เปิดโลกโปรเกรสซีฟเลนส์ ตอนที่ 1

ตอน กำเนิดโปรเกรสซีฟ

ดาวโหลดไฟล์ pdf

สวัสดีแฟนคอลัมป์ทุกท่าน เนื่องจากผมได้ทำเว๊บไซต์ขึ้นมาใหม่ เมื่อก่อนนั้นใช้ Template ของ Wordpress ทำเองแบบงูๆปลาๆ มันก็ใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็น Open source ก็เลยมีไวรัส เข้าไปโจมตีบ่อย ก็เลยคิดทำใหม่ ให้มืออาชีพเขาสร้างขึ้นมาใหม่ตามรูปแบบที่เราต้องการ แต่ปัญหาก็อยู่ตรง Content ที่ทำจนติด Google search enging ไปแล้ว ที่อยู่บนลิ้งค์นั้น Error ทั้งหมด เลยต้องหยิบคอนเทนต์เก่ามานั่งสังคายนากันใหม่ทั้งหมด ดังนั้น เรื่องราวนี้เป็นเรื่องที่เคยพูดถึงแล้ว แต่เอามาเรียบเรียงใหม่ และใส่ข้อมูลใหม่ให้ครบ เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่สนใจเรียนรู้นั้นได้ประโยชน์จากการอ่านเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

ปฐมนิเทศ

เนื้อหาปฐมนิเทศนี้ ขอเริ่มต้นด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งคิดว่าคงต้องทำต่อไปหลายๆภาค เพราะมีเรื่องราวที่ต้องทำความเข้าใจกันอยู่เยอะมาก และเทคโนโลยีสมัยนี้ก็ออกมาให้อัพเดตอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นต้องตามเทรนด์เทคโนโลยีตลอดเวลา ซึ่งผมขอเป็นสื่อหนึ่งในการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ ให้ท่านที่สนใจได้ศึกษาหาความรู้กัน และจะเขียนเก็บไว้ในฐานข้อมูลของเว็บไซต์ทางการของ ลอฟท์ ออพโตเมทรี 

 

เลนส์โปรเกรสซีฟ คืออะไร

เลนส์โปรเกรสซีฟ หรือ Progressiv Lens นั้นมีชื่อเต็มว่า “Progressive Additional Lens” เขียนย่อๆได้ว่า “PALs” ซึ่งมีหัวใจของคำนี้คือ “Progressive + Additinal” คือเป็นเลนส์ที่มีการเพิ่มขึ้นของกำลังหักเหของเลนส์บวก (Addition) ทำให้สามารถโฟกัสได้หลายระยะ (Multi-focal lens) และเนื่องจากความพิเศษของเลนส์ชนิดนี้คือ “มันมีการไล่ชั้นค่าสายตาอยู่มาก และไม่มีรอยต่อ” ทำให้เรามักจะเรียกชื่อมันว่า “เลนส์หลายชั้นไร้รอยต่อ”

ข้อดีของเลนส์ประเภทนี้ คือ “สามารถใช้งานได้ทุกระยะตั้งแต่ระยะมองไกล มาจนถึงระยะอ่านหนังสือ โดยไม่มีรอยต่อคั่นระหว่างระยะเหมือนเลนส์สองชั้นสมัยโบราณ” แต่ก็มีข้อเสียคือ “ภาพบิดเบี้ยวด้านข้าง”ที่เราเรียกว่า “Distortion” ทำให้มีสนามภาพบางส่วนที่สามารถใช้งานได้ บางส่วนที่ไม่สามารถใช้งานได้ และยิ่งเลนส์ที่ออกแบบมาไม่ดี หรือทำมาผิดสเป๊ก ก็จะยิ่งมีพื้นที่ใช้งานได้น้อยลงไปอีก

เนื่องด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นเป็นเลนส์ที่ต้องการตัวแปรในการออกแบบที่แม่นยำ เที่ยงตรงสูงมาก และถ้าตัวแปรที่ใช้ในการออกแบบนั้นไม่ถูกต้อง โครงสร้างโปรเกรสซีฟที่ได้มาก็จะแย่เอามากๆ ไม่สามารถใช้งานได้จริง ด้วยเหตุนี้ทำให้คนที่ประสบความสำเร็จจากการใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟแท้จริงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่เคยใช้งานโปรเกรสซีฟแล้วพบว่า มีผู้ที่ล้มเหลวกับการปรับตัวนั้นมากกว่า 70% อีก 20% สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ และอีก 10 % รู้สึกมีความสุขกับการใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟ ไม่ต้องสนใจว่าตัวเลยนี้มาจากไหน ให้ถามคนใกล้ตัวว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร มีสนิทของเรากี่คนที่ประสบความสำเร็จกับโปรเกรสซีฟ หนำซ้ำท่านจะเห็นว่ามีศิลปินมากมาย ที่พร้อมจะ “เขียนเสือ ให้คุณกลัว” และเน้นกำชับว่าอย่าไปใช้มัน แพงก็แพง ใส่ไม่เห็นจะดี เสียเงินเปล่า เริ่มคุ้นๆไหม และก็ Shopping around ไปเรื่อยๆ กว่าจะค้นพบ บางทีก็แทบจะถอดใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นพบ ไม่งั้นเราไม่ Search Google เกี่ยวกับเลนส์โปรเกรสซีฟกันมากมายหรอก เพราะมีคนเขียนเสือไว้เยอะ และเราต้องการจะรู้จักมันจริงๆ แต่เชื่อผมเถอะว่า ถ้าเข้าใจมันและคุมตัวแปรทุกอย่างให้นิ่ง ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่ไม่ชอบเลนส์โปรเกรสซีฟ เอาหล่ะ มาเริ่มกันเลย

 

 นิยามเลนส์โปรเกรสซีฟ

เลนส์โปรเกรสซีฟ (Progressive Additional Lens, PALs) ภาษาบ้านๆเรียกว่า “เลนส์หลายชั้นไร้รอยต่อ” จุดประสงค์ของการออกแบบเลนส์ชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อเหตุผล 3 ประการคือ

1.เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกำลังโฟกัสของเลนส์ตา ไม่เพียงพอกับระยะที่ต้องใช้สายตาอ่านหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือกับผู้ที่ผ่านการทำผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียม (IOL) เช่นเด็กเป็นต้อกระจกต้องผ่าตัดใส่เลนส์เทียม

2.เพื่อให้สามารถโฟกัสได้หลายระยะ

3.ต้องไม่มีรอยต่อเพื่อความสวยงาม

ดังนั้น เราจึงจะเห็นว่า คนส่วนใหญ่ที่ใส่เลนส์โปรเกรสซีฟนั้นจะเป็นผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี เนื่องจากว่าส่วนใหญ่คนวัยนี้มีปัญหาสายตาคนแก่ตามอายุอยู่แล้ว (Presbyopia) แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องห้ามใช้ในเด็ก ซึ่งก็มีเหมือนกันที่เราใช้คุณสมบัติของเลนส์โปรเกรสซีฟในการแก้ไขปัญหา ตาเหล่เข้าแบบซ่อนเร้นที่เกิดขณะเลนส์ตาเกิดการเพ่ง (Accommodative esophoria) หรือในคนไข้เด็กบางคน ที่กำลังโฟกัสดูใกล้ไม่พอ (Accomodative insufficiency) ปัจจุบันจึงได้มีโปรเกรสซีฟที่ออกแบบมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งจะโครงสร้างของการออกแบบจะแตกต่างไปจากของผู้ใหญ่ ไว้วันหลังจะมาเล่าให้ฟัง

 

เลนส์โปรเกรสซีฟ มีกี่ประเภท

เลนส์ใดๆก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงค่ากำลังเลนส์ให้มีหลายค่าสายตาในเลนส์เดียวและไม่มีรอยต่อเราเรียกว่า เลนส์โปรเกรสซีฟทั้งหมด ซึ่งก็มีการนำไปออกแบบเป็นโปรเกรสซีฟหลายประเภท ได้แก่

1. เลนส์โปรเกรสซีฟแบบอเนกประสงค์ (Universal Progressive lens) เลนส์โปรเกรสซีฟกลุ่มนี้ออกแบบมาเพื่อใช้งานอเนกประสงค์ คือ สามารถใช้งานได้ทุกระยะ ตั้งแต่มองไกลจนถึงมองใกล้ แต่ก็มีข้อเสีย 3 เรื่องหลัก คือ

  • 1.ภาพบิดเบี้ยวด้านข้างสูงกว่าประเภทอื่น อาจต้องใช้เวลาช่วงแรกในการปรับตัว เร็วช้าขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบและคุณสมบัติของโครงสร้างเลนส์
  • 2.สนามภาพใช้งานในระยะกลางและใกล้จะแคบกว่าสนามภาพสำหรับมองไกล ทำให้ต้องเคลื่อนศีรษะมากในการทำงานบนพีซี
  • 3.ตำแหน่งใช้งานของระยะกลางและระยะอ่านหนังสือนั้น ไม่ใช่ตำแหน่งธรรมชาติ หรือไม่ใช่ตำแหน่งที่สบายสำหรับการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์มากๆหรืออ่านหนังสือมาก ทำให้ต้องเงยหน้าเวลาต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือต้องเหลือบลึกเมื่อต้องอ่านหนังสือ อาจทำให้เมื่อยคอเมื่อต้องทำงานใกล้เป็นเวลานาน

เลนส์ประเภทนี้ในแบรนด์โรเด้นสต๊อก ได้แก่ Progressiv PureLife Free2, Multigressiv MyView2, Multigressiv Mylife 2, Impression 2, Impression FreeSign3

ง่ายๆคือ กลุ่มแรกนี้ “เหมือนเป็ด” คือ ทำงานได้ทุกอย่าง บินได้ ว่ายน้ำได้ วิ่งได้ แต่ไม่เลิศสักเรื่อง เป็นเลนส์อเนกประสงค์ใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน สามารถใส่ขับรถ ขณะเดียวกันก็สามารถดูสายที่เรียกเข้าขณะขับรถได้ ซึ่งบางทีความสามารถทำงานจับฉ่ายได้ทุกเรื่องนี่ก็จำเป็นและขาดไม่ได้กับการใช้ชีวิตประจำวันเหมือนกัน และเนื่องจากการทำงานในปัจจุบันนั้น เริ่มมีความเฉพาะทางมากขึ้น เช่น programmer ก็ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน หรือ นักเขียนนักอ่่าน ก็อ่านทั้งวััน เลยเกิดเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะทางขึ้นมา คือ “Near visioin comfort lens”

 

Near Vision Comfort Lens

Near vision comfort lens เป็นโปรเกรสซีฟเลนส์ชนิดหนึ่ง (บางทีเรียกว่าเลนส์ Degressive ที่เรียกอย่างนี้เนื่องจากว่า มันไม่มีตำแหน่ง Reference ที่มองไกล มีแต่ Referecne point มองไกล ดังนั้น การไล่โครงสร้างจึงต้องเริ่มจากด้าน Reading zone ของเลนส์ขึ้นไป หรือเป็นการถดถอยของค่าสายตา จึงเรียกว่า Degressive lens)

Near vision comfort lens ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาของ Universal progressive lens ที่มีตำแหน่งของกำลังหักเหบนเลนส์ ไม่เหมาะสมกับการใช้งานจริงในบางระยะ เช่น เมื่อเราทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์​ เราควรจะสามารถมองตรงแล้วเจอจอคอมพิวเตอร์ เต็มจอ และเมื่อกวาดตาสูงต่ำก็ให้ภาพคมชัดที่มีความสเถียรภาพ ไม่ใช่ต้องพยายามโฟกัสหาจุดชัดอยู่ตลอดเวลาและสามารถดูใกล้ ดูคีย์บอร์ดได้คมชัด และยังสามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ห่างออกไปจาก PC อีก 1-2.5 เมตร ดังนั้น สำหรับการใช้งานที่เฉพาะมากๆ และต้องการเลนส์ที่สบาย ไม่มีภาพบิดเบี้่ยวมากวน มีตำแหน่งการใช้านที่เหมาะสม ทำให้ทำงานได้ต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่เกิดความเมื่อยล้า เนื่องจากออกแบบมาให้เหมาะสมกับสรีระในการทำงาน (Ergonomic in workplace) เลนส์กลุ่มนี้จะมีอยู่ 3 ดีไซน์ ตามหลักสรีระศาสตร์ขณะทำงาน ซึ่งในการทำงานนั้น เราสามารถแบ่งลักษณะของงานได้ 3 แบบคือ หนังสือ (Book), คอมพ์ (PC) และทำงานทั่วไปในห้องทำงาน (Room)

ข้อเสียของเลนส์ประเภทนี้่มีเรื่องเดียว คือ ใส่ขับรถไม่ได้ เพราะมองไกลมัว แต่ถ้าในห้องทำงานแล้ว เขาคือ The best

เลนส์ประเภทนี้ ได้แก่ Rodenstock ; Progressiv Ergo2, Multigressiv Ergo2, Impression Ergo2, Impression Ergo FS 3 ไว้มาเล่าในรายละเอียดในวันข้างหน้าครับ วันนี้เอาคอนเซปต์ไปก่อน

 

Sport & Fashion Progressive Lens

เลนส์โปรเกรสซีฟกลุ่มนี้ ออกแบบมาสำหรับเล่นกีฬาโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาแต่ต้องการเลนส์โปรเกรสซีฟที่ทำให้การเล่นกีฬามีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งคุณสมบัติเลนส์โปรเกรสซีฟสปอร์ตที่ดีจะต้องไม่มีภาพบิดเบี้ยวมารบกวนบริเวณด้านข้างของเลนส์ เพราะอาจทำให้ความแม่นยำของกีฬาลดลง และกรอบแว่นสำหรับการเล่นกีฬานั้นมักจะเป็นแว่นที่โค้งมากกว่าปกติ ดังนั้น โจทก์ใหญ่สำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟสปอร์ตคือ ต้องไม่มีภาพบิดเบี้ยวเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดในระหว่างกิจกรรมสปอร์ต และทำบนแว่นกรอบโค้งซึ่งเป็นโจทก์ที่ยากมากสำหรับโครงสร้างโปรเกรสซีฟเมื่ออยู่บนแว่นกรอบโค้ง ทำให้เลนส์กลุ่มนี้มีมูลค่าที่สูง จากค่า R&D ที่สูงมาก เลนส์โรเด้นสต๊อกกลุ่มนี้ ได้แก่ Impression Sport 2

ข้อเสียของเลนส์กลุ่มนี้คือ ภาพที่ 40 ซม.จะไม่คมชัด แต่จะเริ่มชัดตั้งแต่ 60 ซม.เป็นต้นไปซึ่งเป็นระยะกีฬา แต่ที่จะได้มา คือ ภาพเบี้่ยวด้านข้างที่น้อยมากจนสัมผัสไม่ได้ และสามารถ Enjoy Sport ได้เต็มที่

หลักๆแล้วแบ่งออกเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟ เป็น 3 กลุ่มเท่านี้แหล่ะ ทีเหลือก็จะเป็นรายละเอียดของการออกแบบและเทคโนโลยีทีใช้ในการออกแบบมากกว่า ไว้จะมาเล่าให้ฟังในโอกาสหน้าก็แล้ว วันนี้เอาในส่วนพื้นฐานกันก่อน

 

 กว่าจะมาเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟ

เมื่อทุกคนอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว ก็จะได้เป็นกันหมดทุกคนคือ “สายตาคนแก่” หรือที่เรียกว่า Presbyopia ซึ่งเป็นคนละคำกับ“สายตายาว”หรือ Hyperopia ซึ่งอาการของ Presbyopia คือ คนสายตาสั้นจะต้องเริ่มมองลอดแว่นเมื่ออ่านหนังสือ คนสายตาปกติมองไกลชัดจะต้องยื่นหนังสือออกห่าง คนสายตายาวจะต้องยื่นมือมากกว่าปกติและมองไกลจะเริ่มมัวลง กรณีที่สายตายาวมากๆจะมองไม่ชัดทั้งระยะไกลและใกล้ ซึ่งการแก้ไขปัญหานั้นก็มีอยู่หลากหลายวิธีตามแต่ละยุค

 

1.ยุคหิน : Reading Glasses

ใช้แว่นอ่านหนังสือ (Reading Glasses) หรือเลนส์ชั้นเดียว ซึ่งวิธีนี้เป็นการแก้สายตายาวในผู้สูงอายุได้ง่ายที่สุด ซับซ้อนน้อยที่สุด แต่จะว่าไม่ซับซ้อนก็ไม่ใช่ซะทีเดียว แต่ที่ว่าไม่ซับซ้อนน่าจะมาจากความมักง่ายมากกว่า เพราะมีคนจะนวนมาก หา Reading Glasses มาใช้โดยไปหาซื้อตามตลาดนัด ลองหยิบมาสวมๆ อันไหนชัดก็เอาอันนั้น แต่พอใช้งานจริง กลับมีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว วิงเวียน และอยากจะอาเจียน เนื่องจากว่าค่าสายตาสำหรับอ่านหนังสือนั้น เกิดจากการใช้กำลังของเลนส์บวกเพิ่มเข้าไปบนแว่นสายตามองไกล ที่เราเรียกว่า Addition นั้นเอง แต่ทีนี้ ถ้าค่าสายตามองไกลก็ยังไม่รู้ แล้วจะเอาไป Addition กับอะไรและโดยส่วนใหญ่แล้วค่าสายตาข้างซ้ายกับข้างขวาก็ไม่ค่อยจะเท่ากันอยู่แล้ว เแต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ เซนเตอร์ของแว่นที่ไม่ได้วางตามเซนเตอร์ของผู้สวมใส่แต่ละคน ก็เลย Induce ให้เกิด Prism Effect จากการมองหลุดเซ็นเตอร์ ผลคือกล้ามเนื้อตาทำงานหนักตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าได้ง่าย อ่านหนังสือไม่ทน และการใช้งานก็ตามชื่อคือใช้งานสำหรับอ่านหนังสืออย่างเดียวแต่พอระยะเลย 40ซม. ไปแล้วก็อ่านไม่ชัดแล้ว และต้องมองลอดแว่นถ้าต้องการมองไกล จึงมีการพัฒนาต่อมาเป็นยุคที่สอง คือ “จะทำอย่างไรให้มองชัดทั้งไกลและใกล้”

 

2. ยุคกลาง : เลนส์ 2 ชั้น มีรอยต่อ (Bifocal)

“เลนส์สองชั้นมีรอยต่อ” ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อยกับคุณลุงคุณป้าคุณตาคุณยายหรือคุณครูยุคเก่าๆใช้แว่นประเภทนี้ ซึ่งมีลักษณะ คือ เป็นเลนส์มองเห็นว่ามี 2 ชั้นมีส่วนบนของเลนส์ไว้มองไกล และส่วนล่างของเลนส์ไว้อ่านหนังสือ แต่ปัญหาก็คือระยะกลาง (80 ซม.ถึง 4 ม.) ใช้งานไม่ได้และมีรอยต่อเนื่องจากความโค้งของเลนส์สำหรับมองไกลกับใกล้นั้นต่างกันมาก จึงเกิดรอยต่อชัดเจน  ขณะใช้งานจะเกิดความรำคาญมากจากภาพที่กระโดด (Image jump) ขณะมองผ่านรอยหลายคนปรับตัวไม่ได้กับแว่นลักษณะนี้

ดังนั้น คนสูงอายุที่ใส่แว่นประเภทนี้ขึ้นลงบันไดต้องใช้ทักษะที่สูงมากในการเลือกมองบันไดผ่านเลนส์ ว่าจะเลือกเอาเลนส์บน (ซึ่งมองไม่ชัด) หรือเลนส์ล่าง (ซึ่งก็มองไม่ชัดเหมือนกัน) มิหนำซ้ำบันไดยังถูกยกตัวขึ้นมาอีก ทำให้ต้องระมัดระวังอย่างมาก หลายคนปรับตัวเข้ากับแว่นพวกนี้ไม่ได้ด้วยปัญหา Image jump นี่แหล่ะ และที่หลายๆคนไม่ชอบเลยก็คือ “ดูแล้วแก่” ซึ่งปฏิเสธกันไม่ได้ว่า เรื่องความสวยความงามกับคนสมัยใหม่นี้ เป็นเรื่องที่ซีเรียส ไม่อย่างนั้นแล้วจะเกิดสถานบริการความงามผุดเต็มบ้านเต็มเมืองได้อย่างไร เพราะถ้าเกิดว่าใบหน้าเต็งตึง ไร้รอยเหี่ยวย่น แล้วต้องใส่แว่น 2 ชั้นนี่ ก็คงไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็เลยมีความพยายามคิดที่จะพัฒนาเลนส์ให้มีระยะโฟกัสมากกว่าแค่ระยะไกลกลับใกล้ และจะทำอย่างไรไม่ให้เลนส์มีรอยต่อ ก็เลยเกิดเป็นเลนส์ยุคใหม่ จริงๆก็ไม่ใหม่เท่าไหร่ หลายสิบปีแล้ว แต่ปัจจุบันก็มีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ Feeling ของการสวมใส่นั้น ให้เหมือนตาสมัยหนุ่มสาวมากที่สุด

 

3. ยุคใหม่ : เลนส์โปรเกรสซีฟ (Progressive Additional Lens)

เลนส์โปรเกรสซีฟนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาครั้งแรกตั้งแต่ปี คศ.1953 ซึ่งเลนส์ชนิดนี้มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นเลนส์ใสๆไม่มีรอยต่อที่สามารถนำไปใช้งานได้ทุกระยะทั้งระยะไกล กลาง ใกล้ โดยที่เลนส์ไม่มีรอยต่อที่น่าเกลียดให้เห็น เราเรียกเลนส์ประเภทนี้ว่า เลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งเลนส์ในยุคแรกนั้น ปรับตัวกันยากยากมากถึงยากที่สุดแต่เมื่อเร่ิมพัฒนาก็เริ่มเจอปัญาหาและพยายามคิดค้นเทคโนโลยีในการจัดการกับปัญหาโครงสร้าง จนปัจจุบันนี้ เทคโนโลีเลนส์โปเกรสซีฟนั้น มีรายละเอียดวุ่นวาย อธิบายให้เข้าใจได้ยากกว่าอธิบายเทคโนโลยีรถซูปเปอร์คาร์เสียอีก ทำให้ปัจจุบันนั้นใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก เลนส์ดีๆ บางรุ่นแทบจะไม่ต้องปรับตัว และส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าใส่แล้วต้องปรับตัวเกิน 1 สัปดาห์ แสดงว่าน่าจะมีปัญหาแล้วหล่ะ

 

ข้อดีและข้อเสียของเลนส์แต่ละประเภท

เลนส์ชั้นเดียวหรือเลนส์ระยะเดียว (Single Vision Lens)

การมองเห็นด้วย Reading Glasses

  • มองชัดเจนที่ 40 ซม. เช่น ตำแหน่งคีย์บอร์ด
  • ใช้งานที่ระยะ 60-80 ซม.ไม่ได้ (หน้าจอคอมพ์)
  • ไม่สามารถโฟกัสสิ่งต่างๆ เช่น ปฏิทิน ตารางเวลา รอบๆโต๊ะ
  • การก้ม เงยๆ ชะโงกหน้า เพื่อหาโฟกัส ซึ่งเป็นอิริยาบทที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเมื่อยและตึงเครียด
  • ต้องพกแว่นหลายๆ สำหรับมองในแต่ละระยะ

ดังนั้น แม้จะสามารถใช้แว่นอ่านหนังสือ มองเห็นหนังสือกว้างได้เต็มทั้งแผ่นเลนส์ แต่ก็เป็นความชัดอยู่ในช่วงแคบๆ 30-50 ซม. และระยะลึกจะหดลงตามอายุที่มากขึั้น (ค่าอ่านหนังสือ (Addition) เพิ่มขึ้น) ไม่สามารถมองเห็นได้ไกลกว่านั้น เช่น มองคีย์บอร์ดเห็น แต่มองหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่เห็น ต้องชะโงกหน้าเข้าไป แต่ถ้าชีวิตจะใช้อ่านหนังสือ เขี่ยไลน์อย่างเดียวหล่ะก็ ใช้ได้ดีเหมือนกัน

 

เลนส์สองชั้น (Bifocal)

แม้จะมองได้ทั้งระยะไกล และใกล้ แต่ระยะที่เลนส์สองชั้นไม่สามารถให้ได้ คือ ระยะกลางที่ 70cm-3m ได้ ซึ่งชีวิตประจำวันคนเราเดี๋ยวนี้ใช้ระยะกลางกันมาก ไม้เว้นแม้กระทั่งคนตีกอล์ฟก็ต้องใช้ระยะกลางในการดูวงสวิงและเล็งลูกกอล์ฟ ยังไม่พอ คนใส่แว่นสองชั้นยังต้องมาเจอกับภาพที่กระโดดระหว่างมองผ่านรอยต่อนี้ เนื่องเกิดความแตกต่างของกำลังเลนส์บนกับล่างสูงมาก (Image Jump ในเลนส์สองชั้นเกิดจากเลนส์เมื่อมีค่าสายตาจะมีกำลังขยาย เลนส์ที่ค่าสายตาต่างกันมาก ก็จะมีกำลังขยายต่างกันมากเช่นกัน ดังนั้น ขณะที่มองไกลภาพดูเป็นธรรมชาติอยู่ดีๆ พอมองผ่านเลนส์ล่างภาพจะใหญ่แบบฉบับพลันจากกำลังขยายที่สูงกว่า) จะมีปัญหาเรื่องการกะระยะเดินขึ้นลงบันได หรือต่างระดับ

 

เลนส์โปรเกรสซีฟ...(Progressive Lens)

การใช้งานผ่านาเลนส์โปรเกรสซีฟ

  • ใช้งานได้ทุกระยะ ตั้งแต่ไกลสุดถึงใกล้สุด
  • ไม่ต้องพกแว่นหลายอันสลับไปมา
  • ระยะกลางและระยะใกล้แคบ
  • การมองคอมพิวเตอร์ต้องเงยหน้ามอง การอ่านหนังสือต้องเหลือบตาลง
  • เกิดอาการเมื่อยคอและเครียดบริเวณรอบดวงตา จากสรีระขณะใช้งานที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้น เลนส์โปรเกรสซี แม้ว่า....จะสามารถมองได้ชัดในทุกระยะ แม้ว่า....เลนส์จะไม่มีรอยต่อที่น่าเกลียด แม้ว่า...จะช่วยให้เราอิสระกับการใช้ชีวิต. แต่...ปัญหาสำคัญของเลนส์โปรเกรสซีฟคือ “สนามภาพที่มีการบิดเบี้ยวด้านข้าง” หรือที่เรียกกันว่า “Periphery Distortion” ซึ่งเกิดขึ้นเสมอในเลนส์โปรเกรสซีฟ ไม่ว่าเลนส์จะแพงเป็นแสนก็ยังต้องมีการบิดเบือนนี้อยู่ มากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละเทคโนโลยีที่ใช้ในการบริหารจัดการภาพบิดเบี้ยวให้ดูน้อยลง เช่น จากที่เคยเบี้ยวก็เบี้ยวน้อย จากที่เบี้ยวน้อยก็แค่มัวๆ ไม่ถึงกับภาพล้ม ซึ่งก็ช่วยให้ปรับตัวได้ง่ายขึ้นเยอะ แต่อย่างไรก็ตามหนีไม่พ้น ดังนั้น เรามักจะเห็นพนักงานเชียร์ชายเลนส์ว่า เลนส์รุ่นนี้กว้าง เท่านี้ กว้างเท่านั้น รุ่นนี้ภาพบิดเบี้ยวน้อยกว่ารุ่นนั้น อะไรทำนองนั้น

 

 เลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะทางกลางใกล้

 การใช้งานเลนส์คอมพิวเตอร์

  • ถูกออกแบบให้ปรับเข้าหาพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของลูกตาให้เหมาะกับงานแต่ละประเภท
  • สนามภาพในระยะกลางและระยะใกล้กว้างกว่าโปรเกรสซีฟมาก
  • ให้ตำแหน่งใช้งานที่เหมาะสมกับงาน ทำให้สรีระขณะทำงานอยู่ในตำแหน่งที่สบาย
  • สบายตาสำหรับการใช้เวลาว่าง เล่นเฟส เขี่ยไลน์ อ่านหนังสือ
  • มองไกลไม่ชัด ไม่สามารถใส่ขับรถได้

จริงๆแล้ว เลนส์โปรเกรสซีฟแบบอเนกประสงค์ กับเลนส์โปรเกรสซีฟแบบเฉพาะทาง หรือเลนส์คอมพิวเตอร์นั้น มีดีกันคนละอย่างที่กินกันไม่ลง และไม่สามารถทดแทนกันได้ และถ้าจะต้องการให้การใช้สายตานั้น สบายที่สุด ผ่อนคลายที่สุด ไม่แคล้วจะต้องมีทั้ง 2 แบบ ไว้สำหรับใส่ประจำไปนั่นไปนี่ไปนั่น และมีเลนส์ Ergonomic ไว้ทำงานหรืออ่านหนังสือเลนส์คอมพ์เขี่ยเฟส ถึงจะมีความสุขที่สุด

 

 ภาพบิดเบี้ยวของเลนส์โปรเกรสซีฟเกิดจากอะไร

ถ้าเราเข้าใจว่า “การบิดเบือน” นี้เกิดจากอะไร เราก็จะเข้าใจพื้นฐานการออกแบบเลนส์โปรเกรสซีฟ เราจะฉลาดขึ้น จะมีสติเมื่อได้ยินโฆษณาหรือเวลาคนเชียร์ขายโปรเกรสซีฟว่ามันกว้างอย่างนู้น อย่างนี้ เราจะมีความฉลาดในการเลือกเลนส์ให้เหมาะสมกับสายตาของเรา กับกรอบแว่นของเรา และกับความต้องการของเรา และไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างเลนส์ที่มันเกินความจำเป็น

เช่น ถ้ากิจวัตรประจำวันของเราแค่ไปจ่ายตลาดในตอนเช้า ก็ไม่มีความจำเป็นในการซื้อ Lamborghini เพื่อขับไปจ่ายตลาด และถ้าเราซื้อมาแล้วขับแค่ 40 km/Hr. แล้วหาว่า Lamborghini ไม่ดีก็ไม่แฟร์สำหรับ Lamborghini สักเท่าใดนัก

ภาพบิดเบี้ยวด้านข้างเป็นปัญหาสำคัญของเลนส์โปรเกรสซีฟ แต่ละผู้ผลิตที่พยายามพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเลนส์ก็เพื่อที่จะจัดการกับสนามภาพที่บิดเบือนเหล่านี้ให้เหลือน้อยที่สุดและเบาบางที่สุด บนตัวแปรที่ให้มา

เลนส์โปเกรสซีฟก็เช่นเดียวกัน มีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสน ถ้าสายตาเราง่ายๆ พารามิเตอร์กรอบแว่นก็ง่าย ค่าทุกอย่างมาตรฐานทั้งหมด ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้เลนส์เทคโนโลยีสูงมากนักก็ถือว่า “พอเพียง”สำหรับเรา เอาสตางค์ไปซื้อกรอบดีๆ ให้ใส่สบายๆ จะดีกว่า แต่ในบางค่าสายตาที่ยากๆ เอียงเยอะๆ เลือกกรอบโค้งๆ พารามิเตอร์ต่างๆ หลุดมาตรฐานมากๆ ก็อาจต้องพิจารณาใช้เลนส์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นตามความยากของสายตา

 

ทฤษฏีกระบะทราย อธิบายโครงสร้างโปรเกรสซีฟ

ก่อนที่จะมาเรียนรู้ว่า Distortion บน Progressive lens เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มาลองฟังนิทานกระบะทรายกันก่อน เพื่อจะได้เห็นภาพ

แนะนำตัวละคร

พระเอกของเรื่องคือ...“ทราย”...รับบทเป็น “Distortion” พูนทรายยิ่งสูง แสดงว่า Distortion ยิ่งมาก

รูปร่างของกระบะ...ทำหน้าที่เป็นรูปร่างหรือ Shape ของเลนส์แว่นตา

พื้นกระบะ....เปรียบเหมือน สนามภาพ หรือพื้นที่ใช้งานไกล-กลาง-ใกล้ บนเลนส์โปรเกรสซีฟ

 

“กติกาการแข่งขัน”

“กฎก็คือว่า ให้แหวกทรายจนกว่าจะเห็นพื้นของกระบะให้เป็นรูปโครงสร้างโปรเกรสซีฟ คือ มีส่วนที่ใช้มองไกล กลางและใกล้ โดยทรายที่แหวกนั้นจะต้องให้อยู่ในกระบะ ห้ามเอาไปทิ้งนอกกระบะ ว่าใครจะสามารถแหวกได้สวยมากกว่ากัน”

ดังนั้น ผู้ที่เข้าแข่งขันต้องออกแบบกันเอาเองว่า จะให้ Priority ของพื้นที่มองไกลเท่าไหร่ พื้นที่ระยะกลางเท่าไหร่ และพื้นที่ระยะใกล้เท่าไหร่ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันก็จะมีความคิดเฉพาะของตัวเองตามแต่ประสบการณ์ของตน

เมื่อจบเกมส์การแข่งขัน เราก็จะพบว่าถ้าผู้แข่งขันไม่โกงข้อสอบกัน ก็จะเห็นว่าแต่ละคนก็จะสร้างรูปแบบของโครงสร้างแตกต่างกันไปตามแต่ความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือของแต่ละคนจะเอื้ออำนวย แต่ก็จะยืนหยัดอยู่บนพื้นฐานใกล้เคียงกัน คือ ให้ความสำคัญกับการมองไกล ใกล้ และกลางตามลำดับ

คล้ายๆกับโปรเกรสซีฟ แต่ละผู้ผลิตก็มีหลักการออกแบบตามแต่ละแนวคิดหรือหลักคิดของของตนเอง และตามแต่ที่เครื่องมือหรือเทคโนโลยีตัวเองจะอำนวย แต่ก็จะมีพื้นฐานการคิดใกล้เคียงกัน คือ คนส่วนใหญ่ที่ใช้โปรเกรสซีฟ ก็จะใช้งานในการมองไกลมากที่สุด รองลงมาเป็นระยะใกล้ และน้อยสุดคือระยะกลาง

บางคน....แหวกพื้นให้กว้างสุดๆ แต่ทรายก็สูงปี๊ด (สนามภาพกว้างแต่พื้นที่การบิดเบือนก็สูงขึ้นตามเป็นเงาตามตัว)

บางคน...เน้นนุ่มๆ ก็ค่อยๆแหวกทรายให้ค่อยๆชันขึ้นทีละน้อยๆ แต่สนามภาพก็แคบ

บางคน...หัวหมอ ปล่อยให้ทรายบางส่วน อยู่บนพื้นบ้าง โดยหวังว่ากรรมการตาถั่วมองไม่เห็นทรายอยู่ที่พื้น ถ้ากรรมการตาถั่วจริงก็รอดไป (ได้สนามภาพที่นุ่ม บิดเบี้ยวต่ำแต่ไม่ค่อยชัดเนื่องจากมีภาพบิดเบี้ยวบางส่วนหลงเหลือในสนามภาพ)

ภาพเปรียบเทียบที่คล้ายๆกับการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟ พื้นล่างเหมือนสนามภาพ ส่วนริ้วๆที่เห็นเหมือนกับเลนส์โปรเกรสซีฟที่มีการไล่ค่าสายตาเอียง ความสูงชันของภูเขาเหมือนกับภาพบิดเบี้ยวของเลนส์โปรเกรสซีฟ

สรุป คือ Knowhow ที่ต่างกันทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและการขัดโครงสร้างที่ต่างกัน จึงทำให้ Character ของโครงสร้างเลนส์แต่ละผู้ผลิตนั้นแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ เราก็จะเห็นว่าผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนก็จะเริ่มมี วิธีคิดหรือทำให้ สันทรายนั้นลดลงหรือเตี้ยลง (Distortion ลดลง) เช่น เลือกร่อนใช้ทรายที่ละเอียดมากๆ ก็จะสามารถลดพื้นที่ช่องว่างระหว่างทรายได้ ก็ช่วยให้ทรายหนาแน่นมากขึ้น ความสูงของสันทรายก็ดูเสมือนลดลง (เช่นเดียวกับการเปลี่ยนกระบวนการขัดโดยใช้เครื่องขัดแบบหัวเข็ม CNC-Freeform ซึ่งเป็นหัวขัดที่ละเอียดในระดับไมครอนแทนการขัดโดยใช้หัวทูน (Tools) เพื่อทำให้การขัดเลนส์นั้นละเอียดมากขั้น)

บางคน..นอกจากใช้ทรายละเอียดแล้ว ก็จะให้หลังจอบ หรือที่กดดิน มากดๆ ให้แน่นยิ่งขึ้น เพื่อให้เนินทรายเตี้ยสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ดังนั้น สรุปก็คือว่า ไม่ว่าจะให้ตายยังไง ทรายก็ยังคงอยู่ในกระบะทรายนั้นเสมอ เนินทรายที่สูงหรือเตี้ยเกิดจากการพยายามทำให้ดูเสมือนน้อย สุดแท้ว่าใครจะมีวิธีทำอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ทรายก็ยังคงอยู่ในกระบะนั้น

เลนส์โปรเกรสซีฟ ต่อให้แพงยังไง ก็ยังมีพื้นที่การบิดเบือนนี้เสมอ เลนส์ที่สูงขึ้นก็คือพยายามใช้เทคโนโลยีการชดเชยมาทำให้การบิดเบือนนี้ดูเสมือนน้อยลง ช่วยให้ปรับตัวได้เร็วขึ้น หรือออกแบบมาให้จำเพาะกับลักษณะของการใช้งานของแต่ละคนมากขึ้น เช่น คนที่วันๆ ใช้สายตาในการตีกอล์ฟเป็นหลักควรจะออกแบบอย่างไร นักตรวจสอบบัญชีหรือนักเขียนนักอ่านจะออกแบบโครงสร้างอย่างไร หรือนัก Programmer หรือ Graphic Design ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์วันละ 20 ชม.ควรออกแบบโครงสร้างอย่างไร หรือเป็นเซลล์ขับรถทั้งวันมีลักษณะการใช้สายตาอย่างไร นักออกแบบเลนส์ก็จะเก็บข้อมูลเหล่านี้นำไปใช้ในการออกแบบเลนส์ให้เหมาะสมกับงาน แต่โดยทั่วๆไปจะเป็นโครงสร้างแบบบาลานซ์มากกว่า กลางๆไม่เน้นระยะไดระยะหนึ่งเป็นพิเศษ

 

เอาเท่านี้ก่อน...

เดี๋ยวฉบับหน้าเราจะค่อยๆ แกะเปลือกหัวหอมของโปรเกรสซีฟทีละน้อยๆ เพื่อจะไปดูแก่นของหัวหอมว่ามันมีอะไรอยู่ข้างใน และจะเริ่ม Advance มากขึ้นเรื่อย  ผมจะได้เล่าไปถึงว่า Distortion บนเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้การบิดเบือนนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง

หวังว่า ท่านผู้อ่านทุกท่าน คงจะพอทราบถึงความหมายของเลนส์โปรเกรสซีฟโดยสังเขป  ขอบคุณที่แฟนๆทุกท่านที่ติดตามอ่านและให้กำลังใจในการเขียนตลอดมา

ขอบพระคุณครับ

เขียนและเรียบเรียงโดย 

ดร.สมยศ เพ็งทวี ,O.D.