การเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาในแต่ละช่วงอายุ
Refractive error changes relative to age

ตอนที่ 1 การเปลี่ยนแปลงค่าสายตาในวัยเด็กเล็ก 1-5 ขวบ

เขียนโดย Foo, Say Kiang ,Faculty of Optometry & Vision Sciences SEGi University 
ตีพิมพ์ ; SEGi Review ISSN: 1985.5672 (Vol.9, December 2015)

แปลโดย ดร.ลอฟท์ ,21 February BE 2562

 

บทคัดย่อ 

ความผิดปกติของสายตา หรือ refractive error นั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงอายุคน ตั้งแต่วัยทารก (infancy) ไปจนถึงวัยชรา (late adulthood)  จากการศึกษาพบว่า เด็กทารก (infancy) และเด็กเล็ก (childhood) เป็นช่วงของการเป็นสายตายาว (hyperopic state) และช่วงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าสายตามากที่สุดคือช่วง 3-9 ปี และเป็นช่วงที่มีกระบวนการปรับค่าสายตาที่ผิดปกติให้เป็นสายตาปกติตามธรรมชาติ เรียกกระบวนการนี้ว่า Emmetropization และพบว่ามีความสัมพันธ์กับการยาวขึ้นของกระบอกตา (axial length elongation) อย่างมีนัยสำคัญ  

 

จากงานศึกษายังพบต่อไปว่า ค่าสายตาเอียงสูงๆ (high astigmatism) มักเกิดขึ้นในช่วงทารกแรกเกิด (infacncy) และสายตาเอียงจะค่อยๆลดลงอย่างรวดเร็วภายในช่วงปีแรกและลดลงเรื่อยๆจนแทบจะปกติเมื่อเด็กโตขึ้นจนถึงวัยเรียน (school-age) 

 

การเพ่ิมขึ้นของสายตาสั้นหรือลดลงของสายตายาว จะเกิดขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมและปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม แต่ค่าสายตาเอียงในเด็กวัยเรียนค่อนข้างคงที่  

วัยที่มีสายตาคงที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่นคือผู้ใหญ่ตอนต้น (young adults) ซึ่งวัยนี้ถ้าจะเกิดสายตาสั้นขึ้นมาหรือค่าสายตาสั้นมีการเปลี่ยนแปลง มักจะมีสาเหตุมาจากความยาวที่เพิ่มขึ้นของช่องวุ้นในลูกตา (vitreous chamber elongtion)   

 

hyperopic shift  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของสายตายาวไปในทางเพิ่มขึ้นหรือสายตาสั้นที่ลดลง มีสาเหตุความเป็นไปได้จากกำลังของเลนส์แก้วตาที่ลดลงและเนื้อของเลนส์ตามีความหนาแน่นขึ้นตามอายุที่่มากขึ้น (เนื่องจาก lens fiber มีการสร้างตลอดชีวิต ทำให้ความหนาแน่นของ lens fiber มีมากขึ้น และเลนส์มีขนาดใหญ่ขึ้น ความโค้งของเลนส์ลดลง จึงมีกำลังหักเหลดลง เกิด hyperopic shift -ผู้แปล)  

 

ส่วนเรื่อง myopic shift (สายตากลับ-ผู้แปล) เกิดขึ้นในคนที่อายุมากที่เริ่มเป็นต้อกระจกชนิด nuclear cataract และมีแนวโน้มว่าคนที่อายุมากขึ้นมีอัตราการเป็นสายตาเอียงที่มากขึ้น โดยแกนขององศาเอียงนั้นเป็นแบบ Againt the Rule (คือองศานั้นอยู่ในแกน 90 (+/-15) องศา-ผู้แปล) 

 

Keyword - Emmetropia ; myopic shift ; hyperopia shift ; astigmatism 

 

บทนำ (Introduction)

    ความบกพร่องของระบบการมองเห็น (visual impairment) ทั่วโลกนั้นมีสาเหตุอันดับหนึ่งมาจากปัญหาสายตาที่ไม่ได้รับการแก้ไข (Guidmundsdottir et al., 2005)  ปัญหาสายตาซึ่งเกิดจากระบบหักเหแสงของดวงตาที่ทำให้ตำแหน่งโฟกัสคลาดเคลื่อนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงอายุขัย (Saunders, 1981). ดังนั้นเราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงอายุ เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจในการจ่ายค่าสายตาให้ได้ค่าที่เหมาะสมและวางแผนในการดูแลปัญหาสายตาได้ดียิ่งขึ้น 

    มีงานศึกษาวิจัยมากมายเกี่ยวกับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาที่มีความสัมพันธ์กับอายุตั้งแต่วัยเด็กทารกจนไปถึงวัยชรา ซึ่งมีทั้งการศึกษาแบบเจาะจงในแต่ละวัยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (cross-sectionally) เช่นงานศึกษาของ Brown, 1938; Slataper, 1950; Saunders, 1981 และงานศึกษาที่ติดตามเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงอย่างต่อเนื่องตามอายุที่เพิ่มขึ้น (longitudinally) เช่นงานของ Goss & Cox, 1985; Saunders, 1986

 

    สาเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาในแต่ละช่วงอายุนั้นปัจจุบันยังไม่เป็นที่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร แม้อาจมีความเป็นไปได้ว่า มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ (biological) ในร่างกายในแต่ละวัยเช่น กำลังหักเหของกระจกตาเปลี่ยน หรือความยาวของลูกตาเปลี่ยน (Ishii et al., 2013; Zadnik et al., 1993; Goss et al., 1985; Goss & Erickson, 1987; Grosvenor & Scott, 1991; Grosvenor & Scott; 1993; McBrien & Adams, 1997; Lin et al., 2001; Pan et al., 2012) 

ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาให้ดียิ่งขึ้น เราจะต้องแบ่งช่วงอายุออกมาเป็น 4 ช่วงหลักๆ ก็คือ 

1.ทารกและเด็กเล็ก (infancy and early childhood)  แรกเกิด-5ขวบ

2.วัยเรียน (school-aged) อายุ 6-18 ปี  

3.ผู้ใหญ่ตอนต้น (young adulthood) อายุ 20-40 ปี 

4.ผู้ใหญ่ตอนปลาย (late adulthood) อายุมากว่า 40 ปี 

(ซึ่งในตอนที่ 1 นี้ผมจะแปลเฉพาะในส่วนของการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาในช่วงเด็กทารกและเด็กเล็กก่อน-ผู้แปล)

    จากการศึกษาของ Saunders (1986) พบว่าเมื่อเราทำการเปรียบเทียบความผิดปกติของสายตาของแต่ละช่วงวัย เราพบว่าความผิดปกติของสายตานั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงอายุและมีงานวิจัยที่ทำการศึกษากลุ่มทดลองอย่างต่อเนื่อง ได้ผลออกมายืนยันตรงกันและทำให้เราเข้าใจว่า ความผิดปกติทางสายตานั้นมีความสัมพันธ์กับอายุโดยตรง  ซึ่งผลจากการศึกษานี้ ช่วยให้เราสามารถเลือกวิธีหรือแนวทางในการป้องกัน รักษา แก้ไขปัญหาสายตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาสายตาด้วยการผ่าตัด (เช่นทำ Lesik -ผู้แปล) ว่ามีช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีความจำกัดของช่วงเวลาในการทำ (Xu et al., 2005) (ดังนั้นหมอถึงทำ lesik ให้กับผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาน้อยที่สุด นั่นก็คือต้องโตเต็มวััยแล้ว คือมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป เพื่อให้การรักษานั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด-ผู้แปล)

 

ทารกแรกเกิดและเด็กเล็กก่อนเข้าโรงเรียน
(Infancy and early childhood)

    งานวิจัยหลายๆงานออกมาตรงกันว่า ช่วงวัยเด็กทารกแรกเกิดและวัยเด็กก่อนเข้าโรงเรียนนั้นส่วนใหญ่เป็นช่วงที่สายตาเป็นสายตายาว (hyperopic state) (Wood et al., 1995; Edwards, 1991; Hopkinson et al., 1992; Blomdahl, 1979; Mayer et al.,2001) โดยมีค่าเฉลี่ยของสายตาตั้งแต่ +0.50 ถึง +3.00D และสายตายาวเริ่มลดลงกลายเป็นสายตาสั้น (myopic shift) เมื่อผ่านขวบปีแรกไปแล้ว (Wood et al., 1995; Edwards, 1991; Mayeret al., 2001; Mutti et al., 2005; Zadnik, 2003; Mutti, 2007) โดยจากงานวิจัยของ Edwards (1991) พบว่าเด็กที่มีอายุในช่วง 10 ถึง 40 สัปดาห์หลังคลอด มีการลดลงของค่า mean spherical equilvalent อย่างรวดเร็วในช่วงนี้  (แปลผลว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ สายตายาวมีการลดลงอย่างรวดเร็ว - ผู้แปล)

    การเปลี่ยนแปลงของค่าของสายตา (refractive error change) ที่เกิดขึ้นในเด็กทารก (infancy) และเด็กเล็ก (early childhood) เราเชื่อว่าเป็นการปรับธรรมชาติของร่างกายเพื่อให้สายตากลับมาปกติ หรือกระบวนการ Emmetripization ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังจากแรกเกิด (Saunders et al., 1995; Ehrlich et al., 1995) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นทั้งในเด็กที่มีความผิดปกติเป็นสายสั้น (myopic) และสายตายาว (hyperopic)  

    ช่วงที่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาอย่างเห็นได้ชัดคือช่วงปีแรกหลังคลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัย 3-9 เดือน (Goss & West,2002; Mutti et al., 2004)  ซึ่งเราเชื่อว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่มีกระบวนการ Emmetropization เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (Troilo, 1992; Wildsoet,1997)  และเป็นไปได้ว่าการที่เด็กทารกเป็นสายตายาว ทำให้เกิดโฟกัสตกหลังจุดโฟกัส ( hyperopic focus ) ซึ่งโฟกัสลักษณะนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้กระบอกตามีการยืดยาวออกไปทำให้ตาโตขึ้นและถ้าระหว่างขั้นตอนนี้ เกิดมีความผิดปกติหรือมีรอยโรคที่ไปทำให้แสงไม่โฟกัสในลักษณะนี้ก็จะไม่มีตัวไปกระตุ้นให้กระบอกตายาวหรือโตขึ้น อาจทำให้เกิดการขัดขวางของกระบวนการ Emmetropization ได้ (Napper et al., 1995; Smith et al., 2002). 

     การลดของของสายตายาวในเด็กทารก มีความสัมพันธ์กับกระบอกตาที่ยาวขึ้นเป็นสำคัญ (axial length elongation) แต่ไม่พบว่ามีความเกี่ยวข้องแบบมีนัยสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของกำลังหักเหของกระจกตาหรือเลนส์แก้วตา แม้จะพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระจกตาและเลนส์ตาในช่วง Emmetropization นี้ก็ตาม (Mutti et al., 2005; Ishii et al., 2013).

     ค่าเฉลี่ยของค่าสายตาในเด็กทารก (spherical equivalent) ได้จากการวัดค่าสายตาแบบหยอดยา (cycloplegic refraction) และพบว่ามีค่าสายตาเฉลี่ยที่ +2.00D เมื่ออายุ 3 เดือนแรก และลดลงจนเหลือ +1.00 ถึง +1.50D ในช่วงขวบปีแรก (Wood et al., 1995; Mutti et al., 2005)

    พบว่าในเด็กทารกนั้นส่วนใหญ่มีความผิดปกติของสายตาเอียง (Mayer et al., 2001; Mutti et al.,2004; Howland & Sayles, 1984),​ ซึ่งเป็นลักษณะปกติของเด็กทารกแรกเกิดและสายตาเอียงก็ลดลงเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น (Mutti et al., 2004; Ehrlich et al., 1997;Atkinson et al., 1980)  โดยเฉพาะในช่วงขวบแรกนั้น สายตาเอียงจะลดลงอย่างรวดเร็ว (Chan & Edwards,1993) และพบว่าความผิดปกติของสายตาเอียงที่พบในเด็กทารกนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับกระบวนการ emmetropizatoin ของความผิดปกติสายตาสั้นยาว (spherical error) (Mutti et al., 2004). 

     มีบางงานวิจัย พบว่า ส่วนใหญ่แล้วความผิดปกติของสายตาเอียงในเด็กเล็กขวบปีแรกส่วนใหญ่เป็นแบบ with-the-rule (Wood et al., 1995; Edwards, 1991; Saunders, 1988) และ Saunders, 1988 ศึกษาพบว่าเด็กแรกเกิดถึง 1 ขวบนั้นเป็นสายตาเอียงชนิด with-the-rule มากกว่า 70%  และค่าความผิดปกติของสายตาเอียงส่วนใหญ่นั้นน้อยกว่า -1.00 DC  (Wood et al., 1995) แต่ก็มีงานวิจัยที่ได้ผลต่างออกไป (Mayer et al.2001) พบเด็กขวบปีแรกส่วนใหญ่นั้นสายตาเอียงชนิด againt-the-rule ส่วนสายตาเอียงที่่มากเกิน -2.00DC นั้นพบได้น้อย ส่วน Mutti et al (2004) พบว่า เด็กแรกเกิดถึง 3 เดือนนั้นเป็น with-the-rule แต่เมื่ออายุ 36 เดือนจะกลายเป็น againt-the-rule 

     นอกจากนี้ยังมีรายงานพบว่า เด็ก 4 ขวบครึ่งนั้น ส่วนใหญ่เป็นสายตาเอียงชนิด with-the-rule เนื่องจากมีแรงกดจากเปลือกตาบนล่างทำให้กระจกตาในแนวนอนแบนลง (Gwiazda et al., 1984)

     พบว่าสายตาเอียงนั้นมีการลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องหลังจากเด็กมีอายุครบ 1 ปี (Wood et al.,1995) และเด็ก 1 ขวบที่มีสายตาเอียงมากว่า -1.00DC สายตาเอียงจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงขวบปีแรก จนกระทั่งอายุ 18 เดือน พบว่าเด็กที่มีสายตาเอียงเหลืออยู่น้อยกว่า 10% (Atkinson et al., 1980; Mohindra et al., 1978) 

     กระบวนการ Emmetropization ที่เกิดขึ้นในเด็กเพื่อแก้ความผิดปกติของสายตาเอียงนั้น (astigmatism) เกิดขึ้นต่อเนื่องอาจยาวนานถึง 36 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการ Emmetropiazation เพื่อแก้ความผิดปกติของสายตาสั้นยาว (spherical equivalent) ซึ่งใช้เวลาเพียง 9 เดือน (Mutti et al., 2004)  และจากการเก็บข้อมูลทางกายภาพของเด็กพบว่าผิวเลนส์และผิวของกระจกตานั้นมีความโค้งที่สม่ำเสมอมากขึ้น มีความเป็น sphere มากขึ้นเมื่ออายุเพ่ิมขึ้น และสายตาเอียงก็ลดลงเมื่ออายุเพ่ิมขึ้นด้วย (Mutti et al., 2004)

 

 วัยเรียน
(school age)

     ต่อเนื่องจากวัยเด็กที่ได้กล่าวมา เมื่อเด็กมีการเจริญเติบโตขึ้น ความผิดปกติของสายตายาว (hyperopic) จะเริ่มลดลงจนถึงวัยเข้าเรียนโรงเรียน (school-age children)  และจาก การศึกษาพบว่า ยิ่งเด็กโตขึ้น ความเป็นสายตายาวจะลดลง ความเป็นสายตาสั้นจะเพ่ิมขึ้นมาแทน (Twelker et al., 2009; Dandona et al., 2002; Zadnik et al., 2002)

     พบความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงค่าสายตายาวมีความเกี่ยวข้องกับอายุ โดยพบว่าในเด็ก  5 ขวบ ซึ่งเป็นสายตายาวคิดเป็น 15.6% เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสายตายาวไปเป็นสายตาสั้นในเด็กโตอายุ 15 ปี คิดเป็น 10.8% (Murthy et al., 2002)

     ก่อนหน้านี้ก็มีงานศึกษาว่า โดยทั่วๆไปแล้วเด็กที่เป็นสายตายาวอยู่ สายตายาวจะลดลง แต่เด็กที่เป็นสายตาสั้นก็จะสั้นมากขึ้นและพบว่าในเด็กวัยเรียน (school-age children) อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาในแต่ละปีจะสูงขึ้น (Mantyjarvi, 1985)

     มีการศึกษาในอำเภอ Shunyi ของประเทศจีน ในเรื่อง myopic shift ซึ่งทำการศึกษาในเด็กอายุ 5-13 ปี พบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นมีความสำพันธ์กับ การเป็นเพศหญิง อายุ และ ในเด็กที่มีสายตาสั้นหรือยาวสูงกว่ามาตรฐาน (Zhao et al., 2002).

     แต่อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่ได้ผลออกมาแตกต่างคือ ไม่พบความสัมพันธ์ของความผิดปกติสายตาว่าเกี่ยวข้องกับเพศว่าเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง แม้ว่าเด็กหญิงมีแนวโน้มที่จะมีกระจกตาที่โค้งมากกว่าเด็กชาย มีความโค้งของเลนส์ตาที่โค้งมากกว่า และมีกระบอกตาที่สั้นกว่า เมื่อเทียบกับเด็กชายก็ตาม  (Zadnik et al., 2002)

     อัตราของการเพ่ิมขึ้นของสายตานั้นเกี่ยวข้องกับลักษณะของเชื้อชาติอีกด้วย โดยพบว่าเด็กเอเชียในแต่ละช่วงอายุนั้นมีคนที่เป็นสายตาสั้นมากกว่าเด็กในยุโรป  (Twelker et al., 2009) และมีช่วงอายุที่เริ่มเป็นสายตาสั้นเร็วกว่าเด็กทางยุโรป (Williams et al., 2013; Lin et al., 2004)

    มีรายงานว่า จากการสำรวจพบว่า ในช่วงวัย 7-8 ขวบนั้นพบเด็กสายตาสั้นประมาณ 2 % แต่เมื่ออายุ 15 ปีพบว่ามีเด็กเป็นสายตาสั้นเพ่ิมขึ้นจากเดิมถึง 20% (Zadnik, 2003)

    การเพิ่มขึ้นของสายตาสั้น มีอัตราการเพ่ิมที่สูงกว่าสายตายาว ด้วยสาเหตุหลักๆคือ มีความยาวของช่องวุ้นลูกตาที่ยาวขึ้น (vitreous chamber elongation) และ กำลังหักเหของ crystalline lens ที่ลดลง ในช่วงอายุ 6-12 ปี  (Zadnik et al., 1993)  

    เด็กที่มีกำลังหักเหของกระจกตามากกว่าและเด็กที่มีอัตราส่วนของ ความยาวลูกตา (axial length) ต่อรัศมีความโค้งของกระจกตา (corneal radius) หรือค่า AL/CR มากกว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นสายตาสั้นมากกว่าในเด็กช่วงนี้ (Goss & Jackson, 1995)

     สายตาสั้นที่เกิดขึ้นตอนวัยเด็ก (childhood) จะเพิ่มขึ้น และการเพิ่มขึ้นจะช้าลง จนกระทั่งหยุดในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย (late teens)  (Goss & Winkler, 1983)

     อัตราการเพ่ิมขึ้นของสายตาสั้นในวัยเด็ก (childhood) ระหว่างเด็กชายกับเด็กหญิงนั้นใกล้เคียงกัน คือเด็กชาย -0.40 D/ปี และเด็กหญิง -0.43 D/ปี  (Goss & Cox, 1985). 

     อัตราการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้น มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมากกับ พันธุกรรม และ ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น อายุ เพศ (Donovan et al., 2012) และ เชื้อชาติ (Twelker et al., 2009) ระยะเวลาต่อวันในการใช้สายตาดูใกล้ (Saw et al., 2001; Saw et al.,2002) และ กิจกรรมกลางแจ้ง (Guggenheim et al., 2012; Guo et al., 2013; Goss, 1998) 

     การเริ่มเป็นสายตาสั้นและการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้น อาจมีความสำพันธ์กันโดยตรงกับการเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ (Yip etal., 2012; Hyman et al., 2005)

     ส่วนค่าการเปลี่ยนแปลงของสายตาเอียงในวัยเรียนนี้ค่อนข้างน้อยและคงที่ (Chan & Edwards, 1993)  การเปลี่ยนแปลงของสายตาเอียงในเด็กอายุ 5-13 ปี เกือบเป็น 0 จากการสำรวจต่อเนื่อง 28 เดือน (Zhao et al., 2002)

     มีงานศึกษาเกี่ยวกับสายตาเพียง พบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสายตาเอียงนั้นเล็กน้อย ประมาณ 0.03 ถึง  0.06 D/ปี (Goss & West, 2002) และมากกว่า 80 % ของเด็กอายุ 6 ถึง 17 ปี เป็นสายตาเอียงชนิด with the rule  (Rezvan et al.,2012)

(จบตอนแรก)

 

สรุปงานวิจัยในตอนแรก 
(summary)

   สายตานั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงอายุ แต่อัตราความเร็วของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงอายุนั้นไม่เท่ากัน ทำให้เราต้องแบ่งคนออกเป็นช่วงอายุต่างๆ เพื่อให้เห็นทิศทางของการปรับตัว  ซึ่งกลุ่มอายุนั้นถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ เด็กทารก-เด็กเล็ก , เด็กวัยเรียน ,ผู้ใหญ่ตอนต้น ,และผู้ใหญ่ตอนปลาย ซึ่งแต่ละช่วงวัยนั้นมีทิศทางของการเปลี่ยนแปลงของสายตาเร็วช้าไม่เหมือนกัน 

     เด็กเกิดมาพร้อมกับสายตายาว ( hyperopic state ) จากนั้นการโฟกัสแบบสายตายาวคือแสงตกหลังจุดรับภาพทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นให้เกิดกระบวนการปรับสายตาตามธรรมชาติให้กลายเป็นคนสายตาปกติ ด้วยการยืดยาวขึ้นของกระบอกตาเป็นหลัก ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่ากระบวนการ Emmetropization ซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ในช่วงอายุแรกเกิดไปจนถึง 2-3 ขวบ ซึ่งกระบวนการ emmetropization ในการ nutralized สายตาสั้น/ยาว กับสายตาเอียงนั้น เกิดขึ้นคนละส่วนกัน 

    เด็กทารกแรกเกิดส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าจะเกิดมาพร้อมกับค่าสายตาเอียงและจะลดลงอย่างรวดเร็วในขวบปีแรก จากนั้นก็จะค่อยๆลดลงช้าๆ จนเกือบเป็นปกติเมื่ออายุขวบครึ่งและเด็กส่วนใหญ่ที่เป็นสายตาเอียงมักจะเป็นชนิด with-the-rule 

    เมื่อเด็กเติบโตขึ้น (3-7 ขวบ) สายตายาวจะลดลงไปเรื่อยๆและจะลดลงจนกลายเป็นสายตาปกติเมื่ออายุ 7-8 ขวบ จากนั้นจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางสายตาสั้น ( Myopic shift) เมื่อเติบโตสู่วัยเรียน  โดยการเพ่ิมขึ้นของสายตาสั้นนั้น เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม  ระยะเวลาในการใช้สายตาดูใกล้ในแต่ละวัน  ระยะเวลาต่อวันที่ใช้สายตากับกิจกรรมกลางแจ้ง  โดยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่สำคัญคือกระบอกตาที่ยืดยาวขึ้น (axial lenght elongation)  และการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นจะค่อยๆลดลงอีกครั้งเมื่อช่วงอายุวัยรุ่นตอนปลาย สู่ผู้ใหญ่ตอนต้น 

    ซึ่งการได้รู้การเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาในแต่ละช่วงอายุนี้ ก็จะช่วยประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาสายตาที่เหมาะสม เช่นการรักษาสายตาสั้นด้วยวิธีเลสิก นั้นควรทำหลังจากสายตาสั้นเริ่มคงที่แล้ว นั่นก็คืออายุ 20 ปีขึ้นไป จึงจะเหมาะสมที่สุด 

 

ทิ้งท้าย

     ผม ดร.ลอฟท์ ผู้แปล หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความแปลเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่มีปัญหาสายตาและตอบปัญหาค้างคาใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา ว่าจะหยุดเมื่อไหร่ และจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด 

     แต่การเปลี่ยนแปลงสายตาจากงานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาสำรวจถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยจากการวัดสายตาที่ผิด เช่นการใช้คอมพิวเตอร์วัดสายตา 10 ครั้ง ได้ค่าไม่เหมือนกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าสายตาเราเปลี่ยนทุกครั้งที่เราใช้คอมพิวเตอร์วัดสายตา แต่เกิดจากได้ค่าที่ไม่ใช่สายตาของเราต่างหาก  เช่นเดียวกัน ถ้าเราต้องเปลี่ยนแว่นทุกปี เพราะร้านบอกว่าสายตาเปลี่ยน  ก็อาจจะเปลี่ยนจริง หรือเปลี่ยนไม่จริงก็ได้

     ดังนั้นสายตาเปลี่ยนจะต้องเริ่มต้นจากการหาค่าสายตาที่ถูกต้องให้เจอก่อน จึงจะสามารถพูดต่อได้ว่า เปลี่ยนหรือไม่  ดังนั้นการรู้ช่วงเวลาแต่ละวัยของการเปลี่ยนแปลง พอจะทำให้เรารู้ต่อไปว่า จริงๆที่เขาว่าสายตาเราเปลี่ยนนั้น ก็ต้องไปดูว่าเราอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่สายตาสั้น ยาว เอียง จะเปลี่ยน ถ้าเรายังเด็กน้อย ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยากที่จะเปลี่ยน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงค่าสายตานี้จึงไม่สามารถนำไปเป็นข้ออ้างเมื่อวิเคราะห์สายตาผิด

พบกันใหม่ตอนที่ 2 เรื่องการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาในแต่ละช่วงอายุ ต่อไปเป็นเรื่องของ young adult และ late adult ก็จะจบเรื่องนี้ 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม 

สวัสดีครับ 

ดร.ลอฟท์​

หมายเหตุ ท่านไหนที่ต้องการอ่านเป็นต้นฉบับ ผมได้แนบล้ิงค์มาให้แล้ว คลิ๊กเข้าไปอ่านได้ที่ลิ้ง http://onlinereview.segi.edu.my/pdf/vol8-no2-art7.pdf

อ้างอิง Refractive error changes relative to age by Foo, Say Kiang ,Faculty of Optometry & Vision Sciences SEGi University


578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม.10220
เวลาทำการ
อังคาร - อาทิตย์ เวลา 9:00 - 18:00 น.
โทร 090 553 6554
line : loftoptometry