เรื่อง ทัศนมาตรศาสตร์ในสายตาโลก

โดย ดร.ลอฟท์​

เผยแพร่ 26 มิถุนายน 2564

 

หากประเทศไทยคือประเทศที่กำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบสาธารณสุขด้านสายตาและระบบการมองเห็น การลองผิดลองถูกด้วยตัวเองนั้นบางทีก็ทำให้เสียเวลาจนกลายเป็นเสียการเสียงาน วันนี้เรากำลังจะทำกฎหมายวิชาชีพ สิ่งที่เราพึงทำก็คือดูแบบอย่างประเทศที่เขาพัฒนาแล้วว่าเขาทำอะไรและทำอย่างไร การนั่งเทียนหรือนั่งทางในนั้น ไม่ใช่วิสัยของคนที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นเราควรไปดูนิยามของทัศนมาตรศาสตร์ว่าโลกฝั่งที่เจริญแล้วนั้น เขาให้นิยามทัศนมาตรไว้ว่าอย่างไร

 

World Council of Optometry (WCO) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกสำหรับผู้เชี่ยวชาญทางด้านทัศนมาตรศาสตร์ (global organisation for optometry professional) ซึ่งมีสมาชิกทั้งที่เป็นทั้งองค์กร สถาบัน และ สมาคม รวม 89 แห่งซึ่งมีทั้ง สภา โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่เป็นสมาชิกจาก 48 ประเทศ​ มีทัศนมาตรเป็นสมาชิกอยู่กว่า 200,00 คนทั่วโลก และ WCO เป็นองค์กรของทัศนมาตรศาสตร์แห่งแรกและแห่งเดียวที่เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการององค์การอนามัยโลก (World Helth Organization,WHO)

 

ดังนั้นถ้าเราต้องการรู้ว่า WHO ให้นิยามของทัศนมาตรว่าอย่างไร ก็คงต้องไปดูที่นิยามของ WCO ซึ่งเป็นสากลโลกที่เจริญและพัฒนาแล้ว

 

WCO ให้นิยามของทัศนมาตรศาสตร์ว่า

 

“ทัศนมาตรศาสตร์” (optometry) คือศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ (helthcare profession) ที่มีความอิสระในการประกอบวิชาชีพ (โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของวิชาชีพอื่น)  มีการเรียนการสอนด้านทัศนมาตรศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษา มีกฎหมายทัศนมาตรศาตร์ในการควบคุมการประกอบวิชาชีพ ส่วน “ทัศนมาตร” (optometrist) คือบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพพื้นฐาน (primary health care practitioner) ที่มีหน้าที่ในการดูแลเกี่ยวกับตา (eye) และ ระบบการมองเห็น (visual system) โดยมีความรับผิดชอบในการดูแลเรื่อง การตรวจสุขภาพตาและระบบการมองเห็น (comprehensive eye and vision care) รวมไปถึงการตรวจวัดสายตาและการจ่ายเลนส์เพื่อแก้ไขระบบการมองเห็น  ตรวจหา วินิจฉัย และจัดการแก้ไข โรคที่เกิดขึ้นกับตา และบำบัดฟื้นฟูภาวะของระบบการมองเห็น

 

“WCO'S CONCEPT OF OPTOMETRY

Optometry is a healthcare profession that is autonomous, educated, and regulated (licensed/registered), and optometrists are the primary healthcare practitioners of the eye and visual system who provide comprehensive eye and vision care, which includes refraction and dispensing, detection/diagnosis and management of disease in the eye, and the rehabilitation of conditions of the visual system.

 

Reference

https://worldcouncilofoptometry.info/about-us/

https://www.who.int/workforcealliance/members_partners/member_list/wcoptometry/en/

 

 

นิยามทั้งหมดที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นนิยามที่องค์กรทัศนมาตรโลกซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ได้ให้ไว้กับทัศนมาตรศาสตร์​ เพื่อกำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของทัศนมาตรในการประกอบวิชาชีพและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาศาสตร์ของทัศนมาตร

 

อีกนัยหนึ่งคือถ้าเราไม่พร้อมที่จะยอมรับความเป็นนิยามสากลนั่นก็หมายถึงประเทศไทยยอมรับว่าจะไม่พร้อมที่จะยอมเจริญหรือพัฒนาสาธารณสุขด้านสายตาและระบบการมองเห็นให้เทียบเท่ากับมาตรฐานโลก

 

จริงอยู่ที่การสร้างบุคลากรทางทัศนมาตรศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาหรือผลิตได้ช้ากว่าความต้องการของประชาชน แต่กระนั้นก็ตามในการดูแลพื้นฐานสายตาทั่วไปที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เรามีคนที่ทำหน้าที่นี้อยู่หลายกลุ่มหลายสาขาทั้งในระดับวิชาชีพและอาชีพ  ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลเพื่อฉุดหรือรั้งการพัฒนาวิชาชีพทัศนมาตรศาสตร์ได้  ร่างกฎหมายทัศนมาตรจึงควรปล่อยให้อื่นอื่นสามารถประกอบวิชาชีพและอาชีพโดยไม่ไปจำกัด หรือ สิทธิในการทำงานของผู้อื่น

 

ดังนั้นการร่างกฎหมายที่จะยกทัศนมาตรศาตร์ขึ้นเป็นสาขานั้น มีจุดมุ่งหมายสูงสุดขอเพียงให้ทัศนมาตรได้สามารถทำงานและนำความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือคนที่มีปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นได้อย่างเต็มที่ตามหลักทัศนมาตรศาสตร์ และ อีกเงื่อนไขหนึ่งก็คือให้กฎหมายเปิดโอกาสให้ทัศนมาตรสามารถพัฒนาหลักสูตรต่อไปได้  เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายที่ทัศนมาตรถืออยู่นั้นเป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้การประกอบวิชาชีพตามหลักทัศนมาตรศาสตร์เป็นการประกอบโรคศิลปะ นั่นหมายความว่าถ้าจะประกอบวิชาชีพจะต้องทำในสถานพยาบาล แต่เมื่อสาขายังไม่ถูกกำหนดยกขึ้นเป็นสาขาในการประกอบโรคศิลปะ ทำให้ศาสตร์ทัศนมาตรที่ร่ำเรียนมานั้น ไม่สามารถปฎิบัติงานได้ตามหลักทัศนมาตร และนี่เหตุสาเหตุที่ต้องเร่งผลักดันให้กฎหมายออกมาให้นักศึกษาทัศนมาตรศาสตร์ที่จบการศึกษาออกมานั้นสามารถทำงานได้

 

ดังนั้นร่างที่ทัศนมาตรในประเทศไทยควรจะเป็นเมื่อเทียบกับนิยามทัศนมาตรโลกแล้วจึงควรมีนิยามทุกคำต่อไปนี้ ว่า

 

“ทัศนมาตร” หมายความว่า บุคคลผู้กระทำเกี่ยวกับสายตาและระบบการมองเห็นของมนุษย์ตามหลักการในสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ โดยการตรวจและการวัดสายตา เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของสายตา ระบบการมองเห็นและแก้ไขฟื้นฟูสภาพของระบบการมองเห็น รวมทั้งการใช้แว่นตา เลนส์สัมผัส หรือการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา โดยการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ น้ำตาเทียม หรือยา ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ แต่ไม่หมายรวมถึง

  1. การแก้ไขความผิดปกติของการมองเห็นเนื่องจากระบบประสาทตา

  2. การแก้ไขความผิดปกติของการมองเห็นและแก้ไขฟื้นฟูความผิดปกติของการมองเห็นโดยการผ่าตัด หรือการใช้เลเซอร์ชนิดต่างๆ

  3. การปฏิบัติงานของบุคคลากรในวิชาชีพหรืออาชีพอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้


** จะต้องไม่มีการตัดคำว่า "ตามหลักการในสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์"  และ ไม่ย่อคำว่า "การมองเห็น" เป็น  "การเห็น"

 

กฎหมายเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว เพราะมันเป็นเรื่องของการกำหนด สิทธิ และ หน้าที่ และเสรีภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ทำหรือไม่ให้ทำ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีคนที่ได้ประโยชน์และเสียประประโยชน์กับกฎหมายที่ออกมาไม่มากก็น้อย 

แก่นสารของกฎหมายนั้นไม่ใช่อื่นใด นอกเหนือไปจากมีปัญหาเกิดขึ้นจากคนมีหน้าที่แต่ไม่ทำหน้าที่หรือคนที่ไม่มีหน้าที่แล้วไปทำหน้าที่ไม่ได้รับอนุญาต จึงทำให้เกิดปัญหาหรือความเดือดร้อน จึงต้องมีการออกกฎขึ้นมาเพื่อเป็นบทลงโทษทั้งกับผู้ที่ไม่มีหน้าที่ทำแต่จะทำหน้าที่ หรือผู้ที่ไม่หน้าที่แล้วละเว้นในการปฎิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ก็เพื่อความสงบเรียบร้อยและความผาสุขของประชาชน 

ในทางกลับกันถ้าคนเรารู้ว่าอะไรคือหน้าที่ และอะไรไม่ใช่หน้าที่ ปัญหาก็จะไม่เกิด แต่ปัญหาที่มันเกิดเพราะคนไม่รู้จักหน้าที่หรือละเลยในการปฎิบัติหน้าที่ ทำให้ต้องมีการกำหนดบทลงโทษด้วยกฎหมายขึ้นมา และแน่นอนว่ากฎหมายที่ออกมาย่อมส่งผลกระทบทั้งดีหรือไม่ดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เกี่ยวไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

เช่นนักกำหนดอาหาร หรือ Dietitian เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้เฉพาะทางด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารบำบัดโรคที่เรียกว่า โภชนบำบัด ในโรงพยาบาลต่างๆ จะมีนักกำหนดอาหารประจำอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และก็ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาการกาหนดอาหารเปน็สาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๖๓  (https://bit.ly/35TQ7MK) ซึ่งก็เป็นผลดีฝ่ายเดียวกับคนไข้ แต่ก็อาจเป็นเสียกับผู้ที่ทำอยู่เดิม อาจจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ 

มาถึงทัศนมาตรศาตร์ ปัจจุบันก็มีความพยายามมาประมาณ 20 ปีในการยกทัศนมาตรขึ้นเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ เพื่อช่วยให้การดูแลผู้มีปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นนั้นได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่า ตัวบทนิยามทัศนมาตรนั้น ก็จะไปส่งผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสายตาเดิม ตัวอย่างเช่น ช่างแว่นตา พยาบาลเวชทางตา หรืออื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ดังนั้นกฎหมายที่ดีควรจะเป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ และ เลี่ยงการริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 

 

และผมมองว่า ร่างกฎหมายข้างต้นนั้น ดีเยี่ยมต่อการทำงานในระดับวิชาชีพทัศนมาตรและการพัฒนาวิชาชีพ ไม่มีข้อเสียใดๆต่อสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์เลย และยังไม่ได้ไปริดรอนหรือก้าวล่วงวิชาชีพหรืออาชีพอื่นที่ทำมาก่อน จึงไม่ควรมีใครที่จะเสียประโยชน์กับร่างกฎหมายข้างต้นนี้ และประโยชน์สูงสุดคือผู้ที่มีปัญหาด้านสายตาและระบบการมองเห็นนั้น มีโอกาสเข้ารับบริการกับผู้ให้บริการด้วยเสรีภาพอย่างเต็มที่ 

 

ผมจึงมองว่า ถ้ากฎหมายจะเกิด ก็จะต้องเกิดตามเนื้อหาของกฎหมายที่ได้ยกมาข้างต้นครบถ้วนทุกคำในข้อความเบื้องต้น จึงควรจะเป็นกฎหมายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ขอสมาชิกทุกท่านติดตามการรายงานร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีการหมกเม็ดหรือลักหลับ   เพราะกฎหมายจะส่งผลกระทบต่อคนในวิชาชีพและคนที่เกี่ยวข้องทันที  

 

จึงเรียนมาเพื่อทราบและทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง 

ด้วยความเคารพ

ทม.สมยศ​ เพ็งทวี O.D.