เรื่อง.......เบาหวาน...ทำไมถึงชอบขึ้นตา 

เรื่องโดย ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี ,O.D. 

เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2561 (ปรับปรุง 24 พ.ย.2561)


เบาหวาน (Diabetes) คืออะไร

ก่อนจะไปทำความเข้าใจว่าเบาหวานขึ้นจอตาได้อย่างไร มาทำความเข้าใจถึงพื้นฐานของโรคเบาหวานกันสักหน่อย 

 

เบาหวาน เป็น โรคของเส้นเลือด ที่เกิดขึ้นแล้วจะไปทำลายชั้นเนื้อเยื่อที่อยู่ชั้นใน (Endothelium) ของเส้นเลือด ทำให้เซลล์ร่างกายของเราไม่สามารถรับอาหาร (น้ำตาล) จากกระแสเลือดได้ จึงมีน้ำตาลคั่งในกระแสเลือด เมื่อน้ำตาลเหลือมากๆร่างกายก็ขับออกทางปัสสาวะ แล้วถ้าลองชิมดูจะมีรสหวาน แต่จริงๆไม่ต้องชิมก็ได้ ก็อาศัยมดซึ่งชอบของหวานมากิน ถ้ามดกินนั่นแปลว่าเป็น “ปัสสาวะหวาน” หรือ “เบาหวาน”นั่นเอง 

 

เบาหวานเป็นโรคที่ทำลายทุกระบบของร่างกาย เนื่องจากอวัยวะทุกส่วนต้องการอาหารจากเส้นเลือด (มีคนสงสัยว่าทำลายได้ไง??)

ระบบทางเดินอาหาร เริ่มจากหลอดอาหาร เข้ามาสู่กระเพาะอาหารเพื่อทำการย่อย แล้วเดินทางสู่ลำไส้เล็กเพื่อดูดซึม ก่อนจะผ่านลำไส้ใหญ่เพื่อดูดน้ำกลับ จนเหลือเป็นอุจจาระไว้ที่ท่อทางเดินอุจจาระ ขับออกสู่ธรรมชาติต่อไป 

 

ทุกวันนี้ด้วยการได้รับสารอาหารที่เรากินทางปากและผ่านกระบวนย่อยในระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ปาก (เคี้ยว) หลอดอาหารนำอาหารเข้าไปที่กระเพาะเพื่อทำการย่อยขั้นที่สอง  ส่งต่อไปยังลำใส่เล็กออกลำใส้ใหญ่และขับถ่ายทิ้งในที่สุด ระหว่างการย่อยนั้นเราได้สารอาหาร พลังงาน วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ จากการย่อย ร่างกายใช้พลังานในรูป ATP ซึ่งได้จากการย่อยสลาย คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน ซึ่งการย่อยสลายคาร์โบไฮเดตรทำได้ง่ายที่สุด และได้พลังงานได้รวดเร็วที่สุด อยู่ในรูป "น้ำตาล"

 

น้ำตาล คือ แหล่งพลังงานหลัก 

แป้งที่เรากินไม่ว่าจะอยู่ในรูปของข้าว ขนมปัง หรือน้ำตาล จะน้ำตาลกรวด น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลปี๊บ หรือจะอะไรก็เถอะ มันเป็นแหล่งพลังงานที่เซลล์สามารถย่อยแล้วนำไปสร้างเป็นพลังงานเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมระหว่างเซลล์ เช่น ไต มีหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากเลือด ก็กรองทั้งวัน วันละ 200 ลิตร สมองคิดก็ใช้พลังงานคิดทั้งวันก็ใช้ทั้งวัน คิดมาก็ใช้พลังงานมาก ก็หิวบ่อย  ดังนั้น น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานที่นำไปใช้ได้ง่ายที่สุด 

 

การนำน้ำตาลไปใช้ 

น้ำตาลที่เกิดจาการย่อยอาหารเสร็จแล้วก็จะวิ่งเข้าในกระแสเลือดทั่วร่างกายเพื่อใช้สร้างพลังงาน  ส่วนน้ำตาลเหลือใช้จะนำไปเก็บไว้ที่ตับในรูปของ Glycogen ในตับ 

 

แล้วน้ำตาลที่วิ่งอยู่ในกระแสเลือดมันผ่านเส้นเลือดเข้าไปในเซลล์ได้อย่างไร เพราะตัวมันเองจู่ๆจะวิ่งออกจากเส้นเลือดเองไม่ได้ จะต้องมีช่องเลือกผ่านที่ออกแบบมาเฉพาะที่ยอมให้น้ำตาลผ่านเข้าไปได้ (Selective permeable barrier) ดังนั้น การที่น้ำตาลจะเข้าไปได้จะต้องมีกุญแจเปิดประตูให้น้ำตาลเข้าไป ซึ่งกุญแจที่ว่านี้ก็ คือ อินซูลิน (Insulin)

 

ดังนั้น ตัว Insulin คือ พระเอกหลักในการที่จะพาน้ำตาลออกจากเส้นเลือดไปสู่เซลล์  ซึ่ง Insulin สร้างจากตับอ่อน  ดังนั้น ถ้าตับอ่อนทำงานผิดปกติ ก็ไม่สามารถสร้าง Insulin ได้มากพอ ก็ไม่มีตัวพาน้ำตาลเข้าเซลล์ น้ำตาลก็จะคั่งในกระแสเลือดเยอะ เมื่อมากเข้าก็จะขับออกทางปัสสาวะ เราเรียกเบาวานชนิดนี้ว่า "เบาหวานชนิดที่หนึ่ง"  หรือ Diabete type 1  ซึ่งมักจะเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ  ซึ่งใน Type 1 นี้จะต้องฉีด Insulin เข้าไปในร่างกาย 

 

แต่ที่คนเป็นกันส่วนใหญ่จะเป็นประเภทที่สอง คือ Diabete type 2 ซึ่งจะไม่สามารถรักษาด้วยการฉีด Insulin  เพราะประเภทนี้ Insulin ในร่างกายนั้นมีปริมาณเพียงพอ แต่ที่ไม่สามารถพาน้ำตาออกไปยังเซลล์ได้ เนื่องจากประตูที่ยอมให้น้ำตาลผ่านเข้าได้นั้นเกิดเสียขึ้นมา คือ มีกุญแจอยู่แต่ประตูดันเสีย ก็เลยเปิดประตูเข้าไปไม่ได้  

 

ซึ่งสาเหตุหลักมาจากประตูถูก ปิด/เปิด บ่อยมากจนเกินไป ความหมายก็ คือ กินหวานมาก กินแป้งมาก น้ำตาลในเลือดมาก เข้าเซลล์มาก ทำให้ประตูต้องทำงานหนัก  พอทำหนักๆเข้า แม่กุญแจเกิดพังขึ้นมา  แม้ลูกกุญแจจะเป็นของกุญแจดอกนั้นก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเปิดได้อยู่ดี แบบนี้เป็นกันเยอะมาก และมักพบในคนที่อ้วน น้ำหนักเกิน กินหวานมากๆ กินแป้งมาก ทำให้ปัจจุบันเป็นเบาหวานแบบที่สองนี้กันเยอะ 

 

ดังนั้น จึงมี 2 กรณีที่น้ำตาลไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงเซลล์ได้ คือ

1.เบาหวานชนิดที่1 (DM type1) คือ ตับอ่อนไม่สามารถสร้าง Insulin ได้ เปรียบเทียบได้กับ "ประตูดี แต่ไม่มีกุญแจ จึงไม่สามารถเปิดประตูนำน้ำตาลเข้าไปได้"

2.เบาหวานชนิดที่2 (DM tyep2) คือ ตับอ่อนสร้าง Insulin ได้ปกติเปรียบเทียบได้กับ"มีกุญแจแต่ประตูพังก็ไม่สามารถเปิดประตูได้เช่นกัน"

 

insulin
Insulin : ทำหน้าที่เหมือนลูกกุญแจ ที่จะไขประตูเพื่อให้น้ำตาลเข้าไปภายในเซลล์ เพื่อนำไปเป็นพลังงานให้เกิดกิจกรรมภายในเซลล์  ดังนั้น เบาหวาน จึงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Type I เป็นเบาหวานที่ Insulin มีไม่พอ ทำให้ไม่สามารถไขเปิดประตูได้มากพอ ทำให้ต้องฉีด Insulin เข้าไปช่วย ซึ่งประเภทแรกนี้จะพบตั้งแต่เด็ก  ส่วน Type II คือ มีกุญแจอยู่ แต่เปิดไม่ได้เพราะประตูเสีย เนื่องจากเปิดปิดบ่อยมากเกินไป ประตูจึงชำรุด การฉีด Insulin เข้าไปจึงไม่ได้ช่วยอะไร  ทำได้เพียงซ่อมประตูให้กลับมาทำงานได้ คือ คุมน้ำตาล ลดน้ำหนัก ลดแป้งขาว ลดหวาน เป็นต้น

 

"เมื่อน้ำตาลคั่งในกระแสเลือด"

เมื่อน้ำตาลไม่สามารถออกนอกกระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงเซลล์ได้ ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูงมาก มีเสบียงในกระแสเลือดมากมายแต่ร่างการไม่สามารถเอาไปใช้งานได้ ทำให้คนที่เป็นเบาหวานมีอาการต่อไปนี้

    •    น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ

    •    หายใจมีกลิ่นผลไม้

    •    คลื่นใส้ อาเจียน ปวดท้อง

    •    ดื่มน้ำและปัสสาวะบ่อย

    •    ความรู้สึกนึกคิดช้า

    •    มีอาการมึนงง

ดังนั้น คนที่เป็นเบาหวานจะมีปัญหา 2 อย่าง ถ้าไม่น้ำตาลสูง (HyperGlycemia) ก็น้ำตาลในเลือดต่ำ (HypoGlycemia) ซึ่งสามารถสังเกตอการได้

 

อาการระดับน้ำตาลในกระแสงเลือดสูง (HyperGlycemia)

    •    ปวดปัสสาวะบ่อย

    •    ผิวแห้ง

    •    หิว

    •    เห็นภาพมัว

    •    ง่วงหงาวหาวนอน

    •    คลื่นใส้

วิธีแก้ไขเบื้องต้น : ถ้าเช็คน้ำตาลในเลือด ถ้าเกิน 250 /dLให้รีบไปพบแพทย์ ด่วน!!!

 

อาการเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)

    •    ตัวสั่น

    •    หัวใจเต้นเร็ว

    •    เหงื่อออกมาก

    •    มึนงง

    •    หิว

    •    ตาลาย มองไม่ชัด

    •    เหนื่อยและเมื่อยล้า

    •    ปวดหัว

วิธีแก้ไขเบื้องต้นเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ : ดื่มน้ำผลไม้ครึ่งแก้ว หรืออมลูกอม ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นใน 20 นาที ควรรีบไปหาหมอ

 

เบาหวานไปทำอะไรกับร่างกาย

เนื่องจากร่างกายต้องการเลือดจากเส้นเลือดและเบาหวานเป็นโรคของระบบเส้นเลือด ซึ่งทำให้เบาหวานส่งผลกระทบไปทั่วทั้งร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่มีเส้นเลือดฝอยปริมาณมาก เช่น ตา ไต และปลายแขนขา จะโดนผลกระทบมาก

 

แล้วเบาหวานมันขึ้นตาทำไม....

จริงๆมันก็ขึ้นหมดแหล่ะ แต่ที่อื่นมันมองไม่เห็น แต่ลูกตาของเรานิมันมีเส้นเลือดลอยอยู่บนผิวด้านในของลูกตา ซึ่งถ้าใช้กล้อง Ophthalmoscope ส่องดูก็จะเห็น หรือสมัยนี้เขาจะมี Fundus Camera อย่างในรูปที่เอาขึ้นมาแสดงรูปแรกนั้นก็เป็นตัวอย่างรูปจาก เครื่องถ่ายจอประสาทตาของ Kowa nonmyd-7 ก็จะช่วยให้เราวินิจฉัยโรคที่เกิดขึ้นบนจอตา โดยเฉพาะเบาหวานขึ้นตานั้นทำได้ดีขึ้น ดังนั้น คนเป็นเบาหวานมักจะไม่รู้ตัวเอง จนกระทั่งไปตรวจสายตาถึงจะรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวาน 

 

เบาหวานขึ้นตาแบ่งเป็นกี่ระยะ?

เราแบ่งเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ออกเป็น 4 ระยะ คือ

1. ระยะที่แรก คือ Mild Nonproliferative Retinophathy (Mild-NPDR) ซึ่งในระยะนี้เป็นระยะเริ่มต้นที่เบาหวานได้รุกล้ำเข้าสู่จอประสาทตาแล้ว

ในระยะนี้เมื่อตรวจดูที่จอประสาทตา เราจะพบว่ามีกระเปาะเล็กๆเกิดขึ้นตามเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กในจอรับภาพ (นึกถึงตอนที่เราเล่นตอนเด็ก คือ เป่าลมใส่ถุงพลาสติกให้เต็มแล้วมัดปากถุง จากนั้นใช้นิ้วมือจิ้มแต่ไม่ให้แตก เราจะเห็นว่าพลาสติกจะมีการโป่งเป็นกระเปาะออกมาที่บริเวณที่เราจิ้ม) เส้นเลือดก็เช่นกัน เมื่อหมดความยืดหยุ่นแล้ว ก็จะเริ่มเห็นอาการโป่งของเส้นเสือด

หมอจะใช้เครื่องมือที่เรียกกว่า Ophthalmoscope , Slit lamp หรือ Fundus Camera ในการตรวจดูจอประสาทตา  โดยในระยะนี้คนไข้จะไม่มีอาการอะไร และถ้าไม่ตรวจก็ไม่พบ

 

 

2. ระยะที่สอง คือ Moderate Nonproliferative Retinopathy (Moderate-NPDR) ระยะนี้การลุกลามของเบาหวานเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเรตินาเกิดการอุดตัน

 

3.ระยะที่สาม คือ Severe Nonproliferative Retinopathy (Severe-NPDR) ระยะนี้เส้นเลือดจะถูกอุดตันมากขึ้น ทำให้เลือดเริ่มไปเลี้ยงเรตินาไม่พอ

เมื่ออาหารไปเลี้ยงเรตินาไม่พอ ระบบจะเริ่มคิดแล้วว่าจะต้องหาเลือดมาเลี้ยงจอรับภาพให้ได้ แต่จะทำยังไงในเมื่อเส้นเลือดที่เข้ามาเลี้ยงอุดตันหมดแล้ว คิดๆๆๆๆๆๆๆๆ  ปิ๊งงงงง....และแล้วร่างกายมันก็คิดได้ว่า “หนทางเดียวที่ทำได้จอรับภาพได้อาหารพอ คือ...สร้างเส้นเลือดเพิ่มสิ...ร่างกายก็เลยส่งสัญญาณ (Signal) ผ่านสารเคมี (Angiofactor) วิ่งไปบอกสมองว่า “ช่วยด้วยๆ จอประสาทตาหิวจะตายอยู่แล้ว ช่วยส่งส่งอาหารทางท่อสายยางมาเลี้ยงหน่อยเถอะ”

สมองบอกว่า "สายยางส่งเลือดหมดสต๊อกแล้ว..ทำไงดี"

สมองก็สั่งงานผ่านสารเคมีในร่างกายบอกว่า "ทำใหม่เลยก็แล้วกัน"  ก็เลยตกลงกันที่ทำสายยางส่งเลือดขึ้นมาใหม่  จึงเกิดลุกลามไประยะที่สี่

 

4. ระยะที่สี่ Proliferative Retinopathy (PDR)

Proliferative Diabetic Retinopathy ,PDR  (image: http://webeye.ophth.uiowa.edu)
Proliferative Diabetic Retinopathy ,PDR  (image: http://webeye.ophth.uiowa.edu)

 

หตุการณ์นี้เกิดต่อเนื่องจากการที่แล้ว เมื่อจอประสาทตาหิวไส้จะขาดอยู่แล้วนั้น ก็เลยต้องใช้ไม้ตายเพื่อประคองให้อยู่รอดไปก่อน คือ สร้างเส้นเลือดใหม่ เราเรียกว่ากระบวนการ neovascularizaion และนำไปสู่การตาบอดในที่สุด  

 

เนื่องจากตาเป็นอวัยวะที่ทำงานในรูปแบบของไฟฟ้า ต้องการพลังาน (ATP) ที่สูงมากในระหว่างการทำกิจกรรม  ซึ่งแหล่งพลังงาน ก็คือ น้ำตาลในกระแสเลือดนี่แหล่ะ คนที่เป็นเบาหวานเซลล์มันดึงน้ำตาลไปกินไม่ได้ "มันก็หิว" เพราะยังไงก็ต้องทำงานหนักเหมือนเดิม แต่อาหารน้อยลง  

 

ทำไงดี....ทำไงดี...หิว หิวๆๆๆๆ 

 

และแล้วมันก็คิดสั้นโดยการ.....

 

สร้างเส้นเลือดขึ้นมาใหม่ (Neovascularization อ่านว่า นี-โอ-วาส-คิวล่า-ไร้-เซ-ชั่น) 

 

แต่ปัญหาคือ... “ปืนใหญ่ที่หล่อเมื่อวานซืนรึจะสู้ทัพพม่ารามัญเรือนหมื่นเรือนแสนได้” 

 

ซึ่งไม่ต่างกับ

 

“เส้นเลือดที่พึ่งสร้างเมื่อวานซืน มันจะทนได้สักกี่น้ำ ไม่กี่ทีคงแตก” 

 

เพราะคนเป็นเบาหวานมักจะมากับความดันสูง (Hypertension) เจอความดันหน่อยก็เกิดเส้นเลือดป่องเป็นกระเปาะเล็กๆ (Aneurism)

 

ถ้านึกไม่ออกให้จินตนาการว่า เราเป่าลมใส่ถุงแกง แล้วเอานิ้วจิ้มถุง อย่าจิ้มแรงเดี๋ยวแตก (ผมเชื่อว่าสมัยเด็กต้องเคยเล่นกันทุกคน)

 

ทีนี้พอกรอกน้ำเข้าไป หรือจะเป่าลมก็จะได้ เราก็จะเห็นว่ามันโป่งออก 

 

เส้นเลือดก็เช่นเดียวกัน พอมันโป่งมากๆเข้า แล้วถ้าเกิดมีความดันสูง ก็จะทำให้กระเปาะนี้แตกโป๊ะออกมา เลือดก็ซึมทะลักเข้าไปในลูกตา เราก็จะเห็นโลกเป็นสีส้มสีแดง เพราะว่าแสงมันวิ่งผ่านเลือดก่อนที่จะตกบนจอรับภาพ ทำให้เราเห็นเป็นสีแดง (นึกถึงแสงผ่านฟิลเตอร์สีแดง)

 

ทีนี้พอเลือดออกมามากเข้า ก็จะไปทำให้วุ้นในลูกตาเราเกิดการหดตัว แล้วก็ไปดึงรั้งจอประสาทตาเราให้หลุดออกมา เขาเรียกอาการนี้ว่า จอประสาทตาหลุดลอก (Retina Detachment) 

 

แล้วพอมีแผลฉีก น้ำเลือดก็จะชอบเซาะ แล้วมันก็เซาะเข้าไปในชั้นเรตินา ทีนี้หล่ะหลุดทั้งแผงเลย 

สุดท้ายก็ตาบอด 

ร่างกายก็รู้ดีว่าเส้นเลือดที่หล่อขึ้นใหม่นี้มีปัญหาหลายอย่าง เช่น เปราะ แตกง่าย ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งเสี่ยงต่อการซึมและรั่วไหลของเลือดและคราบโปรตีน ดังนั้น การเข้ามาตรวจตา เราจะสามารถพบมันได้ตั้งแต่น้ำเริ่มซึมออกจากเส้นเลือด จะได้แก้ได้ทันท่วงที ตาก็จะได้ไม่บอด ไตก็จะได้ไม่วาย รู้เร็วรักษาเร็ว รู้ช้าก็ไม่รักษา 

 

โรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) : เบาหวานขึ้นตาแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
1. Non-proliferative diabetic retinopahty (NPDR) ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้น คือ ในระยะนี้จะเริ่มมีการรั่วซึมของเส้นเลือด ทำให้มีสารพวกโปรตีนรั่วออกมาจากเส้นเลืืือด ทำให้เรามองเห็นเป็นจุดขาว ๆ (Blot, Cotton wool spot)  หรือจุดแดงๆ จากเลือดที่ซึมออกมา มีการโป่งพองของปลายเส้นเลือดเกิดเป็น Anyrism ซึ่งกระเปาะเหล่านี้มันเป็นกระเปาะบางๆ ถ้ามีความดันเลือดสูงหน่อยก็จะแตกได้ 
 2. Proliferative Retinopathy (PDR) ระยะนี้จะเป็นระยะที่เป็นขั้นที่รุนแรงแล้ว มีลักษณะที่สำคัญ คือ "เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นมา" หรือ ที่เราเรียกว่า Neovascularization  ซึ่งเกิดเนื่องจากจอประสาทตาขาดอาหาร(จากเลือด) สะสมต่อเนื่องมายาวนาน ในขณะที่ดวงตยังต้องการใช้พลังงานเท่าเดิม ทำให้ร่างกายหลั่งสารไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดขึ้นมาใหม่ เพราะมันเชื่อว่า ถ้ามีท่อลำเลียงอาหารเพิ่มขึ้นเลือดน่าจะสามารถนำอาหารมาส่งได้มากขึ้น แต่เนื่องจากเส้นเลือดที่สร้างใหม่นั้นไม่แข็งแรง เมื่อเจอแรงดันสูงๆ ก็เกิดการแตก และเลือดไหลออกมาตามซอกระหว่างวุ้นตาและจอประสาทตา  คนไข้จะเห็นโลกเป็นสีส้ม จากเลือดที่รั่วออกมา และเลวร้ายที่สุดคือเกิดการดึงรึงรั้งของจอประสาทตา ทำให้เกิดจอตาฉีกขาด และตาบอดในที่สุด 

 

เกิดอะไรขึ้นถ้า ตา ไต ประสาท ขี้เกียจทำงาน 

ถ้าไตขี้เกียจทำงานจะเกิดอะไรขึ้นกับเลือดที่ต้องกรองของเสียถึงวันละ 200 ลิตร....ก็ไตวายหน่ะสิ  จากการเกิดสารพิษและของเสียสะสมในร่างกายมากๆเข้าเลือดก็จะมีพิษมากกว่าอาหาร ทำให้อวัยวะต่างๆทำงานไม่ได้ เพราะมีแต่พิษในเลือดและมันก็วายและตายในที่สุด 

 

ถ้าปลายประสาทไม่ทำงาน ประสาทรับรู้ความรู้สึกก็จะหายไป (เย็นชา) เดินเหยียบตะปู ตีนจะทะลุแล้วยังไม่รู้สึกเจ็บ บางท่านก็ไปคิดเอาเองว่า ไม่เจ็บก็ดีหน่ะสิ  จริงๆไม่ใช่แบบนั้น อาการเจ็บนั้นเป็นอาการอย่างหนึ่งของอาการอักเสบ การอักเสบนั้นเป็นกลไกอย่างหนึ่งของการรักษาแผล เช่น ฆ่าเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่แซกซึมเข้ามา ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งมันจะเกิดกระบวนการนี้ได้ สมองต้องรู้สึกว่าเจ็บก่อนจึงจะกระตุ้นให้เกิดการเดินทางของเม็ดเลือดขาวไปยังอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ถ้าสมองไม่รู้สึก เกิดการอักเสบจนเท้าเน่าแล้วยังไม่เดือดร้อน ทำให้แผลลุกลาม เท้าเน่าแล้วยังไม่หาย หนักๆเข้าต้องตัดเท้าทิ้ง และ การทำงานก็จะทำงานไม่ได้เพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง ถ้าไม่มีอาหารมาเลี้ยงเพราะเส้นเลือดถูกทำลาย ทำให้เสบียงถูกตัดขาด ดังนั้นอวัยวะที่เส้นเลือดเหล่านั้นหล่อเลี้ยง ก็จะตายในที่สุด..แบบนี้ไม่ดีแน่นอน 

 

รูปเปรียบเทียบเนื้อเยื่อของคนปกติ (รูปซ้าย) และ เนื้อเยื่อของคนไข้ที่เป็นเบาหวาน (รูปขวา) ซึึ่งมีลักษณะ คือ เส้นเลือดถูกทำลาย มีเส้นเลือดเกิดใหม่  (Neovascularizarion) มีการอุดตันของเส้นเลือด และเส้นประสาทถูกทำลายด้วยเช่นกัน  เมื่อเส้นเลือดถูกทำลาย การลำเลียงอาหารผ่านเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงระบบประสาทสัมผัสก็ทำได้ลำบาก ทำให้การทำงานของอวัยวะนั้นทำงานผิดปกติ เช่น ไม่รู้สึกและไม่สามารถสั่งให้มันทำงานได้อย่างปกติ  (อ้างอิง : Cameron NE, et al: Diabetologia 44:1973–1988, 2001. Dyck PJ, Giannini C: J Neuropathol Exp Neurol 55:1181–1193, 1996. Copyright 2005 International Medical Press.)

 

สรุปกันง่ายๆว่าเส้นเลือดแตก จากเบาหวานขึ้นจอตา ทำให้บอดได้จาก 2 สาเหตุ คือ

1. เส้นเลือดที่สร้างใหม่มีความเปราะ และมีความผิดปกติทางโครงสร้างตั้งแต่ต้นแล้ว ทำให้เกิดเลือดไหลซึมออกมาจากเส้นเลือดแล้วไหลไปที่บริเวณสำคัญของดวงตาทำให้เกิด “ภาพมัว” ซึ่งระยะที่จะพบอาการนี้บ่อยที่สุด คือ ระยะที่สี่ (PDR)

2. ของเหลวต่างๆ เช่น คราบโปรตีน เม็ดเลือด เม็ดเลือดขาวและสารเหลวต่างๆ ก็ซึมออกมาจากเส้นเลือดด้วย ถ้าซึมไปตรงไหนตรงนั้นก็มองภาพไม่ชัด และถ้าไหลไปจุดศูนย์กลางการมองเห็น (Macular) ก็จะทำให้มัวขณะมองตรง และที่หนักกว่านั้น เลือดที่ซึมเข้าไปทำให้จอตาบริเวณ Macula เกิดการบวม (Macula Edema)

ใครบ้างที่เสี่ยงกับเบาหวานขึ้นจอประสาทตา?

ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลย ก็คือ คนที่เป็นเบาหวานนั่นแหล่ะ ทั้ง Type1 & Type2 เลย  ซึ่งคนที่รู้ตัวเองว่าเป็นเบาหวานควรจะมาตรวจตาโดยละเอียดอย่างน้อยที่สุด ปีละครั้งก็ยังดี  และจากการสำรวจพบว่า “คนไข้เบาหวาน 40-45% เป็นโรคเบาหวานขึ้นตาไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง” และถ้าคุณหมอวินิจฉัยแล้วว่าคุณเป็นโรคเบาหวานขึ้นจอตาให้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำของหมอ เพื่อไม่ให้โรคลุกลามไปมากกว่านั้น  โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน โอกาสที่จะเป็นเบาหวานขึ้นตาจะมีมากกว่าปรกติ ดังนั้น พบแพทย์เพื่อทำการขยายม่านตา และประเมินด่วนเพื่อวางแผนการักษาในระหว่างการตั้งครรภ์

 

คนไข้ที่เบาหวานขึ้นตามีอาการอย่างไรในระยะแรก (NPDR)

คนไข้เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) ในช่วงแรกจะไม่มีสัญญาณหรืออาการอะไรบ่อบอกเลย  แต่แนะนำว่าไม่ต้องรอให้มีอาการหรอกครับ เข้าไปตรวจจอประสาทตาปีละครั้ง ถ้าไม่พบว่าเป็นก็เพื่อความสบายใจ แต่ถ้าพบว่าเป็นก็จะได้รีบรักษาก่อนที่จะตาบอด

 

อาการของคนไข้เบาหวานขึ้นตาในระยะสุดท้าย(PDR)

สัญญาณว่าคุณเริ่มจะมีเส้นเลือดรั่วซึม (Blot spot) แล้ว คือ เห็นเหมือนมีจุดดำๆ หรือ หยากใย่ ใสๆลอยไปลอยมาในลูกตา ถ้าเลือดยังรั่วซึมไม่มากร่างกายจะดูดซับเลือดหรือของเหลวกลับไปได้เอง คุณก็จะกลับมาเห็นคมชัดได้ปกติ จุดดำๆหายไป  แต่เดี๋ยวมันก็รั่วอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอนหลับในแต่ละคืนอาจมีการรั่วหลายๆ ครั้งโดยที่เราก็ไม่รู้ตัว ดังนั้น ถ้ามีอาการจู่ๆแล้วโลกเป็นสีส้ม หรือจู่ๆก็มัว แต่มัวๆเดี๋ยวก็หายและถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวานก็รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเถิด ปล่อยไว้บอดแน่นอนเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

 

หมอจะทำการตรวจจอรับภาพของเราเพื่อหาสัญญาณความผิดปรกติ

    •    การรั่วซึมของเส้นเลือด (Leaking blood vessels.)

    •    การบวมของจอรับภาพ (Retinal swelling, Macular edema)

    •    คราบซีดๆ (Cotton Wool Spot) ซึ่งเป็นสารกลุ่มไขมันที่รั่วซึมออกจากเส้นเลือด

    •    การถูกทำลายของเส้นประสาท

    •     การเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือด

 

ถ้าหมอตรวจดูแล้วและคิดว่าคุณจำเป็นต้องรักษาจอตาบวม (Macula edema) หมอจะแนะนำให้ทำ Fluorescein angiogram ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า”ฉีดสี” ซึ่งหมอจะฉีดสีเข้าเส้นเลือดที่แขน วิ่งเข้าหัวใจและฉีดไปทั่วร่างกาย ทำให้หมอสามารถตรวจดูว่ามีสีที่ฉีดเข้าไปรั่วที่บริเวณใหน  เพื่อประเมินการรักษาต่อไป

 

การรักษา

1.คุมระดับน้ำตาล 

วิธีการรักษา เบื้องต้นเลยก็คือว่า “คุมน้ำตาลให้อยู่หมัด” เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดถูกทำลายหนักกว่าเดิม และได้เปิดโอกาสให้มันได้ซ่อมแซมตัวมันเองบ้าง 

 

2. ในกรณีที่เป็นเยอะมากแล้ว คุมน้ำตาลก็เอาไม่อยู่แล้ว ก็ต้องเลเซอร์ แต่ต้องเข้าใจตรงกันว่า การยิงเลเซอร์ไม่ใช่ยิงแล้วมันจะรักษามันจะหายหรือยิงแล้วมันจะเห็นชัด เดี๋ยวจะไปเข้าใจว่า มีเลเซอร์แล้วฉันไม่ต้องคุมเบาหวาน เดี๋ยวถ้ามันขึ้นมาฉันก็ไปรักษาด้วยเลเซอร์ แบบนี้เรียก “โมหะ นะครับ หรือ มิจฉาทิฐฐิ ไม่ดี อย่าประพฤติ เพราะเลเซอร์มันเป็นแค่กระบวนการหยุดการลุกลามของโรค โดยแนวคิด คือ เซลล์ประสาทตามันกินเยอะ การกินเยอะทำให้ต้องใช้พลังงานมาก 

 

Diabetic Retinopathy Laser threatment : เป็นการรักษาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา โดยการใช้เลเซอร์ยิงทำลายเซลล์ของจอประสาทตา เพื่อลดการบริโภคของเซลล์ ทำให้ความจำเป็นในการใช้พลังงานลดลง จึงไม่ต้องสร้างเส้นเลือดขึ้นมาใหม่   

 

ดังนั้น ตรรกะพื้นฐานก็คือ ถ้าลดตัวกินลงได้ ความต้องการอาหารจะลดลง ความจำเป็นในการสร้างเส้นเลือดใหม่ก็ลดลง โอกาสที่เส้นเลือดสร้างใหม่ก็น้อยลง ดังนั้น ก็ใช้เลเซอร์ทำลายเซลล์ประสาท ฆ่าไอ้ตัวแย่งกินซะ มันจะได้กินน้อยๆ แค่เนี้ย..(จริงๆนะ) 

 

เอาหล่ะ พอหอมปากหอมคอ หวังว่าบทความเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับท่านที่กำลังสนใจเรื่องนี้ และมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองและคนที่ใกล้ชิด ให้มาดูแลสุขภาพตัวเอง ตรวจตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะกับผู้ที่มีพันธุกรรมเป็นเบาหวาน ก็อย่างลืมออกกำลังกาย ลดน้ำตาล ลดน้ำหนักกันด้วยนะครับ  

 

พบกันใหม่ตอนหน้าครับ  สำหรับตอนนี้ขอกล่าวคำว่าสวัสดี ขอบคุณสำหรับการติดตามนะครับ  ท่านที่ต้องการมาสกรีนเบาหวานขึ้นตานั้น ก็สามารถนัดเวลาเข้ามาตรวจได้ที่คลินิก  

 

ขอบคุณแฟนคอลัมน์ทุกท่านสำหรับการติดตาม  ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะให้ทุกคนเข้าใจธรรมชาติของพยาธิที่จะเกิดกับตัวเอง จะได้สามารถดูแลป้องกันตัวเองและคนใกล้ตัว ให้ปลอดภัยจากอันตรายจากเบาหวานขึ้นตา และก็อยากให้ผู้อ่านทุกท่านแชร์เรื่องราวนี้ออกไปเพื่อเป็นวิทยาทานให้กับคนที่กำลังเป็นเบาหวาน เขาจะได้รู้จักเบาหวานเหมือนที่เรารู้ และดูแลตัวเองได้ถูกต้องต่อไป 

ขอให้ทุกคนปลอดภัยและห่างไกลจากเบาหวานขึ้นตา 

สวัสดีครับ 

ดร.ลอฟท์


78 Wacharapod Rd ,Bnagkhen , BKK 10220

T.090 553 6554