พื้นฐานกายภาพของดวงตา ตอนที่1 จากกระจกสู่วุ้น (ตา) มีอะไรบ้างที่ต้องรู้


พื้นฐานกายภาพของดวงตา 

ตอนที่1 จากกระจกสู่วุ้น (ตา) มีอะไรบ้างที่ต้องรู้

เรื่องโดย ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี ท.ม. ,(O.D.)

เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2561


บทนำ

ผมตั้งใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา จากการตั้งคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมในยุค 4.0 อย่างในปัจจุบัน  เมืองไทยยังมีเรื่อง "เอาหนามบ่งต้อ" โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็น "ค่าครู" ใส่พานถวายให้กับคนที่ชาวบ้านเรียกว่าหมอในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (อนามัย) 

บางแห่งมีถึงขนาดเอา " มีดสะกิดหลังใบหู" หรือ แผ่นหลัง บอกว่ามีเส้นประสาทที่เชื่อมติดตัวตา แล้วทำให้ตาชัด อาการของต้อดีขึ้น  

บางคนใช้น้ำหมักสกปรกหยอดเชื้อโรคเข้าตาจนตาบอดก็มี  รักษาสายตาสั้นด้วยการนวดบำบัด  

บางคนนึกว่าตนเป็นหมอขมังเวท ผลิตภัณฑ์ยารักษาตาครอบจักรวาล โดยมีครูศาลาเป็นพรีเซนเตอร์ จนทำให้ทั้งคนทั้งดวงตาหายไปจากโลก ส่วนเจ้าของโรงงานก็ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ พรีเซนเตอร์กำร่ำรวยกันไป อย.ก็ไล่จับกันไป จ่ายค่าปรับแล้วก็มาขายต่อ ราชจักษุวิทยาลัยออกมาแถลงเรื่องนี้จนปากฉีกปากแฉะ ก็ยังมีคนเป็นเหยื่อให้เขาหลอกไม่หยุดไม่หย่อน  มันแสดงถึงว่าคนไทยนั้น ยังขนาดวิจารณญาณว่า "คำไหนจริง คำไหนคือคำโฆษณา"  เห็นเขาโฆษณาก็ไปตีความว่ามันดี เป็นเรื่องที่น่าเศร้านะ 

ซึ่งผมมองว่าเรื่องเหล่านี้มันไม่ควรเกิดในยุคดิจิทัลแบบนี้ มันดูถูกสติปัญญาของคนไทยเกินกว่าที่ผมจะนิ่งเฉยได้ 

 

ส่วนตัวผมคิดว่า สาเหตุสำคัญของเรื่องนี้คือ "ความไม่รู้" ทำให้เกิดเรื่องร้ายๆตามมา ไม่ว่าการรักษาแบบร้ายๆ ผลิตภัณฑ์ร้ายๆ  ที่อาศัยความไม่รู้ของคนเป็นช่องทางในการทำมาหากิน โดยไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบจากผลพวงที่จะตามมาจากการักษาผิดวิธี จนกลายเป็นความล่าช้า และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด 

 

เราใช้สายตาตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน แต่เรารู้จักดวงตาตัวเองน้อยมาก ที่น่าตกใจคือ คนจำนวนมาก ไม่คิดที่จะรู้จักด้วยซ้ำ ถ้าไม่ดวงตาไม่เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา บางคนตลอดชีวิตยังไม่เคยไปหาหมอตาให้ตรวจเช็คดูแม้แต่ครั้งเดียว  รอตาบอดแล้วเจอกันทีเดียว 

 

เหตุคือความไม่รู้จัก พอไม่รู้จัก ก็ไม่ใส่ใจดูแลรักษามัน  บางคนให้สำคัญยอมจ่ายให้ค่าเหล้าเอาเหล้าที่เขาว่าดีที่สุด Blue lebel ไปเลย บุหรี่ก็ดูดตัวแพงๆ เบียร์ก็กินแต่คราฟท์แพงๆ  ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่ทำร้ายร่างกายทั้งสิ้น หรือสิ่งของบางอย่างที่ไม่มีก็ไม่ตายเช่น นาฬิกาแพงๆ กระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า เข็มขัด แพงๆ เท่าไหร่ก็ยอมจ่าย เพื่อให้คนอื่นเขามองว่าหรูหราไฮโซ  แต่พอจะทำแว่นให้ตาตัวเองที่ใช้งานทุกวันใส่ “เลนส์รุ่นไหนถูกสุด กรอบรุ่นไหนถูกสุด ไม่โค้ตก็ได้ เอาใส่ไปงั้นๆแหล่ะ 199 บาทก็ได้  เอาแค่พอเห็น ทำดีๆไปขี้เกียจรักษา” ว่าไปนั่น  เหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจ  จนบางครั้งก็ลุกลามไปจนถึงตาบอดก็มี คิดๆไปก็น่าเศร้า

 

ดังนั้นผมก็เลยอยากจะเขียนเรื่องสักเรื่องหนึ่ง ให้คนทั่วไปได้รู้จักดวงตาของตัวเองบ้าง ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง มีโรคอะไรที่จะเกิดได้บ้าง เอาพื้นฐาน ง่ายๆ คนที่ไม่เคยมีพื้นฐานอ่านแล้วก็เข้าใจ  เพื่อเอาไว้ดูแลดวงตาตัวเองต่อไป  และเวลาผมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับโรคตาก็จะได้เข้าใจด้วย 

เริ่มเลยแล้วกัน 

 

ระบบการมองเห็น (visual system)

ระบบการมองเห็น หรือ visual system ของเรานั้น จะจับข้อมูลต่างๆจากสิ่งแวดล้อม แล้วส่งต่อให้กับเซลล์ประสาทซึ่งทำงานประสานกันทั้ง รับรู้ เรียบเรียง และแปรผล เกิดเป็นการรับรู้ภาพ เรีกว่า visual perception ซึ่งข้อมูลในการรับรู้นั้นมีอยู่หลายแบบ เช่น 

-Chromatic ข้อมูลที่เป็นแสงสีต่างๆ 

-Motion ข้อมูลที่เป็นการเคลื่อนไหวของวัตถุ  

-Detail ข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของวัตุถุ 

-Form ข้อมูลที่เป็นร่างหรือรูปทรงของวัตถุ 

-Depth ข้อมูลที่เป็นความลึก ความตื้นของวัตถุ

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะถูกแปลงเป็นคลื่นไฟฟ้า ด้วยเซลล์ประสาทรับภาพ (photorecepter)  และผ่านกระบวนการต่างๆผสมกับประสาทสัมผัสอื่นๆ หรือแม้แต่กับประสบการณ์เก่า แล้วออกมาเป็นโลกที่สวยงามและซับซ้อนอย่างที่เรารับรู้อยู่ปัจจุบัน 

 

โรคที่เกิดกับระบบการมองเห็น ทำให้กระบวนการประมวลผลของประสาทการมองเห็นนั้น ทำงานผิดพลาด ซึ่งเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ การรับรู้ที่ผิดจากปกติไป ไปจนถึงไม่รู้การมองเห็นอะไรเลย ก็คือตาบอดนั่นเอง 

 

ดังนั้นการที่เรามีความเข้าใจพื้นฐานของระบบการมองเห็น ทำให้เราสามารถทำนาย คาดเดาหรือสันนิษฐาน ความผิดปกติของกายภาพของดวงตา ผ่านทางอาการแสดงที่คนไข้เป็นได้แม่นยำ 

 

พื้นฐานของกายภาพของดวงตา 

เนื้อเยื่อ 3 ชั้น : Sclera Uvea และ Retina 

 

เด็กทารกเกิดมานั้น มีความยาวลูกตาเฉลี่ย 17 มิลลิเมตร และลูกตาก็จะเริ่มใหญ่ขึ้นๆ ตามร่างกายที่เจริญเติบโตขึ้น จนยาว 25.4 มิลลิเมตร เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ 

ศึกษา แผนผังของดวงตาจาก Gullstrand schematic eye ได้ที่ล้ิง http://www.loftoptometry.com/Gullstrand’s schematic eyes

 

ดวงตานั้นประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น เริ่มจากชั้นนอกสุดเรียกว่าชั้น Sclera  ชั้นกลางเรียกว่า Uvea และ ชั้นในสุดคือ Retina 

 

Sclera เป็นชั้นเนื้อเยื่อที่มีสีขาว คือทั้งลูกเหมือนลูกปิงปองที่มีสีขาว แต่ที่เรามองเห็นได้คือเฉพาะส่วนหน้า ที่เราเรียกว่าตาขาวนั่นแหล่ะ ส่วนหลังๆ มันอยู่ในเบ้าตาเราเลยมองไม่เห็น  ซึ่งโครงสร้างของตาขาวนี้สร้างขึ้นมาจากเส้นใยของ collagen ที่ถักเส้นใยด้วยรูปแบบที่ซับซ้อน เกิดเป็นเนื้อเยื่อที่มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะภายในดวงตาไม่ให้ได้รับอันตราย  

ส่วนด้านหน้าของตาขาว (sclera) จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการถักทอเส้นใยคอลลาเลน เกิดเป็นเนื้อเยื่อโค้งและใสที่ส่วนหน้า เกิดเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการหักเหแสงคือกระจกตา หรือฝรั่งเรียกว่า cornea  ดังนั้นเวลาหมอจะทำเลสิก ก็ใช้เลเซอร์เจียร์กระจกตาเพื่อเปลี่ยนทรงกระจกตาที่ชั้นนี้ 

 

ถัดลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่งคือชั้น uvea ซึ่งเป็นชั้นกลาง เราจะเจออวัยวะสำคัญ 3 อย่างที่ชั้นนี่้คือ ม่านตา (iris) กล้ามเนื้อภายในดวงตา (ciliary muscle) และชั้นของเส้นเลือด (choroid)  

 

ม่านตา (iris)

ม่านตา (iris) ทำหน้าที่เหมือน diaphram หรือม่านชัตเตอร์ในกล้องถ่ายรูป ทำหน้าที่ในการควบคุมปริมาณแสงที่จะเข้าสู่จอประสาทตา ให้เหมาะสมกับสภาพวะแสง  คือถ้าแสงน้อยรูม่านตาก็จะเปิดกว้าง แต่ถ้าแสงมากรูม่านตาก็จะหด โดยมีกล้ามเนื้อสำคัญ 2 ตัวที่ทำงานคือ sphincter iridis ทำหน้าที่หดรูม่านตา และ dilator pupillae ทำหน้าที่ขยายรูม่านตา 

 

Ciliary muscle

ciliary body เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในลูกตา ทำหน้าที่สำคัญคือ บังคับให้เลนส์แก้วตา หรือ crystalline lens  เกิดการโฟกัสภาพเพื่อดูใกล้  ส่วนหน้าที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือ สร้าง aqueous humer ซึ่งเป็นสารน้ำมีลักษณะเหลวใส แต่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเผาผลาญเพื่อให้ได้พลังงานสำหรับการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในดวงตา เช่น กระจกตา และ เลนส์แก้วตา 

รูปแสดงทิศทางการสร้างและไหลเวียนของ aqueous humer ซึ่งสร้างจาก ciliary body เดินทางไปหล่อเลี้ยงเลนส์ตา ออกทางรูม่านตาไปหล่อเลี้ยงกระจกตา และระบายทิ้งที่มุมระบายน้ำตา ผ่านตะแกรง trabecular meshwork แล้วออกทางท่อ schlem canal กลับเข้าสู่หัวใจ เพื่อรอการสูบฉีดอีกครั้ง 

Choroid 

Choroid เป็นชั้นเนื้อเยื้อที่เชื่อมต่อจาก ciliary body เป็นชั้นที่เต็มไปด้วยเส้นเลือดที่นำเลือดมาเลี้ยงเนื้อเยื่อลูกตาชั้นนอก ส่วนเนื้อเยื่อประสาทตาคือ rod cell , cone cell จะมีเส้นเลือดมาเลี้ยงต่างหากคือ central retinal vein และ central retinal artery 

 

 

ถ้ามองลูกตาเหมือนลูกมะพร้าวก็พอจะเทียบกันได้  ตาขาว (sclera) เหมือนกะลาพระร้าว ทำหน้าที่ปกป้องเนื้อมะพร้าวด้านใน  ถัดเข้าไปอีกชั้นเป็นเนื้อเยื่อสีน้ำตาล ซึ่งเต็มไปด้วยใยอาหาร สำหรับหล่อเลี้ยงให้ลูกมะพร้าวโต และให้เนื้อมะพร้าวนั้นเอาสารอาหารไปสร้างเป็นเนื้อเยื่อ ซึ่งเหมือนกับเนื้อเยื่อชั้น choroid ที่ทำหน้าที่สำคัญในการส่งอาหารไปเลี้ยงจอประสาทตา  ถัดเข้าไปอีกชั้นก็จะเป็นเนื้อมะพร้าว เปรียบเหมือนจอรับภาพ (retina) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการมองเห็น  ด้านในสุดก็เป็นน้ำมะพร้าว เหมือนวุ้นตาทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารให้กับเรตินาและเลนส์ตา 

เรตินา (Retina) 

เรตินา เป็นเนื้อเยื่อประสาทที่อยู่ด้านในสุด ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่มีความซับซ้อน ประกอบไปด้วยชั้นเล็กๆ 10 ชั้นซึ่งเรียงตัวกันอย่างเป็นแบบแผนในชั้นบางๆเพียง 0.2 มิลลิเมตร มีเซลล์ประสาทรับภาพ 2 ชนิดอยู่คือ rod cell ซึ่งไวต่อภาพที่เกิดในแสงน้อยๆเช่นที่มืดหรือเวลากลางคืน และ cone cell ซึ่งเป็นเซลล์ประสาทรับสี มีความละเอียดของภาพสูง และใช้มองเห็นภาพในที่ที่มีแสงสว่าง (กลางวัน)

รูปแสดงการเรียงตัวของเซลล์ประสาทตาที่เรตินา ซึ่งมี 10 ชั้น เรียงตัวกันอย่างเป็นระบบในชั้นบางๆเพียง 0.2 มม. 

 

ต่อไปเราจะมาลงละเอียดในอวัยวะแต่ละส่วนของลูกตา

 

กายภาพของดวงตา จากด้านหน้าสุด-หลังสุด

กระจกตา (cornea)

กระจกตา หรือ cornea คืออวัยวะที่อยู่ด้านหน้าสุดของลูกตา มีลักษณะสำคัญของโครงสร้างคือใสและมีลักษณะที่โค้ง ซึ่งความโค้งของกระจกตานั้นสามารถให้กำลังหักเหสูงถึง 2 ใน 3 ของกำลังหักเหทั้งหมด ประมาณ 40 diopter (กำลังหักเหรวมทั้งหมดของดวงตา 60 diopter) 

 

ด้วยงานที่สำคัญที่สุดของกระจกตาคือ “ให้แสงผ่าน” ดังนั้น “ความใส” ของกระจกตานั้นเป็นงานสำคัญที่สุดของกิจกรรมของกระจกตา ดังนั้นเราจะเห็นว่าเนื้อเยื่อของกระจกตานั้นเปลี่ยนสภาพตัวเองไปเป็นเซลล์ใส ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง แต่มีชีวิต โดยเปลี่ยนรูปแบบการเผาผลาญอาหารในรูปแบบที่เฉพาะ 

 

เช่นเซลล์อื่นๆ รับอาหารและออกซิเจนจากกระแสเลือด เพื่อนำไปสร้างพลังงาน ให้เกิดกิจกรรมภายในเซลล์  แต่กระจกตานั้นรับอาหารจากน้ำ aqueous humer ซึ่งมีลักษณะใส ที่สร้างจาก ciliary body และอาศัยออกซิเจน แพร่เข้าไปโดยตรงจากอากาศ เพื่อให้เกิดกิจกรรมของเซลล์กระจกตาให้ใสอยู่ตลอดเวลา 

A. คือเซลล์​ fibroblast เป็นเซลล์แบนและบาง ทำหน้าที่สำคัญในการสร้างเนื้อเยือของชั้น stroma ซึ่งเป็นชั้นที่หนาที่สุดของกระจกตา  
B. lamellae , เป็นมัดใยไฟเบอร์คอลลาเจน ที่เป็นโครงสร้างหลักของชั้น stroma  ซึ่งวางตัวอย่างเป็นระเบียบ  หากมีน้ำเข้าไปในชั้นกระจกตามากเกินไป น้ำจะเข้าไปแทรกระหว่างชั้น เมื่อแสงวิ่งผ่านชีตที่มีน้ำขัง จะเกิดการกระเจิงของแสง คนไข้จะเห็นว่าเป็นรุ้งรอบดวงไฟ 

 

การคงสภาพให้ใส นั้นทำโดยการควบคุมปริมาณของน้ำในกระจกตาให้มีความพอดี และมีระดับความเข้มข้นของน้ำที่คงที่  โดยปกติกระจกตานั้นมี collagen ที่มีความชอบน้ำเป็นทุนเดิม คืออมน้ำได้ดี ดังนั้นนำภายในลูกตาก็จะแพร่เข้าไปอยู่ในกระจกตา แต่ถ้ามากเกินไป น้ำจะเข้าไปแทกอยู่ตามชั้นของเซลล์ ทำให้แสงที่วิ่งผ่านนั้นเกิดการกระเจิงของแสง ซึ่งคนไข้จะสังเกตเห็นรุ้งรอบดวงไฟ 

 

ดังนั้น กิจกรรมสำคัญของเนื้อเยื้อชั้นในสุดของกระจกตาคือ endothelium นั้นจะมี ATP-pump ซึ่งเป็นปั๊มน้ำที่ต้องใช้พลังงาน ATP จากการเผาผลาญอาหาร เพื่อปั๊่มน้ำส่วนเกินออกไปจากกระจกตา 

Diagram แสงการทำงานของ ATP-pump ของ endothelial cell ของ cornea 

ถ้า ATP-Pump เสีย แน่นอนว่าจะเกิดน้ำคั่งในกระจกตา เกิดเป็นกระจกตาบวม แสงที่ผ่านก็จะเกิดการกระเจิง ทำให้แสงที่ผ่านเข้าไปที่จอรับภาพเป็นแสงที่ไม่เป็นระเบียบ และเกิดเป็นภาพที่ไม่คมชัด 

 

Aqueous Humer

Aqueous homer เป็นสารน้ำที่อุดมไปด้วยอาหาร ทำหน้าที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆของตาทั้งส่วนหน้า (หลังกระจกตา ถึง ส่วนหน้าของม่านตา)  และส่วนหลัง (หลังม่านตา ถึง หน้าวุ้นตา)

เมื่อหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆแล้ว ก็จะไหลไปทิ้งที่ท่อระบายน้ำมีชื่อเรียกว่า Schlemm canal ซึ่งเป็นรูระบายที่อยู่ที่มุมระบายน้ำตา (มุมที่เกิดขึ้นจากการบรรจบกันของกระจกตาและม่านตา) จากนั้นก็จะไหลกลับไปที่หัวใจ ไปฟอกที่ปอด และกลับขึ้นมาหล่อเลี้ยงร่างกายอีกรอบเป็นวัฎจักร 

 

Aqueous homer ยังทำหน้าที่สำคัญคือ ทำให้เกิดแรงดันภายในลูกตา หรือที่เราเรียกว่า Intra Ocular Pressure ,IOP ซึ่งความดันลูกตาที่มาตรฐานนั้นอยู่ที่ 16 มม.ปรอท  

 

ถ้าความดันตาสูงมากเกินก็จะทำให้จอประสาทตาถูกทำลาย เราเรียกว่า “ต้อหิน” หรือ “Glaucoma”

 

ซึ่งสาเหตุของความดันตาสูงนั้น เกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือ aqueous humer ถูกผลิตมากเกินไป กับ การระบายน้ำของ aqueous นั้นทำได้ไม่ดี ทำให้เกิดน้ำคั่งในระบบมาก หรืออาจเกิดได้จากทั้งสองสาเหตุพร้อมๆกันก็ได้ 

อ่านเรื่องต้อหินเพิ่มเติมได้ที่ลิ้ง http://www.loftoptometry.com/ต้อหิน

 

เลนส์แก้วตา (Crystalline lens) 

ถัดไปหลังม่านตาจะเป็นเลนส์แก้วตา หรือ Crystalline lens ซึ่งเป็นเลนส์ที่มีกำลังหักเห 20 Diopter คิดเป็น 1 ใน 3 ของกำลังหักเหทั้งหมด

 

เมื่อมีการ Accommodate (บ้านเราเรียกการเพ่ง แต่ไม่ใช่เพ่งแบบที่เราเข้าใจ) เลนส์ตาจะเกิดกำลังหักเหที่มากขึ้น ทำให้เราสามารถโฟกัสภาพที่อยู่ใกล้ๆให้โฟกัสบนจุดรับภาพได้  ซึ่งในเด็กเล็กนั้นเลนส์ตาสามารถเพ่งเพิ่มแรงขึ้นอีกถึง 15 D และลดลงไปเรื่อยๆตามอายุ จนแทบจะไม่เหลือแรงเพ่งเมื่ออายุเข้าใกล้ 60 ปี

 

การ Acommodation เกิดขึ้นได้จาก กล้ามเนื้อ ciliary muscle (ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่วางตัวในแนววงกลมรอบเลนส์) เกิดการหดตัว  เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการหดตัว  lens zonules ซึ่งมีลักษณะคล้ายเอ็นใสๆ ที่ยึดระหว่างเลนส์แก้วตากับ ciliary muscle อยู่ก็เกิดการหย่อนตัว ทำให้เลนส์ตามีการป่องขึ้น จากการปล่อยเนื้อปล่อยตัวตามธรรมชาติ  (นึกถึงเวลาเราหายใจเข้าลึก ตัวจะตรง ยืดๆ พุงจะแบนๆ แต่ถ้าเราหายใจออกเยอะ เราก็จะอยู่ในสภาวะหล่อยตัว พุงก็จะยื่นๆมาด้านหน้าหน่อยๆ  ฉันไดก็ฉันนั้น)  ซึ่งการที่เลนส์มีการป่องตัวและเคลื่อนที่ไปด้านหน้านั้น  จะทำให้รัศมีความโค้งของเลนส์ลดลง  ความโค้งจะมากขึ้น จะเกิดกำลังหักเหที่มากขึ้นด้วย และสามารถดึงจุดโฟกัสของภาพจากวัตถุที่อยู่ใกล้ ให้สามารถกลับมาโฟกัสบนจุดรับภาพอีกครั้งได้

 

ลองนึกถึงลูกโป่งน้ำ ซึ่งธรรมชาติของมันถ้าอยู่เฉยๆคือมันจะป่อง ทีนี้ถ้ามีแรงไปดึงโดยรอบ มันก็จะแบนๆ รอบทิศทาง  ซึ่งแรงดึงลูกโป่งรอบทิศทางนั้นเกิดจาก Zonule finber ที่ขึงยึดระหว่าง ขอบเลนส์ตากับกล้ามเนื้อ ciliary muscle  

 

เมื่อกล้ามเนื้อหด  เอ็นที่ยึดโดยรอบก็หย่อน ลูกโป่ง (เลนส์) ก็ป่อง มีคุณสมบัติของความเป็นเลนส์นูนมากขึ้น ก็สามารถรวมแสงได้มากขึ้น 

 

Clinical Highlight 

สายตาคนแก่ (Presbyopia) 

เมื่ออายุเรามากขึ้น กำลังเพ่งของ accommodation จะลดลง เนื่องจากความยืดหยุ่นของเลนส์ตาของเราลดลง (ลูกโป่งน้ำแข็งขึ้น) เนื่องจากเมื่อเราอายุมากขึ้นทุกวัน  เซลล์ของเลนส์ตา (lens fiber cell) ก็มีการสร้างตลอดเวลาเช่นเดียวกัน  ทำให้เลนส์ตาเราแข็งขึ้นทุกๆวัน 

จนกระทั่งอายุ 40 ปี ขึ้นไป ความแข็งจะเริ่มเกินไปที่จะสามารถสร้างกำลังพอเพื่อที่จะดึงโฟกัสภาพให้ตกบนจุดรับภาพได้  ทำให้คนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปนั้น ไม่สามารถที่จะอ่านหนังสือที่ระยะใกล้ โดยไม่พึ่งแว่นอ่านหนังสือได้ เราเรียกอาการนี้ว่า “สายตาคนแก่” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “presbyopia”

 

ต้อกระจก (Cataract) 

โดยธรรมชาติของเลนส์แก้วตานั้น เซลล์ของเลนส์จะใส ซึ่งเป็นการออกแบบตัวเองให้เป็นเช่นนั้นเพื่อให้แสงสามารถผ่านตัวมันได้โดยง่าย  แต่แสงที่เข้ามานั้นก็มีทั้งแสงที่ไม่อันตราย (visible light ,410 nm-700 nm) และแสงที่อันตรายคือ รังสียูวี และแสงพลังงานสูง (ultra violet ,<400 nm & HEV 400-410 nm) 

เซลล์ของเลนส์เมื่อดูดซับรังสียูวีทุกวันๆ ก็จะเริ่มเสื่อมจากกระบวนการทางเคมี (oxidative effect) เกิดเป็น “อนุมูลอิสระ” หรือ free redical  ซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีประจุอยู่ที่ปลายพันธะและเกิดปฏิกิริยาเคมีในเซลล์ได้ง่าย ทำให้ไปรบกวนกิจกรรมธรรมชาติของเซลล์ เซลล์ก็จะเสื่อม ฝ่อ เหี่ยว และตายไปในที่สุด 

เซลล์ของเลนส์ตา เมื่อถูกแสงทำลายทุกวัน มันก็จะเริ่มเสื่อมไปเรื่อย ความใสจะลดลง เนื่องจากกิจกรรมของเซลล์ที่ทำหน้าที่คงสภาพใสนั้นทำงานลดลง  เลนส์ก็เริ่มเหลือง ขุ่น และกลายเป็นตะกอนขาวในที่สุด 

เมื่อเลนส์ขุ่น เกิดตะกอนขาว แสงก็ผ่านเข้าไปแล้ว ก็จะไปชนกับตะกอน ทำให้เกิดการกระเจิงของแสง เกิดเป็นแสงฟุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน หรือมองอะไรแล้วเป็นฝ้าๆ เหมือนมองผ่านกระจกที่เป็นฝ้าในเวลากลางวัน  การโฟกัสภาพก็จะฝ้ามัว 

เราเรียกโรคนี้ว่า “โรคต้อกระจก” หรือ “cataract” ความคิดเห็นส่วนตัวว่า ควรจะเปลี่ยนชื่อจากต้อกระจกเป็น “ต้อเลนส์” เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน 

ซึ่งหมอก็จะทำการผ่าตัดเอาต้อเลนส์ออก ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบใช้ ultra sound สลายต้อ ซึ่งเป็นแบบคลาสิก และสลายต้อด้วยเลเซอร์ซึ่งเป็นแบบใหม่  ซึ่งผ่าตัดไม่ยาก แผลเล็ก ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที ผลสำฤทธิ์ในการผ่าตัดดี ไม่ต้องไปกลัว ไม่ต้องไปรอให้ต้อสุกเสียจนผ่าลำบาก ยิ่งรอนาน เลนส์ก็แข็งมาก การเอาออกก็ยาก กระทบกระเทือนมาก บาดเจ็บมาก 

ตัวอย่าง ต้อกระจก ชนิด cortical cataract ,cr:www.eyeround.org

 

วุ้นในตา (Vitreous Humor)

ถัดจากเลนส์แก้วตา คือวุ้นในตา ภาษาแพทย์เรียกว่า “Vitreous Humor” อ่านว่า “วิ-เทรียส-ฮู-เมอร์”  มีโครงสร้างมีลักษณะเป็นวุ้น (Gelly-like) มี collagen และ hyaluronic acid เป็นองค์ประกอบหลัก 

วุ้นมีหน้าที่สำคัญในการเป็นแหล่งอาหารให้กับจอรับภาพ และเป็นพื้นที่สำคัญที่แสงที่ผ่านจากกระจกตา เลนส์ตา จะมารวมโฟกัสก่อนที่จะไปตกบนจุดรับภาพ  ดังนั้นความใสไม่ขุ่นนั้นเป็นคุณสมบัติสำคัญของวุ้นตาเช่นกัน 

ดังนั้นวุ้นตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากที่สุดอวัยวะหนึ่ง เพราะภาพจากโลกภายนอก จะเข้าไปโฟกัสที่ผิวของวุ้นตาส่วนท้ายที่อยู่ติดกับเรตินา 

 

Clinical Highlight 

โรควุ้นเสื่อม (Vitreous Degeneration)

โรควุ้นในตาเสื่อมนั้นเป็นโรค พบมากในผู้สูงอายุ และมีความอันตรายทำให้ตาบอดได้  

เมื่ออายุยังน้อย สภาพส่วนใหญ่นั้นจะมีลักษณะเป็นวุ้นใสๆ แต่เมื่ออายุเรามากขึ้น ความเป็นวุ้นจะลดลงแล้วมีความเป็นน้ำเพิ่มมากขึ้น เมื่อความเป็นน้ำมากขึ้น การทรงรูปร่างจะเริ่มไม่ค่อยดี 

คนสายตาสั้นมากๆ มักจะมีกระบอกตาที่ยาวมากกว่าคนปกติทั่วไป นั่นหมายความว่า วุ้นตาก็จะถูกดึงมากได้เช่นกัน เมื่อวุ้นเริ่มเสื่อม ทรงวุ้นก็เริ่มไม่ค่อยดี อาจทำให้เกิดการยุบตัวของวุ้น แล้วไปดึงรั้งจอประสาทตาบริเวณนั้นออกมาด้วย เกิดเป็นจอประสาทตาลอกออกมาเรียกว่า Retinal Detachment หรือจอตาเกิดฉีกขาดขึ้นมาเรียกว่า retinal tare ถ้าไม่รีบรักษา จอตาก็อาจจะลอกออกทั้งหมด ทำให้ตาบอดในที่สุด 

ดังนั้นการสังเกตอาการนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ​  

จอประสาทตาลอก (retina detachment) cr: university of lowa

 

Flash & Floater 

ลักษณะสำคัญที่วุ้นเสื่อมคือ “วุ้นกลายเป็นน้ำ” นั่นหมายความว่า สารแขวนลอยต่างๆที่ถูกแช่แข็งไว้ในวุ้น ก็จะเริ่มออกมาวิ่งล่องลอยทั่วทั้งพื้นที่ คนไข้จะเริ่มสังเกตเห็นว่ามี จุดดำ หรือ หยักไย่ ลอยไปลอยมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่เคยเห็นจุดดำมาก่อน จู่ๆ มีจุดดำ ลอยไปลอยมา เต็มไปหมด เราเรียกอาการนี้ว่า foater อ่านว่า “โฟล-เตอร์” อย่างนี้ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ด่วน 

 

อาการสำคัญอีกอย่างที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า จอตาถูกรั้งคือ “อาการเห็นฟ้าแลบ” หรือ “flash” ซึ่งเกิด effect จากที่เซลล์ประสาทรับภาพ stress จากการถูกดึงรั้ง ทำให้มันจะปล่อยสัญญาณประสาทผิดปกติออกมา ในรูปแบบของฟ้าแล๊บ 

 

วันนี้เอาเท่านี้ ก่อน ตอนต่อไปจะเอาเรื่องของเรติน่ามาเล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งผมมองว่าสำควรให้แยกไปเป็นอีกตอนหนึ่งจะดีกว่า  เพราะถ้าอยู่ในตอนเดียวกัน เดี๋ยวจะปวดหัวกันไปใหญ่ 

 

ความทั้งใจในการเขียนครั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกคน ได้รู้จักดวงตาของตัวเองมากขึ้น "ลืมตา" เพื่อมองโลกที่สวยงามได้ แต่ "อย่าลืมดูแลรักษาดวงตา" ให้ดีด้วย คนสมัยนี้อายุเฉลี่ยมากขึ้น จากสถิติล่าสุดนั้น เมืองไทยของเรามีคนที่อายุเกินร้อยปีนั้นหลายพันคน  นั่นหมายความว่า เรามีภาระกิจที่ยิ่งใหญ่ในการต้องดูแลร่างกายของเราไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย  ส่วนผมก็จะรับผิดชอบในการช่วยกระตุ้นให้ประชาชนนั้น เกิดการตื่นตัวที่จะเรียนรู้ และเข้าใจดวงตาของตัวเองมากขึ้น เมื่อเราเข้าใจมัน เราจะรักมัน และจะดูแลมัน อยู่กันไปยาวๆ ให้ถึงเวลาที่จะต้องจากโลกนี้ไป ก็ให้ไปพร้อมๆกัน  

 

"อย่าให้ดวงตาจากเราไปก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไปเลย" เพราะ “โลกที่มืดมิด ทั้งกลางวันและกลางคืน” มันน่ากลัว 

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม  หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็แชร์เป็นธรรมทาน ให้กับเพื่อนมนุษย์ ที่ยังไม่รู้จักดวงตาของตนเอง เผื่อให้เขาได้ตระหนักรู้ เข้าใจ และดูแลดวงตาของตนเอง ก่อนที่มันจะมีอันเป็นไปก่อนวัยอันควร 

 

สวัสดีครับ  

~ดร.ลอฟท์~


578 Wacharapod Rd ,Bnagkhen , BKK 10220

T.090 553 6554