The iDOL ; ต่อ ธนญชัย ศรศรีวิชัย (ต่อ ฟิโนมินา)

เรื่อง “ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับ...มากจนเกินไปนำมาซึ่งทุกข์”

Story by Dr.Loft

Public 25 April 2022


 

The iDOL

เช้าวันจันทร์ วันนี้เป็นวันหยุดของ loft optometry ดังนั้นผมอยากจะเรียนเรื่องพักๆ ให้สมกับวันหยุดพักกันดูบ้าง แต่กระนั้นก็อยากจะพูดถึงเรื่องสาระที่ไม่ใช่วิชาการกันดูบ้างว่าไปแล้วการมี Idol ก็เหมือนกับการมี “เสาหลัก” หรือมี “สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ” หรือถ้าทางพระเขาเรียกว่า “ธรรมเป็นเครื่องอยู่” เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับปุถุชนที่ยังวนเวียนอยู่ในกองกิเลส ผมก็ยังอยู่ในกองกิเลส (ไม่อย่างงั้นคงไม่ได้กลับมาเวียนว่ายตายเกิด) ที่ไม่มีปัญญาพอที่จะเจริญด้วยวิถีของตนเอง ก็ต้องอาศัยธรรมะเป็นเครื่องอยู่และทางโลกเขาก็เรียกกันว่า idol นั่นเอง

 

คำว่า idol มีความหมายที่ซ่อนอยู่ข้างหลังคือ “วิธีคิดและแนวทางการดำเนินชีวิตของคนที่เราชื่นชอบ” ทำให้เราอยากเอาแบบอย่าง อย่างเดินตาม เพื่อจะได้มีชีวิตอย่าง idol ที่เราสนใจ ดังนั้นถ้าพูดถึงเรื่อง idol เราจึงพูดถึงวิธีคิดของ idol ดังนั้นวันนี้ผมจึงอยากจะพูดถึงเรื่อง “วิธีคิด”

 

“วิธีคิด”

 

“คิดอย่างไร ได้อย่างนั้น” “คิดต่างกัน การกระทำต่างกัน ผลกรรมก็ต่างกัน” เป็นคำจริงเสมอ ตรงกับพุทธพจน์ในธรรมบท เล่มที่ 1 ถ้าท่านพระคุณเจ้าที่เรียนมหาเปรียญบาลี ก็คงจะได้เจอเป็นคาถาแรก ซึ่งผมยังจำได้ขึ้นใจเพราะขณะนั้นกำลังเป็นสามเณรบวชเรียน ป.ธ.1-2

 

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา        มโนเสฏฐา มโนมยา

มนสา เจ ปทุฏฺเฐน              ภาสติ วา กโรติ วา

ตโต นํ ทุกฺขมนฺเวติ             จกฺกํ ว วหโต ปทํ

 

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า

มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ

เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น

ถ้าคนมีใจชั่ว ก็พูดชั่วหรือทำชั่วตามไปด้วย

เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป

 

 

แต่พอพูดเป็นภาษาบาลีก็เหมือนจะคำของคนอยู่วัด ไม่เกี่ยวกับคนทางโลก คนทั่วไปเลยไม่ค่อยได้น้อมมาคิดพิจารณา ดังนั้นวันนี้ ผมจะเขียนวิธีคิดในมุมของโลกก็แล้วกัน

 

หลายคนเกิดคำถามในใจว่า “การคิด” มันต้องมี “วิธี” กันด้วยหรือเพราะใครๆก็คิดได้คือ คิดไปเรื่อยๆ  อยู่เฉยๆ  เหม่อๆ  ก็คิดได้เองไม่ต้องมีใครสอน  ไม่น่าจะต้องมีวิธีในการคิด เพราะสมัยเรียนก็ไม่เคยมีวิชา “วิธีคิด” ให้เรียน แต่ก็ด้วยจากเราไม่เคยถูกสอน “วิธีคิด” ชีวิตก็เลยดูมีแต่ทุกข์อยู่ตลอดเวลาเพราะคิดได้(แต่คิดไม่เป็น)

 

“คิด” มีอยู่ 2 อย่างคือ “คิดไปเรื่อย” เรียกว่า “ฟุ้งซ่าน” กับ “คิดเป็น” เรียกว่า “ปัญญา” คนที่ “คิดเป็น” จึงกลายเป็นผู้ที่มีปัญญาโดยอัตโนมัติ และ ปัญญา เกิดจากวิธีคิดที่ถูกต้อง นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง การกระทำถูกต้อง ปัญหาก็น้อยลง ทุกข์ก็น้อยลง และสุขก็มากขึ้น

 

ผมจึงชอบที่จะศึกษาวิธีคิดของคนอื่น ชอบดูว่าคนที่มีแต่ทุกข์เศร้าหมองใจและมีปัญหาชีวิตอยู่ตลอดเวลานั้นเขา“มีวิธีคิด” อย่างไร และคนที่ดูมีความสุขตลอดเวลามีวิธีคิดอย่างไร และ ผมก็พบว่า “วิธีคิดที่มีความสุขทุกสถานการณ์” ดูจะเป็นความคิดแบบศิลปิน (พระก็เป็นศิลปินทางด้านจิตวิญญาณ) ทำให้วิธีคิดของผมส่วนใหญ่ที่นำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน มีรากฐานความคิดมาจากศิลปิน

 

เหตุนี้ทำให้ผมชอบที่จะติดตาม อ่าน ฟัง ดู “วิธีคิด” ของศิลปินในดวงใจทั้งหลาย ซึ่งถ้าชอบที่สุดในด้านทัศนศิลป์ก็คงจะเป็น อ.เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์​ และ อ.ถวัลย์ ดัชนี เพราะทั้งสองท่านนี้มีมุมมองต่อศิลปะและการบริหารจัดการชีวิตที่น่าทึ่งมากๆ และคลิปในตำนานที่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ได้ฟังกันมาแล้วก็คือ “ศิลปินไส้แห้ง” ของ อ.เฉลิมชัย  ซึ่งเป็นคลิปที่ผมไว้เปิดดูเวลาขี้เกียจ ท้อแท้ ในการเรียนหนังสือหรือทำงาน เพราะฟังแล้วฮึกเหิม ใครไม่เคยดูก็ลองไป search ใน google “ศิลปินไส้แห้ง” ดู จะได้พลังมาเต็มๆ ไม่ก็ซึมเศร้าไปเลย (ถ้าไม่ตรงจริต)  แต่สำหรับผมนั้นเป็นคลิปสำหรับสร้าง passion แท้ๆเลย

 

https://www.youtube.com/ศิลปินไส้แห้ง

 

ถ้าเป็นศิลปินทางพระก็ต้องยกให้ ท่านพุทธทาส ซึ่งท่านแสดงธรรมเรื่องยากให้ง่ายได้ คนโง่ๆอย่างผมฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย เพราะฟังแล้วเห็นความโง่ของตัวเองได้ชัดเจน เมื่อรู้ว่าโง่จะได้หาทางดับโง่ ถ้าไม่รู้ว่าโง่ ก็คงไม่คิดหาทางดับตัวโง่

 https://www.youtube.com/การปฏิบัติเพื่อเห็นตถาตา @ ท่านพุทธทาสภิกขุ ศึกษาธรรมของท่านพุทธทาสได้ทาง soundcloud : https://soundcloud.com/search?q=พุทธทาส

 

ถ้าเป็นศิลปินทางด้านการทำคราฟท์เบียร์ ก็ต้องยกให้กับ พี่ชิต (ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า) แห่งชิตเบียร์เกาะเกร็ด ที่มีมุมมองในการดำเนินชีวิตบนเมืองก๊อทแธมได้อย่างสง่างาม ไว้จะเล่าเรื่องพี่ชิตในตอนหน้า story เยอะ 

CR: ThePeople https://www.youtube.com/The People - วิชิต ซ้ายเกล้า นักปฏิวัติประเทศด้วยการต้มเบียร์

 

ส่วนศิลปินอีกท่านหนึ่งที่ผมชอบติดตามดู “วิธีคิด” ก็คือพี่ต่อ โฟโนมินา หรือ ต่อ ฟิโน  ซึ่งผมได้รู้จักกับศิลปินด้านการทำภาพยนต์โฆษณาจากเพื่อนสนิทแนะนำให้ดู ผมดูครั้งแรกก็ทึ่งมากในวิธีคิดของพี่ต่อ ในคลิปที่พูดในงาน CIDI Designer Talk Series# 11: ธนญชัย ศรศรีวิชัย (ต่อ ฟิโนมีน่า) หาดูได้ใน youtube  หลังจากนั้นผมก็ตามดู ตามฟัง “วิธีคิด” ของพี่ต่อมาโดยตลอด เรียกได้ว่า ไล่ตามหาดูบน youtube มาโดยตลอด เพราะว่ามุมความคิดของศิลปินท่านนี้นั้น แปลก มีความเป็นบวก และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ดีเยี่ยม

https://www.youtube.com/New Heart New World 2 : ธนญชัย ศรศรีวิชัย 1 Min

 

แต่ The iDOL ตอนแรกนี้ ผมอยากพูดถึงพี่ต่อ ธนญชัย ก่อน

 

ธนญชัย ศรศรีวิชัย (ต่อ ฟีโนมีน่า)

 

ผมนั้นคลั่งไคล้พี่ต่อมานานมาก เพราะพี่ต่อมีความเป็นอาร์ตติส เป็น creative ที่สามารถสร้างสรรผลงานโฆษณาที่มีคุณค่ากับผู้ดูและกับสังคม ภาพยนต์โฆษณาที่ท่านทั้งหลายส่วนใหญ่เคยได้ดูมาบ้างเช่น  “ขอโทษประเทศไทยของ” สสส.  “แม่ต้อย คนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย ที่อุทิศชีวิตเพื่อคนอื่น”เด็กที่มีพ่อเป็นไบ้”  “ โอกาส ” ของไทยประกันชีวิต หรือ โฆษณาแบบตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อนอย่าง “พัดลมฮาตาริ” เหล่านี้เป็นงาน create ที่ช๊อคและเกินคาด บางทีก็อ้อมๆ บางทีก็ตรงๆ บางทีก็ตร๊งตรง  ซึ่งใครได้ดูภาพยนต์โฆษณาของพี่ต่อ จะมีอาการแปลกๆ บางทีก็หัวเราะก่อนแล้วค่อยร้องไห้  บางทีก็ร้องให้แล้วก็หัวเราะ บางทีก็งงๆแล้วหัวเราะ บางทีก็สะเทือนใจแล้วมีสติ  บางทีหัวเราะแล้วได้สติ 

 

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผู้ดูจะได้ความคิดอะไรบางอย่าง และเท่าที่จับใจความมา  งานของพี่ต่อคือ “ทำให้คนดู” จึงเอาคนผู้ดูเป็นที่ตั้งไม่ใช่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ทำเพราะตัวเองอยากดู แต่ทำให้คนอื่นดู  สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญสำหรับงานบริการอย่างหนึ่ง คือมองอะไรให้เลยตัวเอง  บริการคนอื่นอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเราอยู่ข้างเขาดูและเอาใจใส่เขา ไม่ใช่เรา หรือ กระเป๋าสตางค์ของเรา เพราะไม่ต้องคิด แต่มันจะมามันเอง  ก็สังเกตุดูเอาเถอะ  ถ้าทำอะไรเอาตัวเองนำหน้า กระเป๋าสตางค์ตัวเองนำหน้า แล้วทำอาชีพบริการนั้น  รอดได้ยาก

 

คอนเทนท์เล็กๆในวันนี้ ผมหยิบขึ้นจากส่วนหนึ่งของบทสนทนากับพี่ ต่อ ธนญชัย ศรศรีวิชัย ที่เข้ามาตรวจสายตาเมื่อกลางเมษาปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิท 19 ระลอกที่สอง ครั้งนั้นผมยังจำความรู้สึกของหัวใจที่เต้นแรงด้วยความดีใจ ถึงกับกระโดดโลดเต้นราวกับปลากระดี่ได้น้ำ (เป็นครั้งแรกที่รู้แจ้งถึงใจของปลากระดี่ยามเจอน้ำหลาก) เมื่อได้ยินเสียงตุ่นๆที่คุ้นหูเหมือนเคยได้ยินในโฆษณาทีวี โทรเข้ามาเพื่อนัดตรวจวัดสายตา ว่า

 

“ยศเหรอ” เขาถาม

 

“ครับ ยศครับ ว่าแต่อันนี้เบอร์ใครครับ” ผมถามกลับ

 

“พี่ต่อ ๆ “  ชายคนในสายตอบ

 

“ต่อ...ต่อ  ต่อไหนครับ” ผมถามต่อ

 

“ต่อน้องพี่เฮี้ยง” คนในสายตอบ

 

“พี่ต่อ...ต่อ ธนญชัย หน่ะหรือครับ”

 

“เออๆ..พี่ต่อเอง” เขาตอบ

 

ผมได้ยินดังนั้นแล้ว เข่าแทบทรุด เพราะตื่นเต้นมากที่คนในสายคือ idol ที่ผมติดตามมานานกว่า 8 ปี ที่ต้องเข้าไปตามดูเสมอเมื่อต้องการศึกษา “วิธีคิดแบบสัมมาทิฎฐิ” สำหรับใช้ในการทำงาน  เข้าใจคำว่าปลากระดี่ได้น้ำที่โบราณเขาเปรียบเปรยได้อย่างชัดเจนว่าปลามันดีใจขนาดไหนเวลาเจอน้ำหลาก แล้วก็คิดฟุ้งซ่านไปหมดว่าจะถามพี่ต่อเรื่องอะไรดีถ้าพี่ต่อเข้ามาที่ร้าน ลืมเรื่องปัญหาสายตา คิดแต่แผนแต่จะสัมภาษณ์พี่ต่อยังไงดี

 

พอถึงเวลาจะทำนัด เวลาว่างก็ไม่ค่อยตรงกัน จนผ่านไปร่วมสองเดือน ถึงได้เวลานัดตรงกัน และผมเคลียร์นัดทั้งหมดเพราะอยากจะคุยกับพี่ต่อเยอะๆ ซึ่งวันนั้นพี่ต่อมาถึงร้านตั้งแต่ก่อนเที่ยงและกลับบ้านตอนร้านใกล้จะปิด 6 โมงเย็น ใช้เวลาประมาณ 1 ชม.ก็เสร็จกิจในห้องตรวจ ที่เหลือก็นั่งสนทนาธรรมกันเพื่อเก็บเกี่ยววิธีคิดในการดำเนินชีวิตของพี่ต่อมาปรับใช้กับของตนเอง

 

จากการที่ผมได้ติดตามฟังพี่ต่อมาเป็นระยะเวลาหลายปี พี่ต่อมีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่น่าสนใจ ทั้งในชีวิตส่วนตัว การทำงาน และงานสร้าง inspire ให้คนเพื่อพัฒนาสังคมและจิตวิญญาณมนุษย์ และผลงานก็เป็นที่ประจักษ์ในระดับโลกกับภาพยนต์สั้น ภาพยนต์โฆษณาที่ติดหู ติดตาได้ง่าย ที่สำคัญคือมี signature ที่เห็นโทนแล้วต้องรู้ว่ามาจากคนนี้แน่นอน เช่น “ไทยประกันประกันชีวิต” มีรางวัลชนะเลิศงานประกวดภาพยนต์สั้นระดับโลกต่อเนื่องกันหลายปี

 

แม้พี่ต่อได้รับรางวัลชนะเลิศงานประกวดภาพยนต์ระดับโลกต่อเนื่องกันมากมาย แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่พี่ต่อไปรับรางวัลที่ด้วยตนเองแต่ให้คนไปรับแทน เพราะมองว่านั่นมันเรื่องธรรมดา  ก็ถ้าขยันทุ่มเทกับงานขนาดนี้ มันก็ต้องได้หน่ะซี (วะ) (ตามหลัก ตถตา เหตุดี ผลก็ดี ก็ไม่เห็นจะต้องยินดีหรือยินร้ายอะไร สำเร็จก็ไม่ฟู ผิดหวังก็ไม่แฟ๊บ )

 

ส่วนวิธีการใช้ชีวิตของพี่ต่อนี่ต้องเรียกว่า low profile สุดๆ และเป็นตัวอย่างของคำว่า “สูงสุดสู่สามัญ”จริงๆพี่ต่อเล่าให้ฟังถึงแนวทางของการใช้ชีวิตที่ค้นพบที่ผมจับใจความได้ก็คือ

1.low profile

2.อย่าซื้อของรัก แต่ซื้อของใช้

3.ถ้าไม่มีความประมาท ก็ไม่มีเรื่องที่ต้องกลัว

4.ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับ...มากจนเกินไปนำมาซึ่งทุกข์

 

ซึ่ง 4 เรื่องนี้ผมสนใจเป็นพิเศษและเมื่อนำมาพิจารณาแล้วก็เห็นว่าเป็นจริงและสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกคน แล้วชีวิตก็จะมีความสุขมากขึ้น และ ทุกข์จะน้อยลง

 

“Low Profile” ( แล้วทำงานเอาเงินไปใช้ทำอะไร )

 

ครั้งแรกที่ผมได้เห็นพี่ต่อใน youtube สิ่งที่สะดุดที่สุดก็คือ ทำไมพี่คนนี้เซอร์ได้ใจจัง เสื้อกล้ามเทาๆหม่นๆ ผมกระเซอะกระเซิง มูลค่าเครื่องแต่งกายรวมๆแล้วไม่น่าจะเกิน 1000 บาท แต่พอได้ฟังความคิดก็เรียกได้ว่าสุดทะลุเมฆเหมือนกัน ความคิดของผมต่อมาก็คือพี่เขาทำเงินได้ขนาดนี้ ประสบความสำเร็จขนาดนี้ ทำไมเลือกใช้ชีวิต low profie ติดดินขนาดนี้ พี่เขาคิดอะไรอยู่ นั่นคือเรื่องที่ผมไม่พลาดที่จะถาม   

cr : twitter : คนบ้าปลูกต้นไม้ 

 

พี่ต่อทำงานทำไม  ?

 

ผมถามพี่ต่อ ขณะที่นั่งคุยกันสัพเพเหระหลังตรวจสายตาเสร็จแล้ว  เพราะติดตามพี่ต่อมานานกว่า 10 ปี  ก็เห็นว่า พี่ต่อที่เราเห็นในทีวี กับ lifestyle ตอนนี้ก็เหมือนเดิม  ใส่เสื้อกล้ามสีน้ำตาลหม่น ๆ มีรูขาดด้วย ใส่กางเกงขาสั้นเก่า ไม่ใส่ accessories อะไรเลย  กระเป๋าสตางค์แบบคาดเอวที่หาได้ไม่ยากตามตลาดนัด ผมเผ้าเซอร์ๆ คือดูๆแล้ว จะเรียกได้ว่าผมกำลังคุยกับมหาเศรษฐีที่มี accessories ทั้งเนื้อทั้งตัวรวมๆแล้วไม่น่าเกิน 1000 บาท เอาจริงๆผมว่าจีวรเครื่องนุ่งห่มของพระนั้นแพงกว่าชุดของพี่ต่อนะ  แต่ value ที่มีอยู่ในตัวพี่ต่อ อยู่ในใจพี่ต่อ มันไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้  คือมันมากซะจนเราไม่คิดว่าจะมีคนแบบนี้ ใช้ชีวิตเป็นแบบนี้จริงๆ อยู่บนโลกใบนี้  ที่มีทุกอย่าง แต่ก็เลือกที่จะสละทุกอย่าง  ด้วยผมเห็นอย่างนี้  มีเงินมากมายขนาดนี้ ใช้เงินกินอยู่แค่นี้ ก็เลยอยากรู้ว่าทำงานทำไม ?  ความหมายคือจะเอาเงินไปทำอะไร

 

พี่ต่อตอบว่า

 

“ปลูกป่า” พี่จะเอาเงินทั้งหมดไปปลูกป่า ไปลงกับป่า และบำรุงรักษาป่า

 

“ปลูกป่า” ให้มันได้อะไรครับ  ,,ผมถามต่อ

 

“ทำไมไม่เอาเงินไปซื้อรถแพงๆใช้ ใช้ชีวิตหรูๆ ดีๆ เหมือนอย่างคนอื่นเขา”

 

พี่ต่อก็เล่าเรื่องประโยชน์ของป่าไว้มากมายอย่างอัศจรรย์ใจ ว่าพี่เขารู้เรื่องป่า ปลูกป่า ได้มากมายขนาดนี้เลยหรือ แต่ผมก็จำไม่หมดคือมันเยอะมาก แต่ก็มากพอที่จะทำให้ผมออมเงินซื้อที่ปลูกป่าของตัวเอง 15 ไร่ ตอนนี้ผ่อนเกือบหมดแระ คิดว่าปีหน้าน่าจะได้เริ่มโปรเจ๊คปลูกป่า โคก หนอง นา และพี่ต่อยังชวนไปดูป่าที่พี่ต่อปลูกไว้ที่นครนายกกว่า 128 ไร่ และ 6 ไร่ ที่พี่เขาปลูกเองทั้งหมดที่อ่อนนุช  ไว้ใกล้ๆจะทำเองเดี๋ยวค่อยไปขอความรู้ทีเดียว

 

โลกนี้อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต บางคนตอบว่าเงิน เพราะเงินจะบันดาลทุกสิ่งที่อยากจะได้สิ่งของที่น่าพึงพอใจ แล้วแค่ไหนที่เรียกว่า “พอใจ” สำหรับแต่ละคน เช่นถ้าพูดถึงรถ บางคนบอกว่าอยากได้ Jet ส่วนตัว บางคนบอกต้อง hyper car บางคนบอกว่า Super care ก็หล่อแล้ว  บางคนบอกว่า benz ก็หรูแล้ว  บางคนบอกรถญี่ปุ่นก็ดีแล้ว บางคนบอกแค่มีขับก็ดีแล้ว บางคนบอกมอไซก็พอ บางคนอยากได้แค่จักรยานขี่ไปทำงาน บางคนของแค่รถเข็นก็ยังดี  บางคนอยากแค่ได้ขาที่แข็งแรงไว้เดินอย่างคนอื่นเขา  บางคนแค่อยากลุกขึ้นจากเตียงให้ได้ก็ดีใจแล้ว บางคนขอแค่มีตาที่มองเห็นได้ก็พอ บางคนขออีกเฮือกสุดท้ายของลมหายใจก็พอ  แต่สิ่งที่สำคัญกว่า “เงิน” ก็คือ “ความเป็นอิสระ” จะเป็นอิสระได้ ก็ต้องรู้จักสละ แต่ต้องมีก่อนจึงจะเข้าใจการสละ ถ้าไม่มีก็เข้าไม่ถึงการรู้แจ้งของการสละ นั่นแหล่ะคติธรรมสำคัญ

 

“ไม่ซื้อของที่รัก แต่ซื้อของใช้”

 

แนวคิดข้อนี้ก็น่าสนใจ เพราะธรรมชาติของ(เกือบ)ทุกคนนั้น เมื่อจะเอาอะไรก็ตามเข้ามาในชีวิตก็ต้องหาเฉพาะของที่รักเข้าหาตัวคือยอมจ่ายให้กับสิ่งที่รัก (แต่บางทีก็ไม่ได้มีประโยชน์หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ของมัน) และความรักนั่นเองที่เป็นเหตุของความทุกข์เมื่อเราเห็นสิ่งที่รักผุพังหรือบุบสลายไปเพราะเราเอาใจไปผูกไว้กับสิ่งที่รักนั้น เมื่อเสียสิ่งที่รักไปย่อมสร้างความทุกข์  รักมากเท่าไหร่ก็ย่ิงรู้สึกทุกข์จากการสูญเสียมากเท่านั้น  ไม่รักเลยก็ไม่ทุกข์เลย

 

ดังนั้นเวลาพี่ต่อจะซื้ออะไร จะถามตัวเองเสมอว่า สิ่งที่กำลังจะซื้อนั้นเป็นของรักหรือเป็นของใช้  ถ้าเป็นของใช้ก็จะซื้อ ถ้าเป็นของรักก็จะไม่ซื้อ หรือแม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของรัก แต่ถ้าสามารถทำใจให้เป็นของใช้ที่สามารถผุพังบุบสลายหรือไฟไหม้แล้วเราไม่เสียใจก็จะซื้อ ถ้าทำใจไม่ได้ก็ไม่ต้องซื้อ ของที่จะซื้อจึงไม่มีเรื่องถูกหรือแพงเพราะเป็นของต้องใช้

 

ตัวอย่าง “กราบรถกู” คือตัวอย่างหนึ่งของ การซื้อของรักแต่ทำใจไม่ได้ ก็เลยทุกข์ทั้งรถถูกเฉี่ยว และทุกข์ที่เกิดจากกรรมที่แสดงออกด้วยความขาดสติบนท้องถนน จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน (นั่นก็ธรรมของ ตถตา เกิดขึ้นแล้ว)

 

“ป่า” คือสิ่งที่พี่ต่อมองเห็นว่ามันเป็นที่รัก มีประโยชน์ ได้ใช้ประโยชน์ และ ถ้าไม่ประมาทเสียแล้ว ก็สามารถทำใจหากไฟไหม้ป่าที่ปลูกดีแล้ว ชีวิตทั้งหมดจึงทำเพื่อเอาทรัพย์ไปปลูกป่า

 

“ถ้าไม่มีความประมาท ก็ไม่มีเรื่องที่ต้องกลัว”

 

ทุกคนมีความกลัว  ความกลัวเป็นสัญชาติญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มนุษย์อยู่รอดมาจวบจนทุกวันนี้ และเป็นพื้นฐานของความเจริญรุ่งเรื่องในทางโลก  กลัวโง่ก็เลยต้องอ่านหนังสือ กลัวไม่สวยก็ต้องทาครีมทำศัลยกรรม กลัวจนก็ต้องทำงาน กลัวหาคู่ไม่ได้ก็ต้องสร้างตัวเอง กลัววัฎฎสงสารก็ต้องเจริญภาวนาให้บรรลุธรรม

 

ดังนั้น ความกลัว เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นตามปกติ แต่ถ้ากลัวจนต้องงอมืองอเท้าแล้วไม่ทำอะไรนั้นไม่สร้างประโยชน์ การใช้ชีวิตจึงไม่ใช่ห้ามกลัว (เพราะมันห้ามกันไม่ได้) แต่สิ่งที่ทำได้คือ “ความไม่ประมาท” เพราะความไม่ประมาทคือ“การมีสติ" คือรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร และการมีสติต่อเนื่องระหว่างการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรียกว่า “สัมปชัญญะ” แค่นี้คือปัจจัยที่เราสามารถควบคุมความผลที่จะตามมาจากการกระทำได้  ดังนั้น ถ้ามีสติไม่ประมาทแล้วทำเลย แม้จะกลัวก็ทำเลย ผลมันจะดีมันเอง

 

ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับ...มากจนเกินไปนำมาซึ่งทุกข์

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ พี่ต่อบอกว่า “ชีวิตอย่าไป “ขึ้นอยู่กับ...”ให้มันมากจนเกินไป  ยิ่งขึ้นอยู่กับอะไรๆ มากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้นไปเท่านั้น เพราะถ้าพิจารณาดูๆไปแล้วมันก็คล้ายๆกับคำพังเพยที่ว่า “ยืมจมูกคนอื่นหายใจ” นั่นเอง

 

ถ้างานๆหนึ่งของเรามันต้องไป “ขึ้นอยู่กับ” คนอื่นมากเท่าไหร่ หรือจะสำเร็จได้มันต้องขึ้นอยู่กับคนอื่นมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะทุกข์จากความไม่สำเร็จเพราะคนอื่นก็ยิ่งจะมากเท่านั้น ความพอดีจึงอยู่กับว่า “ขึ้นอยู่กับ”แค่ไหนถึงจะพอดีโดยงานไม่เสียหรือคุณภาพชีวิตไม่ด้อยลง ตัดออกบ้างได้ไหม หั่นออกบ้างได้ไหม เอาเท่าที่จำเป็นต้องมี โอกาสทุกข์จากการขึ้นอยู่กับมากเกินไปจึงมีโอกาสทุกข์มากกว่า

 

เช่น อยากจะปลูกข้าว แต่ไม่รู้วิธีการปลูกเข้า ไม่รู้จักพันธ์ุข้าว ไม่รู้จักเพาะกล้า ไม่รู้จากไถแปร ไถดะ ทำเทือก ไม่เข้าใจเรื่องน้ำ ไม่เข้าใจการดำนา ไม่เข้าใจการเก็บเกี่ยว แต่บอกว่า มีเงิน จะจ้างชาวนาตั้งแต่ต้นจนจบ จริงอยู่ว่าทำได้(ถ้ามีเงิน) แต่ทำไปเพื่ออะไร  ถ้าทำไปเพื่อขายข้าวให้ได้เงิน  มันจะคุ้มทุนที่ลงไหมทั้งในส่วนของเงินและเวลา หรือ เอาเงินไปลุงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้คนอื่นบริหารแล้วเรารอปันผลดีกว่าไหม

 

อยากจะเปิดร้านขายแว่น  ไม่รู้เรื่องแว่น ตรวจตาไม่เป็น วางเซนเตอร์ไม่เป็น ประกอบเลนส์ไม่เป็น ทำอะไรไม่เป็น แต่มีเงิน จ้างตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แม้จริงอยู่ที่ทำได้ แต่มันทุกข์ไหมเล่าที่ต้องพึ่งคนอื่นตั้งแต่ต้นจนจบ บ้างก็บอกทำได้ รวยด้วย แล้วสุขจริงหรือทุกข์มากกว่า เพราะโควิทมาปัญหาเกิด (ปัญญาเกิดหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง) เพราะต้องคอยบี้ยอดรีดเลือดปูกับพนักงาน ไม่ไหวก็เอาพนักงานออก ปิดร้าน ปิดกิจการ ปิดสาขา นั่นก็มีมาก ปัญหาความทุกข์เหล่านี้เพราะเหตุที่ความสุขของเรามันขึ้นอยู่กับคนอื่นมากจนเกินไป

 

ดังนั้นถ้าจะทำอะไรอย่างน้อยก็ทำด้วยตัวเองให้เป็นในทุกๆส่วน แล้วความเป็นที่ตัวเองมีจับเข้า system ให้หมด ให้งานเดินเป็นครื่องจักรมีการถ่วงดุลถ่วงบาลานซ์ของมัน มันก็ run ของมันได้ ถ้ามันฝืดตรงไหน ก็จะได้รู้ว่าต้องเอาน้ำมันไปหล่อมันตรงไหนเครื่องถึงจะลื่น เพราะถ้าไม่รู้ หยอดผิดที่ เครื่องก็พังได้เช่นกัน  เช่นขายไม่ดีไปทำโปรโมชั่นเป็นต้น เรียกว่าหยอดน้ำมันผิดที่ เครื่องก็พัง เพราะจริงๆควรจะไปดูมาตรฐานว่าแท้จริงเป็นอย่างไร มีตัวอย่างให้ดูก็มากมาย ไม่ใช่หลับหูหลับตัวเอาตัวเองเป็นมาตรฐาน เพราะยุคข่าวสารนั้นทำให้คนเกิดปัญญา ของที่ไม่จริงจะถูกแทนที่ด้วยความจริง  ความจริงน้อยจะถูกแทนที่ด้วยความจริงที่จริงยิ่งกว่า

 

เรื่องนี้หนีไม่พ้นหลักเศรษฐกิจ พอเพียง(พอมี พอกิน พออยู่ พอใช้ พอประมาณ ไม่เกินกำลัง)  พึ่งพาตนเอง(ด้วยการทุกสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ) และ ยั่งยืน(ด้วยการทำเรื่องดีๆ ที่เป็นจริง) แค่นี้ก็เป็นสุข  สุขเพราะคิดถูกต้อง ทำถูกต้อง

 

ดังนั้น สรุปธรรมในวันนี้คือ  “คิดต่าง ทำต่าง ผลต่าง” “คิดอย่างไร ทำอย่างนั้น ผลก็ตามมาอย่างนั้นเช่นกัน”

 

สมดังพุทธพจน์ว่า

 

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา        มโนเสฏฐา มโนมยา

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า

 

ดังนี้แล

เจริญพร

ดร.มหา ลอฟท์  ,O.D. ,ปธ.3