"ปัญหากล้ามเนื้อตา ทำให้เรียนรู้ช้า"

สวัสดีครับ วันนี้แวะเข้ามาทักทายกันนิดหน่อยและวันนี้มีเรื่อง(สมมติ)สั้นๆมาเล่าให้ฟัง บางท่านสงสัยว่า 
#เอารูปจักรยานมาให้ดูทำไม” 

รูปจักรยานที่ผมเอามาให้ดูวันนี้ ไม่ใช่จักรยานธรรมดาที่เราพบเห็นได้ตามท้องถนน แต่เป็นจักรยานที่มีลักษณะพิเศษคือ“#ล้อดุ้ง” 

#จักรยานล้อดุ้ง” ทำให้เราสามารถจินตนาการความซับซ้อนของปัญหากล้ามเนื้อตา ทำให้เราเห็นภาพได้ว่า “เด็กที่มีปัญหาการมองเห็นและการทำงานร่วมกันของทั้งสองตา ทำให้เขาเรียนรู้ได้ช้าได้อย่างไร” หรือพูดให้เท่ๆ ว่า “Why binocular function anomalies and vision disorders cause learning disabilities in childhood ”

#จักรยานกับกามองเห็น

สมมติว่า ลูกหลานของเรา (หรือสมมติว่าเป็นตัวเราเองในสมัยเป็นนักเรียน) #เรียนเก่งมากๆ (สมมติครับสมมติ สมมติว่าเราเรียนเก่ง) เก่งเทพๆ หัวไว ครูชื่นชม ยกย่อง ว่าเก่ง ที่หนึ่งทุกปี 

แต่ในขณะเดียวกันก็มีเพื่อนร่วมห้อง (หรือสมมติว่าเป็นเราอีกเช่นกันในสมัยเป็นนักเรียน) เรียนรู้ได้ช้า อ่านหนังสือช้า อ่านไม่ช้า อ่านแล้วจำไม่ได้ อ่านกลับไปกลับมา จำไม่ได้ โดนครูด่า ครูให้ออกไปคิดเลขหน้ากระดานก็คิดไม่ออก โดนครูตี โดนครู(สมัยประถม)จิกกระโหลกโขกกับกระดาน พร้อมคำหยามหยัน (#ว่าเราแรงควายสมองหมาทั้งฟังทั้งน้ำตา...) บางคนสอบตก ซ้ำชั้น (สมัยนั้นเป็นแบบนั้นถ้าใครตอนนี้อายุสัก 30 ปีขึ้นไปคงเคยเห็น) 

ซึ่งบางทีเราก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเพื่อนเราถึงตอบไม่ได้(ขนาดนั้น) แล้วทำไมเพื่อนเราบางคนถึงตอบได้ เรียนรู้ได้เร็ว เด็กคนนั้นเป็นคนโชคดีอย่างนั้น หรือมีพรสวรรค์อย่างนั้นหรือ หรือเพื่อนเราเป็นคนมีเวรมีกรรมอย่างนั้นหรือ จริงๆแล้วเพื่อนเราเขาอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการมองเห็นก็ได้ (vision disorder)

#การแข่งขันในห้องเรียนเหมือนการแข่งขันจักรยาน

ลองสมมติว่า การเรียนในห้องเรียนก็เหมือนกับการแข่งขันปั่นจักรยาน (เพราะมีการลำดับคะแนนการสอบ) การที่เราสามารถปั่นจักรยานเข้าเส้นชัยได้ อาจะเป็นเพราะจักรยานเราดี ล้อเราดี ดุมล้อเราดี 

แต่เพื่อนเราที่เข้าเส้นชัยไม่ได้ ดูภายนอกแม้เขาจะดูมีกล้ามเนื้อ มีแขนขาสมบูรณ์ แต่ที่เขาไปถึงเส้นชัยได้ช้ากว่าเรา หรือไปไม่ถึงเส้นชัย “#ล้อเขาอาจจะเบี้ยวอยู่ก็ได้” ทำให้เขาต้องใช้พลังงาน ใช้แรงสูงกว่าเราหลายเท่า สุดท้ายเขาก็อาจจะยอมแพ้และลาออกจากการแข่งขันไปเลย ชอบขาดเรียน ไม่เข้าห้องเรียน กลายเป็นเด็กมีปัญหา เกเร เพื่อสร้างจุดเด่นก็เป็นได้

#ล้อจักรยานที่พาจักรยานไปสู่เส้นชัย” ก็เหมือนกับ “#การทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อตา” 

ที่เขาอ่านหนังสือไม่ได้ อ่านได้ไม่นาน อ่านแป๊บเดียวก็ปวดหัว คลื่นไส้ อยากอ๊วก อ่านแล้วไม่จำ อ่านตัวหนังสือกระโดดไปกระโดดมา กลับไปกลับมา ทำให้เนื้อหาที่อ่าน(กลับไปกลับมา)นั้นทำให้การเรียบเรียงข้อมูลเพื่อส่งไปสู่สมองไม่เป็นระเบียบ เป็นข้อมูลกะปริบกะปรอย โดดไปโดมา ทำให้การตีความของสมองนั้น ผิดพลาด กลายเป็นยิ่งอ่านยิ่งจำไม่ได้ อ่านวนไปวนมาหน้าเดียวเป็นชั่วโมง ปวดหัว เลิกอ่านฉิบ กลายเป็นเด็กขี้เกียจ โดดเดี่ยว โดนด่า เพื่อนไม่คบ หนีโรงเรียน กลับบ้านก็โดนแม่ด่า หาว่าขี้เกียจอ่านหนังสือ

“Vision not just a VA”

พ่อแม่ไม่สบายใจเห็นลูกไม่ชอบอ่านหนังสือ เลยพาไปตัดแว่น พอไปวัดแว่น เครื่องคอมพ์ 5 วินาที ได้ค่าสายตา 0.00 (ไม่มีสายตา) และ VA ตาเปล่าไม่ใส่แว่น ก็อ่านได้แถว VA 20/20 คมชัดทั้งสองตาโดยไม่ต้องใช้แว่น (หรืออาจจะได้แว่นตัดแสงสีน้ำเงินไปก็ได้) 

ไปหาหมอ หมอบอกตาปกติ สุขภาพตาแข็งแรง เห็นชัดแจ๋ว โดนหมอบ่นอีก มาทำไมสายตาดีขนาดนี้ เห็นหมอว่างนักหรือไง (ว่าไปนั่น) 

กลับบ้านโดนแม่ด่าต่อ บอก “เห็นไหม หมอก็บอกว่าตาปกติ สายตาก็ไม่มี ผิดที่เธอนั่นแหล่ะไม่ชอบอ่านหนังสือ ฉันหล่ะผิดหวังกับเธอจริงๆ” ถึงบ้านโดนบังคับให้อ่านหนังสือ พ่ออ่านแล้วปวดหัวไม่อยากอ่านก็โดนหาว่าขี้เกียจ ก็ได้แต่ทนดูๆไป อ่านไปส่งเดช ตามองแต่ใจไปไหนไม่รู้ เบื่อชีวิต ชีวิตเฮงซวย ไม่มีใครเข้าใจ แม้แต่แม่ที่อยู่ใกล้ชิดเรามากที่สุด ก็ยังไม่เชื่อว่าเราปวดหัว เพราะใครๆก็บอกว่าตาเราเห็นชัดปกติ 

"In the conversely" 

ในทางกลับกัน ถ้าบังเอิญแม่เด็กคนนั้นได้พาไปพบกับคนที่เข้าใจปัญหาเรื่องการมองเห็นและเข้าใจถึงปัญหาการทำงานร่วมกันของสองตาอย่างแท้จริง และคนตรวจเข้าใจว่า #เด็กเห็นอะไร #เห็นอย่างไร #รู้สึกอย่างไร เด็กก็จะรู้สึกว่ามีคนเข้าใจ และยินดีที่เข้ารับการรักษา รับการบำบัด เช่น อาจจะด้วยแว่นสายตา แว่นปริซึม หรือการบริหารการมองสองตาไปพร้อมๆกัน และพ่อแม่เมื่อเข้าใจ ก็ให้กำลังใจลูก เป็นกำลังใจให้เขา และช่วยให้การเรียนรู้ของเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ 

“ประปัญหาสายตาจริงยิ่งกว่าจักรยาน”

ล้อเบี้ยว ยังมีส่วนดี เพราะเห็นได้ชัดๆว่าล้อเบี้ยว แต่ปัญหากล้ามเนื้อตานั้น มันมองด้วยตาเพียงกายภาพไม่เห็น เพราะภายนอกปกติ ซึงต้องเช็คฟังก์ชั่นการมองเห็นของทั้งสองตาเช่น เช็คความคมชัด ว่าคมชัดแบบคนปกติไหม หรือว่าชัดแบบคนสายตายาว(Hyperopia) หรือว่าการทำงานร่วมกันของสองตานั้นปกติไหม เลนส์ตาฟังก์ชั่นดีไหม การ synchronize ของตาทั้งสองข้างนั้นเป็นไปอย่างปกติไหม 

What’s the good vision ?

การมองเห็นที่ดี ( the Good Vision) นั้นมีอะไรที่ละเอียดและซับซ้อนกว่าความคมชัด(Visual Acuity,VA) มาก

เนื่องจาก Visual Acuity หรือความคมชัดที่เราเรียกว่าการตรวจ VA เช่นคนไข้มองเห็นชัดเท่ากับคนปกติ คืออ่าน VA ได้ค่า 20/20 นั้น อาจจะเกิดขึ้นในภาวะที่ไม่ปกติก็ได้ ...

เช่น คนไข้สายตายาว(Hyperopia) +0.5,+1.00, +1.50,+3.00 ...+5.00 etc. ก็อาจเห็น VA 20/20 ได้จากการพยายามโฟกัส(accommodation)ของเลนส์แก้วตา 

หรือจากการวัดสายตาที่ผิดเช่น คนไข้สายตาสั้นจริง -1.00 D ,แต่ไปใส่เลนส์เบอร์ผิด(เบอร์สั้นที่มากกว่าสายตาจริง ) เช่นอาจใส่เลนส์ -1.00 -1.25,-1.50,-1.75,-2.00,-3.00 ก็อ่าน VA ได้ 20/20 เช่นกัน 

แล้วคำว่า #ชัดแปลว่าอะไร หรือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าVAของเรา20/20 นั้น ตอนนี้สายตาเราพอดี หรือว่าสายตาสั้นมันเกินมาอยู่ แล้วเลนส์ตาเราก็เพ่งสู้เอา 

ซึ่งอาการจากสายตาผิดที่ออกมาก็คือ ชัดแต่มึน ปวดหัว คลื่นไส้ อยากอ๊วก เมื่อยตา ตาล้าง่าย และมักจะโดนบอกให้ “ปรับตัว” บ้านเราคุ้นชินกับคำนี้ เหมือนประหนึ่งว่า จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ รับคำนี้เวลารับแว่นใหม่ แล้วก็มีคำถามต่อไปว่า แล้วต้องปรับตัวนานแค่ไหน ซึ่งคำตอบที่คาดหวังได้คือ “แล้วแต่คน” อันนี้คือเรื่องที่มันเกิดขึ้นในบ้านเรา 

แต่ผมบอกคนไข้ผมทุกคนว่า  #สายตาที่ถูกต้องจริงๆไม่ต้องการเวลาในการปรับตัวเข้าหาสายตา ถ้าจะมีก็เช่นปรับตัวหาโครงสร้างโปรเกรสซีฟบ้าง แต่ไม่ใช่ปรับหาสายตา เพราะรองเท้าที่ใช่เบอร์ของเรา อาจจะใส่แปลกๆบ้างในครั้งแรก แต่ใช้เวลาแป๊บเดียวก็สบายได้แทบจะในทันที 

ดังนั้นถ้าเป็นเลนส์ชั้นเดียว(single vision) คนไข้สามารถปรับตัวได้ในทันที ส่วนเลนส์โปรเกรสซีฟอาจใช้เวลา 1-2 วัน พอเข้าวันที่ 3 ก็จะแทบไม่รู้สึกอะไรแล้ว และหลายๆคนสามารถปรับตัวได้ในทันที 

ดังนั้น #คนที่ใส่แว่นไม่ได้หรือคนที่ใส่โปรเกรสซีฟไม่ได้ไม่มี เพราะส่วนตัวไม่เคยเห็น ใครใส่ไม่ได้ เพียงแต่มันมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องควบคุม 

กลับมาที่จักรยาน....

ขอยกตัวอย่างปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น (Vision disorder) ที่ไม่ใช่ปัญหาความคมชัด เช่น

ปัญหาจากกล้ามเนื้อตา (Vergence Dysfunction)
#Convergence insufficiency : กำลังเหลือบเข้า..ไม่พอ
#Divergence excess : เหลือบออก..ทำงานมากไป
#Basic exophoria : ตาเหล่ออก..แบบซ่อนเร้น
#Convergence excess : เหลือบเข้า..มากเกินไป 
#Divergence insufficiency : แรงเหลือบตาออก...ไม่พอ
#Basic esophoria : ตาเหล่เข้าแบบซ่อนเร้น
#Fusional vergence dysfunction : การรวมภาพ...มีปัญหา
#Vertical phoria :เหล่ซ่อนเร้น...สูง/ต่ำ

หรือปัญหาที่เกิดขั้นจากการทำงานของระบบโฟกัสของเลนส์ตาได้แก่ (Accommodative Dysfunction)
#Accommodative insufficiency : เลนส์ตาเพ่งไม่ได้...เนื่องจากกำลังเพ่งไม่พอ 
#Ill-sustained accommodation : เลนส์ตาเพ่งดูใกล้ต่อเนื่องได้ไม่นาน
#Accommodative infacility : โฟกัสช้า...เมื่อเปลี่ยนระยะการมอง
#Paralysis of accommodation : โฟกัสไม่ทำงาน 
#Spasm of accommodation : โฟกัสค้าง...ไม่สามารถเปลี่ยนระยะการมองได้

และจริงๆก็มีความรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกมาก 

ดังนั้น การมาวัดตา ไม่ได้มาวัดเพียงแค่ว่า ให้ชัดหรือไม่ชัด เพราะนั่นเป็นเพียงตัวแปรเล็กๆ ตัวหนึ่งเท่านั้น แต่การที่จะทำให้การมองเห็นนั้นสมบูรณ์แบบ และมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ต้องการการทำงานร่วมกันเป็นทีมของกล้ามเนื้อตาทั้ง 6 มัดของตาแต่ละข้าง เพื่อจะคุมตาทั้งสองนั้นให้สามารถทำงานร่วมกันแล้วเกิดเป็น binocular vision ได้ และเลนส์แก้วตาต้องทำงานให้เหมาะสม กับในแต่ละระยะที่มอง 

การที่เราจ่ายค่าสายตาที่ถูกต้องจะช่วยให้การทำงานของเลนส์ตาและกล้ามเนื้อตาเมื่อถูกกระตุ้นให้มองในแต่ละระยะต่างๆนั้นเป็นไปอย่างสมดุล ทำให้ดูได้นานไม่เมื่อยล้า สัญญาณที่ส่งเข้าสมองก็ทำงานได้ดี มีเสถียรภาพ ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว เรียนได้นาน 

แต่ถ้าหากว่าเรา จ่ายเลนส์สายตาผิด จะทำให้การตอบสนองของเลนส์ตาและกล้ามเนื้อตานั้นเสียสมดุล เนื่องจากการ over stimulate จะทำให้ร่างกายต้องพยายามออกแรงชดเชยเพื่อรักษาสมดุล ผลคือ ตาล้า เมื่อยตา ปวดตา คลื่นไส้ อ่านหนังสือ หรือมองไกล ไม่ทน สมองไม่จำ 

#ฝากถึงผู้ปกครอง

พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน หากพบความผิดปกติ อย่านิ่งนอนใจ พาเขาไปตรวจโดยละเอียด การตรวจละเอียดไม่ใช่เอาคางวางหน้าผากชิด ยิงคอมพ์ ห้าวิ แล้วบอกว่าสายตาเท่าไหร่ อันนั้นไม่ใช่ในความหมายที่ผมพูดถึง 

แต่ผมหมายถือคือไปตรวจทั้งการมองเห็น และการทำงานร่วมกันของทั้งสองตา กับนักทัศนมาตร เพื่อหาความผิดปกติ ถ้าหาแล้วพบว่าฟังก์ชั่นปกติ ซึ่งเรามีวิธีตรวจที่จับโกหกได้ หรือตรวจแบบไม่ต้องให้เด็กตอบสักคำ ก็ทำได้ จริงๆนักทัศนมาตรทำได้ทุกคน ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ ก็จะได้รู้ว่าเด็กเรามันขี้เกียจเอง ถ้าอย่างนั้นก็ต้องหาทางอบรมสั่งสอนกันต่อไป 

นานๆ เขียนทีก็บ้าน้ำลายแบบนี้หล่ะครับ 

ช่วงนี้หลักๆของผมก็อ่านอย่างเดียวครับ การสอนคนนี่เราต้องอ่านเยอะ อ่านกว้าง และลงลึก เพราะอยากให้เขาได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะเรามีเวลากันสั้นๆ 80 กว่า ชั่วโมงเท่านั้น สำหรับวิชาที่ผมดูและ ก็อยากให้เขาเท่าที่ความรู้ผมจะมี และเท่าที่ผมจะหาเพิ่มให้เขาได้ เพราะเด็กๆตั้งใจเรียนกันมาก เรียนรู้ได้เร็ว ไปได้ไว มีวินัย เข้าเรียนตรงเวลา “#ดูรวมๆแล้วมีสเน่ห์เหลือเกิน” 

ดังนั้นเรื่อง topic เกี่ยวกับความรู้ต่างๆ จะมีเวลาอีกที ก็น่าจะปลายๆเดือนนี้ เพราะปิดคอร์สพอดี และช่วงนี้ถืออยู่ในช่วงการไว้อาลัย เป็นช่วงความโศกเศร้าเสียใจ จากการจากไปของพ่อหลวงของเรา ถือเป็นช่วงที่เราได้ #หยุดพัก #หยุดคิดทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา มีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ก็ปรับแก้กันต่อไป วันนี้พ่อไม่อยู่แล้ว แต่มรดกที่พ่อฝากมรกดให้พวกเราทุกคนคือ แนวทางของ "#ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ผมต้องขอบคุณแนวคิดนี้ ที่ทำให้ผมมีจุดยืนที่มีความสุขอย่างในวันนี้ ไม่ทุกข์ ไม่ร้อน มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ไม่หวั่นไหวไปตามภาวะการขึ้นๆลงๆของเศรษฐกิจ เพราะรู้จักความพอในใจ และขอปฏิญาณว่าหากมีบุญจะขอเกิดเป็นข้ารองพระบาทของพระองค์ไปในทุกๆภพทุกชาติ และคำหนึงที่ติดหูผมมากตอนนี้คือ "บอกรักพ่อ...ด้วยการตามรอยพ่อ" ไว้ทุกข์แล้วเดินตามรอยพ่อต่อไปครับ และนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่พ่ออยากให้เราเป็นมากที่สุด 

ขอบคุณครับสำหรับการติดตาม 

ดร.ลอฟท์