ค่าแว่นผิดใช้ได้หรือไม่ 

by Dr.Loft ,O.D.

public 14 September 2021

 

 

บทความที่แล้ว ที่ผมได้พูดถึงความเชื่อที่ว่า "อย่าจ่ายแว่นให้ชัดเกินไป เดี๋ยวปวดหัว" ก็ได้บทสรุปว่า คำกล่าวนี้ไม่ใช่ความจริง แต่คำว่าชัดเกินไปในความหมายของคนไทยนั้นคือการจ่ายค่าสายตาที่สั้นเกินจริง (over minus) หรือการจ่ายค่าสายตายาวที่อ่อนเกินค่าจริง (under plus) ซึ่งการจ่ายลักษณะนี้ ไม่ได้ทำให้สามารถแยกแยะรายละเอียดได้มากขึ้น เพียงแต่ทำให้ดูดำขึ้น เข้มขึ้น ตัวเล็กลง และห่างออกไป เลยตีความว่าชัดขึ้น

 

บางคนอาจรู้สึกว่าแสงฟุ้งลดลง จากการไปสร้างความเครียดให้ระบบ จนเกิดการหดของรูม่านตาซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าแสงฟุ้งมันลดลง

 

ในบางคนการจ่าย over minus นอกจากไม่ได้ทำให้อ่านได้มากขึ้น แต่ตรงข้ามอาจทำให้คนไข้อ่าน VA ลดลง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่คนไข้บางคน อาจจะยึดติดกับความเข้มดำด้วยความเคยชิน จึงบอกว่าค่าที่เกินนั้นชัดกว่าค่าที่ถูกต้องทั้งๆที่อ่านได้น้อยกว่าก็มี โดยเฉพาะกับคนที่มีสายตายาวมาแต่กำเนิดแล้วเริ่มใช้เลนส์ที่ full correction เป็นครั้งแรก ทำให้การทำ subjective refraction เพียงอย่างเดียวอาจผิดพลาดได้ และ การใช้ retinoscope ในการกวาดดู reflex ซึ่งเป็นการตรวจแบบ objective นั้นสามารถบอกได้ทันทีว่า ขณะนั้นสายตาพอดีหรือไม่ ขาดหรือว่าเกิน

 

การใส่แว่นที่มีค่าสายตา over minus ต่อเนื่องส่งผลอย่างไรต่อดวงตา

 

ผลระยะสั้น

ทันทีที่เราจ่ายเลนส์ที่สั้นเกินจริงให้กับคนไข้ สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีเลยก็คือ #จุดโฟกัสของภาพนั้นถูกผลักให้ไปตกหลังจุดรับภาพ (แทนที่จะตกบนจุดรับภาพพอดีเหมือนคนสายตาปกติ) จึงเกิดภาพมัวเกิดขึ้นบนจุดรับภาพ

 

ซึ่งภาพมัวที่เกิดขึ้นนี้เอง จะเป็น feedback วิ่งไปกระตุ้นระบบประสาทบริเวณก้านสมอง ให้จ่ายสัญญาณย้อนกลับไปกระตุ้นกล้ามเนื้อภายในลูกตา (ciliary muscle) ให้เกิดการบีบหดตัว #เพื่อกระตุ้นให้ระบบเพ่งทำงาน(accommodation)

 

นอกจากนี้แล้วกระแสประสาทดังกล่าวยังวิ่งไปที่กล้ามเนื้อภายนอกดวงตาด้านที่อยู่ฝั่งจมูก (medial rectus) ให้เกิดการหดตัวเนื่องจากเป็นกล้ามเนื้อที่ถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นเดียวกัน #ทำให้ลูกตาถูกบังคับให้เหลือบเข้า (convergence)

 

แต่ขณะที่เรามองไกล วัตถุอยู่ไกลตรงไปข้างหน้า ซึ่งตาควรจะอยู่ในตำแหน่งตาตรง แต่กลับถูกบังคับให้เหลือบเข้าจากผลของการเพ่ง แต่วัตถุไม่ได้เหลือบเข้าตาม ก็กลายเป็นภาระของกล้ามเนื้อตามัดฝั่งตรงข้ามฝั่งหู (lateral rectus) ในการคอยดึงตากลับอยู่ตลอดเวลา (negative fusional vergence)

 

ด้วยเหตุนี้เองทำให้คนไข้ที่ใส่แว่น over minus หรือค่าสายตาสั้นที่มากเกินจริง จะมีอาการคือ การมองเห็นจะรู้สึกว่าเข้ม ดำ ตัวเล็ก จ้าๆ แสบๆตา บีบๆ บริเวณขมับ หัวคิ้ว เบ้าตา อาจปวดร้าวลามไปที่กระโหลกส่วนท้ายและลามไปที่บริเวณท้ายทอย คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อยล้า ดวงตา เดี๋ยวชัดเดี๋ยวไม่ชัด บางครั้งโฟกัสได้แต่บางครั้งก็มัว บางคนมีภาพซ้อนเป็นบางจังหวะ อ่านหรือสือช้า อ่านไม่ทน อาการเหล่านี้เกิดจากระบบถูก stress มากจนเกินไป

 

อุปมาเหมือนการทำงานของCPU

ในการทำงานของคอมพิวเตอร์นั้นต้องการ CPU เป็นองค์ประกอบหลักในการทำงานของ Operation System หรือ OS เมื่อเราลงโปรแกรมต่างๆไว้ในเครื่องใน standby mode มันก็จะใช้กำลังของ cpu เล็กน้อยและเมื่อเราดึงโปรแกรมออกมาใช้งาน โปรแกรมนั้นก็จะใช้กำลังจาก cpu มากขึ้น

 

ถ้า cpu กำลังเหลือๆ เราก็อาจสามารถเปิดโปรแกรมทิ้งไว้หลายๆโปรแกรมโดยที่เครื่องไม่แฮ๊งค์ แต่ถ้า cpu กำลังน้อยๆ แต่ซอฟท์แวร์ที่เปิดนั้นกินกำลังมาก เครื่องก็จะแฮ๊งค์เพราะว่าเราไป over stress ให้มัน

 

หนักไปกว่านั้นคือ #ถ้ามีไวรัสรันอยู่ในระบบOSของเรามันก็กินแรงcpuของเราอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ทำประโยชน์อะไรให้เราเลย ใช้งานเล็กๆน้อยๆก็แฮ๊งค์ก็ดับ จะทำงานอะไรก็ช้า กระตุก ค้าง ไม่มีประสิทธิภาพ

 

ฉันไดก็ฉันนั้น

 

การที่เรา over minus หรือ under plus ให้คนไข้นั้น ก็เหมือนกับการที่เราปล่อยให้ virus รันอยู่ในระบบ OS ของคอมพิวเตอร์ ทำให้บัฟเฟอร์สำรองหรือกำลังสำรองสำหรับการโหลดงานหนักๆนั้นไม่มี ทำให้มีปัญหาเวลาต้องใช้สายตาหนักๆ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้สายตาลดลง ใช้สายตาได้ไม่ทน อ่านได้ไม่นาน ก็ล้าตา เหนื่อยง่าย ไร้ประสิทธิภาพ อาจจะมากไปถึง คลื่นไส้ อาเจียน และ ไมเกรน

 

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ถามว่า "แว่นผิดแว่นเกินนั้น...ชัดไหม ?” ก็ตอบเลยว่า “ได้แค่ชัด...แต่ไม่เหมือนกัน” เพราะระบบทำงานไม่เหมือนกัน ถูกกระตุ้นไม่เหมือนกัน การตอบสนองจึงไม่เหมือนกัน ประสิทธิภาพเมื่อต้องใช้สายตาจึงไม่เท่ากัน

 

ผลกระทบระยะยาว

การจ่าย over minus ในคนไข้สายตาสั้น หรือ uncorrected/under plus ในคนไข้สายตายาวแต่กำเนิด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการทำงานร่วมกันของสองตาในระยะยาวจากการเรียนรู้การทำงานร่วมกันที่ไม่สมดุล เช่น ภาวะเหล่เข้าซ่อนเร้น (esophoria) , เลนส์แก้วตาล้า (accommodation fatique) แรงดึงออกของกล้ามเนื้ออ่อนแรง (divergence insufficiency) , เปลี่ยนระยะโฟกัสช้า (accommodative infacility) , ไม่สามารถเพ่งดูใกล้ต่อเนื่องได้นาน (illsustain accommodation) เหล่านี้เป็นต้น

 

ปัญหา binocular dysfunction จึงมักเกิดจาก uncorrected refractive error เป็นสำคัญ ดังนั้นก่อนจะแก้ปัญหาของระบบการมองสองตา ต้องเริ่มจาก full correction เพื่อให้ระบบเกิดการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกันอย่างสมดุล แล้วค่อยดูว่าขาดเหลืออะไรหรือไม่ หลังจากนั้นแล้วค่อยประเมินในเรื่องการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา จ่ายแอดดิชั่น หรือจ่ายปริซึม

 

อีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้ายังไม่สามารถ full correction ได้ก็อย่าพึ่งไปยุ่งกับ binocular function ด้วยเช่นกัน เพราะจะยิ่งไปสร้างความยุ่งยากให้กับระบบ

 

ถ้าคนไข้ก็ชัดเหมือนกัน แล้วจะรู้ว่า #ชัดแบบไหนถูก #ชัดแบบไหนผิด

 

ถ้ายังไม่สามารถหยิบโรติโนสโคปมากวาดดูไฟที่สะท้อนออกมาจากรูม่านตาได้ ก็คงไม่สามารถบอกได้ว่าชัดแบบไหนถูก แบบไหนผิด ได้แต่เดาๆ เอา เพราะ reflex จาก retinosope ไม่เคยโกหกเรื่องแสงตกก่อน(สายตาสั้น) ตกหลัง(สายตายาว) หรือตกสองแกน(สายตาเอียงที่แก้ไม่หมด) แต่การถามตอบว่า "ชัดไหมๆ อันไหนชัดกว่า หนึ่ง สอง ..." เพียงอย่างเดียวนั้น โดนโกหกได้ง่าย ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 

ด้วยเหตุนี้ ถ้ายังอยากทำงานที่ได้มาตรฐานเราจึงไม่สามารถเลี่ยงการฝึกทำเรติโนสโคปได้ หรือ คนไข้ถ้าอยากได้สายตาที่มันชัดแบบถูกต้อง ก็มองหาใครที่มีห้องตรวจลึกได้มาตรฐาน และ ใช้เรติโนสโคปเป็นมาตรฐานในการทำงาน อย่าได้หลงกับความล้ำ high technology ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดสายตาเลย เพราะถ้าพูดถึง reliability แล้ว อุปกรณ์ตรวจวัดสายตาที่ว่าไฮเทคที่สุดในโลกยังห่างชั้นกับการตรวจแบบเบสิกอย่าง retinoscope อยู่หลายขุม เพราะมีแล้ว ลองแล้ว ใช้แล้ว ถึงกล้าพูดว่า "come back to basic" เถิด

 

ดังนั้นจากคำถามเบื้องต้น ว่าสามารถใช้แว่นที่มีค่าเกินจริงได้หรือไม่ ก็คงต้องตอบว่า “ใช้ได้แต่ไม่เหมือนกัน” และส่งผลกระทบต่อสุขภาพตาทั้งระยะสั้นและระยะยาวไม่เหมือนกัน

 

โดยในรายละเอียดนั้น สามารถหาอ่านดูได้จากบทความเรื่อง อันตรายจากการใช้แว่นที่มีค่าสายตาที่ผิด https://www.loftoptometry.com/whatnew/view/90

 

ส่วนสายตาเกินไปเท่านี้ ส่งผลกระทบแค่ไหน ต้องไปอ่านเรื่อง AC/A ratio ก็จะตอบคำถามคาใจนี้ได้ https://www.loftoptometry.com/whatnew/view/75

 

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

ความสุขสวัสดีจงมีแก่แฟนเพจที่รักทุกท่าน

สวัสดีครับ

ดร.ลอฟท์ ,O.D.

 

LOFT OPTOMETRY

578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

mobile : 090-553-6554

lineid : loftoptometry (ไม่มี@)

maps : https://bit.ly/3nu1IMt