Optometry 4.0

ตอน 3 ทัศน(มาตร)ศิลป์  อยู่อย่างพอเพียง อย่างยั่งยืน 

เรื่องโดย ดร.ลอฟท์


        แว่นสายตานี่เป็นเรื่องแปลก ถ้าจะว่ากันไปแล้วจำนวนของร้านแว่นตาในประเทศไทยนั้นมีมากกว่าสาขาของ 7-Eleven  แต่พอจะทำแว่นตาดีๆสักหนึ่งอัน จะต้องถามพี่น้องเพื่อนฝูงใกล้ตัว ซึ่งบางทีก็ได้แต่ถามแต่เชื่อไม่ค่อยได้ เพราะแต่ละคนสายตายากง่ายไม่เหมือนกัน ทำให้ร้านเดียวกันนั้นมีบางคนว่าดี บ้างก็ว่าไม่ดี

 

         ถ้าสายตาง่ายไม่ซับซ้อนทำที่ไหนก็คงจะได้ค่าที่ไม่ต่างกัน และคงไม่ต้องเสาะหาหมอเก่งๆมาช่วยแก้ แต่ถ้าสายตายากๆ ซับซ้อนมากๆ ไปมารอบแล้วก็ยังแก้ไม่จบ  ทำให้บางคนต้องถาม pantip บางคนต้อง Search google ไล่ดูทีละลิ้งว่า “วัดสายตาร้านไหนดี” มันแปลกที่ว่า ร้านแว่นตาเต็มบ้านเต็มเมือง หาง่ายกว่า 7-Eleven แต่หาร้านแว่นยากกว่ามาก ซึ่งเป็นความย้อนแย้งในตัวเองชอบกล 

 

ร้านแว่นตาทำเต็มเมือง..แต่จำทำแว่นทั้งทีต้อง search google "ตัดแว่นร้านไหนดี"

     

  ในขณะที่ ร้านแว่นตาผุดขึ้นยิ่งกว่าดอกเห็ด ประหนึ่งว่าการวัดสายตานั้นเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องมีความรู้อะไรก็ได้ เพียงเครื่องคอมพิวเตอร์สักหนึ่งตัวทัวร์ได้ทุกงาน งานวัด งานประจำปี งานเมืองทอง งานแฟร์ งานเฟอร์นิเจอร์ งานบ้านและสวน งานต้นไม้ งานเครื่องเสียง งานอะไรก็ได้ ที่ดูจะไม่เกี่ยวข้อง ก็ยัง มีร้านแว่นตาอยู่ได้ทุกหนทุกแห่ง

 

         แต่ในทางตรงกันข้าม ยิ่งร้านแว่นตามีเยอะผู้บริโภคก็ต้องยิ่งหาข้อมูลเยอะ เหมือนจะเข้าใจได้ว่า การวัดสายตานั้นเป็นเรื่องที่ทำยาก และต้องการผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการตรวจสายตาและทำแว่น

 

        จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมผู้บริโภคส่วนใหญ่ หรือ อย่างน้อยก็ท่านที่กำลังอ่านเรื่องนี้อยู่ ถึงมองเรื่องวัดสายตาว่าเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ แต่ในขณะที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เหมือนกันที่พยายามทำหรือแสดงออกให้ดูเหมือนมันง่าย ย้อนแย้งกันชอบกล 

 

        ถ้าเรามองลึกและแคบไปที่แต่ละจังหวัด แม้จะมีร้านอยู่หลายแห่ง แต่ก็จะมีร้านเก่าแก่ เป็นที่เชื่อมั่นอยู่จังหวัดละไม่เกิน 1-2 แห่งหรือบางครั้งจะทำแว่นทั้งทีอาจต้องไปทำต่างจังหวัดหรือขึ้นมากรุงเทพ เพื่อทำแว่นในร้านที่ตนเองมั่นใจ 

 

        นั่นแสดงให้เห็นว่า จริงๆแล้ว กิจการวัดสายตาประกอบแว่นนั้น ไม่หมูอย่างที่คิด และมีเรื่องที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะทำ 

"ในขณะที่ผู้รับบริการบอกว่าการตรวจตาเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ผู้ให้บริการกลับมองเป็นเรื่องง่าย ใครตรวจก็ได้"

       

มีการคำนวณคร่าวๆมาว่า ร้านแว่นตา 10 ร้านที่เปิดขึ้นมาแต่ละปีนั้น จะเหลือเพียง 5 ร้านค้าที่สามารถผ่านปีแรกไปได้ และเหลือเพียง 3 ร้านเมื่อผ่านไป 3 ปี  และอาจจะเหลือเพียง 1 ร้านหลังจากผ่านไป 5 ปี  และก็ยังไม่การันตีว่า 1 ร้านที่เหลืออยู่นั้น อยู่อย่างสุขหรือทุกข์ระทม

 

        หลายคนที่หลงเข้ามาเพราะมองอย่างผิวเผินว่าแว่นตากำไรดี โดยมองเพียงต้นทุนของกรอบและเลนส์แล้วมองเห็นเพียงแต่กำไร แต่ลืมนึกถึงต้นทุนที่แท้จริงที่ไม่ใช่เพียงต้นทุนกรอบและเลนส์ 

 

        แต่เนื่องจากต้นทุนที่ไม่เท่ากัน แต่ทำ eyewear business เหมือนกัน จึงเกิดธุรกิจแว่นตามา 2 แนวทาง ซึ่งท่านที่สนใจอยากจะทำธุรกิจร้านแว่นตา ก็สามารศึกษาเอาไปเป็นแนวทางได้ว่า อยากจะเดินเส้นไหน

 

        ทางแรกนั้นเป็น "sell priority" คือเน้นต้นทุนไปที่ "งานขาย" ดังนั้นแนวทางการลงทุนจะใช้เงินลงทุน 90% ไปที่สินค้าและสถานที่ขายสินค้าคือลงทุนไปกับกรอบแว่นตา ที่พยายายามจะสต๊อกสินค้า ทุกแบรนด์ ทุกรุ่น ทุกแบบ ทุกสี ทุกทรง  แล้วเลือกทำเลทองสำหรับขายแว่น ส่วนที่เหลืออีก 10 % (หรือน้อยกว่า) นั้นลงทุนไปที่งานบริการ เช่นมีคอมพิวเตอร์วัดสายตา 1 ตัว วางไว้กลางร้านและลงทุนอีกเล็กน้อยเข้าอบรม 180 ชม.(หรือน้อยกว่า) จบมาแล้ววัดตาขายแว่นได้ และพยายามจะมีกฎกระทรวงมารองรับว่าการทำรูปแบบแรกนี้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

        ซึ่ง model แรกนี้เราสังเกตเห็นได้ไม่ยาก เช่นร้านแว่นตาบางแห่ง ที่รับสมัครพนักงานตลอดทั้งปี โดยไม่กำหนดความรู้ว่า จบด้านใดมา บางครั้งก็รับคนที่ไม่จบการศึกษาไม่เกี่ยวข้องกับสายตาด้วยซ้ำ ก็เห็นให้มีอยู่มากมาย  และมักจะใช้ commission ในการให้คุณค่าของการทำงาน ถ้าขายเก่ง ก็ได้ตังค์เยอะ ตรวจตาเก่งแต่ขายไม่เก่ง นั้นไร้ค่าต่อองค์กร 

 

ร้านแว่นตาส่วนใหญ่ในประเทศไทย ใช้ทุน 90% หมดไปกับสินค้าและค่าทำเลค่าตกแต่งร้าน 

     

  ส่วนทางที่สองนั้นเป็น Service Priority ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่ 90% เป็นต้นทุนของ service หรือบริการ และเป็นการลงทุนที่ผู้รับบริการมักไม่สนใจหรือให้ความสำคัญหรือไม่แม้แต่จะมีความคิดว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการบริการหรือ fee service  ดังเราจะเห็นคำว่า  “ตรวจสายตาฟรี” มีอยู่ทุกแห่งหนตำบลซอย  ส่วนทุนที่เหลืออีก 10% นั้นเหลือไว้ให้สินค้าที่ลูกค้าจับต้องได้คือกรอบแว่นตา 

 

        ลงทุนอะไรมากมายตั้ง 90% กับ service ซึ่งหลายคนยังไม่เข้าใจ กะอีแค่แว่นหนึ่งตัวมันจะไปลงทุน service อะไรมากมายตั้ง 90% 

 

        การลงทุนเพื่อ service ที่มีมูลค่าแพงที่สุด คือการลงทุนเข้าเรียนทัศนมาตรศาสตร์ ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานถึง 6 ปี  มีค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร 6 ปีประมาณ 700,000 บาท  ค่าหนังสือและอุปกรณ์ประมาณ 100,000 บาท และกินอยู่ระหว่างเรียนอีก 300,000 บาท  สิริรวมแน่ๆคือไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท 

 

        และการลงทุน service ที่ไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้เลยก็คือ เด็กนักเรียนทัศนมาตรเรียนหนักและยากมาก ยากเกินกว่าที่ท่านทั้งหลายจะจินตนาการได้ว่า แค่วัดสายตาประกอบแว่น มันจะต้องเรียนหนักยากเย็นอะไรหนักหนา 

 

        แต่เชื่อได้ว่า แค่ท่านหยิบวิชาพื้นฐานอย่าง organic chemistry ​,Histoloty, Pharmacology , Anatomy ,Physiology ,  ที่เด็กปี 1-2 เรียนท่านก็ลมจับแล้วหล่ะ ท้ายๆบทความผมมีให้ดูว่าเด็กเรียนอะไรกัน 6 ปี 

 

อยากจะมี optomery clinic ดีๆ ต้องมีกว่า 10 ล้าน แต่ถ้าอยากทำ eyewear business มีเงินแสนก็ทำได้แล้ว 

     

แต่นั่นเป็นทุนที่สูง แต่ดูเหมือนลมราคาแพง ที่รู้ว่ามีแต่จับต้องไม่ได้ ผู้บริโภคไม่เข้าใจ ร้านแว่นตาไม่เข้าใจ แต่คนเรียนทัศนมาตรทุกคนเข้าใจ 

 

       ทหารเมื่อจะออกไปสู้ต้องมีอาวุธ  ทัศนมาตรเมื่อจบแล้วจะต้องออกไปทำงาน ก็ต้องมีเครื่องมือ และเป็นความที่อะไรก็ไม่รู้หล่ะ เครื่องมือทัศนมาตรแม่มโคตรแพง  ในขณะที่หมอ GP ทำงานอยุรกรรมพื้นฐานมี stetoscope อันหนึ่ง เครื่องวัดความดันตา ตาชั่งน้ำหนัก ที่วัดส่วนสูง จบทำงาน professional ตรวจรักษาคนไข้ได้ และทำได้ดีด้วย   คิดค่าตรวจได้ด้วย

 

        แต่ถ้าทัศนมาตรอยากจะมีคลิินิกของตัวเอง อยากจะทำงานดีๆ ละเอียด ปราณีตแบบที่เรียนมา และใช้เครื่องมือแบรนด์ที่มีมาตรฐานนั้น มี 10 ล้านยังไม่มั่นใจว่าจะพอหรือเปล่า 

 

        และทั้งหมดทั้งมวลการลงทุนใน service 90% นี้ ผู้บริโภคไม่รับรู้ ไม่รับทราบ และไม่ต้องการจ่ายค่า Doctor fee และมองไปทางไหนก็มีแต่ doctor free กันทั้งนั้น ลุงทุนเป็นสิบล้าน ไม่กล้าคิดค่าตรวจ เวรของกรรม

 

   ต้นทุนลมราคาแพง ที่รู้ว่ามีแต่จับต้องไม่ได้ ผู้บริโภคไม่เข้าใจ ร้านแว่นตาไม่เข้าใจ แต่คนเรียนทัศนมาตรทุกคนเข้าใจ 

       

และเหล่านี้คือ ตลกร้ายที่เกิดขึ้นจริงกับวงการแว่นตาและวงการทัศนมาตร ที่คนส่วนใหญ่นั้นยังแยกไม่ออก 

 

        เพราะไม่ว่าจะทางแรกที่ 90% ของเงินลงทุนหมดไปกับกรอบแว่นกับทำเลหรือทางที่สองนั้นที่ 90% ของเงินลงทุนหมดไปกับการพยายามที่จะสร้าง professional service  แต่ สิ่งที่คนมองเห็นเหมือนกันก็คือ กะอีแค่ “ร้านแว่น” เหมือนกัน 

 

        เพราะทั้ง 2 รูปแบบธุรกิจนั้น บังเอิญมีสินค้าที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้เหมือนกันคือ แบรนด์กรอบแว่นกับแบรนด์เลนส์ที่เหมือนๆกัน  ร้านแว่นก็ขาย Lindberg ขาย Rodenstock  ส่วนทัศนมาตรก็มี Lindberg มี Rodenstock ขายเช่นเดียวกัน 

 

        แต่เพียงเพราะว่า ทัศนมาตรไม่ได้ทำโปรโมชั่นลดราคา ก็เกิดการเปรียบเทียบราคาเกิดขึ้นมาทันที โดยไม่ได้สนใจว่า cost ของทั้งสองธุรกิจนั้น มาไม่เท่ากัน แต่เรื่องน่าเศร้าก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อทัศนมาตรเองก็ไม่เข้าใจตัวเอง ไปทำโปรแข่งกับร้านแว่นตา สุดท้ายแบรนด์พัง ไม่เกิดความต่าง สุดท้ายก็ต้องพยายามประคองโปรโมชั่นเดือนชนเดือนกันต่อไป  คนวงในรู้ว่าที่ผมพูดเป็นเพียงเรื่องจริงที่คนปกติก็คิดแต่ไม่พูด 

 

        ฝั่ง optometry service จะได้มาซึ่งองค์ความรู้ เค้นสายตาออกมาอย่างเอาเป็นเอาตาย ได้ปัญหาสายตามาค่าหนึ่ง ฝั่ง eyewear business บอกว่า กรอบแว่นและเลนส์รุ่นเดียวกันเลย สินค้าเหมือนกันแต่ของฉันถูกกว่า  ทั้งๆที่ยังไม่ได้ตรวจตาหรือรู้ปัญหาด้วยซ้ำและคนส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ หรือลืมไปว่า ก่อนมานั้นเป็นอย่างไร เราแก้อย่างไร แล้ว

 

        แต่คนที่เข้าไปรับบริการมาก็จะเข้าใจได้เองว่า “ร้านแว่นเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน” “ขายแว่นเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน” “ใส่ได้(หรือใส่ไม่ได้)...แต่ไม่มีทางเหมือนกัน” “ใส่แล้วมองเห็น..แต่เห็นไม่เหมือนกัน” “แว่นแบรนด์เดียวกันแต่ใส่ไม่เหมือนกัน”

 

        เพราะ “แว่นตา” เป็นทั้ง “ศิลปศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์”แทบจะแยกกันไม่ออก ดังนั้นเป็นไปได้ยากมากๆ ทีจะทำงาน ศิลปะศาสตร์ ให้ออกมาเหมือนกัน 

 

ค่าทางวิทยาศาสตร์อาจจะเหมือนกันได้ แต่ศิลปศาสตร์ไม่มีทางเหมือนกัน 

     

  ในท่ามกลางหัวสิ่วหัวขวานเช่นนี้ ที่ต่างคนต่างหนีตายจากภาวะเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้ ทำให้สิ่งที่เราไม่เชื่อว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น เกี่ยวกับภาวะการหนีตาย เช่น luxury brand ที่วาง brand positioning เป็น niche market เดินตลาดหรู กลับลงมาเล่น mass จับโปรโมชั่นกรอบพร้อมเลนส์ กันให้ดาษดื่น หั่นเนื้อตัวเอง ทำลายหม้อข้าวตัวเอง  แบบไม่เหลือฟอร์มใดๆให้เป็นตำนาน ก็มีให้เห็นมากมาย 

 

        ทำให้ผมนึกถึงคำสอนของในหลวงที่พร่ำสอนเรื่อง “ความพอเพียง ความพอดี พึ่งพาตนเอง และความยั่งยืน” แต่เราก็มักจะเข้าใจผิดไปว่า พอเพียง คือแร้นแค้น คือความยากจน อดอยากคือความขี้เกียจ และเดินตรงข้ามกับสิ่งที่พ่อสอนตลอดเวลา 

 

        สิ่งที่เราทำคือ เอาให้ล้นๆไว้ก่อน ทำเลให้ทอง ให้ใหญ่ ให้ศูนย์กลางเมือง ให้คนผ่านเยอะๆ แต่งร้านให้หรูๆ ดูให้แพงๆ ทำอะไรให้อลังการไว้ก่อน ทำเองไม่ไหว ก็จ้างคนมาเฝ้า มาทำงานแทน ทำเลทอง คนผ่านเยอะ คนลองแว่นเยอะ แต่ตรวจตาจริงๆ สนใจที่อยากจะทำแว่นตาจริงๆ จะมีสักกี่คน 

 

        แล้วหนึ่งคนที่อยากได้แว่นที่แก้ปัญหาจริงๆ เราได้ดูแลเขาเป็นอย่างดีอย่างที่เขามอบความไว้วางใจแล้วหรือยัง 

 

        เราอาจจะบอกว่าลูกค้าเยอะ เลยต้องเร่งตรวจ ก็เลยเกิดความผิดพลาด นั่นก็ย่อมพูดได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างเหมือนกัน 

 

        แม้เราจะได้ขายในช่วงแรกๆ แต่สักพักเราจะเริ่มรู้สึกว่า เขาไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของเรา แต่เขามาเพียงเพราะโปรโมชั่นที่ดึงดูดของเรา และพร้อมจะย้ายแบรนด์เสมอเมื่อได้ราคาที่ดีกว่า 

 

        ผลก็คือ ไม่สามารถหยุดการทำการตลาดได้  และยิ่งทำมาก ขายดีมาก ก็ยิ่งเข้าเนื้อมาก เพราะของบางอย่างถ้าขายต่ำกว่าทุนที่แท้จริง สะสมต่อเนื่อง ย่อมเกิดการขาดทุนสะสม พอสรุปงบประจำปี ตกใจ !!!!  แล้วจะทำอย่างไรดี หยุดโปรโมชั่นรึ! ขนาดโปรหนักๆยังขายไม่ออก แล้วหยุดโปรจะขายอย่างไร 

 

        นี่คือความไม่ยั่งยืน ที่เกิดจากการขาดรากฐานที่มั่นคง ขาดจุดยืนที่ชัดเจน และเข้าใจผิดไปว่า ธุรกิจแว่นตาของเราคือธุรกิจแว่นตา ดังนั้นจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องขายแว่นให้ได้เยอะๆ ถึงจะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จ 

 

“ความพอเพียง ความพอดี พึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่ความยั่งยืนในการทำธุรกิจ”

     

  แต่ถ้าเรามองว่า ธุรกิจของเราคือธุรกิจบริการ ที่มีกรอบแว่นตาและเลนส์สายตาจำหน่ายหล่ะ ใครมีปัญหาสายตาอยากให้เราแก้ปัญหา เราก็บริการแก้ปัญหาให้  ใครรู้สึกป่วยไม่สบาย เราก็รักษา  ใครปกติดี สุขภาพแข็งแรง ก็ดีใจกับเขา  ไม่ต้องเสียใจที่เขาไม่ปวย 

 

        ถ้าทำได้ ความสุขก็จะมากขึ้น  มีคุณค่าของการดำรงอยู่มากขึ้น มีเวลาว่างให้คิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น จรรโลงโลกมากขึ้น  มีคุณค่าต่อตัวเองและคนรอบตัว คิดอย่างอื่นให้ไกลว่าเรื่องขายของบ้าง โลกจะน่าอยู่ขึ้น 

 

        เหล่านี้ต่างหาก คือความยั่งยืน คือความสุข คือความพอดี ไม่ร้อนรนหรือกระวนกระวายใจ เศรษฐกิจดีก็ดี ที่ได้ค้าได้ขาย ส่วนเศรษฐกิจไม่ดีก็ดี ที่ได้พักแล้วไปมองเรื่องอื่นๆบ้าง ได้อ่านหนังสือ ได้ทบทวนตำรา ได้คิดวางแผนต่อไป 

 

        น้องหมอทัศนมาตร ทั้งหลายมองตัวเองให้ขาดว่า เราเรียน 6 ปีมาเพื่อสิ่งใด อย่าหลงตลาดจนทำให้เสียจิตวิญญาณไป ทำอะไรทำให้จริง เรียนให้รู้ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ แล้วนำความรู้นั้นมาใช้ในวิชาชีพของเรา เพื่อเตรียมพร้อมรับการทำงานในรูปแบบสถานพยาบาล และให้สมกับความคาดหวังที่ประชาชนจะได้รับจากคนที่เขายอมรับกันว่าหมอ 

 

        อย่าไปกลายเป็น “พ่อค้าสวมเสื้อกาวน์” แล้วทำงานในสถานพยาบาล มันจะสร้างความเสื่อมเสียให้กับวิชาชีพ 

 

ตัวเป็นหมอที่ใส่เสื้อกล้ามได้  แต่อย่าทำตัวเป็นพ่อค้าใส่เสื้อกาวน์   

       

ดาบอายาสิทธิ์นั้นมีทั้งคุณและโทษ ที่สร้างประโยชน์หรือความชิบหายได้ ก็อยู่ที่เราจะใช้งานมันยังไง  ยังไงก็อยากจะให้นึกถึง คุณธรรมจริยธรรม และหมั่นถามตัวเองว่า คนที่คนอื่นเรียกว่าหมอนั้น เราทำตัวให้เหมาะสมกับที่เขาเรียกแล้วหรือยัง อย่างไรเรียกว่าควร อย่างไรเรียกว่าไม่ควร พินิจพิเคราะห์เอา โตแล้ว ไม่อยากพูดมาก เจ็บคอ ครูบาอาจารย์ก็ควรเป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ลูกหาได้เอาเยี่ยงอย่าง แล้ววิชาชีพทัศนมาตรจะยกระดับสูงขึ้นเอง 

 

"ยอที่ดีนั้น จะไม่ยกตัวเอง"
 

         

       “ยอดักปลา” ที่มันใช้งานได้ โดยธรรมชาติมันจะไม่ยกตัวอง มันจะนอนแช่อยู่ในน้ำเฉยๆ เพื่อให้ปลาหลงเข้าไปอยู่  พอได้จังหวะ คนก็จะมา “ยกยอ” และจับปลาที่อยู่ในยอ เอาไปต้มยำทำแกงต่อไป  อย่างนี้เรียกว่า “ยอใช้ได้”

 

        ส่วน “ยอที่ยกเอง” นั้นเป็นยอที่ไร้ประโยชน์ หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้เลย จับปลาก็ไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือเอาไปทำฟืน ทำถ่าน 

 

        วิชาชีพก็คงเหมือนกัน หน้าที่เราก็คือทำหน้าที่ให้ดี ไม่ต้องยกตัวเอง ไม่ต้องบอกว่าเราดีเลิศอย่างไร ให้เราทำหน้าที่ให้ดี อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี แล้วประชาชนจะยอมรับการทำงานของเราเอง และยั่งยืนกว่า

 

             

         โลกนี้มีขยะมากพออยู่แล้ว อย่าได้สร้างขยะโปรโมชั่นเพื่อบิดเบือนผู้บริโภคเพิ่มอีกเลย  แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ ตราบใดที่เรายังพึ่งพาตนเองไม่ได้ จิตย่อมแกว่งไปแกว่งตามกระแส  กระแสพัดไปทางโน้น ก็เฮโลไปกับเขา  กระแสมาทางนี้ ก็เฮโลมาทางนี้  กระแสพาไปถูกทางก็ดีใจ แต่ดีใจได้ไม่นานกระแสก็พาพัดต่อไป ไม่จบไม่สิ้น 

       

         ทางออกนอกกระแสคือ  พึ่งพาตนเองให้ได้ ทำอะไรแต่พอดี พอประมาณ ตามกำลังที่มี  อย่าไปเห็นช้างขี้แล้วขี้ตามช้าง เราไม่ได้ท้องเสียสักหน่อยจะไปขี้ตามมันทำไม ยืนบนขาตัวเองให้มั่น ฝึกปรือฝีมือให้เสถียร แก้ปัญหาให้ดีใรแต่ละเคสแล้วค่อยๆทำไป  วันหนึ่งจะดีได้เอง และเมื่ออยู่นอกกระแส ก็จะไม่ถูกรบกวนด้วยกระแสตลอดไป 

 

         การที่เราจะแยกหมอเก่งออกจากหมอที่ไม่เก่่งนั้นเราวัดที่ความยากของเคส  ถ้าเคสง่าย หมออะไรก็คงไม่ต่าง แต่ถ้าเคสยากๆ นั่นถึงจะเริ่มนับว่าหมอมีฝีมือ  และไม่่มีทางรู้เลยว่าเราเก่งหรือไม่เก่ง จนกระทั่งเราแก้ปัญหาให้คนไข้มากพอ เจอเคสยากๆให้มาก เมื่อนั่นแหล่ะที่เราพอจะชมตัวเองได้ว่าเราเก่ง ดังนั้นอย่าหยุดที่จะฝึกฝนทบทวน ที่ร่ำเรียนมา เมื่อให้เราแข็งแรง และยั่งยืนต่อไป 

 

ทิ้งท้าย

        สำหรับท่านที่อยากรู้ว่า ทัศนมาตรลงทุนเรียนอะไรหนักหนา ยาวนานถึง 6 ปี เพื่อจะมาแก้ปัญหาให้กับท่าน 

 

        และฝากไปถึง ผู้หลักผู้ใหญ่ ที่พูดจาออกมาด้วยความไม่รู้  พอไม่รู้ก็เลยพูดไม่คิด ที่ิว่า "ทัศนมาตรมันไม่จำเป็น เรียน 6 ปี กับคนอบรม 180 ชม.มันก็ไอ้วัดตาได้เหมือนกัน"  ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมีทัศนคติที่ตื้นเขินแบบนี้ น่าอาย

 

        6 ปีในโรงเรียนทัศนมาตร อย่าไปเข้าใจผิดว่าทัศนมาตรเขาเรียนวัดสายตาประกอบแว่น ถามเด็กๆทุกคนดูได้ว่ามีวิชาวัดแว่นไหม ผมยืนยันว่าไม่มีวิชานี้ 

 

        แต่การวัดสายตาประกอบแว่นนั้นเป็นสิ่งที่ตกผลึกหลังจากสำเร็จการศึกษาทัศนมาตรแล้ว ที่สามารถมองเห็นภาพรวมทั้งระบบ ทั้งปัญหาสายตา ปัญหากล้ามเนื้อตา และพยาธิที่เกิดขึ้นกับดวงตา  เพื่อไม่ให้มีความผิดปกติที่ซ่อนอยู่หลุดรอดจากการวินิจฉัยไปได้ 

 

        เราเรียนเพื่อเป็น DOCTOR ไม่ใช่เรียนไปเป็นช่าง Technician  เราเรียนเพื่อวิเคราะห์ค่าความผิดปติ ไม่ได้เรียนเอาไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตา  

 

        ใครที่จ้างทัศนมาตรเอาไปคุมเครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตา  ก็ไม่ต่างจากเอาเสือไว้เฝ้าบ้าน มันผิดหน้าที่ แล้วก็อย่าไปโกรธที่เสือเฝ้าบ้านไม่เก่งเท่าหมานะ  มันคนละงาน  ขอให้เข้าใจตรงกันตามนี้ 

 

        ท่านที่อยากทราบหลักสูตร ก็อ่านเล่นๆเอานะครับ  ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม ทั้งหมดทั้งมวลนั้น เพื่อยกระดับการบริการด้านสายตาในประเทศไทย ให้มันสูงไปกว่านี้ ผมทนไม่ได้ ที่มีวงการอื่นมาว่าวงการแว่นตาเป็นวงการเด็กเลี้ยงแกะ ไม่ค่อยพูดเรื่องจริง มุสาวาทสารพัดเพื่อให้ได้ขายของ ได้ยินมากับหู และไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น  ซึ่งเราๆท่านๆ ทั้งหลาย คงต้องช่วยกัน 

 

เริ่มจากทุกคนทำหน้าที่ตนเองให้ดี เชื่อเหลือเกินว่า ทุกอย่างจะดีขึ้นตามลำดับ  

สวัสดีครับ 

~ดร.ลอฟท์~ 



ชื่อหลักสูตร

         ภาษาไทย       หลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต 

         ภาษาอังกฤษ    Doctor of Optometry Program

ชื่อปริญญา

         ภาษาไทย        ทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต

         ภาษาอังกฤษ    Doctor of Optometry         

         อักษรย่อ        ภาษาไทย        ทศ.บ. 

         อักษรย่อ        ภาษาอังกฤษ    O.D.

รูปแบบของหลักสูตร

         รูปแบบ             หลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร 6 ปี

         ภาษาที่ใช้              ใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอน

         การรับเข้าศึกษา      รับนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างประเทศที่สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี

ความร่วมมือกับสถาบันอื่น ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ คือ  The Indiana University School of Optometry

สถานที่จัดการเรียนการสอน

คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ปรัชญาของหลักสูตร

         เป็นไปตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง “ส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม”

ความสำคัญของหลักสูตร

         เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ ความสามารถทางวิชาการระดับมาตรฐานสากล สามารถประกอบวิชาชีพทางทัศนมาตรศาสตร์ (Optometry) ทัศนศาสตร์-เลนส์สายตาและทัศนศาสตร์เชิงอุตสาหกรรม (Ophthalmic and Optical Industries) และ ทัศนวิทยาศาสตร์ (Vision Science) สามารถดูแล แก้ไขและฟื้นฟู รวมถึงการป้องกันสุขภาพทางสายตาแก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่เลือกชั้นวรรณะและฐานะได้ทั่วโลก และเปิดโอกาสให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสายตาได้พัฒนาความรู้ มีความสามารถในการพัฒนาระบบงานต่างๆ ทางสายตาแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบในขอบเขตที่สามารถเชื่อมต่อกับต่างประเทศได้ มีความคิดริเริ่มและพัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกรรมทางด้านนี้ให้กับบุคลากรและวิสาหกิจในประเทศไทยต่อไป

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถ

  1. ตรวจวินิจฉัยและแก้ปัญหาสายตาของประชาชนทั่วไป ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน
  2. ให้คำแนะนำและการปรึกษาปัญหาสายตาตามหลักทัศนมาตรศาสตร์
  3. ศึกษาค้นคว้าวิจัยองค์ความรู้ทัศนมาตรศาสตร์
  4. ร่วมวางแผนระบบการให้บริการสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาทางสายตาในทุกระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้านระบาดวิทยา สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา
  5. บริหารองค์กรและสถานพยาบาลทางด้านสายตา โดยปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนี้ได้
  • จัดระบบบริการด้านทัศนมาตรศาสตร์แก่ผู้รับบริการในสถานพยาบาล
  • ให้บริการส่งเสริมสุขภาพสายตาแก่ประชาชน
  • จัดระบบรับมอบ-ส่งต่อผู้รับบริการ เพื่อรับการตรวจรักษาต่อให้มีประสิทธิภาพ
  • สนับสนุน และ/หรือนิเทศงานทางด้านวิชาการตามแผนงานสาธารณสุขด้าน
    ทัศนมาตรศาสตร์
  • วางระบบจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล และเวชระเบียน
  • ประเมินผลงานและเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  1. วางแผนและจัดการศึกษาให้ความรู้ด้านทัศนมาตรศาสตร์แก่บุคคล ครอบครัวและชุมชนได้
  2. แก้ปัญหาสายตาระดับบุคคลได้ โดยสามารถ
  • อธิบายสภาพสายตาปกติและผิดปกติได้
  • รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของสภาพสายตาที่ผิดปกติเพื่อหาสาเหตุด้วยวิธีทางด้านทัศนมาตรศาสตร์
  • ให้การวินิจฉัยปัญหาสายตาได้
  • ให้การแก้ไขความผิดปกติของสายตาด้วยวิธีต่างๆ และติดตามผลการ
  • ดำเนินการตามมาตรฐานด้านทัศนมาตรศาสตร์
  1. การพัฒนาวิชาชีพ
  • ให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้น ทันต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ ศึกษาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ให้รอบรู้และเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการเพื่อก่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการด้านทัศนมาตรศาสตร์
  • รู้จักตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง ใฝ่รู้ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รับผิดชอบ มีคุณธรรม จริยธรรมและเสียสละเพื่อส่วนรวม

2.การวิจัย

  • มีความริเริ่มการหาความรู้เพิ่มเติมโดยการวิจัย เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
  • สามารถบริหารจัดการโครงการวิจัยที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน

ระบบการจัดการศึกษา ระบบทวิภาค แบบเข้าชั้นเรียน

วัน-เวลา ในการดำเนินการเรียนการสอน

         ภาคการศึกษาที่ 1   เดือน มิถุนายน ถึง เดือน กันยายน

         ภาคการศึกษาที่ 2   เดือน พฤศจิกายน ถึง เดือน กุมภาพันธ์

         ภาคฤดูร้อน          ไม่มี

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา 

  1. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า สายวิทย์-คณิต จากสถาบันการศึกษาที่ได้รับรองวิทยฐานะจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายรับรอง หรือ
  2. เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี
    คณะทัศนมาตรศาสตร์ พ.ศ. 2555 ข้อ 5 และข้อ 6 

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา

  1. นักทัศนมาตร (คลินิกทัศนมาตรทั่วไป), นักทัศนมาตร (คลินิกเลนส์สายตาทั่วไปและระบบการเห็น), นักทัศนมาตร (เลนส์สัมผัสและระบบการเห็น), นักทัศนมาตร (คลินิกการฟื้นฟูและสายตาเลือนลาง), นักทัศนมาตร (สายตาเด็กและระบบสองตา), นักทัศนมาตร (โรคตาและการแพทย์ปฐมภูมิ)
  2. นักวิชาการด้านทัศนมาตรศาสตร์ (ทัศนวิทยาศาสตร์)
  3. นักวิชาการสาธารณสุข (เครื่องมือพิเศษ) และเจ้าหน้าที่สาธาณสุข (เครื่องมือพิเศษ)
  4. นักวิชาการด้านเลนส์สายตาและเลนส์สัมผัส
  5. นักวิชาการด้านสายตาเด็กและระบบประสานงานสายตา
  6. นักวิชาการด้านสายตาผู้สูงอายุและการฟื้นฟูสภาพการเห็น
  7. ผู้เชี่ยวชาญคลินิกทัศนมาตรศาสตร์เฉพาะทาง (เลนส์สายตาทั่วไปและระบบการเห็น)
  8. ผู้เชี่ยวชาญคลินิกทัศนมาตรศาสตร์เฉพาะทาง (เลนส์สัมผัสและระบบการเห็น)
  9. ผู้เชี่ยวชาญคลินิกทัศนมาตรศาสตร์เฉพาะทาง (การฟื้นฟูและสายตาเลือนลาง)
  10. ผู้เชี่ยวชาญคลินิกทัศนมาตรศาสตร์เฉพาะทาง (สายตาเด็กและระบบสองตา)
  11. ผู้เชี่ยวชาญคลินิกทัศนมาตรศาสตร์เฉพาะทาง (โรคตาและการแพทย์ปฐมภูมิ)

โครงสร้างหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์

จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร    238  หน่วยกิต

โครงสร้างหลักสูตร

หมวดวิชาศึกษาทั่วไป                     44  หน่วยกิต

กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์   22  หน่วยกิต

    • กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์  4  หน่วยกิต
    • กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์    6  หน่วยกิต
    • กลุ่มวิชาภาษา           12  หน่วยกิต
    • กลุ่มวิชาความรู้คู่คุณธรรม (บังคับ)  (3)  ไม่นับหน่วยกิต

หมวดวิชาเฉพาะด้าน               188  หน่วยกิต

  • กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ    3  หน่วยกิต
  • กลุ่มวิชาชีพ                 95  หน่วยกิต

หมวดวิชาเลือกเสรี                 6  หน่วยกิต

รายวิชาตามโครงสร้างหลักสูตร

รายวิชา  (ระบุรหัส/ชื่อวิชาภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ/จำนวนหน่วยกิต/จำนวนชั่วโมงบรรยาย/จำนวนชั่วโมงปฏิบัติ และจำนวนชั่วโมงศึกษาด้วยตนเอง)

หมวดวิชาศึกษาทั่วไป                                44  หน่วยกิต

กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  22  หน่วยกิต ดังนี้

หลักชีววิทยา                         3 (3-0-9)

Principles of Biology

ปฏิบัติการชีววิทยา                 (0-3-2)

Biology Laboratory

เคมีทั่วไป 1                          3 (3-0-9)

General Chemistry I

ปฏิบัติการเคมีทั่วไป 1             1 (0-3-2)

General Chemistry Laboratory I

เรขาคณิตวิเคราะห์และแคลคูลัส   3 (3-0-9)

Analytic Geometry and Calculus

ฟิสิกส์ทั่วไป 1                        3 (3-0-9)

General Physics I

ฟิสิกส์ทั่วไป 2                       3 (3-0-9)

General Physics II

ปฏิบัติการฟิสิกส์ 1                 1 (0-3-2)

Physics Laboratory I

ปฏิบัติการฟิสิกส์ 2                 1 (0-3-2)

Physics Laboratory II

หลักสถิติ                             3 (3-0-9)

Principle of Statistics

กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์              4  หน่วยกิต ดังนี้

การใช้ห้องสมุด                       1 (1-0-3)

Using the Library

ลักษณะการใช้ภาษาไทย            3 (3-0-9)

Structure of Thai and Its Usage

กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์                6  หน่วยกิต ดังนี้

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป     3 (3-0-9)

Introduction to Law

จิตวิทยาทั่วไป                          3 (3-0-9)

General Psychology

กลุ่มวิชาภาษา                        12  หน่วยกิต ดังนี้

ประโยคพื้นฐานและศัพท์จำเป็นในชีวิตประจำวัน   3 (3-0-9)

Basic Sentences and Essential Vocabulary in Daily Life

ประโยคและศัพท์ทั่วไป                       3 (3-0-9)

Sentences and Vocabulary in General Use

การอ่านเอาความ                              3 (3-0-9)

Reading for Comprehension

การอ่านตีความ                                3 (3-0-9)

Interpretative  Reading

กลุ่มวิชาความรู้คู่คุณธรรม                   บังคับไม่นับหน่วยกิต ดังนี้

ความรู้คู่คุณธรรม (บังคับ) 3 (3-0-9)       (ไม่นับหน่วยกิต)

Knowledge and Morality

หมวดวิชาเฉพาะด้าน                188  หน่วยกิต

กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ                   93  หน่วยกิต ดังนี้

เคมีอินทรีย์ 1                               3 (3-0-9)

Organic Chemistry I

ปฏิบัติการเคมีอินทรีย์ 1                   1 (0-3-2)             

Organic Chemistry Laboratory I

ออปโตเมตทรีเบื้องต้น                      1 (1-0-3)

Introduction to Optometry

พื้นฐานปฏิบัติงานทางสายตาเบื้องต้น     3 (2-3-8)

Basic Optometric Practice

พื้นฐานชีววิทยาของเซลล์และชีวเคมี       3 (3-0-9)

Introduction to Cell Biology and Biochemistry

ชีววิทยาของเซลล์และโมเลกุลชีวภาพ      3 (3-0-9)

Cell and Molecular Biology

ระบาดวิทยาและสาธารณสุขพื้นฐาน       2 (2-0-6)

Basic Epidemiology and Public Health

พื้นฐานคัพภวิทยาของมนุษย์     3 (3-0-9)

Basic Human Embryology

มหกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์   4 (2-6-10)

Human Gross Anatomy

ประสาทวิทยาศาสตร์              2 (2-0-6)

Neuroscience

จุลกายวิภาคศาสตร์                3 (2-3-8)

Histology

สรีรวิทยาทั่วไป                      4 (4-0-12)

General Physiology

พยาธิวิทยาทั่วไป                     5 (3-6-13)

General Pathology

ชีวเคมีทางจักษุ                        4 (4-0-12)

Medical and Ocular Biochemistry

จุลชีววิทยาทางจักษุ 1                 2 (2-0-6)

Ocular Microbiology I

กายวิภาคศาสตร์ทางจักษุ             2 (2-0-6) 

 Ocular Anatomy

 สรีรวิทยาทางจักษุ                     3 (3-0-9) 

Ocular Physiology

ทัศนศาสตร์เชิงเรขาคณิต 1            3 (2-3-8) 

Geometrical Optics I

ทัศนศาสตร์เชิงเรขาคณิต 2             3 (2-3-8) 

Geometrical Optics II

ทฤษฎีการตรวจสายตา 1               2 (2-0-6) 

Theoretical Optometry I

นโยบายด้านสาธารณสุขและวิชาชีพ  2 (2-0-6)

Public Health Policy and the Optometric Profession

เภสัชวิทยาทั่วไป                         5 (5-0-15)

General Pharmacology

พื้นฐานเภสัชวิทยาทางจักษุ            3 (3-0-9)

ประสาทสรีรวิทยาทางสายตา          1 (1-0-3)

Neurophysiology of Vision

ทัศนศาสตร์เชิงสรีรวิทยา 1: ตาและการเห็นภาพ             3 (2-3-8)

Physiolgical Optics I: Visual Optics

ทัศนศาสตร์เชิงสรีรวิทยา 2: กลไกการมองเห็น                3 (3-0-9)

Physiological Optics II: Visual Function

ทัศนศาสตร์เชิงสรีรวิทยา 3: การเคลื่อนไหวของลูกตา        3 (2-3-8)

Physiological Optics III: Ocular Motility

ทัศนศาสตร์เชิงสรีรวิทยา 4: กลไกการมองเห็นภาพ 3 มิติ    2 (2-0-6)

Physiological Optics IV: Binocular Function

ทัศนศาสตร์ด้านเลนส์สายตา 1        3 (2-3-8)

Opthalmic Optics I

ทัศนศาสตร์ด้านเลนส์สายตา 2        3 (2-3-8)

Opthalmic Optics II

ทฤษฎีการตรวจสายตา 2               2 (2-0-6)

Theoretical Optometry II

ระบาดวิทยาและชีวสถิติในวิชาชีพ    1 (1-0-3)

Epidemiology and Biostatistics in Optometry

จุลชีววิทยาทางจักษุ 2                   2 (2-0-6)

Ocular Microbiology II

กฎหมายและจรรยาบรรณในวิชาชีพ  2 (2-0-6)

Legal and Professional Aspects of Optometry

ศรษฐสังคมในวิชาชีพ                    2 (2-0-6)

Socioeconomic Aspects of Optometry

กลุ่มวิชาชีพ                            95  หน่วยกิต ดังนี้

หลักการซักประวัติผู้ป่วยทางสายตา   1 (1-0-3)

The Clinical Interview and Health History Taking

หลักปฏิบัติการตรวจสายตา 1          3 (2-3-8)

Diagnostic Procedures I

คอนแทคเลนส์ 1                         3 (2-3-8)

Contact lenses I

หลักปฏิบัติการตรวจสายตา 2          4 (2-6-10)

Diagnostic Procedures II

หลักปฏิบัติการตรวจสายตา 3          2 (2-0-6)

Diagnostic Procedures III

โรคตา 1: โรคของตาส่วนหน้า          3 (3-0-9)

Ocular Disease I: Anterior Segments

ปฏิบัติการเบื้องต้นในคลินิกสายตา    3 (1-6-7)

Introduction to Clinic

คอนแทคเลนส์ 2                         3 (2-3-8)

Contact lenses II

โรคตา 2: โรคของตาส่วนหลัง          3 (3-0-9)

Ocular Disease II: Posterior Segments

โรคตา 3: โรคของระบบประสาทตา   2 (2-0-6)

Ocular Disease III: Neuro-Optometry

หลักและวิธีการตรวจร่างกายขั้นต้น   3 (3-0-9)

Principles and Methods of Physical Assessment

หลักการวินิจฉัยทางสายตา 1          2 (2-0-6)

Clinical Assessment I

หลักการวินิจฉัยทางสายตา 2          1 (1-0-3)

Clinical Assessment II

ปฏิบัติงานคลินิกสายตา 1              2 (0-100 ชั่วโมง)

Optometry Clinic I

ปฏิบัติงานคลินิกสายตา 2              2 (0-100 ชั่วโมง)

Optometry Clinic II

ปฏิบัติงานคลินิกสายตา 3              2 (0-100 ชั่วโมง)

Optometry Clinic III

ปฏิบัติงานคลินิกสายตา 4              2 (0-100 ชั่วโมง)

Optometry Clinic IV

กุมารทัศนมาตรศาสตร์                  2 (2-0-6)

Pediatric Optometry

ความผิดปกติในการเรียนรู้              2 (2-0-6)

Visual Perception and Learning Disabilities

สายตาเลือนรางและสายตาผู้สูงอายุ   2 (2-0-6)

Low Vision and Geriatric Optometry

ทัศนบำบัดพื้นฐาน                       3 (2-3-8)

Basic Visual Therapy

ทัศนบำบัดประยุกต์                      3 (3-0-9)

Applied Ocular Therapeutics

โครงงานวิจัย                              2 (2-0-6)

Special Project

ปฏิบัติงานคลินิกสายตา 5               10 (0-500 ชั่วโมง)

Optometry Clinic V

ปฏิบัติงานคลินิกสายตาเสริม           10 (0-500 ชั่วโมง)

Extension Clinic

ปฏิบัติงานคลินิกภายนอก 1            10 (0-500 ชั่วโมง)

External Clinic I

ปฏิบัติงานคลินิกภายนอก 2            10 (0-500 ชั่วโมง)

External Clinic II


หมวดวิชาเลือกเสรี  เลือก 6     หน่วยกิต จากกระบวนวิชาต่อไปนี้

พลศึกษา                                  1 (0-3-1)

Physical Education

สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเบื้องต้น 3 (3-0-9)

Introduction to Sociology and Anthropology

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจ           3 (3-0-9)

Introduction to Business

การจัดองค์การและการบริหาร         3 (3-0-9)

Business Organization and Management

อารยธรรมโลก                           3 (3-0-9)

World Civilization