อันตราย ! ! !  ที่เกิดจากการใช้แว่นที่ค่าสายตาผิด 

เรื่องโดย ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี ท.ม. ,(O.D.)

เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2561

English Version : click : https://loftoptometry.com/blog/Danger of wrong prescription.


บทนำ 

เรื่องนี้ขึ้นหลังจากไปส่งไปรษณีย์ แล้วไปเห็นแผงแว่นตาในเต้นหน้าที่ทำการไปรษณีย์  กำลังขะมักเขม้นในการประกอบโรคศิลปะว่าด้วยทัศนมาตร วัดแว่นให้ลูกค้า ด้วยการลองเสียบเลนส์ไปเรื่อยๆ ท่ามกลางอุณหภูมิแดดตอนเที่ยงประมาณ 42 องศา  ระยะชาร์ตที่ใช้ทดสอบความคมชัดกะด้วยตา น่าจะ 2.5 เมตร พร้อมกับคำถามว่า "ชัดไหม ๆ อันไหนชัดกว่า อันนี้หรืออันนี้ อันไหนชัดกว่า" ไปเรื่อยๆ 

 

ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกคนที่กำลังหยิบเลนส์ที่มีอยู่ในสต๊อกกำลังฝนมืออยู่ข้างๆกับคนที่วัดสายตา เพื่อให้กับลูกค้าที่วัดสายตาเมื่อ 10 นาทีที่แล้ว  ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นตั้แต่วัดสายตา จนได้รับแว่นนั้น ไม่เกิน 1/2 ชั่วโมง 

 

พลันคิดในใจว่า "เขาเก่งเนอะ" ทำแว่นในเต้น ท่ามกลางแดดร้อน ให้ลูกค้ารอรับได้ในครึ่งชั่วโมง (กล้า)ทำได้อย่างไร  แล้วคิดถามตัวเองว่า "เราใจถึงและบ้าพอที่จะทำเรื่องแบบนี้ไหม  ถ้าไม่กล้า แล้วคนที่ทำอยู่นี้เขาไปได้ความกล้ามาจากอะไร"

 

ขณะเดียวกันก็ได้คำตอบมาในใจว่า "เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเกิดผลเสียหายเลวร้ายอะไรกับลูกค้าของเขาบ้าง จากการจ่ายแว่นสายตาที่ไม่ตรง หรือเซนเตอร์ของแว่นที่ไม่ตรง  เนื่องจากมีคำอ้างปลอบใจตัวเองว่า ก็เขาใส่ได้ ชัดขึ้นแล้วไง" 

 

เรื่องนี้เหมือน "เด็กไม่กลัวปลั๊กไฟ เพราะไม่เคยโดนไฟดูด"

 

เรื่องนี้ อาจจะทำให้คนที่ทำงานไม่ได้มาตรฐาน ทำงานลำบากขึ้น แต่ผมจำเป็นต้องทำ เพราะถ้าเราไม่เริ่มทำ มาตรฐานในการบริการก็ยังไม่เกิดขึ้น ประชาชนก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ ทำให้มีคนไข้ที่มีความเจ็บป่วยที่ต้องรีบเร่งรักษา แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้ตระหนัก ก็เลยไม่สนใจ สุดท้ายก็นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นตามมา  และผมคิดว่าถึงเวลาที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันวางเครื่องใหม่ให้กับการบริการด้านสายตา 

 

ความเข้าใจผิด (ที่เกิดจากความไม่รู้)

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันผิดๆว่า ในการทำแว่นเอามาใช้งานสักคู่นั้น แค่ทำให้ชัดก็เพียงพอ แต่ความจริงนั้น "ชัดเพียงอย่างเดียว ไม่ได้บอกอะไรเรามากกว่าชัดและอ่านได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามองเห็นชัดแล้วแปลว่าค่าสายตาที่เราใส่อยู่นั้นเป็นค่าสายตาที่ถูกต้อง"

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กเล็กคนหนึ่ง (ซึ่งมีกำลังเพ่งของเลนส์ตาที่ดีมาก) มีค่าสายตาสั้นแท้จริง คือ -1.00D  แต่ถ้าให้เราลองใส่ -1.25,-1.50 ,-1.75 ,-2.00 ,...,-3.00D เด็กคนนี้จะสามารถเห็นตัวหนังสือขนาดมาตรฐานที่คนปกติเห็นชัดคือ 20/20 ที่ระยะ 6 เมตรได้คมชัดเหมือนใส่สายตา -1.00D และมีแนวโน้มว่า ยิ่งใส่เลนส์สายตาสั้นมากขึ้นจะบอกว่าชัดมากขึ้นด้วยซ้ำไป (ทั้งที่เป็นค่าสายตาที่ิิผิด)

 

อีกหนึ่งตัวอย่างสมมุติว่าเด็กมีค่าสายตาจริงอยู่ +3.00 D ถึงเราไม่แก้สายตาเด็กก็อ่านได้ 20/20  หรือเราจ่ายค่าสายตา +1.00 ,+1.25 ,+2.00 ,+2.50 หรือ +3.00D เด็กก็สามารถอ่าน VA 20/20 ได้เช่นกัน 

 

จากทั้ง 2 ตัวอย่างข้างต้น จ่ายค่าไหน เด็กก็เห็นชัด อ่านตัวเลขแถว 20/20 ได้ถูกต้องตามมาตรฐาน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร หรือว่ามีเครื่องมืออะไรยืนยันว่าค่าสายตาไหนเป็นค่าสายตาจริงๆของเด็ก 

 

ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า "แว่นที่ใส่แล้วชัดอ่าน VA 20/20 ไม่ได้หมายความว่า แว่นสายตาที่เราใส่นั้นเป็นค่าที่ถูกต้องเสมอไป" แต่บอกได้แค่เพียงว่า "ใส่แล้วชัด" เท่านั้น

 

ดังนั้น ในการวัดสายตาในทางคลินิกทัศนมาตรนั้นไม่สามารถพึ่งพาเพียงระบบการตรวจเพียงใดระบบหนึ่งได้ แต่ต้องมี Confirmation test หลายๆเทส เพื่อยืนยันค่าสายตาที่เราวัดได้ว่าเป็นค่าสายตาที่เหมาะสมจริงๆ ตัวอย่าง confirmation test จะพูดถึงในตอนท้ายของบทความ 

 

กลับมาที่เรื่องของเรา

 

ดังนั้น "คำว่าชัด" อย่างเดียวจึงไม่ได้เป็นตัวบอกเราว่า สายตาที่เราใช้อยู่นั้นเป็นค่าที่ถูกต้องหรือไม่และมนุษย์นั้นมีความสามารถในการปรับตัวเป็นทุนเดิมอยู่่แล้ว  เราก็จะฝืนๆทนๆ ไปจนในที่สุดเราก็ทนกับสภาพนั้นได้  ใช้ชีวิตได้ แต่การที่ระบบการมองเห็นถูกบังคับให้ชินกับค่าสายตาที่ผิดนั้น จะทำให้เกิดปัญหาการทำงานร่วมกันของสองตา ปัญหาเลนส์ตา ปัญหาโฟกัสภาพตามมา  ซึ่่งในวันนี้ผมจะขอพูดถึงผลกระทบจากการใช้ค่าสายตาที่ไม่เหมาะสมกับคนไข้ว่าจะทำให้เกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง 

 

คนกลุ่มไหนที่เรียกว่า..มีปัญหาสายตาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

 

คนมีปัญหาสายตาที่ไม่ได้รับการแก้ไข หรือ Uncorrected  Refractive Error  หมายความว่า "ผู้ที่มีปัญหาสายตาอยู่ เช่น สายตาสั้น, สายตายาว,สายตาเอียง แล้วไม่ได้แก้ไข ด้วยการ ใส่แว่น คอนแทคเลนส์ หรือทำเลสิก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงผู้ที่มีแว่นสายตาอยู่แล้วแต่ไม่ยอมใส่ หรือใส่แว่นอยู่ประจำแต่เบอร์สายตาไม่ถูกต้อง" ทั้งหมดทั้งมวลนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่ม Uncorrected Refractive Error ทั้งสิ้น

 

ถามตัวเองว่า....เราแก้ไขสายตาเพื่ออะไร 

 

จุดประสงค์ ของการแก้ไขปัญหาสายตานั้น "เพื่อให้การมองเห็นคมชัดและทำให้การทำงานร่วมกันของระบบสองตาของเรานั้นทำงานได้เหมือนกับคนปกติ"

 

คนที่สายตาปกติ (Emmetropia) นั้นหมายความว่า "มองไกลเห็นภาพคมชัด อ่าน VA แถว 20/20 (หรือมากกว่า) ที่ระยะ 6 เมตรได้โดยที่เลนส์ตาอยู่ในภาวะผ่อนคลาย" (Keyword คือ มองไกลคมชัดแต่เลนส์ตาต้องผ่อนคลาย ถ้าชัดแต่ไม่ผ่อนคลายถือว่าผิดปกติ)  

 

และเมื่อคนสายตาปกติมองไกลชัดเจนโดยไม่เพ่งแล้ว เมื่ออ่านหนังสือเลนส์ตาจะต้องมีการเพ่งด้วยกำลังที่เหมาะสมกับระยะที่อ่าน เช่น ถ้าอ่านใกล้ที่ 40 ซม. เลนส์ตาจะต้องเพ่ง 2.50D ถ้ามากหรือน้อยกว่านี้ก็ถือว่าผิดปกติ และการเหลือบของกล้ามเนื้อตาเข้ามา ก็ต้องเป็นมุมที่เหมาะสม มีแรงของกล้ามเนื้อตาที่ดี ไม่มีตาเหล่ซ่อนเร้น เป็นต้น 

 

แต่การทำงานของเลนส์ตาและกล้ามเนื้อตาที่ทำงานได้ถูกต้องนั้น จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องไม่มีปัญหาสายตา หรือมีแต่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเสียก่อน ฟังก์ชั่นต่างๆจึงจะสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกัน  ถ้าสายตาผิดปกติและไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะทำให้ระบบต่างๆทำงานเสียสมดุลด้วยเช่นกัน 

 

ดังนั้น การวัดสายตาให้ถูกต้องนั้นเป็นขั้นเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาระบบการมองเห็นอื่นๆ  โดยสายตาที่ถูกแก้ไขจนปกติ จะทำให้เลนส์ตาและกล้ามเนื้อตาเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันอย่างปกติ และระบบต่างๆจะดีขึ้นมาตามธรรมชาติ  การวัดสายตาจึงไม่ใช่แค่ "วัดเอาชัดเพียงอย่างเดียว" โดยไม่สนใจว่าชัดไปแล้วจะไปกระทบฟังก์ชั่นอื่นๆอย่างไรบ้าง เคยเป็นไหม ชัดแต่ปวดหัว ชัดแต่ใส่ไม่ได้ ชัดแต่แสบตา ปวดเบ้าตา ปวดขมับ ปวดท้ายทอย ปวดต้นคอ นั่นแหล่ะ 

 

"การวัดสายตา ไม่ใช่ การวัดแว่น" 

 

ผมและพี่น้องที่เป็นทัศนมาตร ที่ไม่ชอบการเรียกการตรวจสายตาของเราว่า "วัดแว่น"  เพราะการทำงานของเราไม่ใช่งานวัดแว่น  ฝากพี่ๆเทคนิคเชี่ยน หรือ หมอในโรงพยาบาล อยากให้เข้าใจ role ของทัศนมาตร ว่าเขาเรียน 6 ปีนั้น ไม่ใช่เรียน "วัดแว่น" อย่างที่เข้าใจกันผิดๆ 

 

"แว่น" หรือ "เลนส์สายตา" เป็นวัตถุที่มีกำลังในแต่ละจุดมีกำลังคงที่ เราสามารถนำแว่นตาของเราไปวัดค่าสายตาที่อยู่ในเลนส์ด้วยเครื่องวัดกำลังเลนส์ (Lensometer)  ถ้าเครื่องวัดกำลังเลนส์มีมาตรฐาน ไม่ว่าเราจะวัดกี่ครั้งเราจะได้ค่าเดิมเสมอ เพราะ แว่นตานั้นเป็นสิ่งไม่มีชีวิต ค่าที่ได้จากการวัดแว่นจึงคงที่ 

 

แต่การตรวจสายตานั้น เรากำลังทำงานกับมนุษย์ มีเรื่องของอายุ การศึกษา อารมณ์ ความรู้ความเข้าใจ ความตระหนัก ความร่วมมือ ซึ่งเป็นเรื่อง subjective  เข้ามาเกี่ยวข้อง  ล้วนแต่ส่งผลต่อการตรวจทั้งสิ้น

 

และเรากำลังเล่นกับระบบที่สามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอดเวลา จึงต้องใช้ทักษะของผู้วัดอย่างมาก และต้องใช้ Confirmation เทสมากมาย เพื่อยืนยันค่าสายตาที่วัดได้ว่าเป็นค่าที่ถูกต้อง

 

ดังนั้นการตรวจสายตา จึง ต่างกับการวัดแว่น และนั่นเป็นเหตุว่าทำไม เครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตาคน ถึงวัดแล้วใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนเด็กนั้นใช้ไม่ได้เลย ยิ่งเด็กมากยิ่งผิดพลาดสูง ขนาดที่ว่า ความน่าเชื่อถือต่ำกว่า 50% ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ  และคนไข้คนเดียวกัน วัดสายตาในวันเดียวกัน ด้วยเครื่องเดียวกัน วัด 10 ครั้งก็ได้ 10 ค่าสายตา ถ้ายิ่งเปลี่ยนเครื่องวัดด้วย ยิ่งไปกันใหญ่  

 

นี่เห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าจะเอาคอมพิวเตอร์วัดกำลังเลนส์จากแว่นหน่ะวัดได้ แต่จะเอาคอมพิวเตอร์วัดตาคนหน่ะมันวัดได้ แต่เชื่อไม่ได้ 

 

การมองมองเห็นของคนที่มีความปกติและผิดปกติของค่าสายตา

คนสายตาปกติ (Emmetropia)

 

ขณะมองไกล

แสงเดินทางจากระยะอนันต์ (แสงจากอนันต์จะเป็นแสงมีลักษณะ plan)  เมื่อผ่านกระจกตา เลนส์ตา วุ้นตา แล้วต้องโฟกัสบนจอรับภาพ (Retina) พอดีเกิดเป็น Sharp retinal image โดยที่เลนส์แก้วตาอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย (Relax Accommodation)  

ขณะมองใกล้  

แสงที่กระทบวัตถุที่ระยะใกล้ แล้ววิ่งเข้าตานั้น จะเป็นแสงที่ถ่างออก (Diverge ray)  ดังนั้น เมื่อวัตถุเคลื่อนใกล้เข้ามา จะทำให้ Focal point นั้นเคลื่อนไปข้างหลังเรตินา  ซึ่งทำให้เกิดภาพมัวบนจอรับภาพ (Retinal image blur) และ Retinal Blur นี่เอง จะไปกระตุ้นการทำงานของเลนส์แก้วตาเราให้เกิดการป่องตัวขึ้น หรือที่เราเรียกว่า "ระบบโฟกัสภาพของเลนส์ตา" หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่าการ Accommodation

ดังนั้น ระยะของวัตถุจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของเลนส์แก้วตา  เช่น วัตถุที่ระยะ 40 ซม. จะกระตุ้นเลนส์แก้วตาให้ทำงาน +2.50 D (ได้จากสมการ F=1/f, โดย F มีหน่วยเป็น Dioptor,f คือ ความยาวโฟกัส มีหน่วยเป็นเมตร)  และเลนส์ตาทำงาน +2.50 D นี่เองที่จะไปกระตุ้นกล้ามเนื้อตา Medial Rectus ให้เกิดการเหลือบตาเข้ามาเป็นปริมาณ 15 Prism diopter (ข้างละ 7.5 Prism diopter)  (ค่าประมาณจากคน PD 64)

ซึ่งเราสามารถวัดหาความสำพันธ์ของเลนส์และกล้ามเนื้อตา โดยการหาค่า AC/A ratio ซึ่งจะบอกเราได้ว่า เมื่อเลนส์ตาทำงานไป 1.00D แล้วจะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อ (Convergence/Divergence) เปลี่ยนไปจากเดิมกี่ Prism diopter  โดยค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ AC/A =4:1 หมายความว่า เมื่อเลนส์ทำงาน 1.00 D จะทำให้กล้ามเนื้อตาทำงาน 4 ปริซึม

การมองมองเห็นของคนที่มีสายตาผิดปกติ

คนสายตาสั้น (Myopia)

ขณะมองไกล

แสงที่เดินทางจากระยะอนันต์ ผ่าน Optical System แล้วโฟกัสตกก่อนจอรับภาพ  ซึ่งทำให้เกิด Blur Image ซึ่ง เลนส์ตาเลือกที่จะ Relax  (เพราะการ Accommodate ยิ่งจำทำให้เกิดภาพมัวมากขึ้น ) ดังนั้น คนสายตาสั้นจึงมองไกลมัวแน่นอน 

ขณะมองใกล้

คนที่สายตาสั้นมักจะสามารถมองเห็นชัดในระยะใกล้ (แต่จะมองได้ไกลแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าสายตาสั้นมากหรือสั้นน้อย)  เนื่องจากแสงจากวัตถุที่อยู่ใกล้เข้ามาก็จะทำให้จุดโฟกัส (ซึ่งเดิมนั้นตกอยู่ก่อนจอรับภาพ) เลื่อนถอย จนกระทั่งไปตกลงบนจอรับพอพอดี และเกิด Sharp Retina Image โดยที่เลนส์ตายังอยู่ในสภาวะ Relax Accommodation 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสายตาสั้นที่ไม่ได้รับการแก้ไข

ซึ่งจะเห็นว่า คนที่มีปัญหาสายตาสั้น โอกาสที่จะได้ใช้งานระบบ Accommodation น้อยลง ยิ่งสั้นมากยิ่งไม่ได้ใช้งานเลย  และนี่เอง เป็นต้นตอของปัญหาการระบบโฟกัสทำงานน้อยเกินไป (Under Accommodation)

ผลที่ตามมา คือ ระบบโฟกัสไม่ทำงานและธรรมชาติอย่างหนึ่งของอวัยวะ คือ "สิ่งไหนที่ไม่เคยได้ใช้งาน ก็จะเสื่อมลงไปตามธรรมชาติ" ส่งผลให้เกิด ความผิดปกของการทำงานของเลนส์ตา (Accommodative Insufficiency)  และยังส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อตา

เช่น โดยปกติ เมื่ออ่านหนังสือที่ 40 ซม. เลนส์ตาจะทำงาน +2.50 D  กล้ามเนื้อตาจะบังคับกล้ามเนื้อตาให้เหลือบเข้ามา 15 ปริซึม  แต่คนไข้สายตาสั้นที่ไม่ใส่แว่นอ่านหนังสือ เช่น สั้น -2.25 จะเห็นชัดพอดีที่ 40 ซม.โดยไม่ต้องเพ่ง ในขณะที่กล้ามเนื้อตายังคงต้องทำงานให้ได้ 15 ปริซึมเหมือนเดิม ซึ่งสภาวะนี้ทำให้ AC/A ratio ทำงานผิดปกติไปเช่นกัน  เมื่อปล่อยไปหนักๆเข้าจะกลายเป็น High Exophoria  และเกิด Convergence Insufficiency ตามมา

 

คนที่เป็นสายตายาว (Hyperopia)

สายตายาวนั้นเป็นความผิดปกติของสายตาที่ยังมีคนเข้าใจสับสนกันอยู่มาก  โดยไปเข้าใจว่า "สายตายาวต้องเกิดในคนแก่เท่านั้น"  ซึ่งมันไม่เกี่ยวกันโดยสิ้นเชิง เพราะจริงๆแล้วเด็กตัวเล็กๆทุกคน เกิดมาพร้อมกับสายตายาวและสายตายาวก็จะค่อยๆลดลงเพราะกระบอกตายืดยาวขึ้นเมื่อเติบโตขึ้น จนกลายเป็นสายตาปกติเมื่ออายุ 8 -9 ขวบ หรือบางคนอาจจะกลายเป็นสายตาสั้น บางคนก็ยังคงเหลือสายตายาวอยู่

 ขณะมองไกล

แสงเมื่อเดินทางจากระยะอนันต์** ผ่าน Optical System แล้วไปโฟกัสหลังจอรับภาพ  ทำให้เกิด Retina Blur บนจอรับภาพ ทำให้เลนส์ตาถูกกระตุ้นให้ระบบโฟกัสของเลนส์ตาทำงาน  แล้วเกิดการ Accommodation เพื่อดึงจุดโฟกัสให้เข้ามาโฟกัสบนจอรับภาพ

ทำให้คนสายตายาว ที่ยังมีกำลังโฟกัสดีอยู่ ไม่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น เพราะเลนส์ตาทำงานให้  แต่ถ้าคนที่เป็นสายตายาวมากๆ มักจะมีปัญหาเรื่อง ปวดหัว หรือมีปัญหาเรื่องตาเหล่าเข้า (Esotropia) เนื่องจากเลนส์ตาต้องทำงานหนักเกินไป ซึ่งพบได้มากในเด็ก หรือตาเหล่เข้าแบบซ่อนเร้น (Esophoria) เป็นต้น

ขณะดูใกล้ 

เมื่ออ่านหนังสือ (วัตถุอยู่ใกล้) ก็ยิ่งจะทำให้จุดโฟกัสเลื่อนห่างออกไป  เลนส์ตาต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น (Over Accommodate) ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนสายตายาวนั้นปวดหัว เมื่อต้องอ่านหนังสือหรือดูใกล้  ซึ่งปัจจุบันพบคนไข้ที่มีปัญหาปวดหัวไม่ทราบสาเหตุ  ส่วนใหญ่นั้นมีปัญหามาจาก Esophoria ที่เกิดจากเลนส์ตาถูกกระตุ้นมากเกินไปและคนสายตายาวจะเริ่มมีปัญหาหนักยิ่งขึ้น เมื่อกำลังของการโฟกัสของเลนส์ลดลง เมื่อนั้นคนสายตายาวจะเริ่มมองไม่ชัดทั้งระยะไกลและระยะใกล้

ดังนั้น คนสายตายาวไม่ว่าจะมองไกลหรือมองใกล้ เลนส์ตาจะถูกกระตุ้นตลอดเวลา จะทำให้เลนส์ต้องใช้กำลังในการโฟกัสมากเกินไป (Over Accommodation)

เช่น คนไข้สายตายาว +3.00 D ซึ่งขณะมองไกลเลนส์ตาต้องทำงาน +3.00 D เพื่อให้เกิดภาพชัด  และเมื่ออ่านหนังสือที่ 40 ซม. เลนส์ตาจะต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีก +2.50 D รวมเป็น +5.50D เพื่ออ่านหนังสือที่ 40 ซม. (ในขณะที่คนไม่มีปัญหสายตามองไกลนั้น เพ่งเพียง +2.50D)

ปัญหาที่เกิดขึ้นในคนไข้สายตายาวที่ไม่ได้รับการแก้ไข

เลนส์ตาที่ทำงานหนักเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้อตา Convergence ทำงานเกินความต้องการ (เกิน  15 ปริซึม) ซึ่งทำให้เกิดภาพซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนไข้ที่เป็น Esophoria และมี High AC/A ratio และระบบการมองเห็นไม่ต้องการเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้อตาจะต้องออกแรงดึงลูกตากลับ (Negative fusional Vergence) เพื่อให้รวมภาพเป็นภาพเดียว 

ทำให้คนสายตายาว ทั้งเลนส์ตาและกล้ามเนื้อตาต้องทำงานหนักมาก  ซึ่งเป็นที่มาของอาการปวดหัว  ปวดไมเกรน ง่วงนอนตลอดเวลา เมื่อยล้าลูกตาได้ง่าย  มองใกล้แล้วตาลาย, ตัวหนังสือละลายหรือเบลอ, หรืออ่านหนังสือใกล้นานๆ แล้วมองไกลมัว และ มีปัญหาการโฟกัสเมื่อต้องเปลี่ยนระยะการมอง  ตาแดงๆ ช้ำๆ

ผลเสีย ที่จะตามมา…เมื่อปัญหาสายตาไม่ได้รับการแก้ไข 

1. Over/Under-Accommodation

สายตาที่ไม่ได้แก้ไข ทำให้การทำงานของเลนส์แก้วตานั้น หนักหรือน้อยเกินไป  ซึ่งจะไปส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันของเลนส์ตาและกล้ามเนื้อตา (Accommodative convergence/Accommodation system) ที่ผิดปกติไป 

 

เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “การทำงานร่วมกันของเลนส์ตาและกล้ามเนื้อตา”

 

ธรรมชาติของเลนส์ตา (Crystalline Lens) กับกล้ามเนื้อตา (Ocular Muscle) นั้นจะทำงานร่วมกันโดยอัตโนมัติ เช่น ขณะที่เรามองวัตถุที่ใกล้เข้ามา  เลนส์ตาจะทำหน้าที่ปรับโฟกัสให้ชัด ในขณะเดียวกัน กล้ามเนื้อตาก็จะเหลือบเข้ามาอัตโนมัติ เราเรียกชื่อระบบการโฟกัสของเลนส์ตาว่า Accommodation System และเรียกกระบวนการเหลือบเข้าของลูกตานี้ว่า Convergence System

 

เมื่อสองระบบนี้มาทำงานรวมกันเราเรียกว่า Accommodative convergence System ซึ่งมีค่าที่เชื่อมความสำพันธ์ของทั้งสองระบบนี้คือ AC/A ratio โดยทั้ง 2 ระบบนี้จะทำงานร่วมกันเสมอ เนื่องจากใช้เส้นประสาทคู่ที่ 3 (Cranial nerve 3, Oculomotor) คู่เดียวกันในการทำงานพร้อมกัน  เพื่อให้เกิดการมองเห็นชัดแบบ Clear Single and Binocular Vision

 

ระบบการมองสองตา (binocular vision) เป็นระบบที่เกิดขึ้นในสัตว์นักล่า เช่น เสือ สิงโต มนุษย์  หมา แมว  อินทรีย์ นกฮูก สังเกตุว่า ดวงตาทั้งคู่ของมันจะอยู่ส่วนหน้าของกระโหลก  

 

เนื่องจากการมีตาทั้งอยู่อยู่ทางด้านหน้า จะทำให้เกิดระบบการมองสองตา ทำให้ภาพที่มองเห็นนั้นมีความลึก (Depth Perception) และเป็น 3 มิติ ทำให้เวลาตะปบเยื่อนั้นทำได้แม่นยำ ซึ่งต่างจากสัตว์กินพืชเช่น  ช้าง ม้า วัว ควาย กระต่าย ม้าลาย ยีราฟ ที่มีตาอยู่ข้างๆ สัตว์พวกนี้จะไม่มี Depth Perception แต่ดวงตาด้านข้างจะช่วยระวังภัยจากสัตว์นักล่ารอบๆตัวมัน 

 

 

มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาพร้อมกับระบบ Binocular แต่เกิดจากการเรียนรู้ที่จะใช้ตาทั้งสองข้างร่วมกัน ซึ่งระบบนี้เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนแรกคลอด เพื่อให้สามารถ Synchronize กันได้ดี และละเอียดประณีตมากขึ้น 

 

แต่ถ้าระหว่างนี้เกิดสิ่งที่ไปรบกวนพัฒนาการนี้ เช่น มีสายตามากๆ หรือตาบอดจากต้อกระจกตั้งแต่แรกเกิด (Congenital cataract)  ก็จะเกิดการขัดขวางการพัฒนาการของระบบ Binocular นี้ ทำให้เด็กกลายเป็นเด็กตาเหล่ (Strabismus) และถ้าไม่รักษาก็จะทำให้เกิดเป็นโรคตาขี้เกียจ (Amblyopia) ในที่สุด

 

ดังนั้น การทำงานร่วมกันของทั้งสองระบบนี้จะมีสัดส่วนที่เหมาะสมกันอยู่  ซึ่งเราเรียกความสำพันธ์นี้ว่า AC/A ratio หรือ Accommodative Convergence /Accommodation  ซึ่งโดยธรรมชาติ จะมีความสำพันธ์ของ AC/A=4:1

 

ศึกษาเรื่อง AC/A ratio เพ่ิมเติมได้ที่ลิ้งค์ : http://www.loftoptometry.com/AC:A_ratio

 

2. ปัญหาสายตาที่ไม่ได้แก้ไข ทำให้เกิดความไม่บาลานซ์ของภาพของทั้งสองตา (Binocular Imbalance)

โลกที่เรามองเห็นกันอยู่นี้เป็นภาพเดียว  แต่ภาพเดียวที่เราเห็นนั้นเกิดจาก 2 ภาพ จากลูกตา 2 ข้าง  นั่นหมายความว่า แท้จริงแล้วภาพเดียวที่เรามองเห็นนั้นเกิดจากสมองทำการรวมสัญญาณภาพจากตาแต่ละข้างมารวมกันเป็นภาพเดียวและเห็นเป็น 3 มิติ เห็นความลึก ซึ่งเกิดจากระบบการทำงานร่วมกันของสองตา หรือที่เรียกว่า Binocular vision   

แต่การที่สมองจะรวมภาพให้เป็นภาพเดียวและมี Binocular vision ที่ดีได้นั้น  ภาพจากตาแต่ละข้างจะต้องเป็นภาพที่คมชัดเท่าๆกันและเลนส์ตา กล้ามเนื้อตา ทำงานเท่าๆกัน จึงจะทำให้การวมภาพนั้นทำได้ง่าย และเกิดภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้คนนั้นต้องไม่มีปัญหาสายตาหรือได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาแล้ว 

ถ้าในระหว่างนั้นเกิดมีความผิดปกติขึ้นมาบนตาข้างใดข้างหนึ่ง เช่น มีสายตาต่างกันมากๆและไม่ได้แก้ไข  สมองก็จะเลือกภาพจากตาที่ดีกว่า แล้วกดสัญญาณจากตาข้างที่แย่ทิ้งไป  ทำให้ตาข้างที่แย่กว่าไม่เคยมีโอกาสได้ส่งสัญญาณไปถึงสมองเพราะสมองไม่รับ ทำให้เกิดตาขี้เกียจในที่สุด 

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาสายตาที่ถูกต้อง คือ ต้องแก้สายตามองไกลให้ชัดเท่ากันและเลนส์ตาต้องทำงานเท่าๆกัน เรียกว่าการทำ Binocular Balancing เพื่อไม่ให้ตาข้างหนึ่งชัดกว่าอีกข้างหนึ่ง  และวัดสายตาบาลานซ์ไม่ดี ก็จะทำให้ Accommodation ทำงานไม่บาลานซ์เช่นกัน การรวมภาพจะยากลำบากและถ้าไม่บาลานซ์มากๆ สมองอาจเลือกกดสัญญาณจากตาข้างใดข้างหนึ่งทิ้ง และจะทำให้กลายเป็นตาขี้เกียจในที่สุด 

3.ทำให้สายตามีปัญหาเยอะมากขึ้น

"คนสายตาสั้นแล้วไม่ยอมแก้ไขสายตาสั้นจะทำให้สั้นมากขึ้น"

ซึ่งผลงานวิจัยนั้นตรงข้ามกับความเชื่อของคนทั่วไป ที่เคยเชื่อว่า ใส่แว่นแล้วติดแว่น จะสายตาสั้นมากขึ้นหรือเวลาทำแว่นก็ลดจ่ายเบอร์อ่อนๆ โดยเชื่อว่าจะทำให้สายตาสั้นช้าลง  ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ผิดโดยสิ้นเชิงและผลการวิจัยยืนยันได้ว่า “คนที่สายตาสั้น และไม่ยอมรับการแก้ไข จะยิ่งสั้นขึ้นไปเรื่อยๆ”

ดังนั้น ถ้าแว่นที่ใส่อยู่เริ่มจะไม่ชัด อย่านิ่งนอนใจ อย่าดันทุรังใช้ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเลนส์ตาและปัญหากล้ามเนื้อตาตามมา การปรับตัวกับแว่นเล็กน้อย (1-2 วัน) ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าต้องปรับกันเป็น 5 วันขึ้นไปแล้วยังปรับไม่ได้ อย่าดันทุรังเพราะแว่นตาที่มันถูกต้องจริงๆนั้น ไม่จำเป็นต้องปรับตัวและถ้าพยายามปรับตัวให้เข้ากับแว่นที่มันผิด ก็จะยิ่งสร้างหายนะตามมา

4.ทำให้เกิดตาเหล่แบบซ่อนเร้น (High Phoria )

เช่น สายตายาว (Hyperopia) ที่ไม่ได้รับการแก้ไข มักทำให้เกิดตาเหล่เข้าแบบซ่อนเร้น (Esophoria) โดยเฉพาะเวลาดูใกล้หรือคนสายตาสั้นที่ไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้เกิด High Exophoria เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาการใช้สายตา เช่น ปวดหัว ปวดเบ้าตา ปวดหัวบริเวณท้ายทอย อ่านหนังสือนานไม่ได้ โฟกัสภาพลำบากมาก

ดังนั้น ถ้ามีปัญหาสายตา ไม่ควรนิ่งนอนใจ  เนื่องจากจะส่งผลตามมาอีกมากมายและควรจะแก้ไขให้ถูกต้อง เนื่องจากแว่นสายตาที่ไม่ถูกต้อง ไม่ต่างกับปัญหาสายตาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา  ในขณะเดียวกันถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับเลนส์ตาและกล้ามเนื้อตาอยู่ อาจจะเกิดจากปัญหาสายตาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข  และถ้าแก้ไขให้ถูกต้อง ระบบสมดุลต่างๆ จะกลับมาปกติอีกครั้งได้เช่นกัน 

 

NRA

NRA หรือ Negative Relative of Accommodation เป็นเทสที่สามารถนำมาใช้ในการประเมินว่าสายตามองไกลที่เราจ่ายไปนั้น เป็นค่าสายตาสั้นเกินจริง หรือ over minus หรือไม่  

 

โดยหลักของการทำ NRA คือ ให้คนไข้ดูตัวหนังสือขนาด 20/25 ที่ระยะ 40 ซม. เพื่อกระตุ้นให้เลนส์ตาเพ่ง +2.50D ให้เห็นชัด  จากนั้นเราจะค่อยๆเพ่ิมค่าบวก ทีละ +0.25D เพื่อให้เลนส์ตาคลายตัว  ดังนั้น ถ้าไม่มีเลนส์บวกช่วย คนไข้จะเพ่งอยู่ +2.50D ดังนั้นถ้าเราใส่บวกไปคนไข้ต้องมัวเมื่อเพ่ิมบวกจนถึง +2.50 D  แต่ถ้าเกินจากนี้ แสดงว่าค่าสายตามองไกลที่เราจ่ายไปนั้น เป็นค่าสั้นที่มากเกินจริง หรือ ค่ายาวที่ต่ำกว่าค่าจริง 

 

นอกจากนี้ เราสามารถประเมินแรงของกล้ามเนื้อตาในการเหลือบเข้าคือ positive fusional convergence ได้ เช่นกัน  ซึ่งสามารถจำเอาไปใช้ได้ว่า ถ้า NRA > +2.50 D แสดงว่าสายตามองไกลอาจมากเกินจริง  แต่ถ้า NRA < +1.50 ก็แสดงว่าความสามารถในการ convergnce ต่ำ เป็นต้น  

 

BI-reserve (Negative fusional vergence reserve test)

BI-reserve หรือการตรวจเพื่อดูความสามารถของกล้ามเนื้อตาในการเหลือบออก (Divergence) หรือจะเรียกว่า Negative Fusional Vergence ก็ได้

 

แต่ในขณะเดียวกันเราก็สามารถนำค่านี้ไปประเมินได้ว่า สายตามมองไกลที่เราจ่ายไปนั้น Over Minus หรือจ่ายสั้นเยอะเกินไปหรือไม่  

 

ปกติ ในการทำ BI-reserve หรือ BO-reserve จะเป็นการทดสอบเพื่อดูพลังของแรงในการรวมภาพ ซึ่งมีสองระบบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ accommodative convergence และ fusional vergence ซึ่ง fusional vergence ก็จะมีทั้งแรงเหลือบเข้า (positive vergence) และ แรงดึงออก (negative vergence) 

 

เมื่อมีทั้งสองแรง ดังนั้นในขณะตรวจ เราจะต้องให้คนไข้รายงานว่า ขณะที่เราดันปริซึม base in หรือ base out เข้าไปนั้น คนไข้เห็นมัวตอนไหน ภาพแยกตอนไหน และภาพกลับมารวมตอนไหน 

 

ภาพที่เริ่มมัว นั้นแสดงถึงแรงของ accommodative convergence เริ่มหมดแล้ว จากนั้นก็จะเป็นแรงของ fusional vergnce ทำงานต่อ จนกระทั่งสู้ไม่ไหวแล้ว คนไข้ก็จะเห็นว่าภาพแยกออกจากกัน  ส่วนการกลับมารวมภาพกันอีกครั้งนั้นคือ ความไวของระบบ fusional vergence ในการที่จะวิ่งไปจับภาพให้มารวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง 

 

ดังนั้น ถ้าเราวัดสายตามองไกลได้ถูกต้องจริง คนไข้ต้องอ่านได้แถว 20/20 โดย accommodation อยู่ในสภาวะ relax ดังนั้น เมื่อเราทำ BI resverve คนไข้จะเหลือเพียงแรง negative fusional vergnce เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีแรงของ accommodative convergence มาช่วย ดังนั้นคนไข้จะต้องเห็นภาพที่แยกเป็นสอง​ โดยไม่เห็นว่าเป็นเบลอก่อน 

 

แต่ถ้าพบว่าคนไข้เห็น Blur ด้วย แสดงว่าสายตาที่จ่ายมีค่าสายตาสั้นที่จ่ายเกินจริงอยู่ หรือมีสายตายาวที่ยังแก้ไขให้ไม่หมด  เนื่องจากมีการทำงานของ accommodative convergnce ร่วมอยู่ และเป็นตัวฟ้องว่า ค่าสายตามองไกลนั้นยังเป็นค่า over minus อยู่  

 

Binocular Cross Cylinder ,BCC

BCC หรือ Binocular Cross Cylinder ซึ่งปกติค่านี้เราใช้ในการดูค่า Addition หรือเป็นค่าที่แสดงถึงความล้าของเลนส์ตา ซึ่งในแต่ละวัยนั้น จะมีค่า BCC เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ อายุน้อยๆ BCC  จะต่ำและเพิ่มขึ้นเมื่ออายุเพ่ิมขึ้น  ถ้าวัด BCC ออกมาแล้วพบว่า มีค่าสูงเกินความเป็นจริง เช่น คนไข้วัยรุ่่นอายุ 30 ปี ทำ BCC ได้มา +1.50D ( ซึ่งค่าขนาดนี้พบในคนอายุ 45 ปี ) อาจหมายความว่า สายตาที่เราจ่ายมองไกลไปนั้น อาจเป็นค่าที่เกินจริงอยู่ก็ได้ ทำให้ภาระไปตกอยู่ที่เลนส์ตาต้องออกแรงเพ่งทำให้ดูใกล้มีปัญหา แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันกับคนไข้ที่อายุยังไม่ 40 ปี แต่มีปัญหาการเพ่งของเลนส์แก้วตา 

 

Retinoscopy 

Over Refraction Retinoscopy : วิธีการนี้ดีทีสุด ถ้าผู้ตรวจสามารถใช้งาน Retinoscope ได้ เนื่องจากเราสามารถกวาดเรติโนสโคป เพื่อดู reflex ของแสงที่สะท้อนออกมาขณะที่คนไข้ใส่แว่นอยู่ ว่าขณะนั้นสายตาเขาพอดีไหม หรือขาดเหลือเท่าไหร่ จะบอกได้ทั้งหมด แต่จะต้องใช้ทักษะของผู้ตรวจในการอ่านแสงสะท้อนจากรูม่านตาอยู่มาก  

สรุป

สายตาที่ผิดปกติและไม่ได้รับการแก้ไข หรือแก้ไขแต่แก้ไม่ถูกต้อง นอกจากจะทำให้การมองเห็นไม่คมชัดแล้ว ยังทำให้ระบบการทำงานร่วมกันต่างๆของดวงตาทำงานผิดปกติอีกด้วย  และค่าสายตาที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น ไม่ได้วัดกันเพียงแค่ความคมชัดหรืออ่าน VA ได้ 20/20 เพียงอย่างเดียว  แต่ต้องมองไกลคมชัดโดยที่เลนส์แก้วตานั้นอยู่ในภาวะผ่อนคลาย  การแก้ด้วยเลนส์ค่าสายตาที่ไม่ถูกต้องนั้น จะทำให้ฟังก์ชั่นการทำงานของกล้ามเนื้อตาและเลนส์ตาทำงานผิดปกติ ทำให้การตรวจการทำงานต่างๆของเลนส์ตาและกลามเนื้อตานั้นผิดพลาดไป อาจไม่สามารถนำค่าที่วัดได้นั้นมาแปลหรือตีความได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้  

การวัดสายตาเพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้องนั้นจึงเป็นส่ิ่งสำคัญและเป็นบันไดขั้นต้นที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการมองเห็นที่ซับซ้อนได้ถูกต้องมากขึ้น  เราจึงควรเริ่มจากการตรวจที่มี Confirmation test ที่ดีและมากพอที่จะยืนยันค่าสายตาที่วัดได้ว่าเป็นค่าที่แท้จริง  พยายามลดตัวแปรที่อาจทำให้การตรวจผิดพลาด เช่น ห้องตรวจที่ได้มาตรฐาน การควบคุมความมืดสว่างของไฟในห้องตรวจ ความมาตรฐานของเครื่องมือ ทักษะที่แม่นยำของการทำเรติโนสโคป เป็นต้น 

ท่านที่สนใจศึกษาเพ่ิมเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการวัดสายตา ซึ่งเป็น scoop ที่ทางสำนักข่าว Nation ได้ทำไว้ในรายการ Prime Time ทำให้เราเห็นภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากการวัดสายตา ซึ่งผมได้เขียนไว้อีกหน้าเพจหนึ่ง เข้าไปอ่านได้ที่ิลิงค์ที่แนบมา http://www.loftoptometry.com/whatnew/ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการวัดสายตา

ทิ้งท้าย 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความเรื่องนี้ จะสร้างความตระหนักทั้งต่อผู้บริโภคในการดูแลสุขภาพสายตาตัวเอง และไม่ควรไปซื้อแว่นสำเร็จมาใช้  ควรเข้ารับการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ทราบปัญหา แก้ปัญหาได้ถูกต้อง ไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้น และผู้ให้บริการทั้งหลายที่ทำหน้าที่วัดสายตาผู้มารับบริการ เราต้องตระหนักถึงภัยอันตรายที่จะเกิดกับความรู้เท่าไม่ถึงการของเราและการไม่ใส่ใจในรายละเอียดการตรวจ แล้วจ่ายค่าสายตาที่ไม่ถูกออกไปจะส่งผลเสียต่อระบบต่างๆตามมา ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรเป็นคนรับกรรมในเรื่องนี้ และเราไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ด้วยคำว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเราต้องพัฒนาตนเอง ยกระดับมาตรฐานตนเองขึ้นมา และมีแหล่งเรียนรู้มากมายที่จะทำให้เราเก่งขึ้น ก็หวังว่าจะได้อะไรจากเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม 

สมยศ เพ็งทวี ,O.D. (นักทัศนมาตร์วิชาชีพ)


ลอฟท์ ออพโตเมทรี 

578 ซ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220

โทร ​090 553 6554

line: loftoptometry