แผนผังดวงตาของ Gullstrand’s (Gullstrand’s schematic eyes)

เรื่องโดย ดร.ลอฟท์

เขียนเมื่อ 25/5/2018


Introduction 

วันนี้มาด้วยเนื้อหาพื้นฐานเกี่ยวกับพารามิเตอร์มาตรฐานของดวงตา (standard schematic eye model) เพื่อทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่ที่ Rodenstock เปิดตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และกำลังจะปล่อยออกมาจำหน่ายคือเทคโนโลยีที่ต้องใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า  DNEye PRO ในการวัดพารามิเตอร์ของดวงตาออกมา ร่วมในการสั่งออกแบบโครงสร้างเลนส์  ซึ่งเคลมว่า DNEye PRO จะเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่จะเลิกใช้ standard Gullstrand’s eye model ในการออกแบบโครงสร้างเลนส์ ซึ่งในการออกแบบเลนส์หรือเครื่องมือเกี่ยวกับตามนุษย์นั้นใช้โมเดลนี้มานานกว่า 118 ปี 

แต่ DNEye PRO จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดลักษณะทางกายภาพของลูกตา ของแต่ละคน เพื่อคำนวณเลนส์เฉพาะตาแต่ละคน ซึ่งดูจาก movie แล้วก็เป็นอะไรที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจ ดังนั้นวันนี้จะมาทำความเข้าใจกับโครงสร้างลูกตามาตรฐานที่ใช้ในการ ให้คำจำกัดความ และคำนวณ รวมไปถึงทฤษฎีต่างๆที่ใช้ในการอธิบายปัญหาสายตาหรือสร้างเลนส์ต่างๆเพื่อแก้ปัญหาการมองเห็น  คลิ๊กลิ้ง เพื่อดูคอนเซปต์การทำงานของเทคโนโลยี DNEye PRO ; https://youtu.be/Rodenstock/DNEyePRO

ในการเรียนรู้เกี่ยวกับการหักเหของแสง การให้คำนิยามหรืออธิบายปัญหาต่างๆเกี่ยวกับระบบหักเหแสงของดวงตา รวมไปถึงการออกแบบเลนส์สายตา เพื่อแก้ปัญหาการมองเห็นนั้น จะต้องมีตุ๊กตาลูกตาในอุดมคติ มาอันหนึ่ง เราเรียกว่า standard reduced eye  ว่าโครงสร้างลูกตาเรานั้นมีโคงสร้างอย่างไร มีขนาดเท่าไหร่ มีความโค้งอย่างไร กำลังหักเหเป็นอย่างไร และพื้นผิวหักเหนั้นเรียงอยู่กันอย่างไร เพื่อเอาค่าต่างนี้ไปคำนวณทางฟิกสิกส์เชิงแสง เพื่อแก้ปัญหาสายตา หรือเพื่อศึกษาเรื่องต่างๆของระบบบการมองเห็น 

ดังนั้นเรื่องจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้คือ 

  • พื้นฐานโครงสร้างของดวงตา และองค์ประกอบต่างๆเกี่ยวกับระบบหักเหแสงของมนุษย์ 
  • โครงสร้างดวงตาของ Gullstrand’s eye model 
  • ตาในอุดมคติมีกำลังหักเห +60.00 D
  • พารามิเตอร์ต่างๆของดวงตาในอุดมคติของคนสายตาปกติ 

พื้นฐานโครงสร้างของดวงตาและองค์ประกอบต่างๆเกี่ยวกับระบบหักเหแสงของมนุษย์ 

ลักษณะทางกายวิภาคของดวงตานั้น มีอวัยวะหลายๆส่วนทำงานร่วมกัน ตามรูปล่าง

แต่ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบการมองเห็นหรือระบบหักเหแสงของดวงตานั้นจะเป็นอวัยวะที่มีลักษณะโปร่งใส ซึ่งได้แก่ กระจกตา (cornear) ,น้ำในช่องลูกตา (aqueous), เลนส์แก้วตา (crystalline lens) ,วุ้นในตา (vitreous)  ซึ่งอวัยวะทั้งหมดนี้แต่ละส่วนจะมีความโค้งและมีดัชนีหักเหของแสงนั้นสูงกว่า 1 เสมอ ซึ่งส่ิงที่เราจะต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนก็คือว่า กำลังหักเหที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นจาก 2 ส่วนคือ 

1.ดัชนีหักเหแสงของเนื้อเยื้อหรือวัสดุเลนส์ที่ใช้ทำให้เกิดผิวโค้ง (มีความโค้ง มีพาวเวอร์)

2.รัศมีความโค้งของเนื้อโค้งนั้นๆ (เนื้อเลนส์ หรือเนื้อเยื้อของตาเรา)  โดยรัศมีความโค้งจะแปรผกผันกับค่ากำลังหักเห  ถ้ารัศมียิ่งสั้น  ความโค้งก็จะยิ่งมาก และกำลังหักเหก็จะยิ่งมากตามไปด้วย 

ซึ่งทั้ง 2 ตัวแปรนี้ ใช้ได้ทั้งกับเลนส์สายตาและระบบการหักเหของลูกตา  โดยลูกตาของเรานี้เป็นระบบหักเหของเลนส์บวกที่มีกำลังหักเห มากถึง +60.00D  

ดังนั้น  ความโปร่งใส (transparantcy)  ความโค้ง (curvature)  ดัชนีหักเหแสง (refractive index) และตำแหน่งของแต่ละพื้นผิวหักเห (positioning of refractive surface) จะเป็นพื้นฐานในการสร้างโครงสร้างดวงตาในอุดมคติ เพื่อทำการศึกษา หรือออกแบบเลนส์สายตา 

ความเป็นมาของ Gullstrand’s eye model 

Allvar Gullstrand เป็นจักษุแพทย์และเป็นอาจารย์สอนจักษุวิทยา มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1862-1930 ในศตวรรตที่ 19 เป็นผู้เริ่มต้นสร้างความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกายภาพของดวงตาและระบบการมองเห็นของมนุษย์ 

Gullstrand เริ่มเขียนโมเดลลูกตาขึ้นมา โดยกระจกตามีลักษณะเป็นโค้งทรงกลม (sphere) และมีจุดศูนย์กลางการหักเหแสงเป็น Optical center  ซึ่ง eye model นี้เป็นกลายเป็นต้นแบบในการศึกษาระบบการหักเหแสง การทำงานของเลนส์สายตา รวมไปถึงเครื่องมือส่งกล้องซึ่งใช้ระบบการทำงานร่วมกันของเลนส์ต่างๆตามมา 

สำหรับ eye model ของ Gullstrand ก็ถือว่าเป็นโมเดลลูกตาที่ดี สำหรับการนึกถึงรูปร่างของดวงตาที่มีพารามิเตอร์เป็นค่ากลางๆได้ดี แต่ปัญหาของ Gullstrand eyemodel ก็คือค่ากลางนี้แหล่ะ เพราะว่าโมเดลนี้ไม่ได้เกิดจากการวัดจากดวงตาของแต่ละคนขึ้นมาจริงๆ แต่เกิดจากการเฉลี่ยค่าขึ้นมา แล้วใช้แบบ “one fit all of the world”

แต่ Gullstrand eye model ก็มีความสำคัญในการเป็นหลักพื้นฐานในการศึกษาเกี่ยวกับดวงตา และการพัฒนาเครื่องมือต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบการหักเหแสง ทำให้ visual optic มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

โครงสร้างดวงตาของ Gullstrand’s eye model

Gullstrand ออกแบบ eye model แบ่งออกเป็น 2 เวอร์ชั่น  แบบแรกเวอร์ชั่นแบบยาก โดยจำแนกพื้นผิวหักเหแสง 6 พื้นผิว กับแบบที่สองซึ่งเป็นแบบง่ายคือมีพื้นผิวหักเหแค่ 3 พื้นผิว 

Gullstrand’s No.I (exact( schematic eye)

ในเวอร์ชั่นแรกนี้ เป็น eye model ที่ Gullstrand ออกแบบมาให้มีพื้นผิวหักเหแสงครบทุกผิว ซึ่งมีทั้งหมด 6 พื้นผิวคือ 

  1. ผิวหน้าของกระจกตา (anterior cornea)
  2. ผิวหลังของกระจกตา (posterior cornea)
  3. ผิวหน้าเลนส์ (anterior lens)
  4. ผิวหน้านิวเคลียส (anterior lens nucleus )
  5. ผิวหลังเลนส์นิวเคลียส (posterior lens nuclous)
  6. ผิวหลังเลนส์ (posterior lens) 

แต่ละพื้นผิวหักเหนั้นมีรัศมีความโค้งคือ 

  • ผิวหน้าของกระจกตา (anterior cornea) =+7.700 mm
  • ผิวหลังของกระจกตา (posterior cornea) =+6.800 mm
  • ผิวหน้าเลนส์ (anterior lens) =+10.00 mm
  • ผิวหน้านิวเคลียส (anterior nucleus)= +7.910 mm
  • ผิวหลังเลนส์นิวเคลียส (posterior nucleous) = -5.760 mm
  • ผิวหลังเลนส์ (posterrior lens) =  -6.00 mm 

ระยะห่างในแต่ละผิวหักเหแสงคือ 

  • Corneal thickness : 0.500 mm
  • ผิวหลังกระจกตาถึงผิวหน้าเลนส์ : 3.100 mm
  • ผิวหน้าเลนส์ถึงผิวหน้านิวเคลียส : 0.546 mm
  • ความหนาของนิวเคลียส : 2.419 mm
  • ผิวหลังนิวเคลียสถึงหลังเลนส์ : 0.635 mm
  • ความหนาเลนส์​ 3.600 mm 

ดัชนีหักเหแสงของอวัยวะแต่ละส่วน 

  • กระจกตา (cornea) : 1.376
  • น้ำในช่องลูกตา (aqueous) : 1.336
  • วุ้นในตา (vitreous) : 1.336
  • เลนส์แก้วตาชั้น cortex (lens cortex) : 1.386
  • เลนส์แก้วตาชั้น nucleus ( lens nucleus) : 1.406 

ความยาวกระบอกตาที่เกี่ยวข้องกับระบบหักเหนั้นวัดจาก ผิวหน้าของกระจกตาถึง macula ของจุดรับภาพ มีความยาว 24.385 mm กำลังหักเหของดวงตาขณะ accommodation ถูกกระตุ้นเต็มที่ / คลายตัวเต็มที่คือ +58.64 D/ +70.57D

Gullstrand’s No.2 : โครงสร้างลูกตาของ Gullstrand’s (อย่างง่าย)

โมเดลลูกตาอย่างง่ายของ Gullstrand’s จะแบ่่งพื้นหักเหออกเป็น 3 พื้นผิวคือ

  1. พื้นผิวหักเหแรกคิดแบบรวบยอดเป็นผิวเดียว 
  2. ผิวหน้าของเลนส์แก้วตา 
  3. ผิวหลังของเลนส์แก้วตา 

แต่ละพื้นผิวหักเหจะมีรัศมีความโค้งอย่างง่ายเป็น 

  • ผิวหักเหแรกแบบคิดรวบยอด (reduced surface) : +7.800 mm
  • ผิวหน้าเลนส์ (anterior crystalline lens) : +10.00mm
  • ผิวหลังเลนส์ (posterior crystalline lens) : -6.00 mm

ดัชนีหักเหแสงของตัวกลางของลูกตาอย่างง่าย แบ่งเป็น

  • น้ำในช่องลูกตา (aqueous) : 1.336
  • วุ้นในลูกตา (vitreous) : 1.336
  • เลนส์แก้วตา (crystalline lens) : 1.413

ระยะห่างในแต่ละผิวหักเหแสงคือ 

  • จากผิวหักเหหน้าสุดถึงผิวหน้าเลนส์ 3.600 mm
  • เลนส์หนา 3.600 mm
  • จากผิวหลังเลนส์ถึงจุดรับภาพบน macula 16.970 mm

ความยาวมรวมความยาวกระบอกตาที่เกี่ยวข้องกับระบบหักเหแสง วัดจากผิวหักเหหน้าสุดถึงตำแหน่งของ macular บนจอประสาทตา ยาวรวม 24.17 มม.  เมื่อเลนส์แก้วตาคลาย accommodation เต็มที่แล้วจะมีค่ากำลังหักเหรวม +59.74 D และเมื่อเลนส์ accommodate เต็มที่แล้วจะมีกำลังหักเหรวม +70.54D

กำลังหักเหรวบยอดของดวงตามาตรฐานคือ +60.00 D

ในการศึกษา การให้คำจำกัดความหรือคำนวณเกี่ยวกับระบบแสงที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นหรือ visual optic นั้น จะคิดกำลังหักเหรวมของตามาตรฐานเป็น +60.00 D เพื่อให้ง่ายต่อการคิด  คือคิดรวบยอดทั้งหมด มองระบบหักเห ยิบย่อยเป็นเซตของการหักเหแสงหนึ่ง โดยไม่ต้องแบ่งแยกย่อย คิดเหมารวมทั้งดัชนีหักเหแสง ความยาวลูกตา เป็นระบบหักเหชุดเดียวกัน สิริรวมแล้วได้ +60.00D 

ดังนั้นเซตพารามิเตอร์ของดวงตาปกติอย่างง่ายที่ใช้ในการคำนวณเพื่อศึกษาเกี่ยวกับ Gemometrical Optic  , Ophthalmic optic ได้แก่ 

Fe : กำลังหักเหรวบยอดของผิวหักเหทั้งหมด = +60.00D

K’ : ความยาวของกระบอกตา ที่เกี่ยวข้องกับการหักเหแสง หรือ axial lenght = 22.22 mm

Ne : ดัชนีหักเหแสงเฉลี่ยแบบรวบยอด = 4/3 

ตัวแปรเหล่านี้นำไปอธิบายดวงตาปกติที่ไม่มีปัญหาสายตา ซึ่งเราเรียกสภาวะตาปกตินั้นว่า Emmetropia ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบหักเหแสงนั้นทำงานสมบูรณ์แบบและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้สายตามองไกล  ตัวอย่างในรูปจะเห็นว่า แสงขนานซึ่งเดินทางผ่านระบบหักเหแสง reduced surface (ผิวหักเหแบบรวบยอด) แล้วไปโฟกัสบนจุดรับภาพที่ macula พอดี โดยไม่ต้องการการทำงานของ accomodation ในการช่วยให้โฟกัส  ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของตาคนปกติในอุดมคติ หรือ ametropia 

DNEye PRO 

ข้างต้นนั้นเป็น Eye model ของ Gullstrand’s ซึ่งออกแบบจากค่าเฉลี่ยแต่ไม่ใช่ค่าจริง และการออกแบบเลนส์ เครื่องมือต่างๆเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น แว่นตา คอนแทคเลนส์ หรืออุปกรณ์ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการมองเห็นของมนุษย์​จะใช้โมเดลนี้ในการนำไปออกแบบทั้งหมด ตั้งแต่ 118 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน

วันนี้ Rodenstock บอกว่า เขาสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ สำหรับการหาค่าพารามิเตอร์ของลูกตาแต่ละคน โดยไม่ต้องใช้ค่ากลางจาก  Gullstand’s eye model แล้ว  โดยจะมีเครื่องมือออกมาตัวหนึ่งชื่อว่า DNEye PRO  มาทำหน้าที่วัดพารามิเตอร์ทางกายภาพของลูกตา ทำให้การออกแบบโครงสร้างใหม่นี้จะออกแบบตามลักษณะทางกายภาพของแต่ละบุคคล 

เครื่องตัวนี้แม้จะเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย (ข้อมูลอัพเดตปัจจุบันเมื่อไม่กี่นาทีที่กำลังเขียนบทความ) ดังนั้น ใครที่ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนี้ก็ในเย็นๆกันนิดหนึ่ง  ดู youtube กันพลางๆไปก่อน  มีลูกค้าบางคนถามมาว่า เห็นบางแห่งบอกว่ามีแล้ว เครื่องมันเป็นยังไง ทำงานยังไง ผมก็ยืนยันครับ 

“ยังไม่มีในประเทศไทยแม้แต่เครื่องเดียว”  รอตัวจริงมาแล้วคงจะมีโอกาสมาเล่าสู่กันฟัง 

ทรรศนะ(ส่วนตัว)เกี่ยวกับเทคโนโลยีตัวใหม่นี้

พอดีมีแฟนเพจถามๆมาถึงความคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีตัวนี้ 

ก่อนที่จะคิดตะเลิดกันไปไกล ผมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราควรจะมาแบ่งความคิดเป็น เรื่องของนวัตกรรม และ ความเป็นจริงที่เกิดขึ้ืน 

นวัตกรรม

เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ Rodenstock พยายามคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆออกมาตลอดเวลา และถ้ามองลึกลงไปจะเห็นว่าเทคโนโลยีของ Rodenstock แต่ละตัวที่ออกมานั้น ลงไปทำในสเกลที่ละเอียดและเล็กลงไปเรื่อย จนกระทั่งบางเรื่องนั้น เกินวิสัยที่เราๆจะเข้าถึง เพราะลำพังเรื่องอยาบๆอย่างเช่น เพียงแค่วัดสายตาให้ถูกต้อง หา sphere ให้แม่น โดยไม่ over minus หรือ หา power cylinder ให้แม่น Axis ให้เปะ ก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากและมาตรฐานแต่ละแห่งก็ต่างกันเหลือเกิน ทั้งความรู้และประสบการณ์ของผู้วัด ทั้งมาตรฐานของเครื่องมือที่วัด มาตรฐานของห้องตรวจ ก็ต่างกันเหลือเกิน ทำให้การจะลงไปเข้าใจในสิ่งที่โรเด้นสต๊อกทำนั้น เหมือนเป็นเรื่องไกลตัว หนักๆเข้า ไม่สนใจอะไร มีเงินแล้วซื้อเครื่องแพงๆ มาอยู่ในร้าน เป็นเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง อยู่ในร้าน แต่ก็ยังพบว่า ปัญหาก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เหมือนเดิม  

ก่อนจะลงสีด้วยภู่กันที่เล็กและละเอียดมากๆ ควรเริ่มจากการสเก๊ตให้เป็นภาพสวยๆก่อน อย่าคิดข้ามขั้นไปเล่นสเกลละเอียด ทั้งๆที่สเก๊ตภาพให้สวยยังทำไม่เป็น พอลงสีเสร็จแล้วไม่สวยก็หาว่าภู่กันไม่ดี สีไม่ดี หรือเทคโนโลยีไม่ดี อาจจะเป็นเราเองที่เสก็ตภาพไม่สวยก็ได้ 

กลับไปมองที่พื้นฐานของการเกิดมาของ visual optic  

Gullstand’s eye model ที่ใช้ออกแบบโครงสร้างเลนส์ในปัจจุบันนี้นั้น แม้จะใช้คำนวณจากค่าเฉลี่ย แต่ก็เป็นค่าเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากๆ  และการคิดค้นนวัตกรรมเลนส์เพื่อจะลด compromise ที่เกิดขึ้นบน optic ให้น้อยที่สุดก็ใช้พื้นฐานเดียวกันนี้ทั้งหมด และก็ใช้มายาวนานถึง 118 ปี แสดงว่าคงจะมีอะไรดีตัว

แต่ถ้าลงไปมองถึงเลนส์ค่ายต่างๆ แม้จะใช้แม้จะใช้พื้นฐาน eye model เดียวกันในการออกแบบ เราก็ยังเห็นว่าเลนส์แต่ละค่ายนั้นมีประสิทธิภาพไม่เหมือนกัน โครงสร้างดีเลวไม่เหมือนกัน

ถ้าเรามองแคบลงไปที่เลนส์โรเด้นสต๊อกตัวปัจจุบันที่ออกแบบโครงสร้างจาก Gullstrand's eye model ก็จะพบว่า เลนส์ Rodenstock รุ่นดีๆนั้น reject rate นั้นแทบจะไม่มี คือมันก็ดีของมันมากอยู่แล้ว แต่ก็มีไม่น้อยอีกเหมือนกัน ที่ใช้เลนส์ตัวที่ดีที่สุดของโรเด้นสต๊อกแล้ว กับรู้สึกไม่ค่อยดี แต่พอมา recheck ดีๆแล้วปรากฏว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างไม่ดี แต่กลับไปอยู่ที่สายตาที่จ่ายมานั้น ไม่ตรงกับค่าสายตาจริงๆ บ้างหล่ะ  ประกอบไม่ได้เซนเตอร์บ้างหล่ะ พารามิเตอร์แว่นไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมบ้างหล่ะ  ทำให้ใช้งานจริงได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ พอแก้ไขสายตาให้ถูก เซนเตอร์ดีๆ  แม้จะจ่ายรุ่นรองกลับใส่แล้วดีกว่าตัวแพงๆด้วยซ้ำ  พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เลนส์โรเด้นสต๊อกเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าสามารถแก้สายตาให้มันถูกต้อง ฟิตติ้งดีๆ ประกอบเลนส์ให้มันดี ก็เรียกว่าดีมากแล้ว  เพียงแต่ว่า DNEye PRO ช่วยให้เลนส์ที่ดีอยู่แล้ว ดีกว่าเดิมขึ้นไปอีก

ตรงนี้บอกเราว่า เทคโนโลยีสูง ก็เรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ต้องขอบคุณที่เขายังมีความตั้งใจในการพัฒนาให้มันดีกว่าที่มีอยู่ เพื่อให้เรามีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้การมองเห็นนั้นมีตัวเลือกที่ดีกว่า  แต่การวัดสายตาให้มันถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ามาก มากแบบเทียบกันไม่ได้เลย  

ตัวอย่างให้เห็นชัด เครื่อง DNEye Scan นั้นสามารถวัด Higher order aberration (HOA) ในตามนุษย์ออกมาได้ ซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนของการมองเห็นในระดับละเอียด ซึ่งมีกำลังน้อยว่า 0.001D 

เรื่องจริงที่เกิดขึ้น 

ประเด็นก็คือ ในการวัดสายตาในบ้านเราปัจุบัน sphere /cylinder /axis  เรามั่นใจแค่ไหนว่าสามารถรีดเค้นได้ทั้งหมด เพราะถ้า axis cylinder ก็ยังตบเข้าแกนหลักอยู่ หรือ power cylinder ก็ยังเค้นออกมาไม่หมด ตัดทิ้งบ้างอะไรบ้าง และสายตาก็ไป over minus อยู่ ทำให้ spherical equivalent ไปกลืนสายตาเอียงไว้ หรือตบค่าสายตาเอียงเข้าสต๊อกที่มีอยู่ในร้าน ก็ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับ DNEye scan และเท่าที่รู้ก็คือ power cylinder ที่เคลื่อนไป 0.12D นั้น ส่งผลกระทบต่อเลนส์มากกว่า HOA มากมายนัก ต้องมามองย้อนกลับว่า ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ over minus กันอยู่กี่ diopter 

หรืออีกเทคโนโลยีหนึ่งคือ EyeLT technology ที่สามารถสั่งค่าสายตาสั้น/ยาว เอียง องศาเอียง ขณะมองไกล แยกกับขณะมองใกล้ได้ แต่มีสักแห่งไหมที่วัดสายตาเอียงไกลกับใกล้แยกจากกัน เพราะลำพังจะวัดไกลให้ถูกยังยากอยู่เลย ดังนั้นเครื่องดีๆก็เลยกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์อยู่กลางร้าน

ในทางกลับกัน ถ้าเราสามารถจัดการกับ refractive error ของ sphere ,cylinder ,axis ได้แบบบริสุทธิ์แล้ว แน่นอนว่า โรเด้นสต๊อกมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถทำงานได้ละเอียดกว่าเดิม  ก็จะยิ่งทำให้เลนส์ที่ออกแบบมานั้น เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ ดีเท่าที่เทคโนโลยีเลนส์ปัจจุบันจะไปได้   

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ  การแก้ lower order aberration สั้น/ยาว/เอียง นั้นก็คงจะเป็นเหมือนงานปั้น ว่าจะปั้นเป็นรูปอะไร เช่นจะปั้นรูปช้างก็ปั้นให้มันได้สัดส่วน รูปร่าง ที่สง่างามสมเป็นพญาช้างสาร  

ส่วนการแก้ higer order aberration นั้นก็เหมือนกันการเอาพญาช้างสารที่ปั้นมาสวยแล้วเอาไปปัดเงา ให้มันเรียบเนียน ให้สวยยิ่งขึ้น และถ้าปั้นยังไม่เป็นรูปร่าง ตั้งใจจะปั้นช้าง แต่ออกมาเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ แล้วเอาไปปัดเงา คงไม่เถียงว่ามันเงา แต่อะไรเงานั้นก็ไม่มีใครรู้ 

ก็ฝากให้คิดต่อกันเอาเองก็แล้วกัน  ส่วนตัวผมก็รอดูเทคโนโลยีตัวนี้อยู่เหมือนกัน ว่าหลักคิดของเครื่องตัวนี้ มีส่วนใหนที่มาแทน Gullstrand’s eye model บ้าง แล้วค่าที่วัดได้จะต่างจาก Gullstrand’s มากน้อยแค่ไหน แล้วผลต่างที่เกิดขึ้นจะมีนัยสำคัญกับโครงสร้างที่ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน คุ้มไหมกับ 1,500,000 บาทที่่จะต้องจ่ายออกไป  เพราะถ้าจ่ายไปแล้ว ค่าเฟอร์นิเจอร์แพงๆมาตั้งอยู่ในร้านเฉยๆก็คงไม่มีพื้นที่ว่างขนาดนั้น  แต่ถ้าดีจริงก็ซื้อครับ 

กางมุ้งรอ...ต่อไป 

สวัสดีครับ

ดร.ลอฟท์ 


Reference text book 

Schematic Eyes ,Emmetripia and Ametropia ; book: Clinical Optic and Refraction by Andrew Keirl / Caroline Christie (P20-P24)


LOFT OPTOMETREY 

578 Wacharapol Rd. Bangkhen BKK 10220

090-553-6554

line : loftoptometry