what's new

“FACT OF BLUE”  - the JOKER ,  มุมดีๆของแสงสีน้ำเงิน คิดให้ดีก่อนกรองทิ้ง

by Dr.Loft ,O.D.
Update ; 15 DEC 2019

 

บทนำ

 

ใน morning talk ครั้งที่แล้ว ผมได้พูดถึง ธรรมชาติของแสง ว่ามีคุณสมบัติเป็นได้ทั้ง “คลื่น” และ “อนุภาค” ซึ่งถูกต้องทั้งสองอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไรหรือกำลังอธิบายอะไร  ท่านที่ยังไม่ได้อ่านลองไปอ่านย้อนหลังกันดู https://www.facebook.com/loftoptometry/ธรรมชาติแสง

 

มาวันนี้เรามาพูดถึงแสงที่เป็นปัญหาให้ถกเถียงกันอยู่เรื่อยๆว่า “แสงสีน้ำเงิน” หรือ “blue light” แท้จริงนั้นเป็นผู้ดีหรือผู้ร้ายกันแน่ แต่ขณะที่ยังไม่มีใครมาตัดสินว่า ดีหรือเลว  แต่สินค้าก็ออกมาให้ใช้กันแล้ว มีทั้งแบบฟิล์มติดหน้าจอมือถือ  เลนส์ตัดแสงสีน้ำเงิน  คอนแทคเลนส์ไม่ทราบว่ามีหรือยัง และยังมีแบบยากินหลอกลวงผู้บริโภคอย่างอาหารเสริม Lutine ที่หลอกผู้เฒ่าผู้แก่เกลื่อนเฟสบุ๊ค  เหล่านี้ออกมาทำเงินให้กับการป้องกันแสงบลู ทั้งที่ยังสรุปกันไม่ลงตัวว่า แสงสีน้ำเงินนั้นเป็นตัวดีหรือตัวร้าย

 

จากเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง "JOKER" ขึ้นมา ที่ถือว่าเป็นเรื่อง Drama ของตัวแสดง JOKER ที่เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของคนที่ได้ชื่อว่าบรมเลวแห่งเมืองก๊อทแธม  แต่ก็บอกได้ยากว่า จริงๆแล้ว  Joker เป็นตัวดีหรือตัวร้าย ก็ขึ้นอยู่กับว่ามองในมุมของใคร  ตัวร้ายของบางคนอาจจะเป็นฮีโร่ให้กับบางคนก็ได้เช่นกัน  ซึ่งก็เหมือนกับ Blue light ที่ผมจะนำมาเขียนถึงในวันนี้  ซึ่งจะเขียนทั้งในสองแง่คือ “Good” or “Bad” or “both” ซึ่งแน่นอนว่า fact คือ "both" คือมีทั้งดีและแลว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราว่า เราจะเอาข้อดีมาใช้อย่างไรได้บ้างหรือจะหลีกเลี่ยงข้อเสียได้อย่างไรบ้าง เพราะในดีมีเสีย ในเสียมีดี  การจะไปเหมาว่า blue คือ เลวทั้งหมด  แล้วกรอง blue ทิ้งทุกอย่างด้วยการใส่เลนส์ blue cut ตลอดเวลา นั่นเป็นความพลาดอย่างหนึ่ง ที่จะได้รับประโยชน์จากแสงสีน้ำเงิน

 

ดังนั้น ทางสายกลางที่สุด ก็คือจะรู้จักมันอย่างเข้าใจ ใช้ให้เป็นและเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดสมดุลเกิดขึ้นในร่างกายและการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งพอท่านอ่านจบ ก็ตอบใจตัวเองว่า จะพอดีที่ตรงไหน

 

The Visible Light 

“แสงที่เรามองเห็นได้” หรือ “visible light” นั้นมีความซับซ้อนกว่าที่เราคิด และ เราไม่ใช่มนุษย์ที่เกิดมาแล้วตาบอดเหมือนในเรื่อง SEE ซีรี่ดังใน apple TV+ ดังนั้นตั้งแต่ลุกขึ้นตื่นเช้ามา เปิดประตูออกจากบ้านเจอแสงแดด  ทำธุระเสร็จแล้วก็เข้ามาในบ้าน เปิดสวิตช์ไฟในบ้าน เปิดคอมพิวเตอร์ หยิบมือถือมาตอบไลนส์ อ่านเอกสารในไอแพด วิ่งไปไปดู apple watch ไป  กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแต่อาศัยตาไปสัมผัสกับแสงจากแหล่งกำเนิดแสงต่างๆ ซึ่งแต่ละแสงสีก็ให้พลังงานแตกต่างกันไป  ซึ่งนอกจากนี้แล้วยังต้องสัมผัสกับแสงที่มองไม่เห็นอย่าง Ultra violet หรือ infrared ที่มองไม่เห็นแต่ร่างกายสามารถรับรู้สัมผัสพลังแสงที่มองไม่เห็นนั้นได้และร่างกายก็ตอบสนองต่อพลังงานแสงที่มองไม่เห็นนั้นแตกต่างกัน 

คนส่วนใหญ่จะตื่นตัวเกี่ยวกับแสงแดดมากกว่า เพราะเป็นแสงที่เราสามารถเข้าใจได้ง่าย ว่าในแดดนั้นมีทั้งแสงขาวที่มองเห็นได้และแสงที่มองไม่เห็นแต่รู้ว่ามันสามารถทำให้ “ดำ” หรือ “ผิวไหม้” ได้ และแน่นอนว่าเรามีครีมกันแดดเอาไว้ป้องกัน UV ในแสงแดด จะ SPF ++ เท่าไหร่ก็ว่ากันไป  แม้แต่เลนส์ก็ยังใช้ SPF ไปเล่นตลาดให้เข้าใจความหมายของคุณสมบัติการกันยูวี เป็น Gimmick ให้เล่นราคาถูกแพงตาม SPF  แต่หลังๆไม่ค่อยมีใครพูดถึงเท่าไหร่ เพราะจริงๆเรื่องของ UV เป็นเรื่องของ need เพราะเป็นเรื่อง safty  ที่ผู้ผลิตเลนส์จำเป็นต้อง add  on มาให้เรียบร้อย ไม่ควรเป็น option ว่าจะเอาหรือไม่เอาก็ได้ 

 

 

แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ก็คือ แสงขาวที่เราเห็นว่าเกิดจากดวงอาทิตย์นั้นมีแสงหลายๆสีซ่อนอยู่ในแสงขาวแล้วแต่ละสีนั้นก็มีพลังงานติดตัวมาแต่ละสีไม่เท่ากัน เราก็อาจจะสงสัยว่าทำไมบนดินเห็นแสงขาวปกติ  แต่บนท้องฟ้าเป็นสีฟ้า หรือตอนเย็นเป็นสีส้ม สีเหลือง สีแดง  หรือ เวลาเกิดรุ้งก็จะได้เห็นครบทุกสี  แต่อาจจะเห็นสักแต่ว่าเห็น แต่ไม่คิดต่อว่า แสงสีต่างๆเหล่านั้น พอมาอยู่รวมกันก็จะกลายเป็นแสงสีขาว ที่ทำให้เราเห็นสีของวัตถุต่างๆเป็นสีธรรมชาติ

 

 

แล้วแสงสีน้ำเงินคืออะไร

ในเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์มีทุกสี ตั้งแต่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง  แล้วแต่ละสีก็จะมีเฉดๆเข้มอ่อนในตัวมันเองอีกด้วย ซึ่งสาเหตุที่เป็นสีแต่ละเฉดนั้นก็ขึ้นอยู่กับแว่น ความยาวของคลื่นแสงแต่ละตัวนั้นมีความยาวคลื่นและพลังงานคลื่นเป็นอย่างไร เราเรียกว่า electromagnetic radiation

 

เมื่อแสงเหล่านี้ถูกมัดให้อยู่รวมกัน เราเรียกว่า “แสงขาว” หรือ “white light” หรือแสงอาทิตย์ (sunlight) ซึ่งพลังงานแสงถ้าเอาอย่างที่เข้าใจง่ายที่สุดมี 2 เรื่องเกี่ยวกับแสงคือ “ความยาวคลื่น” และ “พลังงานคลื่น” ซึ่งสองเรื่องนี้จะแปรผกผันกัน  “แสงความยาวคลื่นสั้นกว่าพลังงานจะมากกว่า   แสงความยาวคลื่นมากกว่าพลังงานจะน้อยกว่า”

 

ดังนั้น สีแดง มีความยาวคลื่นยาวที่สุดในย่านสีของ visible light ดังนั้นสีแดงจะมีพลังงานต่ำที่สุด  ในทางตรงข้ามแสงสีน้ำเงินเป็นพลังงานสั้นที่สุดในย่านสีของ visible light ก็จะมีพลังงานมากสุดเช่นกัน

 

แสงสีที่มีความยาวคลื่นยาวกว่าแสงสีแดงซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของย่านคลื่นแสงที่มองเห็นได้ เราเรียกกว่า “อินฟราเรด” หรือ “infrared” คนไทยเรียก “อินฟาเหรด”  ซึ่งตาจะมองไม่เห็นแสงย่านนี้ แต่ก็จะให้พลังงานออกมาในรูปของความอุ่น แต่มองไม่เห็น ซึ่งเราคงเคยเห็นหลอดไฟที่เขาเปิดเอาไว้อุ่นอาหารเช่นเบคอน ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นในโรงแรมต่างประเทศเพราะบ้านเขาอากาศเย็น ก็จะเปิด infrared lamp นี่แหล่ะ ที่ทำให้อาหารอุ่น  แต่ที่เขาต้องทำให้มันเป็นหลอดมีสีแดงออกมาด้วย ก็เพื่อให้เรารู้ว่า หลอดมันติดหรือดับ หรือเปิดสวิตช์หรือยัง

CR ;https://yourewelcomesavannah.wordpress.com

ขณะที่ปลายอีกฝั่งหนึ่งของย่านคลื่นแสงที่ตามองเห็นได้นั้น เป็นย่านของคลื่นแสงสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นที่สุดจึงเป็นแสงที่มีพลังงานสูงที่สุดด้วย บางทีก็เรียกว่า “น้ำเงินม่วง” หรือ “สีม่วง” สังเกตได้ว่า เลนส์ตัดแสงสีน้ำเงินจะมีแสงสะท้อนที่ผิวเป็นสีนำ้เงินเข้มหรือสีม่วง ดังนั้นเราจะเข้าใจว่า ช่วงความยาวคลื่นที่สั้นกว่าสีม่วงนั้น เราจะมองไม่เห็น เราจึงเรียกว่ารังสี ultra violet หรือ UV ( เราไม่เรียกว่า ultra blue เพราะมีแสงที่มองเห็นได้ที่มีคลื่นสั้นกว่าสีน้ำงเงิน และเรียกเลนส์กรองแสงว่า เลนส์ blue cut เพราะมันจะ cut ตั้งแต่ blue ลงไป  ม่วงอยู่ใต้น้ำเงินก็จะโดนกับเขาด้วยเหมือนกัน  ส่วนจะ cut blue ไปทำไม นั่นก็อีกประเด็นหนึ่ง เดี๋ยวค่อยว่ากัน)

 

blue cut lens (ฝั่งซ้าย) เลนส์เดิมที่คนไข้ไปทำมาแล้วปวดหัว จากสายตาที่ over minus ,และแก้เป็นเลนส์ขวา Multigressiv  MyLife 2 ,Solitaire protect Pro 2 ปัญหาปวดหัวก็หายไปจนสิ้น  

 

“คุณ”และ “โทษ” ของยูวี

 

UV เป็นรังสีจากแสงที่มองไม่เห็นและมีพลังงานมาก ทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีเข้มได้  ในต่างประเทศจะมีตู้ UV เพื่ออบผิวให้เป็นสีแทน  เนื่องจากบ้านเขานั้น UV ไม่แรงมากเหมือนบ้านเราซึ่งเป็นเขตร้อน  สำหรับคนที่มีเงินมาเที่ยวก็จะไปอาบแดดแถวๆหาดจอมเทียนเพื่อให้ผิวมีสีแทน กลับไปอวดที่ประเทศเขาได้ว่ามีเงินเที่ยว  แต่ถ้าไม่มีเวลามาฝั่งเอเชีย ก็จะเข้าตู้อบยูวี เพื่อให้ผิวมีสีแทน ก็สามารถมีผิวสีน้ำผึ้งโดยไม่ต้องอาบแดด

 

การสัมผัสกับรังสียูวีมากเกินไปทำให้เกิดอาการแสบหรือปวดจากอาการผิวไหม้แดดได้ เลวร้ายที่สุดของยูวีคือสามารถทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้และรังสียูมีเข้มข้นมากๆอาจทำให้เกิดกระจกตาไหม้จากยูวีเกิดเป็นตาบอดได้เรียกกว่า photokeratitis หรือ snow blindness ซึ่งเกิดในประเทศเมืองหนาวที่มีหิมะ แต่โชคดีที่บ้านเราไม่มีหิมะจึงไม่มีเรื่องนี้

 

cr ; allaboutvision.com

 

แต่ประโยช์ก็มีอยู่ เพราะการสัมผัสกับรังสียูวีในปริมาณที่เหมาะสมจะเกิดผลดีต่อสุขภาพ เนื่องจากร่างกายสามารถนำไปสร้าง Vitamin D  เพื่อใช้ในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงได้  ฝรั่งเรียกว่า “sunshine vitamin” เพราะเป็น vitamin ที่ให้ประโยชน์หลายอย่าง เช่นส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน และ เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  อ่านเพิ่มเติมประโยช์จาก vit D https://www.healthline.com/health/food-nutrition/benefits-vitamin-d#fights-disease

 

โดยทั่วๆไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะกำหนดว่า visible light จะมีความยาวคลื่นตั้งแต่ 380 นาโนเมตรซึ่งเป็นย่านความยาวคลื่นแสงสีน้ำเงิน ไปจนถึง 700 นาโนเมตรซึ่งเป็นช่วงความยาวคลื่นของแสงสีแดง  โดย 1 นาโนเมตร มีค่าเท่ากับ 0.000000001 เมตร  หรือ 1 ในพันล้านเมตร

 

Blue light นั้นเป็นย่านของคลื่นแสงที่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งมีความยาวคลื่นตั้งแต่ 380nm-500nm  แต่ถ้าจะมองเฉพาะแค่ส่วนของ นำ้เงิน-ม่วง ก็จะมีความยาวคลื่นในช่วง 380-450 nm หรือ blue-turquoise light นั้นมีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 450-500 nm ดังนั้นถ้าจะว่ากันไปแล้วคลื่นแสงพลังงานสูง (HEV-high energy visible light) ของย่านสีน้ำเงินนั้นคิดเป็นปริมาณ 1 ในสามของช่วงความยาวคลื่นแสงที่มองเห็นได้ทั้งหมด จึงไม่แปลกอะไรที่การใช้เลนส์ blue block จะทำให้สีที่มองเห็นนั้นเพี้ยนไปเกือบทั้งหมดและมันจะเป็นอย่างไรถ้าต้องใส่แว่นที่ทำให้สีเพี้ยนตลอดเวลาเพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งเมื่อแก่ตัวแล้วฉันจะไม่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม (มั้ง) แต่ก็ไม่มีใครการันตีว่าการใส่ blue block ตลอดชีวิตจะไม่มีทางเป็นจอประสาทตาเสื่อมตอนอายุมาก that’s it !

 

เอาหล่ะเรามาดูความจริงเกี่ยวกับแสงสีน้ำเงินกันดีกว่า ว่าเขาจะเลวร้ายเกินไปที่เราจะไม่ยอมให้เขาเข้ามาในชีวิตไหม

 

The Blue Light Key point

Blue light  เป็นคลื่นแสงพลังงานสูงซึ่งก็คล้ายๆกับพลังงานสูงของรังสียูวีซึ่งมีความยาวคลื่นสั้นและพลังงานสูง ซึ่งก็ได้พูดถึงข้างต้นว่า มีทั้งดีและเลวอยู่ในตัวเดียวกัน ซึ่งเราจะมาดูว่า มีดีตรงไหน เลวตรงไหน จะได้อยู่กับมันได้อย่างปกติสุข ได้รับประโยชน์และลดโทษ ชีวิตก็ enjoy living  เพราะความไม่รู้จริงแล้วต้องตัดแสงบางสีทิ้งออกจากชีวิต ยอมเห็นโลกที่หม่นหมองตลอดเวลาผ่านเลนส์บลูแล้ว ดูชีวิตจะเศร้าหมองไปหน่อย

 

1.Blue light is everywhere.

แสงสีน้ำเงินนั้นมีอยู่ทุกหนแห่งและแหล่งกำเนิด blue light ตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดก็หนไม่พ้น “ดวงอาทิตย์” ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เปิดประตูออกไปนอกบ้าน ยังไงก็เจอกับแสงสีนำ้เงิน  แต่ก็ยังมีแสงสีน้ำเงินที่เกิดจากผลงานมนุษย์เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดแอลอีดี และหน้จอสกรีนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นจอทีวี จอมอนิเตอร์ จอไอแพด ไอโฟน บลาๆๆๆ มากมายเหล่านี้ล้วนแต่อุดมไปด้วย blue light ทั้งสิ้น และเวลาเขาโฆษณาความชัดของหน้าจอ สีสันสดใส สมจริงนั้น เกิดจากความสามารถของจอในการที่จะปล่อยคลื่นแสงได้ทุกย่านสีอย่างถูกต้องสมจริง ไม่กรองออก  แล้วเราก็ไปใส่เลนส์บลูหรือติดฟิล์มกันรอยบลูให้สีจอเพี้ยนๆ (อืม..น่าคิด)

 

อุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านี้ก็ปล่อยแสงสีน้ำเงินเหมือนดวงอาทิตย์นั่นหล่ะ เป็นคลื่นแสงประเภทเดียวกัน แต่ประเด็นที่เขาไปพูดถึงก็คือ การที่คนเราสมัยนี้นั่งจ้องจอกันทั้งวัน ใช้สายตากับจอดิจิทัลเกินพอดีมันจะทำอะไรกับตามนุษย์ไหม

 

ก็เลยมีการศึกษาผลกระทบของแสงสีน้ำเงินต่อดวงตามมนุษย์ ก็ได้ผลออกมาสารพัด  มีการเอาแสงสีนำ้เงินไป burn จอประสาทตาของสัตว์ด้วยควมเข้มระดับ 6000 ลักซ์ ต่อเนื่องเป็นวันๆ แล้วบอกว่าจอประสาทตาเกิดความเสื่อม (ซึ่งจริงๆคงไม่มีใครเอาตาไปเบิ่งเพ่งจอที่มีความสว่างระดับนั้นต่อเนื่องเป็นวันๆ เดือนๆ)  ก็เลยสรุปว่า การดูหน้าจอมากเกินไป อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดจอประสาทตาเสื่อมตอนแก่ได้ดอกจันทร์ว่า  ***อาจเสื่อมตอนแก่  (พูดอีกนัยหนึ่งคือ อาจจะไม่เสื่อมตอนแก่ก็ได้)

 

แต่อย่างไรก็ดี ความกลัวนี้ก็สามารถนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าทางการตลาดได้มากมายมหาศาล  สามารถสร้าง value ให้กับเลนส์ธรรมดาๆให้กลายเป็นเลนส์ติดเกราะกันแสงสีนำ้เงินได้  มีกระทั่งเครื่องมือทดสอบว่า ฉันกันได้ดีกว่า แต่ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะกันทำไม  คล้ายๆกับว่า พระเครื่องที่ฉันห้อยคอนั้นกันผีได้ดีกว่า  แต่ผีมีจริงๆนะ ฉันเคยเห็นในหนัง  แต่ถ้ามองในเรื่องความสบายใจ หรือความอุ่นใจเวลาห้อยพระที่คอ นั่นก็คือว่าคุ้มค่ามากๆ แต่มันก็เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเรามีความเชื่อในเรื่อง “ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่”

 

เรื่องจริงเรื่องที่หนึ่ง..ผ่าน

 

2. HEV ทำให้ท้องฟ้ามีสีคราม

HEV-High energy visible light หรือคลื่นแสงความยาวคลื่นสั้นพลังงานสูงนั้น เป็นเหตุให้เกิดท้องฟ้ามีสีฟ้าคราม เนื่องจากแสงคลื่นสั้น จะมีความถี่ในการสั่นสูง ทำให้เกิดการกระเจิงแสงได้ง่ายกว่าแสงสีอื่น เมื่อมันวิ่งจากดวงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศซึ่งมีโมเลกุลของอากาศและน้ำอยู่ก็จะเกิดการกระเจิงของแสงเป็นสีฟ้าให้เราเห็น ในช่วงหน้าหนาวที่ค่อยมีเมฆ ปริมาณความเข้มข้นของแสงก็ยิ่งผ่านมาได้มาก ก็จะกระเจิงมาก เราจึงเห็นท้องฟ้าที่โปร่งในหน้าหนาวนั้นมีสีน้ำเงินเข้ม

 

cr ; 77kaoded.com

 

3.ดวงตาก็มีระบบการบล๊อคแสงสีน้ำเงินโดยธรรมชาติ

โครงสร้างดวงตาส่วนหน้าเช่น กระจกตา และ เลนส์ตา นั้นมีศักยภาพในการบล๊อครังสียูวีได้ดีมาก เพื่อป้องกันไม่ให้รังสียูวีเข้าไปถึงจุดรับภาพของจอประสาทตาซึ่งอยู่ทางด้านหลังของลูกตา เรื่องจริงก็คือว่า มีปริมาณยูวีไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ที่สามารถทะลุทะลวงผ่านรูม่านตาไปจนถึงจอประสาทตาแม้ว่าเราไม่ได้ใส่แว่นกันแดดก็ตาม

 

"แล้วใส่แว่นกันแดดไปเพื่ออะไร"

 

ความจริงเรื่องนี้ เราใส่แว่นกันแดดที่กันยูวีได้ 100 % นั้นไม่ได้เพื่อป้องกันจอประสาทตา แต่เราป้องกันส่วนอื่นๆของตาที่มันต้องเอาตัวไปรับรังสียูวีแทน เพื่อป้องกันกระจกตาไม่ให้กระจกตาไหม้จากการโดนยูวีเผา   ป้องกันเลนส์ตาไม่ให้เป็นต้อกระจก  ป้องกันเยื่อบุตาขาวไม่ให้เป็นต้อลม ต้อเนื้อ  ต่างหาก

 

แต่ส่ิงที่คนเข้าใจผิดกันมากก็คือ คิดว่า ความเข้มดำของเลนส์กันแดดคือกันยูวี  ซึ่งจริงๆคือไม่เกี่ยวกัน  ยูวีนั้นเป็นสารเคลือบ ส่วนความเข้มดำนั้นเป็นการกรองปริมาณแสงที่จะเข้า ไม่ใช่กันยูวี เลนส์ขาวใสไม่ได้หมายความว่าไม่กันยูวี ส่วนเลนส์กันแดดดำเข้มไม่ได้หมายความว่าจะกันยูวี  ดังนั้นแว่นกัดแดดตลาดนัด 3 อันร้อย นั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกันยูวีได้ เพราะ cost ในการทำเลนส์กันยูวีแท้ๆนั้นราคาสูง  และ ยิ่งจะอันตรายหนักถ้าใส่กันแดดเข้มดำแล้วไม่ได้เคลือบสารกันยูวี  เพราะความมืดนั้นทำให้ม่านตาขยาย ยิ่งทำให้ยูวีเข้าได้หนักกว่าเดิม

 

บางคนนึกเถียงในใจว่า “แต่เขามีฉลากแปะว่ากัน UV 400 นะ เขาไม่โกหกหรอก”  หราาาา....ลาเวนเดอร์จัง โลกมนุษย์เลวร้ายกว่าที่เราคิดครับ มนุษย์ cheating ได้ทุกอย่าง เพื่อเอาตัวรอด เขาไม่สนใจหรอกครับว่าเหยื่อที่ซื้อของเขาไป ตาจะพังอย่างไร ดูโฆษณาลูทีนในเฟสบุ๊คเอาก็แล้วกันมีหลายแบรนด์​ Luna Lutina Lutia สารพัดจะตั้งชื่อ การอวดอ้างสรรพคุณเวอร์ขนาดที่น้ำหมักป้าเฉ่งต้องชิดซ้ายและดูว่าเหยื่อนั้นเยอะขนาดไหน คุณลุงคุณป้าคุณตาคุณยาย กว่าจะเก็บหอมรอมริบมาได้แต่ละบาท เจอพวกนี้หลอกเงินกินเรียบ เพราะเงินซื้อวิญญาณมนุษย์เลวๆได้ครับ  โลกไม่ได้สวยอย่างที่เราจินตนาการครับ that’s human Fact!!

 

ลักษณะของโฆษณาในประเทศที่กำลังพัฒนา เราต้องเร่งพัฒนาให้คนในประเทศมีวิจารณญาณในการเสพสื่อและแม่ค้ามีจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ 

 

กลับมาที่แสงสีน้ำเงิน

 

ตามนุษย์มีกลไลในการนป้องกันตัวเองจากแสงสีน้ำเงินได้โดยเม็ดสี หรือ pigment ที่เรียกว่า Macula pigment  ได้แก่ Lutein และ zeaxanthin ซึ่งเม็ดสีทั้งคู่เป็น carotenoid pigments ซึ่งพบหนาแน่นอยู่มากที่เรตินาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ macula ซึ่งทำหน้าที่สำคัญคือเป็นฟิลเตอร์สำหรับป้องกัน macula จาก blue light และทำหน้าที่สำคัญในการต่อต้านอนุมูลอิสระเพื่อลดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น เพื่อไม่ให้เซลล์ประสาทตาถูกทำลาย และความที่เม็ดสีดังกล่าวสามารถดูดซับแสงสีน้ำงเงินได้ดี ก็ช่วยให้เรื่องลดการกระเจิงของแสงจากคลื่นสั้นความถี่สูง ทำให้ภาพมีความคมชัดสูง

 

ที่เขาทำยาขายบนเฟสบุ๊คก็เอามาจากประเด็นตรงนี้แหล่ะ ว่าอาหารอะไรที่มันมีสารพวกนี้อยุ่เยอะ ก็ไปสลัดเอามาทำอาหารเสริมบำรุงตา  เพราะเชื่อว่าถ้ามันมีอยู่ที่จอตาเยอะ แล้วเราเติมไปเยอะๆ มันก็น่าจะดี เกิดเป็นการเพิ่มมูลค่าที่เกินจริงไปมาก ไปๆมาๆ ก็ถึงเป็นป้องกันแสงสีฟ้า เป็นต้องลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก ต้อหิน ไม่ต้องผ่า ไม่ต้องหาหมอ  นั่นก็เกินเหตุไป นี่แหล่ะตัวอย่างความไม่มีจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ 

 

ดังนั้นธรรมชาติของตาเขาฉลาดกว่าที่เราคิด เขาออกแบบตัวเองอย่างดีเพื่อให้ได้เห็นสีตามความเป็นจริง แต่สิ่งที่เรากังวลก็คือ “อะไรที่มากเกินไป” ไม่ดีทั้งนั้น จึงต้องมีเลนส์ที่ช่วยป้องกันแสงสีน้ำเงินให้มนุษย์ในยุคดิจิทัล เพื่อหวังว่ามันจะช่วยลดความกังวลในการใช้ชีวิตได้บ้าง ด้วยมันมีมูลเหตุของการเชื่อมโยงความเป็นไปได้ว่า 

 

มีคนจำนวนมาก เริ่มรู้สึกปวดตา หรือ eye strain หลังจากใช้อุปกรณ์ดิจิทัลต่อเนื่องเป็นเวลานาน (จริงๆผมว่า ถ้าจะอ่านหนังสือนานเหมือนเล่นเฟสบุ๊คก็คงจะปวดเหมือนกัน) แต่ก็มีความเป็นไปได้  ว่าดูจอจะปวดตากว่าดูหนังสือ เพราะหนังสือนั้นใช้แสงจากภายนอกกระทบกระดาษแล้วสะท้อนเข้าตา ในขณะที่หน้าจอนั้นสร้างแล้วส่งมายังตาโดยตรง น่าจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่างกัน  และแสงที่สะท้อนวาวๆจากหน้าจอก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ปวดตาเพราะต้องใช้ความพยายามในการเพ่งจ้องดู  การใช้เลนส์กรองแสงน้ำเงิน ซึ่งจริงๆคือเลนส์ที่ออกแบบให้ชั้น multi-coat นั้นสะท้อนเอาความถี่ในย่านสีม่วงน้ำเงินออก แสงที่ขาดสีน้ำเงนไปจึงมีสีเหลือง เราจึงเห็นว่าเลนส์บลูจะมีสีเหลืองเหมือนเลนส์เก่า เพราะถ้าจะตัดความยาวคลื่นสั้นออก ก็จะต้องกรองด้วยความยาวคลื่นที่มากกว่า

 

ดังนั้น เลนส์บลู เราคาดหวังว่า จะกรองแสงน้ำเงินที่เราเชื่อว่ามันจะไปทำอะไรดวงตาในอีกหลายสิบปีข้างหน้า  ลดอาการปวดตา  พร่ามัว ปวดหัว นอนไม่หลับ จากเหตุข้างต้น ก็เลือกดูเอาว่า จะพักตาเป็นระยะ ให้ตาได้พักบ้าง หรือจะโหลดงานแบบต่อเนื่องยาวๆ ก็หาเลนส์บลูมาใส่ก็ไม่ผิดกติกาอะไร  ถ้ากังวลจนไม่เป็นอันทำงานทำการแล้วก็หามาใส่ก็ได้จะได้ไม่ต้องคิดเรื่องนี้ 

 

แต่ที่ผิดและยอมความกันไม่ได้ก็คือ เอะอะ อะไรก็โยนบาปให้แสงน้ำเงินทั้งหมด  ทั้งๆที่แท้จริง อาจจะวัดสายตาให้คนไข้ผิด จ่ายเลนส์ไม่ตรงค่าสายตาจริง  ตัดเอียงทิ้ง ตบองศาเข้าแกนหลัก  แก้สายตาให้เข้ากับเลนส์ที่มีอยู่ในสต๊อก เซนเตอร์ไม่ตรง ฝนเลนส์เบี้ยว แว่นแบี้ยวไม่ดัดให้เหมาะสม  เหล่านี้ต่างหากที่เป็นปัญหาที่แท้จริง  ผมกล้าพูดเพราะ loft optometry ทำมา 5 ปี ผมไม่เคยจ่ายเลนส์บลู และก็ไม่เคยมีใคร complain เรื่อง eyestrain จากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล  และผมเองก็ไม่เคยใช้เลนส์ประเภทนี้ แต่ก็ไม่ได้มี complain อะไร  แล้วไอ้ที่ใส่ blue แล้วยังปวดหัวนี่มันยังไง  จะอธิบายคนไข้ยังไง  และตัวผมไม่ได้มีปัญหากับแสงสีนำ้เงิน แต่อยากกระตุกผู้ที่ทำอาชีพดูแลปัญหาสายตาให้กับผู้คนให้กลับไปทำงานคลินิกตรวจตาให้ดีก่อนไหม ถ้าทำดีแล้วค่อยคุยเรื่องบลู ในภายหลัง

 

บางคนนึกเถียงในใจ ว่า “ใช่เหรอ เขาเปิดร้านมาตั้ง 20 ปี เขายังตรวจตาผิดๆกันอยู่หรือ สาขาเขาก็เยอะ แต่งตัวดี พูดจาไพเราะ ลดเยอะ เขาไม่หลอกลวงผู้บริโภคหรอก ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง สคบ.คงเล่นงานไปแล้ว”  จ่ะ...ตามนั้น  ไม่เดียงสาจริงๆ โลกนี้โหดร้ายกว่าที่เราคิดครับ  โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาที่ขับเคลื่อนธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความหิวโหย ที่กินไม่เคยอิ่ม ราวกับหลุมดำ ที่พยายามดูดเอาทุกอย่างเข้าหาตัว เขาไม่ได้สนใจเรื่อง มโนธรรมอะไรหรอกฮะ  ผู้บริโภคทำได้ก็เพียงแค่ ใส่เกราะทางความรู้ให้ตัวเอง เพื่อป้องกันการถูกหลอกครับ เพราะเท่าที่สังเกตุดูจาก FAKE NEWS นั้น  บางข่าวไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนเชื่อได้ แต่ก็เช่ือกันแบบว่าหัวปักหัวปำ กระทั่งว่าเขาเอาข่าวจริงมาก็หาว่าข่าวจริงเป็นข่าวลวง หรือสินค้าและบริการบางอย่างก็ดูไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนหลงเชื่อ แต่ก็มีจริงๆ  ดังนั้น สังคมเรามันดูน่ากลัวยังไงชอบกล อาจเป็นเพราะเรากำลังพัฒนาอยู่ แล้วเทคโนโลยีมันมาเร็วเกินแล้วปรับตัวกันไม่ทันมั้ง เลยเชื่อง่าย 

 

4.แสงสีน้ำเงินอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นจอประสาทตาเสื่อม

แสงสีน้ำเงินอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นจอประสาทตาเสื่อม เหมือนกับบุหรี่ ที่คนสูบบุหรี่อาจทำให้เสี่ยงที่จะเกิดจอประสาทตาเสื่อม แต่ผมเห็นคนสูบบุหรี่หลายคนที่กลัวจอประสาทตาเสื่อมจากแสงสีน้ำเงิน จนต้องหาแว่นมาใส่ แต่ไม่ยอมเลิกสูบบุหรี่ มันก็ดูย้อนแย้งว่า ตกลงเขากลัวหรือไม่กลัวจอตาเสื่อม

 

เอาหล่ะ ลองไปดูความเป็นไปได้เกี่ยวกับเรื่องนี้  ซึ่งแท้จริงเราก็ยังไม่รู้ว่าเหตุที่แท้จริงของ AMD มาจากอะไร  และ ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้  รู้เพียงปัจจัยเสี่ยงว่า "น่าจะ" หรือ "อาจจะ" เพราะบางคนเป็น บางคนไม่เป็น แม้จะใช้ชีวิตหรือคลุกอยู่กับปัจจัยเสี่ยงแบบเดียวกัน

 

แสงบลูนั้นก็เหมือนกับแสงอื่นๆ ที่สามารถวิ่งผ่านตาไปถึงชั้นที่ในที่ลึกที่สุดในลูกตาได้ และก็มีงานวิจัยที่บอกว่า การใช้แสงบลูไปเผาเซลล์รับภาพที่จอประสาทตาต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้นสามารถทำให้เซล์ถูกทำลายได้ และเมื่อ macula ถูกทำลายก็จะตาบอด  แต่ร่างกายก็มีกลไกการป้องกันบลูอย่างที่ได้เรียนไปข้างต้น 

 

คำถามที่ต้องถามขึ้นมาก็คือ “แล้วมันต้องเป็นบลูปริมาณมากขนาดไหนหล่ะ” ที่จะถึงขนาดทำลายจอประสาทตาได้  ซึ่งผมก็ตอบว่า “ก็ไม่รู้ซีนะ” แต่เราก็ได้แต่คาดหวังว่า การที่เราเอา filter blue ไปใส่กันไว้ก่อน ระหว่างรองานวิจัยออกมายืนยันเรื่อยๆ ก็ไม่ผิดอะไรถ้าเรายอมรับกับโลกเหลืองๆ มองอะไรก็เหลืองๆ และหวังว่าวันหนึ่งพอเราแก่ตัวลงแล้วอาจจะไม่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม  It’s OK   (แต่ผมไม่กลัว เพราะปากอย่างผมอาจจะไม่ได้ทันแก่ดูตัวเองเป็นจอประสาทตาเสื่อม)

 

5.Blue light ทำให้ปวดตา

อย่างที่ได้พูดไว้ข้างต้นว่า แสงสีน้ำเงินเป็นแสงคลื่นสั้นพลังงานสูง ซึ่งเป็นแสงสีที่เกิดการกระเจิงของแสงง่ายกว่าแสงสีอื่น  ทำให้เลนส์ตาต้องทำงานหนักในการพยายามโฟกัส  ดังนั้นเมื่อเราอ่านหรือทำงานกับตัวอักษรบนหน้จอคอมพิวเตอร์ซึ่งปล่อยแสงสีน้ำเงินออกมามากนั้นเราจะรู้สึกล้าตาได้ง่าย เนื่องจากในนั้นมีการฟุ้งกระเจิงของแสงซ่อนอยู่ คล้ายๆกับ visual noise ทำให้ความคมชัดลดลง  ตาก็จะยิ่งต้องโฟกัส เลยเกิดเป็นอาการตาล้าขึ้นมา เราเรียกว่า digital eye strain

 

ซึ่งก็มีงานวิจัยออกมาบอกว่า เลนส์ blue block ที่ตัดความยาวคลื่นแสงตั้งแต่ 450nm (blue-violet light) ลงมานั้นสามารถเพิ่มความคมชัดได้ดีขึ้น ( ก็แหงสิ สีเหลืองเป็นสีที่ macula ไวต่อการรับรู้ที่สุดแล้ว การกรองสีอื่นทิ้งแล้วเอาแต่สีเหลืองย่อมทำให้คมชัดกว่าเป็นธรรมดา  เห็นแว่นเหลืองที่นักยิงปืนใส่ไหม หรือเห็นแว่นกันแดดสีเหลือง สีน้ำตาลไหม ลองใส่ดู เราจะรู้สึกว่ามันชัดกว่าสีอื่น ดังนั้นความสบายตาน่าจะเกิดจากการกรองเอาแสงที่ฟุ้งกระเจิงจากแสงคลื่นสั้น ก็เลยทำให้ชัดขึ้น โฟกัสง่าย เลยลดการเมื่อยตา แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าได้แก้ไขปัญหาสายตาถูกต้องอย่างดีแล้ว 

 

แต่ผมเห็นหลายคนที่ใส่เลนส์บลู เขาเชื่อว่า เลนส์ blue block มันเป็นราวกับ “ปาฏิหาริยะเลนส์” คือใส่แล้วจะรอดพ้นจากสิ่งอวมงคลทั้งหลายกันเลยทีเดียว เพราะร้านแว่นและสื่อบนเฟสบุ๊คสอนให้เขาเชื่ออย่างนั้น ก็แปลกดีที่เราคิดว่า ในยุคข้อมูลข่าวสารมากมายอย่างนี้ มันควรจะทำให้คนในสังคมฉลาดขึ้น แต่ก็ดูเหมือนจะตรงกันข้าม เพราะมีคนมากมายถูกคนฉลาด ปั้นน้ำเป็นตัวแล้วเอาออกมาขาย อย่างอาหารเสริมรักษาตาได้ทุกโรค (ยกเว้นโรคประสาท) 

 

6.Blue light กับคนไข้ผ่านตัดต้อกระจก

เรื่องจริงก็คือว่า “ทุกคนเกิดมาต้องเป็นต้อกระจก”อยู่ที่ว่า จะตายก่อนเป็น หรือเป็นก่อนตาย  ถ้าดูแลตาดีๆก็อาจจะตายก่อนได้เป็น  แต่ถ้าดูแลตาไม่ดีก็อาจจะได้เป็นก่อนตาย ก็มีเท่านี้และก็ไม่ได้แปลกอะไรกับการแพทย์สมัยใหม่ในการเปลี่ยนเลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนเลนส์ขุ่นเดิม ทำได้ดี แผลน้อย พักฟื้นเร็ว เหมือนได้ตาใหม่ 

 

แต่สิ่งที่ต้อง concern ก็คือ เลนส์เดิมธรรมชาตินั้น มีคุณสมบัติการป้องกันยูวีอย่างชนิดที่ว่าที่สุดของการป้องกัน และยังกรองคลื่นพลังงานสูงย่านสีน้ำเงินม่วงได้บางส่วน ดังนั้นเมื่อเอาเลนส์เก่าออก แล้วใส่เลนส์เทียมเข้าไป ก็ต้องคำนึงถึงสมบัติการป้องกันยูวีและแสงพลังงานสูงเหล่านี้ด้วย

 

แต่ส่วนตัวคิดว่า เอาแค่กัน UV 100% ก็พอ อย่าถึงกับทำ blue block เลย เพราะโลกที่เหลืองๆ นั้นคงไม่โสภาเท่าไหร่ ถ้ากลัว ก็ใส่แว่น blue block เอา ดูจะสร้างสรรค์กว่า

 

และสุดท้าย Blue ไม่ได้เลวบริสุทธิ์  ซึ่งมุมดีๆของเขาก็มีมาก

 

7.Blue light ไม่ได้เลวทั้งหมด

 

ประเด็นก็คือว่า ถ้าแสงสีน้ำเงินไม่ได้เลวทั้งหมด แต่ทำเรื่องดีๆมากมาย ถามจริงๆว่า คุณจะเนรเทศสีแบบนี้ออกไปจากชีวิตคุณได้ลงคอเชียวหรือ คุณจะไม่ยอมให้เขาเข้ามาในชีวิตคุณด้วยการใส่ blue block ตลอดเวลาเชียวหรือ ผมว่านั่นมันเป็นความคิดที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ลองคิดทบทวนใหม่ แล้วใช้งานให้เหมาะสมดีกว่าไหม

 

มีงานวิจัยออกมามากมายว่า การได้รับ blue light ในปริมาณที่เหมาะสมนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพ ในงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า HEV นั้นสามารถกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว  เพิ่มความจำ  ช่วยในกลไกการระลึกย้อนหลัง  และ ทำให้อารมณ์สดใสร่าเริง  นอกจากนี้ยังมีการใช้ HEV ไปบำบัดโรคทางอารมณ์  SAD-seasonal effective disorder ซึ่งเป็นโรคชนิดหนึ่งในกลุ่มโรคซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนฤดู จากช่วงฤดูใบไม้ร่วงไปจนถึงฤดูหนาว โดยการบำบัดนั้นจะให้คนไข้ดูแสงขาวซึ่งมีปริมาณของแสงสีน้ำเงินอยู่มาก

 

แสงสีน้ำเงิน ยังมีความสำคัญต่อระบบจังหวะการหลับตื่นของชีวิต คือมนุษย์จะรู้ว่า ช่วงไหนต้องนอน ช่วงไหนต้องตื่น ซึ่งกิจกรรมของเซลล์ของอวัยวะต่างๆในร่างกายแต่ละช่วงก็ไม่เหมือนกัน การหลั่งฮอร์โมน การซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกายก็ไม่เหมือนกัน  ดังนั้นการได้รับกับแสงสีน้ำเงินในเวลาทำงานนั้นเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบการหลับตื่นของร่างกาย ส่งผลดีต่อสุขภาพ

 

แต่การที่ดูจอมากเกินไปโดยเฉพาะในเวลาก่อนนอน ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ดูหนัง เขี่ยเฟสบุ๊คบนเตียงก่อนนอน ทำให้ปริมาณแสงสีนำ้เงินนั้นผิดเวลาไปหน่อย ก็จะไปรบวนวงจรที่ควบคุมการหลับตื่น ทำให้นอนหลับไม่สนิทและตื่นเช้ามาก็เพลีย แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คงจะเรื่องการหลั่งฮอร์โมนช่วงที่เราหลับสนิทเพื่อออกมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายทำได้ไม่ดี ทำให้เกิดของเสียสะสมในร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่การก่อโรคต่างๆได้ (มั้ง)  จริงๆผมก็ชอบอ่านหรือเขียน content บนเตียงนอนนะ  ถ้าอ่านหนังสือหนักๆ มันก็ง่วงนะ ก็เลยไม่รู้เหมือนกันว่า มันทำให้นอนไม่หลับจริงไหม ไม่ทราบเหมือนกัน

 

แต่เดชะบุญว่า  iphone เขามี night mode เปิดแล้วจอจะเหลืองโดยไม่ต้องใส่ blue block ไม่ต้องติดฟิล์มให้จอเหลือง ก็ช่วยลดปริมาณแสงสีนำ้เงินเข้าตาในเวลาก่อนนอนได้  แต่ก็ไม่การันตีว่าจะนอนหลับนะ ก็ถ้า social มันจะสนุกขนาดนี้ จะเอาเวลาไปง่วงตอนไหน  ก็ไม่รู้ซีนะ

 

ทิ้งท้าย "เลนส์ตัดแสงสีนำ้เงินจำเป็นไหม"

เอาหล่ะ  ข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับแสงสีน้ำเงินก็ได้พูดไปทั้งหมดแล้ว ทั้งส่วนดีและส่วนเลว  เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว งานผมก็ถือว่าเสร็จ คือได้ทำหน้าที่ตัวเองแล้วในการนำเสนอข้อเท็จจริง  ส่วนตัวท่านจะพิจารณาเอาว่าจะใช้หรือไม่ใช้อย่างไร

 

แต่ชี้นำให้นิดหนึ่ง คือถ้าเรามีแว่น blue block คู่เดียว แล้วใส่ทั้งวัน นั่นหมายความว่า เราหมดสิทธิ์รับคุณประโยชน์จากแสงสีน้ำเงินเลยนะ และต้องก้มหน้ารับชะตากรรมก็คือ ซื้อ iMac , Macbook Pro , iPad pro , iPhone 11  จอ 5K ,4K OLED เจอชัดสมจริงมา  เพื่อมองผ่านเลนส์แล้วเหลืองๆ  ดูอะไรก็เหลืองๆ สีเพี้ยนๆ แล้วจะซื้อจอดีๆมาทำไม (ไม่เข้าใจ)  จอเขามีให้ตั้ง nigh mode ก็ตั้งเอาเถอะ  จะทนอยู่กับโลกเหลืองๆไปทำไม  หรือจะทนเพื่อฝันว่าวันหนึ่ง ยามฉันแก่จอประสาทตาฉันจะไม่เสื่อมบอกได้เลยว่าบริษัทเลนส์ไม่มีใครกล้าการันตี และก็ไม่มีใครการันตีได้ว่าคุณตะบันดูจอแล้วคุณจะเป็นจอประสาทตาเสื่อม

 

แสงสีน้ำเงินมีทั้งประโยชน์และโทษ  แต่บุหรี่มีแต่โทษกับโทษ ลดบุหรี่ให้ได้ก่อนแล้วค่อยกรองแสงสีน้ำเงิน

 

ถ้าปวดตาอยู่ และเชื่อว่าสาเหตุจากแสงสีน้ำเงินทำให้ปวดตา ก็อยากจะบอกว่า สาเหตุของอาการปวดตามาจากเรื่องอื่นมากกว่าแสงสีน้ำเงิน  ผมไม่เคยแก้ปัญหาคนไข้เมื่อยตา ปวดตา ตาล้า ด้วยเลนส์บลูแม้แต่เคสเดียวและปัญหาก็จบด้วยสายตาและปัญหากล้ามเนื้อตาที่ได้รับการแก้ไขถูกต้อง  ด้วยเลนส์คุณภาพที่ดี  ด้วยแว่นตาที่เบา ใส่สบาย  ผมเองก็เป็นมนุษย์หน้าจอ ที่ชอบอ่าน เขียน ทำงานบนจอ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าปวดหัว

 

แต่ถ้าต้องการ contrast จาก filter สีเหลืองจาก blue blocker ก็ได้เช่นกัน ใส่ได้ ลด glare จากหน้าจอ ก็น่าจะช่วยให้คมชัดขึ้น ถ้าคิดว่าสำคัญกว่าสีเพี้ยนก็สามารถใช้ได้  สุดท้ายก็คงอยู่ที่ความพอดี เหมาะสม หรือคนที่ชีวิตไม่เคยห่างหายจากหน้าจอเลย ก็ใส่เพื่อความสบายใจได้ ไม่ได้ผิดอะไร

 

ดังนั้นส่วนตัวคิดว่าให้ผู้ให้บริการแว่นตาไม่ควรยกยอปอปั้นสรรพคุณของเลนส์บลูจนเกินงาม มันจะทำให้วงการดูไม่ค่อยดี เขาเฮโลอะไรก็เฮโลตาม  เขาขายเลนส์ EMI ตัดคลื่นแม่เหล็กๆไฟฟ้าจากหน้าจอก็เฮโลตาม พอเขาบอกว่า EMI ไม่ช่วยอะไร  ก็วงแตก แล้วไปเฮโลกับ Gimmick ใหม่ ๆ ซึ่งมันดูไร้จุดยืน แล้วจะเป็นที่พึ่งพาของคนได้อย่างไร  

 

ผมว่าดีที่สุดคือกลับไปเรียนพื้นฐานการตรวจวัดสายตาว่าที่ถูกต้องนั้นเขาทำกันอย่างไร  มุมองศาแว่นที่ถูกต้องนั้นเขาดัดกันอย่างไร  การเลือกโครงสร้างเลนส์ให้เหมาะกับปัญหาสายตานั้นเขาเลือกกันอย่างไร (ไม่ใช่เลือกตามที่ lens supplier สอนเชียร์ขาย) พอทำได้ดีหมดแล้ว จะไปจ่ายเลนส์บลู ก็ไม่ผิดอะไร ก็แนะนำข้อดีข้อเสียให้คนไข้เข้าใจ แล้วให้เขาเลือกเอง ไม่ใช่ไปเชียร์บังคับให้เขาเอา เพราะการไปทำอย่างนั้นมันดูเหมือนวงการแว่นตาเป็นเด็กเลี้ยงแพะ  มันจะพาลให้วงการแว่นตาดูไม่มีความน่าเชื่อถือ  จริงๆก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอย่างนั้น เพราะเราทำลายกันมานาน  

 

เริ่มจากความคิดแบบนายทุนที่เห็นเหมืองทองที่ไม่มีเจ้าของสัมปทานและไม่มีกฎเกณฑ์กติกา ก็แห่กันมาขุด ใครทุนหนาก็หาเครื่องมือดีๆมาขุด หาคนมาขุด  ทั้งไทยทั้งเทศก็แห่กันมาขุด โดยปราศจากการควบคุมใดๆจากทางภาครัฐทิ้งสิ้น  ผลตามมาคือ นายทุนได้ทอง  แต่ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม สภาพธรรมชาติ คุณภาพชีวิต ถูกทำลายสิ้น  

 

เหมือนกันกับวงการแว่นตาในประเทศไทย ที่ไร้การควบคุม ด้วยระบบทุนที่มักไม่สนใจอยู่แล้วเพราะทำตลาดบนพื้นฐานการ cheating จนชิน ชินจนผิดกลายเป็นเรื่องธรรมดา  ด้วยการบิดเบือนตลาดให้เกิดความรู้สึกว่า การแก้ไขปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นไม่มีความจำเป็น  ใครทำก็ได้  แล้วบิดให้เป็นเรื่อง "สุขภาพตาคือสินค้า ไม่ใช่การบริการทางการแพทย์" ตามมาด้วยการแข่งขันเรื่อง pricing จบด้วยการลด cost บุคลากรในการตรวจไม่ต้องใช้ทัศนมาตรก็ได้  เอาใครก็ได้มาอบรมพอให้ยิ่งเครื่องคอมพิวเตอร์เป็น แล้วเชียร์ขายของได้  มันก็เลยเป็นอยู่อย่างนี้ 
 

ส่วนแสงนำ้เงินคิดว่าพูดพอแล้ว เพราะไม่มีอะไรจะให้พูดถึงขนาดนั้น  และก็ได้ทำหน้าที่แล้ว แต่ก็ได้แต่วังไว้อย่างยิ่งว่า บทความเรื่องนี้จะช่วยให้คนไทย ได้เข้าใจแสงสีน้ำเงินมากขึ้น และอยู่ร่วมกับแสงสีน้ำเงินได้เหมาะสม  ได้ทั้งประโยชน์และเลี่ยงโทษได้ทั้งหมด

 

พบกันใหม่ตอนหน้าครับ

ดร.ลอฟท์

 

578 ถ.วัชรพล  ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220

mobile : 090 553 6554

line; loftoptometry 

fb ; facebook.com/loftoptometry