มีอะไรใหม่กับโรเด้นสต๊อก 2018

เรื่องโดย สมยศ เพ็งทวี ,O.D. (dr.loft)

ทำคลอดเรียบร้อยสำหรับ Rodenstock lens product 2018 ครบทุก portfolio นับว่าเป็นครั้งแรกที่โรเด้นสต๊อกทำ All New pricelist ที่ทำเสร็จในปีเดียวกัน ซึ่งจากเดิมนั้นทำทุกผลิตภัณฑ์อยู่ในเล่มเดียวกันหมด และเริ่มเปลี่ยนมาเป็น 1 กลุ่มต่อ 1 เล่ม นั้นก็ใช้เวลาเกือบสิบปี

ขอเล่าเรื่องประวัติย้อนหลังของผมกับโรเด้นสต๊อกหน่อยก็แล้วกัน ว่าทำไมผมผูกพันธ์กับแบรนด์นี้ จนกล้าและมัั่นใจที่จะใช้แบรนด์เดียวในร้านลอฟท์  

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ที่แล้ว ในปี 2010 ขณะนั้น Rodenstcok Asia นั้นไม่ได้ทำตลาดเองในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็น Hub ให้กับทาง Asia Pasific และให้ตัวแทนที่เป็น Distributor ในประเทศไทยทำตลาดให้อีกที โดยตัวเองนั้นทำหน้าที่ support อย่างเดียว แต่เนื่องจาก distributor ที่ทำตลาาดให้โรเด้นสต๊อกขณะนั้นนั้นมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเลนส์อยู่แล้ว ดังนั้นเขาจึงนำเลนส์โรเด้นสต๊อกเข้ามาขายในประเทศไทยเฉพาะรุ่นที่เป็น Hi-End product เท่านั้น ซึ่งมีอยู่ 4 รุ่นคือ Impression ILT ,  Impression FreeSign ,Impression Mono ,Impression Sport ทำให้เลนส์โรเด้สต๊อกนั้นกลายเป็นเลนส์ราคาแพงที่เข้าถึงได้กับเฉพาะกลุ่ม แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั้งประเทศว่าเป็นเลนส์ที่ดีที่สุดในขณะนั้น  ในขณะเดียวกัน Rodenstock ก็มีผลิตภัณฑ์รุ่นพื้นฐานที่ราคาไม่แพง และอยากจะจำหน่ายในประเทศไทยด้วย และจะทำได้ก็ต้องทำเองโดยไม่ผ่าน Distributer และก็เริ่มต้นตลาดเองในประเทศไทย ช่วงก่อนผมเข้าไป 2 ปี 

ผมเริ่มเข้าไปทำงานให้ Rodenstock Asia ในปี 2010 ขณะนั้นผมยังเรียนทัศนมาตร อยู่ชั้นปีที่ 6 กับการชวนของรุ่นพี่ผมซึ่งเรียนทัศนมาตรเช่นกัน ซึ่งขณะนั้นเป็น lens consultant ให้โรเด้นสต๊อกอยู่แล้ว (ปัจจุบันเป็น Rodenstock lens manager แล้ว)  รุ่นพี่คงเห็นแววอะไรบางอย่างในตัวผม ก็เลยช่วนไปร่วมทำอะไรสนุกๆด้วยกัน เพราะว่าบริษัทกำลังจะเริ่มสร้างตลาด ยังไม่เป็นที่รู้จัก และมีอะไรให้เรียนรู้เยอะ  ผมก็เลยตกลง โดยเริ่มเข้าไปทำช่วงวันที่ไม่มีเรียนในช่วงปี 6 ผมเข้าไปทำงานตำแหน่ง lens consultant แต่งานจริงนี่ สากกระเบือยันเรือรบ เพราะยุคนั้น บริษัทโรเด้นสต๊อกเอเชีย นั้นเล็กกว่าปัจจุบันอยู่มาก  ทีมเลนส์ของเรามีพี่ฮิมเป็น BOSS มีเซลล์เลนส์เพียงแค่คนเดียวคือพี่หนุ่ม (ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการแล้ว)   มี lens consult ที่เป็น Senire ของผมคือพี่เก่ง (เป็นรุ่นพี่ที่คณะที่เก่งมากๆปัจจุบันขึ้นเป็นผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์เลนส์) ทุกอย่างเริ่มใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นงานอ่านที่ต้องอ่าน white paper ที่ทีมวิจัยโรเด้นสต๊อกส่งมาให้เราอ่าน ซึ่งเป็น technical ที่ซับซ้อนมากๆ ก็มานั่งอ่าน แกะรายละเอียดออกมาแล้วก็มา Discuss กับรุ่นพี่ เมื่อย่อยได้แล้ว ก็มาทำ presentation slide ให้เป็นภาษาที่ง่ายในการเทรนผลิตภัณฑ์ให้กับตัวแทนจำหน่าย  ผมทำตั้งแต่ดึงคำที่เป็น keyword จาก white paper และออกแบบสไลด์ให้เข้าใจง่ายๆ จนไปถึงประดิษฐ์คำ แล้วก็ให้ลูกพี่ดู จากนั้นก็ส่งต่อให้ marketing ทำการ prove  wording อีกที กว่าจะได้เป็นสไลด์อีกที  ส่วน pricelist ก็เช่นกัน  ว่าเราจะดีไซน์อย่างไร ให้ได้รายละเอียดที่เป็นหัวใจ เข้าใจง่าย ตัวแทนนำเสนอลูกค้าได้ง่าย และยังคง brand image ให้ดู luxury และไม่ผิด concept  กลายเป็นว่าในช่วงนั้น แม้ว่างานออกแบบเล่ม pricelist ไม่ใช่หน้าที่ของ lens consult แต่ marketing ก็ไม่รู้จะออกแบบอย่างไรเพราะไม่เข้าใจ technical term ของเลนส์ ดังนั้นหน้าที่ผมนั้นไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่ก็เต็มไปด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน ทุกคนทำงานหนักเหมือนกันหมด และโรเด้นสต๊อกนั้นมีข้อดีกว่าที่อื่นๆที่ได้ยินมาคือ ไม่มีการเมืองภายในบริษัท ทุกคนรบกันทะเลาะกันในห้องประชุมในเรื่องงาน แต่ประชุมเสร็จเราก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม กินข้าวด้วยกันทุกวัน  จนกระทั่งผมรู้สึกว่าผมอ่ิมแล้ว บริษัทเริ่มนิ่งและอยู่ตัวแล้ว เริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว ก็เริ่มมองหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ คืองานทางด้านคลินิกทัศนมาตร จึงออกมาทำ loft optometry ในปี 2014-ปัจจุบัน และผมเชื่อว่าน่าจะเป็นร้านเดียวในประเทศที่ใช้ ผลิตภัณฑ์เลนส์โรเด้นสต๊อกเพียงแบรนด์เดียว แท้จริงแล้วคือผมไม่พร้อมที่จะเสี่ยงกับสินค้าแบรนด์ทั่วไป และในเมื่อ Rodenstock ที่ใช้อยู่ไม่เคยสร้างปัญหาในการทำงานของของผม และสามารถตอบโจทก์การทำงานได้ทุกเรื่อง ผมก็ยังหาความจำเป็นในการจ่ายเลนส์แบรนด์อื่น  

เอาหล่ะ เข้าเรื่องเลยดีกว่า พอดีพึ่งได้ pricelist 2018 มาใหม่มา 3 อาทิตย์ก่อน มานั่งมองๆ เห็นเล่มมันสวยดี ก็เลยอยากจะเล่าเรื่องเลนส์คร่าวๆ ว่าในเล่มใหม่นี้ มีผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีอะไรอัพเดตบ้าง เอาไว้เป็นข้อมูลคร่าวๆ แต่จะยังไม่ลงลึก เพราะมันจะยาวมาก  เอาให้ได้คอนเซปต์ก่อนก็แล้วกัน 

Rodenstock lens portfolito 2018

Rodenstock  มีเลนส์อยู่ 5 กลุ่มคือ Progressive lens , Near vision comfort lens , Single vision lens , Sport lens ,Special lens  ซึ่ง special lens นั้นยังไม่เสร็จเป็นเล่มออกมา  ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่จัดว่าเป็น All  new ของ Rodenstock เลยก็คือเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่น Multigressiv MyLife 2 และกลุ่มเลนส์ขับรถคือ Rodenstock Road ส่วนรุ่นอื่นๆ ก็ยังคงเป็น minor change ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นเทคโนโลยีระดับสูงอยู่ดีเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์เลนส์ทั่วๆไป

#มีอะไรใหม่สำหรับ progressive lens 

Progressiv PureLife Free 2 

เลนส์โปรเกรสซีฟของโรเด้นสต๊อกตัวหลักๆตั้งแต่โปรเกรสซีฟรุ่นพื้นฐานอย่าง Progressiv PureLife Free 2 เป็นรุ่นพื้นฐานที่จัดว่าเป็น best performance price  รุ่นหนึ่งเลยทีเดียว ค่าตัวนั้นหมื่นต้นๆก็ถือว่า make sense  สำหรับเลนส์คุณภาพระดับนี้  แต่ก็จะมีขีดจำกัดอยู่บ้างในค่าสายตาที่ดุๆ เช่นสายตาต่างกันมากๆ  มีสายตาเอียงหนักๆ  หรือเป็นกลุ่มที่ PD แคบหรือกว้างกว่าปกติ หรือ PD ของตาแต่ละข้างนั้นต่างกันมากๆ  ก็อาจจะมี compromise อยู่บ้าง ซึ่งถ้ามีปัญหาาสายตาที่ยากมากๆ อาจจะพิจารณาขยับไปเล่นรุ่นที่สูงขึ้นอย่าง Multigressiv MyView 2 หรือรุ่นที่สูงกว่า 

Multigressiv MyView2

Multigressiv MyView2  ซึ่งเป็นเลนส์ที่เริ่มมีความเฉพาะบุคคลขึ้นมาจากเทคโนโลยีที่ีสำคัญ 2 อย่างคือ unique customization technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คำนวณโครงสร้างโปรเกรสซีฟจากค่าสายตาจริงเฉพาะแต่ละบุคคลเป็นคู่ๆ และออกแบบการเยื้องของ inset ของโปรเกรสซีฟให้สอดคล้องกับการเหลือบของแต่ละบุคคลด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า PD-optimized inset ทำให้การเยื้องของโครงสร้างโปรเกรสซีฟนั้นเหมาะสมกับการเหลือบของแต่ละบุคคลที่มีระยะห่างของ PD กว้างหรือแคบกว่าค่ามาตรฐาน หรือมี PD สองข้างต่างกันมากๆ  แต่อย่างไรก็ตามการคำนวณโครงสร้างโปรเกรสซีฟนั้นยัง base on พารามิเตอร์ของกรอบแว่นตาเป็นค่ามาตรฐานอยู่ ทำให้ไม่สามารถใช้กับแว่นกรอบโค้งมากๆได้  ซึ่งจะว่าไปแล้ว Multigressiv MyView 2 จัดว่าเป็นเลนส์ premium ที่สมบูรณ์แบบสำหรับกรอบแว่นที่มาตรฐาน ตอบโจทก์ค่าสายตาที่ยากๆได้  รวมไปถึงขนาดแคบกว้างของพีดี ที่แคบหรือกว้างกว่าปกติ ซึ่งเลนส์รุ่นนี้สามารถทำได้ดีมาก เป็นเลนส์โปเกรสซีฟพรีเมี่ยมระดับกลาง สำหรับคนที่อยากได้ optic ดีๆ ในราคาที่สมเหตุสมผล ส่วนใหญ่ก็จะจบที่รุ่นนี้

Multigressiv MyLife2  

Multigressiv MyLife2 ซึ่งเป็นโพรดักซ์ที่ถือว่าเป็น suprise  และเป็น All new ของโรเด้นสต๊อก (ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าควรจะมีมาตั้งนานแล้ว) ผมเริ่มจ่ายเลนส์รุ่นนี้ ตั้งแต่ยังไม่เปิดตัวเป็นทางการในประเทศไทย เพราะมีพรายกระซิบมาว่า มีเลนส์เทพให้ได้ลองใช้ก่อนเปิดตัวเป็นทางการตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว  ซึ่งจ่ายไปเยอะพอสมควร  ไม่พบ reject กับเลนส์รุ่นนี้แม้แต่เคสเดียว และมี functional ตามที่กล่าวอ้างไว้จริง และเป็นเลนส์ที่มีบุคลิคของตัวเองชัดเจน ต่างจากเลนส์ตลาดทั่วไปอยู่มากเลยทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้างโปรเกรสซีฟที่ไม่ได้เป็นโครงสร้างแบบบาลานซ์ทั่วๆไป แต่เป็นโครงสร้างที่ออกแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สายตาของแต่ละกลุ่มคนมากกว่า 

ความจริง Multigressiv MyLife2 ไม่ใช่ของเล่นใหม่ที่น่าตื่นเต้นอะไรของโรเด้นสต๊อก (แต่สร้างความหวั่นไหวให้กับเลนส์โปรเกรสซีฟค่ายอื่นในคลาสเดียวกันพอสมควร) เพราะมันก็คือ Impression FreeSign3 ซึ่งเป็นเลนส์ไฮเอนด์ราคาสูงที่มีผู้ที่ใช้งานอยู่เฉพาะกลุ่ม  มาตัดออพชั่นส่วนเกินบางส่วนทิ้ง (individual parameter)  แล้วทำราคาให้น่ารักขึ้น  เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เหลือ budget ไว้ซื้อกรอบแว่นตาดีๆ สบายๆ โดยวาง positioning ไว้เท่ากับ Impression2 ซึ่งวางค่าตัวไว้เร่ิมต้นสองปลายๆ 

คอนเซปต์คร่าวๆของเลนส์รุ่นนี้คือ โครงสร้างโปรเกรสซีฟถูกออกแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สายตาของแต่ละบุคคล หรือใช้ personal vision demand ในการออกแบบโครงสร้าง  ไม่ได้ใช้โครงสร้างประเภท one fit all อย่างเลนส์โปรเกรสซีฟทั่วๆไป  ทำให้ผู้ใช้นั้นได้ประโยชน์จากเลนส์โปรเกรสซีฟชนิดนี้มากกว่าโครงสร้างแบบเดิม   คือในการออกแบบโครงสร้างทั่วไปนั้น เรียกว่า balance design ซึ่งเกิดจากการเก็บของมูลจากคนส่วนใหญ่ หลากหลายอาชีพ คนส่วนใหญ่นั้นเขาใช้สายตาอย่างไร ดูอะไร เป็นปริมาณเท่าไหร่ในแต่ละวัน แล้วก็มาวิเคราะห์ว่า คนส่วนใหญ่เขาเป็นอย่างนี้อย่างนั้น  และโครงสร้างแบบนี้หรือแบบนั้นซึ่ง(น่า)จะตอบโจทก์กับคนส่วนใหญ่ เกิดเป็น perfect balance design เกิดขึ้นมา 

แต่เนื่องจากข้อมูลนั้นก็เก็บมานานแล้ว  ไม่รู้ว่าได้สังคายนากันล่าสุดกันไปเมื่อไหร่  และไลฟ์สไตล์ของคนสมัยนี้ก็ vareity เหลือเกิน คนหนึ่งคนมีหลายงานเหลือเกิน บางคนก็ใช้สายตาเฉพาะทางในด้านใดด้านหนึ่งมากเหลือเกิน  ดังนั้นโครงสร้างแบบ one fit all ดูเหมือนจะไม่พอสำหรับคนสมัยนี้   เขาจึงคิดใหม่ว่า  น่าจะสร้างโครงสร้างด้วยการใช้ personal vision demand แบบเฉพาะบุคคล  เพื่อให้สามารถได้ใช้มุมมองหรือสนามภาพของโปรเกรสซีฟ(ที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น) สามารถนำไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เกิดเป็นเลนส์ Habitual progressive lens ขึ้นมา ก็คือ Multigressiv MyLife 2 และ Impression FreeSign 3 ขึ้นมา  

ดังนั้นเลนส์โปรเกรสซีฟทุกตัวในตลาด รวมไปถึงเลนส์โรเด้นสต๊อกบางรุ่นก็ยังคงใช้โครงสร้างแบบบาลานซ์อยู่ นั่นหมายความว่า ถ้าผู้ใช้เลือกโครงสร้างบาลานซ์ เราจะต้องปรับตัวเข้าหาโครงสร้างที่เขาออกแบบมาสำหรับคนส่วนใหญ่  ก็ถ้าไม่เดือดร้อนก็ปรับตัวไป แต่ถ้ารู้สึกว่าการปรับตัวมันสร้างปัญหาให้กับตัวเอง ก็ใช้เลนส์ที่มันออกแบบโครงสร้างมาให้เราดีเหมือนจะดีกว่า 

ศึกษา Multigressiv MyLife2  ต่อได้ที่ลิ้ง http://www.loftoptometry.com/rodenstock/MyLife2

Impression 2 

Impression 2  นั้นหลักๆ ก็ยังคงคอนเซปต์เดิมคือ “เป็นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคลสำหรับแว่นกรอบโค้ง”  หมายความว่า ถ้าแว่นที่เราจะนำมาทำโปรเกรสซีฟนั้น โค้งมากกว่า 7 (แต่น้อยกว่า 15 องศา ซึ่งถ้าโค้งมากกว่านั้นจะต้องไปใช้ Impression FashionCurve หรือ Impression Sport2 แทน)  และอยากได้โครงสร้างที่ใส่สบายเหมือนแว่นสายตาทั่วๆไป เราจำเป็นจะต้องใช้เลนส์รุ่นนี้  เรื่องความเทพของโครงสร้างของ Impression2 นี้เป็นที่ประจักษ์ของคนทั้งโลกแล้วตั้งแต่ปี 2000 ของเขาเทพจริง และคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณกันให้มากความ  แต่ถ้าแว่นที่เราจะนำมาทำโปรเกรสซีฟนั้นไม่ได้โค้งมากนัก แต่ต้องการเลนส์ที่ดี แนะให้ไปใช้ MyLife2 ดูจะได้ประโยชน์กว่าเพราะราคาเท่ากัน เพราะ Impression 2 นั้นแม้จะออกแบบโครงสร้างตามค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่นตาขณะสวมใส่ แต่ก็ยังคงใช้โครงสร้างแบบ Balance อยู่ และโครงสร้างยังถูกกำหนดอยู่กับคอริดอร์ 11 ,13 ,15 อยู่ 

Impression FreeSign3

Impression FreeSign3 :  เลนส์รุ่นนี้นั้นถือว่า ไม่มีตัวเปรียบในตลาด เพราะถ้าตราบใดที่โครงสร้างโปรเกรสซีฟยังต้องเกาะอยู่กับคอริดอร์เพียงไม่กี่ค่าและไม่สามารถปรับแต่งคอริดอร์ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมแต่ละบุคคลแล้วหล่ะก็ ก็ยังจัดว่าห่างจาก FreeSign3 อยู่หลายขุม เพราะเป็นเลนส์ที่สามารถออกแบบโครงสร้างตามพฤติกรรมของการใช้สายตาของแต่ละบุคคลจริงๆ นอกจากนี้แล้วก็ยังใช้ค่าพฤติกรรมคำนวณเข้ากับ รูปทรงของเลนส์ และพารามิเตอร์ของกรอบแว่นขณะที่สวมใส่อยู่บนใบหน้า นั่นหมายความว่า แต่ละจุดที่อยู่บนเลนส์แต่ละทรงนั้น ถูก optimized  ให้สอดคล้องทั้งกับกรอบแว่น และพฤติกรรมการใช้สายตา  นั่นหมายความว่า การที่จะมีเทคโนโลยีนี้ได้นั้นจะต้องปล่อยทุกตัวแปรให้อิสระ ไม่มีการหล่อโครงสร้างสำเร็จจากแม่พิมพ์ และต้องรอค่าพารามิเตอร์จริงจากแต่ละบุคคลมาคำนวณและออพติไมซ์แบบคู่ต่อคู่ จึงจะสามารถทำโครงสร้างแบบนี้ได้  และเลนส์รุ่นนี้นั้น ถ้าไม่ได้วัดสายตาผิดพลาด ประกอบผิดพลาด หรือออกแบบโครงสร้างผิดพลาด  เลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นนี้ ไม่ต้องการเวลาในการปรับตัว และการออกแบบนั้นละเอียดและซับซ้อนมากๆ  ถ้าจะจ่ายเลนส์รุ่นนี้ผมอยากให้ศึกษาดีๆ และไม่ควรคิดว่า เลนส์โครงสร้างมันดี แล้วจะมาสั่งค่ามาตรฐานมันไม่เกิดประโยชน์  ตัวอย่างให้เห็นภาพ ถ้ามีร้านตัดสูทที่ฝีมือระดับไฮคลาส แล้วเราไปบอกช่างว่า เอาไซต์มาตรฐาน เบอร์ L  โดยไม่วัดสเกลร่างกายให้ละเอียด  แบบนี้เรียกว่าเสียของ และ Impression FreeSign 3 ก็เป็นเช่นนั้น ดังนั้นศึกษาให้ละเอียด แล้วค่อยจ่าย เพื่อให้ผู้สวมใส่นั้นได้ประโยชน์จาก FreeSign3 จริงๆ  และเลนส์ที่ไม่มีค่ากลางแบบนี้ ถ้าวัดมาผิด ผลลัพธ์ก็จะผิดเช่นกัน  

ศึกษา Imression FreeSign ต่อได้ที่ลิ้ง http://www.loftoptometry.com/Rodenstock/ImpressionFreeSign3

 

#มีอะไรใหม่สำหรับ near vision comfort lens 

 

จริงๆ Near vision comfort เลนส์นั้น มันใหม่มาหลายปีแล้วและปัจจุบันมันก็ยังคงใหม่อยู่ เพราะความรู้ความเข้าใจในเลนส์กลุ่มนี้สำหรับในบ้านเราก็ยังถือว่าใหม่มากๆ  เพราะเราคุ้นเคยแต่เลนส์เฉพาะทางกลางใกล้แบบพื้นฐานทั่วไป  เช่นถ้าเป็นเลนส์กลางใกล้ของโรเด้นสต๊อกในอดีต (ปัจจุบันก็ยังคงทำอยู่) คือ Nexyma 40 ซึ่งเป็นเลนส์กลางใกล้ที่เน้นใช้งานอ่านหนังสือที่ระยะ 40 ซม.เป็นหลัก และ Nexyman 80 ซึ่งเป็นเลนส์ที่เน้นใช้งานระยะ 80 ซม. ซึ่งในการออกแบบเลนส์เฉพาะทางกลางใกล้แบบเดิมนั้น คิดแค่เพียงว่า จะทำอย่างไรให้คนที่ใช้มองเห็นในระยะกลางและระยะใกล้ดีกว่าเลนส์โปรเกรสซีฟ แต่ไม่สนใจว่าตำแหน่งสำหรับใช้งานนั้นจะอยู่ในท่าที่เหมาะสมหรือเป็นไปตามหลัก eronoic หรือไม่ ใช้ไปแล้วจะปวดหลัง หรือปวดคอหรือไม่ นั้นไม่สนใจ แต่อย่างน้อยก็ขอให้ดีกว่าโปรเกรสซีฟ ที่ไม่ต้องเงยหน้าเวลาทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเลนส์เฉพาะทางกลางใกล้แบบเดิมนั้น ตำแหน่งที่มองเห็นชัดจะย้ายตำแหน่งเมื่อค่า addition เปลี่ยนไป และระยะลึกที่เคยมองได้ชัดจะหดลงเมื่อค่าแอดดิชั่นเพ่ิมขึ้น 

แต่ Near vision comfort lens คือ Ergo ของโรเด้นสต๊อกนั้น ออกแบบแตกต่างออกไป โดยคำถึงถึงสรีระขณะทำงานแต่ละประเภท หรือที่เราเรียกว่า Ergonomic in work place  สรุปคร่าวๆได้ว่า จะทำอย่างไรถึงจะมีเลนส์ที่เกิดมาเพื่อทำงานเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละงานในแต่ละบุคคล  และงานแต่ละประเภทนั้น ตำแหน่งที่มองได้อยู่บนตัวเลนส์นั้นควรจะอยู่ตำแหน่งไหนขณะทำงาน เพื่อให้การทำงานนั้นอยู่ในอิริยาบถที่สบายที่สุด ทำงานได้นานที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด  

เอาอย่างนี้ ถ้ายังไม่เข้าใจ Ergonomic ให้นึกถึงเลนส์โปรเกรสซีฟที่เราใช้อยู่  เวลาทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะแล้วต้องเงยหน้าช่วยถึงจะชัด และตำแหน่งที่ชัดมันก็มีอยู่ช่วงหนึ่งอย่างจำกัด ทำให้เวลากวาดตาจากบนลงล่างนั้นต้องใช้การก้มเงยช่วย และเวลากวาดตาจากซ้ายไปขวาบนหน้าจอนั้นต้องอาศัยการหันศีรษะช่วย ทำให้ร่างายนั้นต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เหนื่อยล้า  ปวดเมื่อยต้นคอ และทำงานได้ไม่เต็มที่เป็นต้น 

 

ดังนั้นเขาก็จะมีการศึกษาว่า งานแต่ละประเภทนั้น ต้องอยู่ท่าไหน กวาดสายตาอย่างไร ที่สบายที่สุด  จากนั้นก็จะออกแบบโครงสร้างเลนส์ให้เหมาะกับการใช้สายตาและแต่ละงานให้ได้มากที่สุด ซึ่งเขาแบ่งประเภทงานออกเป็น 3 แบบคือ 

#BOOK 

ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ออกแบบให้คนที่ทำงานกับเอกสาร กับหนังสือ เป็นหลัก เช่นนักเขียน นักอ่าน หรือใครที่ต้องใช้สายตาที่ระยะ 40 ซม.เป็นหลัก ก็จะออกแบบโครงสร้างที่เป็น ergonomic สำหรับระยะนั้น ซึ่งโรเด้นสต๊อกเรียกโครงสร้างประเภทนี้ว่า  BOOK  

Vision zone representation with the Book design type (view from the side)

#PC 

PC เป็นโครงสร้างที่เป็น ergonomic สำหรับคนที่ทำงานกับ PC เป็นหลัก ที่ระยะ 50-80 ซม. คือสามารถมองตรงแล้วเจอหน้าคอมพ์เต็มจอ กวาดตาขึ้นบนลงล่างได้เต็มจอ โดยภาพนั้นยังคมชัดและเสถียรภาพอยู่  ไม่ต้องหันศีรษะซ้ายขวาเหมือนโปรเกรสซีฟ  และยังมองห่างออกไปได้อีก 2.5 เมตร และยังดูใกล้ หรืออ่านหนังสือได้ตามปกติ  ซึ่งโรเด้นสต๊อกเรียกโครงสร้างนี้ว่า PC

Vision zone representation with the PC design type (view from the side)

#Room

Room  เป็นโครงสร้างที่ใช้งานทั่วไปในห้องทำงาน  far point นั้นอยู่ที่ 5 เมตร (น้องๆ โปรเกรสซีฟ) ความรู้สึกทั่วๆไปนั้น เหมือนโปรเกรสซีฟ แต่โครงสร้างนั้นนุ่มกว่า  สนามภาพระยะกลางใกล้ และภายในห้องทำงานนั้นกว้างกว่า  สำหรับผู้บริหาร ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์บ้าง  เซนต์เอกสารบ้าง  ประชุมบ้าง  แบบงานทั่วไปมากกว่าที่จะอ่านเอกสารหรือทำงานหน้าคอมพ์ทั้งวัน  

Vision zone representation with the Room design type (view from the side)

#Individual 

Individual :  ถ้างานที่เราทำนั้น มีความเฉพาะมากๆ ซึ่งลึกซึ้งกว่า Book ,PC หรือ Room ให้ใช้โครงสร้างแบบ individual ซึ่งสามารถออกแบบโครงสร้างได้ตามความต้องการ เวลาต้องการเน้นที่ระยะใดระยะหนึ่งเป็นพิเศษ เช่นหมอฟันที่ต้องดูใกล้มากเป็นพิเศษ  หรืองานบางอย่างที่เฉพาะมากๆ  ซึ่งต้องให้ข้อมูลเพื่อให้ทางเรานั้นใช้ซอฟแวร์ 

Individual design of Impression Ergo FS® 2 with the focus on near (Figure from Ergo Consulting)

โดย Design Book ,PC,Room นั้นจะมีอยู่ใน Ergo ทุกรุ่น ได้แก่ progressiv Ergo2 , Multigressiv Ergo2  ,Impression Ergo2  แต่ Individual design นั้นจะมีเฉพาะใน Impression Ergo FS 2  ไว้เล่ารายละเอียดให้ฟังในรอบหน้า เป็นเลนส์ที่ราคาสูง (สูงกว่าเลนส์โปรเกรสซีฟ) และมีเรื่องราวที่ต้องพูดถึงอยู่มาก ซึ่งผมกำลังเขียนเลนส์เรื่องนี้อยู่ เสร็จแล้วจะมามาเล่าให้ฟังครับ 

 

มีอะไรใหม่สำหรับ Single vision lens 

 

เลนส์ชั้นเดียวนั้น ที่ใหม่แบบเตะตาเลยก็คือการปล่อยราคาให้ลอยตัวตามต้นทุนเทคโนโลยีการผลิตจริง  โดยเฉพาะ Perfalit Mono Plus 2 ซึ่งเป็นเลนส์ชั้นเดียวแบบฟรีฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีสูงแบบ progressiv PureLife Free2 มาใช้ในการออกแบบเลนส์ชั้นเดียว และหลังจากตรึงอยู่ 2 ปี ขายในราคาเลนส์ conventional  ก็เห็นทีต้องปล่อยลอยตัว ทำให้ราคาของ Perfalit Mono Plus 2  นั้นกระโดดขึ้นพอสมควร  (เขาเรียนมาว่า แพงแล้วขายไม่ได้ ดีกว่าขายถูกแล้วขาดทุน)  ส่วนกลุ่ม premium และ hi-end คือ Multigressiv Mono 2 (plus2) หรือ Impression Mono 2 (plus2) นั้นยังคงราคาไหว้เหมือนเดิม  

แต่กระนั้นก็ตาม รุ่นที่ premium อย่าง Multigressiv Mono2 (+plus2)  และเลนส์ไฮเอนด์อย่าง Impression Mono2  (+plus2) นั้นก็ไม่มีตัวเปรียบเทียบในตลาดอยู่แล้ว ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำกว่าเลนส์ตลาดอยู่มาก และคุณภาพที่สูงหาตัวจับยาก  รวมไปถึงราคาที่สูงเอาเรื่อง ทำให้เลนส์ชั้นเดียวของโรเด้นสต๊อกนั้น ลอยลำอยู่แบรนด์เดียวในปัจจุบัน เน้นอีกทีคือ เลนส์ 2 รุ่นนี้ไม่มีตัวเปรียบในตลาด ถ้าแว่นไม่โค้งใช้ Multigressive Mono 2 จบ ถ้าแว่นโค้งมากๆ ใช้ Impression Mono 2 จบ 

ดังนั้น  portfolio ของเลนส์ชั้นเดียวนั้นได้แก่  Perfalit ,Cosmolit ,Perfalit Mono Plus2 ,Multigressiv Mono 2 ,Multigressiv Mono Plus2 ,Impression Mono 2 ,Impression Mono Plus2  อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิ้ง  http://www.loftoptometry.com/Rodenstock/SingleVisionLens

 

#มีอะไรใหม่กับ Road lens 

 

Road Lens :  เลนส์ที่จัดว่า All New  เลย สำหรับ Rodenstock ก็คงจะหนีไม่พ้นเลนส์ที่ออกแบบโครงสร้างมาเฉพาะทางสำหรับการขับรถโดยเฉพาะอย่าง Rodenstock Road ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็น Progressive lens  และ Single vision lens 

คอนเซปต์ของเลนส์ Road นั้นมีอยู่ 2 เครื่องคือ เรื่องของสีที่ต้องการสร้าง filter ที่ช่วยให้การรับภาพนั้นมีความคมชัดสูงสุด ลดแสงฟุ้งกระจาย ทั้งกลางวันและกลางคืน  ซึ่งสีที่ออกมานั้นเป็นสีที่ผ่านการศึกษาวิจัยออกมาแล้วว่า เฉดนี้เป็นเฉดที่ช่วยให้ cone cell ซึ่งเป็นเซลล์รับสีที่คมชัดนั้น มีความไวต่อแสงที่ผ่านการกรองด้วยฟิลเตอร์ที่ออกแบบมานี้มากที่สุด 

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือโครงสร้างที่ออกแบบมาโดยให้ความสำคัญกับการขับรถโดยเฉพาะ เพื่อเน้น safty ขณะขับขี่ ซึ่งปัจจัยทีสำคัญนั้นมีอยู่ 2 เรื่องคือ ความกว้างของสนามภาพสำหรับมองไกล คือสนามภาพมองไกลนั้นออกแบบมาไม่ให้มีภาพบิดเบี้ยวมารบกวนที่ด้านข้างเหมือนอย่างโปรเกรสซีฟทั่วไป  และระยะกลางนั้นถูกแหวกโครงสร้างให้กว้างขึ้นมากกว่าเลนส์บาลานซ์ทั่วไป เน้น Dynamic vision เพื่อให้การเหลือบมองซ้ายขวานั้น ไม่เกิดการมึนงง และเพื่อให้เกิด 3 มิติดีที่สุด ทำให้กะระยะได้แม่นยำ  แต่ระยะใกล้นั้นมีสนามภาพให้ใช้น้อยลง แต่ก็ยังสามารถใช้งานดูมือถือ แทบเล็ตได้ตามปกติ แต่ถ้าเกิดว่าต้องใช้ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันนั้น ไม่ค่อยดีเท่าไหร่  คล้ายๆกับว่าเป็นเลนส์ Freesign ที่ออกแบบโดยเน้นระยะไกลและระยะกลาง และเพิ่ม dynamic vision เข้าไป ทำให้ใส่ง่าย สนามภาพกว้าง พื้นที่บิดบี้ยวต่ำ  

 

 

โปรโมชั่นส่งเสริมการขายสำหรับเลนส์รุ่นนี้ โรเด้นสต๊อก ลดราคาให้ 50% เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะมีให้ใช้จนถึงสิน เมษายน 2561 ถ้าไม่สนว่าเลนส์จะไม่ขาวใส  คือเลนส์จะติดออกน้ำตาลแดง 12%  ถ้าไม่ซีเรียสเรื่องสี  ถือว่าสุดคุ้มสำหรับเลนส์รุ่นนี้  และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นโรเด้นสต๊อกทำโปรโมชั่นแบบนี้  ซึ่งโดยปกติการทำโปรโมชั่นในมุมมองของผมนั้น ใช้กับของหรือสินค้าคุณภาพต่ำที่ขายไม่ได้ ขายไม่ออก ต้องการโล๊ะสต๊อกทิ้ง ง่ายที่สุดคือ นมถ้าลดราคาแสดงว่ากำลังจะบูด ถ้าสินค้าคือบริการ แสดงว่าบริการนั้นไม่น่าไว้วางใจ  พูดให้เห็นชัดคือ ถ้ามีโฆษณาทำเลสิกแบบโปรโมชั่น ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า กำลังจูนเครื่องและต้องการหนูทดลอง  ผมเลยไม่เคยสนใจเรื่องโปรโมชั่น รวมถึงแนวคิดของการทำธุรกิจก็เช่นกัน ผมมั่นใจว่าผมมีฝีมือที่ดีมากพอ ที่จะตรวจตาดีๆ ทำแว่นดีๆ และเครื่องมือที่ใช้ก็มีมูลค่าสูงมาก  ทำให้ผมทำใจไม่ได้ที่จะเล่นโปรโมชั่น เพราะนั่นเท่ากับว่าผมดูถูกสินค้าและบริการของตัวเอง 

แต่ของดีและลดราคา พึ่งเคยเห็นนี่แหล่ะ ก็ไม่อยากให้ท่านที่อ่านเจอนั้น ต้องเสียโอกาส ก็ยังมีเวลาสองเดือน ลองไปหามาใช้งานดูครับ 

อ่านเลนส์​ Road เพิ่มเติม  http://www.loftoptometry.com/rodenstock/roadlens

 

#มีอะไรใหม่สำหรับเลนส์เปลี่ยนสี 

 

เลนส์เปลี่ยนสีได้ หรือ photochromic lens  (บ้านเราชอบเรียกว่าเลนส์ออโต้ เรียกเป็นรถยนต์กันเลยทีเดียว หรือไม่ก็เรียกเป็นชื่อการค้าว่า transition )  ส่วนของโรเด้นสต๊อกนั้นเรียกว่า ColorMatic IQ 2  มีอยู่ 3 เฉดสีคือ Gray ,Green ,Brown  ตัวใหม่นี้จัดว่าดี  สำหรับท่านที่เคยรู้สึกว่าใช้เลนส์เปลี่ยนสีแล้วสีมันค้างๆ สมัยนี้ก็ไม่ต้องห่วงครับ ใสมาก fade ก็เร็ว และเข้มกว่าในอดีตอยู่มาก แว่นปัจจุบันที่ผมใช้อยู่ Multigressiv Mono Plus2 ColorMatic IQ2 ก็ยังใช้งานจัดว่าดีมากๆ รอยขีดข่วนขนแมวไม่มี เลนส์ไม่เกิดสีตกค้างเวลาอยู่ในร่ม ออกแดดเปลี่ยนสีได้เร็ว กลับมาในร่มก็ fade ใสได้เร็ว มาชมดูได้ 

แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนอ่อนหรือเข้มนั้น มีตัวแปรอยู่ 2 อย่างคือ ปริมาณของรังสียูวี (UV) ซึ่งเป็นตัวกรุตุ้นให้สารเปลี่ยนสีมีการบิดตัว  และความเย็นจะทำให้สารเปลี่ยนสีนั้นตื่นตัวที่จะเปลี่ยน  หมายความว่า อากาศเย็นและมียูวี จะเป็นได้เข้มและเร็วกว่า อากาศร้อน นั่นเอง 

อีกเรื่องที่ต้อง concern ก็คือว่า แว่นกรอบเจาะ หรือแว่นบางทรงนั้น ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นแว่นกันแดด ดังนั้นถ้าออกแดดแล้วเปลี่ยนสี อาจจะดูไม่จืดก็เป็นได้ เพราะมีสีดำๆ กลางดวงตา ซึ่งถ้าจะว่าด้วยเรื่องฟังก์ชั่นก็คงจะดี แต่ถ้าว่าด้วยเรื่อง cosmetic แล้วอาจจะไม่สวย โดยเฉพาะการถ่ายรูปกลางแดด 

มีอะไรใหม่สำหรับ premium lens coating

ประสิทธิภาพของการมองเห็นที่ดีนั้น นอกจากจะต้องอาศัยโครงสร้างเลนส์ที่ดีแล้ว ปัญหาอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้งานเช่น เลนส์เป็นรอยได้ง่าย ปัญหาฝุ่นจับ น้ำเกาะ ไข้มันจับ แว่นเลอะง่าย ปัญหาแสงสะท้อนเข้าตาทำให้รบกวนการมองเห็นหรือสะท้อนเป็นเงาทำให้คนอื่นมองตาเราไม่ชัด  อันตรายจากรังสียูวีในแสงแดด ปัญหาการนอนไม่หลับจากนาฬิกาชีวิตเปลี่ยนจากการได้รับปริมาณคลื่นแสงความถี่สูงอย่างสีน้ำเงินจาก digital device มากเกินไป ปัญหาเหล่านี้ล้วนแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเลนส์แต่ก็ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้สายตาด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ผลิตเลนส์จะต้องมีเทคโนโลยีมาช่วย support โครงสร้างเลนส์เพื่อให้การมองเห็นนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด 

 

 

Rodenstock นั้นพัฒนาเทคโนโลยีผิวเลนส์ภายใต้ชื่อทางการค้าคือ Solitaire® ซึ่งเริ่มพัฒนามากว่า 20 ปี ซึ่งเลนส์รุ่นปัจจุบันนั้นพัฒนามาถึง generation ที่ 2 ซึ่งจัดว่าเป็น hi-tech coating technology ที่ช่วยป้องกันทั้งต่อดวงตาผู้สวมใส่ และปกป้องผิวเลนส์ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า ซึ่งหลักๆของ 2nd generation นี้จะมีเทคโนโลยีที่สำคัญอยู่ 3 เรื่องคือ plasma-assisted high-tech coating technology ทำให้โค้ตต้ิงนั้นมีความแข็งแรงทนทานต่อรอยขีดข่วนมากกว่าเดิม 2 เท่า  ป้องกันรังสียูวีได้ดีขึ้น และมีเพ่ิมมาในส่วนของการ optimized แสงความถี่สูงอย่างแสง blue ให้เข้าในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อยังคงการรับรู้ภาพที่เป็นธรรมชาติอยู่ และช่วยให้นาฬิกาชีวิตนั้นทำงานเป็นปรกติ 

ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม Solitaire®2 นั้นได้แก่ Solitaire® Protect Balance 2, Solitaire® Protect Plus 2,Solitaire® Protect Sun 2, Solitaire® Protect Road 2 and Solitaire® Road Sun 2 ซึ่ง hi-end coating เหล่านี้ จะมาพร้อมกับเลนส์โรเด้นสต๊อกอยู่แล้วโดยผู้ผลิตไม่ต้องจ่ายเพ่ิม 

ซึ่งคุณสมบัติที่จะได้มากับโค้ตติ้งตัวนี้ได้แก่ 

  • UV-protection : ป้องกันอันตรายจากรังสียูวีในแสงแดด 
  • Blue optimized control : ควบคุมปริมาณของคลื่นความถี่สูงช่วงสีน้ำเงินจาก digital device ให้เข้ามาในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้นาฬิกาชีวิตทำงานปกติ ลดปัญหาการนอนไม่หลับจากการหลังฮอร์โมนที่ผิดปกติ แต่ยังคงการรับรู้สีที่เป็นธรรมชาติ
  • Anti-Reflection coating (AR) : ป้องกันแสงสะท้อนเมื่อวิ่งกระทบเลนส์ ทำให้ไม่เกิดแสงรบกวนทั้งต่อผู้สวมใส่ หรือผู้ที่มองเห็น ทำให้ผู้อื่นเห็นดวงตาของเราได้ชัดเจน 
  • Antistatic coating : ป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุของแว่นเลอะง่ายจากฝุ่นเกาะ
  • Anti-fogging : ป้องกันการเกิดฝ้า เมื่อใช้ร่วมกับ anti-fog
  • Scratch resistant : ทนรอยขีดข่วนเพ่ิมขึ้นเป็น 2 เท่า
  • oil ,dust ,water repelling : ลดการจับของ น้ำมัน น้ำ และฝุ่น ทำให้แว่นสะอาดได้ทั้งวัน 
  • climate-resistance : ทนทานทุกสภาวะอากาศ เพราะอากาศร้อน/เย็นนั้น ทำให้เนื้อพลาสติกมีการหดขยาย โค้ตติ้งจึงออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นต่อการยืดหด ของพลาสติก ทำให้ไม่เกิดเป็นโค้ตล่อน ลอก แตกลายกว่า อย่างที่เลนส์ทั่วไปประสบปัญหา 

เรื่องประกันเลนส์โรเด้นสต๊อก 

  • ประกันความพึงพอใจ 90 วันนับจากวันที่ได้รับสินค้า ซึ่งเป็นนโยบายบริษัทที่ผู้บริโภคควรรับรู้ในการรักษาสิทธิของตัวเอง ซึ่งถ้าในระหว่างนี้ถ้าหากว่าจะต้องปรับแต่งโครงสร้างหรือมีปัญหาการปรับตัวหรือจะต้องแก้ค่าสายตา ค่าแอดดิชั่น ต้องทำให้เสร็จใน 90 วัน ถ้าเลยจากนี้ จะไม่สามารถเคลมเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างหรือค่าสายตาได้ จะเคลมได้อย่างเดียวคือปัญหาโค้ตติ้งที่เกิดจากการผลิต 
  • ประกันโค้ตติ้ง 2 ปี นับจากวันที่ได้รับสินค้า  ซึ่งการประกันจะให้เฉพาะในกรณีที่เกิดจาการผลิตเช่น โค้ตล่อน ลอก ย่น แตกลายงา แต่ไม่รวมไปถึงรอยขูดขีดที่เกิดจากการใช้งาน ซึ่งระยะเวลานั้นจะระบุอยู่ในการ์ดรับประกัน ซึ่งจะมีเลขที่ออเดอร์ระบุอยู่ 
  •  
ตัวอย่างการ์ดรับประกัน : สำคัญคือเลขที่ออเดอร์ หลังจากได้รับไปแล้ว ควรถ่ายเก็บไว้ในอีเมล์ เพื่อกันหาย

 

แต่จากการบันทึกทางสถิติการเคลมเรื่องปัญหาโค้ตติ้งนั้น ถือว่าน้อยมากๆ นานๆถึงจะมีสักครั้ง ส่วนการดูแลรักษาเลนส์ไม่ให้เกิดรอยขนแมวนั้น ถ้าคนไข้สามารถทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และดูแลรักษาตามวิธีที่สอนแล้ว  รับรองได้ว่าไม่มีทางเกิดขนแมวบนผิวเลนส์แน่นอน 

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวคร่าวๆของผลิตภัณฑ์เลนส์ Rodenstock 2018  หวังว่าจะเกิดประโยชน์กับท่านที่สนใจไม่มากก็น้อย  

ทิ้งท้าย

ว่าจะจบทีแรก แต่มีความคิดแล่นเข้ามาในระหว่างเขียน ในช่วงเวลาสำคัญที่ตัดสินใจลาออกจาก Rodenstock มาทำ loft optometry มีความท้าทายอยู่หลายเรื่อง เพราะผมอยากจะทำงานทางด้านคลินิกทัศนมาตร จริงๆ ซึ่งก็ต้องเริ่มมองหาที่ "จุติ" ซึ่งหาเท่าไหร่ก็หาไม่พบ 

ย้อนกลับไปสมัยเรียน 

ผมเป็นคนหนึ่งที่รักสาขาที่ผมเรียนมา ผมมีอุดมการณ์ในสาขาที่ผมเรียน บางครั้งก็ทะเลาะต้องอธิบายกับคนที่ไม่เข้าใจคุณค่าสาขานี้ ต้องอธิบายให้ผู้ปกครองที่จะส่งลูกเข้ามาเรียนว่าน่าเรียนไปมไหม เพราะครั้งนั้นความรู้ความเข้าใจของคนในสาขาทัศนมาตร มีอยู่น้อยมากๆ น้อยขนาดที่คนในมหาวิทยาลัยเองก็ไม่รู้ว่าคณะนี้มันสอนอะไรกัน รู้แต่ว่ามันเกี่ยวกับตา สายตา แต่ไม่ใช่ช่างวัดแว่น ไม่ใช่ช่างแว่น ไม่ใช่จักษุแพทย์  แต่เป็นอะไรสักอย่างออกเชื่อเรียกยาก  เรียนก็หนัก เรียนนาน ตำราแพง และค่าเทอมแพงมาก ต้องเรียนกับ professor ที่มาช่วยจากต่างประเทศ และคณะแพทย์ เภสัช จากวิทยาลัยแพทย์ศาตร์ต่างๆมาช่วยกันทำให้หลักสูตรมันเดินต่อไปได้    เมื่อจบออกมาแล้ว มีความรู้มีทักษะแล้ว แต่ไม่มีเวทีที่จะโชว์  มีเพื่อนผมคนหนึ่งบอกผมว่า ทัศนมาตรหาที่จุติไม่มี  ที่จุติไม่ได้หมายความว่าหางานไม่ได้ (เพราะความจริงหาง่ายมาก ค่าตอบแทนสูง)  แต่จะหาที่ทัศนมาตรสามารถทำงานอย่างที่ทัศนมาตรแท้จริงนั้นหายาก 

เริ่มจากลูกจ้างบริษัท ที่ผมทำให้โรเด้นสต๊อก งานดี เงินดี หล่อไหม ก็ต้องบอกว่า งานดี เงินดี และหล่อ แต่ถามว่าได้ใช้ความรู้ทัศนมาตรเยอะไหม ตอบเลยว่า ถ้าทักษะทางคลินิกนั้นน้อย แต่ก็จะได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ ที่ไม่มีเรียนในโรงเรียน คือ lens และ optic ซึ่ง 3 ปีในบริษัท สนุกดี แต่พองานเริ่มซ้ำ เราก็เริ่มเบื่อ แต่ก็อยากทำงานคลิินิกมากกว่า 

ครั้นจะไปลงตรวจที่โรงพยาบาล ก็คงลำบากเหมือนกัน เพราะประสบการณ์ช่วงฝึกงานใน รพ. ก็รู้เลยว่าเป็นเรื่องที่ลำบากที่ รพ.จะจัดห้องตรวจที่ได้ลึกมาตรฐาน 6 เมตรให้เราได้ เพราะพื้นแต่ละตารางนิ้วนั้นแพงมา ต้องบริหารจัดการให้คุ้มค่า ดังนั้นน่าจะเป็นแค่ฝันถ้าอยากจะได้ห้องตรวจ 6 เมตร และเป็นไปได้ยากที่จะมีเครื่องมือทางทัศนมาตรที่เฉพาะมากๆให้เราทำงาน และสิ่งที่จัดว่าเป็นปัญหามากมากที่สุดคือ ปริมาณคนไข้ต่อวันที่มากขนาดนั้น ไม่เอื้อต่อการทำงานของทัศนมาตร

นักศึกษาตอน intern ในคลินิกรู้ดีว่า ใน 1 วันนั้น ตรวจคนไข้เพียง 3 คนเราก็จะตายแล้ว ดังนั้นถ้ามีคนไข้เป็นสิบ เราคงไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้  เพราะทัศนมาตรนั้นไม่ได้ทำงานเพียงแค่กายภาพ แต่ทำงานกับ functional ทั้งของสายตา และกล้ามเนื้อตา ระบบการตีความและแปรผลของสมอง ซึ่งเราวัดค่าออกมาเป็นสเกลตัวเลขทั้งด้วยวิธี objective และ subjective และขั้นตอนทาง subjective เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและต้องใช้ศาสตร์ของ psychology เข้ามาร่วมในการตรวจหาความผิดปกติของการมองเห็น แล้ววิเคราะห์ปัญหาจากตัวเลขนั้น มาแก้ปัญหาการมองเห็น ซึ่งลงลึกถึงระบบ visual perception ของคนไข้ แต่เคสในโรงพยาบาลนั้นส่วนใหญ่จะเป็นงานทางกายภาพ ดูพยาธิสภาพเป็นหลัก และมีเวลาให้ทัศนมาตรทำงานต่อเคสไม่มากนัก  งานในโรงพยาบาลจึงมักไปทับซ้อนกับช่างเทคนิค เช่นไปถ่ายจอประสาทตา ไปถ่ายกระจกตา อะไรทำนองนั้น  ยิ่งอยู่นานความรู้ที่ร่ำเรียนมายิ่งถดถอย และมีแนวโน้มจะลืมสิ่งที่เรียนมาไม่เร็วก็ช้า โดยเฉพาะทักษะการทำ retinoscope และทักษะการทำคลินิก muscle และ binocular vision ซึ่งไม่มีศาตร์ใดลึกซึ้งเท่ากับทัศนมาตร แต่ไม่มีที่ที่ยอมให้เราใช้ อาจเพราะมันคิดสตางค์ยาก ก็เลยถูกปล่อยปะละเลยทิ้งไป 

การเป็นลูกจ้างร้านแว่นตา ก็คงไม่ใช่ที่ของทัศนมาตรเช่นกัน เพราะการเป็นลูกจ้างในร้านแว่นตานั้น จะต้องแข่งกับเป้าที่องค์กรกำหนดไว้ว่าแต่ละเดือนนั้น จะต้องทำเป้าให้ได้เท่าไหร่ และต้องตรวจตาแข่งกับเป้าที่ตั้งไว้ ดังนั้น องค์กรคงไม่ได้สนใจอะไรไปมากกว่ารายได้และผลกระกอบการในแต่ละเดือน และหมอต้องเร่งทำงานให้ได้ตามเป้า ดังนั้นจึงเกิดเป็น โปรโมชั่นกรอบพร้อมเลนส์ราคาถูก เชื้อชวนให้มาตัดแว่น เพื่อกระตุ้นการอยากซื้อแว่น และแน่นอนว่าหมอจะต้องเร่งทำงานให้ทัน และแน่นอนว่านักทัศนมาตรถ้าจะทำงานให้ทันกับคนที่นั่งรอตรวจแล้ว คงจะต้องตัดการตรวจที่จำเป็นอย่าง binocular function ทิ้งไปเพราะต้องใช้ทั้งทักษะและเวลาและหา profit ที่เป็นตัวเงินไม่ได้ แน่นอนว่า นายทุนคงไม่แฮปปี้เท่าไหร่ ที่เห็นหมอใช้เวลาตรวจตา 2-3 ชม.ต่อเคส เพราะเวลาเป็นเงินเป็นทอง 

ดังนั้นทางเดียวที่ผมจะได้ทำงานที่เป็นทัศนมาตรจริงๆ  คือผมต้องทำกิจการของตัวเอง เพื่อให้ผมสามารถจัดการทั้งกับมาตรฐานของห้องตรวจ มาตรฐานขอเครื่องมือที่ใช้ตรวจและเวลาที่จะให้กับเคสแต่ละเคส ซึ่งศักยภาพในการทำงานหรือสมาธิในการทำงานของผมต่อวันนั้นไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ทุกงานที่ออกไปนั้นเป็นงานที่ดีที่สุด และเพื่อมีเวลาให้ตัวเองนั้นได้อ่านหนังสือเพ่ิมเติม ได้เขียนบทความดีๆ ได้ทำอะไรที่มีคุณค่ามากกว่างานขายเพียงอย่างเดียว  ก็เลยได้โมเดลในหัวขึ้นมาเป็น loft optometry อย่างในปัจจุบัน ซึ่งแนวทางในการทำงานนั้น ผมสนใจอยู่เรื่องเดียวคือทำอย่างไรให้เราสามารถตรวจ วินิจฉัยและแก้ปัญหาให้คนไข้ให้ดี ป้องกันปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดพลาดที่จะเกิดจากการตรวจตาให้ได้มากที่สุด ซึ่งทุกวันผมยังคงต้องอ่านและฝึกอยู่ 

แต่ในการทำธุรกิจจริงนั้นไม่ได้ง่าย เริ่มจากเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจ ซึ่งมีให้เลือกใช้ตั้งแต่ของจีนราคาถูก มีงบไม่กี่หมื่นบาทก็สามารถทำแว่นได้แล้ว กับของแบรนด์ดีๆ ที่มีมูลค่าหลายล้านบาท แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ เพราะคิดว่าแว่นตาก็คือแว่นตา เป็นแค่สินค้าสำเร็จเหมือนเสื้อผ้ารองเท้าที่จ่ายเงินแล้วก็หยิบของมา แต่ความเป็นจริงแว่นตานั้นคือ "วัตถุดิบ" ที่จะต้องมีความรู้ความเข้าในการปรุง เช่นในการทำ "ต้มยำกุ้ง" ก็จะต้องมี กุ้ง ผัก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกระกรูด มะนาว พริก น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ... และปรุงในสัดส่วนที่พอดีและลงตัว จึงจะได้ ต้มยำกุ้งที่อร่อยที่สุด และไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำต้มยำกุ้งให้อร่อยได้ แม้จะใช้เครื่องปรุงและทำตามสูตรในยูทูปก็ตาม เพราะมันเป็นเรื่องของศิลปะในการทำอาหาร 

แว่นตาก็เช่นกัน  ซึ่งมีทั้งในส่วนของกรอบแว่นและเลนส์ และเครื่องมือที่อยู่เบื้องหลังในการทำให้เป็นแว่นดีๆหนึ่งอัน 

ในส่วนของกรอบแว่นตา ถ้าให้เห็นภาพก็คือ กรอบแว่นตาของ LINDBERG ที่จะต้องเลือกทรง เลือกไซต์ ความกว้างยาวของสะพานจมูก ความยาวของขาแว่น ให้พอดีกับใบหน้าของแต่ละคน  จากนั้นเขาก็จะทำมาให้ได้สเป๊กตามที่เราสั่ง แต่เมื่อมาถึงแล้วก็ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในการดัดปรับแต่งอยู่ดี เพื่อให้ใส่สบายที่สุด  

ในส่วนของเลนส์ โครสร้างไม่ได้อยู่ที่รุ่นนี้ราคาเท่าไหร่ รุ่นนั้นราคาเท่าไหร่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วัดแล้วได้ค่าสายตาอะไรมา แล้วมั่นใจแค่ไหนว่าสายตาที่วัดออกมาได้นั้นถูกต้อง  ถ้าวัดออกมาไม่ถูกต้อง การคำนวนโครงสร้างเลนส์ก็ผิดพลาด แล้วจะจ่ายเลนส์ที่ได้มาจะให้มันดีได้อย่างไร  และถ้าการวัดสายตาง่ายหรือคอมพิวเตอร์สามารถวัดได้ ทัศนมาตรไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 6 ปี เรื่องนี้ถ้าไม่ได้เรียนเอง ก็คงไม่เข้าใจ แต่เรียนไปแล้วได้ใช้ไหม หรือสภาพแวดล้อมเอื้อให้ทำงานไหม  ถ้าต้องเร่งทำงานให้ทันคนรอโปรโมชั่น ก็คงไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น 

ดังนั้น แว่นตา ไม่ใช่ของสำเร็จที่จะมากาง pricelist ว่าเลนส์รุ่นนี้ราคาเท่าไหร่ และลดกี่เปอร์เซนต์ มันน่าเศร้าใจที่บางแห่งนั้นกาง pricelist ตั้งแต่ยังไม่ได้ตรวจตาเลยว่าเขาเป็นอะไรมา เหมือนกับการจะมาซื้อยา โดยที่ตัวเองยังไม่รู้เลยว่าเป็นโรคอะไรมา แล้วต้องกินยาตัวไหน ผมว่ามันวิปลาศกันไปหมดแล้ว เห็นแล้วก็อดห่วงไม่ได้ 

ในความคิดส่วนตัวนั้น งานทัศนมาตร มีวิธีการทำงาน มีกระบวนการคิด เป็นหมอคนหนึ่ง และหลายๆคนก็เรียกทัศนมาตรว่า หมอสายตา (แต่ผมเรียกตัวเองว่านักทัศนมาตรตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน)  ดังนั้นการที่จะเป็นหมอนั้น ก็ควรจะมีจริยวัตร บางอย่างที่สง่างาม สมกับที่เขาเรียก การที่หมอได้เห็นคนไข้มีสุขภาพดีนั้นเป็นเรื่องที่หมอควรจะดีใจ แต่ถ้าหมอเห็นคนมีสุขภาพดีแล้วเป็นทุกข์เพราะกลัวไม่ได้ขายยานั้น นับว่าเป็นหมอที่ใช้ไม่ได้ และถ้าเป็นอย่างนั้นควรจะเรียกว่าเป็น seller มากกว่าที่จะเป็น Doctor  ดังนั้นถ้าทัศนมาตรเรียกตัวเองว่าหมอสาสายตา แล้วพยายามให้คนไข้ป่วยเพื่อที่จะขายแว่นนั้น  เช่นคนไข้สายตาปกติ ไม่มี complain  อะไรทั้งสิ้น แต่พยายามจะยัดเยียดเลนส์กันแสงคอมพิวเตอร์ ผมมองว่ามมันไม่งามสักเท่าไหร่ จึงอยากจะฝากกับน้องๆที่กำลังศึกษาอยู่ ถ้าหากว่าวันหนึ่งเราจบออกมา เราควรจะทำงานในสายวิชาชีพของเราให้งดงาม เพื่อให้วิชาชีพนั้นเป็นที่เข้าใจและยอมรับในระดับสากลต่อไป 

สรุปว่า ที่จุติของทัศนมาตรไม่มี  และถ้าจะมีเราจะต้องทำคลินิกทัศนมาตรเอง จึงจะสามารถทำงานได้เต็มองค์ความรู้ที่เราเรียนมา แต่แน่นอนว่า เรื่องทุนในการทำกิจการทัศนมาตรนั้นสูงกว่าร้านแว่นตาทั่วไปอยู่มาก  ซึ่งผมคิดและวางแผนเรื่องนี้อยู่ว่าจะช่วยให้น้องๆทัศนมาตรอยู่ ที่มีความฝัน และอยากจะทำอาชีพตามความฝัน ทำอย่างไรจึงจะสามารถมีกิจการของตัวเองได้ ซึ่งอยู่ในช่วงวางแผน ซึ่งตั้งใจว่าจะลองทำโมเดลขึ้นมา ถ้าสำเร็จ น้องๆทัศนมาตรเลือดใหม่ จะได้ทำงานที่ตนเองรัก ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รอชมกันต่อไป 

ขอบพระคุณสำหรับการติดตามครับ ว่าจะเขียนสั้นๆ แต่อารมณ์มันได้พอดี เลยจัดหนักสักหน่อย  ทั้งหมดทั้งมวลเป็นความคิดของผม และเนื้อหาก็ออกจะดุดันออกสักเล็กน้อย ตามสไตล์ดร.ลอฟท์ แต่ก็เพื่อให้เกิดความงามในวิชาชีพมากกว่าที่เป็นอยู่ ก็เลยมากระตุกกันสักเล็กน้อย ถ้ากระตุกแรงไปก็ขออภัย

สวัสดีครับ 

Loft Optometry 

Wacharapol rd. ,Bangkhen ,Bkk 10220 

T.090 553 6554

line : loftoptolmetry