การเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาในแต่ละช่วงอายุ 

ตอนที่ 2 การเปลี่ยนแปลงค่าสายตาในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น-ผู้ใหญ่ตอนปลาย

เขียนโดย Foo, Say Kiang ,Faculty of Optometry & Vision Sciences SEGi University

แปลโดย ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี O.D, (ดร.ลอฟท์)


 

บทนำ

จากตอนที่แล้วเราได้รู้ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสายตาในแต่ละวัย ซึ่งในตอนที่ 1 นั้นเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาตั้งแต่วัยแรกเกิด ไปจนถึงวัยเรียน ซึ่งได้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสายตาที่สำคัญคือ เด็กทุกคนเกิดมาส่วนใหญ่เป็นสายตายาว (hyperopia) [จริงๆผู้แปลต้องกำกับภาษาอังกฤษสำหรับสายตายาวไว้ ก็ด้วยเหตุว่าคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่า สายตายาวคือสายตาคนแก่ ซึ่งแท้จริงแล้วมันคนละเรื่องกัน แต่คงต้องย้ำไปเรื่อยๆจนกว่า คนส่วนใหญ่จะเริ่มแยกได้-ผู้แปล] จากนั้นสายตายาวจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงขวบปีแรก จนกลายเป็นสายตาปกติในช่วงวัยเข้าโรงเรียน และในเด็กนั้นมีประบวนการที่สำคัญในการปรับสายตาตัวเองให้เป็นปกติ เรียกว่ากระบวนการ Emmetropization  ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงแรกเกิด - 3ขวบ 

 

เด็กกับผู้ใหญ่จึงมีความแตกต่างกันที่สำคัญคือ กายภาพของเด็กนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในขณะที่ผู้ใหญ่นั้นร่างกายเติบโตเต็มที่แล้ว (mature)  การจ่ายเลนส์เพื่อแก้ปัญหาสายตาหรือแก้ปัญหาการมองเห็นของเด็กจึงมีความซับซ้อนกว่าผู้ใหญ่  เนื่องจากการจ่ายเลนส์ที่ไม่เหมาะสม อาจไปยับยั้งกระบวนการพัฒนาตามธรรมชาติของเด็กได้ จึงเป็นเหตุให้มีความพยายามในการร่างกฎหมายให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบนั้น ควรได้รับการบริการจากผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการตรวจสายตาเช่น pediatic ophthalmologist หรือ Optometrist  

"เด็ก...ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ตัวเล็ก..เพราะเด็กยังมีการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ผู้ใหญ่ตัวเล็กนั้นทุกอย่างหยุดเจริญเติบโตแล้ว
image : Game of Throne

 

ดังนั้นวันนี้เราจะมาต่องานวิจัยนี้ต่อให้จบ ซึ่งที่ยังเหลืออยู่ 2 ช่วงอายุ คือตั้งแต่ช่วง Young adulthood (ตั้งแต่วัยรุ่นตอนปลาย ( late teen) ไปจนถึงวัยก่อนเป็นสายตาคนแก่ (pre-presbyopia))  และช่วง Late adulthood  (คือช่วงตั้งแต่ presbyopia ขึ้นไป)  เพื่อจะได้เห็นทิศทางของการเปลี่ยนแปลงทางสายตาต่อไป 

 

"Young adulthood"  
( later teens ถึง pre-presbyopia)

Young Adults หรือวัยผู้ใหญ่นั้น เป็นวัยที่มีความคงที่ของสายตามากที่สุด เมื่อเปรียบเทียกับกลุ่มวัยอื่นๆ (Goss, 1998; Grosvenor, 1991)  การเริ่มเป็นสายตาสั้นและการเพ่ิมขึ้นของสายตาสั้นเป็นสิ่งที่พบได้ในคนวัยนี้ แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงสายตาของคนวัยนี้น้อยกว่าวัยเด็กมาก (Goss & West, 2002; Lin et al., 1996; Kinge & Midelfart, 1999; Jorge etal., 2007) จากการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ของ Williams และทีม ในปี 2013 พบว่า "ประชากรของคนสายตาสั้นเกือบครึ่งของคนอังกฤษนั้นเริ่มเป็นสายตาสั้นหลังจากอายุ 18 ปี"

 

การเพ่ิมขึ้นของสายตาสั้นในคนวัยนี้ คาดว่ามีสาเหตุมาจาก ความโค้งของกระจกตาโค้งมากขึ้น ทำให้กำลังหักเหของกระจกตาเพ่ิมมากขึ้น (ความเป็นบวกมากขึ้น ทำให้สั้นมากขึ้นนั่นเอง -ผู้แปล) (Goss et al., 1985; Goss & Erickson, 1987;Grosvenor & Scott, 1991) แต่..เมื่อมีการศึกษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกลับพบว่า "รัศมีความโค้งของกระจกตานั้นไม่พบว่ามีความสำพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสายตา" (Fledelius, 1998) 

 

ในขณะที่สายตาสั้นนั้นมีปัจจัยมากมายที่เป็นสาเหตุให้เกิดสายตาเปลี่ยน (Hyman, 2007) ดังนั้นกระจกตาที่โค้งมากขึ้นเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้สายตาสั้นเพ่ิมมากขึ้น (Grosvenor & Scott, 1993)

 

ในประชากรที่มีลูกตาขนาดเล็ก ย่อมมีความโค้งของกระจกตาที่โค้งมากกว่า แต่กลับพบว่าคนสายตาสั้นส่วนใหญ่กลับไม่ได้เกิดขึ้นในคนที่มีดวงตาขนาดเล็ก (Grosvenor, 1991) และสิ่งที่เป็นสาเหตุให้สายตาสั้นเพ่ิมขึ้นในวัยผู้ใหญ่จริงๆน่าจะเกิดจาก ความลึกของช่องของวุ้นลูกตา (Vitreous chamber depth) และความยาวของกระบอกตา (axial lenght) (Grosvenor & Scott, 1991).

 

McBrien และ Adams (1997) พบหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า "การเกิดขึ้นและการเพ่ิมขึ้นของสายตาสั้่นในประชากรวััยนี้นั้นเกิดจากช่องของวุ้นลูกตานั้นยาวมากขึ้น (vitreous chamber elongation)" 

 

เดิมเราเคยมีความเชื่อกันว่า ดวงตานั้นจะโตเต็มที่เมื่ออายุ 13 ถึง 15 ปี (Sorsby et al., 1992; Larsen,1971; Kent, 1963) และสายตาสั้นใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นหลังช่วงนี้ย่อมไม่ได้มีสาเหตุที่เกิดมาจากกระบอกตาที่ยาวขึ้น แต่มีหลายงานศึกษากลับพบว่า ดวงตานั้นมีการเจริญเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ (adulthood)(Grosvenor & Scott, 1991; Grosvenor & Scott, 1993; McBrien & Adams, 1997; McBrien & Millodot, 1987; Bullimore et al., 1992)  ซึ่งมีความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้จากการยืดของกระบอกตาขาว (scleral stretching) ทำให้เกิดสายตาสั้นขึ้นในวัยผู้ใหญ่และเกิดการเปลี่ยนแปลงของสายตาสั้นเพ่ิมขึ้นในวัยผู้ใหญ่  (Bell, 1978)

 

มีงานวิจัยที่ทำขึ้นในอินโดนิเซีย ซึ่งได้ผลออกมาว่า ไม่มีการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นในคนกลุ่มวัยนี้ แต่กลับพบการลดลงของสายตาสั้น 0.17D ในกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 21-29 ปี และจาก 30-39 ปี (Saw et al., 2002) 

 

จากงานศึกษาของ The Handan Eye Study แบบ cross sectional  ในประเทศจีน พบว่า คนสายตาสั้นโดยเฉลี่ยนั้นกลับมามีสายตาสั้นลดลง (hyperopic shift) เมื่ออายุเพ่ิมขึ้นจาก 30 ปี - 40 ปี  (Liang et al., 2009) และก็มีรายงานจากการศึกษาแบบ longitudinal study ของ sander (1986) ก็ให้ผลออกมาพ้องกัน 

 

การเกิดขึ้นและการเพ่ิมขึ้นของสายตาสั้นในวัยผู้ใหญ่นั้น พบความสัมพันธ์ว่าเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเช่น การสูบบุหรี่  การใช้เวลาอ่านหนังสือต่อวันเป็นเวลานาน  คนไข้เบาหวานและคนที่มีคนในครอบครัวเป็นสายตาสั้น  (Liang et al., 2009)

 

มีงานวิจัยมาเร็วๆนี้พบว่า ผู้ที่มีอายุ 18-24 ปี ที่มีพ่อแม่เป็นสายตาสั้น และ ใช้เวลาอ่านหนังสือต่อวันเป็นเวลานาน มีการศึกษาสูง ดูใกล้มากเป็นเวลานาน และมีกิจกรรม outdoor น้อย  มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นในช่วงนี้ (Lee et al., 2013)

 

สายตาเอียงของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างคงที่ (Liang et al., 2009; Saw et al.,2002)  มีรายงานศึกษาพบว่า พบการเปลี่ยนแปลงของสายตาเอียง 0.1D ถึง 0.3D เท่านั้นในช่วงอายุตั้งแต่ 20-40 ปี (Goss &West, 2002) และคนที่มีสายตาเอียงส่วนใหญ่ในวัยนี้นั้นเป็นแบบ With-the-rule  มากกว่า  against-the-rule (Goss & West, 2002)

 

"Late Adulthood"
ผู้สูงอายุตั้งแต่ presbyopia ขึ้นไป 

พบการเปลี่ยนแปลงของสายตาในทิศทาง Hyperopic shift (สายตายาวเพิ่มขึ้น/สายตาสั้นลดลง- ผู้เแปล) หลังจากอายุ 40 ปีขึ้นไป (Xu et al., 2005; Goss & West, 2002; Liang et al., 2009; Wu et al., 2005; Shimizu et al.,2003; Attebo et al., 1999; He et al., 2009)  และจากการศึกษาต่อเนื่องพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปในทาง Hyperopic shift ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 60-64 ปี  โดยจากการศึกษาแบบ longitudinal study พบว่าจะเกิด hyperopic shift ทุกๆ 0.41D ในทุกๆ 5 ปี (Gudmundsdottir et al.,2005)

 

Bengtsson และคณะวิจัยปี 1999 พบว่า hypermetropic shift นั้นเกิดขึ้นจริงในคนที่อายุระหว่าง 55 ถึง 70 ปี พ้องกับงานวิจัยของ Attebo และทีมในปี 1999 พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ยของสายตาบวกเพ่ิมขึ้น +1.2D ในคนอายุ 80 ขึ้นไป 

 

แนวโน้มของ hyperopic shift ทำให้ตัวเลขของประชากรที่เป็นสายตายาว (Hyperopia) เพ่ิมขึ้นสูงถึง 68.5% ในประชากรผู้สูงอายุ  (Anton et al., 2009; Wang, et al., 1994; Lam et al., 1994). 

 

อายุที่เพ่ิมขึ้นมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของประชากรสายตายาว (hyperopia) และมีความสัมพันธ์กับการลดลงของสายตาสั้น อาจเป็นไปได้ว่า กำลังของเลนส์ตา (lens power) ลดลงเมื่ออายุเพ่ิมขึ้น  (Shimizu et al., 2003; Wang et al., 1994; Garner et al., 1998). 

 

การเปลี่ยนแปลงของความลึกของช่องวุ้นในลูกตาและการเปลี่ยนแปลงความยาวของกระบอกตา อาจจะเป็นตัวแปรหลักที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาของคนในวัยนี้  ส่วนตัวแปรในเรื่องความโค้งของกระจกตาเปลี่ยนนั้นไม่เกี่ยวข้องกับอายุ (Gudmundsdottir et al., 2005). 

 

Grosvenor และ Skeates (1999)  ใช้การเก็บข้อมูลจากคนไข้ในคลินิกที่ได้บันทึกไว้ พบว่า  มีน้อยมากที่คนไข้สายตาสั้นจะมี hyperopic shift ในช่วง presbyopia ในทางตรงข้ามกับพบว่าคนสายตาสั้นแต่ละคนนั้นส่วนใหญ่แล้วสั้นคงที่ และบางคนมีสายตาสั้นเพ่ิมขึ้น  และเขาตั้งสมมติฐานไว้ว่า อาจมีสาเหตุเกิดจาก กระบอกตาที่ยาวขึ้น และความเป็น gradient index เลนส์ตานั้นลดลงเมื่ออายุเพ่ิมมากขึ้น 

 

ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี จะมีความยาวของกระบอกตาสั้นกว่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย และความหนาของเลนส์แก้วตาเพิ่มขึ้นเมื่อายุเพ่ิมขึ้นของผู้หญิงจะหนากว่าของผู้ชายด้วยเช่นกัน (He et al.,2009) และนี่อาจเป็นสาเหตุที่เป็นไปได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับความแตกต่างของค่าสายตาที่พบในผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี (Kempen et al., 2004)

 

การเปลี่ยนแปลงของสายตาจะเริ่มกลับหรือที่เรียกว่า สายตากลับ นั้นเริ่มจะเห็นได้ชัดเจนในช่วงอายุ 60 ปี  โดยการเปลี่ยนแปลงของสายตาจะเป็นไปในทางสายตาสั้นมากขึ้นอีกครั้ง (myopic shift) (Gudmundsdottir et al., 2005; Liang et al.,2009; Wu et al., 2005; He et al., 2009). 

 

การเปลี่ยนแปลงของสายตาสั้นที่เพิ่มขึ้นนี้ เกี่ยวข้องกับการเป็นต้อกระจกที่เกิดขึ้นที่ศูนย์กลาง nucleous ของเลนส์ หรือ nuclear cataract (Liang et al., 2009; Guzowski et al., 2003)

 

ความรุนแรงของเลนส์ตาขุุ่นที่บริเวณศูนย์กลางเลนส์นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิดขึ้นของสายตาสั้นและไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของสายตายาว (พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ สายตาสั้นที่เกิดขึ้นในวัยชรานั้น มีสาเหตุเกิดมาจากเลนส์แก้วตาขุ่น -ผู้แปล) (Cheng et al., 2003; Saw et al., 2008; Wong et al., 2000; Tarczy-Hornoch et al., 2006). 

 

มีงานศึกษาในญี่ปุ่นพบเช่นเดียวกันว่า มีประชากรสายตาสั้นลดลงในช่วงอายุ 70-79 ปี แต่กลับพบว่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเมื่อคนไข้อายุ 80 ปีขึ้นไปและคนที่สายตายาวหลังจากอายุ 80 ไปแล้วก็จะลดลงด้วยเช่นกัน (Sawada et al., 2008). 

 

อายุของประชากรที่เริ่มมี myopic shift นั้นเกิดขึ้นในวัยชรา (later adulthood) ซึ่งขึ้นอยู่กับการเป็นต้อกระจกชนิด nuclear cataract และมีบางงานศึกษาพบว่า myopic shift นั้นเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป (Liang et al., 2009; Saw et al., 2002; Saw et al., 2008; Wong et al., 2000 ) แต่ก็มีงานศึกษาบางงานที่ได้ผลออกมาว่า mypic shift นั้นเริ่มตั้งแต่อายุ 50 ปี (Raju et al., 2004; Bourne et al., 2004; Dandona et al., 1999). 

 

การเพิ่มขึ้นของความขุ่นของต้อกระจกที่ lens nucleous เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเพ่ิมขึ้นของสายตาสั้นที่เกิดขึ้นในคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป  (Lee et al., 1999)

 

พบปัจจัยเสี่ยงที่มีความเกี่ยวข้องกับการอุบัติขึ้นของสายตาสั้นในวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปี เช่น การศึกษาสูง เบาหวาน เลนส์ตาขุ่น มีสมาชิกในบ้านเป็นสายตาสั้น (Liang et al., 2009) ในขณะที่ Gudmundsdottir etal. (2005) แสดงให้เห็นว่า ปัจจัย เช่น จำนวนปีในการศึกษา การสูบบุหรี่ ความหนาของกระจกตา ความสูง ดัชนีมวลร่างกาย ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสายตาสั้น/ ยาว อย่างมีนัยสำคัญ​ 

 

การเปลี่ยนแปลงของ crystalline lens ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสายตาเมื่ออายุมากขึ้น  Truscott และ  Zhu (2010) ให้เสนอแนะว่า  การที่เลนส์ตาสัมผัสกับความร้อนของแสงแดดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้โครงสร้างโมเลกุลใหญ่ของเลนส์นั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นสายตายาวชรา และ เกิดต้อกระจกชนิด age-related nuclear cataract

 

ซึ่งถ้าเป็นสาเหตุจากความร้อนที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหตุให้เกิดต้อกระจกจริงๆ แสดงว่าประชากรที่มีอายุมากที่อาศัยอยู่ในแถวเส้นศูนย์สูตรน่าจะมีอัตราของการเกิด myopic shift มากกว่าประชากรในที่อื่นๆ  แต่จากการศึกษาในประเทศไนจีเรีย 1362 คน พบว่าอุณหภูมินั้นมีผลกต่อการเปลี่ยนแปลงของเลนส์ตาน้อยมาก (Kragha, 1985)

 

พบว่าเฉลี่ยของสายตาเอียงนั้นเพ่ิมขึ้นในผู้สูงอายุ (later adulthood) (Xu etal., 2005; Attebo et al., 1999; Anton et al., 2009; Gupta et al., 2008) ซึ่งค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงคือ 0.13 D ในทิศทาง against-the-rule ในช่วงเวลา 5 ปี(Gudmundsdottir et al., 2005)

 

อัตราการเพ่ิมขึ้นของสายตาเอียงในคนสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป นั้นมีความสัมพันธ์กับระดับของความขุ่นของเลนส์ในแต่ละอายุ (Wang et al.,1994; Wong et al., 2000; Katz et al., 1997; Dandona et al., 1999). 

 

แกนของสายตาเอียง (axis) ที่พบบ่อยสุดในวัยนี้คือ against the rule (Attebo et al., 1999) การเปลี่ยนแปลงของแกนสายตาเอียงไปในทิศทางของ against-the-rule astigmatism นั้นเริ่มตั้นตั้งแต่อายุ 40 ขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของแรงตึงของเปลือกตา

 

แรงตึงของเปลือกตานั้นทำให้เกิดสายตาเอียงแบบ with-the-rule astigmatism (Goss, 1989) และเมื่อ lid tension ลดลงสวนทางกับอายุที่เพ่ิมขึ้น ทำให้  the with-the-rule astigmatism นั้นลดลง และมีการเปลี่ยนไปในทิศทางของ against-the-rule จึงมากขึ้น (Dandona et al., 1999). 

 

66.5% ของประชากรในช่วงอายุ 43 ปี นั้นมี astigmatism และเมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นสายตาเอียงแบบ against-the-rule (Jonasson & Thordarson, 1987)

 

การอุบัติขึ้นของสายตาเอียงนั้นสูงขึ้นในกลุ่มประชากรที่มีอายุมากขึ้น (Sawada et al., 2008)

 

จากการศึกษาของ The Blue Mountains Eye Study ในประชากรสูงอายุที่มีอายุ 49 ปีขึ้นไป พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของสายตาเอียงเพียงเล็กน้อย จากการศึกษาเป็นเวลา 5 ปี

 

แกนของสายตาเอียงยังคง คงที่ในเคสส่วนใหญ่ (64%) และมีเพียง 12% ที่เปลี่ยนไปเป็น againt-the-rule และอีก 11% เปลี่ยนไปเป็น with-the rule (Guzowski et al., 2003).

 

สรุปว่า

"การเปลี่ยนแปลงของสายตานั้นมีความสัมพันธ์กับอายุ" 

 

สายตาของคนนั้นเริ่มต้นจากการเป็นสายตายาว (hyperopia) เนื่องจากเด็กทารกนั้นมีลูกตาขนาดเล็กและกระบวนการ emmetropiazation เป็นกระบวนการปรับสมดุลตาให้เป็นสายตาปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงขวบปีแรก ทำให้สายตาในช่วงปีแรกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

 

การเพิ่มขึ้นของสายตาสั้น หรือ myopic shift นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเด็กวัยเรียน โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเพ่ิมขึ้นของสายตาสั้นคือ พันธกรรม (genetic) และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกรับอัตราการเพ่ิมขึ้นของสายตาสั้น 

 

สายตาของคนส่วนใหญ่จะคงที่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (young adulthood) โดยมีอัตาราการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นน้อยกว่าช่วงเด็กวัยเรียน และยังพบต่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสายตานั้นเป็นไปในทาง hyperopic shift (สั้นลดลง ,ยาวเพ่ิมขึ้น -ผู้แปล)  หลังจากอายุ 30 ปี ขึ้นไป 

 

Hyperopic shift เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย (late adult) ด้วยสาเหตุจากกำลังหักเหของเลนส์ตานั้นลดลง ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้าสายตายาวเพ่ิมขึ้น (สั้นลดลง) ในวัยนี้  

 

การเป็นต้อกระจกชนิด nuclear cataract  มีอิทธิพลทำให้สายตาเปลี่ยนในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนปลายถึงวัยชรา  โดยมีสัญญาณของอาการคือเกิด myopic shift หรือ สายตากลับในคนวัยสูงอายุ

 

ในช่วงการปรับสายตาเอียงให้เป็นสายตาปกติด้วยกระบวนการ emmetropization นั้นใช้เวลายาวนานกว่าการปรับสายตาสั้น/ยาวปกติ   และพบว่า ในช่วงเด็กเล็กนั้น จะเป็นสายตาเอียงชนิด with-the-rule astigmatism มากกว่า เนื่องจาก lid pressure ในแนว vertical  และพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสายตาเอียงในเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ตอนต้นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมา 

 

การลดลงของ lid pressure และ การเริ่มเป็นต้อกระจกชนิด neclear cataract ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสายตาเอียงเป็น against-the-rule ในประชากรสูงอายุ 

 

ทิ้งท้าย 

การรู้ข้อมูลจากข้อเท็จจริงจากงานวิจัยที่ผ่านการค้นพบและนำมาสรุปให้ได้อ่านทั้ง 2 ตอนนี้ คงทำให้เราได้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของสายตาของคนในช่วงอายุขัยหนึ่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง  ด้วยสาเหตุต่างๆมากมายหลายๆอย่าง ซึ่งบางงานศึกษาวิจัยก็ยังคงขัดแย้งกันอยู่ แต่ก็คงทำให้เราได้เห็นทิศทางของการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมการหรือวางแผนในการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้การดูแลรักษาสุขภาพดวงตาและสายตานัั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งผู้แปลเห็นว่างานวิจัยนี้มีประโยชน์กับผู้ที่สนใจได้เป็นอย่างดี   ท่านที่สนใจอ่าน paper ต้นฉบับสามารถกดเข้าไปอ่านได้ที่ลิ้งที่แนบมา http://onlinereview.segi.edu.my/pdf/vol8-no2-art7.pdf

ส่วนใครมาไม่ทันตอนแรกนั้น สามารถกลับไปอ่านตอนแรกได้ ซึ่งผมได้แปลไว้แล้วที่ลิ้ง http://www.loftoptometry.com/whatnew/view/129

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม พบกันใหม่ในตอนหน้า 

สวัสดีครับ 

ดร.ลอฟท์​

578  Wacharapol rd ,Bangkhen ,Bkk 10220

T 0905536554

line : loftoptometry