Clinical new

Topic : LASIK ดีไหม ?

By dr.loft

Date : 3 August 2019

credit : https://www.wilkinsoneye.com/lasik/

 

 

นำเรื่อง

“ทำเลสิกดีไหม” เป็นคำถามง่ายๆ แต่หาคำตอบสั้นแล้วครอบคลุมนั้นยาก เพราะไม่มีคำตอบที่สามารถฟันธงออกไปว่าทำแล้วดีฝ่ายเดียวหรือทำแล้วไม่ดีผ่ายเดียว  ในดีมีเสียและในเสียก็มีดีอยู่เช่นกัน เพราะในการแก้ไขปัญหาสายตาในแต่ละแบบนั้นก็มีดีมีเสียแตกต่างกันไป  ขึ้นอยู่กับแบบไหนที่ตอบโจท์ไลฟ์สไตล์ของคนไข้ได้ดีที่สุดก็อย่างนั้นและน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด

 

เรื่องการทำเลสิกนี้ คงจะเป็นคำถามที่คาอยู่ในใจหลายๆท่านและคนไข้ผมหลายคนที่ปรึกษาเกี่ยวกับทำเลสิก ก็มีทั้งที่แนะนำให้รีบไปทำเลยและเคสที่แนะนำว่าอย่าไปทำเลย  เพราะสิ่งที่จะต้องให้คำตอบตัวเองก่อนทำเลสิกคืออะไร “อยากทำเลสิกเพราะอะไรและสิ่งที่คาดหวังจากการทำเลสิกนั้นคืออะไร”  ซึ่งก็มีมากมายหลายสาเหตุที่หลายคนอยากจะหนีปัญหาสายตาด้วยการพึ่งพาเลสิก

 

ดังนั้นบทความที่เขียนขึ้นมาในวันนี้ คงจะเป็นเรื่องเคลียร์ใจของคนที่กำลังคิดจะทำเลสิก ทำดีไม่ดี หรือว่าเราควรจะแก้ปัญหาสายตาด้วยวิธีไหนดีจึงจะเหมาะสมในมุมมองของผู้เขียนเอง ซึ่งท่านผู้อ่านอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เป็นไปได้ทั้งหมด เพียงแค่อยากให้มุมมองส่วนตัวเท่านั้นเอง 

 

แต่ก่อนอื่น เรามารู้จักกับภายภาพพื้นฐานโดยสังเขปกันเสียก่อน จะได้เข้าใจสารที่ผมต้องการจะส่งต่อไป

 

สายตาคืออะไร

“สายตา” คืออะไรนั้น ผมไม่มั่นใจถึงนิยามภาษาไทยที่แท้จริงของคำนี้มากนัก แต่คงหมายความถึง “การมองเห็น” หรือ “vision” ดังนั้น "การวัดสายตา" ก็คงจะหมายถึงการวัดค่าการมองเห็น  "แว่นสายตา" ก็คือแว่นที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น    

 

ดังนั้นถ้าจะพูดถึงเรื่องการมองเห็น  ก็คงจะต้องคุยเรื่อง ความคมชัดของการมองเห็น ว่า sharp ,clear หรือ blur  ซึ่ง vision จะเป็นแบบไหน ปัจจจัยที่ทำให้เกิดก็คือ ระบบการหักเหของแสงของดวงตา หรือ refractive system ว่าจะเกิดการหักเหแบบสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน

 

Refractive System คืออะไร

อวัยวะประสาทรับรู้ภาพ คือ “ดวงตา” ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้ภาพที่เกิดจากแสง ดังนั้นตาจะต้องประกอบไปด้วยชุดของระบบหักเหแสง (refractive system) ระบบรับภาพ (sensory system)  และเนื่องจากมนุษย์มีตาอยู่ด้านหน้าของกระโหลกที่ต้องทำงานสัมพันธ์กันจึงต้องมีอีกหนึ่งระบบคือ Binocular System (ซึ่งsensory และ binocular เราจะไม่พูดถึงในวันนี้)

credit : https://imgur.com

การจะเกิดภาพที่คมชัดได้นั้น ต้องเริ่มต้นจาก “โฟกัสภาพต้องดี” ให้นึกถึงการถ่ายรูปก็ได้  ถ้าถ่ายออกมาแล้วไม่โฟกัส ภาพที่ได้ก็จะเบลอๆ จุดที่โฟกัสก็จะมีความคมชัด มีรายละเอียด เหมือนในรูปบนที่แนบมา  เราเรียกระบบโฟกัสให้เกิดภาพที่คมชัดนั้นว่า refractive system  ซึ่งอวัยวะที่ play role สำหรับเรื่องนี้คือ กระจกตา (cornea) และเลนส์แก้วตา (crystalline lens)

 

ดังนั้นโฟกัสที่ดีในอุดมคตินั้นหมายความว่า แสงจากวัตถุ เมื่อเดินทางผ่านทั้งสองอวัยวะนี้แล้วต้องเกิดโฟกัสรวมกันเป็นจุด และจุดนั้นต้องไปตกบนจุดรับภาพ (fovea) บนเรตินาพอดี  โดยที่เลนส์ตาไม่ต้องออกแรงเพ่ง (relax accommodation)  เราเรียกคนแบบนี้ว่า “คนสายตาปกติ” หรือ emmetropia ซึ่งให้ความหมายที่ลึกซึ้งกว่าแค่คำว่า “ชัดหรือไม่ชัด” แต่ต้องชัดและ relax ด้วย

 

ถ้าเราเข้าใจคนสายตาปกติ ก็จะเข้าใจคนสายตาไม่ปกติ หรือมีปัญหาสายตา หรือ vision problem  เราจะพูดถึงว่า แสงเมื่อผ่านกระจกตา ผ่านเลนส์ตาแล้ว โฟกัสไม่รวมเป็นจุด หรือรวมเป็นจุดแต่ไม่ไปตกบนจุดรับภาพ แต่กลับไปตกก่อนหรือตกหลังจอตา หรือตกกันคนละจุด  ถ้าโฟกัสรวมเป็นจุดแล้วตกก่อนเราก็เรียกว่า “สายตาสั้น”(myopia)  แต่ถ้าโฟกัสรวมกันเป็นจุดแล้วตกหลังเราก็เรียกว่า “สายตายาว”(hyperopia)  ถ้าโฟกัสไม่รวมกันเป็นจุดแต่โฟกัสเป็นแนวเส้น (focal line) เรียกว่าสายตาเอียง (astigmatism)

 

ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาสายตา  จุดมุ่งหมายก็เพื่อไปบังคับแสงให้รวมเป็นจุด แล้วใช้วิธีที่จะบังคับจุดไปวางบน fovea  ซึ่งก็มีทั้งแบบที่กระทำโดยตรงกับดวงตาเช่นทำที่กระจกตาอย่างการทำเลสิกหรือการใช้เลนส์กดกระจกตาอย่าง OK-lens หรือแบบที่กระทำกับเลนส์แก้วตา เช่นการเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม ซึ่งมักใช้ตอนคนไข้เป็นต้อกระจกมากกว่า  และ แบบที่ไม่กระทำกับดวงตา แต่ทำภายนอก เช่น การใส่แว่นตา หรือ การใส่คอนแทคเลนส์​ เป็นต้น

 

หัวใจสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาสายตา คือจะทำอย่างไรให้โฟกัสรวมกันเป็นจุดแล้วจุดนั้นโฟกัสบนจุดรับภาพพอดี  ซึ่งได้จากการตรวจวัดสายตารวมทั้งหมดออกมาให้ถูกต้องและแม่นยำ ว่ามี refractive ที่เป็นส่วน error อยู่เท่าไหร่  แล้วจะแก้ด้วยวิธีไหน และ แก้อย่างไร จึงจะเหมาะสมที่สุด  ซึ่งหลายวิธี ก็มีดี มีเสีย ในตัวเอง เช่น

 

แว่นตา

แว่นตา เป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาสายตาที่กระทบกระเทือนกับร่างกายและดวงตาน้อยที่สุด  มีเพียงแป้นจมูกกับปลายขาเท่านั้นที่สัมผัสกับร่างกายและแว่นตายังเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาสายตาได้ดีที่สุด ทั้งในเรื่องความสามารถของเทคโนโลยีเลนส์ในการแก้ไขสายตาได้ทุกวัย เห็นได้ชัดในทุกรยะ การคุมแกนขององศาเอียง ของการคุมเซนเตอร์ของเลนส์ และถ้ามีการวินิจฉัยค่าสายตาผิด ก็สามารถแกะเลนส์เก่าแล้วโยนทิ้ง แล้วใส่ค่าที่ถูกต้อง โดยไม่ทำให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน ต่างจากเลสิกที่ ถ้าพลาดแล้วก็พลาดเลย ได้หนเดียว ไม่สามารถไปเจียรกระจกตาใหม่ได้ เพราะกระจกตาจะยิ่งบางลงไป ส่วนใหญ่จะใช้แว่นตาแก้ไขในส่วนที่ขาดเหลือมากกว่า

credit : www.muhealth.org

แต่ข้อเสียของแว่นตา อย่างเดียวก็คือจะเป็นเรื่องของ  ทัศนคติบางคนที่ไม่ชอบแว่นตา เพราะคิดว่าแว่นตาใส่แล้วแก่ หรือใส่แล้วไม่สวย (แต่ผมเห็นตรงข้ามกับเรื่องนี้นะ เพียงแต่ต้องหาให้เจอเท่านั้นเอง)  หรือบางอาชีพที่ใส่แว่นไม่ได้เช่น แอร์โฮสเตสหรือนักเรียนที่กำลังสอบนายร้อยทหาร ตำรวจ หรือนักเรียนที่กำลังสอบนักบิน และบางอาชีพเช่นนักกีฬาว่ายน้ำเป็นต้น หรือบางคนที่สายตาสั้นมาก ๆ ก็มีปัญหาเรื่องเลนส์หนา หนัก และคิดว่าใส่แว่นหนาๆทรงใหญ่ๆ แล้วไม่สวย  ครั้นจะใส่ทรงเล็กๆเลนส์บางๆ ก็ไม่มั่นใจ หนำซ้ำสายตาสั้นมากๆ เวลาคนมองตาผ่านแว่นจะเห็นว่าตาเหลือดวงเล็กนิดเดียว รู้สึกไม่ค่อยสวย ซึ่งในกรณีหลังนี้ แว่นก็คงไม่ได้ตอบโจทก์  

 

คอนแทคเลนส์​

การแก้ไขปัญหาสายตาด้วยคอนแทคเลนส์ ก็เป็นวิธีการที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีสายตาสั้นได้ตั้งแต่น้อยๆ ไปจนถึงมากๆ  อิสระโดยไม่ต้องพึ่งพาแว่นตลอดเวลา  ไม่มีน้ำหนักเหมือนใส่แว่น และเซนเตอร์ของคอนแทคเลนส์นั้นก็อยู่ตรงกลางรูม่านตาตลอดเวลา จึงไม่ได้รับผลกระทบของ aberration ที่เกิดจากบริเวณขอบๆแว่นเหมือนเลนส์แว่นตา  และไม่มีปัญหาเรื่องคนมองเข้ามาแล้วตาดำดูเล็กลง และยังไม่มีปัญหาเรื่อง Aniseikonia ที่เกิดจากภาพขดขยายไม่เท่ากันจากเลนส์ที่มีค่าสายตาต่างกันมาก  เนื่องจากกำลังขยายของเลนส์นั้นแปรผันตรงกับระยะของกระจกตาถึงผิวหลังของเลนส์ ดังนั้น คอนแทคเลนส์ ระยะห่างเป็น 0 ดังนั้น 0 คูณกับอะไรก็ได้ศูนย์ ทำให้ไม่ต้องปรับตัวกับสายตาสองข้างที่ต่างกันมากๆ เหมือนกับที่เกิดขึ้นบนแว่นตา

credit : www.independent.co.uk

แต่ข้อเสียก็คือ

คนไข้ตาแห้งใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้  ใส่แล้วหลุดตลอดเวลา หรือระคายเคืองตา แสบตา และฝืดตาตาตลอดวเลา  ส่วนคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็จะไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์เพื่ออ่านหนังสือหรือดูใกล้ได้ ทำให้ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือทับไปกับคอนแทคเลนส์​สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับไปใช้เลนส์โปรเกรสซีฟ เพราะสะดวกและใช้งานง่ายกว่า ไม่ต้องถอดแว่นเข้าแว่นออก  และข้อเสียที่สำคัญคือ แก้สายตาเอียงได้ไม่ดี แม้ว่าปัจจุบันจะมีคอนแทคเลนส์ที่สามารถแก้ไขสายตาเอียงได้แล้ว แต่การใช้งานจริงนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีสายตาเอียงที่เกิดขึ้นกับกระจกตามากๆ  กระจกตาจะไม่โค้งเป็นทรงกลม แต่จะแป้นๆ เหมือนลูกรักบี้ ทำให้เลนส์ไม่เกาะกับกระจกตา  และขณะมีการกะพริบตานั้น คอนเทคเลนส์จะเกิดการหมุนตัว ทำให้องศาของสายตาเอียงนั้นมีการเคลื่อน คนไข้จะมองไม่ชัด 

 

ดังนั้นคอนแทคเลนส์จะต้องมีการฟิตติ้งโดยทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์เท่านั้น เพื่อประเมินดูการหมุนของคอนแทคเลนส์​และจะเลือก base curve ,diameter และชดเชยการหมุนของคอนแทคเลนส์​  แต่เนื่องจากความรู้ความเข้าใจของคนไทยในเรื่องนี้ยังน้อย คิดเอาเองว่า คอนแทคเลนส์อะไรก็เหมือนๆกัน ใส่แล้วชัดเป็นใช้ได้ ก็เลยเกิดปัญหาตามมามากมาย

 

และสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับคอนแทคเลนส์คือ เหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นในร้านแว่นตาคือ  ถ้าเกิดว่าคนไข้เข้ามาซื้อคอนแทคเลนส์​ ร้านค้าส่วนใหญ่มักจะไม่ตรวจละเอียดให้คนไข้ เนื่องจากได้ margin น้อย จึงมักใช้ค่าที่ยิงหยาบๆจากเครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตาแล้วนำไปจ่ายคอนแทคเลนส์ โดยไม่ได้สนใจว่า ค่านั้นถูกต้องแค่ไหน  และยิ่ง base curve ยิ่งไม่สนใจว่ากระจกตาคนไข้โค้งเป็นอย่างไร และใช้ base อะไรจึงเหมาะสม  ดูทรงแล้วคงอีกนาน  ผ่านไปดูเรื่องอื่นต่อ

 

OK-lens ; Orthokerato lens

OK -lens นั้นใช้หลักการของการเปลี่ยนทรงหรือความโค้งของกระจกตาโดยใช้คอนแทคเลนส์แบบกึ่งแข็ง (RGP-Rigid gas permeable contact lens ) กดเข้าไปโดยตรงที่กระจกตา โดยให้คนไข้ใส่นอน  แรงกดจากเปลือกตาจะถ่ายแรงลงไปที่คอนเทคเลนส์แล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนทรงของกระจกตาจากการค่อยๆเกลี่ยเซลล์ผิวกระจากตาอย่างค่อยเป็นค่อยไป  หลังจากตื่นมาแล้ว กระจกตาก็เปลี่ยนรูป จนกระทั่งเป็นทรงหรือความโค้งที่พอดีที่ทำให้โฟกัสนั้นไปตกบนจุดรับภาพพอดี  ทำให้ชัดโดยไม่ต้องใส่แว่นและไม่ต้องใส่คอนแทคเลนส์

credit : www.northernvirginiamag.com

 

หลักการนั้นคล้ายๆกับเลสิก คือไปสร้างแรงกดเพื่อแก้โค้งหรือทรงของกระจกตา เพื่อให้กลายเป็นสายตาปกติ แต่ต่างจากเลสิกคือ สามารถกลับมาเป็นสายตาสั้นเหมือนเดิม เท่าเดิมกับก่อนใส่ OK. lens ได้ถ้าเลิกใส่ก่อนนอน ในขณะที่เลสิกนั้น  ทรงเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย  ถูกผิดมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องเลยตามเลย ย้อนกลับเอาเซลล์กระจกตาไปพอกให้หนาเหมือนเดิมไม่ได้

 

 

เลนส์เทียม หรือ IOL หรือ Intra Ocular Lens

เลนส์แก้วตาเทียม หรือ IOL นั้นเป็นการแก้ไขระบบการหักเหของแสงโดยการใส่เลนส์แก้วตาเทียมใส่เข้าไปภายในถุงหุ้มเลนส์ ( lens capsule)  ซึ่งมักจะใช้ในการรักษาคนไข้ต้อกระจก เนื่องจากคนไข้ต้อกระจกนั้น เลนส์แก้วตาจะขุ่น  หมอจะดูดเอาเนื้อขุ่นๆของเลนส์ออก แต่เนื้อเลนส์แก้วตานั้นมีกำลังหักเหประมาณ 16.00D ดังนั้นถ้าเอาออกมาแล้วก็ต้อแทนที่ด้วยเลนส์เทียม เราเรียกว่า IOL ดังนั้นหมอจะทำการคำนวนว่า สายตา totol refractive error ของเราเดิมมีอยู่เท่าไหร่ มีอยู่ที่กระจกตาเท่าไหร่ ระยะลึกของกระบอกตาของเราเท่าไหร่ แล้วจะแก้ที่เลนส์ตาเทียมด้วยค่าเท่าไหร่ ค่าที่เป็น สิริรวมแล้วจะทำให้โฟกัสมองไกลนั้นตกอยู่บนจุดรับภาพพอดี

 

credit image : นวตาคลินิก วัชรพล (ขออนุญาติ อ.คำนูญ สำหรับรูปภาพสวยๆด้วยนะครับ) 

 

แต่ข้อเสียก็มีอยู่ว่า เลนส์แก้วตาธรรมชาตินั้นมีความสามารถพิเศษคือ มีความยืดหยุ่น สามารถป่องตัว และ คลายตัวได้ ทำให้เกิดเป็นกำลังเพ่งเพื่อดูใกล้ขึ้นมา ในขณะที่เลนส์แก้วตาเทียมนั้นไม่สามารถ varies focus ได้อย่างกับเลนส์ธรรมชาติ  แต่ก็มี progressive  IOL แบบโปรเกรสซีฟ ที่ช่วยให้คนไข้สามารถมองได้หลายระยะ แต่การออกแบบจะไม่ได้เหมือนกับ lens progressive ที่อยู่บนแว่น  แต่จะเป็นแบบ  varies power ring  เป็นวงๆ ที่มีกำลังหักเหในแต่ละวงที่ไม่เท่ากัน  ดังนั้นในบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัว  ซึ่งก็มีทั้งปรับตัวได้ดี และปรับไม่ได้  แต่ถ้าเป็นชัดระยะใดระยะหนึ่งนั้นไม่ต้องปรับตัว

 

ด้วยเหตุที่เลนส์ธรรมชาติมีความสามารถในการ varies focus ได้ ดังนั้นการแก้ไขสายตาด้วย IOL นี้ จะทำในเคสที่จำเป็นเท่านั้น คือคนไข้เป็นต้อกระจก เพราะในคนไข้ต้อกระจก เลนส์ตานั้นขุ่นแล้ว และไม่มีประโยชน์ในการเพ่งแล้ว จึงเอาออกได้อย่างไม่ต้องเสียดาย  แต่ในคนที่เลนส์ตาดีนั้น หมอจะไม่ใช้วิธีนี้ เพราะต้องการ Dynamic Vision ให้สามารถชัดลึกได้ทุกระยะมากขึ้น

 

ทำเลสิก

 

เลสิกนั้น เป็นการใช้แสงเลเซอร์เจียรนัยกระจกตาเพื่อปรับแต่งทรงและความโค้ง เช่นเดียวกับแว่นตา โดยการทำเลสิกนั้น ใช้เครื่องผ่าตัดเลเซอร์เจียรนัยเข้าไปโดยตรงที่กระจกตาของเรา ขณะที่เลนส์แว่นตานั้นใช้ cnc-free form เจียร์เข้าไปที่ Plastic Blank  ให้ได้ค่ากำลังหักเหตามที่เราต้องการ ดังนั้นเมื่อเลสิกเป็นการกระทำเข้าไปโดยตรงที่กระจกตาของเรา ทำให้มีตัวแปรต่างๆทางกายภาพของดวงตาที่จำต้องนำมาพิจารณาว่าสมควรทำเลสิกหรือไม่

 

 

สิ่งสำคัญ​

1.ความหนาของกระจกตา (cornea thikness)

ในการทำเลสิกนั้น เนื่องจากเป็นการเจียร์เข้าไปที่กระจกตาโดยตรง ดังนั้นคนไข้จะต้องมีความหนาของชั้นกระจกตาที่หนามากพอเพื่อที่จะปรับทรงกระจกตาให้แก้สายตาได้ทั้งหมด  ยิ่งคนไข้สายตาสั้นมากๆ ยิ่งต้องเจียรกระจกตาให้แบนมากๆ (ลดกำลังบวก,เพิ่มกำลังลบ)  ดังนั้นคนไข้จะต้องมีกระจกตาที่หนามากพอ  ซึ่งโดยปกติหมอจะไม่ทำกับคนไข้ที่มี ความหนาของชั้นกระจกตาบางกว่า 500 micron

 

2. Corrected Refraction

ค่าสายตา total corrected refraction หรือสายตาที่ถูกต้องก่อนทำเลสิก  เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากเนื่องจาก อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า total refraction = corneal (external) refraction + lens (internal) refraction   ดังนั้น การตรวจสายตาคือการหา total ว่าแสงในแต่ละ meridian ที่วิ่งผ่านรูม่านตานั้น แต่ละแกนเมื่อผ่านกระจกตาและเลนส์ตาแล้วไปโฟกัสที่ไหน  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเครื่องมือ topography และ aberrometry นั้นสามารถวัด external ได้อย่างแม่นยำ และใช้ total - external ก็จะได้ internal aberration  เพื่อที่จำนำไปคำนวณว่า aberration ที่ต้องแก้ไขที่กระจกตานั้นมีเท่าไหร่ที่ต้องแก้ไข

 

ถ้าคนวัดสายตา totol refraction ยัง uncorrected อยู่  การคำนวณอื่นๆก็คลาดเคลื่อนไปด้วย ทำให้ผลการทำเลสิกนั้นเกิดความผิดพลาด จากการตั้งค่าเครื่องพลาด  เป็นผลให้คนไข้หลังเลสิกนั้นเกิดปัญหาสายตาอย่างอื่นตามมา  เช่นก่อนทำเป็นสายตาสั้น แต่พอหลังทำกลับเป็นสายตายาวและมีสายตาเอียงร่วมด้วย อย่างนี้เป็นต้น

 

ดังนั้นผู้ที่ทำการตรวจวัดสายตาก่อนทำเลสิกนั้น ไม่ใช่ใครก็ได้ เพราะความรับผิดชอบนั้นจะผูกกับผลของการทำเลสิกตลอดไป แก้ไขอะไรไม่ได้  แม้จะบอกว่าคนไขสามารถกลับไปใช้แว่นแก้ไขสายตาได้ แต่ร้อยละร้อยของคนไข้ทำเลสิกนั้น ไม่ต้องการใส่แว่น

 

3.เทคโนโลยีของเลสิก

เทคโนโลยีของการทำเลสิก ก็เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจ ซึ่งปัจจุบันนี้ การทำเลสิกนั้นมีอยู่ 2 ชนิดใหญ่ๆคือ LASIK ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบเดิม กับ RELEX ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบใหม่ ซึ่งเท่าที่คนไข้เข้ามารับบริการที่คลินิกนั้น  พบว่า RELEX นั้นมีผลงานของการผ่าตัด น่าพึงพอใจกว่า LASIK อยู่มาก  ส่วนใหญ่ที่ผมพบคือ หลังทำ RELEX นั้นส่วนใหญ่มักเหลือเป็นสายตายาวและเอียงเล็กนอ้ย  ในขณะที่ LASIK นั้นพบจำนวนคนไข้ที่สายตาสั้นยาวเอียงเกิน -1.00D มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ​  ส่วนที่ทำ Lasik และ Relex มาแล้วเป็น plano (0.00) นั้นยังไม่เคยพบ หรือ ด้วยเขาเป็น plano เขาก็เลยยังไม่มาพบ แต่กระนั้นก็ตาม อย่างไรเสีย ถ้าอายุเลย 40 ปี ก็คงจะได้มาพบกันเรื่องแว่นดูใกล้บ้าง แต่ยังไม่มี

 

หลักการโดยสังเขป  LASIK นั้นใช้การเปิดผิวกระจกตาขึ้นมา จากนั้นใช้เลเซอร์ในการเจียร์เข้าไปโดยตรงที่เนื้อกระจกตาของชั้น Stroma เสร็จแล้วก็ปิดผิวกระจกตาลง ปล่อยให้มันสมานแผลเอง   ในขณะที่ RELEX นั้นใช้เลเซอร์โฟกัสเฉพาะไปที่แต่ละจุด โดยไม่ต้องเปิดผิวกระจกตา เนื่องจากเลเซอร์นั้นสามารถตั้งระยะโฟกัสได้ว่าจะตัดที่ชั้นไหน จากนั้นก็เจียร์เป็นเลนส์ภายในกระจกตา พอเสร็จก็จะนำเอาเนื้อเลนส์ที่เลเซอร์ตัดแล้วนำออกมาผ่านแผลเล็กๆ   ทำให้แผลเป็นของ RELEX นั้นน้อยกว่า แม่นยำกว่ามาก กระทบกระเทือนน้อยกว่า  แต่ราคาก็สูงกว่ามากเช่นกัน ประมาณ 3 เท่า

 

LASIK ก้บ RELEX หาอ่านได้ไม่ยาก ไปลองหาอ่านดูเอา ตาม google มีให้ศึกษามากมาย

 

4.ตาแห้ง (Dry Eye)

ตาแห้งก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่หมอจะพิจารณาว่าจะทำเลสิกให้หรือไม่ เนื่องจากคนไข้หลังทำเลสิกนั้นมีแนวโน้มจะเป็นตาแห้งอยู่แล้ว ยิ่งถ้าคนไข้เดิมมีตาแห้งอยู่ ก็ยิ่งจะต้องระมัดระวัง  ด้วยเหตุว่า กระจกตานั้น เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยปลายประสาทมากมายมหาศาล เนื่องจากเป็นอวัยวะเดียวที่ exposer กับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น แสงแดด แสงยูวี เชื้อโรค ฝุ่น ผล หรือมลภาวะ  ธรรมชาติจึงออกแบบมาให้กระจกตานั้นเต็มไปด้วยปลายประสาทที่ไวต่อความรู้สึก ทำให้เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา เราจะรู้สึกเป็นทุกข์และทนไม่ได้ และจะต้องหาทางแก้ไขเพื่อให้หายทุกข์  เช่น ขนตาหลุดเข้าไปในตา ก็ทำให้น้ำหูน้ำตานั้นไหลพรากแล้ว  ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันดวงตาอย่างหนึ่ง

 

ดังนั้น การไปทำเลสิก คือการใช้เลเซอร์เพื่อเฉือนกระจกตาบางส่วนนั้น ย่อมทำให้ ปลายประสาทนั้นได้รับความเสียหาย  เมื่อปลายประสาทเสียหาย การรับรู้ความรู้สึกก็น้อยลง  การทำหน้าที่เป็น sensor เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตานั้นก็ทำได้น้อยลง   การถูกสั่งให้หลั่งน้ำตาก็น้อยลง คนไข้เลสิกจึงมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดตาแห้งมากยิ่งขึ้น  ดังนั้นถ้าเดิมมีปัญหาเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็ย่ิงต้องเลี่ยงการแก้ไปปัญหาสายตาด้วยการทำเลสิก

 

ศึกษาเรื่องตาแห้งเพิ่มเติม งานเขียน ดร.เดีย https://www.loftoptometry.com/DryEye

 

5.คนไข้ต้อหิน

คนไข้ที่มีหรือกำลังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังโรคต้อหินนั้น คุณหมอมักจะไม่เลือกที่จะทำเลสิกให้เนื่องจากว่า กระจกตาที่บางลงนั้นทำให้ค่าที่ได้จากการวัดความดันตานั้น มีความน่าเชื่อถือน้อยลง ยากในการติดตามผลที่ได้จากการวัดความดันตา

image : https://robert-lloyd.co.uk

6.อายุ

อายุเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปพิจารณาว่าจะแก้ปัญหาสายตาของตัวเองด้วยวิธีอะไร เรื่องสำคัญที่มากับอายุคือ กำลังเพ่งของเลนส์แก้วตาที่ลดลง เป็นเหตุให้เกิดสายตาชรา และ ปัญหาตาแห้งที่มีความสัมพันธ์การฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปตามอายุ

 

ดังนั้น  ถ้าตาแห้ง  ทำ lasik ไม่ work  ใส่คอนแทคเลนส์ก็ไม่ work  และถ้าเป็นสายตาชรา ไม่ว่าจะทำ lasik หรือใส่ contact lens ด้วยหวังว่า ไม่ต้องใส่แว่นนั้น ต้องเรียกว่า สิ้นหวังตั้งแต่ต้น เพราะอย่างไรก็ดี ไม่วาจะทั้ง lasik หรือ contact lens ย่อมอ่านหนังสือไม่ชัดทั้งคู่  หนีแว่นไม่พ้น

 

แต่ถ้าอยากจะทำเลสิกเพียงเพราะอยากให้สั้นมันลดลง จะได้ใส่แว่นได้สวยๆ ไม่หนา เลือกแว่นได้อิสระ ก็กลับไปดูว่ามีปัญหาตาแห้งหรือไม่ ถ้ามีก็แนะนำว่าให้แก้ไขด้วยวิธีอื่นเช่น  เลือกแว่นทรงเล็กๆ แต่สวย ดูดี  น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

 

 7.อาชีพ

อาชีพ บางอาชีพนั้น ใส่แว่นไม่ได้จริงๆ เช่นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน  ซึ่งโดยอายุของพนักงานแล้ว ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงที่สามารถทำเลสิกและได้ประโยชน์จากเลสิกอีกหลายปี หรือจะหันไปใส่คอนแทคเลนส์ก็ไม่มีปัญหาอะไร

 

บางอาชีพ ห้ามใส่แว่นก่อนเข้าสอบเพื่อเรียน เช่น นักเรียนการบิน  นายทหาร นายตำรวจ แต่พอสอบติดไปแล้ว สามารถใส่แว่นได้ ซึ่งก็เป็นกฎที่แปลกดี  ซึ่งกรณีนี้ถ้าอยากทำเลสิกก็สามารถทำได้  แต่ถ้าอายุยังไม่ถึงเกณฑ์​ ก็ให้ไปใช้วิธี OK-lens  พออายุครบค่อยทำเลสิก  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องไปดูระเบียบการของทางราชการหรือองค์กรหน่วยงานกันอีกที

 

8.ไลฟ์สไตล์

ไลฟ์สไตล์ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำมาพิจารณา   ถ้าเป็น สถาปนิก วิศวกร โปรแกรมเมอร์ ที่ทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ออกไซต์ดูงาน ทั่วไป ใส่แว่นตาก็น่าจะดีกว่า

แต่ถ้าวันๆ Adventure ทั้งวัน ปีนเขา ขึ้นลดลงเรือ ดำน้ำ ผาดโผน กระโจนทะยาน กระโดดโลดเต้น ว่ายน้ำ ถ้าอย่างนี้แว่นหลุดหาย แตกหัก ก็ลำบากเหมือนกัน  อาจจะเลือกการทำเลสิก OK-lens หหรือคอนแทคเลนส์แทน

 

 

สรุปได้ว่า

 

ในแก้ไขปัญหาสายตานั้นไม่มีเรื่อง one fit all  ในดีมีเสีย ในเสียก็มีดี  และคงใช้คำตอบเดียวแทนทุกคนที่มีความเป็น ปัจเจกชน มีความคิด มีวิถีชีวิต ไม่เหมือนกัน  มีเหตุปัจจัยไม่เหมือนกัน  ดังนั้นที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ก็เพียงหวังว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นนั้น  เราควรจะแก้้ด้วยวิธีอย่างไร จึงจะเหมาะสมที่สุดในบริบทของเรา

 

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านที่กำลังสนใจจะทำเลสิก ไม่มากก็น้อย

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม พบกันใหม่ตอนหน้าครับ

 

สวัสดีครับ

ดร.ลอฟท์

 

เปิดให้บริการ อังคาร-อาทิตย์

เวลา 9:00 -18:00

T.090-553-6554

Line ID : loftoptometry

iMap,Google map : พิมพ์ “loft optometry”