"ความคิด" ที่ได้จากการเดินทางไปทอดกฐินที่วัดป่าสมานมิตร

เล่าโดย ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี 

เดินทางเมื่อ 25-27 ตุลาคม 2561


พอดีผองเพื่อนพี่น้องชาวและแฟนๆในเพจถามมาว่า “ไปกฐินมาเป็นอย่างไรบ้าง”ก็เลยอยากจะมาเล่าให้ฟัง ว่าไปทำบุญทอดกฐินครั้งนี้ ก็จะมาเล่าเรื่่องราวการเดินทาง ยอดกฐิน และความคิดที่เกิดขึ้นในระหว่างการสร้างบุญ 

 

 #สรุปยอด 

สรุปยอดยอดกฐินสามัคคี วัดป่าสมานมิตรของเรา ปี 2561 ได้ยอดรวมทั้งหมด 359,205 บาท เป็นยอดที่รวมจากกลุ่มศิษย์สมานมิตร มีผม เฮียฮ้วง น้องต้ำ ช่างต้น และญาติธรรมลูกค้าคลินิกลอฟท์ รวมกันทำบุญได้ยอด 28,888 บาท ซึ่งก็ขออนุโมทนาบุญโดยทั่วกัน  เราตั้งใจไว้ว่าปีหน้ากลุ่มศิษย์สมานมิตรจะขอจองเป็นเจ้าภาพกฐิน ปี 2562 

ยอดกองกฐินศิษย์สมานมิตร 28,888 บาท 

 

ซึ่งกฐินต้นนี้ พระอาจารย์ต้องการนำไปสร้าง มณฑปครอบหลวงพ่อหยกขาว ซึ่งเป็นหยกแท้สีขาวจากพม่าและให้ช่างศิลป์ของทางพม่านั้นแกะเป็นพระพุทธรูป ซึ่งมีโยมอ้วนเป็นเจ้าภาพหลักและมีญาติธรรมร่วมด้วยช่วยกัน จนสำเร็จ รวมค่าใช้จ่ายทั้งสินประมาณ 5 แสนบาท (ทอน 7 พัน)  ด้วยพระอาจารย์อยากได้พระให้ญาติโยมได้กราบไหว้ และเป็นพระพุทธรูปหยก ที่เป็นตัวแทนธรรมของพระอาจารย์  บริเวณรอบๆหลวงพ่อหยกขาวก็จะปูไม้ เอาไว้ให้ญาติธรรมนั่งสวดมนต์ภาวนา และเป็นหอธรรมสำหรับอ่านหนังสือธรรมะ 

 

หลวงพ่อหยกขาว 

 

แนะนำพระอาจารย์ของพวกเราเสียหน่อย  พระอาจารย์ของเราชื่อว่า “พระอาจารย์ สุภาพ คุณสาโร” เป็นพระหนุ่มวัยเดียวกันกับพวกเรา ปีนี้ท่านอายุ 34 ปี และสิ่งที่น่าสนใจคือคนที่เป็นอุปัฎฐากท่านส่วนใหญ่แล้วก็รุ่นๆเดียวกันกับเรา ไม่ว่าจะผม เฮียฮ้วง น้องต้ำ ช่างต้น หรือ น้องอินทนิน ที่พึ่งรู้จักเมื่อไม่นานมานี้ ก็ล้วนแต่เป็นวัยที่ไล่เลี่ยกัน และมีปัจจัยพอที่จะทำให้พระอาจารย์ไม่ต้องกังวลเรื่องการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน เพื่อที่จะได้มุ่งหาสัจธรรมมาสอนพวกเราอีกที 

 

มาพิจารณาดู คนเราต่างเกิด ต่างมาคนละทิศละทาง ดังนั้นการมาพบกัน เป็นเพื่อนกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลจุนเจอกัน คงไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ เพราะมีคนอีกเป็นแสนเป็นล้านเป็นหลายสิบล้าน ที่เรา “พบเพียงผ่าน”และไม่ได้ไปสนใจใยดีกัน  แต่ก็มีบางคนที่เจอกันแล้วมันต้องมีเรื่องให้ต่อ จนกลายเป็นเพื่อนกันจริงๆ  ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของบังเอิญ แต่เป็นบุพกรรมหรือบารมีที่เคยสร้างร่วมกันมา 

 

พอมาคิดๆต่อ ครั้งหนึ่งพวกเราอาจจะเคยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน ทำบุญบารมีร่วมกัน แล้วได้เกิดอยู่ในภพที่ใดสักแห่ง  เมื่อเราได้ลงมาเกิด อาจจะมีพี่น้องเราคนใดคนหนึ่งที่แสวงหาโมขธรรมเพื่อหลุดพ้น และบอกกับพี่น้องเราว่า ถ้าจุติไปแล้ว คนที่เป็นฆารวาส จะต้องไปช่วยดูแลอุปัฎฐาก เพื่อให้อุปสัคในการปฏิบัตินั้นลดลง  ด้วยเหตุนี้บางคนเกิดก่อนนิดหน่อย บางคนเกิดหลังนิดหน่อย แล้วก็มาเจอกัน แล้วก็ไปวัดด้วยกัน แล้วก็ชอบวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์​ และยินดีที่จะดูแลอุปถัมป์ ให้พระอาจารย์ไม่ต้องกังวลการดำรงอยู่ในโลกปัจจุบัน เพราะพวกเราจะดูแลท่านเอง 

 

ดังนั้นญาติธรรมที่เกิดขึ้นนั้น เพ่ิมขึ้นเรื่อยๆทุกวัน และปีนี้เองเราก็ไม่คิดว่า วัดเล็กๆ ในป่าซึ่งมีพระจำพรรษาอยู่ 4 รูป นั้นจะได้กฐินขนาดนี้ 

 

ทำไมถึงชอบไปหาพระอาจารย์

พระสายป่า จะมีธรรมเนียมการฉันข้าวในบาตรเท่านั้น และฉันอย่างพิจารณา ว่าฉันเพื่ออะไร

 

พระอาจารย์ของเรานั้น บิน เหาะเหินเดินอากาศไม่ได้ ระลึกชาติไม่ได้ ใบ้หวยไม่ได้ ดูดวงไม่เป็น สะเดาะเคราะห์ไม่เป็น ต่อชะตาไม่เป็น สักยันไม่เป็น เจิมก็ไม่เป็น (แต่โยมก็ชอบให้เจิมจัง ได้ยินโยมบางคนก็ “แค่พระอาจารย์เอานิ้วจิ้มสีแปะเป็นรอยนิ้วพระอาจารย์ฉันก็พอใจแล้ว” ดังนั้นถ้าใครต้องการอภินิหารเบื้องต้นนั้น ต้องบอกว่าขอแสดงความเสียใจ ณ เบื้องต้น เพราะพระอาจารย์ของพวกเราไม่สามารถทำให้ได้ 

พระอาจารย์ สุภาพ คุณสาโร

 

แต่ถ้าท่านต้องการ “แก่นพุทธ” ต้องการกราบ “พระเป็นๆ” ต้องการวัดป่าที่สงบกายสงบใจ” หรือต้องการฝึกวิปัสสนากัมมัฎฐาน วัดป่าสมานมิตร ซึ่งมีพระอาจารย์สุภาพเป็นเจ้าอาวาสนั้น ท่านสามารถเป็นครูให้ท่านได้ เป็นกำลังใจ เป็นที่พึ่งพาทางใจได้และเบื้องต้นนั้นคือสาเหตุที่เราชอบไปวัดป่าสมานมิตร  

 

แม้ในหนึ่งปีจะมีกรานกฐินได้เพียง 1 ครั้งซึ่งเป็นงานที่เชื่อว่าได้บุญมาก แต่หัวใจสำคัญที่เราไปคือ ไปให้กำลังใจท่าน ให้ท่านเดินหน้าต่อสู้กับภายในคือกิเลส โดยที่ไม่ต้องห่วงกำลังทหารกองหนุน และหวังว่าเมื่อท่านได้รู้อะไรมาแล้วจะได้มาแชร์สู่ลูกศิษย์ลูกหากันต่อไป 

 

การเดินทาง 

ทริปนี้ มีผมกับเฮียฮ้วง ที่นำกอบกฐินขึ้นไปสมทบ ต้ำไม่ได้ไปด้วยเนื่องจากติดภารกิจพอดี  โดยเฮียฮ้วง (Dr.Jack) นั้นอยู่พิจิตร ดังนั้นต้องเดินทางขึ้นเครื่องที่พิดโลกมาลงดอนเมืองในตอนค่ำ เพื่อออกเดินทางไปสุรินทร์ในวันพรุ่ง 

 

งานทอดกฐินจะรวมกองในวันที่ 27 ต.ค.61 และจะถวายในวันอาทิตย์ที่ 28 แต่เราเดินทางจาก กทม. วันที่ 25 ต.ค. ล่วงหน้าไปสองวัน เพราะต้องการใช้วันที่ 26 ช่วยเตรียมงานภายในวัด 

เราเดินทางไปถึง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ประมาณ 2 ทุ่ม เข้าพักที่รีสอร์ทเล็กๆ ชื่อว่า “มารวยรีสอร์ต” อยู่ตรงข้ามกับตลาดช่องจอม ชายแดนกัมภูชา เป็นรีสอร์ทเล็กๆ แต่ตกแต่งดี สะอาดสะอ้าน  ช่วงนั้นอากาศค่อนข้างเย็น ตอนเช้ามีหมอกหนา ก็เลยขับรถเล่นตอนเช้าๆ แถวๆถนนหน้าตลอดช่องจอม แล้วไปเจอทางเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยด่าน ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก  แต่บรรยากาศสงบดี มีชาวบ้านนั่งตกปลาอยู่ 5-6 คน 

อ่างเก็บน้ำห้วยด่าน

 

สายๆ ของวันที่ 26  เราก็เดินทางไปที่วัด เพื่อไปช่วยเตรียมงานที่วัดที่จะจัดในวันพรุ่ง  เดินทางไปถึงก็ประมาณ 11 โมง  ทุกอย่างถูกจัด เตรียมการไว้หมดแล้ว เลยไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก   กวาดถูศาลาล้างห้องน้ำเล็กน้อยก็เสร็จแล้ว พอเที่ยงก็เริ่มว่าง ก็เลยถามพระอาจารย์ว่า  ที่เที่ยวแถวๆนี้มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง 

 

ตอนนั้นพระอาจารย์ ว่างจากกิจพอดี ท่านก็เลยจะอาสาพาไปเอง  คือประสาทตาควาย และ วัดช้างหมอบ ซึ่งห่างจากวัดป่าสมานมิตรประมาณ 16 กิโลเมตร 

 

ประสาทตาควาย 

พระพุทธรูปหน้าทางขึ้นปราสาทตาควาย พระพุทธรูปที่ปราสาทตาวายคณะสงฆ์อำเภอพนมดงรักและอุบาสกอุบาสิกาช่วยกันสร้างถวาย
ปราสาทหินตาควาย บนดินแดนทับซ้อนของไทย-กัมพูชา

 

ประสาทตาควายนั้น เป็นประสาทขนาดเล็ก ขับรถเข้าไปป่าดงดิบซึ่งมีทหารดูแลอยู่ และต้องแลกบัตร ถ่ายรูปรถ ดูจำนวนคนในรถที่ขับเข้าไป  เพราะเป็นเส้นทางธรรมชาติที่พวกทำผิดชอบหลบหนีออกนอกประเทศ​  เราขับรถเข้าไปในป่าลึกที่อุดมสมบูรณ์ประมาณ 5-6 กิโลเมตร ก็จะถึงที่หมาย ซึ่งการเดินขึ้นเขาจะเดินผ่านค่ายทหารที่มีทหารประจำการอยู่  และมีลวดหนาม สนามเพลาะ บังเกอร์  อยู่เรียงราย และห้ามเดินนอกเส้นทาง เพราะเกรงว่าจะเหยียบกับระเบิด 

เดินตามพระอาจารย์หมาไม่กัด เพราะแถวนั้นไม่หมา 

 

ขึ้นไปถึง ก็เห็นตัวปราสาท มีทหารประจำการอยู่ 4 คน เป็นของฝั่งไทย 2 คน และทหารฝั่งขเมร 2 คน ช่วยกันดูแลปราสาท  และกลางคืนทหารทั้ง 4 นาย ก็จะนอนในเต้นด้วยกัน  จริงๆในระดับปัจเจกนั้น ทหารทั้งสองฝั่ง ก็เป็นเพื่อนกัน ทำงานด้วยกัน แต่เชิงสัญญลักษณ์นั้น ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการมีอธิปไตยบนเขตแดนที่คิดว่าเป็นของตน และถ้าดินแดนมันคาบเกี่ยว ก็ต้องช่วยกันเฝ้าอย่างนี้ 

 

ลักษณะปราสาทตาควาย เป็นปราสาทหิน สูง 10 เมตร มีอยู่หลังเดียวในป่า เหมือนสถูปเอาไว้บูชาอะไรสักอย่าง ก่อสร้างจากการตัดหินทราย ไม่รู้ว่าขนมาจากไหน หรือขนมาอย่างไร  หินแต่ละก้อนจะมีรูน่าจะสำหรับร้อยเชือกเพื่อยกหินขึ้นไปประกบกันเป็นปราสาทหิน  น่าแปลกใจที่ว่าวิศกรรมโยธาในสมัยนั้น เขาไปเอามาจากไหน แล้วองค์ความรู้ขอมนั้น อยู่ๆก็หายไป หายไปไหน  ทำไมไม่เห็นสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่สืบต่อมา  เคยอ่านเจอเขาว่า พระเจ้าอู่ทองนั้นหนีมาจากการก่อกบฎของชนชั้นแรงงานของเขมร ขณะก่อสร้างนครวัดและประกาศอิสรภาพขึ้นมา ทำให้ปราสาทนครวัดก่อสร้างไม่เสร็จมาจนถึงปัจจุบัน เพราะศาตร์และวิทยาการต่างๆก็อพยพมาจากคนขอมมากับราชวงศ์อู่ทองซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกรุงศรีอยุธยา  จริงเท็จไม่ทราบ ลองไปหาดู youtube กันเอา 

 

ผมเดินเล่นอยู่ประมาณ 30 นาที พระอาจารย์ก็พาไปอีกแห่งหนึ่งคือวัดช้างหมอบ 

 

วัดช้างหมอบ 

 

วัดช้างหมอบ อยู่ไม่ไกลจากประสาทตาควายมากนัก  ลักษณะวัดนั้นยังเหลือร่องรอยของอดีตที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของวัดในอดีต  มีสิ่งปลูกสร้างกุฎิศาลา เล็กใหญ่ เต็มไปทั่วทั้งป่า  ถูกปล่อยปละละเลยเถาไม้ใบไม้ขึ้นเต็มไปหมด  แสดงถึงว่าในอดีตนั้น วัดนี้คงเป็นวัดที่มีคนมามาก และมีเงินมาก 

 

พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า หลวงตาพวง แกเป็นเกจิ ปฏิบัติดี มีคนเข้ามามาก วัดมีเงินมาก พอหลวงตาละสังขารญาติธรรมก็ไม่ค่อยได้มากันวัดก็เลยดูร้างๆแบบนี้ 

พระพุทธรูปวัดช้างหมอบ
วัดพระทำโดยแท้

 

ผมเดินสำรวจรอบๆ เห็นสถูปศาลาหรือวิหารไม่แน่ใจ ที่กำลังก่อสร้างอยู่ โดยมีพระ 2-3 รูปทำหน้าที่เป็นช่างก่อสร้างเอง เห็นแล้วก็สงสารพระที่ต้องมาลงมือก่อสร้างกันเอง  เพราะเงินไม่มี แต่ก็อยากจะสานต่อปฏิธานของหลวงตาพวงให้เสร็จ  เป็น "วัดพระทำอย่างแท้จริง"

 

มองไปรอบๆ ที่เป็นป่ารกนั้น มีกุฏิน้อยใหญ่ แทรกอยู่ทั่วทั้งป่า  มีศาลาหลังใหญ่มีพระประธานใหญ่ แต่ก็เต็มไปด้วยใบไม้ ที่แสดงถึงการขาดคนดูแล จนทำให้จากวัดที่เคยยิ่งใหญ่ กลายเป็นสิ่งรกร้างว่างเปล่า 

 

ผมเกิดความคิดเกิดขึ้นว่าอยู่เรื่องสองเรื่องว่า 

 

“ใหญ่...แปลว่าดี..จริงหรือ”

 

ความร่ำรวย ความยิ่งใหญ่ ที่เกิดจากการพึ่งพึงกับคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว เมื่อที่พึ่งนั้นไม่อยู่ คนข้างหลังจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร  ก็คงไม่ต่างจากวัดช้างหมอบนี้  

กำแพงวิหารวัดช้างหมอบ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ 

 

วัดใหญ่ กุฎิมาก ศาลามาก ย่อมต้องใช้เงินในการบริหารจัดการมากเพื่อบำรุงรักษา  แล้วจะหาเงินมาจากไหน เมื่อหลวงตาไม่อยู่แล้ว  ความยิ่งใหญ่ก็เลยพังครืนลงในปัจจุบัน  ผมไม่ทราบว่า อย่างนี้เรียกว่า “โยมรังแกวัดได้ไหม”

 

พระท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในป่าดีๆ คนก็แห่ไปขอของขลัง ขอหวย เกิดพวกกลุ่มทุนเห็นช่องทางในการทำพานิชย์กับพุทธศาสนา  ก็เข้าไปทำ marketing  กระพือจนโด่งดัง แล้วก็ตักตวงเอาผลประโยชน์ เข้ามาจัดการรายได้จากวัด  หลวงตาจากที่เคยอยู่สงบๆ สบายๆ ก็ต้องมาเป็นเครื่องมือให้กับกลุ่มนายทุน  พอหลวงตาไม่อยู่ กลุ่มทุนก็หายไป ทิ้งไว้เพียงซากความยิ่งใหญ่ไว้ให้เด็กถามว่า  ทำไมวัดใหญ่ขนาดนี้ไม่มีคนดูแล 

 

จังหว่ะนั้น เกิดคิดถึงคำในหลวงขึ้นมา ที่ท่านตรัสตลอดที่ยังทรงพระชนม์ ว่าให้ “พสกนิกร ตั้งมั่นอยู่ในหลักเศรษฐกิจพอเพียง” น้อยๆ พอดีตัว  ดูแลบริหารจัดการง่าย และเมื่อถึงเวลาจาก ก็จากไปอย่างบริสุทธิ์ ไม่ทิ้งซากไว้มลภาวะให้กับคนรุ่นหลัง 

 

ผมเดินรอบๆ ประมาณ 30 นาที ก็ถึงเวลากลับวัดป่าสมานมิตร เพราะพระอาจารย์สุภาพ มีกิจช่วงเย็น และต้องเตรียมตัวทำวัตรเย็น พวกเราก็เลยกลับวัด ถึงวัดประมาณ 4 โมงเย็น 

มหา ลอฟท์ แห่ง ลอฟท์ ออพโตเมทรี
ดร.แจ็ค แห่งสุธนการแว่น พิจิตร

 

กลับมาถึงวัดป่าสมานมิตรที่เรียบง่ายนี้ รู้สึกดีกับวัดเล็กๆนี้มากขึ้น  ผมกับเฮียก็เลยถือไม้กวาดเข้าป่าละเมาะของวัด ไปกวาดป่าสำหรับปฏิบัติธรรม ที่พระอาจารย์สุภาพซื้อชาวบ้านไว้ สำหรับทำที่ปฏิบัติธรรม เพราะถ้าไม่ซื้อ ชาวบ้านก็จะรุกป่าทำสวนเกษตรแล้วปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ขาดความหลากหลายทางพันธุศาสตร์  และท่านมีแพลนจะซื้อที่ดินปลูกมันของญาตโยมบริเวณนั้นมาปลูกป่าเพิ่มเติมอยู่ 

อาศรม ปฎิบัติธรรมในป่าธรรม
ทางเดินสู่การค้นหาโมกธรรม

 

ภายในป่าจะมี อาศรมเล็กๆ สร้างอย่างเรียบง่าย ให้กันฝนกันสัตว์เลื้อยคลานได้ สามารถแขวนกลด แล้วนั่งภาวนาอยู่ในป่า โดยไม่มีคนไปรบกวนได้  และแต่ละอาศรมก็จะมีที่เดินจงกรม  ไว้หลีกเร้นหาความสงบ 

 

ท้ายป่าจะมีคลองน้ำไหลเล็กๆ ที่ไหลจากฝาย ที่กั้นน้ำในบึงบัว กวาดเสร็จ เราก็เดินไปนั่งเล่นริมบึง นั่งแลกเปลี่ยนความคิดไปเรื่อยๆ ถึงคุณค่าของการดำรงอยู่ แท้จริงแล้วนั้นมันอยู่ที่ไหน 

บ่อน้ำหลังวัด
ฝายน้ำล้นหลังวัดไหลจากธารป่าพนมดงรัก
ดอกหญ้าข้างถนน ยามอาทิตย์อัสดง

 

วัดที่ดี ไม่ได้เกี่ยวข้องจำนวนพระมากน้อย ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างมากน้อย  แต่เกี่ยวกับจำนวนศีลที่ยังอยู่ครบ วัตรปฏิบัติของพระในการรักษาศีล  ทำสมาธิ เจริญภาวนาให้เกิดปัญญา  แค่นี้แหล่ะ วัดก็จะดี 

 

ความคิดระหว่างบรรทัด

กลับมาที่การทำงานของเรา  ร้านแว่นที่ดี  หัวใจคงไม่ได้อยู่ที่ความยิ่งใหญ่ของสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้อยู่ที่จำนวนสาขามากหรือน้อย ไม่ได้อยู่ที่คนทำงานมากน้อยหรือลูกค้ามากน้อย  แต่อยู่ที่เราสามารถทำงานได้สมบูรณ์ในแต่ละเคส แต่ละคนที่เราจ่ายไปนั้นเราทำได้ดีแค่ไหน และแก้ไขปัญหาให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ต่างหาก 

 

การมีพันสาขา ไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่ามีพันสาขา แต่สิ่งที่บอกได้ชัดเจนมากก็คือ ค่าบริหารจัดการมหาศาล แต่บวกลบคูณหารแล้วเหลือ margin เท่าไหร่นั้นก็คงอีกเรื่องหนึ่ง ยิ่งในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร  คนมีความรู้มากขึ้น ฉลาดขึ้น ย่อมหาสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง หรือ เฉพาะเจาะจงกับตัวเองมากที่สุด  mass product เริ่มจะทำได้ยากถ้าคุณไม่ดีพอ 

 

 

ผมคุยกับเฮียจนค่ำ ระฆังทำวัตรเย็นดัง เราก็ไปนั่งสวดมนต์ทำวัตรเย็น ก่อนจะกลับที่พัก เพื่อพรุ่งนี้จะนำกองกฐินมารวมที่วัด 

 

วันรุ่งขึ้น เรานำกองกฐิน ซึ่งรวมกองได้ 28,888 บาท จริงๆเราล๊อคกองไว้ไม่ให้เกินนี้ เพราะชอบเลข 8  หลังจากรวมกองเสร็จ กินข้าวกินปลาเสร็จก็ลาพระอาจารย์ เพราะมีเคสวันอาทิตย์ จึงไม่ได้อยู่ถวายกฐิน 

28,888 คือกองกฐินที่ได้จากกลุ่มศิษย์สมานมิตร และ ญาติธรรมที่ช่วยกัน ขออนุโมทนาทุกท่าน สาธุ

 

บอกบุญล่วงหน้า 

ในช่วงเดือน มีนาคม 2562 ปีหน้านี้ ทางวัดป่าสมานมิตรอันมีพระอาจารย์สุภาพ คุณสาโร เป็นประทานร่วมกับอุบาสกอุบาสิกา จะจัดงานเททองเจดีย์ยอดฉัตร ประดิษฐานไว้บนยอดมณฑปหลวงพ่อหยกขาว  จึงขอบอกบุญญาติธรรมทั้งหลาย เชิญทำบุญร่วมกัน ไว้ใกล้ๆงานผมจะแจ้งให้ทราบกันอีกครั้ง เผื่อท่านไหนว่างจะได้ไปร่วมงานด้วยกัน 

 

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวของการไปงานกฐินครั้งนี้ครับ  

ทั้งหมดนี้ เป็นความคิดที่เกิดขึ้นส่วนตัวทั้งสิ้น ถูกผิดไม่ทราบ แต่แค่ต้องการจะแชร์มุมมองเฉยๆ 

 

สวัสดีครับ 

มหา ดร.ลอฟท์ , ปธ.3


บรรยากาศภายในวัดและบริเวณรอบๆ