“อย่าชัดเกินไป...เดี๋ยวปวดหัว” คำกล่าวนี้เป็นจริงหรือไม่ ?

by dr.loft , O.D.

public 9 September 2021

 

“อย่าชัดเกินไป...เดี๋ยวปวดหัว” คำนี้ว่า ผมเชื่อว่าคนที่ใช้แว่นส่วนใหญ่น่าจะเกือบทั้งหมด คงเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้าง ซึ่งผมก็เคยได้ยินเพราะใส่แว่นตั้งแต่เด็กและคนส่วนใหญ่ก็เชื่อกัน แต่น้อยคนที่จะสงสัยในข้อเท็จจริงนี้ว่ามีมูลมากน้อยหรือไม่อย่างไร

 

ความเชื่อที่ฝังหัวกันมานาน ถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์มาอธิบายก็คงจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องห้าม คือห้ามยุ่ง ห้ามแตะ ตัวอย่างในเรื่องนี้เช่น “จอมปลวก”

 

“จอมปลวก” นั้นเป็นภัยคุกความบ้านอย่างแท้จริง โดยเฉพาะท่านที่มีบ้านไม้เป็นองค์ประกอบ มันเหมือนกับเนื้อมะเร็งร้ายที่กินข้างในเรียบแต่ภายนอกนั้นดูดี รู้อีกทีก็พังจนหมดบ้าน

 

แต่ปลวกก็มีประโยชน์สำหรับธรรมชาติในเชิงย่อยสลายอินทรีย์สู่ดินเพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ แต่ไม่ใช่กับบ้านคน ปลวกจึงทำให้เกิดอาชีพใหม่ขึ้นมาคือ อาชีพกำจัดปลวก หรือ ยาเคมีกำจัดปลวกเป็นต้น แต่ประโยชน์ของปลวกต่อมนุษย์โทษมากกว่าคุณ​

 

แต่พอปลวกไปอยู่ในป่าหรือปีนศาลพระภูมิ (ซึ่งมักจะทำกันด้วยไม้) ไม่มีใครรบกวนมัน มันก็สร้างอาณาจักรปลวกขึ้นมายิ่งใหญ่ จนมนุษย์ที่รังเกียจปลวกมาตั้งแต่ต้นนั้น ต้องไปเคารพสักการะ ด้วยความเชื่อเป็นจริงเป็นจังว่า มีเจ้าที่อาศัยอยู่ จะรื้อจะถอนต้องไปทำพิธี แม้จะมีสารคดีมากมายเกี่ยวกับชีวิตปลวก แต่บางคนก็ยังคงเชื่อ จนกระทั่งมีหมอคนหนึ่งเกิดขึ้นมา ทำให้ความเชื่อนี้ถูกเขย่าอย่างรุนแรง นั่นคือ “หมอปลา” นั่นเอง

 

เรื่องนี้ก็เช่นกัน “อย่างชัดเกินไป...เดี๋ยวปวดหัว” ถูกส่งต่อกันมานานเสียจนเรื่องไม่จริงกลายเป็นดูเหมือนจริง จนกลายเป็นความเชื่อ แม้แต่ผมเองยังเคยถูกถามว่า “คุณหมอครับมันชัดขนาดนี้แล้วมันจะปวดหัวไหม” ผมก็ถามว่า “แล้วปวดไหมล่ะ” คนไข้ก็ตอบว่า “ไม่ปวด แต่กลัวใส่นานๆแล้วมันจะปวด เพราะเคยได้ยินเขาว่า ชัดเกินไปเดี๋ยวมันปวดหัว แล้วเคยใส่แว่นที่มันชัดๆก็ปวดหัวจริง ก็เลยใส่แว่นที่มันไม่ชัดมาตลอด ก็เลยนึกว่ามันจริง” ผมก็ตอบไปว่า “ไม่มีหรอกคำว่าชัดเกินไป...เดี๋ยวปวดหัว มีแต่คำว่า over minus ที่ทำให้ปวดหัว”

 

ดังนั้นวันนี้ก็จะขอทำหน้าที่เป็นศิษย์หมอปลาในการล้างความเชื่อนั้น ซึ่งจะพาไปดูทั้งเหตุและผล ว่าทำไมเรื่องที่ว่านี้จึงไม่มีมูลและควรเลิกงมงายกันได้แล้วและเลิกสอนต่อกันผิดๆ จริงๆผมชอบหมอปลานะ แต่ก็ไม่ค่อยชอบตอนเรื่องลุงพลนี่แหล่ะ (ฮา)

 

“ความชัด” คืออะไร

#ความชัด ในความรู้สึกของคนทั่วไปมักจะนึกถึงคำว่า #sharp กันเสียมากกว่า แต่ในทางวิทยาศาสตร์ของระบบการมองเห็น หรือ visual science จะหมายความถึง resolution หรือ ความสามารถในการจำแนกแยกแยะว่าต่างกันได้ละเอียดมากน้อยแค่ไหน และ สามารถตรวจวัดออกมาได้ ค่าที่ตรวจวัดออกมาได้นั้นเรียกว่า visual acuity หรือ VA

 

Visual Acuity

VA คือ ระบบการตรวจวัดความสามารถของระบบการมองเห็นของตามนุษย์ว่า ขีดความสามารถในการแยกแยะรายละเอียดนั้น สามารถทำได้เต็มศักยภาพของระบบประสาทตาหรือไม่

ดังนั้น #ออกแบบตัวหนังสือก็จะต้องออกแบบให้ถึงขีดจำกัดของระบบประสาทการมองเห็น จึงจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าแต่ละคนนั้น เห็นได้แค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับคนปกติ

 

ขีดจำกัด 

มนุษย์นั้นมีขีดจำกัดของการมองเห็น หรือ ไม่สามารถเห็นได้ละเอียดไปกว่านั้นแล้ว นึกง่ายๆว่า เราไม่สามารถมองเห็นเซลล์ ไม่ว่าจะเซลล์ของอะไร คน สัตว์ พืช แบคทีเรีย ไวรัส เพราะมันตัวเล็กเกินไป เกินกว่าประสาทตาจะแยกแยะได้

 

ถ้าเล็กเกินขีดจำกัด เราจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ถ้าไม่เล็กเกินไป เราก็เอาแว่นขยายมาส่องเหมือนดูลายมือ หรือไม่ก็เอามือถือถ่ายรูปแล้วเอามาขยายรูปที่หน้าจอ หรือ ถ้าเล็กมากเราก็จะใช้กล้องจุลทัศน์ช่วยดูเช่น เซลล์มนุษย์หรือแบคทีเรีย แต่ถ้าเล็กมากๆอย่างไวรัส ก็จะต้องใช้ electron microscope นั่นก็เพราะระบบการแยกแยะรายละเอียดของเรานั้นมีขีดจำกัดอยู่

 

ขีดจำกัดในการมองเห็นของมนุษย์นั้นมีอยู่ 2 สาเหตุ

1. optic limiting factor

2. Neural limitation factor

 

Optic limiting factor

หมายถึงการกระจายของแสงออกทางด้านข้างเมื่อเกิดการเดินทางผ่านช่องแคบๆ เรียกกว่า diffraction ยิ่งช่องสองช่องนั้นใกล้กันมากเท่าไหร่ก็จะเกิด diffraction มาขึ้นเท่านั้น จนใกล้ถึงค่าหนึ่งเราก็จะแยกไม่ออกว่าแหล่งกำเนิดแสงของทั้งสองนั้นมาจากคนละที่กัน เหมือนที่เราขับรถกลางคืน เวลาเห็นรถวิ่งมาแต่ไกลๆ เราไม่รู้ว่าเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซ จนกระทั่งมันใกล้เข้ามาในระยะหนึ่งจึงได้รู้ว่ารถอะไร

Neural limitation factor

หมายถึง ขีดจำกัดของระบบเซลล์ประสาทรับภาพของเรานี้เอง โดยจอประสาทตาในดวงตาของเราจะมีเซลล์รับภาพสีที่มีรายละเอียดสูงคือ cone cell ซึ่งทำหน้าที่ในการรับสัญญาณภาพเพื่อส่งต่อไปยังสมองเพื่อทำการตีความ

การที่เราจะแยกว่ามีจุดสองจุดได้นั้น แสดงว่า ต้องมี cone cell หนึ่งเซลล์ที่อยู่ระห่างสองจุดนั้นที่ยังว่างอยู่ เช่นตัว E (ดูรูปที่แนบมาประกอบ) เล็กสุดที่เราสามารถยังรู้ว่าเป็นตัว E นั้น จะต้องไม่เล็กไปกว่า cone cell 5 เซลล์ คือ ดำ..ขาว..ดำ..ขาว..ดำ ซึ่งตกลงบนแต่ละเซลล์ แต่ถ้าตัว E เล็กกว่านั้น จะทำให้ทั้งแถบขาวดำ ตกลงบนเซลล์เดียวกัน และทำให้ไม่สามารถแยกแยะรายละเอียดของตัว E ได้

 

Minimum angle of resolution

ด้วยเหตุที่มนุษย์มีขีดจำกัดของการมองเห็นนี้เอง การออกแบบตัวหนังสือสำหรับทดสอบระบบประสาทการมองเห็นจึงประดิษฐ์ขึ้นจากพื้นฐานขีดจำกัดนี้ และ มุมที่เล็กที่สุดที่มนุษย์จะสามารถแยกแยะได้เรียกว่า minimum angle of resolution

การใช้หลักนี้ นำไปสู่การประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาเรียกว่า Snellen Acuity Chart หรือ VA chart ซึ่งเป็นชาร์ตที่ใช้ตรวจวัดสายตาที่ใช้กันเป็นมาตรฐานทั่วโลกโลกนั่นเอง

 

VA-chart

การออกแบบ VA chart จะมีตัวหนังสือใหญ่ไปเล็ก เพื่อจะให้ดูในแต่ละระยะ วางเรียงกันอยู่บนกระดาษหรือแผ่นรับชาร์จโปรเจ็คเตอร์ และ ตัวเล็กไปตัวใหญ่นั้นก็เป็นตัวหนังสือที่ออกแบบมาโดยมีขีดจำกัดเดียวกันคือที่ minimum algle of resolution นั่นก็คือ 5 ลิปดา นั่นเอง

เมื่อเรา project ตัวหนังสือขนาด 5 ลิปดา ออกไปไกลๆ เราก็จะเห็นว่า ยิ่งไกลออกไปเท่าไหร่ มุมก็บานออกไปเท่านั้น ยิ่งใกล้มาเท่าไหร่มุมก็จะบีบเข้ามากเท่านั้น ดังนั้นถ้าเป็นระยะไกลตัวหนังสือก็จะใหญ่ ถ้าเป็นระยะใกล้ตัวหนังสือจะเล็ก แต่ทั้งหมดรองรับมุมเดียวกันคือ 5 ลิปดา ทำให้เราสามารถออกแบบตัวหนังสือในแต่ละระยะให้มันวางอยู่ตรงที่เดียวกันที่ระยะ 6 เมตรได้

 

ดังนั้น แต่ละตัวที่อยู่บน snellen chart คือ visual limitation ของคนสายตาปกติเมื่อมองวัตถุในแต่ละระยะและที่เราเอามาตรวจให้คนไข้ดู ก็เพื่อจะรู้ว่า คนไข้ของเราเห็นได้ดีขนาดไหนเมื่อเทียบกับคนปกติ

 

ทีนี้ก็มีกลุ่มหัวหมอ (ไม่ใช่หมอจริง แต่เป็นการเปรียบเทียบว่าฉลาดแกมโกง) ว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าอย่างนั้นฉันจะทำกล่องไฟวัด VA ไม่ต้องที่ 6 เมตรหรอก เปลืองห้องตรวจ เอาที่ 2 เมตรก็พอเพราะรองรับมุม visual angle เดียวกัน แล้วบอกว่า ก็ใช้ได้เหมือนกัน เพราะรองรับมุมเดียวกัน ซึ่งถูกอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องที่เขาอ้างว่ามัน 5 ลิปดา เหมือนกัน

 

แต่ที่ผิดทั้งหมดคือ สภาวะตาที่ไม่ได้มองที่ระยะอนันต์นั้นทำให้เกิดการกระตุ้น vergence และ accommodation ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของระบบ binocular function แล้วทั้งสองระบบนี้ก็เชื่อมโยงกันด้วยระบบ Acommodative convergence /Accommodation หรือ AC/A เราจึงไม่สามารถคลาย accommodation ได้ทั้งหมดถ้าหากว่า Convergence ยังถูกกระตุ้นอยู่ และถ้า accommodation ยังถูกกระตุ้นอยู่ refractive error ก็ใช้ไม่ได้อีกเช่นกัน วนๆไปเหมือนงูกินหาง

 

อีกปัญหาหนึ่งคือ การตรวจ binocular function ในห้องตรวจที่ไม่ได้ระยะ 6 เมตร ค่าที่ตรวจได้นั้นใช้งานไม่ได้ เนื่องเป็นการตรวจขณะที่คนไข้มี vergence และ accommodation อยู่ เว้นแต่เราจะไม่ทำ ไม่ตรวจ binocular function

 

แต่ก็นั่นแหละ ถ้า refraction อยู่ภายใต้ภาวะที่ระบบ accommodation ถูกกระตุ้นอยู่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิด over minus หรือ under plus คือได้ค่าสายตาสั้นที่สั้นเกินจริง หรือ ได้ค่าสายตายาวที่ยาวน้อยกว่าความเป็นจริงและสิ่งเหล่านี้แหล่ะที่เขาเรียกว่าชัดเกินไป และทำให้ปวดหัว ซึ่งแท้จริงแล้วมันคือ “over minus”

 

สรุป

“ชัด..เกินไปทำให้ปวดหัว” ไม่มี มีแต่คำว่า “over minus / under plus ....ทำให้ปวดหัว” และการ over minus / under plus ไม่ได้ทำให้ภาพชัดขึ้นแต่อย่างไร หรือไม่ได้ช่วยให้อ่านได้มากขึ้นแต่อย่างใด เพราะมนุย์มีขีดจำกัดของการมองเห็นอยู่

 

เมื่อจ่าย over minus คนไข้จึงไม่ได้ชัดขึ้น เพียงแต่รู้สึกว่า ดำขึ้นและเล็กลง แต่นั่นไม่ใช่ resolution ที่มากขึ้น เป็นเพียงแต่ contrast จากความเคร่งเครียดของระบบกระแสประสาทตาที่ทำงานหนักก็เท่านั้นเอง ทำให้ใช้สายตาไปสักพักแล้วปวดหัว ปวดเบ้าตา ปวดหัวคิ้ว รวมไปถึงขมับและท้ายทอย

 

แต่การเลี่ยงการ over minus ด้วยการจ่าย under minus นั่นมันก็เกินเหตุไป เพราะการมัวขนาดนั้นยังห่าง visual limit ของคนไข้อยู่มากและคนไข้ควรจะมีประสิทธิภาพการมองเห็นและ enjoy they life มากกว่าจะกำหนดหรือขีดชีวิตด้วยวาทะกรรมว่า “เอาชัดแค่นี้พอ เดี๋ยวปวดหัว”

 

เราจึงควรทำงานเพื่อ enhance vision ให้คนไข้สามารถมองเห็นรายละเอียดสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือไปให้ถึง visual limit โดยไม่ไป over minus คนไข้ก็จะชัดและไม่ปวดหัว

 

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก็มีอยู่เท่านี้

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม

สวัสดีครับ

ดร.ลอฟท์

 

 

Loft optometry

578 Wacharapol rd, Tharang ,Bankhen ,BKK 10220

Mobile : 090-553-6554

LineID : loftoptometry (ไม่มี @)