Story : เข็มทิศทัศนมาตร

EP2   : the story of loft optometry.

By     : dr.loft ,O.D.

English Version : follow linkhttps://www.loftoptometry.com/blog/Story of loft


 

Intro

 

เข็มทิศทัศนมาตร ตอนที่ 2 นี้ ผมอยากจะเล่าเรื่องราวการเกิดขึ้นของ loft optometry ว่ามีเรื่องราวที่มาที่ไปอย่างไร แล้ว “why” ที่ผมพูดไปถึงตอนที่แล้วนั้น สำหรับ loft แล้วคืออะไร เพื่อให้เห็นภาพโมเดลอีกแนวหนึ่งในการสร้างทัศนมาตรคลินิกของตัวเอง เผื่อน้องๆทัศนมาตรอยากได้เป็นไอเดียในการเริ่มทำอะไรที่เป็นของตัวเอง

 

ส่วนโมเดลร้านแว่นตาก็คงไม่มีอะไร เพราะ “why” ของเขาชัดเจนแล้วคือ “money” ทำให้ “what” คือ “สินค้ากรอบแว่นตาและเลนส์”  และ “how” คือโปรโมชั่นสินค้าราคาถูก แข่งขันกันเรื่องราคา ซึ่งก็เดินได้และง่ายดีด้วย เพราะใครๆก็ชอบของถูกกันทั้งนั้น แต่ถ้าถามถึงความยั่งยืนหรือ “royalty” ก็คงจะยาก เพราะ ถ้าใครให้ราคาถูกกว่าเขาก็ไป เพราะคุณเองยังไม่ “in” กับงานที่ทำ ทำไมจึงคาดหวังว่าให้ผู้บริโภค in กับธุรกิจของคุณ​

 

แต่ก่อนอื่น อย่าพึ่งเข้าใจว่าผมพูดราวกับว่าตนเองนั้นประสบความสำเร็จไปทุกเรื่อง ซึ่งความเป็นจริงนั้น ผมสำเร็จเฉพาะการดูแลรักษาคนไข้ในทางทัศนมาตรคลินิก แต่เรื่องความร่ำรวยนั้นยังคงห่างไกลจากร้านแว่นตาสะดวกซื้ออยู่มากนัก แต่บังเอิญว่าผมโฟกัสกับความสุขในการทำงานมากกว่า ตื่นมาแล้วอยากทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ หาข้อมูล ศึกษาหาความรู้เพิ่มเกี่ยวกับทัศนมาตรศาสตร์แล้ว ผมกระตือรือร้นทุกวันที่จะมาเปิดร้านไม้จะมีหรือไม่มีเคสก็ตาม ผมไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าว่า “ผมจะทำงานตัวเองออกไปให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร ผิดพลาดตรงไหนได้บ้าง ก็พยายามที่จะอุดช่องเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด แล้วก็แค่สุขที่ได้ทำดี และมีคนที่เห็นค่าในความดีนั้น” แค่นั้น

 

Start

ผมสร้างตัดสินใจสร้าง ลอฟท์ ออพโตเมทรี ขึ้นมาด้วยความรักในการทำงานด้านทัศนมาตรคลินิก เพราะส่วนตัวเองก็มีปัญหาค่อนข้างจะซับซ้อน และ เคยมีประสบการณ์ไม่ค่อยสู้ดีนักกับวงการแว่นตาตั้งแต่เด็ก จึงเข้าใจความรู้สึกหวาดระแวงของคนที่มีปัญหาการมองเห็นเมื่อจำเป็นต้องมองหาใครสักคนที่เข้าใจและแก้ไขปัญหาให้เขาได้ เพราะร้านส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดมุ่งเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับคนแต่เพื่อผลประโยชน์ที่ได้รับจากจากธุรกิจขายแว่นตา หรือ มองเพียงแว่นตาคือสินค้าชนิดหนึ่งที่ทำรายได้เท่านั้นเอง เพียงเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ และ กฎหมายไม่ได้ไม่ได้ปกป้องคนที่ไม่รู้เหล่านั้น และ ครั้งหนึ่งผมเองก็เคยเล่นบทเป็นเหยื่อให้กับวงการนี้

 

Pain

ทัศนมาตร มันเริ่มจากการที่ผมเองเป็นคนที่มีปัญหาการมองเห็นที่ไม่เคยมีใครให้คำตอบได้ตั้งแต่เด็กบวชเป็นสามเณรมหาเปรียญจนกระทั่งเรียนทัศนมาตรศาสตร์อยู่ปี 3  โดยเริ่มต้นจากขณะนั้น ผมกำลังเรียนนักธรรม-บาลี ซึ่งต้องอ่านหนังสือหนักมาก และ ปัญหาคือผมเห็นตัวหนังสือซ้อนเป็นสองชั้น ซึ่งในตอนเริ่มต้นอ่านมันยังไม่ซ้อนมาก แต่เมื่ออ่านต่อเนื่องไปสัก 30 นาที ภาพซ้อนจะหนักขึ้นๆ เหมือนหนังสือพิมพ์บางหน้าที่พิมพ์แล้วหมึกเลอะ ตื่นเช้ามาทำท่าจะดีขึ้นหน่อยแต่ก็ต้องกลับมาอ่านหนังสือซ้ำ มันก็เกิดขึ้นมาอีก  มันเป็นความทรมานมากอย่างบอกไม่ถูก เพราะเราไม่รู้จะอธิบายปัญหาที่เราเห็นและความยากลำบากในการอ่านให้คนอื่นๆที่ตาดีๆเข้าใจได้อย่างไรและปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ “ผมไม่สามารถหยุดอ่านได้” ซึ่งมีแต่สามเณรมหาเปรียญเท่านั้นที่เข้าใจว่า “นอกจากเวลาจำวัดแล้วคือเวลาเรียน” ยิ่งช่วงเข้าพรรษาต้องเรียนนักธรรมควบด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่

สามเณรมหา สมยศ เพ็งทวี น.ธ.เอก-ป.ธ.๓ (2539-2542)

 

ขณะนั้น ผมทนไม่ไหวกับปัญหาการมองเห็นของตัวเอง จึงตัดสินใจไปลองตัดแว่นดู ซึ่งร้านขายแว่นที่เลือกใช้ขณะนั้นก็คงจะหนีไม่พ้น “ร้านแว่นตาสะดวกซื้อ” ที่ปัจจุบันมีสาขามากที่สุดในประเทศไทย เริ่มต้นจากพนักงานต้อนรับให้ผมได้นั่งพัก แล้วจิบน้ำส้มเย็นๆ เอาจริงผมก็ไม่อยากกินน้ำส้ม แต่ผมก็เข้าใจและกลัวมาตั้งแต่แรกแล้วจะต้องโดนไม่อะไรก็อะไรเวลาเข้าร้านแบบนี้ แต่ทางเลือกเราก็มีไม่มากนัก เพราะเมื่อก่อนไม่ได้มีอินเตอร์เนทอย่างในปัจจุบัน

 

ช่างแว่นผู้ชาย ให้ผมเข้าห้องตรวจเล็กๆลึกสัก 2.5 เมตรได้ ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตา ให้มองบอลลูน แล้วก็เอาค่าจากเครื่องนั้นลองเสียบเลนส์ให้ผมลองใส่ ซึ่งความรู้ที่ผมมีอยู่ขณะนั้นยังมีอยู่น้อย ก็คิดว่าเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์นั้นมันทันสมัยที่สุดแล้ว เพราะมองไปร้านไหนก็เห็นแต่ป้าย “ตรวจวัดสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์” ซึ่งในยุคสมัยคอมพิวเตอร์ครัวเรือนเริ่มมี คำนี้ก็ดีเท่ไม่เบา แต่ปัจจุบันนี้เข้าใจแล้วว่ามันโง่กว่าที่เราคิดและพึ่งพาอะไรไม่ได้เลย และ เป็นเครื่องที่ไม่ได้แสดงความฉลาด ทักษะ ความรู้ หรือความสามารถของคนตรวจสายตาให้เราเลย แค่ใครก็ทำกันอย่างนี้

 

หลังจากตรวจเสร็จ จริงๆไม่น่าจะเรียกว่าตรวจ น่าจะเรียกว่า “สุ่มเสียบเลนส์” เสียบอันไหนมันก็ชัด สุดท้ายเขาก็ให้เราเลือกเอาสักอัน แม้ว่าเราบอกเขาว่า มันชัดแต่บีบๆ จ้าๆ แสบๆตา ปวดกระบอกตา เขาบอกเราว่า เรายังใหม่กับแว่น จากนั้นก็ให้เราเลือกกรอบแว่น ซึ่งเขาก็เชียร์อันที่เบาๆ  สรุปว่าวันนั้น ผมต้องจ่ายค่าแว่นไป 5,000 บาทหลังจากหักส่วนลดแล้ว จริงๆก็เป็นกรอบแว่นสมัยนี้ใน shoppee ก็คงไม่น่าเกิน 2-300 บาท แต่เอาไป mark-up สัก 3,000% แล้วทำมา discount 50-70% แต่ตอนนั้นเราโง่ การถูกเด็กเลี้ยงแกะหลอกก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งราคาก็ไม่ได้ถูกถ้าเทียบราคาทองคำขณะนั้นคือ 4,500 บาท (พ.ศ.2540 บาทละ 4,869 บาท)

 

รอ 3 วัน มารับเลนส์ ใส่แล้วชัดแต่ปวดหัว บีบๆที่ขมับ จ้าๆ แสบตา ใส่สักพักแล้วจะคลื่นไส้อยากอาเจียน แต่พนักงานบอกว่ายังใหม่ ใส่ 3 วัน เดี๋ยวคงชิน  ผ่านไป 3 วัน ก็ยังไม่ชินจึงกลับมาอีกครั้ง พนักงานก็บอกว่าทุกอย่างถูกต้องหมดแล้ว ให้เราปรับตัวอีก 5 วัน  ผ่านไป 5 วันก็ยังมีปัญหาเดิม ก็กลับไปที่ร้านอีก ร้านบอกว่า ประกัน 7 วัน ตอนนี้ประกันเลยมาแล้ว ช่วยอะไรไม่ได้  งานนั้นผมเสียเงินฟรี 5,000 บาท เป็นค่าน้ำส้มที่แพงที่สุดตั้งแต่ผมเคยกินมา เพราะนั่นไม่ใช่ราคาแว่น เพราะมันสร้างปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา เพราะมันกระตุ้นภาพซ้อนให้เกิดเร็วขึ้นมาอีก

 

จากนั้นผมก็ย้ายร้าน  ชื่อร้านแปลเป็นไทยว่า beauty-อะไรสักอย่างที่แปลว่า “สวยงาม” ร้านดูดี มีโฆษณาในทีวีที่ดูตลกๆแต่จำขึ้นหูได้เร็ว และ ผมก็ได้รับประสบการณ์แบบเดิม เสียเงินค่าน้ำสมที่แพงที่สุดอีกครั้ง ผมคุยเรื่องนี้กับหลวงพ่อชรินทร์ (เจ้าอาวาสวัดเต็มรักสามัคคีขณะนั้น) ท่านก็เอาแว่นที่อยู่ในเกะออกมาให้ดู ซึ่งมีอยู่ 5 อัน เสียไปหลายหมื่นอยู่ และ ใส่ไม่ได้แม้แต่อันเดียว หลวงพ่อบอกผมว่า แว่นดีมันคงไม่มีหรอก ทนๆไป

 

ปัญหาไม่ใช่เรื่องเงิน (เพราะมีโยมอุปัฎฐากเป็นคนดูแลให้) แต่เป็นเรื่องเวลาที่เสียไป กับคุณภาพชีวิตที่แย่เพราะไม่ได้รับการแก้ไข และ มันเลี่ยงการอ่านหนังสือไม่ได้

 

มีวันหนึ่ง  มีรถตู้มาตัดแว่นให้ถึงวัด เขาก็เอาเครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตามาตั้งไว้กลางหอฉัน ผมที่มีปัญหาอยู่ ก็อยากจะลอง วันนั้นก็ทำไปอีก 3,000 บาท ได้แว่นอะไรก็ไม่รู้ ส่งทางไปรษณีย์ ย้อมสีฟ้าๆมาให้ ใส่กับไม่ใส่เหมือนกันเป๊ะ นี่เป็นค่าโง่ครั้งที่สาม ถ้าซื้อทองเก็บผมได้ทอง 3 บาทแล้ว

 

พอไม่ไหวก็บ่นให้โยมฟัง โยมก็แนะนำให้ไปหาหมอตาที่ รพ.เฉพาะทางตาแห่งหนึ่ง  โยมมารับไปตอนตี 4 ไปถึงตี 5 กดบัตรคิว 6 โมงเช้า หมอตรวจตอน 10 โมง และ หมอใช้เวลา 5-10 นาที ด้วยการใช้ slit lamp (ขณะนั้นไม่รู้จักชื่อเครื่องมือ) กวาดตาผมแล้วบอกว่าผมตาปกติ  แม้ว่าผมจะบอกว่าผมเห็นภาพซ้อนเหมือนหนังสือพิมพ์ที่หมึกเลอะ แต่ก็ดูเหมือนหมอจะไม่เชื่อ หมอบอกโยมว่า “เด็กคิดมากไปเอง” (เพียงเพราะ VA ผมอยู่ในเกณฑ์ดี) แต่รอบนี้ไม่ได้เสียตังค์ค่าแว่น จ่ายค่าบริการพยาบาลไม่กี่บาท  ซึ่งตอนนี้ผมเข้าใจว่า ปัญหาของผม แม้จะดูรุนแรงสำหรับคนที่เป็นอยู่ แต่ไม่ใช่งานที่ถนัดของหมอที่ดูแลเรื่องโรค แต่อย่างน้อยผมก็อยากได้คำตอบของปัญหาและแนวทางที่จะแก้ไข แต่ผมไม่ได้อะไร นอกจากเรื่องเสียเวลากับโดนบอกว่า “คิดมากไปเอง” พร้อมกับสีหน้าของโยมที่แสดงออกมาว่าผมทำให้แกเสียเวลา

ด้วยประสบการณ์เหล่านี้ มันทำให้เกิดความกลัวว่าตัวเองจะตาบอดหรือไม่ เพราะไปไหนก็ไม่มีรู้ แต่ก็อยู่มันอย่างนั้น หยีตา หรี่ตา เพ่งๆ เอา จนกระทั่งเรียนจบ น.ธ.เอก+ป.ธ.3 ก็สึกออกมาเรียนมัธยมศึกษา ด้วยความที่เรียนมัธยมนั้นไม่ได้จ้องหนังสือตลอดเวลาเหมือนกับเรียนบาลี อาการจึงเป็นไม่หนักมากและพออยู่ได้ แต่เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าตัวเองเป็นอะไร

 

Hope

จนกระทั่งม.ปลาย ผมจึงสนใจอยากจะเรียนอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องการมองเห็น สิ่งที่รู้จักอย่างเดียวคือ “จักษุ” แต่ไม่เคยได้ยิน “ทัศนมาตรศาสตร์” แต่ยอมรับว่าคะแนน ม.ปลายผมไม่ถึงแพทย์ศาสตร์​ เริ่มต้นคิดว่าจะรอสอบอีกปี แต่ก็หาข้อมูลไปเรื่อยๆ จึงได้พบกับทัศนมาตรศาสตร์ จาก google ทำให้ผมเริ่มมีความหวังที่จะรู้ปัญหาของตัวเอง และ เอาความรู้นี้ไปช่วยคนที่มีปัญหาเดียวกัน เรื่องราวทั้งหมดมันเหมือนปาฎิหารย์ที่มีใครกำหนดเอาไว้แล้ว ผมจึงตัดสินใจเรียนทัศนมาตรศาสตร์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับทุน ด้วยค่าเล่าเรียนที่แพงที่สุดในประเทศแล้วมั้ง (เทอมละ 75,000-80,000 บาท ปัจจุบันน่าจะเหลือ 65,000 มั้ง) และ เรียนยาวนานถึง 6 ปี และ เป็นสาขาที่ใหม่ มีมหาลัยเปิดน้อย  มันจึงเป็นความเสี่ยงขีดสุด แต่ผมก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อ เมื่อเห็นความตั้งใจจริง เสียงคัดค้านก็เลยเบาลง

นศ.ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี (2004-2010)

ขณะที่เรียนทัศนมาตร ปัญหาเดิมของผมก็ยังมีอยู่ จนมาได้รู้จักปัญหาของตัวเองเอาเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ว่าผมนั้นเป็นสายตาเอียง แต่ไม่ใช่เอียงแบบคนปกติที่มักจะเอียงคงที่ แต่สายตาเอียงของผมมันถูก induced จากการเพ่งของเลนส์แก้วตา เราเรียกว่า lenticular astigmatism ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเลนส์ตาเราเพ่งเพื่อโฟกัสดูใกล้ เมื่อโค้งเลนส์แก้วตาเปลี่ยน มันก็จะทำให้เกิดสายตาเอียงขึ้น ตัวหนังสือจะซ้อนกันเป็นสองชั้น จากนั้นเลนส์ตาเราก็ค้างเรียกว่า accommodative spasm ทำให้มัวทั้งใกล้และไกล จะกลับมาชัดพออยู่ได้อีกครั้งก็คือให้เลนส์แก้วตามันคลายตัว  ซึ่งผมเคยตรวจสายตาตัวเองว่า ตอนที่พักผ่อนเต็มที่ ให้เลนส์ตาคลายเต็มที่นั้น ผมมีสายตาสั้นประมาณ -1.75DS และเอียงเพียง -0.75DC แต่หากวันใด นอนน้อย ดูใกล้หนักๆ และ มีดื่มมาด้วยแล้ว ค่าสายตาเอียงผมจะกระโดษไปที่ -3.00DC นั่นแหล่ะคือปัญหา

 

การแก้ไขของผมก็ไม่ได้ยาก ผมก็แค่ใช้เลนส์โปรเกรสซีฟ ลดเพ่ง เมื่อเพ่งน้อยลง สายตาเอียงก็ถูก induced น้อยลง  accom spasm ก็น้อยลง  ปัจจุบัน ผมแทบไม่รู้สึกว่าปัญหานี้จะสร้างความยุ่งยากในการใช้ชีวิตให้กับผม  แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ผมต้องใช้เวลานานเป็นสิบปี เพื่อรู้ปัญหาและแก้ปัญหา (ตอนนี้ผมรู้สึกโชคดีเหลือเกินที่วันนั้นคะแนนไม่ถึงแพทย์ศาสตร์ ไม่อย่างนั้นแล้วผมคงไม่ได้เรียนรู้ศาสตร์ที่สามารถให้คำตอบของปัญหาตัวเองได้)

 

ด้วยความที่ผมปัญหาเองอยู่แล้ว การเรียนผมจึงตั้งใจเป็นพิเศษ ผมไม่เคยอ่านแค่เพื่อสอบ แต่ผมอ่านเพราะผมอยากรู้ ออกสอบหรือไม่ ไม่ใช่สำคัญ แต่ผมจะต้องรู้ให้ได้มากที่สุด และ ตอนนี้แม้จะจบไปแล้วหลายปี แต่ความอยากรู้มันก็ยังคงมีอยู่มาก และ ยังต้องอ่านอยู่ และน่าจะต้องอ่านต่อไปตลอดชีวิต เพราะศาสตร์ทัศนมาตร นั้นลึกกว่า refraction มากๆ ที่เราเห็นๆอยู่ในร้านขายแว่นนั้นใช้ความรู้ไม่น่าจะถึง 5% ของศาสตร์ความรู้ทั้งหมดของทัศนมาตร เพียงแต่เป็นส่วนที่ทำเงินก็เท่านั้นเอง หลายคนจึงมักจะหยุดอยู่ที่ 5% นี้ แล้วทุ่ม 95% ไปที่ความรู้ของการตลาด ภาพรวมันเลยเป็นแบบนี้

 

Work & Experience

หลังสำเร็จการศึกษา รุ่นพี่ผมคนหนึ่งได้ชวนผมไปช่วยงานที่ Rodenstock Asia ซึ่งเป็นบริษัทเลนส์เยอรมันที่เริ่มจะมาทำตลาดและสร้าง office ของตัวเองในประเทศไทย จากเดิมที่ทำตลาดผ่าน distributor และ ด้วยความที่บริษัทพึ่งเปิดใหม่ ทำให้อะไรๆก็ยังไม่พร้อม พนักงานก็น้อย มันเป็นโอกาสให้ผมได้เริ่มต้นเรียนรู้และทำทุกอย่างที่ตัวเองต้องรับผิดชอบซึ่งบางทีก็ไม่ใช่งานของตัวเองโดยตรง แต่ก็ต้องช่วยกัน เพราะคนของเรามีแค่นี้ ถึงแม้ว่าผมจะเข้าไปรับตำแหน่ง lens consultant แต่หน้าที่จริงผมคือ ตำแหน่ง supporting (for all) แผนกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น support  marketing ,sell ,customer service หรือ แม้แต่ช่วยเซลล์ขายเลนส์ (แต่ค่าคอมพ์เป็นของเซลล์) ก็ทำ ถือเป็นประสบการณ์

 

งานใน Rodenstock เป็นชีวิตการทำงานเป็นครั้งแรก แม้เงินเดือนจะน้อยกว่าเพื่อนๆรุ่นเดียวกันที่สตาร์ทเกือบๆครึ่ง แต่ความรับผิดชอบของงานนั้นมากและหลากหลายกว่าเพื่อนมากโดยผลตอบแทนนั้นมาในรูปแบบประสบการณ์ที่หลากหลายมากว่ารูปแบบของเงินเดือน ทั้งงาน supporting ใน office งานวิชาการที่ต้องอ่าน ต้องศึกษา white paper ที่ R&D ของบริษัทส่งมาให้อ่านและทำการย่อย แล้วทำเป็น powerpoint และฝึกพูดฝึกอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด ตลอดจนไปถึงบทความทางวิชาการที่ต้องเขียนให้กับบริษัทตามหนังสือนิตยสารเกี่ยวกับแแว่นตา ในนามปากกา “rod” ซึ่ง consult ของโรเด้นสต๊อกจะต้องเขียนลงวรสารทุกปี

 

เมื่อออกจากรั้วบริษัท เราก็เดินทางไปเยี่ยมลูกค้าตามร้านแว่นต่างๆ เพื่อช่วยแนะนำผลิตภัณฑ์ของโรเด้นสต๊อก ซึ่งเราก็มีโอกาสรู้จักลูกค้าที่หลากหลาย มีทั้งลูกค้าที่มีอุดมการณ์ ที่อยากรู้เพื่อทำธุรกิจบริการให้ดียิ่งขึ้น และ ลูกค้าที่ไม่สนใจอะไรนอกจากส่วนลดหลังบิล มีทั้งลูกค้าที่เชื่อว่า ของดีแต่แพงจะขายได้ในตลาดของตัวเองและมีทั้งคนที่ไม่ชื่อว่าของแพงแม้จะดีแต่ไม่น่าจะขายได้ในตลาดของตัวเอง บางคนไม่ซื้อเพราะแพงและรอนาน แต่บางคนก็ซื้อเพราะมันแพงรอนานแต่ดี ทำให้เกิดความคิดว่า “อะไรทำให้เจ้าของร้านแต่ละร้านนั้นคิดต่างกันโดยสิ้นเชิงในเรื่องเดียวกัน”

 

ดังนั้น ชีวิตของการเดินทางทำงานให้กับ rodenstock ผมได้อะไรหลายๆอย่าง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องของการเรียนรู้ และ มีค่าขนมให้ระหว่างเรียนด้วย จนกระทั่งผมทำงานครบ 4 ปี (2010-2014) ก็คือว่าผมได้สำเร็จหลักสูตร rodenstock แล้ว บริษัทก็เป็นรูปเป็นร่างแล้ว มีพนักงานมากขึ้น เป็นระบบมากขึ้น และงานหลายๆอย่างเช่น presentation slide หลักๆก็ทำจนเสร็จหมดแล้ว จะเพิ่มเติมก็ในส่วนของ updating technolgy การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของผมก็ไม่ได้จะทำให้เกิด big change อะไรมานัก และใจอยากทำงานด้านทัศนมาตรคลินิกดีกว่า อยากเจอคนไข้จริง อยากเจอคนที่มีปัญหาจริง และ เราความรู้ของเราไปช่วยเขาได้ เพราะเราเคยมีประสบการณ์เลวร้ายกับตาของตัวเองมาหลายปี หากเราช่วยเขาได้ มันก็น่าจะดีกว่า เหตนี้เองจึงเกิด loft optometry เกิดขึ้นที่ ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม.

 

จากมุมนี้ ผมอยากให้น้องๆที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา เมื่อต้องเลือกงานทำ อย่าเลือกรายได้เป็นสิ่งแรก แต่ให้เลือกที่ที่สามารถให้ประสบการณ์ในการทำงานของเรามากที่สุด เพราะนั่นคือ core value จริงๆ และใครก็ไม่สามารถเอาไปจากเราได้  อย่าเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆที่ไร้ค่าที่หาเปลี่ยนใหม่ได้ตลอด แต่ต้องเป็นเฟืองที่สำคัญกับองค์กรจริงๆ เราจึงจะมีคุณค่า และเมื่อคุณค่าในตัวมันเกิดขึ้นแล้ว เราอยู่ตรงไหนมันก็มีค่า

 

ผมเห็นหลายๆคนที่ติดกับดักตัวเอง ยอมทำงานที่ตัวเองเกลียดเพราะหวังว่าสิ้นเดือนจะได้เงิน เขาโขกเขาสับ เขาบูลลี่ ก็ทนอยู่ไม่กล้าออกไปไหน อ้างเศรษฐกิจไม่ดี อ้างการเมือง เมื่อก่อนอ้างลุงตู่ ปัจจุบันก็อ้างเศรษฐา อนาคตก็น่าจะอ้างส้ม หรือ อ้างอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องลงมือทำสิ่งที่เป็นของตัวเอง  ถ้ารอเศรษฐกิจดี ชาตินี้ก็คงไม่ได้เริ่มลงมือ เพราะโลกใบนี้เศรษฐกิจไม่เคยดี ถามพ่อถามแม่ดูว่า ยุคไหนเศรษฐกิจดี คำตอบคือไม่มี แต่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไง มันก็จะมีคนที่ประสบความสำเร็จอยู่เสมอ พออยู่ในระบบนานเกินไปก็เริ่มอายุมาก ก็เกิดความกลัวขึ้นมาอีก เพราะเริ่มมีครอบครัว มีลูกที่ต้องดูแล ยิ่งทำให้ไม่กล้าที่จะเสี่ยงลงมือทำงานที่รักเสียที สุดท้ายก็ต้องทนนั่งกอดเก้าอี้ตัวเองเอาไว้ ยิ่งอยู่นานเงินเดือนก็เริ่มมาก จนกระทั่งมากเกินไป หรือ มากเกิน value ที่องค์กรได้รับ เมื่อนั้นแหล่ะ เขาก็จะหาทางขับออก เพื่อเอาเงินไปจ้างคนใหม่ๆ ที่ค่าแรงถูกกว่า นั่นแหล่ะ “สัจธรรม”

รูปหมู่ทัศนมาตรที่สอบผ่านการขึ้นทะเบียนหนังสือให้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตร ปี 2554 

 

สมัยผมทำงาน ผมเป็นคนที่ไม่เคยลาพักร้อนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมทำงานจนถึงวันสิ้นปี 31 ธ.ค. (ถ้าไม่ชนกับเสาร์-อาทิตย์)ของทุกปี ไม่เคยลาป่วย มีลากิจหนึ่งครั้งคือลาเพื่ออ่านหนัอสอบบอร์ดเพื่อรับใบอนุญาติประกอบโรคศิลปะ เป็นเวลา 5 วัน และก็ผ่านตั้งแต่ครั้งแรก ซึ่งผมก็ดีใจมากเพราะว่ามีเวลาอ่านหนังสือเต็มที่แค่ 5 วัน (ทั้งวันทั้งคืน) และปีนั้นมีเพื่อนรุ่นเดียวกันสอบผ่านเพียง 6 คน และ มีรุ่นพี่อีก 2 คน รวมเป็น 8 คน ถ้าสอบตกผมก็ต้องรอสอบใหม่อีกปี ซึ่งมันเสียเวลา

 

Senire ที่เป็นลูกพี่ผมเคยบอกผมว่า “ผมอยู่ไม่เป็น” และสอนผมว่า “อย่าบ้ากับบริษัทมากเกินไป  ทำดีเกินเงินเดือนเขาก็แค่ขอบคุณ​ แต่ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เต็มที่เขาก็จะมีกระเช้าดอกไม้ไปให้วันแรก แล้วจากนั้นเขาก็ไม่มาเยี่ยมเราแล้ว และถ้าเราทุพลภาพ เขาก็แค่ขอบคุณเราที่ช่วยงานเขา และ เขาก็จากไปพร้อมกับลูกจ้างคนใหม่มาแทนที่เรา แล้วมันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันคงเป็นเหมือน” คงเหมือนกับ“รอยเขียนบนพื้นทรายริมชายหาด ไม่นานมันก็หายไป- boy imagine”

ซึ่งผมก็เข้าใจ แต่ผมก็เลือกที่จะอยู่ไม่เป็น เพราะผมสุขที่ได้ทำ ให้ผมหยุดผมก็ไม่รู้จะไปไหน Point คือ ผมทำงานขนาดนี้ เงินเดือนผม 22,000 บาท(+ค่าน้ำมัน 7,000)  แต่เงินไม่ใช่ point ของผม แต่ความรู้และประสบการณ์มากว่าที่ผมต้องการ จนกระทั่งผมเรียนรู้จนหมดแล้ว ผมจึงจากไป แต่เลือด rodenstock ในตัวผมก็ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

Dream

ตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ทำงานให้โรเด้นสต๊อก การมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมลูกค้า ไปนำเสนอเลนส์เพื่อใช้ในการรักษาปัญหาการมองเห็น ได้เห็น ได้ฟังวิธีคิดและมุมมอง มันยิ่งทำให้ความฝันของผมชัดเจนขึ้น ผมเข้าใจว่าทำไมปัญหาของผมจึงไม่เคยได้รับการแก้ไขมาเลยตลอดเวลาร่วม 20 ปีที่ผ่านมา แค่เรื่องพื้นฐานการมีห้องตรวจ 6 เมตร ยังเป็นเรืื่องยาก เพราะพื้นที่ 80% เตรียมไว้สำหรับชั้นวางสินค้ากรอบแว่นตา เหลือพื้นที่ช่องเล็กๆสำหรับการทำงานตรวจเพื่อแก้ไขปัญหาการมองเห็นไว้ 20%

 

อัตราส่วนดังกล่าว สะท้อนถึงการลำดับความสำคัญว่า ร้านค้าส่วนใหญ่ตั้ง why ไว้คือ money จากการขายกรอบแว่น ส่วนความสำคัญทางคลิินิกนั้น ไม่ได้อยู่ใน why จึงให้ความสำคัญเพียงน้อยนิด ปัญหาตามมาคือ กลายเป็นว่า product เราจ่ายออกไปแล้วมีปัญหา คนไข้ใช้งานไม่ได้ ทั้งๆที่ความผิดไม่ได้อยู่ที่เลนส์ แต่ผิดตั้งแต่ค่าสายตาที่ตรวจผิดพลาด และ สั่งแก้เคลมซ้ำมาก็ผิดซ้ำผิดซ้อน และ ก็เคลมไปเรื่อยๆ เดี๋ยวลูกค้าเบื่อก็ถอดใจกันไปเอง

 

เรื่องราวนี้มันเป็นภาพจำที่คุ้นเคยตั้งแต่ผมเป็นเด็กๆ แล้วมันก็มาชัดเจนตอนโต ซึ่งทำให้เราเข้าใจ และเกิดเป็นความฝันใหม่ที่ต้องการจะปฎิบัติวงการ สร้างเรื่องใหม่ ให้กับวิชาชีพทัศนมาตร ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในการดูและรักษาปัญหาสายตาและระบบการมองเห็น

 

ดังนั้น ความฝันของผมระหว่างการทำงานที่โรเด้นสต๊อกคือ การออกมาทำคลินิกทัศนมาตรที่ดีอย่างที่มันควรจะเป็น ให้ความรู้ความเข้าใจใหม่กับผู้คนเกี่ยวกับแว่นตา สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้รักษาปัญหาการมองเห็นที่เราคุ้นเคยคือ “แว่นตา” ทำความรู้ความเข้าใจใหม่ว่า “การจ่ายเลนส์เป็นการรักษา” ซึ่งเป็น optical treatment เช่นเดียวกับ surgical treatment และ medical treatment ไม่ใช่แค่ accessories แบบเดิมที่เขาทำๆกันมา เพื่อสร้างความยอมรับใหม่ในศาสตร์ทัศนมาตรให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อสร้างความชัดเจนและแตกต่างระหว่าง วิชาชีพทัศนมาตรกับอาชีพและวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น แพทย์หรือช่างแว่นตาและฝันสูงสุดคือ ได้เห็นทัศนมาตรในประเทศไทย มีมาตรฐานการทำงานที่เท่าเทียมกับทัศนมาตรสากลในประเทศที่เจริญแล้วอย่างในอเมริกา  ถ้าเสร็จทั้งหมดก็ถือว่าได้ตายตาหลับ  แล้วผมก็จะได้หนีไปอยู่ในบ่าบนเขาค้อ อ่านหนังสือ เขียนงานวิชาการ อัพความรู้ลงบน network เผื่อว่าผมตายไปแล้ว ความรู้จะได้ยังคงอยู่ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

 

Become

แต่ก่อนที่จะทำร้าน ผมก็มาคิดย้อนกลับถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากร้านนำ้ส้มฟรีแต่ขายแว่น และ ร้านแว่นต่างๆที่ผมมีโอกาสได้แวะเยี่ยมสมัยทำงานอยู่โรเด้นสต๊อก ร้านไหนดีผมก็หยิบความคิดมาใช้ ร้านไหนที่คิดไม่ค่อยดีหรือไม่ใช่แนว ผมก็ไม่ทำ สุดท้ายอยากทำงานทัศนมาตรคลินิกที่ไม่ใช่ร้านขายแว่น แต่จำเป็นต้องมีแว่น เพราะเราใช้แว่นกับเลนส์ในการรักษาให้คนไข้ของเรา

 

ร้านแว่นตาที่เป็น prototype ทางด้านความคิดของผมก็คือ ร้านแว่นตาสปอด มุกดาหาร (SPOD-Mukdaharn) ซึ่งเป็นร้านแว่นตาที่เป็นลูกค้าของโรเด้นสต๊อกที่มีแนวความคิดดีๆหลายอย่างที่น่าเดินตาม เขาเป็นช่างที่ทำงานในระดับที่ทัศนมาตรหลายๆคนยังต้องอาย ในยุคนั้นผมเห็นร้านแว่นที่มีห้องตรวจ 6 เมตรที่นี่เป็นที่แรกๆ มีการตรวจ binocular function ทำ retinoscopy และ ทำ handheld -JCC ซึ่งไม่เคยได้เจอที่ไหนเหมือนที่นี่มาก่อน และ คำถามที่เจ้าของร้านถามผมตอนเจอกันครั้งแรกคือ “best sphere” คืออะไร ทำอย่างไร หาอย่างไร ตลอดจน จุด nutral บน retinoscope อยู่ตรงไหน


Dr.Loft & K'Kornrit & K'Tui @Mukdaharn

 

คำถามเหล่านี้ อาจดูเรียบง่าย แต่สะท้อนถึงความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่ภายใน และ ถ้าเราตอบไม่ได้ เขาไม่ซื้อเลนส์จากบริษัทของเราแน่ๆ ผมจำคำตอบได้ว่า “nutral” ไม่มี มีแต่ไม่ with และ ไม่ againt” นั่นแหล่ะจุด nutral หลังจากคำตอบนี้ผมก็ขายเลนส์บริษัทให้กับสปอดได้อย่างไม่ต้องใช้ความพยายาม

 

ขยายความเล็กน้อย การเที่ยวหา nutral ในอุดมคตินั้น เหมือนการเที่ยวหาหนวดเต่าเหนื่อยเปล่าเอย...  สายตาที่ถูกต้องคือสายตาที่ไม่ผิดไปในฝั่งใดหรือฝั่งหนึ่ง ไม่บวกไม่ลบไม่บนไม่ล่างไม่ซ้ายไม่ขวา เราต้องตัดความผิดปกติไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนออกให้หมดแล้วที่เหลืออยู่นั้นจะถูกต้องเอง ดังนั้นการตรวจสายตาจึงเป็นเรื่องตัดสิ่งที่ผิดออกไป เมื่อเราตัดจนไม่มีที่จะตัดแล้ว ที่เหลือนั้นก็คือสิ่งที่ถูกต้องที่สุดหรือดีที่สุด ดังนั้นใครที่คุยว่า “แม่น” แต่จัดสายตา ฮึๆ ตลกดี กลับมาต่อ...

 

ทีนี้โจทก์ก็คือจะทำร้านอย่างไรไม่ให้เป็นร้านแว่น แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้เลนส์กับแว่นในการรักษาเราก็มีบริการ ร้านผมจึงดูเหมือนบ้านมากกว่าที่จะเป็นร้านแว่น เพราะมองเข้ามาก็ไม่รู้ว่าเป็นร้านอะไร ปลูกต้นไม้คลุมทางเข้าร้าน ไม่มีแว่นโชว์หน้าร้าน  ป้ายร้านก็เล็กจนมองไม่เห็นหากไม่สังเกต ร้านเล็กๆ อยู่ในหลืบ ชนิดที่ว่า คนขับรถผ่านไม่มีทางรู้ว่าผมทำงานอยู่ที่นี่ และ คนไข้หลายๆคน แม้บ้านเขาอยู่แถวนี้ เขามักจะถามผมว่า เปิดร้านมานานหรือยัง  พอผมบอกว่าเปิดมาเกือบสิบปีแล้ว เขาก็แปลกใจว่าทำไมเขาไม่เคยรู้เลย ซึ่งผมก็ตั้งใจไว้อย่างนั้นว่า ถ้ามีปัญหาค่อยมา ถ้าไม่มีปัญหาหรือยังไม่คิดว่ามีปัญหาจนจะต้องใช้มืออาชีพก็ไม่ต้องมาก็ได้ มีร้านแว่นมากมายให้ท่องเที่ยง shopping around แต่ถ้าเมื่อไหร่อยากจะเข้ารับบริการทางทัศนมาตรคลินิกจริงๆ ค่อยเข้ามา ซึ่งจริงๆมันก็ดีนะ มันเป็นการกรองคนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา คนไข้ที่เข้ามาทุกคนเป็นเคสนัดทั้งสิ้น ทำให้ทุกคนไม่ต้องรอ และ ถ้าไม่มีนัดผมก็ไม่ต้องแสตนบาย และ ผมก็มีเรื่องอื่นๆต้องทำหลายๆอย่าง ซึ่งก็น่าจะ win / win

 

มุมมองส่วนตัวอีกอย่างหนึ่งคือ ผมคงไม่ได้อยากให้คนผ่านไปผ่านมาและไม่ได้คิดว่าตัวเองมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หรือ คิดแค่ว่าเดินผ่านแล้วเห็นแว่นสวยๆ ก็เลยอยากจะมาลองใส่เล่น ถ้ามาแบบนี้ผมก็ไม่น่าจะพร้อมที่จะรับแขกเช่นเดียวกัน เพราะผมก็มีงานหลายอย่างที่ต้องทำ นี่คือสาเหตุที่ผมไม่สนใจที่จะทำคลินิกในห้าง เพราะคนเดินผ่านไปผ่านมาเห็นร้านแว่นก็นึกว่าร้านเสื้อผ้า ไปลองเดินดู เดินจับ ไม่พูดไม่จา ไม่หือไม่อือ เดินกอดอก ปิดกั้นตัวเอง หวาดระแวง ผมคงทนไม่ได้กับสภาพแบบนั้น เพราะ respect เป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งในการอยู่ร่วมกัน

 

ในกรณีที่เป็นร้านขายแว่นตา ก็ย่อมทำได้ เพราะมุมมองต่อแว่นตาของเขามันก็เหมือนกับเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้เท่านั้นเอง มันไม่ได้เป็นเรื่องสุขภาพ การ respect ก็คงไม่สำคัญเท่าไหร่นักเพราะเป้าคือยอดขาย และ เป็นเรื่องตลกที่สุดคือ “ตรวจวัดสายตาโดยละเอียดฟรี แต่เปลี่ยนน๊อตบานพับแว่นตัวละ 50 บาท เปลี่ยนแป้นจมูก 100 บาท ” หมายความว่า value ของงานด้านทัศนมาตรนั้น คุณค่ามันต่ำกว่าน๊อตตัวเดียวหรือเปล่าถึงได้ตรวจฟรี

 

Be value

ถ้าถามว่า value ในการทำงานของผมคืออะไร  คำตอบก็คือ การ varify เพื่อหาต้นตอและสาเหตุของปัญหาจริง และ ใช้ทักษะความรู้ที่ร่ำเรียนมา ตลอดจนประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมา ในการแก้ไขปัญหาให้กับคนไข้อย่างถูกจุด และ มีคำตอบเกี่ยวกับปัญหาการมองเห็นให้กับคนไข้เสมอ บางปัญหาก็เกินขอบเขตการทำงานของผม แต่ก็ต้องให้คำตอบกับคนไข้ว่า ปัญหาคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร และ จะต้องไปให้ใครช่วย

เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการ varify รวมไปถึง สถานที่ บรรยากาศ เวลา จึงต้องเอื้อในการทำงานทั้งหมด และ เป็นความสำคัญอย่างแรกที่ต้องตระเตรียม เครื่องมือในการตรวจจึงต้องมีมาตรฐานสูงสุด  ห้องตรวจต้องได้มาตรฐาน 6 เมตร + และ บรรยากาศต้องไม่พลุกพล่านวุ่นวาย ที่จะทำลายสมาธิการทำงาน

 

นอกจากนี้ continue education มันจะต้องมีสำหรับการทำงานในวิชาชีพ ตำราเรียน ก็คงต้องมีให้พร้อมสรรพ สำหรับศึกษา ฝึกฝน ให้มีความชำนาญมากขึ้น และ พบว่าหลายๆอย่างนั้น ก็ต่างกับตำราที่เรียน คือความรู้ที่ได้จากห้องเรียนก็ไม่ใช่เรื่องจริงก็มี เช่น การสอนจัดสายตานั้น ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะเทคโนโลยีเลนส์สมัยนี้ไปไกลมากแล้ว เราสามารถทำงานแบบตรงไปตรงมาได้แล้ว ไม่ต้องใช้ศาตร์  spherical equivalent แบบที่ใช้ในการจ่าย soft contact lens มาจ่ายแว่นอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม ยิ่งไปทำอย่างนั้น ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพของเลนส์ไฮเทคนั้นมีประสิทธิภาพที่ต่ำลง

 

ปัญหามันอยู่ที่ว่า full correction นั้นมัน full จริงๆไหม หรือ มโนไปเองว่ามันใช่ ดังนั้น ความรู้ในการ varify จึงเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งเครื่องมือ ห้องตรวจ ความมืดสว่างของไฟห้องตรวจ ถ้าปัจจัยเบื้องต้นไม่ผ่าน หรือ ยังไม่มี ก็อย่าพึ่งไปพูดถึง  full correction กลับไปจัดสายตาขายแว่นแบบเดิมดีแล้ว อย่างน้อยก็ขายแว่นได้ ดีไม่ดีก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจ่ายไม่รอดก็ไม่เป็นไร ทำโปรโมชั่นดึงลูกค้าใหม่เข้าร้าน เพราะประเทศไทยมีคนยังไม่รู้เรื่องอยู่มาก และ เขาชินกับร้านแว่นตาอยู่แล้วว่าจะต้องเจอกับอะไร โดยส่วนใหญ่เขาไม่ได้คาดหวังความรู้จากร้านแว่นตาสะดวกซื้ออยู่แล้ว เมื่อ value มันต่ำ เขาต้องรีดส่วนลดให้ได้มากที่สุด เผื่อใส่ไม่ได้แล้วทิ้งจะได้ไม่ต้องเสียดายของ

 

การสร้าง value เช่นนี้ สมองเราไม่สามารถคิดวิเคราะห์จากการตรวจเคสได้เกินวันละ 5 เคส จริงๆได้แค่ 3 เคสนั่นเต็มที่แล้ว พอเลย 3 เคส หัวเราจะเริ่มเบลอ งานเราจะหยาบขึ้น ยิ่งทำเยอะยิ่งชุ่ยมาก  ดังนั้นอย่าไประเริงกับการตรวจวันละ 10 เคส เพราะงานที่ออกไปเป็นงานชุ่ยทั้งนั้น  นึกถึงภาพตอนที่เราเป็นนักศึกษาออกหน่วยตรวจสายตาวันละ 600 เคสสิ ทำเยอะแปลว่าดีจริงๆหรือ ? เอาจริงๆ ถ้าจะทำขนาดนั้น คงทำได้แค่วัดแว่นเพราะมันไม่ต้องใช้หัวคิดเยอะ มันยังห่างเรื่องการตรวจวัดสายตายิ่งนัก บางคนหนักขนาดที่ว่า ไม่ใช่ความคิดเลย  ยิง auto-refract แล้วลองเลนส์เสียบ 10 นาทีเสร็จ แล้วใช้เวลาและพลังงาน ในการเชียร์ขายกรอบ เชียร์ขายเลนส์ มโนเพ้อพบ สร้างความคาดหวัง จบด้วยการเคลมเลนส์ เสียเวลาคนไข้  คนไข้บางคนไม่ยอมก็ต้องคืนเงินให้เค้า เรียกว่า เสียลาภ แล้วการทำงานแบบนี้มันจะไปหา value จากอะไร

 

Belong

การ run business แล้วต้อง keep value ไปด้วยนั้นไม่ใช่ของง่าย และ ที่ไม่ง่ายก็เพราะกิเลสอยากนี่แหล่ะ “คืออยากเร็ว” พอมันไม่เร็วก็เป็นทุกข์ เช่นอยากโตเร็ว อยากเป็นที่รู้จักเร็ว อยากรวยเร็ว พอมันไม่เร็วก็เป็นทุกข์  เพราะความเร็วหรือไม่เร็วมันก็เป็นเรื่องของเหตุของปัจจัย บางครั้งก็เกินการควบคุมของเรา

 

หลายคนทนไม่ได้ สุดท้ายต้องลด value ลงมาเพื่อให้มันเร็ว เช่นการด้อยค่าตัวเองด้วยการตรวจวัดสายตา(หยาบ)โดยทัศนมาตร (จริงๆใช้คอมพ์ตรวจ) ให้เร็ว พยายามปิดการขายให้ได้ พยายามทำราคาให้ถูกเพื่อแข่งกับตลาดที่ไม่มี value และ ต้นทุนต่ำเช่นร้านแว่นตาสะดวกซื้อ พอเห็น flow ก็ใจชื้น ชุ่มฉ่ำหัวใจ แต่บางครั้งก็ไม่ทันได้นึกว่า cost ที่แท้จริงที่เกิดขึ้นนั้น มันได้ไม่คุ้มเสีย ครั้นจะกลับตัวกลับใจเอา value กลับมาบางทีมันก็สายไปเสียแล้ว ต้อง re-brand ใหม่อย่างเดียว เพราะการซ่อมแก้วที่แตกร้าวให้เหมือนใหม่นั้นยากกว่าการสร้างใหม่

 

มีน้องๆทัศนมาตรหลายคนที่ถามว่า พึ่งเปิดร้านใหม่ ทำอย่างไรดี ให้เขารู้จักเราเร็วๆ  ผมก็ต้องถามกลับไปว่า “ทำไมต้องให้เขารู้จักเราเร็วๆ หรือ รู้จักเยอะๆ”  คำตอบก็คือ “จะได้ตรวจเยอะๆ (ได้ตังค์เยอะๆ)”  ซึ่งก็ไม่ได้ผิด เพราะธุรกิจวัดกันที่ผลประกอบการเป็นสำคัญ​ แต่ผมให้มุมมองอย่างนี้ว่า สมมติว่ามีเคสหนึ่ง มีกำลังซื้อสูงมาก จ่ายไม่อั้น ขอให้แก้ไขปัญหาการมองเห็น  สมมติว่าเขามีภาพซ้อน รวมภาพไม่ได้ มองด้วยตาข้างเดียวก็ไม่ชัด มองพร้อมกันสองตาก็ไม่ชัด เพ่งอ่านหนังสือก็ไม่ได้ เป็นมาตั้งแต่เด็กเท่าที่จำความได้ หมดตังค์ไปมากก็ไม่มีใครแก้ได้ แล้วคนนี้เดินเข้ามาขอให้เราช่วย ยินดีจ่ายเท่าไหร่ก็ได้ คำถามคือ “เราช่วยเขาได้หรือไม่ หรือ มีความมั่นใจที่จะทำเคสลักษณะนี้มากน้อยแค่ไหน” ถ้าเรามั่นใจ ไม่หวั่น ไม่เกรงกลัวที่จะทำเคสยากๆ ก็ขอบอกเลยว่าน้องไม่ต้องกลัวอะไร แค่ตั้งใจทำต่อไป น้องได้เกิดแน่นอน เพราะคนนี้ เขาไม่ได้อยู่คนเดียว เขามีพ่อแม่ ครอบครัว เพื่อนฝูง เจ้านายลูกน้อง ลูกค้าคนรู้จัก เขาย่อมบอกต่อแน่นอน แล้วฐานน้องๆก็จะค่อยๆโต และ เป็นคนไข้ที่มีคุณภาพ ไม่ได้มาหาเราเพราะราคาถูกหรือแพง แต่เพราะเชื่อมั่นศรัทธาในตัวเรา

 

ในทางตรงกันข้าม  เราโม้ไว้บน social ว่าตรวจสายตา ตรวจกล้ามเนื้อตา ฟรีอย่างละเอียดโดยนักทัศนมาตร แต่พอคนไข้มาจริง กลับทำอะไรให้เขาไม่ได้เลย ปากสั่น ขาสั่น หรือ อาจเก่งที่เชียร์ปิดการขายได้ แต่สุดท้ายแก้ไขไม่ได้  เรื่องก็จะตรงกันข้าม เพราะคนไข้ที่เราดูแลเขาไม่ได้อยู่คนเดียว เขาก็จะไปบอกคนรู้จักเขาเช่นกันว่า “อย่ามา” นานๆเข้า เราจะไม่เห็น repete คนไข้กลับมา ทำให้เราต้องหาใหม่ตลอดเวลา  นั่นแหล่ะที่จุดเริ่มที่เราเรียกว่า “โปรโมชั่นส่งเสริมการขาย”

 

สินค้าบริการที่เราขอให้เขาซื้อ กับ สินค้าและบริการที่เขาขอซื้อจากเรา ไม่เหมือนกัน ถ้าของมันไม่ดี ก็ต้อง “เลหลัง” ทำโปรโมชั่นเพื่อให้เขาซื้อ  แต่ถ้าของเราดี เราไม่อยากขายเขาก็ขอซื้อ  หลักในการคิดก็มีเท่านี้  ถ้ากะเพราอร่อย มันมีเหตุผลอะไรที่ผมจะไม่ซื้อกิน เว้นแต่ว่ามันไม่อร่อย  ขายจานแถมจานผมก็อาจจะซื้อไปให้หมาที่บ้านกินก็ได้ แต่เราจะให้หมาเรากินแพงแบบนั้นทุกวันหรือเปล่า

 

แต่ก็ย้ำอีกทีว่า “มันไม่ง่าย” Passion เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอยู่ให้เราสามารถทนที่จะยืนหยัดในการ create value ต่อไปได้ แน่นอนว่าช่วงแรกจะเป็นช่วงการทดสอบว่าเรา “ของจริง” หรือไม่ ตลาดก็จะตอบโต้ความดื้อของเรา ให้เรารู้สึกว่าเส้นทางที่เราเดินอยู่นั้น “อาจมีอะไรผิดพลาดตรงไหน” จนทำให้บางคนเกิดไขว้เขว ยอมทิ้ง passion มาสู่ตลาดเลือดกันอีกครั้ง และ ลงมาเมื่อไหร่ การกลับขึ้นไปใหม่นั้นลำบากกว่าหลายพันเท่า

 

จะทำอย่างไร ?

 

Passion ถูกหล่อเลี้ยงด้วยความรัก  ดังนั้น เราต้อง fall in love กับงานที่เราทำอยู่เสียก่อน มีความสุขกับสิ่งดีๆ เล็กๆ ที่เรามอบให้กับผู้ที่มารับบริการ แล้วมีความสุขกับผลลัพธ์ที่เราสามารถช่วยคนไข้ได้  และเอาสิ่งเหล่านี้มาหล่อเลี้ยง passion

 

แต่ตัวที่จะทำให้เราสับสนคือ cost ที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าลูกน้อง ค่าช่าง และ หนี้สิน ที่ต้องจ่ายทุกเดือน มันจะเป็นตัวกระตุ้นให้เราสู้หรือหนี ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

 

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ “ต้องทำให้เล็ก” แต่ "เล็กแบบพริกขี้หนู ใหญ่แต่กลวง” เพื่อลด fixed cost ให้ได้มากที่สุด  เช่นทำร้านเล็กๆ ค่าเช่าไม่แพง ที่จอดรถสะดวก เมื่อร้านเล็ก การ decoration ก็จะไม่สูง โซฟา เฟอนิเจอร์ก็ไม่ต้องมาก แอร์สองตัวก็เย็นแล้ว คนอยู่ในร้าน 2-3 คนก็อบอุ่นแล้ว ดูไม่เหงาหรือโหลงเหลง ให้เราลองจินตนาการร้านเล็กที่อบอุ่น กับร้านใหญ่โตที่ไม่มีอะไร อย่างไหนมันดูแล้วหลอนกว่ากัน

 

ลำดับความสำคัญให้ชัดเจนกับ budget ที่มี อะไรที่จำเป็นก็จัดหามา อะไรที่มันยังรอได้ก็รอไปก่อน ค่อยๆเดิน ค่อยๆขยับ แต่ถ้าคนเงินถัง ไม่ได้ไปหยิบยืมใครมาก็ถือว่าโชคดีไป แต่อะไรที่มันมาได้ง่าย ค่าก็มักจะไม่ค่อยมี นำไปสู่ความไม่อินในงาน no สน no แคร์  สุดท้ายก็มักจะไปไม่รอดอีกเช่นกัน ตัวอย่างก็มีดูไม่น้อย เช่น ลูกเศรษฐี มีเงินเหลือ ไม่รู้ทำอะไร ก็ลงทุนเปิดร้านคาเฟ่  สวยๆ ให้คนมาเช็คอิน แต่ไม่ได้มีความรู้เรื่องกาแฟ แล้วใครจะไปเช็คอินซ้ำร้านสวยแต่กาแฟไม่อร่อย เพราะคนต้องการพร๊อบใหม่ตลอดเวลา สุดท้ายก็ต้องเลิกรากันไป

 

เมื่อเราลงมือทำสิ่งดีๆ value มันก็เกิดขึ้น ความไว้เนื้อเชื่อใจก็เกิดขึ้น การใช้บริการซ้ำก็เกิดขึ้น อย่างน้อยรอบหนึ่งก็ใช้เวลาประมาณ​ 3-4 ปี แต่ในระหว่างนั้นมันก็จะมีการค่อยๆบอกต่อ จากหนึ่งเป็นสอง เป็นสี่ เป็นแปด เป็นสิบหก แผ่ไปเรื่อยๆ ดังนั้น ระยะเวลาที่จะต้อง keep passion คืออย่างน้อย 10 ปี เพื่อให้เกิด return อย่างน้อยสักสองรอบ จากนั้นก็เข้าถ้ำทำงานเงียบๆได้

 

Future

 

อนาคต จะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ อาจจะบึ้มบั้ม เหมือนอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ก็ได้ ไม่แน่ไม่นอน แต่สิ่งหนึ่งก็คือ การได้ฝากเรื่องดีๆไว้กับโลกใบนี้ด้วยการทำเรื่องที่ถูกต้อง และ ไม่ต้องเสียดายช่วงเวลาที่ล่วงเลยมา เพราะเราทำดีที่สุดแล้ว

 

ถ้าถามความฝันของผม ก็คงอยากจะเห็นวิชาชีพทัศนมาตรเจริญเติบโตทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในอเมริกา  มีสภาทัศนมาตรเป็นของตัวเอง วิชาชีพเข้มแข็ง ไม่มีการจัดสายตา ไม่มีการมั่วนิ่ม และ เป็นวิชาชีพที่ทำงานอย่างมืออาชีพ เป็นที่พึ่งให้กับผู้คนได้จริงๆ ไม่ต้อง hard-sale แข่งกัน ไม่ต้องลด value แข่งกัน ต่างคนต่างทำงานที่ตัวเองได้รับมอบหมายให้ดี นั่นแหล่ะอนาคตที่ผมจินตนาการไว้

เมื่อวันนั้นมาถึง ผมเห็นภาพตัวเอง นั่งอยู่ในกระท่อมบนยอดเขาค้อ(ซึ่งเตรียมไว้แล้ว) อากาศยามเช้าที่สดชื่น ปล่อยให้คลื่นหมอกไหลสัมผัสใบหน้าพร้อมกาแฟดริปเช้าๆ ฟังเสียงนกออกหากิน ปลูกต้นไม้ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ตัวเองมี ให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อ

 

ไม่รู้จะเป็นไปได้แค่ไหน แต่วันนี้ก็ต้องเดินต่อไป และจะยินดีมากหากน้องๆทัศนมาตรคนไหนที่กำลังจะทำกิจการของตนเองและสามารถเอาไอเดียความคิดนี้นำไปใช้ในการดำเนินกิจการได้ แม้เราจะไม่ใช่พี่น้องสายเลือดเดียวกัน แต่เราก็อยู่ในหลังคาทัศนมาตรที่มีความเชื่อและอุดมการณ์แบบเดียวกัน อยู่เพื่อสร้างสรรสิ่งดีๆให้โลกนี้ต่อไป

 

 

Dr.Loft ,Dr.Jack ,Dr.Dear  : Optometry New Blood.

 

ขอให้น้องๆทัศนมาตรที่ตั้งใจดีแล้ว มีความสุข และ โชคดีบนเส้นทางทัศนมาตร

ดร.ลอฟท์ ,O.D.