"การตรวจสายตา" ไม่ได้มีเพียงแค่หา สั้น ยาว เอียง อย่างที่เข้าใจ (ผิดๆ)

เรื่องโดย ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี,ท.ม.,(O.D.) 

เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561


เล่าสู่กันฟังจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อสองวันก่อน 

 

คนไข้ชายท่านหนึ่ง อายุ 67 ปี เข้ามาปรึกษาเรื่องทำแว่น คนไข้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “หลังจากทำต้อกระจกตาขวามาแล้ว มองไกลไม่ชัด  ส่วนตาซ้ายยังไม่ได้ทำต้อกระจกแต่ชัดแจ๋ว อยากทำแว่นให้ตาขวาที่ทำต้อมาแล้วชัดเหมือนข้างซ้าย” 

 

“ทำต้อกระจกมานานหรือยัง และก่อนทำตาขวาชัดไหม” ผมถาม

 

“ก่อนทำชัดดี ชัดเหมือนตาซ้ายเลย พอทำแล้วมันไม่ดี” คนไข้ตอบ 

 

“ถ้าขวาชัดดีแล้ว คุณพ่อไปทำต้อกระจกทำไม” ผมถามกลับ 

 

“ก็เห็นเพื่อนๆ เขาทำกัน ก็อยากทำบ้าง หมอก็บอกว่ายังไม่ต้องทำ แต่ผมรั้งอยากทำ” คนไข้ตอบ 

 

“แล้วกลับไปหาคุณหมอที่ผ่าตัดมาหรือยัง คุณหมอมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง” ผมถาม

 

“คุณหมอบอกว่า การผ่าตัดต้อกระจกดี แต่จอประสาทตาไม่ดี มันเสื่อมแล้ว แต่ถ้ามันเสื่อมจริงๆ แล้วทำไมก่อนทำต้อผมไม่เห็นมีปัญหาอะไร” คนไข้ตั้งข้อสังเกต 

 

“ผมว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับที่ทำต้อกระจกหน่ะคุณพ่อ ผมว่าคุณพ่อน่าจะมีโรคจอตาเสื่อมมานานแล้วหล่ะ พอผ่าต้อมาแล้วก็เลยมองเห็นความเสื่อมได้ชัดขึ้น” ผมตอบ 

 

“แล้วทำไม ก่อนผ่ามันไม่เป็น แล้วถ้าทำแว่นมันจะช่วยได้ไหม” คนไข้ถาม 

 

ผมเลยตอบว่า “เอางี้ ตรวจกันก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน”  แล้วก็เชิญคุณพ่อเข้าห้องตรวจ 

 

ระหว่างนั้นคิดตั้งสมมติฐานในใจหลายๆเรื่องว่า 

“ต้อกระจกที่คุณพ่อทำมา อาจจะแก้ค่าสายตาที่ไม่ตรง หรือ หมอแก้มาตรง แต่คุณพ่อแกใส่แว่นเก่าที่ใส่มานานทับตาที่พึ่งทำต้อไปก็เลยไม่ชัดื ส่วนตาซ้าย หรือไม่ก็เป็นจอประสาทตาจริงๆ  แล้วถ้าเป็นจริงๆ ทำไมคุณพ่อถึงพึ่งมีอาการหลังจากทำต้อกระจก หรือว่าคุณพ่อ มโน เองว่า พึ่งเป็น แต่อย่างไรก็ตามแต่ ทั้งหมดทั้งมวล จะต้อง #ยืนยันด้วยหลักฐานไม่ใช่แค่สันนิษฐาน”

 

#ตรวจความคมชัด (ขณะใส่แว่น)

ตาขวา VA 20/200  และให้มองผ่านช่องรูเข็ม (pinhole) ก็ไม่ดีขึ้น แสดงว่าเกิดที่พยาธิสภาพแน่ๆ (ถอดแว่นก็ไม่ดี)

ตาซ้าย VA 20/25-1  ความคมชัดของตาซ้ายเมื่อมองผ่านแว่น ก็คมชัดเกือบเท่าคนปกติ อาจจะยังมี residual refractive error อยู่บ้าง เลยมองไม่ชัดเล็กน้อย เพราะแว่นใช้มานาน 

Over Refraction Retinoscopy

รูปประกอบเพื่อความเข้าใจการทำ Over Refraction Retinoscopy

 

ผมหยิบ โรติโนสโคป มากวาดดู reflect จากรูม่านตา ทับแว่นที่ใส่อยู่ พบว่า 

ตาขวา : reflect สว่างชัด สวยงาม แสดงถึง clear media ไม่มี oplaque มาขวางทางเดินแสง และแสงสะท้อนที่เป็น nutral flect  ได้ค่าสายตาออกมาเป็น Hyperopia +0.25D ซึ่งถือว่าการเปลี่ยนต้อกระจกนั้นทำได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งคนไข้ก็บอกว่า “คุณหมออีกท่านที่ช่วยดูก็บอกว่าอย่างนั้นเหมือนกัน” 

 

ตาซ้าย : พบว่ายังมีสายตาเอียงเล็กน้อยที่ corrected ไม่หมด ซึ่งก็ยังไม่เห็นความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาอะไร 

 

ดังนั้น เมื่อระบบ refractive error ไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่คิดต่อคือ Ocular Health หรือสุขภาพของดวงตาเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไข้มองไกลไม่ชัด  ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการถ่ายจอประสาทตาเพื่อดูความผิดปกติ  จริงๆมันฟ้องตั้งแต่เราให้คนไข้มองผ่านรูเข็มแล้ว เพราะตาขวานั้นไม่ชัดอยู่ดี เมื่อมองผ่านรูเข็ม แสดงถึงพยาธิสภาพ  แต่จะเป็นจากอะไรกันแน่นะ ถ้าไม่ใช่เรื่องต้อกระจกแล้ว ไม่เป็นต้อหิน ก็จอตาเสื่อม 

Fundus Exam

ตาขวา : ภาพที่ถ่ายออกมานั้น เห็นได้ชัดเจนว่า ที่บริเวณ macula ซึ่งเป็นจุดรับภาพนั้น เสื่อมทั่วทั้งบริเวณ  ในขณะที่บริเวณรอบๆ นั้นยังปกติดีอยู่   และนี่คือสาเหตุที่คนไข้มองไม่ชัด (ดูรูปล่างประกอบ รูปจริงของเคสนี้)

 

ตาซ้าย : ปกติดี (ดูล่างรูปประกอบ,รูปจอตาของอื่นอื่นที่ปกติ)

 

#กลับมาถกกันต่อ

 

“ทำไม...ก่อนผ่าตามันไม่เป็น”...คนไข้ยังสงสัย 

 

“เป็นมานานแล้ว...แต่คุณพ่อไม่ทราบว่าเป็นเฉยๆ”...ผมตอบ

 

“งั้น..ทำแว่นช่วยไม่เหรอ” คนไข้ถาม 

 

“ไม่ได้ครับ...เพราะว่า งานของผมนั้น เป็นการแก้ระบบหักเหแสง ก็เหมือนกับชุดเลนส์ใน profector ที่ฉายสไลด์ให้ไปตก

บนแผ่นรับชาร์ตที่ไว้ที่ระยะ 6 เมตร  ชาร์ตมันชัด เพราะสไลด์มันดี ชุดเลนส์ในโปรเจ็คเตอร์ก็ออกแบบระบบโฟกัสมาดี แผ่นรับก็ดี มันก็เลยชัด และงานที่คุณหมอทำคือผ่าตัดต้อเปลี่ยนเลนส์ก็คืองานแก้ระบบหักเหแสงกับทำตัวกลางที่แสงผ่านให้ใส ซึ่งหมอทำดีแล้ว แต่จอตาของคุณพ่อมันรับไม่ได้” 

 

จากนั้น ผมก็ขยำกระดาษ A3 ให้ยับๆ แล้วนำไปไปวางที่ตำแหน่งแผ่นรับภาพ  “เห็นไหมว่า ตัวหนังสือเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ source ไม่ได้อยู่ชุดเลนส์ แต่มันอยู่ที่จอรับภาพ”

 

“แล้วทำไม..ก่อนผ่ามันไม่เป็น”..คนไข้ยังไม่เลิกสงสัย 

 

“มันเป็น และคงเป็นมานาน แต่ที่คุณพ่อไม่รู้ตัวเพราะว่า มันมีต้อกระจกมาบังอยู่ มันเลยมองไม่เห็น  มันก็เหมือนกับ เวลาน้ำขุ่น เราก็คงมองไม่เห็นพื้นดินที่อยู่ใต้น้ำว่ามี สาหร่าย ยอดหญ้า หรือตอไม้เล็กไม้ใหญ่  แต่พอน้ำมันใส คุณพ่อก็เลยมองเห็นปัญหาทั้งหมด การทำต้อกระจกก็เหมือนกับการเปลี่ยนน้ำขุ่นให้เป็นน้ำใส ดังนั้นมันไม่เกี่ยวว่าน้ำจะไปเปลี่ยนธรรมชาติของพื้นดินใต้น้ำ หรือผ่าต้อกระจกแล้วไปทำให้จอตาคุณพ่อเสีย” 

 

ทีนี้คนไข้เข้าใจแล้ว  แล้วแกก็สงสัยเรื่องหนึ่ง แกถามผมว่า 

 

“เห็นเขาว่า สีน้ำเงิน หรือเล่นหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจอมือถือมาก เป็นเหตุให้จอตาเสีย จริงไหม” คนไข้ถาม

 

“ไม่เกี่ยวครับ” ผมตอบ  และดูคนพ่อยังต้องการคำอธิบาย  ผมจึงถามต่อว่า

 

“เวลาเล่นมือถือ คุณพ่อใช้ตาขวาตาเดียวเล่นมือถือหรือครับ” ผมถาม

 

“เปล่า..ดูทั้งสองตานี่แหล่ะ” คุณพ่อตอบ 

 

“ถ้าเล่นทั้งสองตา ทำไมเป็นอยู่ตาเดียวครับ” ผมตอบ 

 

“อ้อ...เข้าใจแล้ว ...ขอบคุณมากๆ แล้วต่อไปพ่อต้องทำอย่างไร” คนไข้ถาม 

 

“ดูแลตาซ้ายให้ดี อย่าให้เสีย ตาขวาจุดชัดเสีย แต่ลานตายังดีอยู่ ก็ยังมีประโยชน์เอาไว้สังเกตเวลามีอะไรรอบๆตัว เดี๋ยวมันจะกระตุ้นตาซ้ายให้หันไปมองเอง  ส่วนถ้าจะเอาให้ชัดก็ใช้ตาซ้ายมองตามปกติ และพบหมอตาตามนัด  ถ้าตาซ้ายรู้สึกไม่ค่อยชัด อยากชัดขึ้นอีกหน่อย ก็ทำแว่นใหม่ เท่านั้นครับ” ผมอธิบาย 

 

“ขอบคุณมากครับคุณหมอ  กระจ่างชัดทั้งหมด สบายใจซะที ขอบคุณมากๆ”  คนไข้กล่าว 

 

“ด้วยความยินดีครับ” ผมกล่าว พร้อมส่งคุณพ่อกลับบ้านที่หน้าประตู 

 

#เรื่องนี้บอกอะไรเรา 

สำหรับเคสนี้นั้น เร่ิมต้นจากคนไข้ต้องการมาทำแว่น เพราะเชื่อว่าแว่นจะแก้ปัญหาให้ตัวเองได้  ถ้าเราคือพ่อค้า ลูกค้าอยากได้อะไรก็ขายๆให้เขา ลูกค้าก็ได้แว่นไป เราก็ได้ขายของ win win

แต่ถ้าจะมองในมุมของหมอ เราทำอย่างนั้นดูไม่งาม เพราะหมอไม่ใช่พ่อค้าที่เปี่ยมไปด้วยสัญชาติญาณที่จะมุ่งเป้าสู่การแก้ไขปัญหาให้คนไข้เป็นสำคัญ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ คิดวิเคราะห์ว่า ปัญหาอย่างไหนแก้ได้ อย่างไหนแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ จะต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจอย่างไร เพื่อไม่ให้คนไข้เข้าใจความผิดปกติของตัวเอง จะได้ไม่ต้อง shopping around ไปเรื่อยๆ  ซึ่งพอจะให้แง่คิดบางอย่างได้กับเคสนี้คือ 

 

1.การอธิบายให้คนไข้เข้าใจ 

การอธิบายแม้บางครั้งจะไม่ได้ช่วยให้พยาธิสภาพกลับมาเป็นปกติดั่งเดิม  แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้สุขภาพจิตของคนไข้ดีขึ้น เพราะความเข้ารู้ ความเข้าใจ ทำให้ลดความกลัว ไม่ต้องย้ำคิดย้ำทำ คิดวกไปวนมา ทำให้เกิดอาการเครียด  พอคนไข้เข้าใจปัญหา คนไข้จะเกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับปัญหาได้อย่างสงบสุข ไม่ต้องไปเที่ยวเสาะแสวงหาไปเรื่อยๆ เปลืองเงินเปลืองทอง เปลืองเวลา เพราะการรักษา"คนไข้" นั้น ต้องรักษาทั้ง "คน" และรักษาทั้ง "ไข้" 

อย่างผมเองก็เคย เคยมีอาการ เห็นภาพซ้อนแบบชั่วคราว จากสายตาเอียงที่ถูกกระตุ้นจากเลนส์ตา ซึ่งเกิดเฉพาะเมื่อมีการเพ่งของเลนส์ตาขณะดูใกล้ หรือที่เรียกว่า lenticular astigmatism เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน หรืออันตรายอะไร แต่ก็สร้างปัญหาต่อการใช้ชีวิตของผมมากเช่นกัน และก็ไม่มีคำตอบจากใคร ไปหาหมอผมได้คำตอบกลับมาคือ “ลูกคุณคงคิดมาก หมอดูแล้วสุขภาพตาปกติดี” ซึ่งนั้นทำให้ผมเครียดมาก

เป็นเวลามากกว่า 10 ปี ตั้งแต่เด็กจนโตและพึ่งมารู้ว่ามันมีความผิดปกติเช่นนี้เมื่อตอนเรียนทัศนมาตร  วิธีแก้ง่ายมากๆ คือ ลดการเพ่ง ด้วยการใช้เลนส์ที่มีค่า addition ของกลุ่มเลนส์ anti-fatique อย่าง Multigresiv Mono Plus 2 เลนส์ตาก็เพ่งน้อยลง สายตาเอียงก็ถูก induce น้อยลง ปัญหาก็หาย  เครียดมาหลายปี กลัวจนกระทั่งเรื่องตาบอด แต่ก็แก้ง่ายๆด้วยแว่นตา  

และเรื่องสำคัญที่ได้เรียนรู้กับตัวเองก็คือ "หมอบอกว่าสุขภาพตาเราดี" แต่นั่นหมอมองเพียงระบบเดียวคือ "กายภาพ" ซึ่งของผมนั้นปกติ  แต่ฟังก์ชั่นของการทำงานของดวงตาผมต่างหากที่ผิดปกติ ซึ่งไม่สามารถตรวจด้วยวิธีทางกายภาพทั่วไป 

 

2.ตรวจสายตาไม่ได้มีแค่สั้นยาวเอียง 

ร้านแว่นตาไม่ว่าจะโดยทัศนมาตรหรือช่างแว่นตา เราคือที่ที่คนไข้เข้าถึงการบริการระดับปฐมภูมิได้ง่ายที่สุด  หลายๆโรคทางตาที่ร้ายแรงถึงตาบอด บางโรคนั้นสามารถป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการพบให้เร็ว และแก้ให้เร็ว แต่ถ้าแก้ไม่ทัน เสียแล้วก็เสียเลย  เช่นเบาหวาน ถ้าพบให้เร็ว แก้ให้เร็ว ก็ป้องกันการตาบอดจากเบาหวานขึ้นตาได้ 

 

ดังนั้นเราทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทัศนมาตร หรือ ช่างแว่นตา เราเป็นด่านแรก ที่จะช่วยคัดกรองความผิดปกติ เพื่อลดประชากรที่จะตาบอดจากการไม่ได้รับการบริการที่ถูกต้องได้

 

แต่ด้วยเหตุที่มาตรฐานการทำงานของสถานบริการสายตาในบ้านเรานั้นแตกต่างกันค่อนข้างมาก จะเรียกว่าสุดขั้วเลยก็ว่าได้  ทั้งการศึกษา  ประสบการณ์การทำงาน ที่หลากหลายสุดๆ ตั้งแต่ดีขีดสุด ไปจนถึงไม่เอาอะไรเลย  ตั้งแต่ร้านที่ใช้เครื่องมือมาตรฐานระดับโลกไปจนถึงร้านที่ประกอบเลนส์โดนไม่สนใจเซนเตอร์

ดังที่เราจะเห็นได้จากร้านที่รับตัดแว่นออนไลน์ ที่ไม่สนใจค่าอะไรนอกจากค่าสายตา ซึ่งได้ค่ามาจากไหนก็ไม่ทราบ แต่ตัดให้ได้  โดยไม่ได้คิดเลยว่าจะเกิดผลกระทบกับสุขภาพดวงตาของประชนอย่างไรบ้าง เอาเป็นเงินเข้ากระเป๋าสตางค์ฉันเป็นพอ แล้วบอกว่านี่คือธุรกิจ ซึ่งก็คิดได้ถ้าธุรกิจที่ทำไม่ได้ไปทำลายสุขภาพดวงตาของประชาชน  ประชาชนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หน้าที่เราคือสอนให้เขารู้ เข้าใจ และตระหนัก ไม่ใช่อาศัยความไม่รู้เป็นช่องทางหากิน 

ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรองที่ดีจากร้านแว่นตาที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน และปัจจุบันยังไม่มีกฎกติกาอะไรออกมาบังคับคุณภาพการบริการนี้  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

ดังนั้นการตรวจสายตา ไม่ใช่แค่การหาเพียงแค่สายตา สั้น ยาว เอียง หรือแค่หาว่าชัดไม่ชัด แต่มันต้องดูและประเมินโดยทำเป็น Routine  ครบทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบสายตา ระบบกล้ามเนื้อตา และ สุขภาพตา เพราะโลกที่เรามองเห็นตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลก จนกระทั่งเข้านอนนั้น อาศัยการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของทั้ง 3 ระบบนี้ 

คือ

1.ระบบหักเหแสง (สั้น/ยาว/เอียง) ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งถ้าระบบนี้มีปัญหา เราก็จะมองไม่ชัด หรือมีเงาซ้อน ไม่สบายตา ปวดหัว แสบตา แพ้แสง น้ำตาไหล แสงฟุ้ง เป็นต้น 

2.ระบบการทำงานร่วมกันของสองตา หรือที่เรียกว่า binocular vision  ถ้าการทำงานร่วมกันของสองตานั้นสมบูรณ์ เราก็จะเห็นภาพชัด ไม่ซ้อน ไม่ปวดหัว ไม่เหนื่อยหรือเมื่อยตาง่ายเวลาใช้สายตาหนักๆ 

ถ้าทำงานร่วมกันไม่ดี ก็จะเกิดเป็นปัญหากล้ามเนื้อตาต่างๆเช่น ตาเหล่  ตาเหล่ซ่อนเร้น  กำลังเพ่งของเลนส์ตาอ่อนแรง กำลังในการโฟกัสภาพอ่อนแรง รวมภาพได้ไม่นาน ภาพก็แยกกันเป็นสองภาพ ปวดตาเมื่อยตา บางคนเลี่ยงการใช้สายตาไปเลยก็มี 

3.ระบบสุดท้ายคือระบบสุขภาพตา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ชั้นน้ำตา กระจกตา รูม่านตา เลนส์แก้วตา จอประสาทตา เส้นประสาทตาที่นำสัญญาณไปยังสมอง และไปสิ้นสุดการเห็นภาพที่สมอง เช่นคนตาขี้เกียจ ไม่ว่าจะแก้ด้วยเลนส์ให้ดีแค่ไหน ก็มองไกลไม่ชัด เพราะปัญหาอยู่ที่สมอง ไม่ได้อยู่ที่ระบบหักเหแสง 

ดังนั้นการที่จะทำงานบริการกับตามนุษย์  ไม่ใช่รู้แค่เพียง สั้น ยาว เอียง (ที่มาตรฐานการตรวจวัดก็ยังไม่เหมือนกัน) แต่ต้องมองภาพรวมของดวงตาให้ออกแบบองค์รวม มองแบบบูรณาการ ให้ความสำคัญกับทุกระบบ โรคบางอย่างไม่แสดงอาการ แต่เราจะต้องตระหนักดูให้ทุกระบบ เพื่อไม่ให้โรคง่ายๆ กลายเป็นโรคที่ยาก และนำไปสู่การตาบอดในที่สุด 

 

#จะทำอย่างไร 

ผมมองเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับวิชาชีพในการดูแลสุขภาพดวงตาและสายตานั้นเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยรัฐจะต้องเป็นคนควบคุมคุณภาพบริการให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงระบบการดูแลที่ถูกต้อง และเป็นเรื่องของ long term ที่ต้องส่งเสริมและทำอย่างต่อเนื่องโดยเดินบนแนวทางที่เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และผู้ให้บริการด้านสายตาควรทำงานบนมาตรฐานเดียวกัน มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานฉบับเดียวกัน นั่นคือ พรบ.การประกอบโรคศิลปะทัศนมาตร  

 

หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นทัศนมาตรหรือช่างแว่นตา ที่ขึ้นทะเบียน ก็จะมีใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ โดยมอบให้เป็นบุคคล ไม่ใช่มอบให้กับธุรกิจ โดยมีมาตรฐานของ พรบ.ประกอบโรคศิลปะ กำหนดมาตรฐานและเป็นตัวพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนที่เข้ารับบริการ 

 

และผู้ที่จะเสียผลประโยชน์จากการที่ทัศนมาตรและช่างแว่นตาเข้มแข็งก็มีเพียงกลุ่มเดียวคือ “กลุ่มนายทุน ที่แสวงหาผลกำไรจากความผิดปกติของสายตาประชาชนเป็นสำคัญ” ซึ่งผมไม่มั่นใจว่า “เราจำเป็นต้องแคร์หรือเปล่า”

 

วิสัยทัศน์ของสมาคมทัศนมาตร 

“Vision Ahead”  ที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย คือ การได้เห็นมาตรฐานวิชาชีพด้านสายตา ได้ถูกยกระดับ ให้ประชาชนได้มีสถานที่บริการด้านสายตาที่พึ่งพาและไว้ใจได้ เพื่อลดปัญหาการเข้าถึงการบริการสุขภาพตาที่เข้าถึงได้ยากจากการขาดแคลนบุคลากรทางด้านจักษุ  และเราทั้งหลายทั้งทัศนมาตรและช่างแว่นตา เราจะเป็นด่านปราการสำคัญที่จะแก้ปัญหาเบื้องต้น ตรวจคัดกรองเพื่อส่งต่อ โดยเห็นประโยชน์ในการดูและสุขภาพตาประชาชนเป็นสำคัญ  และยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ทางสมาคมทัศนมาตรมีนโยบายสำคัญคือเราจะก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง (เว้นกลุ่มทุนต่างชาติ) 

 

เร็วๆ นี้ จะมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมทัศนมาตร เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับการดูแลสายตา รวมถึงช่างแว่นตาให้มีความรู้ความเข้าใจถึงความตั้งใจของสมาคมที่ให้ท่านทั้งหลายเข้ามาอยู่ในหลังคาบ้านเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือประชาชนได้รับการบริการด้านสายตาที่ถูกต้อง และลดอัตราการตาบอดของประชาชนคนไทยต่อไป 

 

สวัสดีครับ 

~ดร.ลอฟท์​~


578 Wacharapod Rd ,Bnagkhen , BKK 10220

T.090 553 6554