ตาเหล่ซ่อนเร้นกับการจัดการ ตอนที่1 

เรื่องโดย สมยศ เพ็งทวี ,O.D.

Phoria  คืออะไร 

Phoria หรือเหล่ซ่อนเร้น คือ ตำแหน่งพักของลูกตา (Resting Position) การหา Phoria หรือการหาว่าตาเวลาพักนั้นมันไปอยู่ที่ไหน  เป็นตาตรงหรือว่ามีแอบเหล่ (หนีศูนย์) คือ โดยปกติระบบ Binocular vision จะกระตุ้นให้เกิดการ Fusion ทำให้ตาของเรานั้นตรงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น บางทีที่เราเห็นว่าตาตรง จริงแล้วมันอาจะไม่อยากตรง แต่ถูกบังคับให้ตรงเฉยๆ เราจึงเรียกว่า ตาเหล่ชนิดซ่อนเร้น 

phoria กับศูนย์รถ

Phoria คล้ายกับเรื่องของศูนย์รถยนต์ คือ เวลาที่เราขับรถ เราจะคอยประคองพวงมาลัยให้มันตรงเส้นทางและถ้าขับทางตรง เราจะไม่ต้องออกแรงดึงพวงมาลัยเลยถ้ารถนั้นตั้งศูนย์มาดี  แต่ถ้าศูนย์ไม่ดี มันก็จะแถออกไม่กินซ้าย ก็กินขวา และเราจะต้องออกแรงดึงพวงมาลัยข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา  เวลาขับรถไกลๆเราก็จะเหนื่อย ขับนานไม่ได้  

Phoria ก็เช่นเดียวกัน คนที่มี Esophoria, Exphoria, Hyperphoria คือ ตามันพยายามจะหนีศูนย์อยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องมีกล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่ดึงกลับเข้าศูนย์อยู่ตลอดเวลา ตาก็จะเมื่อย ปวดตา ปวดศีรษะ มองไม่สบายตา 

Phoria เกิดขึ้นได้อย่างไร 

ปกติ Phoria มีกันทุกคน จะมากจะน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็มีส่วนน้อยบ้างเหมือนกันที่ไม่มี Phoria เลย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มี Phoria จะมีปัญหาทุกคน เพราะ Phoria หรือการหนีศูนย์ เป็นเรื่องของ Demand & Supply หมายความว่า สาระไม่ใช่อยู่เพียงแค่มุมเหล่ (Demand) แต่อยู่ที่ว่าถ้าเหล่แล้วมีปัญญาหรือกำลัง (Supply-Reserve) ในการดึงกลับมากน้อยแค่ไหน  ถ้ากำลังมีน้อยกว่า 2 เท่าของ phoria คนไข้ก็จะมีอาการปวดตา ไม่สบายตา เมื่อยตา  

ดังนั้น ถ้า Reserve > 2(Phoria) = คนไข้จะไม่มีอาการ 

และกำลัง (Reserve)  ในการดึงลูกตาแต่ละตำแหน่งนั้นมีแรงไม่เท่ากัน  

แรงในการดึงตาเข้าหาจมูก (Positive Fusional Vergence, BO-Reserve) มักจะมีแรงมากที่สุด ทำให้คนไข้ที่มี Exophoria มักไม่ค่อยแสดงอาการ 

แรงในการดึงตาออกจากจมูก (ไปทางหู) หรือ Negative Fusional Vergence (BI-reserve) มีแรงน้อยลงมา  ดังนั้น คนไข้ที่มีตาเหล่เข้า Esophoria (ซึ่งกล้ามเนื้อต้องดึงตาออก) มักจะมีอาการมากกว่า exophoria 

แรงในการดึงตาข้างหนึ่งขึ้น (ดึงอีกข้างลง)  หรือ Vertical Fusional Vergence (Supra vergence / Infra vergence)  ทุกคนมีน้อยมาก เฉลี่ย 3 ปริซึมเท่านั้นเอง ทำให้คนที่มีเหล่สูงต่ำ hyperphoria นั้นมักมีปัญหามากที่สุด เพราะ supply ในแกนนี้ต่ำมาก  คนไข้มักจะมีภาพซ้อน และต้องทำคอเอียง เพื่อ compensate กับ phoria ซึ่งเป็นการลด demand อย่างหนึ่ง 

ค่า norm ของ phoria คือ มองไกลเป็นตาตรง (Orthophoria ) หรือ 1 prism exphoria, ส่วนดูใกล้จะมีประมาณ 3 Exophoria (+/-2)

fusional convergene ( image :http://www.deviatingeye.com)

Phoria  หาอย่างไร 

การหา phoria ​นั้นมีอยู่หลายวิธี เช่น  cover test ,maddox rod , vongrafe technique, associate phoria  แต่ตอนแรกนี้ จะขอนำเสนอวิธีอย่างง่าย คือ การทำ cover test (CT)

หลักการ

หลักการของ Cover test ก็คือ ว่าเราต้องการ Break fusion เพื่อไม่ให้ตามีการรวมภาพหรือทำงานร่วมกันชั่วขณะหนึ่ง เพื่อดูว่าเมื่อตาไม่จำเป็นต้องทำงานด้วยกันแล้ว  มันอยากจะอยู่ตรงไหน  ตำแหน่ง Resting position มันอยู่ตรงไหน หรือ ธรรมชาติของตำแหน่งลูกตาจริงๆ ที่ไม่ถูกบังคับด้วยระบบ Binocular ให้ทำงานร่วมกันแล้วเขาอยากอยู่ตรงไหน 

Cover : ขณะที่เราเอา Occluder  ปิดตาข้างหนึ่ง (Cover) ในขณะที่ตาอีกข้างยังต้อง Fixate ไปที่ Accommodative target อยู่นั้น  ตาข้างที่ปิดอยู่เขาหนีไปพักอยู่ตรงไหน แต่เนื่องจากที่ปิดตา (Occluder) มันมีสีดำทึบทำให้เรามองไม่เห็นตำแหน่งของตาขณะพัก  ทำให้เราต้องมาดูการเคลื่อนที่ของลูกตาตอนจังหวะที่เปิดตา (Uncover)  

ดังนั้น ในการตรวจ เราจะต้องให้คนไข้มองไปที่ Accommodative target คือ ต้องมีขนาดเล็กพอแต่ไม่เล็กจนมองไม่เห็น เพื่อล๊อคระบบ Accomให้คงที่  

จากนั้นใช้ Occluder ปิดตาข้างหนึ่ง ไว้ 3 วินาที เพื่อให้ตาข้างที่ถูกปิดนั้น คลายการ Fusion ให้หมด  แล้วโยกไปปิดตาอีกข้าง  คาไว้ 3 วิ แล้วโยกกลับมาปิดตาอีกข้าง สลับไปสลับมา  เราเรียกว่าการทำ Alternate cover test 

สิ่งที่เราต้องสังเกต คือ การเคลื่อนที่ของลูกตาข้างที่พึ่งเปิด (Recently uncover eye)  เพราะเหตุว่าตอนที่เขาถูกปิดอยู่ เขาก็ไม่ต้องทำงาน เขาก็จะกลับไปที่ชอบๆ ของเขา  และเมื่อเปิดตาขึ้นมา (เพื่อโยกไปปิดอีกข้าง)  เขาต้องลูกขึ้นมาทำงาน เพราะงานเข้า  

ดังนั้น ถ้าตำแหน่งพักเขาอยู่ไกลจาก Fixate target มาก ขาก็ต้องวิ่งมาไกลมากกว่าจะถึงที่ทำงาน เราก็จะเห็นว่าตามีการเคลื่อนที่มาก  ตาแบบนี้เราเรียกว่า เขามีเหล่ซ่อนเร้น หรือ Heterophoria ซึ่งอาจจะเป็น Esophoria ถ้าตาเขาวิ่งออกมาจากทางจมูก  หรืออาจเป็น Exophoria ถ้าเราสังเกตุเห็นว่าตาเขาวิ่งเข้าหาทางจมูก  ถ้าอาจจะเป็น Hyperphoia ถ้าเราเห็นว่าตาเขาวิ่งขึ้นวิ่งลง 

แต่ถ้าที่พักของเขา อยู่ที่เดียวกันกับที่ทำงาน  เขาก็ไม่ต้องเคลื่อนที่ไปไหน เราก็จะเห็นตาอยู่กับที่  ไม่เคลื่อนไปไหม ถ้าเห็นแบบนี้เราเรียกว่า ไม่มีเหล่ซ่อนเร้น (Orthophoria)

Note : ไม่มีหลักตายตัวว่าต้องปิดแต่ละข้างกี่วินาที  แต่สาระคือต้องนานพอที่จะทำให้เกิด Break fusion และ Target  ต้องไม่ใหญ่ซะจนไม่รู้จะมองตรงไหนแต่ไม่เล็กซะจนมองไม่เห็น  ถึงจะเป็น Accommodative target 

และที่ต้องการใช้ Accommodative target เพราะว่า เราต้องการทำให้ Accommodation มันคงที่ และถ้า Accom เปลี่ยน Phoria ก็จะเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ทำให้ค่าที่ตรวจได้นั้น มันไม่ Reliable 

ค่า norm ต่างๆ ตามรูปล่างที่แนบมา 

ศึกษา Phoria Tropia และ Cover test ใน  Youtube " โดยคุณหมอ Tim Root

Ophthalmology: tropias versus phorias

Ophthalmology Lecture - Tropias & Phorias (part 1/2)

Ophthalmology Lecture - Tropias & Phorias (part 2/2)

เอาหล่ะ เอาเท่านี้ก่อน เดี๋ยวจะธาตุไฟเข้าแทรก ไว้จะมาเล่าเรื่อง Phoria กันใหม่ในตอนหน้า  สำหรับวันนี้ต้องขอขอบคุณแฟนๆเพจ แฟนเว๊บทุกท่าน ที่สละเวลามาอ่านบทความของผม  และถ้าบทความเหล่านี้สามารถช่วยให้ท่านได้มาความรู้เพิ่มขึ้นหรือมีประโยชน์กับท่าน ผมก็รู้สึกดีใจมากและวิชาชีพทัศนมาตร์จะต้องงดงามต่อไป 

ท่านไหนที่รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหา ปวดหัว ไม่สบายตา เมื่อยตา ล้าตา ทั้งๆที่มองเห็นก็คมชัดดี ก็ลองโทรมาปรึกษาได้ครับ ไม่คิดสตางค์ โดยตรงได้ที่เบอร์ 090-553-6554  พบกันใหม่ตอนหน้า

สวัสดีครับ 

สมยศ เพ็งทวี ,O.D.


L O F T   O P T O M E T R Y

578 Wacharapol rd ,Bangkhen ,BKK 10220 

T.090-553-6554

line: loftoptometry 

fb:www.facebook.com/loftoptometry