไหมเดือดร้อนไหมที่บ้านตัวเองมีขยะ? 

ตอบให้....ตราบในที่ขยะในบ้านท่านอยู่ในถังขยะเป็นที่เป็นทาง ท่านก็จะไม่รู้สึกเดือดร้อน  แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่แมวหรือหมามันมาคุ้ยเขี่ยถังขยะ และลากขยะไปทั่วบ้านท่าน  เมื่อนั้นแหล่ะที่ท่านจะเริ่มเดือดร้อน!!!

แต่ถ้าบ้านท่านมีระเบียบ มีแม่บ้านที่เข้าใจในการดูแลรักษาบ้าน  เก็บกวาดขยะให้เข้าที่ เข้าทาง นอกจากเก็บเข้าที่เข้าทางแล้ว ขยะอันไหนที่สามารถทำให้ปริมาตรมันลดลง ตัวอย่างของเรื่องนี้เช่นขวดน้ำดื่มยี่ห้อ “น้ำทิพย์” (ไม่ได้โฆษณาให้นะ แต่พูดให้เห็นภาพเฉยๆ) ซึ่งเราสามารถบิดขวดให้เล็กลงแล้วปิดจุก ก็ลดพื้นที่การเก็บขยะลงด้วย แม้มวลขยะไม่ได้ลด แต่ปริมาตรลดลง ก็ดูเสมือนขยะลดลงได้เช่นกัน

 

“โปรเกรสซีฟก็ไม่ได้ต่างกันกับบ้านที่มีขยะ”

โปรเกรสซีฟเลนส์จำเป็นต้องมีภาพบิดเบี้ยวด้านข้างเสมอ...แต่ Lens Designer จะต้องรู้ว่าภาพบิดเบือนที่จะเกิดขึ้นบนเลนส์นั้นมีปัจจัยอะไรบ้าง และ คิดค้นเทคโนโลยีเพื่อลดภาพบิดเบือนเหล่านั้นให้กับเลนส์ให้ได้มากที่สุด ก็เหมือนกับการใช้เทคโนโลยีในการจัดการขยะบิดเบี้ยวเหล่านี้ ให้เหลือน้อยที่สุด แล้วจัดแจงขยะที่เหลือให้เข้าที่เข้าทาง คืออยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ และตรงไหนที่ไม่ควรจะอยู่ก็เอาออกให้หมด เช่นตำแหน่งมองไกลสำหรับขับรถ หรือระยะกลางที่สำหรับมองจอคอมพิวเตอร์ หรือ ระยะดูใกล้สำหรับอ่านหนังสือ เหล่านี้ก็ไม่ควรจะมีภาพบิดเบือนมาขวางการมองเห็น ซึ่งการที่จะแก้เรื่องนี้ก็ต้องทำการศึกษาวิจัยว่า “มีเหตุผลใด หรือ กระบวนการใดบ้างที่จะป้องกันไม่ให้ขยะเกิด และถ้าส่วนที่จำเป็นต้องเกิด จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน” ซึ่งมันเรื่องวิจัยและพัฒนา 

 

R&D : Research and Development 

ในการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟนั้น จะต้องทำการศึกษาสนามภาพใช้งานทั้ง 3 ระยะคือ ไกล กลางและใกล้ ว่าคนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้นั้นมีค่าเฉลี่ยการใช้สายตาในแต่ละระยะมีปริมาณมากน้อยต่างกันอย่างไร เพื่อทำการแหวกโครงสร้างให้เหมาะสมกับการใช้สายตาของคนส่วนใหญ่  แล้วจัดการย้ายภาพบิดเบี้ยวให้ไปอยู่ด้านข้างๆของเลนส์ในพื้นที่ที่ใช้งานน้อยที่สุด เพื่อให้เหลือสนามภาพที่ใช้งานได้มากที่สุด ซึ่งมักจะออกมาคล้ายๆกันคือ ต้องการสนามภาพสำหรับไกลมากสุด ระยะใกล้รองรองมา และระยะกลางน้อยที่สุด แต่ระละเอียดแท้จริงๆนั้นเป็นความลับเฉพาะของบริษัท ทำให้  Charactor ของเลนส์แต่ละรุ่นที่ออกมานั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน  เลนส์แต่ละรุ่น แต่ละชื่อหรือแม้จะเป็นเลนส์ที่อยู่ในค่ายเลนส์เดียวกัน ก็มีบุคลิคของการมองเห็นที่ไม่เหมือนกัน  

ภาพการทดสอบ การใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟ เพื่อปรับแต่งหาค่าโครงสร้างที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนปัจจุบัน   : credit ,rodenstock

 

Perfect Balance Principle 

เลนส์หลายๆค่ายนั้น ใช้หลักหรือแนวคิดในการเกลี่ยภาพบิดเบี้ยวในเลนส์แต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน  ทำให้เลนส์แต่ละรุ่นนั้นมีลักษณะโครงสร้างที่เป็นเอกเทศน์เฉพาะรุ่นนั้นๆ เช่นถ้าเป็นรุ่นเลนส์ในอดีต  บางรุ่นก็เป็น Hard Design, บางรุ่นก็เป็น Soft Design, บางรุ่นก็เป็น Advance Soft ทำให้เราเองก็ไม่มั่นใจว่าแบบไหนถึงจะเหมาะ เพราะในการขยับโปรเกรสซีฟรุ่นที่สูงขึ้น อาจจะไม่ได้หมายความว่าจะได้โครงสร้างที่ถูกใจผู้สวมใส่ที่เคยใช้รุ่นเดิมมาก่อน เพราะโครงสร้างของรุ่นที่ต่ำกว่าอาจจะมีโครงสร้างที่ถูกจริตกับผู้ใช้งานมากกว่า เหล่านี้ก็เป็นปัญหาของคนยุคเก่าเช่นกัน 

 

เลนส์โรเด้นสต๊อกในอดีตนั้นก็เคยมีโครงสร้างแบบนั้นและประสบปัญหาแบบเดียวกัน  จึงมีแนวคิดว่าเลนส์ที่ออกไปจากเลนส์ค่ายอื่นในเวลานั้น โดยเชื่อว่าจะต้องมีเลนส์ที่มีบุคลิกในอุดมคติที่ดีอันหนึ่ง คือ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่ค่าหนึ่งและจากนั้นเมื่อต้องการพัฒนาก็จะพัฒนาต่อยอดกับพื้นฐานที่ดีที่ว่านั้นต่อยอดไปเรื่อยๆ โครงสร้างหลักที่ว่านั้นก็คือ Perfect Balacne Principle  ทำให้บุคลิกของเลนส์โปรเกรสซีฟของโรเด้นสต๊อกนั้นมีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน  จะว่าไปก็คือหลักของทางสายกลางนั่นแหล่ะ ไม่สุดโต่งไปในทาง soft จ๋าหรือ hard จัด 

 

ดังนั้น การจะเป็น Perfect Balance Principle นั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญคือ visual field , binocular vision และ dynamic vision ซึ่งต่อไปเราจะมาดูกันเป็นข้อๆ 

 

1. Perfect Balance Visual Field 

 

Balance Visual Field : จุดกำเนิดของเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น เกิดขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นเลนส์อเนกประสงค์ คือ ใช้งานได้ทุกระยะและไม่มีรอยต่อ ดังนั้น เรื่องของ Visual Field ในทุกระยะนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับต้นๆของการออกแบบ แต่สิ่งที่ท้าทายกับวิศวกรออกแบบเลนส์ คือ จะออกแบบอย่างไรให้โครงสร้างที่ออกแบบมานี้ สามารถตอบโจทก์ผู้สวมใส่ได้ดีที่สุด และเหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนสมัยปัจจุบันมากที่สุด เพราะเขาต้องจัดการย้าย ขยะบิดเบี้ยว ไม่ให้มารบกวนสนามภาพหลัก  

 

ดังนั้น หลักการออกแบบของ Perfect Balance Visual Field คือ สนามภาพไกล กลาง และใกล้ ต้องกว้างพอ และสามารถใช้งานจริงได้เต็มประสิทธิภาพ โครงสร้างจึงไม่ได้มุ่งเน้นให้สนามใดสนามหนึ่งกว้างจนเหลือแล้วไปทำให้สนามภาพส่วนอื่นแคบลง  โดยในการ Weight Priorites ว่าควรให้ความสำคัญกับแต่ละระยะเท่าไหร่นั้น เขาใช้เก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานจริง โดยนำกลุ่มตัวอย่าง ที่มีความแตกต่างของ อายุ อาชีพ เพศ ไลฟ์สไตล์ การศึกษา กิจกรรมยามว่าง งานอดิเรก มาทำสถิติว่า ทางสายกลางของคนเหล่านี้นั้นควรเป็นแบบใด และออกแบบโครสร้างตัว Prototype ออกมา ให้กลุ่มตัวอย่างได้ลองใส่จริง แล้วเก็บผลการทดสอบ จนได้โครงสร้างบาลานซ์ที่เหมาะกับคนส่วนใหญ่ และยึดหลักนี้เป็นพื้นฐานในการออกแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

 

2. Pefect Balance Dynamic Vision 

 

Balance Dynamic Vision : ปัญหาสำคัญและเป็นสิ่งท้ายทายวิศวกรออกแบบโปรเรกสซีฟ คือ ภาพบิดเบี้ยวด้านข้าง ซึ่งทำให้เกิดภาพบิดเบี้ยวและวูบวาบบนตัวเลนส์ ส่งผลต่อปัญหาการปรับตัว และการใช้สายตาใจชีวิตประจำวันของคนสมัยใหม่นี้ มีหลากหลายรูปแบบ คือ ในอดีตคนใช้โปรเกรสซีฟเพื่อทำงานมองในแนวดิ่ง เช่น มองไกล ทำคอมพ์ อ่านหนังสือ แต่คนสมัยปัจจุบันนั้น ใช้เลนส์โปรเกรสซีฟทำทุกกิจกรรม ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา Jocking  ทำอาหารเช้า อ่านหนังสือ เล่นมือถือ ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์  เข้าประชุมดูโปรเจ็คเตอร์ ขับรถ ปั่นจักรยาน ตีกอฟล์ ยันเล่นบาสเกตบอล

 

ดังนั้น การใช้สายตาสำหรับกิจกรรมที่ต้องใช้สายตากวาดไปมาอย่างรวดเร็วนั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนในยุคนี้ ดังนั้น การออกแบบโครงสร้าง จะต้องไม่ทำให้การมองแบบ Dynamic Vision นี้มีอุปสรรคโดยการค่อยๆไล่ความชันของภาพบิดเบี้ยวจากน้อยไปมาก ก็จะทำให้ Dynamic ดูนุ่ม ปรับตัวง่าย แต่ถ้าเน้น Dynamic มากไป ก็จะต้องแลกกับ Visual Field ที่แคบตามมา  เพราะต้องไม่ลืมว่า ทฤษฎีกระบะทรายนั้น เราสามารถออกแบบความชันและความแคบกว้างของทราบได้ แต่เราไม่สามารถเอาทรายออกจากกระบะได้ ดังนั้น ถ้าเน้นนุ่มจัดจะได้มัวแลกมา ถ้าเอาคมชัดและกว้างจะต้องแลกกับภาพบิดเบี้ยว ดังนั้น ทางสายกลางของเรื่องนี้คือต้องหาจุด Optimum พอดีของ Dynamic และ Visual Field ให้ได้ 

 

3. Perfect Balance Binocular Vision 

Binocular Vison ; เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ความหมายของเรื่องนี้ก็คือ การที่เรามองเห็นภาพเป็นภาพเดียวที่คมชัดและมีมิติความลึกหรือที่เรียกว่า Clear single and Binocular vision เกิดจากการประมวลผลของสมองที่รับสัญญาณภาพมาจากตาทั้งสองข้าง ซึ่งตาซ้ายก็รับภาพมาภาพหนึ่ง ส่วนตาขวาก็รับภาพมาอีกภาพหนึ่ง แล้วสมองจับภาพจากตาทั้งสองข้างมารวมกันเป็นภาพเดียว 

 

ดังนั้น สมองจะประมวลผลได้ง่ายนั้น จะต้องอาศัยภาพที่มีคุณภาพจากตาทั้งสองข้างเท่าๆกัน  สิ่งที่ต้องเข้าใจกับโปรเกรสซีฟก็คือว่า มันมีพื้นที่ที่จำกัดและแต่ละจุดนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของค่ากำลังสายตาอยู่ตลอดเวลา  ถ้าขณะที่เหลือบเข้ามานั้น ตำแน่งที่ตามองผ่านเลนส์นั้นเป็นคนละตำแหน่ง จะทำให้ภาพที่เกิดจากตาทั้งสองข้างนั้นชัด กว้างไม่เท่ากัน ซึ่งเมื่อนำภาพที่ชัด กว้างไม่เท่ากันมา Overlap กันแล้ว การรวมภาพก็จะทำได้ไม่ดี เกิดอาการคือ สนามภาพแคบ โดยเฉพาะระยะกลางใกล้ ภาพไม่ชัดเท่าที่ควรจะเป็น หลับตาข้างหนึ่งแล้วอาการดีขึ้น หรือตะแคงศีรษะไปข้างหนึ่งแล้วอาการดีขึ้น  เหล่านี้เกิดจากเลนส์ที่ออกแบบโครงสร้างแล้ว Binocular ไม่ดี  ซึ่ง perfect balance principle ต้องไม่มีปัญหานี้ คือภาพตาขวาดี ซ้ายดี และ การรวมภาพขณะมองสองตาก็ต้องดีด้วย 

 

จริงๆ ถ้าจะให้เล่าเรื่องราวของการออกแบบเลนส์โปรเกรสซีฟ ก็คงจะต้องเล่ากันเป็นพงศาวดาร เยอะมากๆ เอาที่จะนำไปใช้งานได้ก็แล้วกัน  เพราะโปรเกรสซีฟนั้นเป็นเรื่องราวของ Art ที่อยู่บนพื้นฐานของ Science  ซึ่ง Art & Science นี้ของใครของมัน สไตล์ใครสไตล์มัน เลนส์โปรเกรสซีฟจีนแดงก็อาร์ทแบบจีนแดง  โปรเกรสซีฟญี่ปุ่นก็อาร์ทแบบญี่ปุ่น  โปรเกรสซีฟเยอรมันก็อาร์ทแบบเยอรมัน  

 

2. สองปัจจัยที่ทำลายโครงสร้างโปรเกรสซีฟ

คราวนี้ก็มีถึงหัวข้อหลักของเรื่องในวันนี้ คือ สองปัจจัยที่เป็นตัวทำลายโครงสร้างโปรเกรสซีฟโดยตรง ซึ่งสำคัญอย่างมากในการจ่ายเลนส์ให้คนไข้ ได้แก่ 

 

1. ความโค้งของกรอบแว่นที่จะนำมาทำโปรเกรซีฟ (Frame Parameter)

สาเหตุสำคัญของการเกิด aberration บนระบบเลนส์คือ แสงที่วิ่งผ่านเลนส์แบบทำมุม หรือ แสงที่วิ่งผ่านเลนส์แบบ off-axis ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ แว่นที่โค้ง กับแว่นหน้าตรงแต่เราไม่ได้มองตรงแต่มีการเหลือบไปยังมุมต่างๆของแว่น  และ ยิ่งเป็นแว่นกรอบโค้งแล้วมีการเหลือบไปยังมุมต่างๆของแว่น ก็จะยิ่งเกิดมุมมากขึ้น มุมที่เกิดขึ้นทำให้เกิด aberration ตัวหนึ่งที่เราเรียกว่า Unwanted oblique astigmatism ผลของมันคือ ทำให้สายตามีการคลาดเคลื่อน ทั้ง shpere cylinder axis และ prism และ ทำให้ distortion บนโปรเกรสซีฟนั้นเกิดการจัดเรียงแบบไม่เป็นระเบียบและขึ้นมารวบกวนสนามภาพใช้งาน และเมื่อลานตาแต่ละข้างไม่ดี การรวมภาพก็ไม่ดี สุดท้ายคือไม่สามารถใช้งานได้เลย 

 

ดังนั้นโปรเกรสซีฟเทคโนโลยีต่ำนั้นจะกลัวแว่นกรอบโค้งมาก และ แว่นกรอบโค้งนี่เองที่จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าเลนส์โปรเกรสซีฟที่โฆษณาว่าดีนั้น มีดีพอหรือไม่  หมายความว่า “ถ้าเลนส์โปรเกรสซีฟค่ายไหน สามารถนำมาประกอบบนเลนส์กรอบสปอร์ตโค้งๆได้แล้วใส่สบายเหมือนแว่นหน้าโค้งปกติแล้วหล่ะก็  ก็พอจะอนุมานได้ว่าเลนส์นั้นดีใช้ได้ เทคโนโลยีดีจริงและการจะจัดการกับภาพบิดเบี้ยวก็คงไม่เป็นปัญหาสำหรับเขา แต่ถ้าบอกว่าเลนส์โปรเกรสซีฟไม่สามารถนำมาประกอบบนแว่นกรอบโค้งได้ ก็แสดงว่า เทคโนโลยีเลนส์ของค่ายนั้นยังต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก นั่นเอง 

 

 

 

 

 

 

เช่นเดียวกับการวัดสมรรถนะของรถแข่ง ถ้าจะรู้ว่ารถยนต์ค่ายไหนจะเจ๋งกว่ากันก็ต้องวัดกันที่สนามหรือสมรภูมแข่งจริง เช่นถ้าจะแข่งรถเพื่อดูสมรรถนะการขับขี่ของช่วงล่างต้องดูการแข่งขัน Rally เพื่อดูว่าทางวิบากเช่นนั้น สมรรถะรถและนักแข่งจะไปได้แค่ไหน แต่ถ้าจะมาแข่ง Rally บนถนนวัชรพลไปตลาดถนอมมิตร Subaru กับ Vios คงจะกินกันไม่ลงสักเท่าไหร่นัก เพราะเส้นทางเรียบปกติไม่เอื้อต่อการโชว์ศักยภาพเท่าไหร่

 

เลนส์โปรเกรสซีฟก็คล้ายคลึงกัน  ถ้าจะแข่งประสิทธิภาพของโครงสร้างเลนส์กันบนกรอบธรรมดา หน้าโค้งปกติ (ถนนในเมือง) เทคโนโลยีมีเต็มคันก็คงไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ และก็คงจะไม่หนีกันมาก แต่ถ้าเจอปัจจัยที่โหดๆเช่นกรอบแว่นที่โค้งมากๆ เราจะได้เห็นเลยว่า “ใครตัวจริง” 

 

ส่วนตัวผมเอง เลือกที่จะจ่ายเลนส์ Rodenstock  100% ในการแก้ไขปัญหาการมองเห็นให้กับคนไข้ ซึ่งจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ทำ loft optometry ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2014-2024  ซึ่งก็ครบ 10 ปีพอดี คนไข้ไม่เคยมี reject กับเลนส์ Rodenstock เลยแม้แต่เคสเดียว และก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายรุ่นทอปสุดเสียด้วยซ้ำ คนไข้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการใช้ชีวิตประจำวัน ผมจึงค่อนข้างมั่นใจกับเลนส์ค่ายนี้ อนึ่งจากการที่ผมเคยได้ร่วมงานกับ Rodenstock ในตำแหน่งฝ่ายวิชาการเลนส์ (2010-2014) ทำให้เรารู้จุดอ่อนจุดแข็งของเลนส์แต่ละรุ่น และสามารถเลือกจ่ายเลนส์ที่เหมาะสมกับปัญหาของคนไข้แต่ละคนได้โดยไม่ต้องขยับถึงรุ่นท๊อปสุด 

 

ยิ่งสำหรับเรื่องแว่นกรอบโค้งด้วยแล้ว rodenstock เขาประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา aberration ที่เกิดจากแว่นโค้งนี้ได้ตั้งแต่ 24 ปีที่แล้ว (2000) ตั้งแต่สมัยเปิดตัว Impression ILT ซึ่งสามารถประกอบโปรเกรสซีฟเข้ากับแว่นกรอบโค้งสุดสุดได้ถึง 30 องศา แต่สามารถให้ความรู้สึกสบายเหมือนใส่แว่นหน้าตรงปกติ ดังนั้นปัจจุบันนี้โรเด้นสต๊อกไม่ต้องคุยเรื่องปัจจัย off-axis จากแว่นโค้งหรือการมองผ่านเลนส์แบบทำมุมแล้ว แต่เขาไปในระดับ biometic กับ B.I.G. technology แล้ว 

 

โรเด้นสต๊อกจึงเป็นแบรนด์ที่(ค่อยๆ)โตด้วยผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่โตด้วยการตลาดแท้จริง แต่อาจไม่ทันใจสำหรับผู้บริหารในประเทศไทย ซึ่งอาจไม่ค่อยเข้าใจความยั่งยืน จึงมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารอยู่บ่อยครั้ง (คืออยากขายดี) แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า rodenstock เป็นเลนส์ที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน ผู้ที่ทำการตรวจวัดต้องทำความรู้ความเข้าใจกับเทคโนโลยีมาก ต้องมีพื้นฐานที่ดีมากจึงจะสามารถสั่งและประกอบออกมาได้ดี แต่ผู้ให้บริการในบ้านเราส่วนใหญ่แล้วมาตรฐานยังไม่ถึง ส่วนใหญ่เน้นเชียร์ขาย แต่ไม่เน้นรู้เรื่อง ทำให้จ่ายออกไปแล้วมีปัญหา เคลมไปเคลมมา ขาดทุน แล้วก็บอกว่าไม่ต่างจากเลนส์ตลาด (เจริญทำใจ)  

 

ผลกระทบจากแว่นกรอบโค้ง

แว่นโค้งทำให้แนวการมองที่กระทำกับเลนส์นั้นเกิดการทำมุม และ แสงผ่านเลนส์แบบทำมุมทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของการหักเห 

ค่าพารามิเตอร์ที่ส่งผลต่อโครงสร้างเลนส์ ได้แก่ มุมเทหน้าแว่น(pantoscopic tilt,PT)  ความโค้งหน้าแว่น(Face Form Angle, FFA) และ ระยะห่างระหว่างเลนส์
ถึงกระจกตา (Cornea Vertex Distant, CVD) 

 

พารามิเตอร์ของกรอบแว่น (PT, FFA, CVD) จะเป็นตัวกำหนดมุมที่เลนส์กระทำต่อแนวการมองของตา (Visual axis) ซึ่งถ้าแว่นกรอบโค้ง  แนวการมองของตาก็จะไม่ตั้งฉากกับเลนส์ (วิ่งผ่านแบบทำมุม) และแสงเมื่อวิ่งผ่านเลนส์แบบทำมุมจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของการโฟกัส ซึ่งเรามีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Unwanted Oblique Astigmatism ซึ่งชื่อมันฟังแล้วไม่ค่อยรื่นหูสักเท่าไหร่ และก็จะยากด้วย แต่เอาเป็นว่าไม่ต้องไปจำชื่อมัน ให้รู้เพียงว่า Oblique Astigmatism ส่งผลกระทบต่อการหักเหของแสงอย่างมาก เช่น  ทำให้สายตาสั้น ยาว (Sphere Error) เกิดความคลาดเคลื่อน, ทำให้เกิดสายตาเอียง (Unwanted Cylinder) แถมขึ้นมา, มีปริซึม (ที่ไม่ได้รับเชิญ) แถมขึ้นมหมายความว่า ถ้าเลนส์นั้นเป็นเลนส์สายตาสเฟียร์ (ที่ไม่มีค่าสายตาเอียง) แสงที่ทำมุมก็จะทำให้เกิดสายตาเอียงแถมขึ้นมา  หรือเลนส์คู่นั้นมีสายตาเอียงอยู่แล้วก็จะยิ่งทำให้เอียงแถมขึ้นไปอีก, เท่านั้นยังพอยังแถมปริซึมให้อีกด้วย ทำให้เกิดภาพที่บิดเบี้ยว กล้ามเนื้อตาทำงานผิดปติ เลนส์ตาทำงานหนักกว่าปกติ แล้วเกิดอาการ คลื่นเหียน วิงเวียนศีรษะเหมือนอยากจะอาเจียน ซึ่งเราเรียกอาการรวมๆนี้ว่า Asthenopia (อ่านว่า แอส-ทิ-โน-เปีย) 

รูปไดอะแกรมแสดงความคลาดเคลื่อนของสายตาสั้น ยาว (Sphere)  +2.00, +4.00, +6.00,
+8.00 (ดูตามแถบสี) เมื่อแสงวิ่งผ่านเลนส์ทำมุมต่างๆ  : แกน Y แสดงถึงสายตาที่คลาดเคลื่อน
แกน X เป็นตัวแปรของมุมต่างๆ และแถวสีเข้มอ่อนของสีแสดงถึงค่าสายตาต่างๆ 

รูปไดอะแกรมแสดงการ Induce oblique astigmatism ของค่าสายตา (Sphere)  +2.00, +4.00
,+6.00 ,+8.00 (ดูตามแถบสี) เมื่อแสงวิ่งผ่านเลนส์ทำมุมต่างๆ : แกน Y แสดงถึง Cylinder ที่ถูก
induced, แกน X เป็นตัวแปรของมุมต่างๆ  

สรุปจากไดอะแกรม

รูปที่1 : เมื่อแสงทำมุมกับเลนส์ 15 องศา, สายตา+2.00 มีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยประมาณ ¼ step และความคลาดเคลื่อนจะมากขึ้นตาม “มุมที่มากขึ้น” และ “ยิ่งค่าสายตามากกว่าจะได้รับผล กระทบมากกว่า” แต่ภาพรวม ความคลาดเคลื่อนของค่า Sphere นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงรุนแรงมากนัก 

 

รูปที่ 2 : จะเห็นว่า แสงที่วิ่งผ่านเลนส์แบบทำมุมนั้น ทำให้เกิดการ Induced Oblique Astigmatism เกิดขึ้นรุนแรงมาก เช่น สายตา +4.00 สามารถทำให้เกิด (Induced) สายตาเอียงขึ้นมาถึง 0.25D ที่ 15 องศา และเมื่อเพิ่มมุมเป็น 20 องศาทำให้เกิดสายตาเอียงเพิ่มขึ้นมาถึง 0.50D และการคลาดเคลื่อนของสาตาจะรุนแรงมากขึ้นตามค่าสายตาที่มากขึ้น

 

ดังนั้น เลนส์สายตาสั้น ยาวธรรมดา เมื่อไปอยู่บนแว่นกรอบที่โค้งมากๆ ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของค่าสายตา ทั้ง Sphere เพี้ยน, Cylinder แถม และปริซึมแถม  เราเรียกความคลาดเคลื่อนเหล่านี้รวมๆว่า Unwanted Oblique Astigmatism เป็นเหตุให้การรับรู้ภาพผิดเพี้ยน  มิติของภาพเพี้ยน  เกิดการบิดเบี้ยวของภาพ ทำให้คนใส่นั้น รู้สึกเมา คลื่นไส้ ปวดหัว อยากจะอาเจียน

 

เนื่องจากเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นเกิดมาพร้อมกับ Unwanted Oblique Astigmatism อยู่แล้ว ซึ่งเกิดในขั้นตอนการผลิต (เดี๋ยวเล่าตอนหน้า)  และเมื่อเลนส์โปรเกรสซีฟเกิดมาก็มีภาพบิดเบี้ยวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แล้วถ้าต้องมาเจอกับแว่นกรอบโค้ง ก็จะยิ่งทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนและบิดเบี้ยวของภาพหนักกว่าเดิม  ทำเลนส์โปรเกรสซีฟเทคโนโลยีต่ำนั้นไม่สามารถตอบสนองแว่นกรอบโค้งได้

 

รูปด้านบน เป็นรูปโครงสร้างโปรเกรสซีฟ 3 แบบ รูปแรก แสดงโครงสร้างโปเกรสซีฟค่าสายตา +3.00D Add 2.00D ซึ่งมีการบริหารจัดการภาพบิดเบี้ยวที่ดี ถือเป็นเลนส์ในอุดมคติ มีสนามภาพกว้าง มีการจัดเรียงตัวของแนวภาพบิดเบี้ยวที่สมมาตรและสวยงาม  ส่วนรูปที่สอง เป็นโครงสร้างที่เริ่มมีค่าสายตาเอียงเข้ามารบกวนโครงสร้าง(+3.00-1.50x35) ซึ่งสายตาเอียงจะ Induce oblique astig. ขึ้นมาจาก Base Curve Effect (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) รูปที่สาม สายตา +3.00D เช่นเดิม แต่นำไปประกอบบนแว่นโค้ง 15 องศา จะเห็นว่ามีการรบกวนของสนามภาพบิดเบี้ยวลามเข้ามาในพื้นที่ใช้งาน ซึ่งส่งที่ลามมานั้นเรียกว่า Unwated obliqe astigmatism  

 

เลนส์ Single vision ก็โดน   

รูปด้านบน : รูปแรกเป็นการ Mapping ค่าความคลาดเคลื่อนของกำลังหักเหที่เกิดบนเลนส์ชั้นเดียวสายตา +3.00D เมื่อนำไปใช้กับแว่นกรอบโค้ง 15 องศา จะเห็นว่ามีค่าสายตา Shpere, Cylinder, Axis ที่ไม่ได้สั่งแต่เกิดขึ้นได้เองจากแสงผ่านเลนส์แบบทำมุม ซึ่งมีส่วนที่แถมขึ้นมาถึง +0.34-0.42x46 (Unwanted Oblique Astigmatism)  ส่วนรูปสองเป็นรูปแบบการคำนวณชดเชยความคลาดเคลื่อนเพื่อออกแบบวิธีขัดเชย และรูปสุดท้ายคือ Optic ที่ผ่านการขัดชดเชยแว่นโค้งและขัดได้เลนส์ที่มีโครงสร้างที่สมบูรณ์เหมือนเดิม (รูปสาม)

 

ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นเพื่อให้เราได้เห็นภาพเชิงวิทยาศาสตร์ว่าเหตุใดแว่นกรอบโค้งถึงไม่เหมาะที่จะนำมาทำเลนส์สายตา เหตุใดโปรเกรสซีฟเลนส์บางรุ่นบางค่าย ถึงปฏิเสธที่จะทำบนแว่นกรอบโค้ง

ถามว่า...ถ้ามีแว่นสายตาและชอบแว่นกรอบโค้งๆ แต่อยากใส่สบายเหมือนหน้าแว่นปกติ จะทำได้ไหม ?

ตอบว่า...ทำได้ และทำได้ดีด้วย แต่เลนส์ก็ราคาสูงด้วยเช่นกัน เพราะมูลค่าทางเทคโนโลยีนั้นสูงมาก (ไม่ใช่ราคาพลาสติกแพง)

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่า “ถ้าไม่อยากได้เลนส์แพง อย่าซื้อกรอบโค้ง” 

 

เครื่องมือวัดมุม


เครื่องมือในการวัดค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่นนั้น โรเด้นสต๊อกออกแบบมาทั้งแบบ Manal คือ Impression Measuring Tool และแบบดิจิตอล คือ ImpressionIST3  สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากขณะทำการตรวจวัดทั้งสองแบบคือ ลักษณะสรีระท่าทางที่เป็นธรรมชาติจริงๆของคนไข้ คือมองตรงในสภาวะปกติ ไม่ก้ม ไม่เงย ซึ่งจะทำให้ตำแหน่ง fitting นั้นคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะตำแหน่งของ fitting hight ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ต้องตรวจทั้งสองแบบ เอาไว้อ้างอิงซึ่งกันและกัน เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งผิดปกติก็ต้องมีอีกอันไว้คอนเฟิร์ม 

 

2. ความโค้งของหน้าเลนส์ (Base Curve)

การเลือกความโค้งเลนส์นั้นไม่ได้เลือกเพียงเพราะความสวยงามเท่านั้น แต่ส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงค่าพารามิเตอร์ต่างๆของกรอบแว่น  เอาตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม เช่น  กรอบเซาะร่องโลหะทั้งหลาย เช่น ic!Berlin, Mykita, Porsche Design หรือ Lindberg Titanium strip ที่ความโค้งของหน้าแว่น (Face form angle) ถูกกำหนดโดยความโค้งของหน้าเลนส์ กรอบพวกนี้ถูกออกแบบการกระจายน้ำหนักลงจมูกลงใบหูได้อย่างดี ทำให้ใส่สบาย ใส่กระชับ และล๊อคอยู่บนหน้า “ใส่แล้วกรึ๊บ” ถ้าท่านที่เลยลองแว่นที่มันบาลานซ์ดีๆ จะเข้าใจว่าผมกำลังพูดถึงอะไร คือ ใส่แล้วมันล๊อคหน้า ความรู้สึกของการใส่แว่นหายไป มันสบายและไม่รู้สึกอะไรมากกว่าความชัด  เรามีหน้าที่แค่เสพภาพที่มองเห็น 

 

 

กรอบโค้งอย่าง ic!Berlin รุ่นนี้มีความโค้งหน้าแว่น 15 องศา ต้องการความโค้งหน้าเลนส์ (Base Curve) 6.5 เมื่อนำมาประกอบบนแว่น ถึงจะสวยเหมือนต้นฉบับ และถ้ากรอบแว่นพวกนี้ไปเจอหน้าเลนส์ที่แบนๆมาอย่างพวก Aspheric หรือ Double Aspheric  ความโค้งหน้าแว่นจะเปลี่ยนเป็นหน้าตรง ขาแว่นจะกาง การกระจายน้ำหนักจะทำได้ไม่ดี ค่าพารามิเตอร์ต่างๆจะเพี้ยนไปทั้งหมด  ทำให้ต้องต้องดัดขากันวุ่นวาย แม้อาจะจะสามารถดัดให้ใส่ได้แต่ก็ไม่สบายเหมือนกันตอนลองครั้งแรก  ไม่เพียงแค่นั้นแม้แต่กรอบเต็มพลาสติกเมื่ออัดเลนส์หน้าแบนๆเข้าไป ร่องของกรอบพลาสติกพวกนี้จะไปขืนเลนส์เนื่องจากความโค้งเลนส์ไม่ Matching กันกับร่องหรือสันของกรอบแว่นทำให้เลนส์เครียด  ทำให้แสงเดินทางผ่านตัวกลางที่มีความเครียดก็จะเกิดการรวมภาพที่ไม่สมบูรณ์และมีความคลาดเคลื่อนในระดับละเอียด (Higher order aberration) ทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นต่ำลง   

 

ดังนั้น เลนส์ที่ดีต้องสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งแว่นกรอบโค้งและสามารถเลือกโค้งหน้าเลนส์ (Base curve) ได้จึงจะถือว่าเป็นเลนส์ที่เทคโนโลยีเขาถึงจริง แต่ก็ต้องระวังอย่างหนึ่งคือ วงการเลนส์เป็นวงการอภินิหาร ชอบสร้างเรื่องเป็นตุเป็นตะ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง พอใช้จริงกลับมีปัญหาสารพัด แม้แต่ตัวแปรง่ายๆคือ ขอสั่ง base curve ก็ยังทำให้ไม่ได้  แล้วถ้าสั่ง base ไม่ได้ แล้วจะไปประกอบบนแว่นกรอบโค้งได้อย่างไร ดังนั้นต้องระวังการเป็นเหยื่อนักการตลาด 

 

“ทำไม....เลนส์หลายรุ่นจึงสั่ง Base Curve อิสระไม่ได้”

 

แม้ว่า Base Curve จะสำคัญต่อความสวยงามของแว่นขนาดไหน แต่ผู้ผลิตหลายๆแบรนด์ก็ยังไม่เปิดออพชั่นที่สามารถเลือกความโค้งเลนส์ (Base Curve) ได้อย่างอิสระ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากนั้นรู้สึกเสีย Self ว่าทำไม่แว่นที่ใส่อยู่บนหน้านั้นไม่สวยหรือใส่ไม่สบายเท่ากับตอนลอง โดยเฉพาะกับกรอบแว่นเซาะร่องโลหะทั้งหลาย 

กรอบเซาะร่องโลหะ พวกนี้ ผิวโค้งหน้าเลนส์จะเป็นตัวกำหนดความโค้งของกรอบถ้าเลนส์โค้งแว่นจะโค้งตามแต่ถ้าเจอเลนส์ Aspheric/ Double Aspheric ที่หน้าแบนๆขาแว่นจะกางอย่างในรูป 

 

“Base Curve Effect คือ ขีดจำกัดในการออกแบบโครงสร้างโปรเกสซีฟ”

Base Curve Effect นั้นเป็นกฎทางฟิสิกส์อย่างหนึ่งซึ่งเป็นกฎที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง Base Curve กับค่าสายตา ซึ่งกฎนี้มีชื่อเรียกว่า Tscherning's ellipse (ปี1904) โดยนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 คนคือ Wollaston และ Ostwalt โดยกราฟนี้บอกเราว่า สายตาเท่านี้ควรจะใช้โค้งของผิวหน้าเลนส์ (Base Curve) อะไรในการผลิต ถึงจะได้ประสิทธิภาพเชิงออพติกดีที่สุด (Optical properties) และถ้าโค้งหน้าเลนส์ไม่เหมาะสมกับค่าสายตาจะส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนของกำลังหักเหของเลนส์ (Oblique astig.)

Tscherning’s Ellipse เป็นกราฟที่แสดงความสำพันธ์ของ Best Form Lens ว่าแต่ละค่าสายตานั้นจำเป็นต้องใช้ Base Curve อะไรในการผลิตจึง จะทำให้เลนส์มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

Base Curve Effect บอกเราว่า

“ในค่าสายตาหนึ่งๆ จะมี Base Curve ที่เหมาะสม (Matching ) กับมันจริงๆเพียงหนึ่งค่าสายตาเท่านั้น และถ้า Base Curve ไม่เหมาะสมกับค่าสายตาก็จะทำให้เกิด Unwanted Oblique Astigmatism ซึ่งส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนของค่าสายตา” เช่นเดียวกับแสงที่วิ่งผ่านเลนส์แบบทำมุม 

รูปซ้ายเป็นโครงสร้างที่ได้รับผลกระทบจาก Base curve effect /ขณะที่รูปขวานั้นเป็นโครงสร้างที่ใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา Base curve effect เรียบร้อยแล้ว 
ดังนั้นผู้ผลิตที่สามารถแก้ไขเรื่อง Base curve ได้ จะสามารถให้เราเลือกผิวโค้งเลนส์ได้

 

ตัวอย่าง Base Curve Effect ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพเลนส์ จาก Diagram เราจะพบว่า การใช้ 1 Base Curve ไปคุมค่าสายตาเป็นช่วงๆนั้น ก็จะมี 1 ค่าสายตาที่จะได้โครงสร้างในอุดมคติ แต่เมื่อค่าสายตาไม่ตรงกับเบสแล้ว ก็จะทำ ให้เกิด Oblique Astigmatism ซึ่งแสดงเป็นสีเหลือง ส้ม แดง ตามความรุนแรง ของค่าสายตา และสังเกตได้ว่าในค่าสายตาเอียงมากจะได้รับผลกระทบจาก Base Curve Effect มากขึ้น

 

Base Curve Effect นี้ไม่เฉพาะแต่โปรเกรสซีฟเลนส์เท่านั้น แม้แต่เลนส์ชั้นเดียวก็โดนด้วยเช่นกัน จึงมีการพัฒนาโครงสร้างจากเลนส์ Spheric Lens ไปเป็น Aspheric Lens เพื่อให้สามารถทำเลนส์ที่มีค่าสายตาที่ไม่เหมาะสมกับโค้งเลนส์ได้ เช่น สายตา +8.00 ซึ่ง Base ที่เหมาะสมจริงๆ คือ BC +15.00 ซึ่งมันโค้งจัดไม่สวยงาม แต่ถ้าจะใช้ Base ที่แบนลงมาก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพการการมองเห็น

 

แม้การเปลี่ยนโค้งหน้าเลนส์เป็นแบบ Aspheric จะพอแก้ปัญหา Base curve effect ได้บ้างในค่าสายตา Sphere แต่ก็ช่วยไม่ได้ในค่าสายตาที่เอียงมากๆ และปัญหานอกจากนี้แล้ว ความแบนของ Aspheic ก็สร้างปัญหาต่อมา คือ หน้าเลนส์ที่แบนเกินก็ไม่สวยอีก เลยมีเลนส์เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Atoric Design หรือ Multi-Aspheric เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้การคำนวณโครงสร้างบนดิจิตอล เพื่อได้โครงสร้างที่สมบูรณ์แล้วจึงทำการขัดโคงสร้างด้วยเ CNC-Freeform  ทำให้ Multi-Aspheic/Atoric Design ที่สามารถสั่งโค้งเลนส์และโค้งกรอบได้อิสระ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเลนส์ 

 

กลับมาที่โปรเกรสซีฟเลนส์.....

โปรเกสซีฟเลนส์นั้น มีภาพบิดเบี้ยวเป็นตราบาปมาตั้งแต่กำเนิดอยู่แล้ว ดังนั้น ยิ่งต้องมาเจอ ความคลาดเคลื่อนจาก Base curve effect อีก จากแว่นกรอบโค้งซ้ำอีก ก็ยิ่งจะทำให้สนามภาพใช้งาน ไกล-กลาง-ใกล้ ที่ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว ยิ่งจะน้อยไปกันใหญ่  ภาพบิดเบี้ยวก็ทวียิ่งขึ้นไปอีก 

 

ดังนั้น ในเทคโนโลยีการผลิตเลน์โปรเกรสซีฟเลนส์ในปัจจุบัน โครงสร้างส่วนใหญ่จะถูกกำหนดไว้บนค่า Base curve อันใดอันหนึ่ง และออกแบบตามค่าพารามิเตอร์มาตรฐานค่าหนึ่ง ทำให้เราถูกบังคับไม่ให้เลือก Base curve ได้ คือ การจะทำแบบนี้ได้ วิศวกรออกแบบจะต้องย้ายโครงสร้างทั้งหมดของโปรเกรสซีฟ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของค่าสายตา  ส่วนของ Progressive Addition ส่วนของ Inset ย้ายมาอยู่ผิวหลังให้หมดเป็นโครงสร้างแบบ Full Back-Side Progressive  แต่พูดหน่ะมันง่าย แต่การทำนี่สิมันยาก เพราะมันเหมือนกับการลงมือวาดภาพลงบนกระดาษเปล่า ถ้าฝีมือดีก็ดีไป ถ้าฝีมือไม่ดีรูปก็ดูไม่ได้  แต่การหล่อโครงสร้างผ่านแม่พิมพ์ อย่างน้อยก็ไม่ต้องต้องห่วงเรื่อง Base curve effect (เพราะสั่งไม่ได้อยู่แล้ว) ไม่ต้องห่วงเรื่องแว่นกรอบโค้ง เพราะเลนส์หน้าแบนก็ไม่เหมาะที่จะทำแว่นโค้งอยู่แล้ว เหมือนกับการลงสีในสมุดหัดวาดภาพระบายสี อยากได้รูป ดราก้อนบอล หรือ เซเลอร์มูน ก็ซื้อมาระบายให้สวยงาม แต่ไม่มีทางระบายแล้วจะกลายเป็นรูปอื่น นั่นคือข้อเสียของโครงสร้างแม่พิมพ์ 

-

โปรเกรสซีฟไม่เหมือนกัน

เมื่อเราได้ยินคำว่า “เลนส์โปรเกรสซีฟ” ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีโครงสร้างเหมือนกันหรือตอบโจท์เราได้เหมือนๆกัน เพราะเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบ แนวคิดการออกแบบ และกระบวนการในการขัดโครงสร้างของแต่ละค่ายเลนส์นั้นไม่เหมือนกัน  ทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟถึงได้มีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลายหมื่นไปจนถึงหลักแสน” และที่หลักร้อยกับหลักแสนราคาแตกต่างกันขนาดนั้นเขาไม่ได้วัดกันที่เนื้อวัสดุพลาสติกที่ใช้ทำเลนส์ (เพราะ Cost ของ Material คงไม่เท่าไหร่ ) แต่ต้นทุนแท้จริงนั้นอยู่ที่การนำเอา Lens Material อันนั้นไป Process ให้เกิดคุณค่าเกิดโครสร้างขึ้นมา  ซึ่งเทคนิคการ Process นั้นเกิดจากศึกษาวิจัยและพัฒนา (Research and Development, R&D) กว่าจะได้มานั้นยากลำบาก เพราะต้องใช้การสั่งสมความรู้ประสบการณ์เป็นร้อยๆปีกว่าจะได้มา ใช่ว่าใครที่สักแต่ว่ามีเงินจะทำกันได้  ไม่อย่างนั้นบริษัทผู้ผลิตเครื่อง cnc สำหรับกัดโครงสร้างเลนส์อย่าง schneider  คงทำเลนส์ขายเองแล้ว 

 

ทำไมโปรเกรสซีฟมีราคาแพง

ดังนั้น อย่าไปคิดว่า “แค่พลาสติกคู่หนึ่งทำไมขายแพงจัง” ที่แพงไม่ใช่พลาสติก แต่แพงเพราะกระบวนการทำโครงสร้างบนเนื้อพลาสติกให้เป็นโครงสร้างโปรเกรสซีฟ ให้เราได้ใช้สายตา ได้มองเห็น และมีความสุขกับสิ่งที่มองเห็น ซึ่งต้องผ่านการวิจัยและพัฒนาต่อเนื่องยาวนานเป็นร้อยปีในการคิดค้นวิธี กระบวนการ ทั้งซอฟแวร์การคำนวณ และสร้างหุ่นยนต์ฟรีฟอร์มที่สามารถทำงานตามคำสั่งด้วยความแม่นยำระดับ 1 ไมครอนได้ (ที่ต้องละเอียดขนาดนั้นเพราะความยาวคลื่นแสงนั้นเดินทางกันเป็นนาโนเมตร) เหล่านี้เป็นต้นทุนทั้งสิ้น เราจะมามองเพียงต้นทุนวัสดุไม่ได้  แต่ให้เรามีเงินร้อยล้าน  เราก็ไม่สามารถนำก้อนพลาสติกไปขัดสร้างโครงสร้างเองได้ ดังนั้น ต้นทุนวิจัยและพัฒนานั้นแพงมาก มีลิขสิทธิ์เมื่อมีการค้นพบ ไม่ใช่ว่าใครจะก๊อบไปทำก็ได้ แต่ถ้าเทียบกับมูลค่าของดวงตาเราแล้วถือว่าถูกกว่าเยอะ 

 

โปรเกรสซีฟในตลาดเลนส์

ในตลาดเลนส์บนความเป็นจริง เลนส์บางรุ่นราคาสูง เนื่องจากค่า R&D ที่สูง เลนส์จึงแพงแต่ก็มีประสิทธิภาพดีสมราคาจริง  ในขณะที่เลนส์บางรุ่นราคาสูงเนื่องจากใช้เงินในการโฆษณาเยอะ (เหมือนกระทะ Korea king ตอนนี้ไม่มีใครได้ยินชื่อนี้แล้ว) จ่ายเงินไปแล้วก็รู้สึกเสียดายสตางค์ก็มีให้เห็นเยอะแยะ จนเข็ดกันเป็นแถวๆ  ดังนั้น การที่จะตัดสินใจซื้อเลนส์โปรเกรสซีฟสักคู่หนึ่งต้องคิดกันให้ดีๆ ศึกษากันให้มากๆ อันไหนของจริง อันไหนของเก๊ เดี๋ยวจะมาเสียใจกันภายหลัง

 

หลักในการเลือกโปรเกรสซีฟ

ถ้าสิ้นคิดนิดหนึ่งแต่ใช้ได้จริงคือ“เลือกแบรนด์...จากความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต” เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ได้ว่าอะไรอยู่ในเลนส์ใสๆนั่น และมันจะส่งผลดีผลเสียกับตาเราอย่างไรบ้าง เพราะผู้ผลิตนั้นย่อมจะบอกเฉพาะส่วนดีๆของผลิตภัณฑ์ ซึ่งบางเรื่องบางราวนั้น อาจจะมาจากนักพูดประดิษฐ์คำขึ้นมาเองโดยวิศวกรออกแบบเลนส์อาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยการเลือกแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ที่ยาวนาน ผ่านหนาวร้อนมาเป็น ร้อยๆปี นั่นก็คงจะเป็นเครื่องยืนยันคุณภาพได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเอาเข้าจริง แบรนด์เลนส์ที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้มีอยู่ไม่เกิน 5 แบรนด์ ได้แก่ Rodenstcok (Germany), Hoya (Japan), Essilor(France), Zeiss (Germany) และมีแบรด์ที่ดีแต่อาจไม่แพร่หลายมากนัก เช่น Tokai, Nikon, Seiko, Sharmir etc. และแบรนด์โดยคนไทยก็มีเช่นกัน คือ TOG  แต่ก็มีเลนส์ยี่ห้อเล็กๆน้อยๆอีกมาก แต่ยังไม่สามารถนับว่าเป็นแบรนด์เนม 

 

พูดให้เห็นภาพว่า "บางทีการเลือกแบรนด์ก็จำเป็น" เช่น ถ้าเรามีเงินอยู่ 3 ล้าน แล้วอยากจะได้รถยนต์สักคันหนึ่ง ถ้าเราต้องการมาตรฐานและสุนทรียะของการขับขี่ โดยสัญชาติญาณเราจะมองไปที่ Mercedes Benz , BMW, Audi, Wolkswagan เพราะเราเชื่อมาตรฐานวิศวกรรมของคนเยอรมัน เพราะคนประเทศนี้เขาเป็นอย่างนี้ อะไรไม่ดีเขาไม่ทำ และปัจจุบัน Germany เป็นแบรนด์ประเทศไปเรียบร้อยแล้วว่าอะไรที่ทำในประเทศเยรมันมันต้องดี (รวมถึงเบียร์ที่ผมชอบด้วย)

 

เพราะอะไรเราถึงไม่มองไปที่ Sanyoung หรือ Hundi ? ทั้งที่ก็มี 4 ล้อ และวิ่งได้เหมือนกัน ก็เพราะเราเชื่อและไว้ใจมาตรฐานและชื่อเสียงของ Benz และ BMW และเราเชื่อว่า ถ้าเป็นเรื่องวิศวกรรมหรือเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรม เราจะยกให้ประเทศเยอรมันเป็นเบอร์หนึ่งของโลก เพราะเรามีภาพติดตาว่า ค่ายรถยนต์ระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Porsche , Benz, BMW, Audi, Porsche, Wolk ล้วนแต่เป็นเทคโนโลยีของเยอรมันทั้งสิ้น รวมไปถึงกล้อง Leica, เครื่องเสียง Bang&Olufsen ก็เยรมันทั้งนั้น

เลนส์รุ่นไหนบ้างที่สามารถข้ามขีดจำกัดเหล่านี้ 

เลนส์ที่ข้ามขีดจำกัดของกรอบแว่นโค้ง

เลนส์ในค่ายโรเด้นสต๊อกนั้น กลุ่ม Impression® B.I.G. Norm / B.I.G. Exact นั้นสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของแว่นกรอบโค้งได้ทั้งหมด เนื่องจากมีเทคโนโลยี individual parameter ที่เข้าไปแก้ไข aberration อันเกิดจากแสงที่ off-axis  แต่ไม่สามารถทำได้ในรุ่น Multigressiv B.I.G. หรือ Progressiv B.I.G เนื่องจากเลนส์กลุ่มหลังนี้ใช้ standard parameter 

 

 เลนส์ที่ข้ามขีดจำกัดของ Base Curve 

เลนส์ประเภทนี้จะสามารถเลือก Base curve ได้อิสระ เพื่อให้สอดคล้องกับแว่นที่จะประกอบ เพื่อให้ได้ในเรื่องของความสวยงาม ซึ่งเลนส์โรเด้นสต๊อกทุกรุ่นสามารถสั่ง Base curve ได้ทั้งหมดตั้งแต่ Progressiv B.I.G. Norm/Exact , Multigressiv B.I.G. Norm/Exact , Impression B.I.G. Norm/Exact

 

ทิ้งท้าย 

เรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมดนี้  เราติ๊งต่างว่า สายตาที่วัดมาได้นั้น เป็นสายตาที่ถูกต้อง และนำค่าสายตาที่ถูกต้องนั้นไปประกอบบนแว่นที่มีความโค้ง หรือ/และ เราต้องการเลือกผิวโค้งหน้าแว่นให้สวยงามเหมือนกับแว่นโชว์ จะต้องมีปัจจัยอะไรที่ต้องระมัดระวังบ้าง  แต่ถ้าสายตาเริ่มต้นก็ผิดแล้ว เรื่องที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็คงไม่มีค่าอะไร ดังนั้น สายตาที่ถูกต้องยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด  เพราะปัจจัยค่าสายตาเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่เราสามารถควบคุมตัวแปรได้ ส่วนปัจจัยเรื่องการออกแบบโครงสร้างเลนส์นั้นไม่ใช่หน้าที่ของเรา ต้องอาศัยความใจแบรนด์ที่เราใช้อยู่ว่า เขาน่าจะทำมาให้เราอย่างดี  

 

ถ้าเราตรวจวัดตาถูกต้อง ประกอบเลนส์ถูกต้อง ได้เซนเตอร์  ถ้าคนไข้ใส่ไม่ได้ ต้องโทษโครงสร้างเลนส์อย่างเดียว แต่ถ้าสายตาเรายังไม่นิ่ง ทำแว่นแล้วคนไข้ใส่ไม่ได้เราก็ยังสรุปไม่ได้ว่า มาจากค่าสายตาที่ยังไม่นิ่ง หรือมาจากโครงสร้างที่มีปัญหา ดังนั้น ขอทุกท่านที่มีหน้าที่ในการดูแลสายตาให้คนไข้ ไม่ว่าจะเป็นพี่ๆน้องๆทัศนมาตร หรือพี่ๆช่างแว่นตา เราคือบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้เขามองโลกได้ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เรียนหนังสือเก่งขึ้น ทำงานได้มากขึ้น งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มองๆแล้ว มันบุญทั้งนั้น 

 

ดังนั้น อย่าหยุดที่จะฝึกฝน ที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม ยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร ท่านอยากรู้อะไรนั้น เพียงเข้าไปใน Google ไม่กี่วินาที ท่านจะได้ทุกอย่าง โดยไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย แล้วอ่าน แล้วเขียน แล้วแชร์  วงการแว่นตาในประเทศไทยจะสวยงามกว่าที่เป็น  

 

พอแค่นี้ก่อน...เดี๋ยวตอนที่3 จะเริ่ม Advance ขึ้น ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังว่า พื้นที่การบิดเบือนบนเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจะมีวิธีใหนบ้างที่จะทำให้มันลดลงได้บ้าง สำหรับเรื่องในวันนี้ขอจบลงเท่านี้ ขอขอบคุณสำหรับการติดตามครับ และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย

สวัสดีครับ 

ดร.ลอฟท์ ,O.D.

Contact : 

Loft Optometry 
578 ซ.วัชรพล (ติดร.ร.รัตนโกสินทร์สมโภชน์) บางเขน กรุงเทพ 
โทร 090-553-6554 
ID Line: loftoptometry