เข็มทิศทัศนมาตร

ตอนที่ 1 : The mind set : ทัศนคติกำเนิดตัวตน

By dr.loft ,O.D.

English version : https://loftoptometry.com/blog/view/22

บทนำ

 

หลังจากที่ผมได้มีโอกาสไปเป็น อาจารย์พิเศษให้กับ นศ.ทัศนมาตรศาสตร์  ซึ่งผมต้องรับผิดชอบในวิชา เศรษฐศาสตร์ทางทัศนมาตร Socioeconomic Aspect of Optometry ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจบริการทางทัศนมาตร ว่าจะต้องเตรียมตัวเรื่องอะไรบ้าง รวมไปถึงกฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง

 

ผมเริ่มต้นจากการถามที่มาที่ไปว่าเป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงมาเรียนทัศนมาตรศาสตร์ เพราะการเป็นเจ้าของธุรกิจร้านแว่นตาคงไม่ใช่ความฝันของใคร เพราะไม่มีเด็กคนไหนที่ยอมเรียน 6 ปี เพื่อออกไปทำธุรกิจขายแว่นตา เด็กส่วนใหญ่ก็อยากเป็นนักกีฬา วิศวกร แพทย์ พยาบาล เภสัช ตำรวจ ทหาร ครู รับราชการ บริหาร การตลาด โปรแกรมเมอร์ แต่ยากนะที่จะมีเด็กบอกว่าอยากจะเรียนเพื่อไปทำอาชีพขายแว่นตา และ ก็ไม่มีผู้ปกครองคนไหนที่รู้สึกว่าอยากให้ลูกหลานเรียนเพื่อจบออกมาขายแว่นตา แม้แต่นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ก็ไม่ได้อยากไปเป็นคนขายแว่นตา เว้นเสียแต่ว่าพ่อแม่ให้มาเรียนเพื่อสืบทอดกิจการแว่นตา 

 

ผมเริ่มจากการยิงคำถามเด็กไปว่า  มีใครในห้องนี้เรียนจบแล้วอยากออกไปทำร้านของตัวเองบ้าง ผลคือไม่มีเด็กยกมือแม้แต่คนเดียว ผมก็เลยสุ่มถามเด็กคนหนึ่งไปว่า “หนูจบไปจะทำอะไร” เด็กตอบว่า “หนูอยากเป็นแอร์ โฮสเตส” ผมก็ได้แต่เกาหัวแขรกๆ เลยถามต่อไปว่า “ทำไมถึงมาเรียน”  เด็กตอบว่า “หนูก็ไม่รู้ คะแนนมันถึงหนูก็เลยเลือกเรียน” เด็กตอบ  ผมก็ถามต่อไปว่า “แล้วมาเรียน พ่อแม้รู้หรือเปล่าว่ามาเรียนอะไร”  “รู้บ้างค่ะ แต่ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่” เด็กตอบ  ผมถามต่อไปว่า “แล้วเขาโอเคไหมถ้ารู้ว่าเราเรียนจบไปแล้วเราต้องทำงานเกี่ยวกับแว่นตา” เด็กไม่ตอบแล้วได้แต่ยิ้มแหยๆหัวเราะแห้งๆออกมา

 

คำถามคือ “ขายแว่นตา” มันมีปัญหาอะไร ทำไมใครก็ส่ายหัว แม้แต่คนรากหญ้าที่สุดก็ยังไม่ได้รู้สึกว่าธุรกิจขายแว่นตามันเป็นอาชีพในฝันที่อยากให้ลูกหลานเรียน ทำไม ??? แต่ผมก็เชื่อว่าทุกคนพอจะรู้ความรู้สึกของเด็กๆ เพราะผมเองก็มีประสบการณ์ไม่ดีกับร้านแว่นตาตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นเด็กที่มีปัญหาสายตาแล้วเข้าไปรับบริการกับร้านแว่นตาที่มีสาขามากที่สุดในประเทศ (เมื่อ 30 ปีก่อน) ผมทำแว่นไป 5,000 บาท ซึ่งไม่ได้ถูกเลยถ้าเทียบกับราคาทองคำขณะนั้นบาทละ 4,500 บาท แต่มันใช้จริงไม่ได้ ปวดหัว ปวดตา ทนปรับตัว 3 วันก็ยังไม่ได้ กลับไปที่ร้าน ร้านก็ให้เราปรับตัวต่ออีก 5 วัน พอปรับอีก 5 วัน ก็ปรับไม่ได้ ร้านสะดวกซื้อแว่นก็บอกว่า หมดประกัน เพราะเลย 7 วัน และ ทำอะไรไม่ได้  จากนั้นผมก็ย้ายร้านแว่นจากสาขาหนึ่งไปอีกสาขาหนึ่ง  และ ก็ย้ายไปอีกร้านหนึ่งซึ่งมารู้ตอนโตว่ามันเจ้าของเดียวกัน ที่ขยายสาขามาแข่งกันเอง ที่มีแนวคิดการตลาดว่า "ถ้าเราไม่เปิดแข่งตัวเอง ร้านอื่นก็มาเปิดแข่งอยู่ดี" ซึ่งร้านพวกนี้ไม่เคยสนใจสุขภาพของคนจริงๆ สนใจแค่ยอดขายเท่านั้น และ ธุรกิจร้านแว่นผักตบชวาเหล่านี้มันมีเยอะเสียเหลือเกิน ทำให้ภาพลักษณ์ของวงการนี้ดูแย่ โฆษณาในทีวีก็เน้นดูตลก แถมสองแถมสาม แถมนาฬิกา แถมเสื้อแจ๊คเก๊ต ไม่มีตรงไหนเลยที่มองเรื่องแว่นเป็นเรื่องสุขภาพ และด้วยสิ่งเหล่านี้ธุรกิจแว่นเลยถูกมองภาพรวมว่าไม่ดี เพราะชอบหลอกเชียร์ขาย

 

แต่ทุกคนมีปัญหาการมองเห็น ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งหรือไม่วันใดก็วันหนึ่ง ส่วนจะทนได้หรือไม่กับปัญหานั้นก็ขึ้นอยู่กับปัญหามากหรือน้อย ซึ่งทุกคนยอมรับว่า ดวงตาและสายตานั้นเป็นสิ่งจำเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับระบบประสาทอื่นๆแต่เป็นอวัยวะสุดท้ายที่คนจะยอมลงทุน  เช่นมีคนยอมจ่ายเครื่องเสียงเป็นสิบล้านเพื่อที่จะฟังเพลงเพราะขึ้น 15% จากเครื่องเสียงหลักแสนต้นๆ หรือดีขึ้น 30% จากเครื่องเสียงหลักหมื่น หรือ แม้แต่สาย LAN audio grade เส้นละแสนเพื่อให้ได้เสียงดีขึ้นประมาณ 1% ที่ต้องใช้ใจฟังเพราะหูมันแยกไม่ออก แต่เวลาจะทำเลนส์ให้กับดวงตาตัวเองที่ตัวเองให้ความสำคัญที่สุด กล้าจ่ายแค่กรอบพร้อมเลนส์ 1,990 นั่นแหล่ะตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน หรือมีคนยอมจ่ายค่ากาแฟเมล็ดดีๆ เสริฟละ 1,500 ได้ เพื่อได้ลิ้มรสเพียงไม่กี่นาที แต่กระอักกระอ่วนใจกับแวนตาดีๆที่ใช้ได้ 4-5 ปี  บางคนยอมจ่าย iphone 15 pro max ครึ่งแสน เพื่อไว้เล่นไลน์ เขี่ยเฟส ถ่ายรูปอัพติ๊กต๊อก แต่ทำใจไม่ได้ถ้าจะต้องทำเลนส์ดีๆให้ตัวเอง ทั้งที่ต้องใช้ตาในการเล่นเฟส เล่นติ๊กต๊อก

 

ที่พูดมาทั้งหมดข้างต้น ไม่ได้อะไร แต่จะให้ตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น  ผมตอบให้ก็ได้ “เพราะของทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น มันเป็นรูปธรรม จับต้องได้ และ เขาเชื่อว่ามันดีจริง และ พอใจที่จะจ่าย” แต่พอมองไปที่ธุรกิจแว่นตา เขาไม่เชื่อว่า เลนส์ที่เขากำลังจะใช้นั้นมันไม่ได้ดีจริง เพราะร้านแว่นส่วนใหญ่ชอบหลอก โฆษณาเกินจริง มโนว่ามันจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ สุดยอดเทคโนโลยีอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้ายเคลม 4-5 รอบแล้วยังไม่รอด  สุดท้ายก็รู้สึกว่ามันเสียตังค์ฟรี  และในเมื่อเขาเชื่อว่ามันไม่ดี เพราะคนส่วนใหญ่ทำไม่ดี แล้วทำไมเขาจะต้องลงทุน เพราะมันมีความเสี่ยงสูงเกินไปเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะได้รับ 

 

การที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสายตานั้นทำไม่ดี (ส่วนที่ทำดีก็ขอชื่นชม ซึ่งก็มีไม่น้อย) ทำให้เรื่องดีๆ อย่างทัศนมาตรศาสตร์พลอยพลอยเป็นอะไรที่ไม่ใช่ความฝันสักเท่าไหร่เพราะคนที่ไม่รู้ก็จะเอาทัศนมาตรไปผูกกับสินค้ากรอบแว่นตากับเชียร์ขายเลนส์​ ร้านแว่นตาที่จ้างทัศนมาตรไปทำงานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ไปเน้นตรวจเท่าไหร่ ต้องการเพียงใช้ชื่อเพื่อส่งเสริมการขายเสียมากกว่า หรือไม่ก็จ้างชนิดที่ว่า เป็น item "ของมันต้องมี"  แม้แต่พ่อแม่บางคนที่ส่งลูกเรียน ก็ไม่ได้หวังว่าจะให้ลูกออกมาทำดี แต่เอามาเป็นจุดขายในพื้นที่ธุรกิจของตัวเองเสียมากกว่า เพราะหลังๆ เราจะเห็นการโฆษณาชนิดที่ว่า  “มีทัศนมาตร หมอสายตา ประจำแห่งแรกในประเทศ ในจังหวัด ในอำเภอ ในตำบล...” ซึ่งจริงๆก็ไม่จำเป็นนะ nokia เกิดก่อน apple ยังเจ๊งเลย แห่งแรกแล้วไง  BYD เกิดหลัง toyota แล้วยังไง  อายุมากต้องมากด้วยวามรู้และประสบการณ์ ไม่ใช่อายุมากเพราะอยู่นาน ภาพเหล่านี้มันก็ทำให้ทัศนมาตรดูแย่ จากคนที่ไม่เข้าใจว่าทัศนมาตรคืออะไร แตกต่างอย่างไร ก็เลยพยายามแตกต่างด้วยการโฆษณาสิ่งที่ตัวเองมี แต่คนอื่นไม่มี  ทั้งที่ความมีที่ว่านั้น ไม่เคยหยิบมันออกมาใช้งานด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ความรู้ หรือ เครื่องมืออุปกรณ์ เริ่มจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานทัศนมาตรเลยคือการหยิบ retinoscope ขึ้นมาตรวจสายตาแทนเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ก่อน แล้วดูสิว่า เราทำ prescription ออกมาได้ดีแค่ไหนหากไม่มีผู้ช่วย ถ้าทำไม่ได้ อันนี้ลำบากแล้วนะ เพราะนักรบที่ดีมันต้องสามารถใช้ดาบได้แม้กระสุนหมดปลอกแล้ว ไม่ใช่กระสุนหมด แล้วเป็นง่อยเลย (ไฟดับ ทำอะไรไม่เป็น รอไฟมาแล้วค่อยทำงาน เพราะคอมพิวเตอร์วัดสายตาใช้งานไม่ได้)

 

อีกตัวอย่างเช่น “ตรวจตาอย่างละเอียดโดยทัศนมาตรฟรี” ถ้าจะว่าไปแล้ว “มันคือหน้าที่ที่ทัศนมาตรทุกคนต้องทำอยู่แล้วหรือเปล่า” เพราะมันคือการปฎิบัติงานทางคลินิก มันคือจรรยาบรรณที่ต้องทำ แต่เราก็รู้ว่าก็มันไม่ยอมทำงาน ก็เลยพยามจะบอกว่าตัวเองทำ แต่ยิ่งบอกว่า "ทำ" แสดงว่า "ไม่ทำ"  เช่น พระจะมานั่งพูดไหมว่า “อาตมานั่งสวดมนต์ภาวนาทั้งวันทั้งคืน อาตมาเป็นคนดีนะโยม อาตมารักษาศีลเก่งนะ อาตมาเก่งพระรูปอื่นๆ” เพื่อหวังลาภสักการะบางอย่าง  เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็นหน้าที่ของพระหรือเปล่า  ถ้าไม่ทำสิแปลก แต่การทำ ก็แค่ "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น" เดี๋ยวศรัทธาก็เกิดขึ้นมาเอง งานทัศนมาตรก็เช่นเดียวกัน คนเขาไม่ได้สนใจว่าคุณทำอะไร  คนสนใจว่า "ทำไมคุณถึงทำ" หนังสือ start with why เขาก็เขียนเอาไว้ ลองไปหาอ่านดู  ยิ่งมีคำว่า "ตรวจอย่างละเอียดฟรี" ด้วยแล้ว ถามจริงๆ ตอนเรียนไม่ได้จ่ายค่าเทอมหรือ ค่าหอค่าห้อง ค่าตำราเรียน ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเครื่องมือ ค่ากินอยู่ใช้ ได้มาฟรีหรือ  แล้ว "ฟรี" มันมีจริงๆหรือ หรือว่า ตรวจฟรีเพื่อหวังขายแว่น  ถ้ามีคนเดินดุ่มๆเข้าไปหาเพราะคำโฆษณาว่า  “ตรวจตาอย่างละเอียดโดยทัศนมาตรฟรี” ก็เลยขอตรวจละเอียดฟรีแต่ตั้งใจจะไม่ซื้อแว่น คุณจะทำละเอียดให้เขาหรือไม่ ถามใจตัวเองดู  คุณกินก๋วยเตี๋ยวข้างถนน เขายังคิดค่าน้ำแข็ง 2 บาทเลย ถามว่าต้นทุนน้ำแข็ง 1 แก้ว กี่บาท แล้วต้นทุนวิชาชีพทัศนมาตรของคุณกี่บาท แต่ที่จะบอกคือ "คนเขาไม่เคยเชื่อเรื่องฟรีอยู่แล้ว และเขารู้ว่าโพสต์แบบนี้เพื่อหวังอะไร" และอยากจะบอกว่า "ของฟรีไม่เคยมีค่า" เข้าวัดเรายังต้องทำบุญเลย เพราะเรารู้ว่าวัดมีต้นทุน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำรุงดูแลวัด 

 

Optometry role

 

การที่ทัศนมาตรต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับแว่นตากับเลนส์นั้น แท้จริงทัศนมาตรไม่ได้จบออกมาขายแว่นเลี้ยงชีพ แต่เราใช้อุปกรณ์คือเลนส์ในการรักษาปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นให้คนไข้เช่นเดียวกับแพทย์ใช้ยาหรือผ่าตัดในการรักษา ทัศนมาตรคลินิกจึงไม่ใช่ร้านขายแว่นตาพาณิชย์​ แต่เป็นธุรกิจบริการทางสุขภาพ ขณะที่ร้านแว่นตาพาณิชย์แม้จะใช้แว่นและเลนส์เหมือนกันกับทัศนมาตร ต่างกันที่การจ่ายยา(เลนส์)นั้น ไม่ได้จ่ายโดยการตรวจวิเคราะห์โรคที่ถูกต้องจริงๆ เหมือนกับหมอตี๋จ่ายเสตียรอยด์ ซึ่งรักษาได้แต่ผลข้างเคียงไม่คุ้มเสีย  แต่ก็มีทัศนมาตรบางคนเช่นกันที่เรียนจบมาสูงแต่ชอบทำตัวเป็นหมอตี๋จ่ายเสตียรอยด์ (จัดสายตา) ซึ่งก็ไม่เป็นไร ทางของเค้า เพราะกฎหมายไม่มี จึงไม่มีการห้ามทำ แต่ถ้าประเทศที่เจริญแล้ว ผิดทั้งจรรยาบรรณและกฎหมาย  เหมือนกัญชาเสรีในประเทศไทย เสพไม่ผิดกฎหมาย แต่ประเทศเจริญแล้วผิดกฎหมาย ดังนั้นการทำผิดที่มันไม่ผิดเพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามทำ แต่ทางจริยธรรมแล้วผิดแน่นอน พระเองถ้าไม่รักษาศีลก็อาบัติ แต่ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร แต่ศรัทธาของญาติโยมไม่เกิด ก็เท่านั้นเอง แต่ก็ยังมีโอกาศศรัทธากับกลุ่มไหว้จอมปลวกอยู่บ้าง that's not too bad

 

ดังนั้น การเริ่มต้นบนเส้นทางทัศนมาตรท่ามกลางซากปรักหักพังที่ถูกทำลายมาหลายสิบปี ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องเดินทางผ่าดงหนามด้วยความเชื่อมั่นและอดทน บางคนทนไม่ได้ก็ต้องถูกร้านแว่นตาพาณิชย์กลืนเข้าไปเป็นพวกเดียวกัน รวมกันมันส์กว่า นกก็ย่อมเลือกฝูงที่เหมือนตน ฉันไดก็ฉันนั้น

 

ภาระหน้าที่ของผมคือ จะทำอย่างไรให้ทัศนมาตรที่รักดีได้หามจั่ว มีที่ยืนในสังคม องอาจ สง่าผ่าเผย เป็นที่พึ่งให้กับผู้คนได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ลมปากในโฆษณา(ที่ไม่ค่อยได้แปรงฟัน) และ ก็คงต้องทำจนกระทั่งวันหนึ่งที่ทัศนมาตรทำงานได้มาตรฐานอย่างเดียวกัน ไม่มีใครกินแรงใคร ไม่ใช่หนึ่งคนสร้างร้อยคนทำลาย แบบนี้ก็แบกไม่ไหวเหมือนกัน เมื่อวันที่ทัศนมาตรทุกคนทำงานได้ดีมีมาตรฐานเหมือนกันหมด ถึงตอนนั้นการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของผม ก็คงไม่ใช่สาระอีกต่อไป ในเมื่อคนไข้ทุกคนสามารถได้รับการบริการด้านการแก้ไขปัญหาการมองเห็นได้อย่างถูกต้อง ผมก็จะเดินทางสู่งานวิชาการอิสระเต็มขั้นและลงตรวจในเคสที่ขอให้ช่วยตรวจเพราะผมก็ยังรักที่จะตรวจ รักที่จะทำงานด้านทัศนมาตรและรักที่จะแก้ไขปัญหาให้กับคนที่เห็นค่า ถ้าไม่เห็นค่ากันก็ไม่ต้องเจอกันดีที่สุด 

 

From the past ,to the future.

 

กลับมามองที่ปัญหาว่าทำไม 20 ปีที่ผ่านมา ทัศนมาตรยังไม่เดินไปไหน ดูจะสับสนและงงๆในเส้นทางของตัวเอง หมอตาก็ไม่ใช่ ช่างแว่นตาก็ไม่ใช่ เหมือนไม่สุดสักทาง บางคนก็อุปโลกคำขึ้นมาเองว่า “หมอสายตา” ซึ่งผมไม่เห็นคำแปลใดในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า "refractionist" ซึ่งมันไม่น่าจะใช้ optometrist หรือ ทัศนมาตร ที่ทำงานลึกซึ้งกว่าเรื่อง refraction แต่ก็ตามสะดวก อยากจะลงไปเล่น mass เพื่อให้คนเข้าใจง่ายก็ไม่ผิด แต่จะดีกว่าไหมที่จะทำให้คนรู้จักทัศนมาตรผ่านงานที่ทำ ไม่ใช่แค่การตั้งชื่อให้ดูเข้าใจง่าย แล้วก็ทำงานอยาบๆ  

 

ณ จุดนี้ หากใครจะเดินเส้นทาง optometrist ให้เอาคำว่า "นัก" ออกจากทัศนมาตร  เพราะ optometrist เป็น doctor of science ไม่ใช่ technician จึงไม่ต้องมีนัก เรียกว่า "ทัศนมาตร" เฉยๆนี่แหล่ะ และไม่ต้องใช้ "หมอสายตา" เพราะ optometrist ไม่ใช่ refractionist  ขอให้เข้าใจตรงกัน 

 

ถ้ามองถึงปัญหาในมุมส่วนตัวปัญหาใหญ่ที่สุดที่บั่นทอนความเจริญของทัศนมาตรศาสาตร์คือ “อวิชชาจัดสายตา” ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเรื่องของความเชื่อที่ไว้หนีปัญหาเมื่อไม่มั่นใจว่าค่าสายตาที่ตัวเองตรวจได้นั้น ถูกต้องหรือไม่ ด้วยการเล่นกับ spherical equivalent แบบเดียวกับการที่หนีการจ่ายค่าสายตาเอียงในคอนแทคเลนส์ เพื่อจัดสายตาให้เข้ากับสต๊อกเลนส์หรือคอนแทคเลนส์ที่มี​ ทางหนีเวลาไม่รู้ก็คือ ทำอย่างไรให้ใส่ได้ ส่วนจะถูกหรือผิดก็ไว้ว่ากันทีหลัง ปิดการขายให้ได้เสียก่อน แล้วก็ปล่อยงานแย่ๆนี้ออกไปสู่สังคม ขยายกิจการ ขยายสาขา แพร่ออกไปเป็นผักตบชวา ที่มากด้วยกิ่งก้านใบสาขาแต่คุณค่าแสนต่ำ แต่ผักตบชวาก็ไม่เคยมานั่งคิดว่าตัวเองเป็นภาระหรือสร้างปัญหากับแหล่งน้ำหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่อยู่ร่วมกันอย่างไร คิดแต่เฉพาะตัวเองให้ได้งอกงาม ฆ่ายังไง รื้อยังไง ไม่นานก็มาพรึบอีก เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นภาระมากกว่าประโยชน์ เป็นชีวิตที่ “more but less”

 

เมื่องานออกมาหยาบ value ก็ย่อมต่ำเป็นธรรมดา สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนยอมจ่ายให้กับสินค้าคุณค่าต่ำก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราคาต้องต่ำสมกับคุณค่าที่เหลืออยู่(บ้าง) นำไปสู่การแข่งขันกันทำโปรโมชั่นกรอบแว่นตาพร้อมเลนส์​ 390 บาท เป็นคำโกหกที่หลอกให้คนเข้าร้าน จากนั้นก็ใช้เทคนิคเชียร์ขายแบบนักขาย(18)มงกุฎเพชร เชียร์ อัพ หลอกให้คนจ่ายแพงๆ ด้วยสินค้าคุณค่าต่ำ เพราะมันแย่ตั้งแต่ระดับ prescription แล้ว  มันจึงไม่ได้เกี่ยวว่า สินค้านั้นคือยี่ห้ออะไร  เพราะยาดีแสนแพง จ่ายผิดโรคก็คงไม่ได้ช่วยอะไร บ้างก็เอายาลูกกลอนเม็ดละสลึงมาปลุกเสกให้เป็นยาเทวดามาจากบนฟ้า หลอกขายเม็ดละร้อย แบบนี้ก็มี บ้างก็หลอกว่าสังกะสีว่าเป็นกระเบื้องก็มี ฝนตกทีเสียงดังหูแทบดับ

 

สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ภาพลักษณ์ของวิชาชีพหรืออาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับแว่นตานั้นถูก lookdown และไม่ให้ค่า บ้างก็จ้างดาราไปทำแว่นฟรีแลกกับการโพสต์บนโซเชียล บ้างก็จ้าง influenser จ้าง specialist ด้วยแว่นตาฟรี เพื่อแลกกับการรีวิว(เพราะได้ฟรี) หวังว่ายอดไลค์โฆษณาบนสื่อมีเดียจะช่วยให้ขายแว่นได้เพิ่มขึ้นได้บ้าง

 

เรื่องนี้ถ้ามองในมุมของการตลาดทำเพื่อเงินก็คงไม่ผิดอะไรถ้าสินค้านั้นคือข้าวของเครื่องใช้  แต่ถ้าเป็นการบริการทางการสาธารณสุขแล้วถือว่าผิดจรรยาบรรณ แต่ถ้าไม่มีจรรยาบรรณมาตั้งแต่แรกก็คงจะสามารถหลอกตัวเองว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เพราะต้องยอมรับว่า คนปกติที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ ย่อมเชื่อได้ง่าย ไม่อย่างนั้นเราจะไปไหว้จอมปลวกกันหรือ แต่ก็อย่างที่บอกว่าถ้าเป็นข้าวของเครื่องใช้ ก็ไม่มีอะเสียหาย เพราะถ้าใช้ไม่ได้ก็แค่เอาไปทิ้ง แต่หากมันเป็นเรื่องสุขภาพ มันมีปัญหาผลข้างเคียงตามมาแน่นอน ใครจะรับผิดชอบหรือจะอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ (อีกแล้ว) แต่โชคดีที่ยังไม่มีใครเสียชีวิตจากค่าสายตาหรือเลนส์ที่จ่ายผิด ผักตบชวาก็ยังคงสามารถเจริญงอกงามต่อไปได้อยู่

 

ดังนั้น มันไม่แปลกที่บางคนจะรู้สึกอยู่ในใจว่า “นี่คือวงการเด็กเลี้ยงแกะ” ที่มักพูดและทำในสิ่งไม่จริงหรือเกินจริงอยู่เสมอ ทำให้เด็กรุ่นหลังที่เกิดมาและเรียนสาขาวิชาชีพนี้ รู้สึก burnout เมื่อต้องออกไปทำงานจริงในร้านแว่นตา เพราะสิ่งที่จะเข้าไปอยู่หลังเรียนจบนั้นคือ ซากปรักหักพังที่คนรุ่นเก่าทำพังเอาไว้ และ งานแก้ย่อมยากกว่างานสร้างใหม่เสมอ ซึ่งคำนี้มันอาจฟังดูแรง แต่มันจริง มันก็แค่สร้างความระคายหูให้กับคนที่รู้สึกเสียผลประโยชน์หรือรู้ทันก็เท่านั้นเอง

 

สิ่งหนึ่งของพ่อแม่บางคนที่ส่งลูกเรียนสาขานี้ ถ้าถามเขาว่าทำไมถึงส่งลูกไปเรียน ส่วนใหญ่ถ้าตอบแบบนางงามก็คงจะบอกว่า "อยากให้คนไทยได้รับบริการที่ดีอย่างมืออาชีพ" แต่ถ้าเอาใจตอบก็คงหนีไม่พ้น “หาจุดขายใหม่” เพราะเริ่มรู้ว่าคนทั่วไปเริ่มมีความรู้ว่า “วัดสายตาด้วยระบบคอมพ์เตอร์ละเอียดแม่นยำที่สุดในโลกนั้น มันโม้ทั้งเพ”  และ คำว่า “ทัศนมาตร” เริ่มคุ้นหูกับคนมากขึ้น ก็เลยคิดว่าการส่งลูกหลานไปเรียนนั้น จะสามารถเพิ่มยอดขายให้ตัวเองได้ แต่ถามจริงๆว่าอยากให้ลูกหลานทำงานแบบที่ทัศนมาตรวิชาชีพที่ลูกเรียนมาถึง 6 ปี พึงกระทำไหม ก็ต้องบอกว่า “ไม่น่าจะใช่” เพราะทัศนมาตรตรวจละเอียด และ นานเกินไป เสียเวลาทำมาหากิน  เขาต้องการให้ตรวจไม่เกิน 10 นาทีแล้วรีบปิดการขายให้ได้  นั่นแหล่ะ ซากปรักหักพังที่ผมพูดถึง ย้ำอีกทีว่า ไม่ผิดหากสินค้านั้นเป็นข้าวของเครื่องใช้ แต่มันผิดหากธุรกิจคือการบริการด้านสาธารณสุข แม้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายยังไม่มีมาควบคุม แต่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพแน่นอน  ถ้าถามว่าจรรยาบรรณคืออะไร ก็ต้องไปอ่านในใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์นั้น มีอะไรบ้าง  คำเหล่านั้นไม่ได้เขียนให้สวยหรู หรือเอาไว้แปะข้างฝาบ้าน เพื่อส่งเสริมการขาย  แต่มันคือศีลธรรมให้ทัศนมาตรรักษาและประพฤติปฏิบัติ

 

ด้วยปัญหาคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่หัวใจเก่าเหล่านี้  ทำให้ทัศนมาตรที่ตั้งใจทำดี อยู่ร่วมลำบาก ทำงานด้วยกันลำบาก และ เริ่มเบื่อหน่ายในวิชาชีพที่ตัวเองทำ นานๆเข้า  passion ก็เริ่มค่อยๆฝ่อๆ และ หายไปในที่สุด จากนั้นก็จะเริ่ม survival มองอะไรไม่เกินปลายจมูกของตัวเอง ผลสุดท้ายก็คือ red ocean ทะเลเลือดที่แข่งกันลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ เป็นวัฎจักรแบบนี้

 

การจะหนีออกจากเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากๆเช่นกัน เพราะวงการแว่นตาถูกกาหัวไว้ว่าเป็นเด็กเลี้ยงแกะที่โกหกหน้าตายจนเคยชินไปแล้ว การจะเป็นเด็กเลี้ยงแกะที่กลับใจ พูดจริง ทำจริง ไม่โกหก นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และมันก็จะมีความคิดเก่าว่า ในเมื่อมีเด็กเลี้ยงแกะที่ยังโกหกอยู่ แต่กินดีอยู่ดี  แล้วเราจะเป็นคนดีทำดีไปเพื่ออะไร และถ้าทนไม่ได้ ก็จะกลับไปเป็นคนอย่างที่เขากาหัวไว้  ผิดบ่อยๆแรกๆก็รู้สึกผิด พอผิดหนักเข้าก็เริ่มชิน ยิ่งมีคนร่วมกระทำความผิดเยอะก็ยิ่งฮึกเหิม ก็ยิ่งแข่งกันทำผิด เหมือนโจรฆ่าคน พอฆ่าบ่อยๆเข้า ก็เริ่มกันแข่งขันกันว่าใครจะฆ่าคนได้มากกว่าใคร และอย่าไปถามหรือความสำนึกผิดชอบชั่วดีในหมู่โจร เพราะมันไม่เคยมี และโจรไม่ได้อยู่ในบริบทที่จะฟังธรรมะว่าอะไรถูกอะไรผิด มันจึงมีอาชีพโจร ในเกมส์ก็ยังมีอาชีพโจร และ มีเด็กหลายคนเลือกเป็นอาชีพโจรในเกมส์ก็มี ซึ่งมันอาจเป็น dark side ภายในใจมนุษย์ก็ได้ แต่ศีลธรรมมันหล่อหลอมให้คนต่างจากสัตว์และกดสัญชาติญาณไม่ไห้มันออกมาแสดงเรื่องไม่ดีออกมา

 

เมื่อมันเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ได้ให้เราๆที่คิดดี ทำดี ท้อใจหรอกนะ มันก็ยังพอมีทางอยู่ แต่ก็ต้องอาศัยความเข้มแข็งของจิตใจอยู่มาก ซึ่งผมก็เขียนทางออกของเรื่องนี้เอาไว้ให้ แต่ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่า ผมไม่ได้เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอะไร เพราะผมไม่ใช่นักธุรกิจที่มุ่งหวังผลกำไรเป็นตัวเงิน แต่กำไรของผมคือความสุขที่ได้ทำงานในสิ่งที่ผมรักให้กับคนที่เห็นคุณค่าในงานที่ผมทำ และ หากใครไม่ให้ค่าเขาก็ไม่มาหาผมอยู่แล้ว ถึงมาผมก็คงได้แต่ยิ้มๆ และ ทำเฉยๆ

 

ดังนั้น ผมมีความสุขทุกวัน แปลว่าได้กำไรทุกวัน แม้จะเสมอตัวบ้าง แต่กำไรที่เกิดจากความสุขนั้น เกิดได้ทุกวัน เช่นที่ผมเขียนอยู่นี้นี่ก็เป็นกำไรจากความสุขเช่นกันและที่เขียนขึ้นมานี้ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อวิชาชีพทัศนมาตร เพื่อน้องๆที่จบมาใหม่ที่อยากจะทำสิ่งดีๆให้กับสังคม อย่างน้อยก็เป็นสินค้าและบริการที่ไม่ cheating  และเป็นการเสนออีกเส้นทางหนึ่ง สำหรับน้องทัศนมาตรที่ยังหลงทาง และ ไม่รู้จะเดินไปทางไหน และ เส้นทางนี้บอกเลยว่า ไม่รวย แต่ก็ไม่ยากจน พอกิน พอใช้ พอประมาณ แต่ที่แน่ๆคือ สุขแน่นอน  ซึ่งไม่ใช่ทางของเด็กเลี้ยงแกะ แต่หากเด็กที่เคยเลี้ยงแกะจะกลับใจก็ได้เช่นกัน

 

ทัศนคติ (Mindset)

มาถึงแก่นของเรื่องในวันนี้  มีพระบาลีของพุทธะที่ตรัสไว้เกี่ยวกับ mindset ว่า....

 

“มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา  มโนเสฏฺฐา มโนมยา

มนสา เจ ปทุฏฺเฐน  ภาสติ วา กโรติ วา

ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ  จกฺกํว วหโต ปทํ

.

ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่

สำเร็จแล้วด้วยใจ, ถ้าบุคคลมีใจร้าย พูดอยู่ก็ดี

ทำอยู่ก็ดี, ทุกข์ย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น

ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกไปอยู่ฉะนั้น”

 

ธรรมทั้งหลาย (ดีชั่ว เป็นธรรมะ) มีใจเป็นตัวกำหนด จิตเริ่มต้นดี การกระทำดี ผลกรรมดี  จิตเริ่มต้นชั่ว การกระทำก็ชั่ว ผลกรรมก็ชั่ว  ฉันไดก็ฉันนั้น

 

ดังนั้นการตั้ง mindset จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งวิธีการตั้งก็ไม่ได้ยากด้วยการเริ่มต้นการตั้งคำถามว่า “สิ่งที่กำลังทำหรือกำลังจะทำต่อไปนี้ ทำไปเพื่ออะไร”,Why you do this ??? เราจะทำดีเพื่ออะไร เราจะทำคลินิกทัศนมาตรดีๆ เพื่ออะไร

 

ถ้าคำตอบคือ “ทำดีๆ ตรวจดีๆ เพื่อเงินดีๆ” ก็แปลได้ว่า “ถ้าทำดีแล้วไม่ได้เงิน เราจะไม่ทำดีอย่างนั้นหรือเปล่า” แล้วถ้าเราไปเห็นคนทำชั่วๆ ทำสั่วๆ ทำอยาบๆ แล้วได้เงินดีๆ เราก็จะไขว้เขว เพราะใจเราไปผูกกับ money  แต่หากว่า “why” ของเราคือทำดีเพื่อได้เห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของคนที่พ้นทุกข์ของปัญหาสายตาและระบบการมองเห็น และ เพื่อความสุขเพราะเรารักสิ่งที่เราได้ทำ จะได้หรือไม่ได้ money มากหรือน้อยไม่ใช่สาระแก่นสาร  ถ้าเราคิดแบบนี้ เราก็จะสามารถรักษาความดีนี้ได้ แต่เชื่อเถิดว่า ถ้าจิตคุณดีจริง คุณก็จะทำดีจริงโดยไม่ต้องเสแสร้งแกล้งทำ เพราะมันเป็นธรรมชาติของคุณเองและเมื่อทำดีจนพอ คนจะสำผัสความดีของคุณได้ แน่นอนว่า เมื่อออร่าแห่งความดีมันเปล่งประกายแล้ว “คุณค่า” ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อคุณค่าเกิด money มันก็มามันเอง โดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามในการหา “เหตุดี ผลย่อมดี” เพราะโลกใบนี้เราอยู่ร่วมกันได้โดยการสร้างคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองถนัดและแลกเปลี่ยนคุณค่าให้กันและกันผ่านตัวกลางที่เราเรียกว่า currency หรือ เงิน นั่นแหละ แม้คุณเฉยๆกับมัน มันก็มาหาคุณอยู่ดีโดยไม่ต้องนึก "อยาก"

 

ใจความเรื่องนี้จึงต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า “ทำทำไม” หรือ “start with why” เมื่อ why เราชัดเจน เราจะไม่ว๊อกแว๊ก และ มุ่งทำสิ่งที่เราเชื่อและตั้งใจ และ เก็บความสุขเล็กๆจากงานที่เราทำไปหล่อเลี้ยง passion ในการทำเรื่องดีๆ และ เมื่อเรา keep passion ไว้นานมากพอ คนก็เริ่มเห็นความตั้งใจแน่วแน่ของเรา นั่นแหล่ะผลกรรมดีที่เราสร้างขึ้นกำลังจะแสดงผล

 

ปัญหาต่อมาคือ จะต้อง keep passion นานแค่ไหนนั้น ก็คงไม่สามารถ specific ลงไปได้ว่านานเท่าไหร่ แต่ไม่เร็วแน่นอน นึกตามอย่างนี้ว่า “ถ้าถามว่าพระพุทธเจ้าท่านออกบวช เพื่ออะไร” คำตอบคือ “เพื่อหาทางพ้นทุกข์” พอท่านได้ why ของท่านแล้ว ท่านก็เริ่ม how ว่าจะทำอย่างไร  ซึ่งท่านก็ลองหลายๆวิธี ตั้งแต่การทรมานตน หลายปีก็ไม่ work แต่ท่านก็ยังคง kepp passion ของท่านอยู่ แล้วก็หาทาง (how) ไปเรื่อยๆ จนพบแนวทางหนึ่งที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ตามหลัก มรรคมีองค์ 8 ” แล้วท่านก็สำเร็จ why ด้วยการบรรลุพระอรหันตร์เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลก  ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลายาวนานถึง 6 ปี และเมื่อท่านบรรลุแล้วท่านก็ได้ product ที่สุดแสนวิเศษขึ้นมาตัวหนึ่งซึ่งเราเรียกว่า “พระธรรม” และ ใช้พระธรรมนี้ในการส่งต่อเพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวโลกให้ได้พ้นทุกข์เช่นเดียวกับท่าน

 

ดังนั้นถ้าถามว่ามรกดกของพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านทางไว้ให้คืออะไร (what) ก็คือพระธรรมและพระวินัย นั่นเอง

 

ดังนั้น Why จึงต้องเกิดเป็นลำดับแรก  จากนั้นค่อยคิดเรื่อง How เพื่อให้แนวทางการปฎิบัตินั้นชี้ตรงไปที่ why โดยไม่ไขว้เขว และ ใช้ passion ของ why ในการอดทนทำอย่างไม่ย่อแท้ สุดท้ายก็จะเกิดเป็น what’s product & service ที่ high value

 

แต่เราก็เห็นว่าในวงการพระสงฆ์ ก็ไม่ใช่ว่าพระภิกษุทุกรูปในพระพุทธศาสนาจะมี why เหมือนพระพุทธเจ้า คือไม่ได้อยากพ้นทุกข์ เช่นบางคนบวชตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ บางคนบวชหน้าไฟ บางคนบวชพระอายุ 20 ปีบริบูรณ์  บางคนบวชเพื่อที่จะเบียด บางคนบวชเพราะไม่มีที่ไป (พอเริ่มมีที่ไปก็จะลาสิกขา ตัวอย่างอดีตพระมหาเปรีญ 9 ติ๊กต๊อก ร้องห่มร้องให้ออกสื่อเพราะถูกแฟนหนุ่มทิ้ง) หรือ บางคน เห็นว่า what’s product (พระธรรมพระวินัย) นั้นเป็นที่ศรัทธาของคนและสามารถมองเป็นอาชีพในการทำมาหาเลี้ยงชีพได้(อดีตพระมหา 300 ล้านที่เป็นข่าว) แต่ก็มีไม่น้อยที่ยึดถือแนวทางปฎิบัติเพื่อพ้นทุกข์ตาม why ของพระพุทธเจ้า เช่นพ่อแม่ครูอาจารย์ในสายหลวงปู่มั่นและหลวงปู่หลายๆองค์ โยมถนัดทางไหนก็เลือกเดินไปทางนั้น เอาทางสะดวก

 

แม้แต่วงการสงฆ์เองก็มี why ไม่เหมือนกัน ดังนั้น พอ why ต่าง  how ก็จะต่าง และ what product ก็จะแตกต่างการไป แต่ละวัดจึงมีปฎิปทาในการปฎิบัติไม่เหมือนกัน บางวัดเต็มไปด้วยป่าเพื่อหาความสงบ เพื่อสถานที่ที่สัปปายะเหมาะกับการเจริญภาวนาสู่การหลุดพ้น  บางวัดเต็มไปด้วยของขลังยักษ์มารขุนไสย์เวทมนต์ดูหมอต่อชะตาและขอหวย บางวัดมียันผีกากอย มีจุดให้หยอดเหรียญถวายปัจจัยเต็มไปหมด เหล่านี้คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

 

แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีถูกผิดแบบ 100% เพราะไม่ใช่ฆารวาสทุกคนจะอยากสงบหรืออยากนิพพาน เพราะคนส่วนใหญ่อยากเกิดใหม่ กรวดน้ำก็ต้องขอให้เกิดบนสวรรค์ชั้นนั้นนี้โน้น หรือเกิดในตระกูลที่มีโภคะสมบัติร่ำรวยรูปงาม  แต่น้อยคนที่อธิษฐานว่าขอนิพพาน เห็นทุกข์ของการเกิด และไม่เกิดใหม่อีกแล้ว  ดูๆไปก็ไม่ถูกไม่ผิด ขึ้นอยู่กับจริตนักบวชและจริตของโยม ใครชอบแบบไหนก็ไปแบบนั้น พระเรียกว่า ที่ชอบๆ

 

Why ของเราที่กำลังเดินในสายวิชาชีพทัศนมาตรจึงต้องชัดเจนว่าจะทำไปเพื่ออะไร  ถ้า why คือเงิน  how ก็คงจะต้องคิดว่าทำยังไงให้ได้เงิน แล้ว what ก็คือ “ขายแว่นตา” ขายดีแปลว่าดี  ดีไม่ดีไม่เกี่ยว เพราะสนใจแค่ money และ ความหิวใน money มันมักจะวิ่งหาอะไรที่เร็วๆ แต่สิ่งที่เร็วมักไม่ใช่สิ่งที่ดี เช่นการหลอกลวง การโฆษณาเกินจริง  เหล่านี้มักทำได้เร็ว เป็นผักตบชวาที่โตเร็วแต่ทำให้นำ้เป็นพิษทั้งที่มันอาศัยน้ำในการเลี้ยงชีพ เช่นเดียวกัน เกิดมาในวิชาชีพแต่ทำร้ายวิชาชีพอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้สึกรู้สาเหมือนผักตบ ฉันไดก็ฉันนั้น

 

 

ดังนั้นตอนแรกนี้ ทุกอย่างต้องเริ่มจากการตั้ง mindset ว่าเราอยากจะเห็นตัวเองหน้าตาเป็นอย่างไรในวิชาชีพ เป็นหมอ หรือเป็นพ่อค้า ก็เลือกให้ชัด เพราะคนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นหมอ ก็รู้สึกกระอักกระอ่วนในใจถ้าหากไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนหมอหลายคนจึงทนอยู่เป็นลูกจ้างในร้านขายแว่นไม่ได้เพราะถูกบังคับให้รีบทำรีบหยาบๆเพื่อรีบปิดการขายแล้วรับเคสต่อ แต่บางคนก็ลาออกเพราะเห็นโอกาสการทำเงินและก็ไม่ได้อยากจะทำดีอะไรสักเท่าไหร่ เป็นเพียงผักตบชวาอีกกอหนึ่ง แค่เปลี่ยนที่อยู่ใหม่ก็เท่านั้นเอง

 

ส่วนคนที่ตั้งใจว่าจะเป็นยอดนักขายมงกุฎเพชรจะให้ไปอ่านหนังสือ ไปฝึกฝน ก็ทรมานอยู่เหมือนกัน  ดังนั้น เราสุขที่ตรงไหน ก็เอาตรงนั้น เพราะมนุษย์เกิดมาเอาตัวให้รอดก็คือว่ายอดดี แต่ดีที่สุดก็คือย่าไปสร้างภาระให้กับใคร

 

ทัศนคติ หรือ mindset จึงนำไปสู่การตั้งคำถาม why และ how จนเกิดเป็น what ซึ่งเป็น Prouct & services

 

คนที่มี mindset ว่าสุขที่ได้ทำงานทางทัศนมาตรคลินิกและเห็นคนพ้นทุกข์แล้วมีความสุข ก็จะเริ่มคิดว่าอะไรที่จะทำให้งานออกมาดีมีคุณภาพ (How) ทำเลไม่เกี่ยวกับการทำดี ร้านใหญ่ไม่เกี่ยวกับการทำดี หลายสาขาไม่เกี่ยวกับการทำดี ทำน้อยมักทำได้ดีแต่ถ้าทำมากก็ทำดีได้ยาก อยู่ที่ไหนก็ทำดีได้ ด้วยการเริ่มตั้งแต่การมีห้องตรวจ 6 เมตรก็ดี (ถ้าเราทำใจเรื่องการมีห้องตรวจ 6 เมตรไม่ได้ อันนี้ mindest ชักจะมีปัญหา) เครื่องมือที่ได้มาตรฐานก็ดี ความรู้ก็ดี การฝึกฝนก็ดี how เหล่านี้ต่างหากที่เกี่ยวข้องกับ why ที่ตั้งเอาไว้ เพื่อจะได้มีความสุขจากการทำดี เมื่อ what ที่เกิดขึ้นจาก product & service ที่เกิดขึ้นมันก็ดีด้วยตัวมันเองเพราะ why และ how มันดี

 

ส่วนคนที่เริ่มจาก what จะขายอะไร ? ด้วยการหา demand ในตลาด (รู้ว่าคนต้องซื้อแว่น) ก็เลยเปิดร้านขายเลนส์ประกอบแว่น (what's product)  และจะทำอย่างไรให้ขายได้มาก (how) ก็ต้องขายถูกๆ โฆษณาชวนเชื่อเยอะๆ โกหกเยอะๆมันเร็วดี ถ้าพูดความจริงมันช้า เอาดารา influenser มาใช้บริการเพื่อแลกกับการแชร์โฆษณา ทุบราคาใส่กัน ด้วย mindset ว่า เห็นเขาต่อคิวซื้อของก็มโนว่าของน่าจะดี แต่สุดท้ายปัญหามันอยู่ที่ว่า “ดีจริงไหม”  ถ้าดีจริงก็ดีไป แต่ถ้าไม่จริง ก็อยู่ไม่นาน ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นเยอะแยะ โรตีบอย จ้างคนมาต่อคิว คิวยาวจนเจ๊ง เป็นตัวอย่าง

 

เรื่องทำดีพูดง่ายแต่ทำยาก เหมือนศีล 5 ข้อ ทำไมมันรักษายากรักษาเย็น เพราะมนุษย์อุดมไปด้วยกิเลสโลภะ อยากรวยเร็ว แต่ปัญหาคือ อะไรเร็วๆ มักไม่ค่อยดี เต็มที่ก็ได้แค่อาหารกล่อง ezygo ในร้านสะดวกซื้อ ไม่ใช่มันไม่อร่อยแต่จะเป็น legned แบบเจ๊ไฝเป็นผัดไทประตูผีก็คงจะยาก แต่เชื่อเถอว่า เจ้าของ ezogo รวยกว่าเจ๊ไฝ แน่นอน แต่ point คือ คุณวัดกันที่อะไร  money หรือ value ไม่มีถูกไม่มีผิด อยู่ที่สะดวกแบบไหนก็เดินแบบนั้น และไม่ต้องอาย หิวก็บอกหิว ต้อง survival ต้องเอาตัวรอด ซึ่งคนหิวที่แยกผิดชอบชั่วดีไม่ออกก็เป็นคนมีบุญที่ไม่คิดเล็กคิดน้อยไม่ทรมานใจดี  คิดแค่เอาตัวให้รอดเป็นใช้ได้  ส่วนคนที่จะเดินสายพระป่าก็เอาให้ชัด เพราะไม่รวยแน่นอน แต่ value สูงนะและมีความสุขด้วย นึกถึงหลวงตามหาบัว ท่านไม่มีเงิน เพราะพระรับปัจจัยไม่ได้ แต่ value ของท่านนั้นมหาศาล สามารถระดมทองคำและดอลล่ามูลค่าหลายหมื่นล้านเข้าพระคลังของประเทศได้

 

จบ

 

ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆทัศนมาตรที่รักในวิชาชีพประสบความสำเร็จและมีความสุขในสิ่งดีๆที่ตัวเองลงมือทำ และ ขอให้เจริญในธรรมในคุณงามความดีต่อไป

ดร.ลอฟท์ O.D.