Loft Optometry News

Topic : COVID-19  สอนอะไรเรา

By : Dr.Loft , 28 April 2020

 

นำเรื่อง 

 

ช่วงนี้เรียกได้ว่า “สาหัส” กันในทุกหย่อมหญ้ากับฤทธิ์เดชของเจ้า COVID-19 ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็ทำให้โลกใบใหญ่ที่หมุนเร็วด้วยความเร็วแสงและไม่มีใครเคยคิดว่าใครจะมาทำให้มันชะลอและมันหมุนช้าลงได้หรือถ้าจะมีก็คงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากๆ ถึงจะหยุดมันได้ ซึ่งก็คงมีแต่ทีม Aventure เท่านั้นที่ดูพอจะทำได้ในหนัง Hollywood

 

แต่ใครจะไปรู้ว่า COVID ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่งเกือบทั้งหมดในทุกมิติ โดยเฉพาะกับเรื่องเศรษฐกิจแล้วเรียกได้ว่า “สะบักสะบอม” ทั่วโลกกันเลยทีเดียว หรือใครจะไปคิดว่าตลาดน้ำมันล่วงหน้าสหรัฐนั้นซื้อขายติดลบกันเลยทีเดียว ประหนึ่งว่า "ช่วยไปเอาน้ำมันของฉันหน่อยเดี๋ยวฉันแถมเงินให้ด้วย" ยกเว้นธุรกิจเกี่ยวกับแอลกอฮอล์เช็ดแผล ธุรกิจหน้ากากอนามัยและธุรกิจ ซึ่งราคาพุ่ง 300-400% แต่ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ   และ Grab ทั้งหลายนั้นเรียกได้ว่า ได้อานิสงค์กันเต็มๆในช่วงเวลาที่คนออกนอกบ้านไม่ได้ และเราก็ได้เห็นความโกลาหลของมนุษย์ที่ได้แสดงธาตุต่างๆออกมาเพื่อ survival ทั้งกุศลและอกุศลก็มีให้เห็นครบ มีคนออกมาช่วยเหลือกันในขณะเดียวกันก็มีคนออกมาซ้ำเติมโกงกัน   ไปจนถึงเห็นสัจธรรม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างหนึ่งว่า มนุษย์ก็มีเท่านี้เอง จะยิ่งใหญ่ ยากดีมีจน อย่างไรก็ตามแต่  พอตายกลายเป็นซากที่คนเป็นรังเกียจ ทิ้งไว้ข้างถนนทำเป็นศพไร้ญาติ รอให้คนมาเก็บไร้คนเหลียวแลอย่างที่เกิดขึ้นใน "ประเทศเอกวาดอร์" นำไปสู่การเริ่มเข้าใจสิ่งที่พุทธเจ้าท่านพยายามจะบอกว่า "การเกิดเป็นทุกข์  การเจ็บเป็นทุกข์  การตายเป็นทุกข์" มันเป็นเช่นนี้นี่เอง   ขนาดเราผู้เกิดแล้วแต่ยังไม่เจ็บ  ยังไม่ตาย ก็ยังทุกข์โดยอ้อมจากคนที่เจ็บและตายด้วยโควิทได้มากถึงเพียงนี้ 

 

แต่ที่ผมจะคุยในวันนี้ คงไม่พูดเกี่ยวกับเรื่องของโรค หรือ การดูแลรักษาตัวให้พ้นโรค เพราะผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เรียกได้ว่าไม่มีความรู้เลยน่าจะถูกต้องกว่าและก็เชื่อได้ว่า ข้อมูลที่ดีๆและถูกต้องนั้น ท่านทั้งหลายก็คงหาได้ไม่ยากในยุคนี้  

 

เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงนั้นอยู่อีกไกลแค่ไหน  จบลงอย่างไรหรือนานแค่ไหนและจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้างหลัง covid ผ่านพ้นไปก็คงต้องรอวันนั้นมาถึงแล้วเล่นไปตามเกมส์ ซึ่งก็คงจะคาดเดาได้ยากทีเดียว ก็มีนักวิเคราะห์ทั้งหลายก็ได้ออกมาว่า โลกเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

 

โควิทกับธรรมชาติ

 

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ  “แม้ว่าโลกเศรษฐกิจจะดูไม่สวยงามในช่วงนี้ แต่โลกธรรมชาตินั้นเรียกได้ว่าสวยขึ้นเยอะ”  อย่างที่เราได้เห็นข่าวว่า คนอินเดียสามารถมองเห็นยอดเขาเอเวอร์เรสได้จากระยะไกลมากถึง 200 กิโลเมตร เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี  หรือฝูงปลาโลมามาแหวกว่ายในทะเลเวนิส เพราะไม่มีเรื่องพานักท่องเที่ยงที่พ่นมลภาวะให้กับแม่น้ำ  แม้น้ำคงคงที่เหลืองขุ่นคราค่ำไปด้วยผู้คนก็กลับมาใสสะอาดด้วยเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังอินเดียประกาศปิดเมือง และแน่นอนว่า ในช่วงเวลาที่มนุษย์กำลังตกทุกข์ได้ยาก ก็คงยากเช่นกันที่จะมีอารมย์สุนทรียะกับธรรมชาติที่งดงาม  เหมือนคนหิวกำลังนั่งฟังธรรม ไม่ว่าธรรมจะดีแค่ไหน ถ้าท้องร้องด้วยความหิวโหยจนหูดับนั้น ก็คงเป็นเรื่องยากที่ธรรมะจะเข้าสู่จิตใจ ดังนั้นใครก็ตาม ถ้าเข้าข้างธรรมชาติมากกว่ามนุษย์ช่วงนี้บน social คงต้องมีทัวร์ลงเพจกันบ้าง  ซึ่งก็คงเป็นเรื่องปกติธรรมดาๆ เช่นกัน 

 

ดังนั้น covid เป็นทั้งผู้ร้ายและพระเอกในคนเดียวกัน อยู่ที่ว่าจะเลือกอยู่ฝั่งไหน  คล้ายกับ “ธานอส” ในเรื่อง “อเวนเจอร์”  ที่ต้องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของจักรวาลให้ดำรงอยู่ด้วยการลดจำนวนประชากรของจักรวาลไปครึ่งหนึ่งจากการสะสมมณีทั้ง 5 แล้วดีดนิ้ว  ซึ่งเราก็คงจะคิดว่ามันเลวร้ายมากถ้ามองในมุมของมนุษย์โลกผู้สูญเสีย แต่มันก็เป็นเรื่องที่ดีเยี่ยมในมุมมองของสัตว์ป่าและธรรมชาติ ก็อยู่ที่ใครจะมองที่มุมไหน แต่จะดีกว่าถ้าธานอสเลือกให้ตนเองสลายตายไปด้วย  แต่ที่แน่ๆ หลังโควิทเชื่อได้ว่า โลกจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมากแน่นอน ซึ่งเชื่อว่าทุกท่านก็คงจะคิดเหมือนกัน  แต่จะเป็นอะไรนั้นคงไม่มีใครทราบได้  ก็คงต้องรอดูและเตรียมตัว 

 

โควิทกับตะวันตก

มาวันนี้ เราคงเริ่มสงสัยว่า “เกิดอะไรกับชาติที่เจริญแล้วอย่างชาติตะวันตก” ที่เราเคยยกให้เขาคือชนชาติที่ดูดีกว่าเรา เคยรู้สึกว่าเขาเพรียบพร้อมกว่าเรา  เคยคิดว่าเขาฉลาดกว่าเรามีวิทยาการมากกว่าเรา  แต่พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น  เขากลับดูคล้ายเด็กน้อยที่ไม่รู้จะจัดการกับปัญหาอย่างไร  เพราะถ้ามองไปที่บ้านพี่แซมแล้วไปกันใหญ่  ประเทศต้นแบบและผู้นำประชาธิปไตย มีคนถือปืน ถืออาวุธสงครามออกมาเดินถนน "my body ,my choice" ประท้วงที่รัฐจำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่ในบ้าน  และประธานาธิบดีก็ทำท่าจะไม่สนใจเจ้าโรคนี้ ห่วงแต่เศรษฐกิจระบบทุนจะล่มสลาย จ้องจะเปิดประเทศโดยไม่สนใจสุขภาพของประชาชน เพราะดูเหมือนจะต้องเลือกว่า "จะตายด้วยโรคโควิท" หรือ "จะตายด้วยโรคหิว" พอเลือกไม่ได้ก็โวกวากโวยวาย โทษนุ่นนี่นั่นให้รอบไปหมด   ซึ่งถ้ามองในมุมของผมที่ไม่รู้เรื่องการเมืองเลยก็เรียกได้ว่า “ไม่ค่อยดีเท่าไหร่” แต่ก็ได้แต่เห็นใจเพราะไม่รู้จะช่วยได้อย่างไรหรือถ้าเรายกภาระนี้ให้เรื่องของ "กรรม" ก็ดูจะ make sense อยู่เหมือนกัน 

 

โควิทในไทย

สำหรับในประเทศไทยนั้น ต้องถือว่าเรานั้นโชคดีที่ได้เกิดในผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็ขึ้นทั้งพืช ผัก ผลไม้ และเลี้ยงอะไรก็ได้กินเนื้อนมไข่ ไม่อดไม่อยาก ลำบากหน่อยแค่ไม่ค่อยมีตังค์ให้ใช้ฟุ่มเฟือย  ไม่มีร้านเหล้าให้นั่งสรวลเสเฮฮา ไม่มีผับบาร์ให้เต้นตื๊ดๆ แต่ก็ล้นไปด้วยของกินจาก grab food  ,food panda และ line man  สุดบันเทิงสำหรับการกิน  ทีวีก็มีซีรี่ส์จาก Netflix ให้ดูกันจนตาแฉะ และที่สำคัญมีน้ำใจคนคนไทยอยู่ล้นหลามที่ออกมาช่วยคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากให้พออยู่ได้และผ่านวิกฤิตช่วงนี้ไปก่อน ฟังๆดูๆแล้ว ที่ไหนจะสุขเท่าเมืองไทย 

 

โควิทกับสาธารณสุขในไทย

การแพทย์ในไทยนั้น ต้องเรียกได้ว่า “ดีเยี่ยม” ทั้งการแพทย์สาธารณสุขเชิงรุกจาก อสม. ที่ออกให้ความรู้ประชาชน ในการทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มเติม และการแพทย์เชิงรับหลังจากที่มีผู้ป่วยติดเชื้อแล้วก็ทำได้ดีเยี่ยม เครื่องไม้เครื่องมือยังคงพอใช้อยู่เนื่องจากเราคุมคนเป็นใหม่ให้น้อยได้อยู่ เรียกได้ว่า ทั้งโลกต้องหันมาดูระบบสาธารณสุขในเมืองไทยว่าเราทำกันอย่างไร ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับนักรบเสื้อกาวน์ทุกท่านด้วยจิตน้อมคารวะในความเสียสละของท่านทั้งหลาย

cr.www.newsplus.co.th

 

 โควิทในไทยเดินต่ออย่างไรหลังโควิท19 

การเดินทางของชีวิตนั้น มีเรื่องที่ต้องกินต้องใช้ เพื่อยังอัตภาพให้ดำเนินไป จนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตนั่นคือการสิ้นลมหายใจ  อย่างไรเสียวันหนึ่งทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่ระหว่างนี้จะอยู่อย่างไรหลังโควิท 19

 

เรื่องนี้ก็คงตอบได้ 2 อย่างคือ "อยู่เหมือนเดิมรอเกิดเรื่องใหม่แล้วก็ค่อยมาแก้กันใหม่"  หรือว่า "อยู่กับแนวความคิดใหม่ที่อาจจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมถ้าหากว่าเกิดเรื่องวิกฤติโลกเกิดขึ้นอีกรอบ" แต่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เก่ง ดังนั้น เวลาจะให้คำตอบเองว่ามนุษย์ควรจะทำตัวอย่างไร แต่ก็จะดีกว่า ถ้ามีการเตรียมการที่ดี ความทุกข์จากวิกฤิตก็คงจะน้อยหน่อย 

 

 ทุนนิยม (materialism economy) 

 

ระบบเดิมที่ว่าก็คือ “ระบบทุนนิยม” ซึ่งเป็นระบบที่ผูกมัดโลกนี้ให้อยู่ในเรือลำเดียวกัน ผู้คนที่อยู่ในเรือนี้ให้คุณค่าและความสำคัญกับวัตถุสิ่งของ อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากครอบครอง วัตถุ สิ่งของ และทรัพยากร ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  จนมีภาษิตว่า "มีเงินเขานับเป็นน้อง มีทองเขานับเป็นพี่" สุข/ทุกข์ วัดกันที่รวย/จน หรือ "ของมันต้องมี"  จนบางทีก็ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ฆ่าแกงกัน เพื่อให้ได้วัตถุมาครอบครอง ใครได้ครอบครองมากก็จะมีหน้ามีตาในสังคม ใครไม่มีก็ต้องหาให้มี กู้หนี้ยืมสิน ในระบบนอกระบบก็ได้  ขอให้มีอย่างเขา  แม้คนบนเรือจะไม่ชอบขี้หน้ากันบ้าง เป็นคู่แข่งกันบ้าง แต่ก็ต้องทนกันเพราะระบบมันผูกให้ต้องพึ่งพากัน เชื่อมโยงกัน ไม่สามารถอยู่ได้อย่างอิสระต่อกัน พึ่งพาตนเองไม่ได้

 

พอ “เรือแตก” ระบบก็ล่ม เกิดความติดขัด สับสน  ทำงานสอดประสานกันต่อไปไม่ได้ เหมือนเฟืองในเครื่องยนต์ที่มันติดขัด ทำให้ระบบทั้งระบบหยุดชะงักทำงานต่อไปไม่ได้  จากนั้นก็ตามมาด้วยเสียง กรีดร้อง โวกวาก โวยวาย ทุกข์ระทม  ร้องขอความช่วยเหลือ เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เดือดร้อนกันไปทั่วโลก

 

www.nickycullen.com

ดังนั้น ระบบนี้เป็นระบบที่ไม่ต้องการให้ใครพึ่งตนเองได้  ทุกคนในแต่ละภาคส่วน จากเล็กสุดไปใหญ่สุด ต้องพึ่งพาระบบเดียวกัน เพื่อหวังผลในการแย่งชิงทรัพยากรให้ได้มากที่สุดตามกำลังของตนจากเล็กสุดไปใหญ่สุด  ซึ่งการได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับกำลังกาย กำลังสมอง และเครื่องมือของแต่ละคนในการช่วงชิง   ซึ่งก็ดูว่าแฟร์ดี (มั้ง) ถ้ามองในคนได้  แต่ก็ไม่แฟร์เท่าไหร่ถ้ามองในคนที่ถูกเอาเปรียบ แต่กระนั่นก็เถอะระบบมันก็เป็นอย่างนี้และระบบนี้มีความเปราะบางมากหากมีปัจจัยมากระทบ ดังจะเห็นว่า เพียงไวรัสตัวเล็กๆนั้นใช้เวลาทำลายระบบนี้ที่สร้างมาหลายร้อยปีให้หยุดชะงักได้ในไม่กี่วัน 

 

กระนั้นก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่โลกมันวิ่งเร็วขนาดนี้ก็มีแรงผลักดันจากความอยากมีอยากเป็นนี่แหล่ะ ภาษาพระเรียกว่า "กิเลสตัณหา" คือความอยาก  มีคนอยากได้ ก็มีคนหามาให้หรืออยากสร้างมาให้  มีคนอยากมากก็มีคนหาให้มากสร้างให้มาก  แล้วไปหามากๆจากไหน ก็จากทรัพยากรที่มีนั่นหล่ะ  ทรัพยากรก็เลยหดลงอย่างรวดเร็ว  เพื่อเปลี่ยนมาสนองความอยากของคน  เพื่อให้คนมีความสุขกับสิ่งของที่ได้  แล้วก็ทุกข์ระทมกับมลภาวะของน้ำและอากาศรวมทั้งอาหาร  ก็เป็นเช่นนี้แล เรียกว่า "ได้อย่าง...เสียอย่าง" 

 

 

 ระบบเศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economic) 

 

ระบบหลังนี้ เป็นระบบที่พ่อหลวง ร.9 ได้ให้เป็นมรกดกที่ล้ำค้าที่สุดให้กับคนไทยไว้ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต เรียกได้ว่าเป็น “ปรัชญาในการใช้ชีวิต” ซึ่งมีแก่นของเนื้อหาคือ “การพึ่งพาตนเอง”  "พอเพียง " และ “ความยั่งยืน” เป็นไปเพื่อความสุข  ซึ่ง 2 คำแรก เป็นคำที่ระบบทุนนิยมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะถ้าทุกคนพึ่งพาตนเอง ไม่พึ่งระบบแล้ว ไม่ได้รู้สึกว่าการมีให้มากเป็นเรื่องสำคัญ  ทุนนิยมก็คงจะเดินต่อไปได้ยาก  เพราะถ้าทุกคนพึ่งพาตนเองได้  พอใจและมีความสุขในสิ่งที่มีที่เป็น  และทำอะไรก็มีความยั่งยืนมั่นคง ไม่เปราะบางจากสิ่งภายนอก อย่างนี้ก็คงไม่ค่อยดีกับเศรษฐกิจของระบบทุนสักเท่าไหร่ แม้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้คนจะมีความสุขก็ตาม 

 

ดังนั้นคนที่เชื่อในระบบทุน จะต่อต้านระบบพอเพียงทุกรูปแบบ หนักขนาดที่ไปหาว่า เศรษฐกิจพอเพียงต้องไปเป็นระบบที่ต้องไปปลูกผักกินเอง เป็นคนป่า คนเขา  ไปกันใหญ่  และ เราก็เห็นได้ชัดเจนว่าคนระบบทุนนิยมต่อต้านเรื่องนี้ว่าอย่างไรจาก คำของอดีตนักการเมืองคนหนึ่งว่า "เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียงวาทกรรมหนึ่งก็เท่านั้นเอง" และก็มีคนเชื่อและเฮโลตาม  ผมก็งึด..ขนาด แต่เอาจริงๆ แม้จะเป็นอย่างนั้นจริงผมก็ชอบนะ ก็ดูเขามีความสุขดี เขามีน้อย แต่ก็ดูกินดีมีสุขดี อาหารดี ปลอดสารพิษ แล้วไม่ดีตรงไหน  แต่ที่จริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกสาขาอาชีพ

 

 

“ปรัชญาในการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง” พระองค์ทรงดำเนินเป็นแบบอย่าง prove แล้ว prove อีกว่า way นี้มัน work  นั่นคือ way of sufficiency economy หรือ เส้นทางแห่งความพอเพียง พอมี พอกิน สู่ความยั่งยืน จบที่ความสุข

 

“ความพอเพียง” ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ  คนบางคนไม่สนใจ  บางคนตีความว่าต้องอยู่อย่างยากจนแร้นแค้น บางคนก็ตีความว่าขี้เกียจ  ไม่อยากมั่งอยากมี ไม่อยากร่ำอยากรวย ว่าไปนั่น ซึ่งผิดไปไกลจากความตั้งใจมาก เพราะเนื้อแท้นั้น คือ “ทำอย่างไรให้เราแต่ละปัจเจกชนนั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้เต็มที่ตามกำลังที่มีและเกิดความยั่งยืน” โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบภายนอกมากเกินไป

 

ถ้าการเป็น Materialism คือการพยายามมีให้มาก สะสมให้มาก เพื่อจะสุขมิใช่รือ  แต่ถ้ามีทางที่จะสุขได้โดยที่ไม่ต้องมีให้มากจนเฟ้อ อิ่มจนล้น ไม่ต้องเหนื่อยเกินไป มีแบบพอมีพอกินพอใช้ ได้ใช้ชีวิต แล้วก็ได้ความสุขเหมือนกัน  ง่ายและยั่งยืนกว่า ไม่ดีกว่าดอกหรือ และทุกอาชีพ ทุกวิชาชีพ สามารถดำเนินอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนี้และมีความสุขได้ 

 

ซึ่งวันนี้ผมจะขอพูดแคบลงมาในวิชาชีพที่ผมทำอยู่นั่นก็คือ “ทัศนมาตรศาสตร์” ซึ่งแต่เริ่มต้นทำ loft optometry ขึ้นมานั้น ผมยึดหลักปรัชญาของพ่อหลวงตั้งแต่ต้น ด้วยการทำอย่างไรจึงจะพึ่งตนเองมากที่สุด พึ่งพาคนอื่นน้อยที่สุด และทำธุรกิจให้มัน “ขึ้นอยู่กับ....” ให้น้อยที่สุด

 

 

“ขึ้นอยู่กับ....” ให้น้อยที่สุด

 

ธุรกิจที่ทำด้วยการ “ ขึ้นอยู่กับ....” นั้นมีความเสี่ยงด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว  เช่นถ้าเราจะเปิดร้านอาหาร แต่ทำอาหารไม่เป็น ต้องไปจ้างเชฟ 5 ดาว ค่าตัวแพงมาจากโรงแรมชั้นเลิศมาเป็นกุ๊กให้เราและเราก็ขายดี เพราะรสชาติดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับ “เชฟ 5 ดาวนั้น”  ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร ตราบที่ระบบการพึ่งพายังคงอยู่  แต่ถ้าเกิดเชฟเกิดลาออก ก็จะกระทบเราทันที ยิ่งถ้าเราหาเชฟใหม่แต่มือไม่ถึงจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกค้ารู้สึกว่ารสชาติไม่เหมือนเดิม ถ้าดีกว่าก็แล้วไป แต่ถ้าแย่กว่าก็เตรียมม้วนเสื่อ เป็นต้น

 

แต่ระบบทุน จะไม่ได้สนใจอะไรขนาดนั้น สนใจกราฟท์ตขึ้นลงเท่านั้น  เช่นคนที่ทำร้านอาหารนั้นๆ อาจไม่ได้ชอบทำหรือทานอาหารของตัวเอง เพียงแต่เห็นโอกาสจากการสร้างเงินจากอาหารนั้นๆเท่านั้น  แล้วก็ไปหาเชฟที่ทำอาหารนั้นได้ แล้วลงทุนทำร้านอาหารนั้น โดยดึงเชฟคนนั้น ทำเงินมาให้ตน ซึ่งก็ถูกต้อง แต่จะยั่งยืนหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะร้านจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเชฟ และเชฟก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่เคยคิดจะทำร้านด้วยตัวเอง หรือ  คนเจ้าของร้านแว่นอาจจะไม่ได้รักในการตรวจสายตา วิเคราะห์ปัญหาของระบบการมองเห็น หรือการประกอบแว่นเลยก็ได้ เพียงแต่เห็นโอกาสร่ำรวยจากการขายแว่น  ก็เลยคิดแบบนักลงทุน  หาคนมาทำให้  ทำดีก็ดีไป ทำไม่ดีก็ไม่สนใจ  ใส่ไม่ได้ก็เคลม  มาบ่อยๆ เดี๋ยวเขาก็เลิกมาเองก็ไม่เป็นไรเพราะเดี๋ยวคนใหม่ก็เวียนมา  ก็ไม่รู้จะหาความยั่งยืนจากอะไรเนื่องจากความเป็นไปของธุรกิจขึ้นอยู่กับคนอื่นทั้งหมดเลย  เว้นแต่ว่า สามารถสร้าง system เข้ามาทำให้มาตรฐานในการทำงานคงที่ เหมือนกันโรงพยาบาลเอกชนดังๆ ที่ขึ้นอยู่กับหมอเก่งๆ เครื่องมือดีๆ  แต่ก็อย่างที่ว่า system ต้องแน่น และทำด้วยความรักว่าอยากจะให้คนไข้ได้รับบริการที่ดีที่สุด  ไม่ใช่อยากได้เงินมากที่สุด  แต่ท้ายที่สุดแล้ว เงินมันก็มาจากงานอยู่ดี 

 

ดังนั้นระบบทุนก็พึ่งพากันไปมาแบบนี้ ระบบทุนจึงมีความสุขตอนหุ้นขึ้นและทุกข์ตอนหุ้นลง  ชีวิตก็จะ swing ขึ้นๆลงๆ เช่นนี้ เพราะมัน sensitive ขนาดที่ว่า คนหนึ่งพูดอะไรมาอย่างหนึ่ง สามารถทำให้ หุ้นขึ้น หรือ ทิ้งดิ่ง ได้เลย 

 

"ทำไมต้อง...พอเพียง"

 

ความพอเพียงนั้นนำไปสู่ “ความสุข”  สุขในทุกเรื่องทั้งสุขกายและสุขใจ สะบายกระเป๋า  ก็ที่ทนตรากตรำทำงานกันอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เพื่อสุขดอกหรือ แล้วเส้นทางนี้เป็นเส้นทางแห่งความสุขใยไมยักจะเดินมา  แล้วไยยังเดินอยู่เส้นทางทุนนิยมที่ทุกข์จากการยื้อแย่ง  ชิงดีชิงเด่น ทำเรื่องไม่ดีสารพัดเพื่อให้มา  ทำไม่ดีจนชิน แยกแยะไม่ออกว่าอย่างไหนเรียกว่าดี อย่างไหนเรียกว่าเลว สามารถทำทุกอย่างให้พังพินาศเพื่อให้ตัวเองได้เงินมา  พอได้มาแล้วคิดว่ามีมากจะสุขมากแต่กลับตรงกันข้ามยิ่งใหญ่มากกลับยิ่งทุกข์มาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ว่ามีคนโก่งราคาไข่ โก่งราคาแอลกอฮอล์ โก่งราคาหน้ากากอนามัย ทุจริตคอรัปชั่น ก็มีให้เห็นมากมาย ก็มีพื้นฐานมาจากอยากมีอยากเป็นอยากครอบครอง

 

สรุปว่า “เราเดินบนเส้นทางพอเพียงเพื่อความสุข”

 

 

“พอเพียง” คืออะไร

 

“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในทัศนของผมนั้นมี keyword ที่สำคัญในหลักนี้อยู่ 3 เรื่อง  อย่างแรกคือเรื่อง “พอดี” “พึ่งพาตนเอง” และ  “ความยั่งยืน” ซึ่งฟังง่าย แต่เชื่อไหมว่า ส่วนใหญ่เรามักเดินทางชีวิตตรงข้ามกับหลักปรัชญาพอเพียง โดยมักทำอะไรที่เกินพอดี  ไม่ค่อยพึ่งพาตนเอง และ ไม่ค่อยนึกถึงความยั่งยืน  ซึ่งผมจะลองขยายความให้ได้ฟังกัน ในมุมมองของผม 

 

ร้านแว่นตาไม่ว่าจะโดยช่างแว่นตาหรือทัศนมาตรในประเทศของเราเดินตรงข้ามเกือบทั้งหมด  ผมพูดจริงหรือเปล่ามาดูกัน เรามาเริ่มจากผลของการพอเพียง “คือความยั่งยืน” ก่อน แล้วค่อยไปดูต่อว่า จะพอเพียงได้อย่างไร

 

ดังนั้น "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในวงการแว่นตาที่มีทั้ง อาชีพช่างแว่นตาและวิชาชีพทัศนมาตร อาศัยอยู่ร่วมกัน แล้วเราจะสามารถประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับเราได้อย่างไร เพื่อเราจะได้ทำงานอย่างมีความสุข และมีความยั่งยืนในอาชีพและวิชาชีพ 

 

เนื้อหาที่จะพูดถึงต่อไปนี้ อาจจะมีความหนักหน่วง ดุดันสักหน่อย เพราะเป็นเรื่องจริงที่เรารับกันไม่ค่อยจะได้  แต่ผมก็พยายามเลือกเลี่ยง ขัดเกลา ให้เป็นภาษาที่เบาที่สุดแล้ว ก็ทำได้เท่านี้  ก็อยากให้อ่านด้วยจิตว่าง  คือไม่มีอคิตอยู่ในความคิด  ทิ้งความชอบหรือไม่ชอบผมทิ้งไปก่อน แล้วลองอ่านดู  ท้ายที่สุดแล้ว จะคิดวิเคราะห์อย่างไรก็แล้วแต่ท่าน  แต่อยากให้เข้าใจเจตนารมย์ของผมก็คือ เพื่อประโยชน์สุขโดยรวมทั้งหมด ทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และประเทศไทย  และอยากให้วิชาชีพของเรานั้นเกิดความยั่งยืนตลอดไป 

 

“ความยั่งยืน”

 

“ยั่งยืน” ความยั่งยืนนั้นคือผลที่เกิดจาก “การพอดี” และ “การพึ่งพาตนเองได้” แต่สิ่งที่เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกนี้ กลับไม่สนใจในเรื่อง “ความไม่ยั่งยืน” กันสักเท่าไหร่  หรือถ้าจะให้ยกตัวอย่างให้แคบลงมาในเรื่องของธุรกิจอาชีพของผมคือแว่นตา เราจะเห็นได้ชัดว่ามีร้านแว่นตาเกิดใหม่มากมายและดับลงไปมากมายในระยะเวลาอันสั้นและที่อยู่ๆกันอยู่นี้ก็อยู่อย่างทุกข์ระทมทั้งร้านเล็กร้านใหญ่มีปัญหากันมากมายและก็แสดงความทุกข์นั้นผ่านโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม โดยเชื่อว่า โปรโมชั่นเหล่านี้ จะนำมาซึ่งความสุขและเป็นทางให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้ โดยอาศัยคนอยากได้โปรโมชั่น มาช่วยซื้อของ เพื่อนำเงินไปซื้อ material เพื่อจะได้มีความสุข 

 

แต่ทุกสิ่งที่ทำลงไปเพื่อให้สุขกลับยิ่งสร้างความทุกข์ใจหนักยิ่งขึ้น เมื่อการลด 80-97.73% แล้วมันก็ยังไม่ work และไม่สามารถทำให้คนอยากจะได้อยู่ดี  ขนาดลดราคาแว่นเหลือกรอบพร้อมเลนส์เหลือ 299 แล้วก็ยังไม่มีใครอยากได้ และ ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามัน prove ได้ชัดเจนจนไม่รู้จะชัดยังไงแล้ว way นี้มันไม่ใช่ แต่ด้วยอวิชชาเห็นเขาทำแล้วมันไม่ work แต่ก็ทำอยู่นั่นแหล่ะ พอทนไม่ไหว ก็เลิกรากันไป บางคนมีที่ไปก็ไปทำอย่างอื่น บางคนไม่มีที่ไปก็ทนอยู่ต่อไปดีกว่าไม่มีอะไรทำ  บางคนสายป่านยาวก็ดึงให้มันไหลออกไปเรื่อยๆ  นี่ร้านแว่นตานะครับไม่ใช่ startup ที่จะละลายทุนเข้าไปแล้วกะจะขายโมเดลธุรกิจต่อ

 

เท่าที่ผมสังเกตดู เกือบทุกร้านแว่นตาเปิดใหม่  ออกตัวด้วยการ “ฉลองเปิดร้านใหม่ลดสูงสุด 70%” เกือบทั้งสิ้น  สิ่งที่สะท้อนออกมาจาก wording นี้คืออะไร  มันแสดงถึงการที่คุณเป็นดีมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ อยากให้เพื่อนมนุษย์ได้สินค้าดีๆราคาถูกๆ อย่างนั้นจริงๆหรือเปล่า  มันแสดงถึงการคืนกำไรให้กับลูกค้าตั้งแต่คุณยังไม่มีลูกค้าและยังไม่คืนทุนอย่างนั้นจริงๆหรือเปล่า  มันแสดงถึงความมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างนั้นจริงๆหรือเปล่า แต่เคยถามจริงๆไหมว่า ผู้บริโภคเขามอง wording นี้ว่าอะไร

 

เขามองว่า คุณเป็นคนไม่มีของ  เขามองว่าคุณมันของทั่วไป  เขามองว่าคุณก็ไม่ได้แตกต่างอะไรและเลวร้ายที่สุดคือ เขามองว่าคุณกำลัง cheating เขาอยู่  และส่วนใหญ่ก็คิดอย่างหลังนี่แหล่ะ เพราะเรื่องจริงมันก็เป็นอย่างนั้น  เรานึกถึงร้านใหญ่ในห้าง ค่าที่เดือนละ 2-400,000 บาท พนักงาน 5 คนเงินเดือนรวม 100,000 บาท ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ค่าต้นทุนสินค้า ค่าเสื่อมราคา ค่าดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือ และปัจจุบันก็ยังไม่คืนทุน อาศัยเงินหมุนอยู่ แล้วประกาศว่าฉันอยากจะคืนกำไรให้เธอด้วยการลด 80-90% แล้วคิดว่าคนที่เห็นเขาจะคิดอย่างไร  หลายคนตอบ “ไม่คิดอะไร” ใช่ครับ คนไม่ได้คิดอะไร เพราะเห็นจนชิน ร้านแว่นตามันก็ลดกันอย่างนี้แหล่ ลดทั้งปี ไม่มีเทศกาล  มันก็ทำเป็นถึงสิ้นเดือนนี้เท่านั้น  เล่นเหมือน shoppee 11.11 /12.12 /1.1 หรือไม่ก็ black friday  วันพ่อ วันแม่ วันเด็ก วันครู วันเปิดเทอม ปิดเทอม มันก็ลดทุกวันนั่นแหล่ะ ดังนั้น เขาเชื่อว่าวงการนี้มัน mark up เยอะ ต้องต่อราคาเยอะๆ  ถูกแล้วก็ยังสามารถถูกได้อีก ต่อกันให้หนักๆ จนทำให้คนที่ทำอะไรอย่างตรงไปตรงมาทำงานลำบาก  จริงไหม ถามใจตัวเองดู  เราอยู่บนเส้นทางที่ผิดจนชิน จนคิดว่าเส้นทางที่ผิดนี้เป็นเส้นที่ถูกต้องแล้ว สุดท้ายก็หลงทาง และบางทีก็มาไกลจนกลับไม่ทัน ชื่อเสียไปเรียบร้อยแล้ว

 

"แล้วจะให้ทำยังไงก็เศรษฐกิจไม่ดี"

 

จริงๆเรื่องโปรโมชั่นแว่นตาลดราคา เราทำกันในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ไม่เกี่ยวว่าเศรษฐกิจมันจะดีหรือไม่ดี แต่เราก็ทำ เพราะเนื้อแท้จริงๆแล้ว เรารู้สึกว่าเราไม่ได้มีอะไรที่ดีหรือโดดเด่นกว่าคนอื่น หรือใครๆก็ทำได้เหมือนที่เราทำ ดังนั้นเราก็เลยมุ่งแข่งกันที่ราคาว่าใครจะทำได้ถูกกว่า  คำว่าถูกกว่านั้นก็เลยนำไปสู่ต้นทุนที่ต่ำกว่า มาตรฐานที่ต่ำกว่า ด้วยการลดคุณภาพทั้งทั้งสินค้าและบริการ  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ร้านใหญ่ในห้างดูใหญ่โต แต่มีพื้นที่ในห้องตรวจใหญ่พอๆกับห้องน้ำที่บ้านตัวเองเท่านั้นและอย่าว่าแต่เราคิดว่าเราไม่มีอะไรดีเลย  end user ก็คิดเหมือนกัน เขาก็เลยไปกดดันราคาคุณ เพราะเขารู้สึกอย่างนั้นว่าคุณมันไม่ต่างจริงๆ

 

แต่นักลงทุนที่ไม่เข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียง และยังคงเชื่อในระบบทุนนิยม ว่ายังไงก็ยังเช่ือว่า โปรโมชั่นมันยังใช้งานได้อยู่ แล้วก็บี้ยอด บี้พนักงาน กดดันพนักงาน กระฟัดกระเฟียด จมอยู่ในกองทุกข์แต่ไม่เคยรู้ว่านั่นคือทุกข์  “เหมือนหนอนจมอยู่ในกองขี้แต่ไม่รู้ว่านั่นคือขี้”  ฉันใดฉันนั้น

 

ดังนั้นเราจะสังเหตุเห็นได้ว่า ธุรกิจที่ให้บริการด้านสายตา แว่นตา ไม่ว่าจะทำโดยช่างแว่นตาหรือโดยทัศนมาตร ก็ยังคงใช้โมเดลเดียวกัน  โดยมีพื้นฐานมาจากความอยากได้ อยากขาย อยากมี อยากรวยๆ แล้วทำยังไงมันถึงจะรวยเร็ว ได้ขายเร็ว  นึกไม่ออกบอก “โปรโมชั่น” สุดท้ายมันก็ไม่ยั่งยืนอย่างที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น

 

มีหนึ่งตัวอย่าง ที่ผลิตภัณฑ์พังเพราะโปรโมชั่นคือ  “เลนส์เฉพาะทางที่ออกแบบมาสำหรับการขับรถโดยเฉพาะรุ่นหนึ่ง”  ซึ่งเป็นเลนส์รุ่นใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ที่ผ่านการคิดค้นว่า โครงสร้างเลนส์ชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยในการขับรถ เพิ่มความชัดของลานภาพ ลดแสงฟุ้ง แสงแตกกระจาย และมันก็ดีจริงๆด้วย ซึ่งผมเองก็ใช้อยู่ด้วย

 

บริษัทอยากให้คนได้รู้จักเลนส์ตัวนี้เร็วๆ ก็เลยหาวิธีเอา product ลงตลาดเร็วๆ ด้วยการออก campain ลดราคาเลนส์ลง 50% ด่วนถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น ทำนองนั้น

 

ปรากฎว่าขายระเบิด ยอดขายกระจาย ผมขายออกไปเยอะมาก เพราะมันคุ้มมากๆ ที่จะได้เลนส์ชนิดนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่สูงขนาดนี้ ในราคาครึ่งเดียวและทุกคนล้วนต่างก็ happy กับเลนส์รุ่นนี้และบริษัทก็เชื่อว่ามันคงจะเวิร์คจริงๆ

 

และเมื่อโปรโมชั่นสิ้นสุดลง นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้จ่ายเลนส์ชนิดนี้ออกไป  มีคนสนใจและถามแต่ว่า เมื่อไหร่บริษัทจะลดราคาอีก  และเขาจะรอจนกว่าบริษัทจะลดราคา  ในระหว่างนี้ก็จะใช้เลนส์รุ่นปกติในราคาปกติไปก่อน ถ้าไม่ลดราคาก็ไม่ซื้อ เพาะเขาเชื่อว่า ของที่มันเคยลด เดี๋ยวมันก็ลดอีก ในขณะที่บริษัทเชื่อว่า ถ้าดีแล้วใช้ติด คนคงจะกลับมาซื้อซ้ำ  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ผู้บริโภคคิดว่า สินค้าที่เคยลดราคาต้องกลับมาลดอีกแน่นอน  ถ้าจะคิดให้ง่ายที่สุดก็คือ ถ้ามี iPhone รุ่นหนึ่งเคยขายครึ่งราคาแล้ว  มั่นใจได้ว่าจะไม่สามารถกลับไปขายในราคาเดิมได้อีกต่อไป นี่คือคำตอบว่า ร้านไหนเปิดตัวร้านด้วยโปรโมชั่น จะไม่สามารถถอดการทำโปรโมชั่นออกจาก

 

เรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วและเห็นได้ชัดเจนถึง บางครั้งความไม่ยั่งยืน ไม่ใช่เพราะว่าสินค้าไม่ดี แต่วิธีการเดินทางนั้นผิดพลาด นำไปสู่สินค้าที่ดีแต่ขายไม่ออก เพราะคนรอโปรโมชั่น  แต่จะทำต่อไม่ได้เพราะขาดทุน ก็ต้องยอมให้เฉาอยู่แบบนั้น  สู้ให้มันเติบโตเป็นผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งที่ให้มีการเติบโตแบบ organic ดีกว่า แล้วยอดก็จะค่อยๆโต และผลิดอกออกผลให้เก็บกินได้ระยะนาน 

 

เบื้องต้นก็ได้เห็นแล้วว่า อะไรทำให้สินค้าหรือบริการบางอย่างเกิดความไม่ยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ  สินค้าและบริการที่ไม่ดีไม่มีความยั่งยืนติดมาในโครโมโซมอยู่แล้ว  แต่สินค้าและบริการที่ดีอาจจะไม่ยั่งยืนก็ได้ถ้าเดินในเส้นทางที่ผิด ขายดีจนเจ๊งก็มีให้เห็นมาก เช่นแบรนด์ขนส่งที่มียอดส่งถล่มทการกลับตัวเปลี่ยนเส้นทางนั้นต้องใช้แรงมาก และต้องใช้เวลามากกว่าจะสามารถเข้าสู่เส้นทางที่ถูกต้องและยั่งยืนได้ ถ้าความอดทนไม่พอก็ต้องพับเสื่อไปทำอย่างอื่น อาจจะด้วยการ re-brand หรืออะไรก็สุดแท้แต่

 

เส้นทางพอเพียงสู่ความยั่งยืนที่มั่นคง

 

ทีนี้มาดูว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร เริ่มอย่างไร ถึงจะยั่งยืน ก็คงต้องกลับไปคิดถึงสิ่งที่พ่อหลวงฝากเอาไว้คือ ให้ดำเนินชีวิต ดำเนินอาชีพ วิชาชีพ อยู่บนพื้นฐานความพอเพียง

 

พอเพียงอะไร พอเพียงยังไง

 

การที่คนเราจะพอเพียงได้นั้น มันต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้เสียก่อน อย่าไปพึ่งคนอื่นหรือสิ่งอื่นเยอะจนเกินไป ง่ายๆก็อย่าไปทำอะไรที่มันเกินกำลังมากๆ ถ้ามันเกินกำลังมาก มันก็ต้องพึ่งพาคนอื่นมาก  ถ้าสิ่งที่เราทำมัน “ขึ้นอยู่กับ...” มากๆ มันก็เหมือนธุรกิจหรือชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย ที่พร้อมจะพังได้ทุกขณะ

 

ดังนั้น key ในเรื่องนี้คือ กำลังของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน  เจ้าสัวที่ร่ำรวยมาก กำลังมาก มีคนมาก อยากทำอะไรก็ทำมากได้ แต่ผมตัวคนเดียวมีกำลังเท่านี้ มีเงินเท่านี้ มีคนทำงานอยู่เท่านี้ ผมก็ทำได้เท่านี้  ดังนั้นความพอเพียงของเจ้าสัวกับผม  ย่อมไม่เท่ากัน  เขาเรียกว่าให้รู้จักประเมินตน 

 

บางคนบอกว่า แล้วแบบนี้ก็ไม่ทะเยอทะยานสิ  หรือไม่ก็หาว่า ขี้เกียจ คนเกิดมาก็ต้องทำมากๆ ให้รวยๆๆๆๆๆๆๆ แล้วก็ รวยๆๆๆๆๆๆ จะรวยไปไหน เอาหล่ะ ใครก็อยากรวย  อยากมีอยากเป็นในสังคม ผมเองก็อยากไม่ถึงกับรวย แต่พอมีพอกินก็พอ แต่มันด้วยวิถีใหนหล่ะ  แทงหวยหรือ  ซื้อล๊อตเตอรี่หรือ หรือทำโปรโมชั่น  ซึ่งก็อาจจะรวย แต่อาจไม่นานๆ เพราะพื้นฐานมันยังไม่แน่น สุดท้ายมันก็ไม่ยั่งยืน ก็ต้องกลับมาดูว่าจะรวย จะมี จะเป็น นั้นจะทำอย่างไรให้มันยั่งยืน 

 

ถ้ากลับไปดูข้างต้นเราจะเห็นว่า เจ้าสัวนั้นความพอเพียงของเขานั้นสเกลมันใหญ่มากเพราะเขาพึ่งพาตัวเองได้มาก เขาไม่ได้พึ่งใคร เขาจะทำอะไรที่มันใหญ่โตนั่นมันก็เงินของเขา ไม่ใช่เงินใครที่ไหน  แล้วเราหล่ะ กำลังที่มีอยู่ตอนนี้ ทุนก็มีอยู่เท่านี้ จะทำยังไง

 

“พอเพียงตามกำลัง”

 

ดังนั้น keyword สำหรับเรื่องนี้ก็คือ “รู้จักประเมินกำลังของตนเอง อย่าเห็นช้างขี้แล้วขี้ตามช้าง แล้วค่อยๆทำสิ่งที่รัก ให้ดี ให้คงที่ และนานพอ แล้วความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆตามลำดับเวลา แต่นานแค่ไหนถึงจะพอ  เรื่องนี้ผมเคยคุยกับพี่ชิต (ชิตเบียร์ เกาะเกร็ด) สายคราฟท์เบียร์ไม่มีใครไม่รู้จัก brewer ระดับแนวหน้าของเมืองไทย

 

พี่ชิตบอกให้ผมฟังว่า “ถ้าเราอยากจะเป็น somebody สักอย่างหนึ่ง "10 years rule นั้นยังคงใช้งานได้เสมอ"  ทุกอย่าง ทุกอาชีพ ต้องใช้เวลา 10 ปีเป็นอย่างน้อยในการที่จะเป็น somebody สำหรับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  นักบินก็ต้องมี 10,000 ชม. เกจิครูบาร์อาจารย์​ล้วนบวชมานานกว่า 10 ปีทั้งสิ้น และชิตเบียร์เกิดอยู่ที่เกาะก็เกือบๆสิบปีแล้วเช่นกัน”  ลองไปดูเถอะร้านเล็กๆ ตั้งอยู่บนเกาะเกร็ด ที่เปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ แต่คนมาจากทุกทั่วมุมโลกต้องมากินเบียร์ต้มฝีมือคนไทยที่นี่  ผมก็ไปอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ช่วงนี้ติดโควิทก็เลยต้องห่างๆเกาะไปบ้าง

 

จะทนได้อย่างไรตั้ง 10 ปี ถึงกว่าจะได้เป็น somebody

 

“ความรัก” ในสิ่งที่ทำนั้นจะช่วยให้เราอยู่ได้นานขึ้น อดทนรอได้ เหมือนการที่เรารักใครสักคน ก็มีความอดทนมากพอในการทำดีเพื่อชนะใจ รอได้ 5-10 ปี บางคนรอมาทั้งชีวิตก็ยังก้มหน้าก้มตารอต่อไป ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ได้เป็น somebody ในใจเธอเป็นต้น

 

เพราะความรักมันจะช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจให้ชื่นบาน เพื่อทำให้ความทุกข์ที่ต้องทนนั้นได้รับการฟื้นฟูให้เร็วขึ้น ทุกข์นั้นก็บรรเทา แล้วลุกขึ้นมาทำงานต่อ ไม่นานเกินรอ 10 ปีก็มาถึง ช่างผ่านไปไวเหลือเกิน

 

แต่ความสุขมักเกิดขึ้นจริงได้กับสิ่งที่เล็กๆ น้อยๆ ดังนั้น จึงต้องทำให้เล็ก เพื่อให้เข้าถึงการให้บริการแบบ one-by-one  คือบริการคนหนึ่งคนให้ดี ทำงานทีละคน แล้วทำให้ดี แล้วมีความสุขกับหนึ่งผลงานงานที่ดีนั้น เอามาหล่อเลี้ยงหัวใจให้อดทนทำดีต่อไป

 

ความสุขที่แท้กลับเกิดจากการได้ทำสิ่งที่เล็กๆ น้อยๆ  ตัวอย่างร้านอาหาร ระหว่างร้านซูชิเล็กๆในญี่ปุ่นที่ปั้นซูชิทีละชิ้นๆ อย่างบรรจงให้กับลูกค้าที่มาทานด้วยจิตใจที่เบิกบานแล้วส่งต่อความสุขจากผู้เชฟไปสู่ผู้ทาน ออกจากร้านแล้วก็ยังคิดถึงอาลัยอาวรต่อกัน อยากจะมาอุดหนุนกันอีก กับ ร้านหมูกระทะที่เจ้าของนั่งอยู่หลังแคชเชียร์และอาจไม่ได้ชอบหรืออินกับสิ่งที่ตนเองทำอยู่  พ่อครัวไม่ต้องมี  เด็กเซิฟก็ไม่ได้รู้สึกดีกับงานบริการของตน  คนทานก็เน้นเอาคุ้ม ก็ win/win อีกรูปแบบหนึ่ง ผมก็นานๆกินทีเหมือนกัน แต่การกินแต่ละครั้งผมไม่ได้คาดหวังกับความอร่อยมากมายนัก แต่ให้ความสำคัญกับความคุ้มมากกว่า ทำให้คนกินสุขเพราะรู้สึกคุ้ม (หรือทุกข์เพราะกินเยอะเกิน)  แต่คนขายสุขเพราะได้รับเงิน (และอาจทุกข์เพราะโควิททำให้คนมากินไม่ได้ เลยไม่ได้นับเงิน)  กินเสร็จแล้วก็จากกันแบบไม่ต้องรู้สึกผูกพันธ์อะไรต่อกัน ถ้าคนกินถ้ารู้สึกว่าที่อื่นคุ้มกว่า ก็จะจากไปอย่าไม่ลังเลเช่นกัน  แต่ร้านซูชิเล็กๆที่เจ้าของตั้งใจทำเอง และยิ่งทำมาเป็น 100 ปี แล้วยิ่งมีตำนาน ต้องไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นต้น  แต่ก็ไม่มีผิดทั้งหมด หรือถูกทั้งหมด เพราะบริบทมันต่างกัน  บางทีเราต้องการทานอาหารที่ปราณีต บางทีเราก็ต้องการทานแบบเอามันส์เอาคุ้ม  แต่ที่ยกมานี้เพื่อให้เห็นภาพ และคิดว่า สิ่งที่เราทำนั้นมันควรจะเป็นธุรกิจในรูปแบบไหน

 

 

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ว่า ความสุขมักเกิดจากสิ่งเล็กๆปริมาณน้อยๆ เช่นการมีคนรักที่คบหากัน ถ้าน้อยๆนั้น คุณภาพของความรักจะดีกว่ามาก ทำให้อยู่ด้วยกันได้นาน ความสุขก็มาก  แต่ถ้าคบหลายคน ตามหลักคณิตศาสตร์แล้วควรจะสุขทวีคูณมากขึ้น แต่ความจริงเรากลับพบว่าคนที่มีคนรักมากกลับเป็นทุกข์อย่างมากและบางคนก็ถึงกับชีวิตเพราะความมักมากก็มี

 

ดังนั้น ต้องทำให้เล็ก ให้พอดีกับกำลังของตน ทำสิ่งที่รัก และอดทนให้นานพอ วันหนึ่งก็จะมาถึง

 

"อยากรวยเร็ว 10 ปี รอไม่ได้"

 

ทำเพราะอยากรวย กับทำเพราะอยากทำนั้นให้ผลลัพธิ์ที่ต่างกัน  แต่ทุกคนก็อยากรวย  รวยแล้วอะไรๆมันก็ง่าย  แต่ปัญหาคืออยากรวยเร็ว แล้วรอไม่ได้ 10 ปี ก็เลยอยากลงทุนใหญ่ๆ ทำใหญ่ๆ ทำในที่ทำเลทอง คนเยอะๆ จะได้ขายได้เยอะ ๆ  ก็อาจจะรวยเร็วก็ได้นะสำหรับในช่วงแรก เพราะคนก็ไม่รู้ว่ามันดีหรือมันไม่ดี  และก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องการันตีว่าการรวยเร็วรูปแบบนี้จะอยู่ได้นานถึง 10 ปีหรือเปล่า จะได้เป็น somebody หรือเปล่า   ตัวอย่างเช่น อาหารเสริมรักษาโรคตา ไม่ว่าจะ D-contact ไม่ว่าจะ Lutina หรือจะ Lutine อะไรก็ตามแต่  ขายดี รวยเร็ว เพราะเป้าหมายคือเน้นไปที่คนไทยที่ไม่ค่อยฉลาด  หลอกง่าย  แต่รวยแบบนี้จะได้สักกี่ปี หรือไม่ก็แค่หลักเดือน  สุดท้ายรวยเร็วได้ แต่ไม่ยั่งยืน  ซึ่งนั่นไม่ใช่หลักเศรษฐกิจพอเพียง  ยิ่งภาพตอนนี้ยิ่งชัดเพราะจาก โควิท-19 นั้นทำเอาคนอยากรวยเร็ว อยากทำใหญ่ อยากทำมาก กู้มามาก ถึงกับจุกกันเลยทีเดียว

 

"อยู่มานานกว่า 10 ปี แล้วยังไม่เป็น somebody"

 

แบบนี้ก็มีเยอะ  ผมก็ยังไม่รู้ว่าผมจะได้เป็น somebody ในแวดวงการของผมไหม เพราะพึ่งเดินทางมาได้เพียง 5 ปี ซึ่งผมไม่มีทางรู้อนาคต และก็ไม่รู้จะมีชีวิตถึงหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ เพราะไม่มีใครรู้อนาคต  ชีวิตไม่แน่ไม่นอน

 

แต่สิ่งที่ผมรู้คือ ผมเป็น somebody สำหรับคนไข้ของผมแน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะผมได้เห็นการ re-turn แวะมาแวะเวียนเยี่ยมเยียนกันอยู่เรื่อยๆ และผมจำได้ทุกคน เพราะเคสผมไม่ได้เยอะจนจำคนไข้ไม่ได้ ทุกคนมีระเบียนประวัติโดยละเอียด สามารถติดตามการดูแลรักษาได้ต่อเนื่อง  บางท่านก็อยู่ไกลเหนือสุดและใต้สุดของประเทศ เมื่อต้องการให้ช่วยแก้ปัญหาสายตาก็ต้องบินขึ้นมาให้ช่วยดู

 

ดังนั้นใครที่อยู่มานานกว่า 10 ปีแล้วยังรู้สึกว่า ยังต้องดินรนอยู่ ยังกระเสือกกระสนอยู่ ยังหายใจไม่เต็มปอดอยู่โดยเฉพาะเวลาสิ้นเดือน คงต้องกลับมานั่งดูว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานั้น เราทำงานอย่างไร  ทำดีหรือทำไม่ดี ถ้าทำไม่ดีตลอด 10 ปีที่ผ่านมาและคงทนอยู่ได้ ก็บอกอะไรไม่ได้มากกว่าท่านมีความอดทนสูง หรือ ถึก เท่านั้น  แต่ถ้าทำให้ดี ผมว่ายังไง 10 ปีก็ต้องได้เป็น  รู้เล็กๆ รู้อย่างเดียว รู้ให้ลึก  ไม่ใช่ 10 ปีผ่านมา ทำแต่แบบเดิม  เอาคางวาง หน้าผากชิด กดคอมพิวเตอร์ จึกๆๆ 10 นาทีเสร็จ แล้วเลนส์เสียบ ชัดไหมๆ  จบ ขายแว่น คนไข้เมา ให้ปรับตัว  ปรับไม่ไหวก็บังคับให้เขาปรับ เพื่อหวังว่าเขาเบื่อเขาก็จะได้หนีไปเอง  นี่เรื่องจริงในเมืองไทย  แล้วแบบนี้จะเป็น somebody ด้วยเรื่องอะไร แล้วจะเกิดความยั่งยืนจากอะไร

 

ดังนั้นจะทำอะไรก็แล้วแต่ ความยั่งยืน เป็นสิ่งที่ต้องคิดถึงเสมอ ซึ่งผมได้พูดถึงว่า ความพอเพียงในมุมของผมมันคือย่างไร  คือทำให้ดีที่สุดด้วยกำลังที่มี อย่าไปทำอะไรให้มันเกินกำลัง และทำให้เล็ก อย่าไปทำใหญ่ ถ้าทำใหญ่มันจะได้ร้านหมูกระทะ ต้องทำเล็กๆอย่างร้านซูชิ เพื่อให้เราสามารถทำงานแต่ละชิ้นให้ดีที่สุด  เหมือนเชฟปั้นซูชิ ให้ทีละคน ด้วยมือ และทำเท่าที่ทำได้ ทำด้วยแรงที่มี กำลังที่มี ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์  แล้วงานก็จะออกมาดี  มีคุณค่า เกิดความสุข ใช้ความสุขในการหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ ให้อยู่ให้ได้ 10 ปี เพื่อเป็น somebody จากนั้น  คุณค่าก็จะสร้างมูลค่าตามมาเอง

 

จะต้องเตรียมตัวอย่างในในการเดินทางสู่หลักเศรษฐกิจพอเพียง

 

ตรงนี้ก็จะเข้ามาสู่ มรรคา หรือ การปฏิบัติ สู่เส้นทางความพอเพียง ไปสู่ความสุขบนความยั่งยืน ซึ่งมี keyword ที่สำคัญคือ “พึ่งพาตนเอง” ให้ได้  ภาษาพระเรียกว่า “อัตตโน นาโถ” หรือการพึ่งพาตนเอง

 

ดังนั้นมันจะต้องเริ่มตั้งคำถามก่อนว่า “เรากำลังจะทำอะไร เพื่ออะไร”  เช่น อยากจะทำร้านซูชิ  เราอยากทำซูชิ เพราะเราอยากให้คนได้ทานซูชิอร่อยๆ หรือเห็นเขาทำซูชิแล้วรวยเลยอยากทำบ้าง ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่ชอบซูชิ  หรือเรากำลังจะ “เปิดร้านแว่น หรือ เปิดคลินิกทัศนมาตร....แต่เพื่ออะไรกัน” ซึ่งคำถามนี้ต้องถามใจตัวเองให้ชัด  way ในการเดินทางจึงจะถูกต้อง

 

ถ้ามีคนบอกว่า “เปิดร้านแว่น เพราะอยากช่วยคนไทยให้มีการมองเห็นที่ดี” แบบที่นางสาวไทยพูดเวลาขึ้นประกวด  แต่ถามจริงๆว่า “มีคนเชื่อไหม หรือแม้แต่ตัวเอง เชื่อตัวเองไหม” คำตอบในใจผมคือ เกือบ 100% ไม่เชื่อ  เหตุที่ไม่เชื่อก็คือมันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่จะเกิดคนใจบุญทำบุญด้วยการทำโปรโมชั่น ลดแหลก แจกแถม กันขนาดนั้น  ซึ่งอาจจะใจบุญจริงก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องคิดว่า “คงขายไม่ดี ก็เลยทำโปรโมชั่น เพราะของขายดีไม่เคยมีโปรโมชั่น หรือ จะทำโปรเพื่ออะไรในเมื่อขายดี ” จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่ากระเป๋า Hermes’ จะทำโปรโมชั่น ลดจากใบละ 2,000,000 บาท พิเศษช่วงนี้เพียง 100,000 บาทเท่านั้น  แล้วคนที่จ่ายไป 2 ล้านจะคิดยังไง แล้วใครที่อยากได้ Hermes จาก 2 ล้านเหลือใบละแสน  สรุปอีกที ว่าไม่มีคนเชื่อว่า โปรโมชั่น=การคืนกำไร มันไม่ make sense โดยเฉพาะธุรกิจแว่นตาที่ทำโดยปกติ 

 

ดังนั้นถ้าจะทำบุญแนะนำให้ทำด้วยการทำดี ตรวจดีๆ บริการดีๆ แล้วไม่ over price ด้วยการสร้างเรื่องราวประหลาดๆ ตั้งชื่อประหลาดๆ หลอกลวงผู้บริโภคก็พอแล้ว  เรื่องจริงมักดูง่าย  เรื่องไม่ง่ายมักไม่จริง และเป็นเช่นนั้นเสมอ  E=mC2  คือตัวอย่างเรื่องจริงที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุดแต่เรียบง่ายที่สุด การทำเรื่องง่ายให้ยากจึงไม่ใช่หนทางของปราชญ์

 

ทีนี้การเตรียมตัวของการเป็นทัศนมาตรบนเส้นทางของความพอเพียง ก็คือการพึ่งพาตนเองให้ได้

 

"พึ่งพายังไง"

 

เริ่มจากการถามคำถามตัวเอง แล้วตอบให้ชัดว่า จะทำคลินิกทัศนมาตรขึ้นมาทำไม  ผมยกตัวอย่างจากตัวเองก็แล้วกัน

 

ผมเปิดร้าน ลอฟท์ ออพโตเมทรี ขึ้นมาทำไม ?

 

คำถามนี้เป็นคำถามที่ถามตัวเองขึ้นมาเมื่อปี 2014 ก่อนที่จะลาออกพนักงานประจำของบริษัทโรเด้นสต๊อกมาทำคลินิกของตัวเอง และเป็นคำถามที่ผมต้องตอบให้ชัด เพื่อผมจะได้วางแนวทางในการเดินทาง  ซึ่งผมตอบตัวเองว่า “ผมต้องการแก้ปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นให้กับผู้ที่มีปัญหาที่อยากให้ผมช่วยแก้ให้ดีที่สุด และอยู่เพื่อเป็นแบบอย่างในการทำงานด้านสาธารณสุขสายตาตามหลักทัศนมาตร ให้กับคนในวงการและวิชาชีพ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการสายตาในเมืองไทยให้เทียบเท่าหรือดีกว่าสากล” 

 

มีคำว่าอะไรอยู่ในประโยคข้างต้นบ้าง แล้วจะทำอย่างไร เพื่อให้แต่ละจุดประสงค์นั้นบรรลุเป้าหมาย  อะไรเป็น first priority ,second priority และ no priority

 

Keyword : “แก้ปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นให้ดีที่สุด” / “อยู่เป็นแบบอย่าง” / “ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ”

 

มาดูส่วนแรก “แก้ปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นให้ดีที่สุด” คือจะทำอย่างไรให้หนึ่งคนที่เข้ามาในคลินิกของผมนั้น ได้รับการดูแลและแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ซึ่งมันก็ต้องแยกเป็น 3 ส่วนที่จะทำให้ดีได้คือ  knowhow (Knowledge+Experience) , tools และ Environment

 

“knowhow” หรือ “ความชำนาญ” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งการที่คนเราจะชำนาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นั้น มันต้องมี “ความรู้ หรือ knowledge” จากนั้นก็นำความรู้ไปขบคิด ไปปฏิบัติให้มาก ก็ จะเกิดเป็นประสบการณ์ หรือ experience และเมื่อทำซ้ำให้มากและนานพอก็จะเกิดเป็นความชำนาญ เราเรียกว่า "knowhow"

 

Knowledge เราอยากได้ก็ต้องไปเรียน เรียนให้รู้ เพื่อที่จะอ่านต่อได้เข้าใจ ดังนั้นในโรงเรียนทัศนมาตรนั้นสอนให้เรามีทรัพยากรในการนำไปอ่านหรือศึกษาต่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนั้นผมจึงไม่เคยหยุดอ่าน ปัจจุบันก็ยังอ่านทั้งในและนอกตำราเรียนเพื่อเพิ่มพูน knowledge อยู่ตลอดเวลา 

 

แล้วก็นำความรู้นั้นมาใช้จริงกับคนไข้ที่คลินิก ศึกษาปัญหา เรียนรู้ปัญหา หา best solution ในการแก้ไขแต่ละปัญหา แล้วประสบการณ์ก็ค่อยๆเกิดขึ้นจากการฝึกฝนสะสมทีละน้อย ทุกวันๆ ก็เกิดเป็นประสบการณ์ที่บางทีก็ไม่รู้จะบอกต่อได้อย่างไร เพราะหลายอย่างต้องทำและประสบการณ์ด้วยตังจึงจะเข้าใจ

 

ดังนั้น ประสบการณ์สำหรับผมคือ การได้ใช้ knowledge เข้าไปปัญหา  แล้ว เมื่อเจอปัญหา ก็พยายามฝึกใช้ปัญญาในการแก้ไข  เมื่อแก้ไขได้เราได้เกิดเป็น experience ขึ้นมา ซึ่งคนไข้แต่ละคนก็จะให้ experience เรามาไม่เหมือนกัน ดังนั้นยิ่งทำมากประสบการณ์ก็จะมากขึ้นตาม จนมากและนานพอ มันก็จะเกิดการซ้ำกันของเคส และหลังจากนั้นแค่นั่งคุย คือมองตาก็รู้แล้วว่าเป็นอะไรมา  เหล่านี้คือคำว่า experience ทำให้เกิด knowhow

 

ถ้าไม่มี knowledge ก็ยากที่จะมี knowhow  ,เพราะ experience อย่างเดียว ทำให้เกิด “โมหะ” ได้ง่าย คือความหลง คิดว่ากุแน่ กุแน่น กุเจ๋ง กุอยู่มานาน กุสุด กุอยู่บนยอดพีรมิด กุเทพ ที่ไหนได้ ธาตุไฟล้วนๆ  เรียกได้ว่าแก่เพราะอยู่นาน  นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่วัดไม่อยากรับคนแก่เข้าบวช เพราะคนแก่มักคิดตัวเองอยู่มานาน หนังเหนียว ประสบการณ์เยอะแต่ไม่มีความรู้ ดื้อดึง ไม่ฟังเจ้าอาวาส ปกครองยาก ตัดปัญหาคือ อย่าบวชดีกว่า

 

สรุปว่าต้องเรียน อาจจะในหรือนอกระบบก็ได้ แต่ต้องเรียนรู้ ค้นคว้าความรู้ใหม่อยู่เสมอ ถามกลับว่า อ่านหนังสือทบทวน หรือศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานที่ทำครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

 

มีแต่ knowhow แต่ไม่มี tools ก็ทำงานให้ดีได้ลำบาก ช่างซ่อมรถเก่งมาก ประสบการณ์มาก ไม่มีเครื่องมือให้ทำงานก็ไม่รู้จะทำยังไง  และก็เห็นมาก ที่ร้านแว่นตาจ้างทัศนมาตรเกียรตินิยม เอาไปขายแว่น  มีคอมพิวเตอร์วัดสายตา 1 ตัว วางไว้กลางร้าน แล้วให้ทัศนมาตรทำงานให้ดี (ดีของเขาคือขายของเก่ง)  พอทำไม่ได้ก็หาว่าไม่เก่ง เพราะทำยอดให้ไม่ได้ ซึ่งผมว่าไม่แฟร์

 

บางคนบอกว่า ตอนฉันจ้างช่างแว่นมาวัดสายตา ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เขาก็ใช้คอมพิวเตอร์วัดสายตาตัวนี้ ทำงานกลางร้าน เสียบๆๆๆๆ ชัดๆ แล้วก็เชียร์ขายเลนส์ ขายกรอบ ก็ขายได้ มียอดทุกวัน ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร ทำไมทัศนมาตรเรียนมาตั้งเยอะแยะ ทำไมขายของไม่ได้  ว่าไปนั่น

 

เรื่องนี้ ก็ต้องชี้แจงว่า ทัศนมาตรศาสตร์ไม่ได้สอนให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตาและเชียร์ขายของ  เราถูกสอนให้เป็นหมอ เป็น doctor เป็น clinician ไม่ใช่เป็นพ่อค้าหรือเป็น sell  แม้ทัศนมาตรบางคนชอบทำตัวเป็นพ่อค้าหรือเซลล์ก็ถือว่ายกเว้นไป  เราเรียนเพื่อนำความรู้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยมีเครื่องมือต่างในการช่วย investigate ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร จากนั้น Assesment ออกมาว่าคนไข้เป็นอะไรได้บ้าง  แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อหา best solution เพื่อนำไปสู่ plan ในการรักษาต่อไป

 

และคอมพิวเตอร์วัดสายตานั้นไม่ใช่เครื่องมือที่ดีสำหรับการ investigate และทางทัศนมาตรไม่ได้ยอมรับเครื่องพวกนี้ ดังนั้นการให้ doctor ไปใช้เครื่องมือที่ไม่ได้ช่วยให้การทำงานมันดี แล้วบังคับให้เขาทำงานออกมาใด้ดี  มันจะไปทำได้อย่างไร  บ้าหรือเปล่า

 

บางคนบอกว่า “ฉันมีเครื่องมือให้ครบแล้ว มันก็ยังทำงานไม่เห็นจะดี”

 

ก็ไม่เถียง เพราะหมอเหมือนกัน ใช้เครื่องมือเดียวกัน ก็มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ต่างกันได้  แต่ก็อยู่บนพื้นฐานวิชาการเดียวกัน   แต่ก็มีข้อแย้งในบางมุมที่เป็นเหตุให้งานออกมาไม่ดีก็คือปัจจัยจาก Enviroment ในการทำงาน ว่ามันเหมาะสมกับงานที่ทำหรือเปล่า  เพราะทัศนมาตรต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างมากในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพราะอย่างที่ได้พูดอยู่เสมอว่า ทัศนมาตรเป็นงานเน้นไปที่ subjective test ดังนั้น factor ที่จะทำให้ผิดพลาดนั้นมันมีมาก เพราะต้องมีการสื่อสารถามตอบกันอยู่ตลอดเวลา 

 

สิ่งที่เราคิดว่าชัดและสบาย อาจจะมีที่ชัดและสบายยิ่งกว่า  และ ความชัดและสบายยิ่งกว่าของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน และเราต้องหาให้เจอ  แน่นอนต้องใช้เวลา  ท่องจำเอาไว้ว่า สายตาที่ดีที่สุดกับเลวที่สุดนั้น  ราคาเลนส์เท่ากันเป๊ะ!!! เราจึงไม่สามารถนำราคาเลนส์ที่ได้มาจากแต่ละที่มาอ้างได้เพราะ value ที่แท้จริงนั้นมาจากค่าสายตาที่อยู่ในเลนส์แต่ละรุ่น ไม่ได้อยู่ที่เลนส์อย่างเดียว 

 

ทัศนมาตร ต้องการ Enviroment ในการทำงานอย่างไร

 

สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงานในคลินิกทัศนมาตรอย่างมีประสิทธิภาพ ผมแยกเป็น 3 เรื่อง ที่ทัศนมาตรควรจะนำไปเป็น priority ในการลำดับความสำคัญ

 

1.tools environment 

เราจำต้องมีเครื่องมือที่เป็น gold standard ในการทำงานให้ได้มาตรฐาน แต่ gold standard ก็ไม่ได้หมายความว่า “ต้องไฮเทค ราคาแพงเวอร์วังอะไร” คำว่า goal standard คือมาตรฐานที่จำเป็นและสามารถยึดถือและนำไปอ้างอิงได้ ตัวอย่างเช่น การวัดความดันตาเราจะเชื่อจาก Goldman tonometer , ค่า refraction เราจะเชื่อจากค่า retinoscope ,ค่าความคมชัดเราจะเชื่อจาก VA-chart ที่ระยะ 6 เมตร เป็นต้น

 

ดังนั้น เครื่องมือหลักที่จำเป็นต้องใช้ของดีในการทำงานได้แก่ chart projector, phoropter , Retinoscope ,Trial lens set ,trial frame ,Ophthalmoscope ,slit-lamp,prism bar ,color test ,stereo test  เพียงมีของเหล่านี้ดีๆ ที่ได้มาตรฐาน  ก็สามารถตรวจหาปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นที่ดีได้แล้ว ซึ่งเป็น chief tools ที่เราต้องจำเป็นใช้ของดีๆหน่อย และเลี่ยงใช้ของจีนถ้าเป็นไปได้ ด้วยเหตุว่าของเหล่านี้ที่ทำจีนนั้น ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือที่ให้ reliaiblity ที่สูงเท่าที่ควร ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทำเหมือนหรือคล้ายๆมากกว่า

 

ทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้พูดถึงเครื่องมือดิจิทัลใดๆเลย เพราะเครื่องมือดิจิทัลเหล่านั้นไม่ได้ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น เพียงแต่ช่วยให้(มัก)ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง เช่น auto-refractor ก็ให้ค่ามาที่ไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ เพราะในทางคลินิกทัศนมาตรนั้น ยึดค่าที่ได้จากเรติโนสโคป ไม่สนใจจากค่า auto-refractor เพราะไม่ว่าจะเครื่องจะไฮเทคขนาดไหนแต่ reliability ก็ต่ำอยู่ดี คือ detail ละเอียดดี แต่ยังห่างไกล acuracy อยู่มาก หรือแม้แต่ auto-phoropter ซึ่งเป็น phoropter ที่ดูเหมอืนว่าจะทันสมัย ก็ไม่ได้ช่วยให้งานแม่นยำขึ้นเพียงแต่ชวยให้ดูเหมือนว่าสะดวกขึ้น แต่ก็กลับสร้างปัญหาให้กับคนที่ใช้ retinoscope ในการตรวจบน phoropter เพราะว่า knop สำหรับหมุนเปลี่ยนค่านั้นอยู่บนแผงคุม  ในขณะที่บน phoropter นั้นเรายื่นมือเข้าไปเปลี่ยนเลนส์ ทำให้เราได้ระยะ working distant ที่แม่นยำกว่า  เปลี่ยนค่าต่างๆได้ถนัดและรวดเร็วกว่า  แต่ก็เหมาะสำหรับคนที่ทักษะ retinoscope ยังไม่แม่นมากกว่า  ด้วยการโหลดค่าจาก auto-refractor เข้า auto-phoropter ได้เลย

 

แต่ด้วยราคาที่ไม่ต่างกันมาก  คนส่วนใหญ่เลยรู้สึกว่า auto เท่กว่าแบบ manual เพราะราคาที่ต่างกันเพียง 1.5 แสนนั้น ทำแบบดิจิทัลดูดีกว่า แต่ผมยังไงก็ชอบ manual

 

2.space environment

 

พื้นที่ในการทำงานเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญ​ เนื่องจากทัศนมาตรนั้นทำงานกับแสงที่เดินทางจากระยะอนันต์ว่าแสงอนันต์ที่เดินทางมานั้น มีพฤติกรรมเป็นอย่างไรหรือไปโฟกัสที่ไหนเมื่อวิ่งผ่าน กระจกตา และ เลนส์ตา

 

แสงอนันต์เป็นอย่างไร

 

แสงอนันต์นั้นมีลักษณะเป็นแสงขนาน หรือ parallel rays ในขณะที่แสงที่อยู่ใกล้กว่าอนันต์นั้นเป็นแสงแบบ convergence Ray คือมีการลู่ออก

 

ทัศนมาตรนั้นใช้เลนส์สายตาหรือเลนส์สัมผัสในการบังคับพฤติกรรมของแสงที่เดินจากระยะอนันต์ให้รวมเป็นจุดแล้วตกบนจอตาพอดีโดยที่เลนส์ตาไม่ต้องเพ่ง  เพื่อให้คนไข้นั้นมองไกลที่ระยะอนันต์ได้ชัดเจน

 

ดังนั้นการตรวจสายตาที่ถูกต้องจึงจำเป็นต้องทำที่อนันต์​ แต่ถ้าอนันต์มันไกลเกินไป เราจึงต้องหาระยะเสมือนอนันต์​ ซึ่งระยะใกล้สุดที่แสงมีพฤติกรรมคล้ายอนันต์คือ แสงจากวัตถุที่อยู่ห่างออกไปที่ระยะ 6 เมตรขึ้นไป

 

การใช้ชาร์ตทดระยะ ไม่สามารถให้ค่าที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ เพราะเรากำลังทำงานอยู่บน non-reference space  เหมือนเราชั่งน้ำหนักบนโลกได้ 120 kg. แล้วนั่งยานขึ้นไปบนดวงจันทร์แล้วไปชั่งน้ำหนักใหม่ได้มา 20 kg. แล้วจะมาหลงดีใจว่า นั่งยานอวกาศแป๊บเดียว น้ำหนักหายไป -100 kg.  เพราะมวลไม่ได้ไปไหนแต่เกิดจาก น้ำหนักนั้นเกิดจาก "มวล"x"ความเร่งเข้าสู่ศูนย์กลาง (g)" หรือ w=mg  โดย g เป็นความเร่งเข้าสู่ศูนย์กลาง (g)  ซึ่งเป็นค่าคงที่ที่ขึ้นอยู่กับขนาดของมวลในแต่ละดวงดาว  แรง g ของดวงจันทร์น้อยกว่า g ของโลก 6 เท่า ดังนั้น น้ำหนักที่ชั่งได้จึงน้อยกว่าบนโลกประมาณ 6 เท่าเป็นต้น 

 

ดังนั้นน้ำหนักที่วัดได้มาอ้างอิงกันไม่ได้เพราะมันคนละ reference  เหมือนกัน  ดังมวลของปัญหาสายตายังคงเหมือนเดิม  แต่เราต่างหากที่ทำงานบนพื้นที่ที่ไม่ได้มาตรฐาน ค่าที่ได้จึงไม่ถูกต้อง มวลของปัญหาจึงไม่ได้เอาออกไปทั้งหมด  ซึ่งมวลของปัญหาสายตานั้นค่อนข้างจะมีความคงที่หลังจากร่างกายโตเต็มวัยแล้ว จะเปลี่ยนบ้างก็เล็กน้อย  แต่สิ่งที่เราพบว่า  ในเวลาหนึ่งวัน ถ้าเราเที่ยววัดสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เล่นๆนั้น เราจะได้ว่าแต่ละครั้งนั้นจะได้ค่าที่แตกต่างกันตลอดทั้งวัน  ซึ่งเหตุของเรื่องนี้ก็คือ ความไม่ได้มาตรฐานของเครื่องวัดหรือคนทำการวัดนั่นเอง 

 

ดังนั้นนี่คือความจำเป็น ที่ปัจจุบันก็ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก เริ่มมีการนำเอา space inviroment มาใช้เป็นจุดขายในทางการตลาด ซึ่งเมื่อ 5 ปี ก่อนนั้นไม่เป็นอย่างนี้   ใครอยากจะวัดที่ 2 เมตร 3 เมตร 4 เมตร ก็ทำไป มีชาร์ตออกมาขายให้ทุกระยะ โดยใช้หลักศรีธนญชัย ว่าตัวหนังสือ subtain มุมเดียวกัน คือ 5 miniut of arc  ดังน้ันระยะใกล้ก็ทำให้มันเล็กลง ก็ต้องได้ค่าเดียวกัน

 

นี่คือความศรีธนญชัย ที่หยิบเพียงจุดเดียวไปเหมาทั้งระบบ เพราะ การตรวจวัดสายตาไม่ได้วัดแค่เอาชัด มันจะต้องดูเรื่อง binocular vision ด้วย เช่นถ้าตรวจที่ 3 เมตร เคยคิดไหมว่า vergence ของคนไข้เขาเป็นอย่างไร อยู่ใน resting positioning หรือเปล่า แล้วค่า eso/exo ที่ได้มานั้น มันจะเอาไปทำอะไรได้ ในเมื่อเรากำลังหา resting positioning ที่ระยะอนันต์​แต่กลับไปตรวจ stressing positioning ขณะที่ตามองไปที่แสงมี vergence

 

ดังนั้นเรื่องนี้ผมคงไม่สนว่าใครจะหาที่มาจากไหน ผมสนเพียวว่าจะทำอย่างไรให้มันถูกเท่านั้น และหน้าที่ของผมก็เสร็จแล้ว หน้าที่ของผู้ให้บริการคือทำอย่างไรให้ระยะอยู่ที่ 6 เมตร (กระจกสะท้อนก็ได้) ส่วนหน้าที่ของผู้รับบริการคือหาว่า “ที่ไหนทำงานที่ระยะ 6 เมตร” ส่วนหน้าที่ของผมนั้นเสร็จแล้ว

 

แต่ปัจจุบันนั้นดีกว่าเมื่อ 5 ปีก่อนมาก เพราะหลังจากมีกระทู้พันธุ์ทิพย์นี้ขึ้นมา https://pantip.com/topic/32286865/วัดสายตาคอมพิวเตอร์เชื่อได้แค่ไหน การตื่นตัวในเรื่องของ space enviroment ก็ดีขึ้นมาก เนื่องจากผู้บริโภครู้และเข้าใจแล้วเกิด pressure ไปสู่ผู้บริการในการที่จะทำสิ่งต่างๆให้ถูกต้องมากขึ้น 

 

ดังนั้น founder ถ้าอยากจะให้ทัศนมาตรทำงานดีๆ คุณต้องหาพื้นที่ให้เขาทำงาน เขาจึงจะสามารถทำงานให้ดีออกมาได้  แต่ถ้าให้แล้วงานก็ยังออกมาไม่ดี ก็ต้องไปหาในข้อต่อไป 

 

3.time environment

 

อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือระยะเวลาที่ใช้ในการทำงานต่อเคส ซึ่งโดยวิชาชีพทัศนมาตรนั้น เป็นงานตรวจและวัดระบบต่างๆทั้งที่เป็น objective test คือหมอเป็นคนตรวจเองโดยที่คนไข้ไม่ต้องพูดอะไร  ซึ่งมักใช้เวลาไม่นาน แต่ก็มีเทสลักษณะนี้น้อยเช่นการทำ retinoscope เพื่อหาค่าสายตา หรือการทำ cover test เพื่อหาตาเหล่หรือเหล่ซ่อนเร้น เป็นต้น 

แต่การตรวจที่สำคัญของทัศนมาตรคือ subjective test ซึ่งเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยความร่วมือของคนไข้ในการถามตอบ  ซึ่งต้องใช้เวลา และเป็นการตรวจที่เหนื่อยกันทั้งผู้ตรวจและคนไข้ และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตรวจให้เสร็จได้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง แม้จะเป็นการตรวจตาม chief complain ก็ตาม เพราะลำพังการซักประวัตินั้นก็กินเวลาไม่ต่ำกว่า 10 นาที 

 

ดังนั้น ถ้าหมอจะต้องดูแลคนๆหนึ่ง ตรวจวิเคราะห์อย่างเดียวโดยไม่ต้องมีงานขายกรอบแว่นหรือไปเชียร์ขายเลนส์  อย่างไม่มีก็ต้อง 1 ชั่วโมง  วันหนึ่งทำงาน 8 ชั่วโมง  ถ้าทำแบบไม่หยุดเลย ทัศนมาตรจะทำงานได้ไม่เกินวันละ 8 เคส ดังนั้นเชื่อได้ว่า งานที่มากกว่า 8 เคสต่อวัน ไม่สามารถเป็นงานที่ออกมาดีได้  ยิ่งเป็นงานรถหน่วยที่ทำหลายสิบเคสในเวลาไม่กี่ชม.ด้วยแล้ว  ซึ่งมาตรฐานนั้นไม่ได้ตั้งแต่ คนตรวจ ห้องตรวจ เวลา และเครื่องมือ  แล้วผลของงานจะเป็นอย่างไรก็คงไม่ต้องอธิบาย 

 

ในทางตรงกันข้าม ร้านแว่นตาซึ่งเป็นนายทุน ย่อมไม่โอเคกับเรื่องนี้ ที่ต้องจ้างทัศนมาตรเงินเดือนแพง แล้วทำงานได้เพียงวันละ 8 เคส  ซึ่งในทางธุรกิจแล้วถือว่าไม่คุ้ม

 

พอเริ่มมองหาความคุ้ม ก็ต้องเร่งให้ทัศนมาตรทำงาน ด้วยการทำโปรโมชั่นหลอกล่อ ต่างๆนาๆ ให้คนเข้ามารับบริการเยอะๆ  แต่ก็อย่างที่บอก ศักยภาพที่ทำงานพอใช้ได้คือเคสละ 1 ชม.  จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำเคสที่มีประสิทธิภาพจำนวนมากอย่างที่นักธุรกิจต้องการได้

 

ผลคืออะไร  “ตรวจพลาด” หรือ “แก้ปัญหาไม่ได้” และไปคิดว่า “ทัศนมาตรไม่ต่าง”  ใช้ใครก็ได้มาตรวจสายตา มาซ้อมยิงเครื่องคอมพ์ ฝึกพูด ฝึกเสียบเลนส์ ฝึกถามว่า “ชัดไหมๆๆ” แล้วก็ฝึกหลอกล่อให้ลูกค้าซื้อสินค้า ถ้าเชียร์ขายได้เก่ง สร้างยอดให้บริษัทเก่ง  แปลว่าเก่ง  ส่วนจะใช้งานจริงเป็นอย่างไรก็ค่อยแก้หน้างานเอา เพราะไม่ว่าใครทำ ก็ดูเหมือนๆกัน  กลายเป็นคำปรามาสที่ผมได้ฟังแล้วไม่ค่อยสบายใจว่า  เขาว่า “ทัศนมาตร ก็ตรวจเหมือนกับช่างแว่น แต่ดูเหมือนมีความรู้กว่าเท่านั้น งานขายไม่เก่ง ฝนแว่นไม่เป็น ดัดแว่นไม่คล่อง” ซึ่งฟังแล้วก็สะอึก  แต่ก็อย่างที่บอกไป  เราไม่ได้ถูกสอนให้เป็น technician แต่เราถูกสอนให้เป็น doctor ทำงาน คิดวิเคราะห์แบบแพทย์ ไม่ใช่สายช่าง ก็ไม่แปลกอะไร ที่วิศวกรอาจจะผสมปูนไม่เป็น  

 

ดังนั้น ฝากไปถึงผู้ประกอบการ ที่ต้องการจ้างทัศนมาตรให้ไปเป็นผู้ดำเนินการ คุณต้องมีพื้นที่ ต้องมีเวที และมีเวลาให้เขาได้แสดงศักยภาพออกมา  และถ้าให้ขนาดนี้แล้วยังทำดีไม่ได้ ก็หาใหม่ดีกว่า แสดงว่ามีปัญหาที่ตัวบุคคล  แต่ถ้าเรายอมลดความเป็นนักธุรกิจลง เอาประโยชน์ของคนไข้หรือลูกค้าของคุณเป็นที่ตั้ง  งานดีๆก็จะถูกสร้างสรรรค์ขึ้นมา  สุดท้ายเรื่องดีๆก็จะกลับมาหาคุณอยู่ดี  ฐานคุณก็กว้างขึ้น การบอกต่อก็มากขึ้น  สุดท้ายก็เกิดความยั่งยืนขึ้นมาในธุรกิจ  อย่าไปทำอะไรเอาง่ายๆ เอาผิวๆ เอาเฉพาะหน้า  ซึ่งก็คงทำได้ แต่จะทำได้นานแค่ไหนนั่นก็คงอีกเรื่องหนึ่ง

 

ที่จุติ

ถ้าต้องการทั้ง  tools ,space ,time ขนาดนี้  จะมีที่ไหนที่ทัศนมาตรที่ต้องการทำงานจริงๆอยู่ได้  ซึ่งผมนึกไม่ออกว่าจะมีที่ไหนดีไปกว่าการทำคลินิกของตัวเองขึ้นมา  เพราะยากอยู่เหมือนกันที่จะทำงานละเอียดอยู่ใน field ของโรงพยาบาลไม่มี time กับ space  หรือ field  ของร้านแว่นตาที่เน้นทำโปรโมชั่นให้คนเข้าเยอะๆ

 

แต่ความจริงตรงกันข้าม  เพราะความจริงคือคนในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ได้ตื่นเต้นกับแว่นตาลด 90% อีกต่อไป เพราะเขาฉลาดพอที่จะรู้ว่านั่นคือการ cheating เพราะ common sense คือไม่มีคนจิตใจดีมีเมตตาลดราคา 90% แบบนั้น  เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำใจแบบนั้นกับ cost ที่ต้องแบกรับมหาศาล  เพราะการจะทำคลินิกสายตาขึ้นมาสักที่หนึ่ง ถ้าเอาดีๆ ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้าน  และยังไม่รวม fixed cost ที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่นค่าที่ ค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเสื่อมสภาพ  เหล่านี้ต้องใช้เวลาในการคืนทุนเท่าไหร่  และ การที่จะมาคืนกำไรลด 50-90% ตั้งแต่เปิดร้านแบบไม่มีกำไรนั้น มันจะเป็นไปได้อย่างไร  และอนาคตคนจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ  ทองเก๊ก็จะเริ่มลอก และถูก fade ออกไปด้วยกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ

 

ทองมันมีคุณค่าในตัวของมัน มันมีราคากลางอยู่ การที่ทองมันถูกกว่าปกติ ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า เป็นทองเก๊ มีแต่คนโลภและโง่เท่านั้นที่เป็นเหยื่อโดนหลอกซื้อทองปลอม  อนาคตมันจะมีเครื่องมือหรือกระบวนการดูของจริงของปลอม  เราจะโกหกกันไม่ได้แล้ว เป็นเด็กเลี้ยงแกะหลอกขายของแบบ “อับดุล..เอ้ย” ไม่ได้แล้ว  ให้เตรียมตัว

 

การลดราคา หรือทำงานที่ไม่มี value โดยธรรมชาติแล้ว ไม่มีทางที่จะทำให้ดีได้ ง่ายๆด้วยความสัตย์ซื่อว่า  ถ้าคนไข้ต้องการทำแว่นดีๆ 1 อัน  กับคนไข้ต้องการมาซื้อคอนแทคเลนส์รายเดือน 1 คู่ 156 บาท  คนไข้ 2 คนนี้จะได้รับการบริการในการตรวจละเอียดเท่ากันหรือไม่ แล้วคนไข้ที่มาซื้อคอนแทคเลนส์ผิดอะไรที่ไม่ได้รับการตรวจอย่างละเอียด  เต็มที่ก็ไปนั่งหลังเครื่องคอมพ์วัดสายตา แล้วเอาค่าที่ได้ไปสั่งคอนแทคเลนส์   นี่เรื่องจริง

 

 

เอาใหม่

 

ดังนั้น เอาใหม่  สร้างภาพและการรับรู้ใหม่ให้กับประชาชน ว่าทัศนมาตรจริงๆเขาทำงานกันอย่างไร   ทำงานระดับคลินิก ค่อยๆทำ ทำทีละน้อย ทำไปเรื่อยๆ  แล้วเราจะเห็นเองว่า จริงๆทัศนมาตรควรจะมีทิศทางในการทำงานอย่างไร  ถ้าเร่งทำจนต้องลดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างที่เกิดขึ้นนี้ ก็ยากที่จะทำให้วิชาชีพของเราเกิดความแตกต่างกับรูปแบบร้านแว่นตาที่มีอยู่เดิม

 

เรื่องราวในวันนี้ ก็ถือว่า หนัก แน่น ยาว  แต่ก็คิดว่าน่าผู้อ่านน่าจะได้แง่คิดอะไรบางอย่าง เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินกิจการ หรือการทำงานให้ดียิ่งขึ้น  คนละไม้คนละมือ ที่ต่างคนก็ต่างเป็นตัวแทนของแบรน์วิชาชีพทัศนมาตร ถ้าทำดี คนก็จะเริ่มเชื่อมั่นต่อแบรนด์ และเกิดการบอกต่อ ตลอดจนแสดงออกถึงความจำเป็นว่า วิชาชีพนี้จำเป็นต้องมีขึ้นและควบคุมโดยกฎหมาย  แต่ถ้าทำตัวไม่ดี ตรวจเหมือนๆกัน ทำงานเหมือนๆกัน ก็ไม่ได้เห็นความจำเป็นว่าของมันต้องมี

 

ช่วยกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการด้านสาธารณสุขด้านสายตาในประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานระดับสากล  ให้พ้นจากการเป็นร้านแว่นของประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะเราควรจะได้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและดำรงวิชาชีพทัศนมาตรให้รุ่งเรือง เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

บทความทั้งหมดนี้ เกิดจากความคิดและการสังเกตด้วยตัวเอง และรู้สึกด้วยตัวเอง  บางเรื่องอาจถูกต้องแต่ไม่ถูกใจใครบางคนก็ต้องขออภัย เพราะผมต้องมองคนส่วนใหญ่คือประชาชนเป็นสำคัญ  การทำธุรกิจคงไม่ผิดอะไรถ้ายังคงเอาผลประโยชน์ของประชาชนผู้รับบริการเป็นสำคัญ  แต่การทำธุรกิจที่มุ่งขยายออกไปอย่างไร้การควบคุมซึ่งคุณภาพนั้น ในความคิดของผมมันก็คือ ไวรัสโควิท ดีๆนี่เอง ที่แพร่ขยายไปตามที่ต่างๆ แล้วก็อาศัยเซลล์ของ host ในการทำให้มันโตและแบ่งเซลล์ จากนั้นทำลายอวัยวะต่างๆ จน host ตาย และมันก็ตายตาม host แต่มันก็ยังแพร่ไปยังที่ต่างๆ  ดังนั้น การขยายตัว หากเป็นเรื่องดีๆ มีคุณภาพ ผมก็ดีใจและยินดีเหมือนเด็กที่เจริญเติบโต   แต่ถ้าโตเป็น mass แบบ ก้อนมะเร็ง ใครอยู่ใกล้ก้อนนั้นก็ต้องศึกษาหาวิธีป้องกันตัวให้ดี  ซึ่งผมเชื่อว่า วันหนึ่ง ธรรมชาติจะ serve ตัวมันเอง  คนจะฉลาดขึ้น มีภูมิต้านทาน และไวรัส มันก็จะสูญพันธุ์ไปเอง

 

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนมาถึงตอนจบ หนักนิดเบาหน่อยก็ขออภัย  แต่อยากให้เข้าใจเจตนารมย์ว่า เรื่องจริงทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่เราทุกคนต้องให้ความร่วมมือโดยการทำงานของตนออกมาให้ดีที่สุด โดยเอาประโยชน์ของคนไข้เป็นสำคัญ  ว่ากันว่า covid-19 จะทำให้เกิด new normal เกิดขึ้น  ที่เห็นได้ชัดคือ การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการหาข้อมูลข้อเท็จจริงนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อรู้มากก็ฉลาดมาก การทำงานโดยไม่รู้จริง หรือ หลอกลวงผู้บริโภคนั้น จะใช้ไม่ได้  การล่อด้วยโปรโมชั่นราคาถูกเพื่อให้ผู้บริโภคไปรุมกันแล้วถ่ายรูปลงโซเชียลนั้นคงไม่ดึงดูดอีกต่อไป  และคนไข้คงไม่อยากกลับไปแก้งานบ่อยๆจากแว่นที่ใช้งานไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงที่จะติดโรค  

 

ดังนั้น ทำน้อยๆ ทำทีละคน สร้างทีละงาน แล้วทำให้ดี  เชื่อได้ว่า สิ่งที่ทำจะสร้างความยั่งยืนในอาชีพและวิชาชีพอย่างแน่นอน เพราะคงไม่มีเหตุผลอะไรที่คนไม่อยากได้ของดี ตรวจดีๆ หรือทำดีๆ ก็อยากจะฝากเอาไว้  

 

สวัสดีครับ

 

ดร.ลอฟท์