Optometry 4.0  

ตอนที่ 4  คุณค่าของการดำรงอยู่ในวิชาชีพทัศนมาตร

เรื่องโดย ดร.ลอฟท์ , 10 พ.ค.2562


นำเรื่อง

เป็นโพสต์แรกในรอบเดือนที่ผ่านมา ยิ่งทิ้งไว้นาน ยิ่งนึกไม่ออกว่าจะเริ่มด้วยเรื่องอะไรดี เหมือนดินพอกหางหมูอย่างไรอย่างนั้น  วันนี้เลยอยากจะเริ่มด้วยเรื่องเบาๆสักโพสต์หนึ่งก่อนจะตามมาด้วยเนื้อหาหนักขึ้นตามลำดับ แต่ก่อนอื่นก็ขอสวัสดีพี่ๆน้องๆ เพื่อนๆ ลูกค้า คนไข้ และแฟนเพจที่เคารพรักทุกท่าน 

 

ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ ครบเดือนพอดี ที่หายไป เพจไม่ได้ขยับ ความจริงก็ไม่ได้ไปไหน บางท่านนึกว่าไหลตามน้ำไปแล้ว แต่ความจริงคือทำงานทุกวันครับ ปีนี้ไม่ได้หยุดสงกรานต์เพราะมีนัดยาว ได้หยุดวันที่ 15 เพราะบังเอิญตรงกับวันจันทร์ซึ่งเป็นวันหยุดพอดี  จากนั้นก็ทำงานต่อมาเรื่อยๆ ทำงานเนื่อยก็อยากมีเวลาพักให้คิดอะไรบ้าง เลยอยากอยู่เงียบๆ เพราะมีหลายเรื่อง หลายความคิด ที่ต้องคิดให้ตกตะกอน ถ้าตกได้ผลึกยิ่งดีใหญ่  แต่เรื่องมากมายให้คิดนั้น เอาแค่ตกตะกอนก็ถือว่าพอใช้ได้ไปก่อน  

 

เรื่องหลักๆ กับสิ่งที่ต้องการให้ตกตะกอนในช่วงที่ผ่านมาคือ ความสุขที่แท้จริงของเรานั้อยู่ที่ไหน คนเราเกิดมาเพื่อจุดประสงค์ใด ระหว่างนั้นคุณค่าของการดำรงอยู่ในแต่ละวันนี้คืออะไร  จุดยืนในการทำงานด้านทัศนมาตรควรพอดีที่ไหน และ สุดท้ายคือเรื่อง logo ที่ต้องตกผลึกให้ได้ว่าจะใช้แบบไหน ซึ่งก็เลือกได้แล้ว ดังนั้นวันนี้ที่มาเล่าให้ฟัง ถือเป็นการโหมโรงก็คงจะเป็นเรื่องความคิดส่วนตัวของผม ว่าผมคิดอะไรได้บ้างในช่วงเวลาเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา 

 

ตะกอนที่ 1
ความสุขที่แท้ (ของเรา) อยู่ที่ไหน


ส่วนตัวเชื่อว่า ทุกคนเกิดมา ทุกอย่างที่ทำอยู่ทุกวันก็เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข ซึ่งสุขของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าทัศนคติต่อความสุขของแต่ละคนนั้นอยู่ที่ไหน  บางคนสุขเพราะได้ทำดี  บางคนสุขเพราะได้มัวเมา บางคนสุขเพื่อได้เห็นเงินในบัญชีงอกเงย บางคนสุขเพียงแค่ได้อิ่มท้อง  บางคนสุขเพราะได้ทำคุณค่าอะไรบ้างอย่างต่อผู้อื่น บางคนสุขเพราะได้ทำงานที่ตนรัก ซึ่งนิยามก็คงแตกต่างกันไปตามแต่พื้นฐานความคิดว่า เราให้ความสำคัญกับอะไร  และสัจธรรมข้อหนึ่งที่ผมสังเกตจากสิ่งรอบตัวก็คือไม่ว่าจะยากดีมีจน แต่ละคนนั้นจะมีความทุกข์ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่นคนไม่มีก็ทุกข์เพราะอยากมี  คนที่มีก็ทุกข์เพราะอยากให้มีเพ่ิมหรือทุกข์เพราะกลัวมันจะพร่องหรือทุกข์เพราะกลัวมันจะหายไป   คนไม่มีกินทุกข์เพราะหิว  คนที่มีเกินกินก็ทุกข์เพราะโรคเบาหวานความดัน  คนป่วยทุกข์เพราะไม่มีเงินจ้างหมอเก่งๆมารักษา  คนมีเงินทุกข์เพราะหมอเก่งขนาดไหนก็ยื้อชีวิตเอาไว้ไม่ได้  ดังนั้นสุข/ทุกข์ ดูเหมือนจะไม่มีใครหนีมันไปได้  แต่คนที่สุขที่สุดก็คงเป็นคนที่ "คิดเป็น" และอยู่ใน moment ขณะกับบริบทที่มีเป็น นั่นคือสิ่งที่ผมมองเห็น  พอคิดเป็นความสุขมันก็เป็นของใกล้ตัว  ไม่ต้องอยากดี อยากเด่น อยากชนะ  แต่แค่มี 3 สิ่งนี้ก็เป็นสุขได้อย่างง่ายดาย ซึ่งมีคนหนึ่งเคยบอกผมไว้ว่า คนจะมีความสุขและมีพลังที่จะลุกขึ้นตอนเช้าเพื่อไปทำงานนั้นประกอบด้วย 3 เรื่องคือ  

1.เราได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก  

2.สังคมยอมให้เราทำ  

3.งานที่เราทำนั้นเกิดประโยชน์กับสังคม  

ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ ผมไม่ได้คิดเอง เพียงแต่มีคนเล่าให้ฟัง ว่าถ้าใครได้งานที่ครบทั้ง 3 ข้อนี้ ถือว่าเราคือผู้ที่โชคดีในเรื่องความสุข เพราะผู้คนจำนวนมากที่ต้องทนทำงานเพราะว่าต้องทำและจริงๆก็ไม่ได้อยากทำ เพียงแต่มันไม่มีทางเลือกอื่น ส่วนสิ่งที่อยากจะทำก็กลัวว่าจะไปไม่ได้ หรือไปไม่รอด ก็เลยไม่กล้าทำในสิ่งที่รักที่จะทำจริงๆ ก็เลยไม่เคยสุขจากงานที่กำลังทำอยู่ ตื่นเช้าก็ทุกข์ทรมาน เย็นศุกร์ก็ดีใจเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ เพราะเหมือนได้เอาทุกข์ออกจากอกชั่วคราว 

 

ดังนั้นใครที่มีครบทั้ง 3 ข้อก็ถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี  ทำให้ร่างกายมีพลังที่จะตื่นขึ้นมาทำงานในแต่ละวันและผมก็รู้สึกว่าตัวเองนั้นโชคดีมากๆที่เดินทางในสายวิชาชีพทัศนมาตรนี้ เพราะวิชาชีพนี้ทำให้ผมมีทั้ง 3 ข้อครบถ้วน  และผมก็บังเอิญมีครบทั้ง 3 อย่าง ผมถึงได้เข้าใจว่า ทำไมผมถึงมีความสุขได้ง่ายกว่าหลายๆคน ดูไม่เครียด ไม่กังวล แค่ได้ตื่นมาทำงานก็มีความสุข 

 

 

มันจึงไม่สำคัญว่าเศรษฐกิจตอนนี้จะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นนายกหรือวันนี้พรุ่งนี้จะมีคนไข้มาใช้บริการหรือไม่ ขายดีไม่ดีไม่ใช่สาระที่ต้องเอามาคิดให้รกสมอง คนเข้ามาใช้บริการมาก/น้อยไม่ใช่สาระ  คนเข้ามากไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องดีใจจนเกินงาม  คนเข้ามาน้อยก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องเสียใจอะไร  เพียงแค่ได้ตื่นมาทำงานที่ดี หรือ ตื่นมาเพื่อเตรียมพร้อมที่จะทำงานดีๆแค่นี้ก็สุขใจแล้ว 

 

การมี case มากหรือน้อย นั้นมีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน   case มาก ต้องเร่งทำ ซึ่งแน่นอนว่า งานของทัศนมาตรนั้นถ้ายิ่งเร่งก็ยิ่งพลาด  ดังนั้นเคสมาก ได้ขายมาก แต่ก็แลกกับคุณภาพที่ต้องลดลง และไม่มีเวลาไปสร้างคุณค่าอย่างอื่น นอกจากสะสมเงินทอง  

 

ส่วน case น้อย ก็มีประโยชน์คือได้ทำ case แต่ละคนให้ดีที่สุด ทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด เต็มกำลังกาย กำลังสมอง และกำลังสติปัญญา และมีเวลาไปอ่าน ไปศึกษา ทบทวน หาความรู้เพ่ิมเติม และเขียนความรู้เพื่อแชร์ให้คนได้อ่านกัน 

 

ซึ่งในมุมมองของนักธุรกิจก็ย่อมให้ความสำคัญกับแบบแรกมากกว่า  ทำยังไงก็ได้ ให้มีรายได้เข้ามาก่อน ปัญหาอื่นๆ ค่อยตามแก้กันทีหลัง หลุดก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวหาใหม่มาเติม   ซึ่งก็ไม่ถูกไม่ผิด เพราะโลกนี้คือระบบหยินหยาง ขาวดำ ดีชั่ว ร้อนหนาว โลกถึงดำรงอยู่ได้

 

 

ส่วนผมให้ความสำคัญกับอย่างหลัง เพราะความสุขของนั้นอยู่ที่การได้คิด วิเคราะห์ และช่่วยเหลือให้คนไข้ที่เข้ามารับบริการด้วยความหวังได้สมหวังกลับไป และมีเวลาได้สนใจเรื่องอื่นบ้าง จิบชา กาแฟ ฟังเพลงแจ๊ซบ้าง เพราะดูๆแล้ว พอเวลานั้นมาถึง ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครหอบอะไรไปได้สักอย่าง และนี่คือตะกอนแรกที่ผมคิดได้ คือตะกอนที่ทำให้ผมมีความสุขในการทำงานในแต่ละวัน    

 

ตะกอนที่ 2
จุดยืนในการทำงาน 


การทบทวนจุดยืนของตัวเองในการทำงานด้านทัศนมาตรของผม  ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนของมาตรฐานของสินค้าและบริการ  จุดยืนในจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมไปถึงจุดยืนของตัวเองต่อการสร้างคุณค่าบางอย่างต่อสังคมและวิชาชีพและตอบคำถามตัวเองว่าชีวิตเราต้องการอะไรกันแน่  ทำงานแบบไหน ทำงานประมาณไหน ทำงานแค่ไหน ที่สามารถเต็มที่กับงาน โดยไม่ทำให้ lifestye ส่วนตัวมีปัญหา และแค่ไหนที่เรียกว่า “สุขพอ

 

ซึ่งโดยส่วนตัวก็คิดว่าตัวเองนั้นเป็นคนที่มีความสุขง่ายอยู่แล้ว มันมีอยู่ทุกจุดใน ลอฟท์ ออพโตเมทรี ที่ทำให้ผมมีความสุข  เพราะส่วนใหญ่เป็นสุขของผมเกิดจากการทำงานเป็นหลัก ได้ดูแลเอาใจใส่คนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการมองเห็นของตัวเองหรือสุขภาพของตัวเอง เพราะทุกเคสที่มา ลอฟท์ ออพโตเมทรี ทั้งหมดล้วนมีปัญหาที่ยังหาทางแก้ไม่ได้ หรือ มาเพราะอยากดูแลสุขภาพตาจริงๆ  เพราะไม่เคยมี โปรโมชั่น หรือ แรงจูงใจอื่นให้ใครเดินทางมาไกลถึงวัชรพล นอกจากความหวังว่าจะมีการมองเห็นที่ดีกว่าเดิม หรือได้รับการดูแลสุขภาพสายตาที่ดีกว่าเดิมและช่วยแก้ไขปัญหาปัญหาการมองเห็นให้กับเขาได้   และผมจะทุกข์ได้ง่ายเช่นกันเมื่อเจอการไม่ respect ต่อวิชาชีพ 

 

ดังนั้นการสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการอ่านทบทวนตำราเรียน ศึกษาเพ่ิมเติม ฝึกทักษะ เขียนคอนเทนท์​ หรือแม้แต่การได้ดื่มคารฟท์เบียร์กับเพื่อนสนิทเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเหล่านี้สำหรับผม คือความสุขที่ได้ทำทั้งสิ้น  และเมื่อผมทำงานมากเข้าถึงจุดๆหนึ่ง ก็เริ่มเห็นตัวตนของตัวเองชัดเจนขึ้น เห็นสิ่งที่ต้องการแท้จริงคือผมต้องการ Value  ในการทำงาน ไม่ใช่ Volum  ผมต้องการ Quality ในการทำงานไม่ใช่ Quantity  

 

ดังนั้นทางที่จะเดินต่อไปก็คือ “เราจะสามารถทำงานในวิชาชีพทัศนมาตรให้ดีและมีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร  จะลดความบกพร่องหรือความผิดพลาดในการทำงานให้สูงสุดได้อย่างไร  คงไม่ใช่เรื่องของการทำอย่างไรถึงขายดี หรือทำอย่างไรถึงจะมีคนมาใช้บริการมากๆ หรือจะออกโปรโมชั่นอะไรดีให้คนสนใจหันมามอง ” และผมได้คำตอบสำหรับตัวเองมาว่า  มี 2 ส่วนที่ผมต้องพัฒนาคือ “man” และ “tools”   

 

Man คือ “คน” นั่นคือตัวผมเอง ผมต้องพัฒนาตัวเอง ศึกษาตำราไม่ว่าจะเป็น lecture เก่าสมัยเรียน อ่าน textbook หรืออัพเดตข่าวสารใน internet อยู่สม่ำเสมอและนำความรู้นั้นมาเขียนเป็น content เพื่อเรียบเรียบความคิดของตัวเอง และเกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจ มากบ้าง น้อยบ้าง  ตามแต่จะไปถูกใจคนที่กำลังอยากจะรู้หรือไม่  เพราะอาหารอร่อยแค่ไหน ถ้าไม่หิว ก็คงไม่มีค่าอะไร ซึ่งหน้าที่ของแม่ครัวก็คงไม่ต้องไปคิดอะไรไปมากกว่า พยายามทำให้เต็มฝีมือ เดี๋ยวก็คงถูกปากใครสักคนบ้างแหละ 

 

man จึงเป็นการลงทุนแรงกายแรงใจ ซึ่งไม่สามารถตีราคาเป็นมูลค่าได้ เพราะความตั้งใจเป็นเรื่องที่ invaluable และจะเกิดขึ้นได้จาก attitude ที่อยู่ลึกๆในใจของแต่ละคนเท่านั้น บางคนเห็นวิชาชีพทัศนมาตรเป็นศาสตร์ที่ช่วยให้ผู้คนได้มองเห็นที่ดีขึ้น ก็เลือกที่จะศึกษาหยั่งลึกถึงแก่นของวิชาชีพ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มสุดความสามารถและมีความสุขจากการได้เห็นประสิทธิภาพของการทำงานของตัวเองนั้นดีขึ้น พัฒนาขึ้น  ส่วนบางคนก็เห็นวิชาชีพเป็นโอกาสหรือช่องทางหนึ่งในการทำธุรกิจเท่านั้น วิธีการเรียน การทำงาน ก็มุ่งสู่การว่าจะทำตลาดและครองตลาดอย่างไรเป็นสำคัญ จะทำโปรโมชั่นในแต่ละเดือนอย่างไรดี ทำการตลาดอย่างไรให้คนสนใจ จะคิดประดิษฐ์ประดอยคำพูดทางการตลาดหรือคำโฆณาอย่างไรให้คนเชื่อดี  โชคดีที่ว่ามนุษย์ 4.0 นั้นมีส่วนน้อยที่ educate เข้าไม่ถึง ทำให้เหยื่อทางการตลาดนั้นน้อยลงกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด 

 

ดังนั้นคนทั้งสองกลุ่ม ที่มีทัศนคติต่างกันจึงมี way ของการเรียน การทำงานหรือการทำธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจุดยืนของผมอย่างหนึ่งก็คือสนับสนุนและให้กำลังใจกับคนมี attitude ที่ดีต่อวิชาชีพ และก็กำลังมองหา partner ที่เป็นทัศนมาตร และมีทัศนคติแบบเดียวกับผม มาสร้างงานดีๆร่วมกัน  ถ้าน้องๆท่านใดคิดว่าตัวเองนั้น มีแนวคิดที่คล้ายกัน inbox มาหาผมได้ ผมอยากได้คนที่มีฝันและอยากทำสิ่งดีๆ ด้วยกันเพื่อให้วิชาชีพทัศนมาตรนั้นเติบโตและงดงามกว่าเคย ถ้าคิดว่ามีดีก็ลองมา joint venture กันดู 

 

ส่วนปัจจัยสำคัญที่สองคือ tools เพราะหมอเก่งอย่างเดียวแต่ขาดเครื่องมือหรือขาดผู้ช่วย ก็ทำงานไม่คล่องตัว  แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่าหมอที่เก่งจริงๆ ประสบการณ์สูงๆ มีเพียงเครื่องมือมาตรฐานที่เป็น gold standard ก็เก่งกว่าหมอที่มีแต่เครื่องมือไฮเทคแต่ขาดทักษะในการวิเคราะห์ค่าหรือปัญหาที่ได้จาก machine 

 

เอากันตรงๆเลยก็คือว่า ถ้าท่านมั่นใจในฝีมือ Retinoscope ของท่านแล้ว ก็ไม่ต้องเสียเวลากับ DNEye Scan หรือ กับเครื่องพวกนี้เลย เว้นแต่มีเหลือเก็บแล้ว เพราะ Retinoscope ของท่าน ให้ได้ทั้ง repeatability และ Relieability แต่เครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตานั้นให้ได้เพียง repeatability แต่ reliability นั้นต่ำ  โดยเฉพาะกับคนที่ accommodation ดีๆด้วยแล้ว มีแนวโน้มผิดพลาดสูงมาก  เด็กๆคงไม่ต้องพูดถึงเพราะหมดสิทธิ์ใช้เครื่องพวกนี้  และเด็กที่มีสายตา hyperopia หรือ mixed hyperopic astigmatism  แนะนำว่าคงต้อง retinoscope อย่างเดียว  

 

 

ดังนั้นคงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า เครื่องช่วยเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องช่วย investigate  ไม่ใช่เครื่องที่สามารถตรวจค่าสายตาได้ละเอียดถึง 0.01D อย่างที่คำโฆษณาเขาใช้กัน แม้ว่าค่าที่วัดได้ออกตัวเลขอย่างนั้น แต่ค่าจริง อาจจะ over minus ถึง 2.00D ได้  นี่เรื่องจริง 

 

แต่ถ้ามองในมุมคนที่อยากทำงานทัศนมาตรให้เต็มประสิทธิภาพ  ผมว่ามันคุ้มตั้งแต่มันสามารถทำ   topography  , phachymetry กับ air puff tonometer เพราะลำพัง topography ก็ล้านกว่าแล้ว  ก็คงอยู่ที่ว่าจะซื้อไปทำอะไร ถ้าคิดว่าจะซื้อไปเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตา เพราะเขาบอกว่ามันละเอียดถึง 0.01D  ต้องขออนุญาตบอกว่า “ท่านกำลังหลงทางอยู่” นอกจากท่านจะไม่ได้สิ่งที่หวังอีกแล้วท่านยังจะต้องเสียตังค์อีกด้วย 1.6 ล้านนะ  แต่ถ้าคิดว่ามันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หมอทำงานได้คล่องตัวขึ้น และไม่เหนือบ่ากว่าแรง และไม่ได้คิดจะเปลี่ยนอาชีพ ก็หามาใช้งานได้  

 

ถ้าเป็นไปได้ก็ดีกว่าเช่นกัน ที่จะมีทั้ง man ที่เก่ง และ tools ที่ดี ในเมื่อชีวิตผมทั้งหมดนั้นอุทิศให้กับวิชาชีพทัศนมาตร  tools จึงเป็นเรื่อง first priority ที่จะต้องขวนขวายหามาจนครบ จบที่ใจ พอที่ใจ และคิดว่าปัจจุบัน loft optometry มีเครื่องมือที่ดีและมีมากพอในการทำงานด้านคลินิกทัศนมาตรระดับปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งถ้าจะตรวจกันให้ครบเครื่องมือทุกชิ้น อาจต้องใช้เวลาตรวจและวิเคราะห์ 2 วัน / เคส  แต่นั่นไม่ใช่ทางที่ดีนัก เพราะการตรวจที่่ใช้เวลามากเกินพอดี ก็จะทำให้เกิด human error ทั้งจากตัวผู้ตรวจและตัวคนไข้เอง 

 

ดังนั้นเพราะหมอที่เก่งและมีประสบการณ์ที่มากพอควรรู้หรือสรุปเบื้องต้นได้ว่าว่าคนไข้มีปัญหาอะไร จากการซักประวัติที่มีคุณภาพแล้วหยิบ tools ขึ้นมาอย่างเป็นระบบมาเพื่อทำ confirm test ยื่นยันสมมติฐานที่ตัวเองคิด ได้ค่าอะไรมาก็นำมาวิเคราะห์ และวางแผนการรักษา ให้รวดเร็วและทรงประสิทธิภาพ  

 

ขณะนี้ tools ที่ผมใช้ที่ลอฟท์ ออพโตเมมทรี ผมคิดว่ามากพอ ค่อนไปในทางเกินพอต่อการทำงานระดับปฐมภูมิแล้วแล้ว ที่เหลือก็คงมีแต่ตัวผมเองที่จะต้องเรียนรู้ทั้ง tools และ optometry science และอัพเดตข่าวสารให้รู้และเข้าใจมากขึ้น เพื่อให้สามารถได้ค่าที่ดี นำไปใช้ในการวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป 

 

ดังนั้นผลึกตะกอนความคิดส่วนสำคัญที่เกิดขึ้นหลังจากหายไปหนึ่งเดือนเต็มๆที่สำคัญคือ ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับวิชาชีพทัศนมาตร ด้วยการเป็นแบบอย่างในการทำงานที่ดี มีแนวทางในการทำธุรกิจด้านบริการสุขภาพที่ดูแล้วสง่างาม ไม่ใช่รูปแบบของการเผาป่าเพื่อเก็บเห็ดเผาะ หรือด้วยการถากถางทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธารซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าน้อยใหญ่เพื่อนำพื้นที่ป่าธรรมชาติไปปลูกต้นยูคาขายส่งให้โรงงานทำไม้จิ้มฟัน ทำกระดาษ ทำไม้โครง หรือปลูกข้าวโพดทำอาหารสัตว์ ซึ่งแม้การทำอย่างนั้นจะสร้างเงินทองให้กับตนและครอบครัวได้ แต่ก็ไม่คุ้มกับผืนป่าต้นน้ำลำธารที่ถูกทำลาย 

 

เช่นเดียวกัน รูปแบบของการทำตลาดบางอย่างที่ไม่สนใจวิธีการ ไม่สนใจจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่สนว่าผืนป่าวิชาชีพจะมีสมาชิกน้อยใหญ่อยู่มากมายอยู่รวมกันอย่างเป็นระบบนิเวศ ถูกทำลายโดยคนบางคนที่ มองเห็นประโยชน์ของป่าวิชาชีพเป็นเพียงแหล่งปลูกไม้ยูคาหรือแหล่งเจริญของเห็ดเผาะ จนทำให้ป่าวิชาชีพทำถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เห็นแล้วก็อดไม่สบายใจไม่ได้  ถึงแม้กฎหมายคุมความประพฤติของผู้ที่อยู่ในวิชาชีพยังไม่มี แต่เรื่องของจรรยาบรรณควรเป็นเรื่อง common sense หรือ สามัญสำนึกมิใช่หรือ แต่ก็ได้แต่หวังว่าเสียงนี้ คงจะกระตุกต่อมความรับผิดชอบต่อส่วนรวม หรือ มองไกลกว่าหม้อข้าวของตัวเองได้บ้าง  เพราะผมไม่สบายใจที่มีคนไข้หลายๆคนถามผมว่า ทำไมวิชาชีพของคุณเขาไม่ใช้มาตรฐานเดียวกันในการทำงานหรือ 

 

ตะกอนที่ 3 
all new loft optometry logo inspire 

 

และเรื่องสุดท้ายได้มาระหว่างการอยู่เงียบๆคือ เรื่อง โลโกใหม่ ต้อนรับครบรอบปีที่ 5 ของ loft optometry  ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และเตรียมตัวเพื่อเซต mindset ของตัวเองใหม่ เพื่อมองไปข้างหน้าอีก 5 - 10 ปีข้างหน้าว่าในวิชาชีพทัศนมาตรว่าจะทำอะไร  ส่วน 5 ปีที่ผ่านมาสำหรับตัวเองถือว่าพอใจมาก เพราะว่ามาไกลกว่าที่เคยตั้งใจไว้มาก  ซึ่งก็ต้องวางเป้าให้ achive อีก 5 ปีข้างหน้า ว่าจะทำอะไรเพ่ิมเติมบ้าง  ก็รอชมกันต่อไปเรื่อยๆนะครับ

 

แต่ถ้าจะให้พูดถึงความฝันสูงสุดของผมก็คือ การได้ทำสถานบริการด้านทัศนมาตรที่ดูและเฉพาะทางด้านระบบการมองเห็น คล้ายๆเป็นโรงพยาบาลทัศนมาตร มีทีมทัศนมาตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ร่วมกันคิดวิเคราะห์ในแต่ละเคสออกมา ว่าจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร  เพราะปัญหาอย่างหนึ่งของทัศนมาตรคือเมื่อจบออกมาแล้วก็หาที่จุติยาก  จะอยู่ร้านแว่นก็ยากเพราะร้านแว่นส่วนใหญ่มองแว่นตาเป็นสินค้า เขาจึงมีความคิดว่าหมอที่เก่งคือหมอขายของให้เขาเก่ง  ถ้าตรวจเก่งแต่ขายของไม่เป็นก็ไม่มีประโยชน์สำหรับนักธุรกิจและแข่งขันกันด้วยโปรโมชั่นเพื่อชักจูงให้คนมา บางครั้งก็มากเกินกว่าที่จะทำงานแบบทัศนมาตรได้ ก็เลยต้องทำเหมือนที่เคยๆทำๆกันมา  ครั้นจะอยู่โรงพยาบาล ก็ต้องยอมรับว่า การให้ priority กับเรื่องการมองเห็นในระบบสาธารณสุขไทยนั้น ยังถือว่าน้อย  ดังนั้นอุปกรณ์ refraction น้อยแห่งที่จะมีครบให้ทัศนมาตรได้ทำงานเต็มศักยภาพ  ส่วนใหญ่ก็จ้างไปทำงานแบบ technician มากกว่าที่จะเป็น doctor และด้วยจำนวนเคสที่ต้องทำต่อวันนั้นเป็นร้อยคนนั้น ยิ่งเป็นไปได้ยากสำหรับทัศนมาตรหนึ่งคนที่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเพียงวันละ 3 เคส  ดังนั้นสิ่งที่เห็นในปัจจบุัน คนถึงยังไม่ค่อยเข้าใจบทบาทของทัศนมาตร เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มีเวทีให้ทัศนมาตรได้แสดงศักยภาพมากนัก  ผมจึงมีความคิดในหัวว่าอยากจะมี optometry center something เพื่อเป็นเวทีให้ทัศนมาตรได้แสดง

 

กลับมาเรื่อง logo 

 

เรื่อง logo ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมต้องตกผลึกให้ได้ว่า ตัวตนที่แท้จริงของผมคือ logo อันไหน ให้แฟนๆช่วยเลือกแล้วก็ยังเลือกไม่ค่อยถูก เพราะต่างคนก็ต่างมีเหตุผลที่ดี และเมื่อเลือกไม่ถูก สิ่งที่อาจารย์ชาลิน แนะนำคือให้เลิกคิดเรื่อง logo แล้วไปทำอย่างอื่น แล้วเมื่อจิตนิ่ง แล้วค่อยมาว่าชอบอันไหน หรืออันไหนที่เราคิดว่าใช่ แต่จนแล้วจนเล่า ก็เลือกไม่ได้ เพราะสวยทุกอัน  เมื่อสองสามวันก่อน อาจารย์แวะเข้ามาดัดแว่น ก็เลยขอ  ขอให้อาจารย์เลือกให้หน่อย ในฐานะที่อาจารย์รู้จักกับผมมาหลายปี และคิดว่าผมเป็นอย่างไร และควรจะใช้ logo อันไหน  

 

เท้าความ logo เดิม 

 

logo เดิมนั้นเป็น logo ที่ไม่ได้ใช้ความคิดอะไรมากมาย  ผมชอบการออกแบบสไตล์ลอฟท์ และตัวเองก็เป็นทัศนมาตร (optometrist)  อยากผนวกสองเรื่องนี้เข้าด้วยกันก็เลยตั้งชื่อร้านว่า  loft optometry  พอได้ชื่อมาแล้ว ก็คิด logo ก็เอา L นี่แหล่ะที่เป็นตัวแรก แล้วใส่ font เข้าไปหน่อย เอาลูกตาครอบ ก็เลยเป็น logo แรกที่ใช้อยู่  

 

เหตุผลที่ชอบ loft style 

กลับมาที่ว่าทำไมชอบ loft industrial design  จริงๆผมรู้สึกว่ามันเป็น design style ที่ดูดิบ ไม่เคลือบ ไม่ปรุง มีแต่แก่นล้วนๆที่อยู่ใน disign  โครงสร้างหลักคืออะไรก็ไม่ต้องไปปิดไปซ่อนมัน เช่นโครงหลังคา โครงโซฟา โครงบาร์ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์  ท่อเดินสายไฟ  texure ต่างๆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นความเก่าของไม้เก่า  หรือเหล็ก something  รวมไปถึงริ้วรอยต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามกาลเวลา ก็ให้มันเป็นไปอย่างที่มันเป็น เพื่อให้มันได้เล่าเรื่องราวว่ามันผ่านอะไรมา ไม่จำเป็นต้องดูใหม่สดตลอดเวลาก็ได้ และสิ่งเหล่านี้คือ วิญญาณของ loft industrial และ เป็นวิญญาณของผมด้วยเช่นกัน   พอจะต้องเขียนบทความ จะต้องมีนามปากกา นึกอะไรไม่ออกก็เลยตั้งชื่อนามปากกาว่า “Dr.Loft”  บางท่านก็เลยเรียกว่า “หมอลอฟท์” หรือ “คุณลอฟท์” ซึ่งจริงๆ ผมชื่อ “สมยศ”  ครับ ชื่อเล่นว่า “ยศ” ครับ แต่เรียก นามปากกา “ดร.ลอฟท์”  ผมก็ชอบนะ ได้หมด ดูสนุกๆดี 


 

Loft Style ทำให้ การวางใจของผมในการเริ่มทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ตามด้วยไลฟ์สไตล์ ทำให้การวางตัวของผมนั้นง่ายเพราะไม่ต้องปรุงมาก ผมเผ้า เสื้อผ้า การบริการ ก็จะ ใสๆ ไม่ค่อยมีอะไรที่ปรุงแต่งๆ ตรงไป ตรงมา กลายเป็นความอบอุ่น ความไว้เนื้อเชื่อใจ สบายๆ  ไม่อึดอัด เหมือนมาบ้านเพื่อน เพราะทั้งหมดที่ผมเป็นก็คือผมนี่แหล่ะ จะชอบหรือไม่ชอบผมก็เป็นแบบนี้แหล่ะ และเพื่อนคนนี้มีเวลาให้เสมอ  เนื่องจากผมใช้ระบบนัดกับคนไข้เกือบทุกเคส จะ walkin ก็น้อยมากไม่ถึง 5 %

 

ระบบนัด

ผมขอพูดถึงระบบนัดที่ผมใช้อยู่สักหน่อยหนึ่ง  เพราะว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับวงการแว่นตา  เพราะผู้บริโภคเองก็เคยชินกับการเข้าไปซื้อแว่นตา จะเข้าไปกี่โมงก็ได้ เพราะตรวจกันไม่ถึง 10 นาที ก็เสร็จที่เหลือก็อยู่ที่เซลล์เชียร์ขายกรอบขายเลนส์ว่าจะปิดที่ตัวไหน  แต่รูปแบบการทำงานแบบทัศนมาตรนั้นต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง การตรวจในคลินิกตาม chief complain นั้นต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชม. ถ้าเคสที่ซับซ้อนมากๆ ต้องใช้ confirmation test หลายๆแบบ อาจต้องใช้เวลาเพ่ิมขึ้นเป็น 2 - 3 ชม.  และบางเคสเลนส์ตาเกร็งค้างมา ต้องค่อยๆ full corrected เพื่อให้คลายเพ่ง แล้วใช้ retinoscope ทำ over refraction เป็นระยะๆ แล้วลดลบ/เพิ่มบวก กว่าจะได้ BCVA  และหลายๆครั้งที่คนไข้หลายๆคนใช้เวลาอยู่คลินิกนั้นมากกว่า 5 ชม. เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปกติของคนไข้ที่มาใช้บริการที่ ลอฟท์​ ออพโตเมทรี ดังนั้นเรื่องเวลาจึงเป็นเรืื่องที่สำคัญที่สุดในการทำงานทางด้านคลินิกทัศนมาตร 

 

การนำระบบนัดมาใช้ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าต้องการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้มีเวลาให้แต่ละคนได้เต็มที่ ซึ่งผมได้โมเดลนี้จากการเข้าไปรับบริการกับหมอทำฟัน ที่ต้องนัดเวลาเข้าไปทำฟันให้ชัดเจน ว่าจะเข้าไปกี่โมง และผมคิดว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในทางคลินิกทัศนมาตร เพราะมีพื้นฐานในการทำงานเหมือนกัน คือเป็น แพทย์ ผสมกับความเป็นช่างฝีมือ 

 

เพราะทัศนมาตรนั้นเป็นงานหมอกึ่งงานฝีมือ ที่ต้องตรวจ  ต้องวัด ต้องดัด ปรับ แต่ง จูน เจียร์  เพื่อให้การมองเห็นของผู้มารับบริการที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และบางครั้งก็คาดคะเนเวลาไม่ได้  เช่นผมอุดฟัน 5 ซี่ ต้องนัด 3 รอบ เพราะแต่ละซี่นั้นใช้เวลามากน้อยไม่เหมือนกัน  โพรงใหญ่งานเยอะต้องใช้เวลา  โพรงน้อยใช้เวลาน้อย คาดเดาไม่ได้  การตรวจตาก็เช่นเดียวกัน  บางคนใช้เวลาในห้องตรวจ 2 ชั่วโมง แต่บางคน 20 นาทีก็เรียบร้อยแล้ว เพราะความยากง่ายของเคสนั้นไม่เหมือนกัน 

 

แรกๆคนไม่เข้าใจ เพราะเข้าไปใช้บริการทำแว่นที่ไหน ก็สามารถเข้าไปได้เลย ทำให้ในช่วงแรกๆที่ทำร้านนั้น ร้านดูยุ่งๆหน่อย เคยมีครั้งหนึ่ง คนไข้ท่านหนึ่งเข้ามาที่ร้านตอน 10 โมงเช้า (walkin) แต่ได้ตรวจตอน 5 โมงเย็น พอเข้าห้องตรวจก็ ดุผมทันทนว่า “ผมมาก่อนคนเหล่านั้น ทำไมผมได้ตรวจทีหลัง” ผมก็ตอบว่า “ทุกคนที่มาวันนี้ นัดเวลากันทุกคนครับ และมาตรงเวลา ผมก็ต้องตรวจคนที่นัดตรงเวลาก่อน”  คนไข้ถามผมว่า “มันต้องนัดด้วยหรือเข้าไปร้านแว่นที่ไหนไม่เคยนัด” “ครับ เพื่อให้ผมดูแลได้เต็มที่ นัดเข้ามาดีกว่าครับ ผมเองก็ไม่ชอบทำงานเร่งหรืองานรีบ และก็ไม่สนุกที่ต้องเห็นคนนั่งรอเป็นเวลานานๆ เพราะบางเคสมันคุมเวลาไม่ได้” 

จากนั้น คนไข้ท่านนี้ก็จะโทรนัดเวลาจะเข้ามาทุกครั้ง จะแนะนำหรือพาใครมาตรวจสายตาก็จะต้องโทรเข้ามาถามเพื่อนัดก่อนทุกครั้ง ซึ่งเป็นความน่ารักอย่างหนึ่งที่ผมชอบมาก และขอขอบคุณคนไข้ทุกท่านที่เข้าใจว่าที่ทำให้ท่านยุ่งยากนัดเวลาก็เพื่อตัวท่านเอง และตัวผมด้วยที่อยากจะดูแลท่านได้อย่างเต็มที่ และได้ฟังเรื่องราวต่างๆที่ท่านอยากจะเล่า สอน หรือระบายให้ผมฟัง

 

สำคัญที่สุดในการทำงานให้มีประสิทธิภาพคือ “เวลา” เพราะการให้เวลานั้นแสดงถึง ทั้งทัศนมาตรเองก็ให้ความสำคัญกับคนไข้ และ คนไข้เองก็ให้ความสำคัญกับระบบการมองเห็นของตัวเอง  ดังนั้นการนัดเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานทางด้านทัศนมาตร  คนไข้เข้ามามาก ก็ใช่ว่าจะสามารถทำงานได้ดี  ดังนั้นการใช้ promotion เพื่อเชิญชวนให้คนเข้ามาเยอะๆแล้วมาเร่่งตรวจ เร่งขาย ผมเข้าไม่ถึงหลักการนี้เท่าไหร่ เพราะว่าลำพังผมทำงานวันละ 2 เคส ก็ไม่รู้จะมีเวลาหรือแรงที่ไหนไปดูแลคนมากมายขนาดนั้นในเวลาเดียวกัน แต่ก็คงแล้วแต่คนว่า เขาคิดว่าเขาเป็นหมอหรือนักธุรกิจ เพราะทั้งคู่ก็ถูกต้องในบริบทของตน  

 

กลับมาที่เรื่อง logo 

หลังใช้โลโกแรกเริ่ม 2 ปี ก็คิดเปลี่ยน logo ครั้งแรกในปี 2017 เพราะรู้สึกว่ามันดูเยอะๆ ก็เอาดวงตาออก คงเหลือไว้แต่ตัว L ซึ่งใช้มาจนปัจจุบัน  แต่ลึกๆในใจก็อยากได้ logo ใหม่ที่มีความลึกซึ้งและพรีเซนต์ความเป็นตัวตนของเราได้มากกว่า L ธรรมดา ผมเป็นคุณมีบุญและมีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือมาตลอด  ซึ่งต้องขอขอบคุณ อาจารย์มากๆ ที่ให้กำเนิดโลโกทั้งของสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทยและลอฟท์ ออพโตเมทรี  และเมื่อผมเลือกไม่ถูกอาจารย์จึงสรุปให้ผม

อาจารย์ชาลิน เลยสรุป logo ที่เป็นตัวผมออกมาให้ว่า “ตัวคุณที่ผมรู้จักต้องอันนี้ เพราะมันแสดงถึงความเป็นสถาบันบางอย่าง เพราะคุณไม่ได้วัดสายตาขายแว่นอย่างเดียว แต่คุณสอน คุณให้ความรู้  โลโกจึงต้องแสดงถึงการมีความรู้  มีเทคโนโลยี นวัตกรรม มีงานช่างที่ละเอียด มีความแม่นยำ เส้นสายที่คมชัดนั้นบ่งบอกถึงความเป๊ะของคุณและความตรงไปตรงมาของคุณ ดังนั้น logo ที่เลือกให้นี้รวมๆได้ว่า  Institute ,Education , Optometry Science ,Eye and Vision Care  ,Technology ,Innovation ,Story, Sharp , Modern ,Preciouse , Trust , Honest , Comfort  ดังนั้น logo เดิมที่ทำมาก็ไม่เสียเปล่า ด้วยการคงสัญลักษณ์​ L ไว้ และเกี่ยวข้องกับตาที่เป็นสัญลักษณ์เดิมมา  พื้นฐานส่วนใหญ่ยังคงเดิม เพิ่มเติมคือ ตัวตนลายเส้นของดวงตาที่ชัดขึ้น คมขึ้น ให้อารมณ์ความเป็นสถาบันทางสายตามากขึ้น แต่ก็เป็นเส้นสายที่เรียบง่าย เข้าถึงง่าย ดูอบอุ่น  สีที่ใช้ก็เป็นน้ำเงิน/ขาว แสดงถึงความนิ่ง ลึก ของความเป็นตัวตนของ loft optometry และมันคือตัวคุณ"

" ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวบางส่วนที่เกิดขึ้นในใจหลังหายตัวไปและได้บางสิ่งกลับมา "

 

 

สุดท้าย

ขอขอบคุณแฟนเพจ แฟนคอลัมน์  ที่ให้กำลังใจในการติดตามกันเสมอมา บางครั้งพูดจาเข้าหูบ้างไม่เข้าหูบ้างก็ขออภัย เพราะเจตนาที่แท้จริงนั้นต้องการให้วิชาชีพทัศนมาตรเป็นวิชาชีพที่เป็นที่พึ่งของคนที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็นอย่างแท้จริง สามารถพึ่งพาได้ และอยากจะยกระดับการบริการด้านสายตาและแว่นตาให้ได้มาตรฐานเดียวกัน  เพื่อให้พ้นจากคำถามว่า ทัศนมาตรเขามีมาตรฐานในการทำงานไม่เหมือนกันหรือ 

 

ต่อไปก็คงจะเริ่มทำของที่ระลึกต่างๆ เกี่ยวกับแบรนด์ ไว้จะอัพเดตให้ทราบกันเป็นระยะนะครับ 

ขอบคุณสำหรับกำลังใจจากทุกท่าน

ดร.ลอฟท์​