Personal visual Demand Technology : Active ,Expert ,Allround

Personal visual Demand Technology : Active ,Expert ,Allround  , The Progressive Lenses that Suit your Life

by, Dr.Loft ,O.D.

update,17 June 2024


 

Intro

Personal Visual Demand technolgy ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ของโรเด้นสต๊อก แต่เป็นเทคโนโลยีที่เคยใช้ในรุ่นไฮเอนด์สุดอย่าง Impression FreeSign ตั้งแต่ปี 2007 ซึ่ง Concept ของ Impression FreeSign (ในสมัยนั้น) คือเป็นเลนส์เฉพาะบุคคลต่อกรอบแว่นขณะสวมใส่ (individual parameter) และ เฉพาะต่อพฤติกรรมการใช้สายตาของแต่ละบุคคล (individual visual demand) ทำให้ Impression FreeSign เป็นเลนส์โปเกรสซีฟคู่แรก ที่ไม่มีการกำหนดความยาวของ progressive zone length หรือ corridor แต่เปิด option ให้ผู้ใช้งานนั้น สามารถปรับแต่งโครงสร้างได้ด้วยตัวเอง และ สามารถนำเลนส์ชนิดนี้ไปประกอบบนแว่นได้ทุกประเภท แต่ในขณะนั้น ยังไม่มีการแบ่งกลุ่ม visual demand เป็น Active หรือ Expert จะมีก็แต่ Individual เท่านั้น 

 

พอปี 2020 Rodenstock ก็ได้ Group ประเภทการใช้สายตาคนเป็น 3 กลุ่มคือ Active ,Expert ,AllRound และ Individual และ เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ชื่อว่า Multigressiv MyLife 2 ซึ่งเป็นเลนส์แบบ unique customized (กลุ่มเดียวกับ Multigressiv MyVeiw 2) ที่สามารถสั่งทำแบบ visual demand ได้ ซึ่งมี 3 แบบให้เลือกคือ  Active ,Expert ,AllRound ส่วน Individual จำกัดให้อยู่ในรุ่น Impression FreeSign 

 

พอปี 2022 Rodenstock ได้เปิดตัว B.I.G. Vision For All และปรับการแบ่งประเภทเลนส์ใหม่หมดเหลือเพียง 3 กลุ่มคือ Impression B.I.G. (เดิมคือFreeSign2 และ Impression 2)  , Multigressiv B.I.G. (เดิมคือ MyLife2 ,MyView2 ) และ Progressiv B.I.G. (เดิมคือ PureLife Free2 ,Life Free2) และ ได้ยกเลิกการเรียกชื่อทั้งหมด คือ FreeSign2 / MyLife2 ,MyView2 ,PureLife Free2 ,Life Free2 ออกจาก portfolio 

 

ในส่วน concept พื้นฐานของเลนส์ทั้ง 3 กลุ่มนั้น พื้นฐานการออกแบบยังคงเดิม คือ Impression จะใช้เทคโนโลยีเลนส์สูงสุดและใหม่ล่าสุดไว้เป็นรุ่นเรือธงของแบรนด์  ส่วน Multigressiv จะเป็นเลนส์ Unique Customization คำนวณโครงสร้างแบบ unique คู่ต่อคู่ บนพารามิเตอร์กรอบแว่นมาตรฐาน ตอบโจทก์ทุกค่าสายตา หรือ ค่าสายตายากๆ เช่น เอียงมากๆ สายตาต่างกันมาก ๆ มีปริซึม หรือ พีดีที่กว้างมาก แคบเกิน หรือห่างกันมาก เรียกได้ว่า ถ้าแว่นไม่โค้งแล้ว Multigressiv เอาอยู่  ขณะที่ Progressiv เป็นเลนส์ที่คุ้มค่าคุ้มราคา สำหรับคนที่เริ่มต้นใช้โปรเกรสซีฟ แอดดิชั่นยังไม่มาก เลือกรอบแว่นปกติ สายตาไม่ได้ซับซ้อนมาก ราคาน่ารัก จับต้องได้ 

 

ในส่วน Personal Visual Demand นั้น กลุ่ม Impression B.I.G. จะมีให้เลือกทุกแบบคือ Active ,Expert ,Allround และ Individual  ส่วน Multigressiv B.I.G จะเหลือ Active ,Expert และ Allround ขณะที่รุ่น พื้นฐานอย่าง Progressiv B.I.G จะเหลือเพียง Allround ให้เลือก 

 

เหล่านี้คือภาพรวมของการจัด portfolio ใหม่ในเลนส์ประเภทต่างๆของโรเด้นสต๊อก ตั้งแต่เร่ิมใช้ B.I.G. Tech ในปี 2020 เป็นต้นมา 

 

The Basic 

เลนส์โปรเกรสซีฟ แม้จะเป็นเลนส์อเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้ในทุกระยะโดยไม่มีรอยต่อ แต่ก็มี compromise คือภาพบิดเบือนด้านข้าง ทำให้ lens designer นั้นจะต้องจัดระเบียบภาพบิดเบือนด้านข้างให้ไม่ไปรบกวนการใช้สายตาในชีวิตประจำวัน แต่ภาพบิดเบือนเหล่านี้ก็เหมือนกับการจับปูใส่กระด้ง คือมันพร้อมจะวิ่งพล่านทั่วกระด้ง(เลนส์)อยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุปัจจัยหลายๆอย่าง ดังนั้นการจะจับปูใส่กระด้งต้องจับแล้วมัดแขนมัดขาแล้วค่อยเอาไปเรียงบนกระด้ง มันจึงจะเป็นระเบียบเรียบร้อย เลนส์โปรเกรสซีฟก็เช่นกัน มันจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อที่จะแก้ aberration อันเกิดจากเหตุต่างให้อยู่หมัด ตัวอย่างง่ายๆให้พอเห็นภาพก็คือ เวลาเราใส่แว่น แล้วมีการกลอกตาไปทั่วทั้งแผ่นเลนส์นั้น มันทำให้แสงที่ผ่านเลนส์นั้นเกิดการวิ่งเข้าตาแบบ off-axis อยู่ตลอดเวลา เมื่อ line of sight ไม่ตั้งฉากกับระนาบผิวเลนส์เรียกว่า off-axis ซึ่งแสงที่ off-axis จะ induce ให้เกิด aberration ที่เรียกว่า unwated oblique astigmatism  อันเป็นเหตุให้เกิดภาพบิดเบือน บิดเบี้ยว ไม่คมชัด และ ลองคิดดูว่าวันๆหนึ่งเรากลอกตาไปไหนบ้างทั้งวัน และ เลนส์ต้องตอบสนองปัจัยที่เปลี่ยนไปตลอดเวลานั้น เพื่อให้เกิดภาพที่ดีที่สุดบนจอรับภาพ มันไม่เหมือนกับกล้องถ่ายรูป ที่เราใช้การ pan กล้องไปหา target ที่ visual axis วิ่งฉากผิวสัมผัสเลนส์ตลอดเวลา  มันจึงไม่มีเรื่องแสง off-axis ในเลนส์กล้องถ่ายรูป จะมีก็แต่ aberration จากปัจจัยอื่นๆเช่น  spherical aberration ,distortion , coma , curvature of field เป็นต้น 

 

เมื่อ aberration จาก unwanted oblique astigmatism จำเป็นต้องมีในเลนส์โปรเกรสซีฟ แม้เราจะสามารถควบคุมตัวแปรอื่นๆได้อย่างดีแล้ว หรือ จะเรียกว่า "สมมติว่ามันดีสุดได้เท่านี้ มีสนามภาพใช้งานได้เท่านี้ มีภาพบิดเบือนเท่านี้ แล้วเราจะเกลี่ยภาพบิดเบี้ยวให้มันหนีไปให้พ้นระยะใช้สายตาได้อย่างไร"  ด้วยเหตุข้างต้นนี้ จึงต้องมีเทคโนโลยีที่สามารถบริหารจัดการพื้นที่บิดเบือนด้านข้างให้สอดคล้องกับ lifestyle ของแต่ละคน  ซึ่งแต่เดิมนั้น ถ้าผู้ใช้งานต้องการโครงสร้างเลนส์ที่ออกแบบสนามภาพใช้งานเฉพาะตนขึ้นมา มีทางเลือกเดียวคือต้องใช้เลนส์รุ่น Impression FreeSign 3 ซึ่งรุ่นทอปและมีราคาสูงจาก2 เทคโนโลยี Individual Parameter ที่สามารถข้ามขีดจำกัดแว่นกรอบโค้ง ให้สามารถทำเลนส์โปรเกรสซีฟบนแว่นกรอบโค้งได้ และ Design Parameter ซึ่งเป็น option ให้ผู้ใช้งานนั้นสามารถปรับแต่งสนามภาพใช้งานได้อย่างอิสระตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งานได้ด้วยตัวเอง ก้าวข้ามขีดจำกัดโครงสร้างกำหนดสำเร็จด้วยการ fixed corridor ที่ใช้อยู่แบบเดิม 

 

Multigressiv MyLife 2 (ขณะนั้น 2020-2022) จึงเป็นลูกผสมที่เกิดจากเทคโนโลยีพื้นฐานที่อยู่ในกลุ่มเลนส์ Multigressiv MyView2 และ Impression FreeSign2  เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้สามารถเลือก design parameter ที่มีอยู่ใน FreeSign แต่ไม่เอา invidual parameter เนื่องจากแว่นที่เลือกใช้งานนั้นไม่ได้โค้งและก็มีพารามิเตอร์ที่มาตรฐาน ทำให้มี retail price ลดลงจาก FreeSign3 ลงมาเท่ากับ Impression EyeLT 2 

 

ตอนนี้เลนส์โปรเกรสซีฟของโรเด้นสต๊อกยุบ port folio ใหม่ตั้งแต่ปี 2022 หลังจากเริ่มใช้ B.I.G. Technology ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ทำให้ personal visual demand ปัจจุบัน นั้น สามารถเลือกได้ในรุ่น Impression B.I.G. Norm / Exact  และ Multigressiv B.I.G. Norm/ Exact แต่สำหรับรุ่น Progressiv B.I.G. Norm / Exact นั้น เลือได้เฉพาะดีไซน์ที่เป็น AllRound เท่านั้น 

 

Perfect Balance vs Personal Visual Demand technology

 

Perfect Balance Technology นั้นเป็นโครงสร้างที่บาลานซ์สมดุลของพื้นที่ใช้งานให้เหมาะสมกับการใช้งานในทุกระยะ โดยการให้ priority ในการออกแบบสนามภาพใช้งานนั้น ได้จากการศึกษาวิจัยของบริษัท ว่าจริงๆแล้วคนโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีพฤติกรรมการใช้สายตาเป็นอย่างไร จากกลุ่มตัวอย่างคนที่เป็น presbyopia ที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของ วัย อาชีพ ไลฟ์สไตล์ ที่แตกกต่างกัน แล้วเกิดเป็น mean weight priority ขึ้นมาว่า คนส่วนใหญ่แล้วให้น้ำหนักในการมองไกล  กลาง ใกล้ อย่างละกี่เปอร์เซนต์ จากนั้นก็ออกแบบชุดโครงสร้างโปรเกรสซีฟออกมาให้กลุ่มตัวอย่างได้ลองใช้งาน  จากนั้นก็ให้เลือก  ซึ่งค่าที่คนส่วนใหญ่เลือก  และโครงสร้างที่รับการคัดเลือกนั้นก็ถือว่าเป็นตัวแทนของทุกคนว่าเป็นโครงสร้างเหมาะสมกับการใช้วิตประจำวันมากที่สุดและเทคโนโลยี perfect balance นี้คือ base technology ของโรเด้นสต๊อกทุกรุ่น 

 

Personal visual Demand  นั้นเป็นเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับคนที่มี lifestyle ที่เป็นปัจเจก มีการใช้สายตาในงานหรือชีวิตส่วนตัวในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ​ เช่น นักธุรกิจที่ต้องเดินทางบ่อย ขับรถบ่อย บินบ่อย ไปพบปะคนมากมายนั้น ต้องการสนามภาพชัดสำหรับมองไกลมากเป็นพิเศษ ส่วนระยะอื่นสามารถยอม compromise ได้โดยไม่ทำให้ชีวิตติดขัด  หรือคนเป็น programmer  ทำงานอยู่บนคอมพิวเตอร์เป็นหลักก็ต้องการสนามภาพชัดสำหรับมองระยะกลางเป็นหลัก ส่วนระยะอื่นจะ compromise บ้างก็ไม่เป็นไร  หรือบางอาชีพบางกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาในระยะใดระยะหนึ่งเป็นพิเศษ ก็สามารถสั่งผลิตให้ตรงความต้องการได้  ดังนั้น personal visual demand นั้นเปิด option ให้ผู้ใช้งานนั้นสามารถปรับแต่งโครงสร้างได้เองอย่างอิสระ เพื่อให้พื้นที่ใช้งานที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นได้รับการบริหารจัดการให้สามารถใช้งานได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

 

LifeStyle Concept Design

เริ่มแนวคิดจากว่า ปัจจุบันนั้นคนมีวิถีชีวิตที่มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น มีความหลากหลายในการใช้ชีวิต มีลักษณะงานที่เฉพาะทางมากขึ้นและให้ความสำคัญกับแต่ละกิจกรรมเฉพาะตนนั้นมาก  โครงสร้างที่ออกแบบจากค่ากลางๆนั้นเริ่มไม่เพียงพอ จึงพัฒนาเลนส์รุ่นใหม่นี้ขึ้นมา เพื่อให้สามารถตอบโจทก์ไลฟ์สไตล์แต่ละบุคคลให้ได้มากที่สุด ซึ่งแนวคิดนี้คิดสำเร็จตั้งแต่ปี 2007 และทำออกมาเป็นเลนส์รุ่น Impression FreeSign  แต่เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีเลนส์ของโรเด้นสต๊อกนั้นเป็นการ on-top technology หมายความว่า เลนส์รุ่นที่สูงกว่านั้นเป็นการ add on technology เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ ทำให้ FreeSign มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดรวมอยู่ทั้งหมด จึงทำให้ cost ของเทคโนโลยีนั้นมีราคาสูง และเข้าถึงได้ลำบาก  ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีการลด option บาางตัวลงมาแต่ยังคงคุณสมบัติ FreeSign ที่สำคัญไว้ จึงเกิดเป็น Multigressiv MyLife 2 (ขณะนั้น) ดังนั้น concept ของ MyLife คือ the progressive lenses that meet the demands of the respective spectacles wearer.  ปัจจุบันผู้สวมใส่สามารถเลือกได้ทั้งในเลนส์กลุ่ม Impression B.I.G. และ Impression B.I.G.

 

The Demanding 

ผู้ที่ใส่แว่นบางคนนั้นมีความต้องการในการใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟที่หลากหลายมากและที่สำคัญเขาต้องรู้สึกว่าเลนส์โปรเกรสซีฟจะทำให้เขาอิสระสมบูรณ์โดยไม่มีตำหนิ เขาต้องการเลนส์โปรเกรสซีฟที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตที่เฉพาะของตนที่ไม่ใช่โปรเกรสซีฟที่ออกแบบพื้นฐานทั่วไป ดังนั้น Personal visual demand  คือเทคโนโลยีที่ทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟสามารถตอบโจทก์ผู้ใช้งานกลุ่มนั้น เพื่อเปิดเทคโนโลยีให้มีความยืดหยุ่นและสามารถใส่ตัวแปรพฤติกรรมการใช้งานเฉพาะบุคคเข้าไปได้

 

The Right Progressive Lens for Everyone

พื้นฐานเทคโนโลยีที่เข้าไปรองรับตัวแปรดังกล่าวนั้น Rodenstcok มีเทคโนโลยี Biologic Intelligence Glasses ,B.I.G. Technology  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการคำนวณออกแบบโครงสร้างล่าสุดที่เป็นพื้นฐานเทคโนโลยีทั้งหมดตั้งแต่ปี 2022  ที่การออกแบบโครงสร้างเลนส์นั้นสามารถ input ตัวแปรเฉพาะบุคคลต่างๆได้ทั้งหมด ทั้งจากตัวแปรของกรอบแว่น (individual parameter) และ ตัวแปรทางกายภาพของผู้ใช้งาน (personal biometric) อยู่ที่ว่าจะ input ตัวแปรอะไรบ้างในเลนส์กลุ่มไหน 

 

โดย individual parameter technology + personal visual demand + biometric  นั้นใช้กับ Impression B.I.G. เพื่อให้ผู้ใช้งานนั้นสามารถ customised ปรับแต่งสนามภาพที่ต้องการใช้งานแบบเฉพาะคนเพื่อให้ตรงกับความต้องการได้อย่างอิสระอย่างเต็มที่ 100% เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย อิสระในการมองเห็นอย่างเป็นธรรมชาติ  มีแรง มีกำลัง และทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วน Multigressiv B.I.G นั้นใช้ standard parameter + personal visual demand + Biometric data 

 

The Basic Progressive lens structure 

 

ก่อนจะเข้าไปสู่การออกแบบเราต้องเข้าใจกันเสียก่อนว่า เลนส์โปรเกรสซีฟคือเลนส์สำหรับการใช้งานอเนกประสงค์ ทั้งระยะไกล กลาง ใกล้  ได้หมดโดยไม่มีรอยต่อให้เห็น แต่เลนส์โปรเกรสซีฟก็มีพื้นที่บิดเบี้ยวของ distortion บริเวณข้างๆของเลนส์ซึ่งจะมองเห็นได้เวลาเหลือบตาออกข้างๆ มากน้อยกันไปขึ้นอยู่กับรุ่นเลนส์ ผู้ผลิตเลนส์ เทคโนโลยีในการออกแบบโครงสร้างเลนส์  นวัตกรรม และ สติปัญญาของ lens designer และทีม R&D ของผู้ผลิตแต่ละค่าย

 

เราไม่สามารถทำให้ distortion หมดไป ถ้าตราบใดเรายังไล่ค่าสายตาด้วยการ varies curve เราทำได้เพียงกด aberration ที่เกิดจากปัจจัยต่างๆที่เราสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าไปแก้

 

เช่น base curve effect สร้าง aberration จาก oblique astigmatism ได้มากถ้า base นั้น ไม่ matching กับค่าสายตา หรือ parameter ของแว่นที่ไม่เหมาะสมนั้นสร้างเหนี่ยวนำ unwanted oblique astig.  ได้มากเช่นกัน  ตัวอย่างเช่นแว่นกรอบโค้งมากๆเป็นต้น หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีที่การเยื้องของช่องมองกลางใกล้ของโปรเกรสซีฟ (inset) นั้นไม่เหมาะสมกับแนวการเหลือบของตาแต่ละข้าง ทำให้การ overlab กันของ visual field นั้นไม่พอดีกัน ก็ทำให้ total visual field นั้นแคบลง

 

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้ distortion ที่มีอยู่เดิมนั้นเพิ่มทวีมากขึ้น แต่ R&D ที่มีทีม lens designer เก่งๆ นั้นสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ aberration เหล่านั้นได้ เช่น zero base curve effect technology ที่สามารถแก้ base curve effect ทำให้ผู้ใช้นั้นสามารถเลือกผิวโค้งหน้าเลนส์ได้อย่างอิสระโดยไม่กระทบกับโครงสร้างเลนส์  หรือ induvidual parameter ที่ทำให้เราเลือกกรอบแว่นได้อิสระโดยเฉพาะกับแว่นกรอบโค้ง หรือ PD-Optimized inset ที่ทำให้การเยื้องของ inset นั้นเหมาะกับ individual PD ของแต่ละคน หรือ Design parameter ที่ทำให้เราสามารถออกแบบสนามชัดให้ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งานมากที่สุด เป็นต้น

 

สรุปได้ว่า เลนส์โปรเกรสซีฟนั้นมี target ในอุดมคติอยู่  นั่นหมายความว่า ถ้าพูดถึงเลนส์โปรเกรสซีฟที่จำเป็นต้องมี distortion จากการไล่ค่าความโค้งตามกฎของ Minkwitz’s theorem และไม่มี aberration ที่เกิดจากตัวแปรอื่นๆแล้ว หน้าตาของโครงสร้างโปรเกรสซีฟในอุดมคติเป็นเช่นไร ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ควรมี aberration ในสนามของ visual field อย่างที่เคยได้ยกตัวอย่างไปแล้วบ่อยๆ ว่า ขยะไม่ใช่ปัญหาของบ้านถ้าถูกเก็บอยู่ในถังขยะที่เรียบร้อยมิดชิด แต่จะมีปัญหาเมื่อมีหมาแมวมาคุ้ยขยะจนปลิวทั่วบ้าน  distortion ของเลนส์โปรเกรสซีฟก็เช่นกัน  aberration หลักจากการ varies curve นั้นไม่ได้เป็นปัญหามากเท่ากับมีตัวแปรที่มาทำให้ aberration นั้นเพิ่มมากขึ้น

 

เมื่อได้ โครงสร้างเลนส์ในอุดมคติแล้ว ต่อไปคือการย้าย distortion ให้หลบไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสนามภาพใช้งานหลักให้เปิดกว้าง และ มีพื้นที่ในการมองมากขึ้น ลดอาการเมื่อยล้าจากการใช้สายตา ทำให้มีแรงเหลือในการทำงานอย่างอื่นเพิ่มขึ้นได้

 

Perfect balance คือ เลนส์ที่ออกแบบให้ achieve target บนพื้นฐานของโครงสร้างที่บาลานซ์โดยสมบูรณ์  ส่วน personal visual demand คือการปรับแต่งโครงสร้างที่ achieved target นั้น เพื่อให้พื้นที่ใช้งานที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด

 

The Selection 

Personal Visual Demand parameter นั้น ต้องอาศัย lifestyle ของคนไข้ในการสั่งเลนส์ ดังนั้นคนไข้ต้องเป็นบอกว่าชีวิตประจำวันนั้นใช้สายตาทำอะไรและก็เป็นหน้าที่ของ optometrist หรือ optician เป็นคนช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สายตาและแนะโครงสร้างที่เหมาะสมให้ ซึ่งในการออกแบบโครงสร้างเลนส์นั้นมีความยากง่ายอยู่หลายระดับ

 

Basic ที่สุดก็คงจะแนะนำโครงสร้างที่ทางโรเด้นสต๊อก grouping กลุ่มผู้ใช้งานหลักๆ ออกเป็น 3 กลุ่มคือ Active ,AllRound และ Expert ซึ่งแต่กลุ่มนั้นเกิดจากการคิดวิเคราะห์โดยทีมวิจัยของโรเด้นสต๊อกว่าเป็นโครงสร้างที่เหมาะสม ซึ่งเราสามารถปรับแต่งโดยละเอียดเพิ่มเติมจากที่ recommend ได้ผ่านโปรแกรม Rodenstock Consulting Program หรือ ใช้ app ช่วยวิเคราะห์ซึ่งหาโหลดมาได้จาก apple app store https://apps.apple.com/th/app/virtual-consulting/id904916542?l=th

 

AllRound

Allround นั้นเป็น design ที่ออกแบบขึ้นมาให้เหมาะสมกับคนไข้ที่ต้องการความบาลานซ์ในการใช้สายตาในทุกระยะทั้งระยะ ใกล้ กลาง และ ไกล และ เหมาะกับผู้ใช้งานที่มองหาเลนส์ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ใช้งานชัดในทุกสถานการณ์ 

 

Active

Active นั้นเป็น design ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับผู้ใช้ทีมีลักษณะ active กระฉับกระเฉง ว่องไว มีกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนที่อยู่เป็นประจำ เรียกได้กว่ามีกิจกรรมที่เกิด ต้องการ dynamic vision อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นโครงสร้างเลนส์ต้องออกแบบมาให้ ภาพในแต่ละจุดนั้นมีความเสถียรภาพสูงสุด และมีสนามภาพใช้งานในระยะไกลและกลางที่กว้างพิเศษ​ โดยยอม compromise  สนามภาพดูใกล้ไปบ้าง  (*หมายเหตุ : บนพื้นฐานการแก้ปัญหาสายตาที่ถูกต้อง ฟิตติ้งได้เซนเตอร์ และมุมถูกต้องและเหมาะสม)

 

Expert

Expert นั้นเป็น Design ที่ออกแบบขึ้นมาสำหรับผู้ใช้งานที่มีลักษณะเดินทางด้วยทำงานไปด้วย ที่ต้องใช้สายตามองไกลและก็ติดงานไปทำด้วย และต้องการจะ enjoy ทั้งกับเที่ยวและงาน  คำว่างานนั้นหมายความว่า จะต้องนั่งโหลดงานดูใกล้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่าการเล่นเฟสบุ๊ค  บุคลิกเลนส์นั้นเน้นเปิดพื้นที่ใช้งานระยะกลางมากเป็นพิเศษ และมีความไหลลื่นของสนามภาพใช้งานที่เน้นความนุ่มนวลในแนวดิ่ง  (*หมายเหตุ : บนพื้นฐานการแก้ปัญหาสายตาที่ถูกต้อง ฟิตติ้งได้เซนเตอร์ และมุมถูกต้องและเหมาะสม)

 

Tools

นอกจากนี้แล้ว เรายังสามารถช่วยให้การเลือกดีไซน์ของเลนส์ให้ผู้ใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยการใช้ application ที่โหลดจาก apple store มาช่วยในการเลือกดีไซน์คร่าวๆ ซึ่งถ้าต้องการปรับแต่งให้ละเอียดยิ่งขึ้นสามารถ tunning ได้ด้วยโปรแกรม rodenstock consulting ซึ่งต้องให้ทางโรเด้นสต๊อกไปติดตั้งให้

 

โดย Multigressiv B.I.G. นั้น จะเลือกได้จาก group ; Allround ,Active และ Active  เท่านั้น โดยค่า DF จะถูกกำหนดไว้เสร็จ แต่ DN นั้นสามารถปรับแต่งได้อิสระ แต่ถ้าไม่เลือกทาง software จะประเมินจากค่าสายตาและแอดดิชั่นให้  ส่วน Impression นั้นสามารถปรับแต่งได้อิสระทั้ง DF และ DN

 

 

B.I.G. Exact Technology (Option)

ส่วน DNEye Technology นั้นเป็น option technology ที่สามารถสั่งทำเพิ่มเติมเข้าไปในเลนส์ทุกกลุ่ม ได้แก่ Multigressiv B.I.G Exact  และ impression B.I.G Exact และ Progressiv B.I.G. Exact  โดย concept technology คือ การใช้เครื่อง DNEye Scan2 ในการวัดพารามิเตอร์ของกายภาพของดวงตาเพื่อนำไปสร้าง personal eye model ขึ้นมา เพื่อคำนวณโครงสร้างให้เหมาะกับลักษณะดวงตาของแต่ละคน เรียกว่า Biometric Intelligenc Glasses หรือ B.I.G เพื่อให้สามารถจัดการ aberration ปริมาณน้อยที่หลงเหลืออยู่ได้มากขึ้น จึงช่วยลด higher order aberration หรือ HOA ที่เกิดในลูกตาแต่ละคนได้  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องกำจัด lower order aberration ให้หมดเสียก่อน ผู้ใช้งานจึงจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี B.I.G  

 

The Last 

บทความเรื่องนี้คงจะทำให้ท่านที่สนใจได้เข้าใจ concept design ของเลนส์รุ่นนี้มากขึ้น และสามารถเลือกใช้ หรือ แนะนำให้คนไข้ของท่านใช้ได้ถูกต้องเหมาะสม  ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนี้ ไม่ได้มี Rodenstock เป็นสปอนเซอร์แต่อย่างใด แต่เขียนในฐานะ อดีต lens constant (2010-2014) ให้กับ Rodenstock Asia และได้ไปทำงานคลุกคลีอยู่กับงานเอกสารวิชาการทั้งจาก R&D และจาก Marketing  และอยากจะนำมาถ่ายทอดสู่กันฟัง  ยิ่งเรารู้ลึกถึงปรัชชาองค์กรที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ยิ่งทำให้เรารู้สึกเชื่อมั่น และ มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของเขาจะตอบโจทก์ได้ทุกปัญหาอย่างไม่ต้องสงสัย  (ถ้ารู้ลึกพอ)  

 

เหนือสิ่งอื่นใดอย่างที่ผมได้พูดเสมอมาคือ  งานเราทำหน้าที่ให้มันดี ให้ถามตัวเองว่า เราตรวจสายตาดีแล้วหรือยัง มั่นใจใน best correction ของเราแล้วหรือยัง ได้ทำการ fine tuning เรียบร้อยดีแล้วหรือยัง ได้เอา retinoscope ไปทำ over refraction ขณะคนไข้ลองแว่นแล้วหรือยัง หรือว่า เรายังวัดตาเอาแค่ชัดไม่ชัดกันอยู่  ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็อย่าไปหวังกับ performane ชวนฝันของเลนส์ให้มากมายเลย  เลนส์อะไรก็ไม่ดีถ้าสั่งตัดผิดค่า แล้วอย่าไปโทษแต่เลนส์ว่าไม่ดี  เลนส์จะดีไม่ดีเราก็ทำเลนส์เองไม่ได้ เราต้องเชื่ออย่างเดียว  แต่สิ่งที่เราคุมคุณภาพได้คือ ตรวจสายตาให้มันดี  

 

ถามอีกที “ทำดีที่สุดแล้วหรือยัง” ถ้ายังไม่สุด ใครหล่ะที่เราคิดว่าคือที่สุด ไอ้คนที่เราคิดว่าที่สุดมันทำงานอย่างไร มันไปรู้อะไรมา มันรู้ด้วยวิธีอย่างไร ไม่ว่าจะด้วยการถาม หาความรู้ หาประสบการณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ ได้พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมแบบมันแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มทำได้แล้ว อย่าให้คนไข้ต้องจ่ายเงินเต็มราคาให้กับสินค้าที่ไม่เต็มประสิทธิภาพที่มีเราเป็นต้นเหตุ  แต่ถ้าจะมองว่า ก็ลดไปแล้ว 30-70% จากราคาปกติ เพื่อแลกกับเลนส์ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ แล้วได้ถามคนไข้หรือยังว่า เขาต้องการให้ลดราคาพร้อมประสิทธิภาพที่ลดลงแล้วหรือยัง

 

ที่พูดทั้งหมดนี้ อยากให้วิชาชีพทัศนมาตรและอาชีพแว่นตานั้น มีความสวยงามกว่าเดิม หมดยุคเนียนๆกันแล้ว ถ้าผมไม่เขียน คนไข้ก็สามารถหาข้อมูลได้ไม่ยากบนโลกอินเตอร์เนต ถ้าหยุดพัฒนาเมื่อไหร่ ก็เตรียมตัวฝ่อในอาชีพวิชาชีพได้ทันที

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจในการติดตามครับ

 

ดร.ลอฟท์

 

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง 

https://www.loftoptometry.com/whatnew/Multigressiv_MyLife2

https://www.loftoptometry.com/Impression_FreeSign_part1

https://www.loftoptometry.com/whatnew/Impression_FreeSign-3