clinical news

สายตาคน...เปลี่ยนได้บ่อยแค่ไหน

เรื่องโดย ดร.ลอฟท์​

แก้ไขเมื่อ 21 พ.ค.2562

 

 

บทนำ

วันนี้เอาเรื่องง่ายๆที่มักจะตายน้ำตื้นกันได้ง่ายๆนั่นก็คือเรื่อง “สายตาสั้น ยาว เอียง” ที่คุ้นเคยกันนั่นแหล่ะ  ซึ่งจะว่ากันไปแล้ว ดูเหมือนจะไม่อะไร แต่เชื่อไหมว่า แว่นที่ใส่แล้วเวียนหัว โปรเกรสซีฟเลนส์ที่ใส่ได้หรือใส่ไม่สบาย หรือแม้แต่เลนส์ชั้นเดียวธรรมดา ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาหลักเกิดจากการใช้สายตาไม่ถูกทั้งนั้นและเกือบทุกคนมักจะเข้าใจผิดว่า “การวัดสายตา..ถ้าเห็นชัดก็แปลว่าจบแล้ว” ซึ่งความเป็นจริงการตรวจสายตาที่ถูกต้องนั้น “ไม่ใช่เอาแค่ชัด” และอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัญหามากเลยก็คือว่า “สายตาคนเราเปลี่ยนบ่อยจริงๆหรือ  หรือว่าสายตาที่วัดได้ไม่ใช่สายตาที่ถูกต้องของเรา”

 

ดังนั้น วันนี้มาเข้าใจพื้นฐานการวัดสายตากัน แต่ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจปัญหาสายตา เราไปทำความรู้จัก “สายตาปกติ” กันก่อนว่า “การที่จะเรียกว่าคนสายตามองไกลปกตินั้นต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง” ไปดูกัน

 

ตรวจสายตาไม่ใช่แค่วัดเอาชัด

จริงอยู่ว่า การตรวจสายตาหรือวัดตานั้น วัดเพื่อให้มองเห็นไกลชัดเหมือนคนปกติ แต่การวัดตาแล้วเอาแค่ชัดนั้น ไม่ได้แปลว่าเราได้ค่าสายตาที่ถูกต้องเหมือนคนปกติเสมอไป มันถึงได้เกิดมีคำว่า อย่าเอาชัด เพราะเดี๋ยวถ้าชัดแล้วจะปวดหัว” ซึ่งเรื่องชัดแล้วปวดหัวนี้ไม่ใช่เรื่องจริง  แต่เกิดจากการใช้สายตาที่ไม่ถูกหรือไม่ตรงกับค่าสายตาจริงต่างหาก

 

ดังนั้น การตรวจสายตาที่ถูกต้องนั้น จึงไม่ได้มุ่งเอาเพียงให้คนไข้ชัดแล้วอ่านแถว 20/20 ได้ แล้วแปลว่าสายตาปกติ งานจบ และอยากจะให้คิดตามนิดหนึ่งว่า  สมมติว่าคนไข้ อายุ 10 ขวบ (ซึ่งมีกำลังเพ่งของเลนส์ตาอยู่เยอะ) มีสายตาสั้นแท้จริงอยู่ -1.00D  ซึ่งเด็กสามารถอ่าน 20/20 ได้ทุกบรรทัด (หรือเล็กกว่านั้นก็สามารถอ่านได้)  แต่เมื่อเราค่อยๆเพิ่มค่าสายตาเป็น  -1.25, -1.50 , -1.75, -2.00 ,.. .,-3.00 ,-3.50 .. เพิ่มไปเรื่อยๆ เด็กก็ยังสามารถอ่าน 20/20 ได้อยู่ดี   แล้วสายตาที่แท้จริงนั้นอยู่ตรงไหน เพราะไม่ว่าค่าสายตาไหนก็อ่านได้ 20/20 ทุกบรรทัด และจะเป็นอย่างไรถ้าหากว่าเรานั้นจ่ายค่าสายตา -2.00D ให้เด็ก (ทั้งๆที่ค่าสายตาจริงเพียง -1.00D)

 

ผลก็คือ เลนส์แก้วตาต้องทำงานหนักตลอดเวลา และทุกครั้งที่เด็กคนนี้ใส่แว่นสายตาที่เกินจริง เด็กจะดูแล้วคมชัดมาก ชัดแบบบีบบังคับๆ ชัดแบบจ้าๆ ใส่สักพักจะเมื่อยตา ล้าตา แสบตา ปวดหัว คลื่ไส้ ดูใกล้นานๆไม่ได้ และอาการจะหนักมากขึ้นในวัยผู้ใหญ่ที่มีกำลังเพ่งของเลนส์แก้วตาอยู่น้อย และเรามักจะได้ยินคำแนะนำจากคนวัดตาว่า ทนๆไปก่อนเดี๋ยวก็ชิน และมันจะชินจริง แต่ส่ิงที่เกิดขึ้นกับความชินนั้นร้ายยิ่งกว่า เพราะกล้ามเนื้อตาจะทำงานไม่สมดุลและอาจเกิดเป็นตาเหล่เข้า หรือเหล่เข้าซ่อนเร้นได้ในคนไข้บางคน  เรื่องการปรับตัวนั้นอาจมีอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ไม่ควรเกิน 1-2 วัน  ไม่ต่างกับการใส่รองเท้าที่ซื้อมาใหม่  อาจจะต้องทำความคุ้นเคยกันบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าใส่จนตีนเปิดแล้วยังใส่ไม่ได้ แบบนั้นเรียกว่ารองเท้าคับเกินไป  ไม่ใช่เบอร์รองเท้าของเรา ยิ่งปรับตัวตีนยิ่งพัง ดีไม่ดีมีแผลเปิด เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซวยอีก 

 

ทำไมสายตาเปลี่ยนบ่อย

อีกกรณีหนึ่งที่พบบ่อยคือ “ทำไมสายตาถึงเปลี่ยนบ่อย”  สิ่งที่ต้องถามกลับคือ “ที่สายตาเปลี่ยนบ่อยนั้น  เปลี่ยนจริงๆหรือวัดตาผิดกันแน่” 

เพราะจากงานวิจัยที่เขียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของแต่ละวัย ที่ผมได้เขียนแปลไว้ให้อ่านแล้วตามลิ้งค์ที่แนบมานั้น เห็นได้ชัดว่า หลังวัย 22 ปี ไปแล้วนั้น สายตามีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก  ดังนั้นการที่วันเดียวกัน วัดแว่น 10 แห่ง ได้มา 10 ค่านั้น  มันเกิดจากอะไร   สายตาที่เปลี่ยน เปลี่ยนจริงๆ หรือ วัดค่าที่ได้ออกมาผิดกันแน่ 

 

คำอธิบายในเรื่องนี้นั้นเราจะต้องเข้าใจหลักฟิสิกส์พื้นฐานในการหักเหแสงก่อนว่า  ดวงตาของเรานั้นมีระบบหักเหแสงตามธรรมชาติหรือเป็นชุดเลนส์ตามธรรมชาติ (Natural Optical System) ประกอบไปด้วย ชั้นน้ำตา(tear film) กระจกตา(cornea) และเลนส์แก้วตา(crystalline lens) ซึ่งสามารถปรับโฟกัสด้วยตัวมันเองได้  และถ้าเราสังเกตุเราจะเห็นว่า ชุดเลนส์ตามธรรมชาตินั้นจะมีลักษณะที่โค้ง (Curve) ทั้งหมด  น้ำตาที่ฉาบกระจกตาอยู่ก็โค้ง  กระจกตาก็โค้ง และเลนส์แก้วตาก็โค้ง  นั่นหมายความว่า  ความโค้งทำให้เกิดค่ากำลังหักเห (power) ของแสง  เมื่อโค้งเปลี่ยนค่ากำลังหักเหแสงก็เปลี่ยน  ดังเราจะเห็นบนเลนส์แว่นตาได้ว่า แว่นแต่ละคนนั้นหนาบางไม่เท่ากัน ซึ่งแท้จริงก็คือความโค้งบนผิวเลนส์ไม่เท่ากัน  เมื่อโค้งเปลี่ยนค่าสายตาจึงเปลี่ยน หรือถ้าจะมองดูรอบๆตัว อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการหักเหแสงจะมีลักษณะของเลนส์โค้งๆทั้งหมด รวมถึงเลนส์กล้องถ่ายรูปด้วย 

 

แล้วอะไรที่สามารถทำให้โค้งของกระจกตาหรือเลนส์แก้วตาเปลี่ยน ก็คือร่างกายที่เจริญเติบโตขึ้นมาก ตัวใหญ่ขึ้น ลูกตาใหญ่ขึ้น  ความยาวของกระบอกตายาวขึ้น และโค้งของกระจกตาก็มีการเปลี่ยนแปลงตามไป และร่างกายจะโตเต็มวัยเมื่ออายุประมาณ 20-22 ปี ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาจะเปลี่ยนเร็วในเด็กซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต และการเปลี่ยนแปลงค่าจะสายตาจะน้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เพราะร่างกายคงที่แล้ว 

 

ที่นี้เรามาคิดต่อกันว่า  แล้วตอนนี้ เราอายุก็เลย 20 มาไกลแล้ว ทำไมสายตามันยังเปลี่ยนบ่อย  ผมถึงต้องกลับไปถามต่อว่า “สายตาเปลี่ยนจริงๆ หรือวัดสายตาผิดกันแน่” เพราะสายตาเปลี่ยนหลังอายุ 22 ปี นั้นจะเปลี่ยนแปลงช้ามากๆ (แต่ก็มีบ้างเหมือนกัน)

 

ดังนั้นถ้าเปลี่ยนทุกครั้งที่วัดสายตา ก็น่าจะเกิดจากการวัดตาผิดมากกว่า แต่เรื่องจริงที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ คนไข้คนเดียวกัน ให้ 10 คนวัดสายตา จะได้ค่าสายตาไม่เหมือนกัน หรือจะวัดด้วยคอมพิวเตอร์ 10 เครื่อง จะได้ค่าสายตามากกว่า 10 เบอร์ค่าสายตา (เพราะเครื่องยิงแต่ละครั้งจะยิ่งซ้ำมา 5 ค่าสายตา/ข้าง แล้วเฉลี่ยเอา) และเครื่องแต่ละตัวก็มาตรฐานไม่เหมือนกัน หรือต่อให้เป็นเครื่องเดียวกัน ก็ยิ่งค่าสายตาออกมาต่างๆกัน ถ้าผู้ที่ถูกตรวจนั้นเปลี่ยนเป้ามองในเครื่อง เช่นมองบอลลูน  มองพงหญ้า หรือมองภูเขาที่อยู่ไกลออกไป ค่าจะไม่เหมือนกัน  

 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องถามตัวเองคือสายตาเราเปลี่ยนตลอดเวลาที่วัดเลยหรือเปล่า   คำตอบคือเปล่า แต่มันไม่ใช่ค่าสายตาที่แท้จริงต่างหาก  ถ้าสายตามันถูกต้อง มันจะนิ่งและวัดซ้ำ จะได้ค่าเดิมเสมอ (หรือไม่ก็เปลี่ยนชนิดที่ make sense) และสายตาเอียง รวมถึงองศาเอียงจะคงที่  เว้นแต่มีพยาธิสภาพอย่างอื่นเช่นเป็นโรค  keratoconus  หรือเป็นโรคจอประสาทตาบวม เป็นต้น 

 

เป็นไปได้อย่างไร ที่คอมพิวเตอร์วัดสายตารุ่นแพงๆ ราคาร่วม 2 ล้านจะวัดค่าออกมาไม่ถูก 

จริงๆ เรื่องนี้ก็ไม่แปลกอะไร  เพราะถ้าเครื่องมันดีขนาดนั้น คงไม่จำเป็นต้องมีการเรียนการสอนทัศนมาตรเกิดขึ้นในสากลโลก  และเหตุผลที่แท้จริงของ ดวงตาของมนุษย์นั้นเป็นระบบพลวัติ หรือ Dynamic คือมีการขยับไปขยับมาตามการทำงานของระบบ accommodation   แต่เครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์นั้น ทำงานแบบคงที่ หรือ Static ดังนั้นมันจะจับค่าสายตาออกมา ณ moment หนึ่งๆของตาขณะที่กำลังอยู่ในระบบ Dynamic อยู่  ดังนั้นค่าที่ได้จึงเป็นค่าจริงที่ moment หนึ่งเท่านั้น ใจช่วงเวลาหนึ่ง ในบริบทหนึ่ง หรือ algorithm หนึ่งที่มันจะได้รับข้อมูลมาเท่านั้น  ค่าที่ได้จึงมักเป็นค่าที่ขึ้นตัวแปรหลายๆอย่างที่ทำให้เกิดการเพ่งของเลนส์ตา  แต่เมื่อเราตรวจหาค่าสายตา เรากำลังมองหาสายตาขณะที่เลนส์แก้วตาไม่มีการเพ่ง ซึ่งเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก target ที่ให้มองนั้นไม่ได้อยู่ที่ระยะอนันต์  

 

การวัดสายตามันวัดยากขนาดนั้นกันเลยหรือ 

หลายคนไม่เข้าใจ เห็นร้านแว่นผุดขึ้นยิ่งกว่าร้านสะดวกซื้อ ก็ไปเข้าใจไปเองว่า การตวรจสายตาเป็นเรื่องง่าย เพราะเห็นใครๆเขาก็ทำกัน อย่างที่ได้พูดไว้ข้างต้นว่า ถ้าจะเอาแค่ชัดเห็น 20/20 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ถ้าจะชัดแบบ 20/20 แล้วเป็นค่าสายตาจริงแท้และไม่เปลี่ยนแปลงแล้วหล่ะก็ ยากกว่ามาก

 

ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจกับตัวแปรว่าทำไมการวัดสายตาผิดนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมากๆ  (มีระบบไม่คงที่เกิดขึ้นขณะวัดตา) และการวัดสายตานั้นไม่ไช่การดูเพียงกายภาพหรือดูแค่ physical ที่สามารถมองเห็นความผิดปกติได้ด้วยตาเนื้อ แต่เป็นการดู Functional เพื่อไปประเมินดูว่า Functional  ที่ผิดปกตินี้ จะส่งปัญหาต่อการใช้ชีวิตกับคนไข้อย่างไรบ้าง ทำให้ performance  ของการมองเห็นอะไรที่ผิดปกติไปบ้าง  เช่น ตาเหล่ซ่อน(phoria) เร้น หรือกำลังเพ่งล้า(accommodative insufficiency) หรือแรงในการเหลือบตาเข้าไม่พอ (convergence insufficiencey) เป็นต้น เหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อ แต่ต้องใช้เครื่องมือในการวัดสเกลของระบบการทำงานของเลนส์ตา (binocular function) ว่าการทำงานเป็นปกติหรือไม่ โดยได้ค่าเป็นตัวเลขสเกลออกมา แล้วเอาตัวเลขนี้ไปประเมินความผิดปกติ แล้วทำนายปัญหาของการใช้ชีวิตของคนไข้  

 

ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน เพราะถ้าได้สเกลมาผิด การตีความก็จะผิดไปด้วยเช่นกัน และเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ fucion นั้นก็มีมากมายและหลากหลายมาก และไม่สามารถใช้เทสใดเทสหนึ่งแล้วไปสรุปเอาว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะต้องเอาหลายๆเทสแล้วมาประเมินดูว่า สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ แล้ว finally ควรจะ corrected ที่เท่าไหร่ ถึงจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีที่สุด  ยากนะ  Art of Optic Physic  Ophthalmic Optic  and Psychology  =  งานของนักทัศนมาตร

 

การแก้สายตาเพื่อให้เห็นชัดเหมือนคนปกติ

จุดประสงค์ของการวัดสายตานั้น เป็นการวัดเพื่อแก้ให้สายตาที่ผิดปกติ (Ametropia) ให้กลายเป็นสายตาปกติ(Emmetropia) ดังนั้นการที่จะวัดตาให้ถูกต้องนั้น ต้องทำความเข้าใจ นิยามของสายตาปกติก่อน ถ้าไม่เข้าใจว่าสายตาปกติคืออะไรแล้วจะแก้สายตาที่ผิดปกติให้กลายเป็นปกติได้อย่างไร 

 

นิยามของสายตาปกติ คือ “แสง…เดินทางจากอนันต์…เมื่อผ่าน Optical System ..แล้วเกิดการหักเห..ไปตกบนจอรับภาพพอดี...โดยที่เลนส์แก้วตาอยู่ในภาวะผ่อนคลาย”

 

มีหลายคำที่ต้องเข้าใจในประโยคนี้คือ 

1.แสงจากอนันต์...ส่ิงที่มันจะต้องเกิดขึ้นมาในใจเราคือ มีอะไรอยู่ที่อนันต์..ทำไมต้องแสงจากอนันต์ อนันต์คือระยะแค่ไหน  ใกล้สุดของอนันต์นั้นใกล้แค่ไหน  ถ้าใกล้กว่าอนันต์แล้วจะเกิดอะไรขึ้น 

2.ผ่าน Optical System  หรือระบบหักเหแสงของดวงตาที่ได้พูดไปแล้วข้างต้น  ซึ่งมีอยู่ 2 ตัวหลักคือกระจกตา (cornea) ซึ่งเป็นโค้งที่คงที่ ,และเลนส์อีกชิ้นคือ เลนส์แก้วตา (Crystalline lens ) ซึ่งเป็นเลนส์ที่สามารถปรับ(adjust)ตัวมันเองเพื่อบังคับแสงให้ตกบนจอรับภาพได้ (varies power lens) ซึ่งเราเรียกว่ากระบวนการ Accommodation  

3.เลนส์ตาอยู่ในภาวะผ่อนคลาย หรือ Relax Accommodation  ซึ่งส่ิงคำถามที่เกิดขึ้นมาใจเราคือ  “เมื่อไหร่ที่เลนส์ตาจะคลายตัว” และ “จะรู้ได้อย่างไรว่าเลนส์แก้วตาคลายตัว” และถ้าหากว่าเราวัดขณะที่เลนส์ตาไม่คลายตัวจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง  ซึ่งตัวนี้แหล่ะเป็นตัวที่สร้างปัญหาให้เกิดความผิดพลาดของค่าสายตา 

ซึ่งจะไล่ดูกันเป็นข้อๆก็แล้วกัน 

 

1.“แสงจาก...อนันต์”ต่างจากแสงจากระยะใกล้อย่างไร 

ลักษณะแสงที่มาจากอนันต์ต่างจากแสงที่ระยะใกล้คือ “แสงที่เดินทางจากระยะไกลนั้น จะเป็นลักษณะของแสงขนาน (parallel ray) ซึ่งต่างจากแสงที่เดินทางจากระยะใกล้จะเป็นแสงถ่าง (diverge ray)  ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงคลื่นน้ำ เพราะแสงก็คือคลื่นเหมือนกัน ดังนั้นใช้หลักคลื่นอธิบายกันได้ 

 

ให้นึกถึงน้ำทะสาบที่เงียบสงบและไร้คลื่น  แล้วเราหยิบก้อนหินมาก้อนหนึ่ง แล้วโยนเข้าไปในน้ำ  มันจะเกิดคลื่นเกิดขึ้นรอบตำแหน่งของหินที่ตกลงไปเป็นวงกลม และแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ  คลื่นที่อยู่ใกล้ตำแหน่งที่ตกจะโค้งมากที่สุด  และจะโค้งน้อยลงเมื่อเคลื่อนที่ห่างออกไป  และเมื่อไกลมากๆ คลื่นโค้งจะกลายเป็นหน้าคลื่นที่เป็นเส้นตรง (เหมือนคลื่นชายทะเล) นั่นแหล่ะ ที่เรียกว่า Wave front ที่มาจากอนันต์ ซึ่งเดินทางขนานกันมาเป็นเส้นตรง 

 

ทำไมต้องวัดตาที่แสงขนานที่มาจากอนันต์​

การตรวจสายตาไม่เหมือนกับการวัดแว่น เพราะการวัดค่ากำลังแว่นนั้นเป็นการวัดระบบที่คงที่ (Static) คือกำลังเลนส์มีค่าคงที่แล้วเราก็เอาแว่นไปวัดกับเครื่องวัดกำลังเลนส์แบบอัตโนมัติ  ในขณะที่การตรวจสายตานั้นเป็นการตรวจสอบระบบที่สามารถมีการเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา (Dynamic) และมีการตรวจฟังก์ชั่น ตรวจความผิดปกติของแสง ตรวจความสมดุลของกล้ามเนื้อตาทั้งสองข้าง ซึ่งต้องใช้ทั้งศิลปะศาสตร์และชีวะฟิกส์และจิตวิทยาเข้ามากำกับ

 

 

ดังนั้นการวัดสายตาจึงเป็นการวัดตำแหน่งของธรรมชาติแสงที่ไปตกลงบนจอรับภาพหลังหักเหผ่านระบบเลนส์ของตา แล้วใช้เลนส์สายตาเพื่อบังคับแสงให้รวมกันเป็นจุด (focal pin point sharp image) แล้วบังคับให้โฟกัสไปตกบนจุดศูนย์กลางการับภาพ (fovea)  ดังนั้นการจะวัดสายตาต้องวัดบนพื้นฐานว่าแสงต้องมีการการเดินทางในวิถีตามธรรมชาติ (ไม่ลู่เข้า หรือถ่างออก) แล้วเราดูธรรมชาติมันว่าเมื่อวิ่งผ่านระบบหักเหแสงของดวงตาแล้วเกิดหักเหนั้น จุดโฟกัสไปตกลงที่ไหน ...

ถ้าตกบนจอพอดี..เราก็เรียกว่าสายตาปกติ  (Emmetropia)

ถ้าตกก่อนจอรับภาพ...เราก็เรียกกว่าสายตาสั้น (Myopia)

ถ้าตกเลยจอรับภาพ...เราก็เรียกว่าสายตายาว (Hyperopia) 

ถ้าตกมากกว่า 1 ตำแหน่ง... เราก็เรียกว่าสายตาเอียง (Astigmatism)

แต่ถ้าเราไม่ได้วัดสายตาที่ระยะอนันต์  แสงที่วัดก็ไม่ได้เดินทางตามวิธีธรรมชาติ  ตำแหน่งที่ตกก็ไม่ใช่ตำแหน่งธรรมชาติ  การวัดสายตาก็ไม่ได้วัดขณะที่ดวงตาอยู่ในภาวะธรรมชาติ  ดังนั้นสายตาที่ได้มาจากองค์ประกอบที่ไ่ม่ได้ธรรมชาตินั้น ไม่สามารถนำค่าสายตาไปอ้างอิงได้ว่าถูกหรือผิด แม้จะเป็นค่าสายตาที่อาจถูกต้องแท้จริง ก็ไม่สามารถพูดได้ว่าถูกต้อง เพราะไม่ได้อยู่บน Reference Plan ที่ถูกต้อง 

 

ใกล้แค่ไหนที่เรียกว่าอนันต์ 

อนันต์หรือ infinity แปลว่าไม่สิ้นสุด ดังนั้นการวัดตาที่มีความลึกห้องเป็นอนันต์ก็คงจะทำบนโลกมนุษย์ไม่ได้ ดังนั้นเราก็มาคิดต่อว่า “ใกล้ที่สุดของอนันต์นั้นอยู่ใกล้ได้แค่ไหน” (คือถ้าใกล้กว่านี้ก็เรียกกว่าระยะใกล้แล้ว...ไม่ใช่อนันต์)  

เนื่องจากว่าแสงอนันต์ทำให้เลนส์ตาของคนสายตาปกติคลายตัว (relax accommodation ) และเราก็อยากจะแก้ปัญหาสายตาให้มองไกลชัดโดยที่เลนส์ตาอยู่ในตำแหน่งพักและผ่อนคลายเหมือนคนปกติ ดังนั้นตำแหน่งไกลแค่ไหนที่เลนส์ตาคลายตัว เราใช้สูตรฟิสิกส์พื้นฐานระดับมัธยมต้นกันเล็กน้อยว่า “ค่ากำลังเพ่ง=1/ความยาวโฟกัส” (ค่า F มีหน่วยเป็นไดออพเตอร์ หรือ Dioptor หรือเขียนสั้นๆว่า D  หน่วยการเรียกค่าสายตาบ้านเรานั้น เรียกกันเป็นร้อยๆ จริงๆไม่ใช่ เช่น 1.00D เรียกว่าสายตาสั้น 1.00 ไดออพเตอร์ ไม่ใช่สั้นร้อย ส่วน ความยาวโฟกัสมีหน่วยเป็นเมตร) 

กลับมาที่ F=1/f คือเราอยากรู้ว่าแสงที่มีความยาวโฟกัสที่ระยะต่างๆนั้นแสงจะไปตกที่ไหน และเลนส์แก้วตาต้องทำงานเท่าไหร่ เมื่อแสงเดินทางจากระยะ...ก็แทนค่าระยะในหน่วยเมตร ลงในสมการ 

0.10 เมตร :  F=1/f=1/1=+10.0D

0.20 เมตร :  F=1/f=1/0.20=+5.00D

0.40 เมตร :  F=1/f=1/0.40=+2.50D

0.5 เมตร :  F=1/f=1/0.5 =+2.00D

1 เมตร :  F=1/f=1/1=+1.00D

2 เมตร :  F=1/f=1/2=+0.50D

3 เมตร :  F=1/f=1/3=+0.33D

4 เมตร :  F=1/f=1/4=+0.25D

5 เมตร :  F=1/f=1/5=+0.20D

6 เมตร :  F=1/f=1/6=+0.16D

เราจะเห็นว่าที่ระยะ  6 เมตร นั้นก็ยังทำให้แสงไปตกหลังจอรับภาพ ซึ่งเลนส์ตาต้องทำงาน (Accommodate) อยู่ +0.16D  เพื่อบังคับให้แสงตกลงบนจอรับภาพ (จริงๆนอกจากเลนส์แก้วตาถูกกระตุ้นแล้ว  ระบบการเหลือบตาเข้าหรือ convergence ก็ถูกกระตุ้นด้วย)

 

ทำไมถึงสามารถวัดสายตาที่ 6 เมตรได้ 

แม้ว่าเลนส์แก้วตาจะถูกกระตุ้นที่ระยะ 6 เมตร (จากสูตรคำนวณ) แต่ความเป็นจริงแล้ว  ดวงตามนุษย์นั้นมีเรื่องความชัดลึกเข้ามาร่วมทำงานด้วย หรือที่เราเรียกว่า Depth of Field ,Depth of Focus แปลง่ายๆก็คือว่า  โฟกัสนั้นไม่จำเป็นต้องตกลงบนจอพอดีเปะก็ยังสามารถเห็นได้คมชัดอยู่ เช่นอาจจะตกก่อนหรือหลังจอรับภาพเล็กน้อย ก็ยังสามารถเห็นภาพได้คมชัดอยู่ เนื่องจากมนุษย์นั้นมี “ม่านชัตเตอร์ธรรมชาติ”ที่สามารถปรับรูรับแสงให้หดเล็กหรือขยายใหญ่ได้  ซึ่งคนที่เล่นกล้องจะสามารถเข้าใจเรื่องราวของ รูรับแสงที่หดกว้างนี้ได้ด้วยการปรับ f ของม่านชัตเตอร์ ว่ามันช่วยให้เกิดเอฟเฟกของการชัดตื้นชัดลึกได้  ดังนั้นรูม่านตามนุษย์ซึ่งมีขนาดเล็กจึงสามารถทำให้ภาพคมชัดแม้จะตกหลังจอรับภาพเล็กน้อยโดยที่เลนส์ตาไม่ต้องเพ่งก็ได้ 

 

 

เรื่อง Depth of Focus  นี้ยังเป็นคำอธิบายในระดับที่ลึกขึ้นไปว่า ทำไมคนเราส่วนใหญ่ ถึงมีภาวะ lag of accommodation  ที่ระยะใกล้ หมายความว่า ถ้าเราอ่านหนังสือที่ 40 ซม. เลนส์แก้วตาของเราควรจะ  accommodate 2.50D (สูตรข้างบน) แต่เอาเข้าจริง เลนส์ตาเรามักไม่ทำ 2.50 D แต่จะทำแค่ +1.75 ถึง +2.25  คือมี lag of accommoation อยู่ +0.25D ถึง +0.75D  ส่ิงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากว่าเลนส์แก้วตาไม่ต้องเพ่ง 100% ก็สามารถเห็นชัดที่ 40 ซม.ได้ด้วย depth of focus นี่เอง  

สรุปคือ ระยะ 6 เมตรเป็นระยะใกล้สุดที่ให้ผลเสมือนระยะอนันต์ที่สามารถให้ผลการตรวจเช่นเดียวกับระยะอนันต์ ดังนั้น ระยะสากลที่ใช้ในการวัดสายตาจึงต้องอย่างน้อยที่ระยะ 6 เมตร  และชาร์จที่ต้องใช้ในการวัดตานั้นต้องออกแบบให้มีขนาดตัวอักษรสำหรับอ่านที่ระยะ 6 เมตร  

แต่ไม่ว่าสากลเขาจะว่าอย่างไร  พี่ไทยซึ่งมีศรีธนญชัยไปไอดอล ก็ยังจะอุตส่าห์ทำชาร์ตตัวเล็กทดระยะ ตั้งแต่ 2 เมตร  3 เมตร 4 เมตร ไว้ใช้เผื่อห้องตรวจลึกไม่ถึง 6 เมตร โดยให้ข้ออ้างว่า visual angle ทำมุม 1 minute of arc เหมือนกัน แต่นั่นเป็นการมองแค่ส่วนเดียว และส่วนที่สำคัญกว่าคือแสง Diverge ray ที่ทำให้เกิดการกระตุ้น accommodatoin และ convergence และค่าที่ได้จากการวัดระบบการมองสองตาหรือ binocuar vision นั้นใช้ผลการตรวจไม่ได้เลย 

แต่ขึ้นชื่อว่า “ไอ้ศรี”แล้วมันต้องแถซะหน่อย ใช้หลักพวกมากลากไป พอมีพวกใช้ชาร์ตทดระยะเพื่อไม่ต้องใช้ห้อง 6 เมตร ก็เลยมีวาทกรรมว่า “ใช้ได้เหมือนกัน” มันก็เลยเป็นกันอยู่อย่างนี้  บางคนบอกว่า ห้องไม่พอ ค่าที่แพง  แต่ทำไมถึงสามารถมีพื้นที่โชว์แว่นได้มากมายเป็นเอเคอร์แต่ไม่สามารถเจียดพื้นที่ให้ห้องวัดตาได้ ทั้งๆที่อาชีพคือการวัดสายตาทำแว่นให้ดีให้เขาได้ใช้แว่นดีๆ ใส่สบายๆ แต่ไม่ยอมทำห้องตรวจให้ดี  

ดังนั้นวันนี้ ต้องคิดกันใหม่ ทำใหม่ ตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า “เราเปิดร้านแว่นตาขึ้นมาทำไม” ถ้าเปิดเพื่อทำแว่นให้ดี จะต้องคิดต่อว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่แว่นจะออกมาดี เริ่มตั้งแต่ห้องตรวจ เครื่องมือ ส่วนกรอบแว่นนั่นมันเรื่องสุดท้าย เพราะแว่นล้นร้าน ไม่ได้เป็นตัวบอกได้ว่าแว่นที่ทำมาจะได้ค่าสายตาที่ดีหรือถูกต้อง ซึ่งต้องช่วยกันทำ ทำให้ดี ลดความเป็นศรีธนญชัยลง แล้วถ้าไม่เริ่มจัดสรรพื้นที่วันนี้ แล้วจะทำกันเมื่อไหร่ ระบบการดูแลสุขภาพตาบ้านเราถูกปล่อยปละละเลยมามากเกินไปแล้ว ก็ขอฝากเอาไว้  ผมพยายามผลักดันเรื่องนี้กับร้านแว่นตาให้เปลี่ยนทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็มีสารพัดเหตุผลที่ส่วนใหญ่ไม่ยอมเปลี่ยน ผมเลยเปลี่ยนเป็น Educate ผู้บริโภคให้มีความรู้ไป Force ร้านแว่นให้เปลี่ยนน่าจะง่ายกว่า ( ขอโทษที..พิมพ์ๆไป มู้ดด..มาพอดี)  อะมาดูกันอีกคำหนึ่งต่อ

 

2.เลนส์ตาอยู่ในภาพวะผ่อนคลาย (Relax Accommodation)

คำนี้สำคัญ…เพราะเวลาวัดตาจะผิดก็เพราะเรื่องนี้แหล่ะ 

คนสายตาปกตินั้น ระบบหักเหแสงจะบังคับแสงจากอนันต์ให้โฟกัสเป็นจุดแล้วไปตกบนจอรับภาพพอดี โดยที่เลนส์แก้วตาอยู่ในภาพวะคลายตัว (relax accom) 

การแก้ปัญหาสายตาด้วยการใช้เลนส์นั้น ก็เพื่อช่วยระบบหักเหแสงของตามีค่ากำลังคลาดเคลื่อน ให้สามารถไปโฟกัสเป็นจุด (pin point sharp focus) แล้วไปตกบนจอตาพอดี และอยู่บนเงื่อนไขว่าเลนส์แก้วตาต้องอยู่ในภาพวะผ่อนคลายเหมือนคนตาปกติ 

สมมติตัวอย่างคนสายตาสั้น -1.00D  (สั้นจริงๆ) แสงจะตกก่อนจอภาพ ซึ่งต้องใช้เลนส์ -1.00D ในการผลักโฟกัสให้ตกบนจอรับภาพพอดี  จึงจะทำให้คนไข้เห็นตัวหนังสือที่ระยะ 20/20 ได้  

ถ้าหากเราจ่ายไม่ถึง -1.00D เช่นจ่าย -0.50D คนไข้จะอ่านได้แค่แถว 20/30 ,ถ้าจ่าย -0.75D คนไข้จะอ่านได้ถึงบรรทัด 20/25   และเห็น 20/20 ที่ค่าสายตา -1.00D พอดี

ปัญหามันอยู่ตรงนี้ว่า ถ้าเราจ่ายค่าสายตาเกินจาก -1.00D เช่นจ่าย -1.25, -1.50 , -1.75 -2.00 ,...,-3.00 ,-3.50 คนไข้ก็สามารถเห็น 20/20 ได้เหมือนกัน (โดยเฉพาะเด็กๆซึ่งมีกำลังเพ่งของเลนส์ตาอยู่มาก) แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ “ผิดนิยามของคนสายตาปกติ” ที่บอกว่าต้องอ่านได้ 20/20 โดยเลนส์ตาต้องอยู่ในภาวะผ่อนคลาย  ดังนั้นความอันตรายของเรื่องนี้ก็อยู่ที่ตรงนี้แหล่ะว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่คนไข้เห็น 20/20 นั้นอยู่ในภาวะผ่อนคลายจริงๆ  

วิธีที่ดูจะง่ายที่สุดคือ ใช้ Retinoscope กวาดดูแสงที่สะท้อนออกมากจากรูม่านตา ขณะที่ใ้ห้คนไข้ใส่แว่นลอง เรียกกว่าการทำ over refraction  เพื่อดูว่าหลังจากค่าเลนส์ที่เราให้คนไข้ลองนั้น ทำให้โฟกัสตกบนจอรับภาพหรือไม่  ตกก่อนจอหรือตกหลังจอ หรือตกเป็น 2 จุด ซึ่งเรติโนจะบอกเราได้เลย เพราะเรามองเห็นด้วยตาเรา มันไม่เคยหลอกเรา และเราไม่ต้องฟังคนไข้ เพราะการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่สิ่งที่เรากำลังมองเห็น  ซึ่งดูจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องใช้ Skill ในการดูแสงค่อนข้างเยอะ 

อีกวิธีก็คือ ให้คนไข้อ่านชาร์จ 20/20 ที่ระยะ 6 เมตร แล้วลองใส่เลนส์ +0.25D ดูว่าคนไข้ยังสามารถอ่านแถว 20/20 ได้หรือไม่ ถ้าอ่านได้แปลว่าเบอร์สายตาที่ใส่ไปนั้นมากเกินไป (over minus)  ยิ่งถ้าใส่ไปมากว่า +0.50D แล้วยังอ่านได้ อันนี้ก็แสดงว่าสายตาเก่าเกินมาเยอะมาก เป็นต้น (แต่ถ้าไม่มีชาร์ตระยะ 6 เมตร และไม่มีห้องตรวจ 6 เมตร มีแต่ชาร์ตไอ้ศรีและห้องตรวจไอ้ศรีก็ใช้ไม่ได้)

ทั้งนี้ทั้งนั้น การ recheck ต้องทำบน reference plan  6 เมตร  จึงจะสามารถนำค่าสายตาที่ได้ไปอ้างอิงได้ ง่ายๆถือสามารถเถียงได้ว่าค่าสายตาที่เราวัดได้นั้น วัดบนพื้นฐานที่ถูกต้องแล้ว และจะง่ายเมื่อเลนส์เกิดมีปัญหาจากการใช้งาน  เราจะได้ไปโฟกัสที่ปัญหาผลิตภัณฑ์ ปัญหาการฝนประกอบ ปัญหาการดัดแว่น ปัญหาเรื่องเซนเตอร์ของแว่น เพราะปัญหาสายตาเราได้ควบคุมดีแล้ว ก็จะง่ายต่อการทำงาน 

 

ชัดใกล้ภายใต้การเพ่ง (Accommodation)

โดยคนปกตินั้น  เลนส์แก้วตาจะทำงานก็ต่อเมื่อจุดโฟกัสไปตกหลังจอรับภาพ ซึ่งทำให้เกิดภาพไม่ชัดบนจอรับภาพ  (blur retinal image) ซึ่งจะเป็น feed back กลับไปที่สมองว่าเกิดภาพที่ไม่โฟกัส แล้วสมองก็จะสั่งให้กล้ามเนื้อภายในลูกตา (Cilliary muscle) เกิดการหดตัว ทำให้เลนส์แก้วตาป่องตัวออก มีความโค้งนูนมากขึ้น แล้วดึงโฟกัสให้กลับมาตกบนจอรับภาพเหมือนเดิม ซึ่งคนที่เป็นสายตาปกตินั้นแสงจะตกหลังจอได้ก็ต่อเมื่อวัตถุที่มองนั้นอยู่ใกล้เข้ามา  (เมื่อ object เคลื่อนมาใกล้ แน่นอนว่า focal point จะต้องเคลื่อนถอยหลัง ) 

สรุปคือสิ่งที่ถูกต้องคือเลนส์แก้วตาจะเริ่มทำงานก็ต่อเมื่อดูระยะที่ใกล้เท่านั้น (ระยะใกล้กว่า 6 เมตร) แต่หากว่ามองไกลก็ยังต้องเพ่งอยู่ เกิดขึ้นใน 2 กรณีคือ 

 

1.คนสายตาสั้นที่ใช้ค่าสายตาเกินจริง(over minus) 

ซึ่งค่ากำลังที่เกินมา เลนส์ตาจะต้องแบกร้บภาระนี้ไว้ทุกครั้งที่ลืมตามองโลก และจะได้พักเมื่อถอดแว่น  ดังนั้นถ้าใครสายตาสั้นอยู่ ใส่แว่นแล้วรู้สึกว่าชัดดีแต่เมื่อยตา ล้าตา ถอดแว่นแล้วเบาตาขึ้น แสดงว่าแว่นที่ใช้อยู่นั้น กำลังเลนส์ไม่ถูกต้องกับค่าสายตาจริง

 

2.คนที่มีปัญหาสายตายาว (Hyperopia)  

สายตายาวนี้มีปัญหามากกับผู้ให้บริการสายตาในประเทศไทย เรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้กันน้อย สาเหตุหนึ่งคือไปเรียกชื่อผิดแล้วงงเอง  คือไปตั้งชื่อ Hyperopia ว่าสายตายาว  ส่วนสายตาคนแก่ Presbyopia ก็เรียกว่าสายตายาว  แล้วก็มางงกันเอง คิดว่าอันเดียวกัน   ดังนั้นต้องกลับไปที่นิยาม 

คนสายตายาวคือ “แสงอนันต์...โฟกัสหลังจอภาพ” ซึ่งเลนส์ตาจะทำการเพ่่ง  เพื่อดึงโฟกัสกลับ  ทำให้คนสายตายาว(ที่เลนส์ตายังพอมีแรงอยู่) สามารถมองเห็นไกลชัดได้...ด้วยภาพวะการเพ่งของเลนส์แก้วตา 

ดังนั้นอาการของคนสายตายาวจะมีอาการเช่นเดียวกันกับคนสายตาสั้นที่ใช้ค่ากำลังเลนส์แว่นเกินจริง  เลนส์ตาจะต้องเพ่งตลอดเวลา  และเมื่อดูใกล้ก็จะยิ่งต้องเพ่งต้องโหลดมาขึ้น  ทำให้เมื่อยตา ล้าตา ปวดเบ้าตา ตาแดง แสบตา น้ำตาไหล เป็นต้น เพราะระบบมันเครียด  มันไม่ได้อยู่ในภาวะที่ผ่อนคลาย 

ดังนั้นการแก้ก็คือ ทำให้เห็นชัดแบบคนปกติ  คือจ่ายเลนส์บวก (นูน) เพื่อดึงแสงที่มาจากอนันต์ให้มาตกบนจอรับภาพโดยที่เลส์ตาไม่ต้องทำงาน  และอย่าไปจ่ายสายตาเกินในคนไข้ที่เป็นสายตาสั้น 

ส่วนคนสายตาเอียง (Astigmatism) นั้นเกิดจากการรวมแสงของชุดเลนส์ของตานั้นไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดโฟกัสตกเป็น 2 จุด  เมื่อจุดหนึ่งตกบนจอ อีกจุดจะตกหลุดจอ และไม่สามารถเอาให้มารวมเป็นจุดได้ ดังนั้นคนสายตาตาเอียงจะเห็นภาพนั้นมีเงาซ้อนๆ  คือมีภาพชัดจากจุดที่อยู่ใกล้จอรับภาพกว่า และมีภาพมัวๆ ซึ่งอยู่ห่างจากจอรับภาพมากกว่า  ก็เลยเห็นภาพมีเงาซ้อน  พูดง่ายๆคือคนสายตาเอียงนั้น คือคนที่มี 2 ค่าสายตาในตาข้างเดียว  

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาสายตาเอียงคือ  ออกแบบโครงสร้างเลนส์ให้มี 2 ค่าสายตาในตาข้างเดียว เราเรียกเลนส์เชนิดนี้ว่าเลนส์สายตาเอียง (Cylinder)  เพื่อให้โฟกัส 2 จุดนั้นมารวมกันเป็นจุดเดียวก่อน แล้วบังคับโฟกัสให้ไปตกบนจอพอดี โดยที่เลนส์ตาไม่ต้องเพ่ง 

 

สรุป

1.สายตาจริงจะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อลักษณะทางกายภาพของเรามีการเปลี่ยนแปลง เช่นร่างกายที่เจริญเติบโต ความโค้งของกระจกตาเปลี่ยน ความยาวของกระบอกตาเปลี่ยน  ซึ่งถ้าอายุเกิน 20 ปี ขึ้นไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะช้าลงมาก จนเกือบจะไม่เปลี่ยน  ดังนั้นถ้าโตแล้วสายตายังเปลี่ยนบ่อย ให้คิดในใจได้เลยว่า “สายตาที่ทำมาทั้งหมด ไ่ม่ใช่สายตาของเรา” คือเป็นค่าสายตาที่ผิดนั่นเอง 

 

2.การวัดสายตาผิดนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ถ้าเราพึ่งพาระบบ  Subjective อย่างเดียวเช่นมาใช้วิธีถามคนไข้อย่างเดียวว่า ชัดไหม ๆ ๆ เลนส์นี้เลนส์นี้อันไหนชัดกว่า...มันยาก เพราะบางทีคนไข้ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เราจะอ้างว่าผิดเพราะคนไข้ไม่ให้ความร่วมมือไม่ได้ ให้นึกถึงเด็ก  1 ขวบ ถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมือ เราจะโทษเด็กไหม ไม่ได้แน่นอน ดังนั้นการตรวจตาจึงจำเป็นต้องฝึกวิธี Objective ไว้ให้แม่น  และ Objective ที่ดีที่สุดคือการทำ Retinoscope ซึ่งก็ไม่ได้แพงมากมายอะไร เพียงแต่ต้องลงทุนฝึกฝนการทำเท่านั้นเอง และเครื่องมือที่ได้มาตรฐานนั้นเป็นสิ่งจำเป็น อย่าไปใช้เครื่องมือที่ไม่สามารถเชื่อสเกลได้

 

3.ห้องตรวจ  6 เมตร คือระยะจำเป็นในการวัดสายตา โดยไม่ควรมีข้ออ้างใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ และต้องเลิกแถเพื่อทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้การเดินทางของแสงอยู่ในระบบที่เป็นธรรมชาติ (parallel ray)  ตำแหน่งที่โฟกัสถึงจะเป็นตำแหน่งธรรมชาติ ซึ่่งตำแหน่งธรรมชาตินั้นคงที่เสมอ  แต่ถ้าหากว่าระบบแสงที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ก็จะทำให้ระบบการโฟกัสนั้นถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา แล้วเรากำลังใช้เลนส์ซึ่งเป็นระบบ static ไปวัดสิ่งที่เป็น  Dynamic  ซึ่งวัดอย่างไรมันก็ Varies สายตาก็เปลี่ยนตลอด  ดังนั้น  ลดพื้นที่โชว์แว่นลง แล้วเพ่ิมห้องพื้นที่ห้องตรวจเถอะ (ยาแรงนิดหนึ่งนะครับ...แต่เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ผมจำเป็นต้องพูด ไม่งั้นจะวงการแว่นตาจะกลายเป็นแบบเดียวกับกระทะ korea King )

 

4.เราใช้เลนส์แก้ปัญหาสายตาเพื่อให้คนไข้เห็นชัดเหมือนคนปกติ  คนปกติคือมองไกลชัดโดยที่เลนส์ตาคลายตัว (relax accommodation) ดังนั้นการวัดสายตาที่ถูกต้อง ไ่ม่ใช่แค่วัดให้อ่าน 20/20 หรือชัดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอ่านได้และเลนส์ตาคลายตัวด้วย 

 

5.คนที่มีปัญหาสายตา..แล้วไม่ได้แก้ไข กับคนที่มีปัญหาสายตา...และแก้ไข้แล้ว แต่แก้ไขผิด ก็คือเรื่องเดียวกัน ดังนั้นก่อนที่จะพูดว่าเราแก้แล้ว เราใส่แว่นแล้ว ทำไมยังมีอาการเมื่อยตา ล้าตา ปวดตา ไม่สบายตา ปวดหัว ดูใกล้นานไม่ได้  นั่นแสดงว่าเราเป็นกลุ่มคนที่่มีปัญหา  แก้แล้ว แต่แก้ผิด  ก็หาทางแก้ให้ถูกซะ  อย่าอ้างเรื่องการบังคับให้คนไข้ปรับตัวกับค่าสายตาที่ไม่ถูกต้อง เพราะปัญหากล้ามเนื้อตาจะตามมาถ้าหากว่า คนไข้ปรับตัวกับสายตาที่ผิดปกติจนชินแล้ว 

 

ทิ้งท้าย

วันนี้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเรื่อง Basic แบบนี้แหล่ะที่ทำให้คนตกม้าตายนักต่อนักแล้ว นิสัยเอาง่ายมักพูดว่า “ใช้ได้เหมือนกัน มองเห็นเหมือนกัน" เพราะใช้แผ่นชาร์ตวัดสายตาแบบทดระยะแล้ว ปัญหาการวัดสายตาผิดก็เลยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ซึ่งจริงๆต้องบอกว่า "ใช้ไม่ได้และไม่เหมือนกัน"

 

ดังนั้นสิ่งที่ง่ายที่สุดคือ แข็งใจทำสิ่งที่ถูกต้อง การอ้างว่าร้านแคบนั้นดูจะไม่ถูกนัก เพราะถ้าเราจะมีพื้นที่โชว์รูมใหญ่โต แต่ไม่มีห้องมาตรฐานสำหรับการตรวจสายตาที่ดีแล้ว ตกลงเรากำลังธุรกิจอะไรกันอยู่ หากินกับการขายแว่น หรือ ธุรกิจบริการแก้ปัญหาสายตาให้กับผู้มารับบริการ  

 

ผมจึงมองว่า ผู้ให้บริการในประเทศไทยนั้น ตกยกเครื่องให้เดินบนมาตรฐานเดียวกัน เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเลนส์จะได้มุ่งสู่ประเด็นอื่นเช่น เซนเตอร์เคลื่อนไหม ดัดแว่นได้มุมที่ถูกต้องหรือยัง หรือเป็นรุ่นเลนส์ที่มีปัญหา หรือโครงสร้างที่ไม่เหมาะสม แต่ถ้าสายตาไม่นิ่ง นี่เรื่องมันยุ่งเพราะ ไม่รู้จะเริ่มที่อะไรดี 

 

ดังนั้นเรามาเริ่มสร้างมาตรฐานกันดีกว่า ห้องที่ได้ระยะลึกมาตรฐาน หรือถ้ามันไม่ได้จริงๆ ก็ใช้ระบบกระจกที่เขาออกแบบมาเฉพาะทางช่วยก็ได้ แล้วใช้แผ่นชาร์ตขนาดมาตรฐาน อย่าไปหัวหมอศรีธนญชัยใช้ชาร์ตทดระยะ มันจะเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมกันเปล่าๆ และเมื่อทุกคนมาอยู่บนมาตรฐานเดียวกันแล้ว การจะปรึกษา วินิจฉัยเคส หรือระดมสมองกันแก้ปัญหา ก็จะได้คุยเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่คนหนึ่งให้ห้องวัด 2 เมตร อีกคนใช้ 3 เมตร อีกคนใช้ 5 เมตร แล้วเมื่อไหร่จะคุยกันรู้เรื่อง ก็อยากจะฝากไว้

 

ขอบพระคุณสำหรับการติดตามครับ

DR. SOMYOT O.D.

 

ปรึกษาปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นได้ที่  ลอฟท์​ ออพโตเมทรี   ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220  

โทร 090 553 6554  , line id :  loftoptometry 

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ Loft Optometry Fanpgae  ได้ที่ www.facebook.com/loftoptometry