รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

credit image : www.betweencarpools.com

 

โรคตาขี้เกียจ Amblyopia  รู้ให้เร็ว แก้ให้ไว้ รักษาได้

เรื่องโดย ดร.ลอฟท์  

ปรับปรุงเมื่อ  22 พฤศจิกายน 2561


 

บทนำ 

โรคตาขี้เกียจหรือ lazy eye มีชื่อทางการแพทย์ว่า Amblyopia  หมอจะเรียกกันสั้นๆว่า “แอ็ม” เช่น “เป็นแอ็มไหม” หมายถึง “มีตาขี้เกียจไหม” เป็นต้น  ซึ่งเป็นโรคที่ “รักษาให้หายได้ ถ้ารักษาทัน แต่ก็มีช่วงของการรักษาที่จำกัดด้วย” 

 

ทีนี้ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า โรคตาขี้เกียจถ้าเป็นแล้วจะบอดไหม รักษาได้ไหม อายุเยอะแล้วเป็นตาขี้เกียจได้ไหม ใครบ้างที่เสี่ยง มีวิธีป้องกันรักษาอย่างไรบ้าง  ซึ่งวันนี้ผมจะไล่เป็นข้อๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เอาไว้เป็นอาวุธในการป้องกันบุตรหลานของตัวเอง ให้รอดพ้นจากโรคตาขี้เกียจ เพราะที่ต้องบอกว่าป้องกันได้แค่บุตรหลานก็เพราะว่า ถ้าท่านที่อ่านอยู่นี้อายุมากกว่า 9 ขวบแล้ว ก็เห็นจะไม่ทันกาลที่จะรักษาแล้วเพราะสายเกินไป ทำได้แค่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน แล้วรักษาตาข้างที่ดีให้ดำรงอยู่ ทำได้เท่านั้นเอง   เรามาเริ่มทำความรู้จักโรคตาขี้เกียจกันเลยดีกว่า เริ่มจากนิยามของมัน

 

คำจำกัดความ (Definition)

ตาขี้เกียจ (Amblyopia) เป็นโรคที่เกิดขึ้นในระดับ Sensory หรือ สมองส่วนการรับรู้ภาพ ทำให้ความคมชัดของการมองเห็นหลังจากแก้ปัญหาสายตาแล้วนั้น ไม่สามารถทำให้คมชัดเหมือนคนปกติได้ คือไม่ว่าจะแก้สายตาให้ถูกต้องอย่างไร คนไข้ก็ยังไม่สามารถอ่าน VA 20/20 ได้  โดยมีเงื่อนไขว่าคนไข้ต้องไม่มีปัญหาเรื่องโรคตาอย่างอื่นเช่นมีแผลเป็นที่กระจกตาหรือมีต้อกระจก หรือเป็นโรคจอตาใดๆอยู่ ซึ่งโรคตาขี้เกียจมักจะเกิดที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจเกิดทั้งสองตาก็ได้

 

โรคตาขี้เกียจนั้นเป็นความผิดปกติของการมองเห็นในระดับ “สมองส่วนรับภาพ”  ซึ่งมีสาเหตุหลักจาก ขณะที่ระบบประสาทส่วนการรับรู้ภาพกำลังพัฒนาอยู่นั้น เกิดมีความผิดปกติอะไรบางอย่างไปรบกวนหรือไปขัดขวางการพัฒนาของสมองส่วนรับภาพในช่วงวัยที่สมองกำลังมีการพัฒนา (6-8ขวบ)

 

ซึ่งในการพัฒนาระบบประสาทการรับภาพนั้นจะถูกกระตุ้นให้พัฒนาด้วยภาพที่คมชัด เพราะภาพที่คมชัด ก็จะทำให้สัญญาณไฟฟ้าที่ส่งจากดวงตาไปยังสมองนั้นเป็นคลื่นไฟฟ้าที่คมชัด ไม่มี noise มารบกวน ทำให้เนื้อสมองนั้นเกิดการพัฒนาตัวรับได้สมบูรณ์

 

แต่หากเกิดมีความผิดปกติบางอย่างไปขวางภาพ หรือไปทำให้ภาพไม่คมชัด หรือไปทำให้ภาพที่เกิดจากตาข้างหนึ่งชัดกว่าข้างหนึ่งมากๆ  สมองที่รับสัญญาณจากตาข้างที่ไม่ดีนั้น ก็จะไม่เคยรู้เลยว่า ภาพที่ชัดนั้นเป็นอย่างไร 

 

"เหมือนเครื่องรับทีวีหลอดภาพสมัยโบราณ มาเจอไฟล์ ความละเอียดระดับ 5k ก็คงไม่สามารถแสดงภาพให้คมชัดได้ เพราะเครื่องถอดสัญญาณมันโบราณ พิกเซลไม่ละเอียดพอ แม้ว่าจะมีไฟล์ HD ขนาดไหนก็ไม่สามารถถ่ายทอดรายละเอียดได้"

 

 

ตาขี้เกียจก็เช่นกัน เมื่อสมองส่วนถอดสัญญาณมันไม่เคยเตรียมตัวให้รองรับไฟล์ HD ต่อให้เราทำแว่น วัดค่าสายตาออกมาได้ดีที่สุด ใช้เลนส์ที่เทคโนโลยีสูงสุดอย่างไรก็ตามแต่ แล้วให้มองวิวทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุด ก็ไม่สามารถเห็นภาพที่งดงามและคมชัดได้

`

ปัญหาที่มักจะเกิดกับคนเป็นตาขี้เกียจ 

สิ่งที่เป็นปัญหาเมื่อเกิดโรคตาขึ้เกียจขึ้นมาคือทำให้ความคมชัดของการมองเห็นจะลดลงกว่าปกติ (20/20) ไปจนถึงตาบอดตามกฎหมาย (20/200 หรือแย่กว่านั้น)

 

โดยตาขี้เกียจนั้นจะมักเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก 6-8 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบประสาทมีการพัฒนารวดเร็วที่สุดและใกล้จะโตจนสมบูรณ์แล้ว และถ้าหากเกิดมีความผิดปกติในช่วงนี้ และไม่ได้รับการดูแลแก้ไขจนเลย 8 ขวบไปแล้ว ระบบการพัฒนาของสมองส่วนการมองเห็นจะหยุด ระบบการพัฒนาจะหยุด และจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้หลังจากนั้น

 

สรุปก็คือ ถ้าเป็นตาขี้เกียจตั้งแต่เด็กแล้วไม่ได้รักษา เมื่อโตผู้ใหญ่ก็จะเป็นตาขี้เกียจตลอดไป แต่หากว่าในช่วงก่อน 8 ขวบไม่ได้เป็นตาขี้เกียจ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่มีทางเป็นตาขี้เกียจเช่นกัน (เช่นเดียวกับระบบทีวีที่รองรับความคมชัดระดับ 5k อยู่แล้ว แม้ว่าระหว่างนั้นจะมีแต่ไฟล์ความคมชัดต่ำ (เหมือนแว่นที่สายตาไม่ถูกกับสายตาจริง) ก็คงแสดงผลเท่าที่ทำได้ แต่หากว่าได้ไฟล์ที่ความคมชัดสูงมา ก็สามารถถ่ายทอดรายละเอียดได้สุดๆเช่นกัน (เหมือนได้แว่นที่สายตาถูกตอ้ง ใช้เลนส์ประสิทธิภาพสูงๆ))  พูดอีกนัยหนึ่งคือ  หากตอนเด็กไม่ได้เป็นตาขี้เกียจแล้ว ถ้าตอนโตขึ้นมาใส่แว่นไม่ชัด และ ไม่ได้มีโรคทางตา ก็ให้สันนิษฐานว่า  ค่าสายตาที่อยู่บนแว่นที่เราใส่อยู่นั้น ไม่ใช่ค่าที่ corrected สำหรับตาของเรา  ไม่ได้มีสาเหตุมาจากตาขี้เกียจอย่างแน่นอน 

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นตาขี้เกียจ 

การที่เราจะรู้ว่าเราเป็นตาขี้เกียจหรือไม่นั้น ทำได้อย่างเดียวคือต้องไปตรวจสายตาให้ถูกต้อง (ถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่วัดตาผิดแล้วอ่านไม่ได้ 20/20 ) เมื่อพยายามแก้ไขสายตาให้ถูกต้องแล้ว ยังไม่สามารถอ่าน 20/20  และให้มองผ่านรูเล็ก(pin hole) แล้วความคมชัดก็ไม่ดีขึ้น นั่นแหล่ะถึงจะวินิจฉัยได้ว่าเป็นตาขี้เกียจ  แต่ถ้าวัดสายตาผิด หรือแก้ไม่ถูกต้องแล้วอ่านไม่ได้ 20/20 ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเป็นตาขี้เกียจหรือไม่ เพราะมีจำนวนมาก ที่คนวัดบอกว่าเป็นตาขี้เกียจ เพราะทำแว่นยังไงก็ไม่ชัด ก็เลยโทษว่าคนไข้เป็นสายตาขี้เกียจ ทั้งที่จริงๆแล้วเกิดจากการแก้ปัญหาสายตาผิดจากค่าจริง

 

สาเหตุ (AETIOLOGY)

โรคตาขี้เกียจนั้นมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิด แต่ก็มีหลักใหญ่ที่เป็นสาเหตุกคือว่า “มีความผิดปกติอะไรบางอย่างไปขวาง หรือไปทำให้การหักเหแสงที่ผ่านเข้ารูม่านตาเข้าไปเป็นโฟกัสที่ไม่คมชัด เช่น มีปัญหาสายตาที่ไม่ได้แก้หรือแนวของการมองของทั้งสองตาไม่สัมพันธ์กันเช่นตาเหล่ แล้วในช่วงนั้นไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดตาขี้เกียจได้

 

ดังนั้นก็พอจะรวมๆสาเหตุที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจในเด็กได้แก่ ตาเหล่(Squint), สายตาสั้นมากๆ (high Myopia) สายตายาวมากๆ(High Hyperopia) สายตาเอียงมากๆ (High Astigmatism) สายตา 2 ข้างต่างกันเยอะๆ (High anisometripia)  เปลือกตาตกมาบังรูม่านตา(ptosis) หรือมี เลนส์ตาขุ่นมัวจากต้อกระจก (congenital cataract) เป็นต้น  ดังนั้นโรคตาขี้เกียจจึงแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามสาเหตุของการเกิดได้แก่

 

1.Form Deprivation Amblyopia คือ เกิดรอยโรคเกิดขึ้นที่ดวงตาแล้วไปบล๊อคแสงที่จะเข้าไปโฟกัสบนจอรับภาพ  ทำให้ภาพโฟกัสไม่ดี ไม่คมชัด ซึ่งโรคที่เกิดบ่อยคือ “ต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด (congenital cataract) ส่วนโรคอื่นๆที่ก็พบได้เช่นกันได้แก่ ต้อกระจกจากอุบัติเหตุ กระจกตามีรอย หรือเกิดจากการควบคุมการปิดตาระหว่างการรักษาไม่ดี

 

2.Refractive Amblyopia  คือตาขี้เกียจที่เกิดจาก ปัญหาสายตาที่ไม่ได้แก้ไข ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ มีปัญหาสายตาสองข้างเท่าๆกัน และ ปัญหาสายตาของทั้งข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน

 

กลุ่มแรกที่ มีปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาวมากแต่ตาซ้ายขวามีปัญหาเท่าๆกัน เรียกว่า isometripic amblyopia ซึ่งปัญหาสายตาสั้น/ยาว มากๆแล้วไม่ได้แก้ไข จะทำให้เกิดภาพที่มัวบนจอรับภาพและเมื่อมัวมากๆ และไม่ได้แก้ไข เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็จะทำให้การพัฒนาของระบบประสาทส่วนการมองเห็นนั้นพัฒนาได้ต่ำกว่ากว่าปกติและเมื่อเลยช่วงอายุ 9 ขวบ ระบบประสาทจะหยุดพัฒนาต่อก็จะทำให้เป็นตาขี้เกียจทั้ง 2 ตา ซึ่งกลุ่มสายตาที่เสี่ยงคือ

  1. สายตายาว(hyperopia) มากกว่า +5.00D 
  2. สายตาสั้น(myopia)มากกว่า -8.00D
  3. สายตาเอียง (astigmatism) มากกว่า -2.50D

ซึ่งความรุนแรงของตาขี้เกียจนั้นเป็นได้ตั้งแต่ VA แย่กว่า20/20 ไปจนถึง 20/200  แต่โดยส่วนใหญ่ตาขี้เกียจประเภทนี้จะมี VA อยู่ที่ 20/50 โดยเฉลี่ย

 

อีกกลุ่มคือ “ผู้ที่มีปัญหาสายตาสองข้างสั้น,ยาว,เอียงต่างกันมากกว่า 1.00D เรียกกว่า Anisometripic Amblyopia  ซึ่งคนที่เป็นตาขี้เกียจมักเกิดมาจากปัญหานี้มากกว่าแบบแรก ด้วยเหตุว่า...

 

ถ้าหากว่าตาข้างหนึ่งได้รับภาพที่คมชัดกว่าอีกข้างหนึ่งตลอดเวลาจะทำให้ตาอีกข้างที่แย่กว่าไม่มีโอกาสได้รับภาพที่คมชัดเลย ซึ่งจะทำระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับตาข้างนั้นไม่เคยได้รับการพัฒนาและจะทำให้กลายเป็นตาขี้เกียจในที่สุด  ดังนั้นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดตาขี้เกียจประเภทนี้คือ

  1. สายตาเอียง(astigmatism) ของทั้งสองข้างต่างกันมากกว่า -1.50D
  2. สายตายาว(hyperopia)ยาวต่างกันมากกว่า 1.00D 
  3. สายตาสั้นของทั้งสองข้างต่างกันมากกว่า -3.00D 

ซึ่งความรุนแรงของตาขี้เกียจนั้นมีตั้งแต่ ความคมชัดหลังแก้ปัญหาแล้วได้ VA แย่กว่า 20/20 ไปจนถึง แย่กว่า 20/200 แต่โดยส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ 20/60

 

3.Strabismic Amblyopia  เป็นโรคตาขี้เกียจที่เกิดขึ้นจากจากปัญหาตาเหล่  ซึ่งพบตาขี้เกียจที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6-8ขวบ  เนื่องจากตาเหล่นั้นจะทำให้ภาพที่ไปตกบนจอรับภาพของตาแต่ละข้างนั้นไม่เหมือนกัน ทำให้สมองเกิดความสับสนในการรวมภาพ และเกิดเป็นภาพซ้อน ซึ่งในการแก้ปัญหานี้ระบบสมองของเราจะกดสัญญาณภาพจากตาข้างที่เหล่ออกไป หากปล่อยทิ้งไว้ตาข้างที่ถูกกดสัญญาณภาพทิ้งก็จะกลายเป็นตาขี้เกียจในที่สุด

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ตาเหล่ เป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจในเด็ก ,credit image : Conroy Optometric Centre

 

นอกไปจากนี้แล้ว ร่างกายจะสร้างจุดรับภาพเทียม (pseudo-fovea) ขึ้นมานอกจุดรับภาพหลัก (fovea) ซึ่งการแก้ไขเช่นการผ่าตัดนั้นทำไปเพื่อทำให้แนวของการมองเห็นนั้นตกลงบนจุดรับภาพของทั้งสองตา เพื่อให้การพัฒนาของประสาทรับรู้นั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง  ความรุนแรงของตาขี้เกียจที่เกิดจากตาเหล่นั้น อาจตั้งแต่แย่กว่า 20/20 ไปจนถึงแย่กว่า 20/200   โดยส่วนใหญ่เฉลี่ย VA 20/94

 

อัตราการเกิดโรค (EPIDEMIOLOGY) 

ประมาณ 2% ของประชากรเด็ก

 

ประวัติ(HISTORY)

การซักประวัติก็เป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้เราสามารถวินิจฉัย “โรคตาขี้เกียจ” ได้มากขึ้น เช่น ผู้ใหญ่ที่มีปัญหาการมองเห็นข้างหนึ่งแย่กว่าอีกข้างมาก  หรือมีประวัติตาเหล่ตอนเป็นเด็ก หรือตอนเป็นเด็กหมอเคยให้ปิดตาสลับข้างซึ่งต้องไล่สาเหตุย้อนกลับไปในช่วงก่อน 9 ขวบ จะช่วยให้เราสามารถวินิจฉัยโรคตาขี้เกียจได้ดีขึ้น

 

การตรวจ (EXAMINATION)

หากพบว่า ตาข้างหนึ่งเห็นได้แย่กว่าอีกข้าง แม้ว่าจะแก้ด้วยเลนส์หรือให้มองผ่านรูเข็มแล้วก็ไม่ดีขึ้น และส่วนใหญ่จะไม่พบรอยโรคอื่นๆเกิดขึ้นที่ดวงตา แต่ต้องมั่นใจว่าคนไข้ได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาที่ถูกต้องจริงๆ

 

การเกิดโรค (PATHOLOGY)

ในการพัฒนาประสาทส่วนรับรู้การมองเห็นนั้น เพื่อให้สามารถประมวลภาพที่ดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับ “โฟกัส” ของภาพที่ตกลงบนจุดรับภาพของตาทั้งสองข้าง ณ จุดคู่สม (Retinal corresponding area) ซึ่งในเงื่อนไขนี้ก็คือจุดรับภาพที่คมชัดที่สุดคือที่ “โฟเวีย” (fovea) ของตาทั้งสองข้าง 

 

ทีนี้ถ้าหาก “โฟกัสไม่คมชัด ซึ่งให้ภาพที่ไม่คมชัด จากปัญหาสายตา สั้น ยาว เอียง ที่ไม่ได้แก้ไข หรือว่า เกิดมีตาเหล่(misaligne) ซึ่งทำให้แนวของแสงไม่ไปตกลงบนจุดคู่สม(fovea)  และหากว่าปัญหานี้เกิดขึ้นในช่วงก่อน 9 ขวบ ก็จะทำให้เกิดการขัดขวางการพัฒนาการของสมองส่วนเห็นภาพเกิดเป็นตาขี้เกียจในที่สุด

 

การรักษา (MANAGEMENT) 

การรักษาหรือจัดการกับโรคตาขี้เกียจนั้น ต้องทำตั้งแต่เด็ก และทำก่อนอายุ 9 ขวบ ยิ่งอายุมากขึ้น ผลการรักษาก็จะยิ่งแย่ลง โดยการรักษาหรือป้องกันนั้นก็มีอยู่หลากหลายวิธีว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เช่น ถ้ามีปัญหาตาเหล่ก็ดูต่อว่าเหล่จากอะไร ซึ่งอาจจะเกิดจากมีต้อกระจกข้างใดข้างหนึ่ง หรือเป็นเหล่จากสายตายาวในเด็ก หรือเหล่จากกล้ามเนื้อตาเอง ก็ทำการแก้ไขที่ต้นเหตุ ถ้าเป็นต้อกระจกก็เอาต้อออก ถ้ามีปัญหาสายตาก็แก้ให้เรียบร้อย ถ้าจำเป็นต้องผ่ากล้ามเนื้อตาก็ต้องผ่า หรืออาจจะต้องปิดตาข้าที่ดีเพื่อให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจกลับมาได้ใช้งาน เหล่านี้ก็จะเป็นการแก้ไขหรือป้องกันการเป็นโรคตาขี้เกียจได้  แต่เน้นอีกทีว่าต้องรีบทำ เพราะช่วงเวลาในการักษานั้นมีอยู่น้อยมาก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ amblyopia

credit image : https://speakingofresearch.com 

 

ผลข้างเคียงจากตาขี้เกียจ (COMPLICATIONS) 

เมื่อเป็นตาขี้เกียจไปแล้วนั่นแปลว่า การทำงานร่วมกันของสองตานั้นก็จะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างปกติ ทำให้ไม่สามารถมองภาพ 3 มิติได้ กะความลึกพลาด ต้องระมัดระวังในการใช้รถ เพราะจะกะระยะเบรกไม่ถูก

 

 

ผลการรักษา (PROGNOSIS)

ย่ิงปล่อยไว้นาน ก็จะรักษาให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ยาก และยิ่งรักษาตั้งแต่เนิ่นๆก็จะยิ่งสามาถป้องกันการเกิดตาขี้เกียจได้ดียิ่งขึ้น  ดังนั้นสำหรับท่านที่มีลูกหลานเล็กๆ ต้องหมั่นสังเกตุบุตรหลานของตน และพาไปพบนักทัศนมาตร หรือจักษุแพทย์หากพบความผิดปกติของเด็ก

 

สรุป

ยิ่งเราสามารถตรวจพบได้เร็วเท่าไหร่ การรักษาก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพเร็วเท่านั้น และสามารถป้องกันการเกิดตาขี้เกียจได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรใส่ใจเรื่องการมองเห็นของลูกน้อยตั้งแต่ทารกแรกเกิด 4-6 สัปดาห์ และเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้นต้องได้รับการดูแลรักษาตลอดช่วงที่ระบบประสาทตายังมีการพัฒนาตลอดช่วงอายุ 6-8 ขวบ ย่ิงสามารถตรวจได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสามารถแก้ปัญหาได้เร็วเท่านั้น  ซึ่งพบว่าการแก้ไขได้ผลดีที่สุดนั้นอยู่ในช่วง 4 ขวบ

แต่เนื่องจากระบบการดูแลสุขภาพตาในบ้านเรานั้นยังไม่ค่อยทั่วถึงเท่าไหร่นัก จึงทำให้มีเด็กที่เป็นตาขี้เกียจและไม่รู้ว่าตนเองเป็นจนกระทั่งมาเจอตอนโต ซึ่งแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ทำได้แค่เพียงว่า ดูแลตาข้างที่ดีให้ดีที่สุดและปกป้อง ป้องกันมันให้ดีที่สุด ใช้เลนส์ที่เหนียวที่สุด เช่นเนื้อ Trivex เพราะไม่มีโอกาสพลาดอีกแล้ว

 

ทิ้งท้าย 

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านและเป็นกำลังใจให้กันเสมอมา หากอยากรู้อยากทราบเรื่องอะไร หรือมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการมองเห็น สามารถโทรมาปรึกษาได้ที่เบอร์ 0905536554 หรือทาง lineid : loftoptometry หรือเข้ามาติดตามได้ที่ www.facebook.com/loftoptometry  

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม

~ดร.ลอฟท์~

578 Wacharapod Rd ,Bnagkhen , BKK 10220

T.090 553 6554

lineID : loftoptometry 

 


อ้างอิง 

Rapid of Ophthalmology : p 43 Amblyopia

ศึกษาเพิ่มเติม https://www.aoa.org/documents/optometrists/Amblyopia-4.pdf