การจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น EP3

เขียนและเรียบเรียง สมยศ เพ็งทวี O.D.

สวัสดีแฟนคอลัมน์ทุกท่าน ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามงานเขียนกันเรื่อยมาจนมาถึงตอนนี้ ซึ่งเรามาต่อกันให้จบกับปัญหาการจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟและแนวทางการแก้ไข ep.1-3  เริ่มเลยแล้วกันจะได้ไม่เสียเวลา 

ปัญาหาที่ 5 : เวลาใช้โปรเกรสซีฟอ่านหนังสือ จะต้องเลื่อน (slide) หนังสือไปข้างใดข้างหนึ่งจึงจะสามารถมองเห็นได้ชัด หรือเวลาอ่านหนังสือแล้วชัดอยู่แถบหนึ่ง แต่อีกแถบไม่ชัด หรือไม่ก็ต้องหลับตาข้างหนึ่งแล้วดีกว่า 

สาเหตุที่ 5.1 “ประกอบ monocular PD เคลื่อน”  

PD หรือ pupillary distant คือระยะของตำแหน่งรูม่านตา วัดจากกึ่งกลางจมูกถึงกลางรูม่านตาของแต่ละข้าง ซึ่งถ้ามนุษย์คนใดที่สัดส่วนของใบหน้ามีความสมมาตรมาก PD ของตาข้างซ้ายและขวาจะกว้างเท่ากัน ดังนั้นเราอาจจะวัดจากรูม่านตาของตาอีกข้างไปถึงตาอีกข้าง ว่ากว้างรวมเท่าไหร่ แล้วจับหารครึ่งก็จะได้ “พีดีแยก” แต่มนุษย์ที่สมมาตรจริงๆ ผมว่า มีน้อยกว่า 1 % ตั้งแต่ทำร้านมา เจอน้อยมากๆ PD ซ้าย/ขวา จะเท่ากัน

ดังนั้น เป็นความจำเป็นที่จะต้องวัด PD แยกซ้ายขวาทุกครั้งในการวางเซนเตอร์เพื่อทำการประกอบเลนส์ เพราะโปรเกรสซีฟไม่ได้มีพื้นที่ให้ผิดพลาด  ทุกๆครึ่งมิล.นั้นมีความหมายต่อการใส่สบายหรือไม่สบาย 

การแก้ไขที่ 5.1

ห้ามใช้ PD รวมในการประกอบเลนส์โปรเกรสซีฟ ต้องใช้ PD แยก หรือ Monucular PD เท่านั้นในการวางเซนเตอร์ประกอบเลนส์  ซึ่งในเคสลักษณะนี้จะต้องสั่งเลนส์ใหม่และประกอบเลนส์ใหม่ 

สาเหตุที่ 5.2 : “inset ไม่สอดคล้องกับการเหลือบ” 

Inset คือแนวของการเยื้องของโครงสร้างโปรเกรสซีฟที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับการเหลือบตาเข้าของตาขณะดูระยะกลางและระยะใกล้  อย่างที่บอกไปในตอนที่ผ่านมาว่า ขนาดของ PD ระยะอ่านหนังสือ ค่าสายตา ค่าแอดดิชั่น นั้นสำคัญต่อการนำไปออกแบบ inset ของโครงสร้างของโปรเกรสซีฟโดยเลนส์โปรเกรสพื้นฐานทั่วไปนั้น จะออกแบบโดยอิงจาก PD ค่ากลางของคนส่วนใหญ่ (PD 32/32 สายตา 0.00 ,อ่านหนังสือที่ 40 ซม.) ซึ่งอาจจะใช้งานได้ดีในคนที่ PD มาตรฐาน แต่ในกรณีที่ PD แคบหรือกว้างกว่าปกติหรือซ้าย/ขวา ต่างกันมากๆ จำเป็นต้องใช้เลนส์ที่ออกแบบเป็น individual inset การแก้ไขที่ 5.2 :

จำเป็นต้องใช้เลนส์ที่มีเทคโนโลยี individual inset ตัวอย่างเช่น Multigressiv MyView2 ,Multigressiv MyLife2 , Impression EyeLT 2 ,Impression FreeSign3  เป็นต้น เลนส์เหล่านี้จะมีการนำเอาค่า individual pd,ระยะอ่านหนังสือ,ค่าสายตา,แอดดิชั่นจริง แต่ละบุคคลไปคำนวณเพื่อหาระยะเยื้องของตาแต่ละข้างของแต่ละบุคคล เพื่อหา inset ก่อนจะนำขัดเป็นโครงสร้างโปรเกรสซีฟขึ้นมา


 ปัญหาที่ 6 : “ต้องเงยหน้าขึ้นเวลาอ่านหนังสือ”   

สาเหตุที่ 6.1  : เกิดจากการวางตำแหน่ง fitting cross นั้นอยู่ต่ำเกินไป 

การวางเซนเตอร์ หรือตำแหน่ง fitting cross อยู่ต่ำกว่าตำแหน่งรูม่านตา จะทำให้จุดที่อ่านหนังสือตกลงต่ำยิ่งขึ้น ทำให้คนไข้ต้องใช้กำลังของการเหลือบที่มากขึ้น โดย 1 มม ที่อยู่ต่ำลงมา จะทำให้กล้ามเนื้อตาออกแรงเพื่อชดเชยให้มุม 2 องศา ดังนั้นถ้ายิ่งต่ำมากเท่าไหร่ แรงกล้ามเนื้อตาก็คูณกันดู ว่าต้องเหลือบลึกขนาดไหน พอเหลือบลึกจนไม่ไหวแล้วก็ต้องใช้การเงยหน้าช่วย ก็กลายเป็นใช้โปรเกรสซีฟแล้วปวดต้นคอ ไม่สบายตา เมื่อยตา ล้าตา 

การแก้ไขที่ 6.1 : “ดัดแว่นยกเซนเตอร์”

​ถ้าแว่นมีแป้นจมูก ก็ใช้การดัดแป้นจมูกช่วย เพื่อยกเซนเตอร์ให้สูงขึ้นมา แต่ถ้าแว่นไม่มีแป้นจมูกหรือไม่สามารถดัดแป้นจมูกช่วยได้ จะต้องวางเซนเตอร์ใหม่ สั่งเลนส์ และฝนประกอบใหม่ให้ถูกต้อง เลนส์โรเด้นสต๊อกทุกรุ่นนั้นสามารถเคลมในเรื่องของการผิดพลาดจากการฝนประกอบใน 2 สัปดาห์​ ดังนั้นอย่าลังเลที่จะสั่งเลนส์ใหม่ให้คนไข้ เพื่อให้ประสิทธิภาพเลนส์ที่ได้นั้น คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายมากที่สุด 

สาเหตุที่ 6.2 : “เปลี่ยนคอริดอร์”

คอริดอร์ เป็นคำที่ใช้เรียกระยะที่แบ่งจากจุดที่มองไกลชัดกับจุดที่ดูใกล้ชัด (Full add) ดังนั้นจุดที่มองไกลชัดคือตำแหน่งของ fitting cross ส่วนจุดที่ดูใกล้ชัดจะเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างกว้างกว่า ก็คือพ้นที่ของวงกลมดูใกล้ ดังนั้นถ้าตามนิยาม คอริดอร์ จึงวัดจากตำแหน่ง fittign cross  ไปจนถึงขอบบนของวางอ่านหนังสือ 

เลนส์ทั่วไปในตลาดจะมีคอริดอร์อยู่ 2 ขนาดคือ 11 และ 14 มม. ส่วนเลนส์โรเด้นสต๊อกรุ่นพื้นฐานได้แก่. Progressiv Life Free2 ,Progressiv PureLife Free2 ,Multigressiv MyView2 ,Impression 2 ทุกตัวจะมีอยู่ 3 คอริดอร์ คือ 11,13,15 มม. ส่วนอีก 2 รุ่นที่ Varied corridor คือสามารถปรับตำแหน่งได้อิสระ คือ ​Multigressiv MyLife2 และ Impression FreeSign2 

แต่ละคอริดอร์นั้นจะแสดงบุคลิกของเลนส์ไม่เหมือนกัน  เลนส์ที่ coridor สั้นจะมีโครงสร้างที่แข็งกว่า ภาพบิดเบี้ยวสูงกว่า ตำแหน่งระยะกลางแคบกว่า แต่จะมีสนามภาพมองไกลและใกล้ที่กว้างกว่า อ่านหนังสือเหลือบตาน้อยกว่า  ส่วน corridor ที่ยาวกว่าจะมีพื้นที่ระยะกลางที่ดีกว่า ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ดีกว่า ภาพวูบวาบต่ำกว่า ปรับตัวง่ายกว่า แต่สนามภาพไกล/ใกล้แคบกว่า อ่านหนังสือต้องเหลือบลึกกว่า 

ดังนั้นแต่ละคอริดอร์นั้นจะมีจุดดีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ต้องเลือกให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ของการนำไปใช้งาน  แต่ถ้าต้องการเลนส์ที่ออกแบบโครงสร้างตามพฤติกรรม จะต้องใช้อยู่ 2 รุ่นคือ Multigressiv MyLife2 และ Impression FreeSign2

ดังนั้นการใช้โครงสร้างที่มี corridor ยาวมากเกินไป ทำให้จุด full reading นั้นอยู่ต่ำเกินไป  อ่านหนังสือลำบาก ก็พิจารณาเปลี่ยนคอริดอร์ให้คนไข้ และเช่นเดิม สิทธิ์ที่ผู้บริโภคต้องรู้คือ Rodenstock มีประกันความพึงพอใจจากการใช้งาน ภายใน 3 เดือนนั้นสามารถปรับแต่งคอริดอร์ได้ ถ้าเราดัดแว่นแล้วก็ยังรู้สึกว่า คนไข้ต้องเงยหน้าเยอะเวลาอ่านหนังสือ อาจพิจาณาเปลี่ยนคอริดอร์ให้สั้นลง

การแก้ไขปัญหาที่ 6.2 : เลือกใช้โครงสร้างที่มี corridor สั้นลง 

การเปลี่ยนโครงสร้างให้ corridor สั้นลง ช่วยให้การเหลือบตาลงต่ำนั้นทำได้ง่ายขึ้น แต่ต้องมั่นใจก่อนกว่า ก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนโครงสร้างเลนส์นั้น ได้ทำการเช็คดูมุมเทหน้าแว่นแล้วว่า ได้มุม 8-9 องศา เพราะการอ่านหนังสือไม่ชัด อาจเกิดได้จากมุมเทไม่เหมาะสมได้เช่นกัน 


ปัญหาที่ 7 : ระยะกลางแคบมาก  

ระยะกลางคือระยะที่อยู่ในช่วง 50 cm - 2 m. ซึ่งโดยโปรเกรสซีฟพื้นฐานทั่วไป จะมีระยะกลางที่แคบกว่าระยะอื่นๆ อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีความกว้างพอที่จะใช้งานโดยไม่ได้รู้สึกถึง compromise ของมันได้ แต่ถ้าเกิดว่าแคบซะจนรู้สึกว่าใช้งานลำบาก สิ่งที่ต้องคิดหาสาเหตุคือ 

สาเหตุที่ 7.1 : เลนส์อยู่ห่างตามากเกินไป 

ระยะห่างจากเลนส์ถึงกระจกตา หรือที่เราเรียกว่า cornea vertex distant ย่อว่า CVD นั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา มุมของการเหลือบ และ ความแคบกว้างของโปรเกรสซีฟ  เลนส์โปรเกรสซีฟที่อยู่ใกล้ตามากๆ จะทำให้ลานภาพนั้นกว้างขึ้น ภาพบิดเบี้ยวน้อยลง แต่ก็จะทำให้มุมเหลือบอ่านหนังสืออยู่ต่ำลงไป ทำให้หาจุดอ่านหนังสือไม่เจอ ดังนั้นต้องดัดแว่นให้มีระยะ CVD ที่ได้ระยะกำลังดี 

การแก้ปัญหาที่ 7.1 “ปรับ CVD ให้ใกล้ตามากขึ้น”  

แต่ต้องระวังว่า CVD ที่สั้นมากๆ แม้จะทำให้สนามภาพทุกระยะนั้นกว้างขึ้้น แต่จะทำให้ระยะอ่านหนังสือนั้น ต้องเหลือบลึก อ่านลำบาก ดังนั้น ควรปรับ CVD ให้ได้ค่ามาตรฐานประมาณ 12.5-13 มม. 

สาเหตุที่ 7.2 “ประกอบ monocular PD พลาด” 

พีดี นั้นเป็นเรื่องที่ยอมความไม่ได้สำหรับโปรเกรสซีฟ เพราะพื้นที่ใช้งานของโปรเกรสซีฟนั้นไม่ได้กว้าง เหมือนในโบรชัวร์ที่บริษัทพยายามทำขึ้นมาเพื่อขายของ  ดังนั้นทุกเม็ดเราต้องเก็บให้หมด และมันจะไม่มีค่าอะไรกับการวัดสายตาแทบเป็นแทบตาย ใช้สารพัดเทคโนโลยีในการช่วยให้สายตาแม่ยำ แต่ประกอบ PD เคลื่อน  เลนส์หลักแสนอาจกลายเป็นเลนส์ที่ไร้ค่า ด้วยพีดีเคลื่อนเพียง 1-2 มม. เพราะการประกอบ PD ผิดพลาดนั้น จะทำให้ตำแหน่งของรูม่านตาแต่ละข้างนั้นไม่ได้อยู่ตรงกลางโซนใช้งาน ทำให้ลานสายตาที่เกิดขึ้นกับตาข้างขวากับตาข้างซ้ายนั้น ไม่สมมาตรกัน เมื่อเกิดการรวมภาพกัน ทำให้เหลือพื้นที่ที่ overlap กันน้อยลง ผลคือทำให้พื้นที่ใช้งานนั้นแคบ ใช้งานลำบากดังนั้น ดังนั้นเซนเตอร์เป็นอะไรที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟ 

การแก้ปัญหาที่ 7.2 : ระวังเรื่องการประกอบ PD ให้ได้เซนเตอร์  

ในกรณีที่ฝนประกอบไปแล้วพบว่า fitting cross ไม่ตรงกับรูม่านตา จะต้องสั่งเลนส์มาใหม่เพื่อวางเซนเตอร์ให้ตรงและประกอบให้แม่นยำ ถ้าแม่นยำแล้วยังมีปัญาหาอีก น่าจะมาจากเรื่องของ inset  ซึ่งต้องหันไปใช้เลนส์ที่มีการออกแบบ individual inset อีกที  และเช่นเดิม ระยะเวลาของการเคลมในเรื่องการฝนประกอบนั้นอยู่ที่ 2 สัปดาห์ ดังนั้นช่างที่ทำแว่น ถ้ารู้ว่าศูนย์เคลื่อนให้รีบเคลมเลนส์ใหม่ให้ทันในเวลา เพื่อให้คนไข้ได้เลนส์ที่ไม่เกิด error จาก human 

สาเหตุที่ 7.3 :  ประกอบเลนส์ fitting high ไม่ถูกต้อง 

Fitting Hight นั้นคือระยะที่วัดจาก จุดกลางรูม่านตาดำ ไปจนถึงขอบล่องกรอบแว่น ซึ่งเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น จะมีการ optimize แต่ละจุดเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานมากที่สุด ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเหลือบตาลงต่ำจาก fittng cross เพื่ออ่านหนังสือ มุมของแนวตาที่กระทำกับเลนส์ในแต่ละตำแหน่งนั้นจะไม่เหมือนกัน  ดังนั้น lens designer จะทำการคำนวณมุมที่ตกกระทบ ณ ตำแหน่งต่างๆของตัวเลนส์ โดยอ้างอิงจากตำแหน่ง reference point ซึ่งก็คือตำแหน่ง fitting cross  แต่ถ้าเราวางตำแหน่ง fitting ผิด  ตำแหน่ง reference point ก็จะผิดเช่นกัน  และก็จะทำให้ตำแหน่งอื่นๆ ที่คำนวณไว้ ผิดทั้งหมดเช่นกัน ทำให้การใช้งานนั้นมีปัญหา 

การแก้ปัญหาที่ 7.3 :

การฟิตติ้งต่ำ ทำให้ระยะกลางต่ำลงมาเช่นกัน แต่จะไม่ได้รู้สึกว่าระยะกลางแคบ แต่จะรู้สึกว่า ต้องเงยหน้าเยอะผิดธรรมชาติในการทำงานระยะกลาง นอกจากนี้แล้ว เมื่อ center ผิด ทำให้ตำแหน่ง reference point คลาดเคลื่อนจากตำแหน่งเดิม ทำตำแหน่งที่คำนวณมุมมานั้นผิดพลาดไปด้วย  ดังนั้นดัดปรับฟิตติ้งให้เหมาะสม หรือถ้าดัดไม่ได้ ก็คงต้องสั่งเลนส์มาประกอบใหม่ 

ปัญหาที่ 7.4 : โครงสร้างเลนส์ไม่เหมาะสม 

โครงสร้างโปรเกรสซีฟทั่วไปนั้น ถูกออกแบบมาแบบ one fit all หมายความว่า ในการให้ priority ในการออกแบบความแคบกว้างของระยะ ไกล/กลาง/ใกล้ นั้น ผู้ผลิตแต่ละรายจะมีแนวคิดตามข้อมูลที่ตนเองได้ศึกษามาว่า พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในแต่ละยุคนั้น เป็นอย่างไร และพยายามจะทำโครงสร้างที่คนส่วนใหญ่นำไปใช้แล้วตอบโจทก์มากทีสุด เราเรียกโครงสร้างแบบนี้ว่า Balance Design ซึ่งแต่ละผู้ผลิตก็มีหลักคิดแตกต่างกันไปถึงนิยามของคำว่าบาลานซ์ของตัวเอง และผู้บริโภคไม่ว่า ชีวิตจะใช้สายตาอย่างไร มี priority ในการใช้แต่ละระยะอย่างไร ก็ถูกบังคับให้ปรับตัวเข้าหา balance design นี่แหล่ะ  เช่น ผู้สวมใส่เป็นสถาปนิกหรือเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน จำเป็นต้องใช้ระยะกลางมากกว่าปกติ  ซึ่งเลนส์บาลานซ์นั้นจะมีระยะกลางที่แคบกว่าระยะอื่นๆอยู่แล้ว ทำให้ส่วนใหญ่ของชีวิตนั้นต้องมองผ่านระยะที่แคบที่สุดทั้งวัน  ส่วนระยะไกลที่กว้างเหลือเฟือ นานๆจะใช้ขับรถสักที  และไม่ค่อยมีเวลาได้ใช้ประโยชน์จากมันสักเท่าไหร่ จึงต้องเกิดเป็นโครงสร้างเฉพาะพฤิตกรรมคนขึ้ืนมา เราเรียกว่าโครงสร้างแบบ personal vision demand 

Personal vision demand technology เป็นเลนส์ที่ออกแบบโดยใช้ข้อมูลการใช้สายตาเฉพาะบุคคลจากผู้สวมใส่  และสามารถให้ priority ได้อย่างอิสระ  ทำให้เลนส์ที่ได้ออกมานั้น เป็นเลนส์ที่มีพื้นที่ใช้งาน เต็มประสิทธิภาพสูงสุด เช่น คนที่มีชีวิตโลดแล่นกระโจนทะยาน ตีกอล์ฟ ปีนเขา ปั่นจักรยาน ก็ไม่รู้ว่าจะเอาระยะอ่านหนังสือให้กว้างไปทำไม เพราะแต่ละวันก็อ่านแต่ในไลน์  สู้ให้สนามมองไกล/กลาง กว้างๆ dynamic vision ดีๆ ดูจะมีประโยชน์กว่า  เลนส์ก็จะเกลี่ย distortion หลบไปฝากไว้ที่ระยะกลาง  สนามกลาง ไกล ก็จะกว้างมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเลนส์โปรเกรสซีฟที่ออกแบบตามพฤติกรรมการใช้สายตาของเรานั้นมีอยู่ 2 รุ่นคือ Multigressiv MyLife2 และ Impression FreeSign2 ของโรเด้นสต๊อก

การแก้ปัญหาที่ 7.4  “เลือกโครงสร้างให้เหมาะสม”

เลือกใช้เลนส์ที่มีการออกแบบเฉพาะพฤติกรรมหรือถ้าเลนส์เฉพาะพฤติกรรมบุคคลนั้น ราคาสูงเกินไป ให้ใช้เลนส์ที่มีคอริดอร์ที่ยาวขึ้น เพราะคอริดอร์ยาว จะทำให้ distortion ค่อยๆขยับขึ้น ซึ่งช่วยให้ระยะกลางนั้นกว้างขึ้นได้เช่นกัน หรือ คนไข้อาจต้องไปเลือกใช้เลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะทางกลางใกล้ สำหรับใช้ทำงานดูระยะกลางและระยะใกล้โดยเฉพาะ ได้แก่ near vision comfort lens เช่น Progressiv Ergo2 ,Multigressiv Ergo2 และ Impression Ergo 2 ในค่าย Rodenstock


ปัญหาที่ 8,1 :  ทุกระยะชัดเจนดี ทั้งไกล กลาง และใกล้ แต่เวลาจะมองอะไรจะต้องหันไปทั้งศีรษะมากผิดธรรมชาติ 

สาเหตุ 8.1  : เลนส์อยู่ห่างตามากเกินไป 

เลนส์ที่อยู่ห่างตามากเกินไป ทำให้สนามภาพโดยรวมนั้นแคบลงจาก key hole effect  คิดเสียว่า ในเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นมีรู ที่ใช้มองได้  ตาเมื่อใกล้รูจะมองได้กว้างขึ้น ดังนั้นเลนส์ควรจะไม่ห่างตาจนเกินไป  จะช่วยให้สนามภาพกว้างขึ้น เมื่อลานตากว้างขึ้น ตาก็สามารถกลอกได้ไกลขึ้น โดยไม่ต้องเคลื่อนที่ศีรษะมากจนเกินไป 

แก้ไข : ปรับแว่นให้ชิดตามากขึ้น แต่ไม่ควรใกล้กว่า 12 มม. และดัดแว่นให้โค้งมากขึ้นแต่ไม่ควรเกิน 7 องศา  ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งของการประกอบเลนส์โปรเกรสซีฟ ว่า “แว่นเลือกคน ไม่ใช่คนเลือกแว่น” แต่ถ้าต่างคนต่างเลือกซึ่งกันและกันก็จะเป็นเรื่องที่ดี  หมายความว่า แว่นที่ดีนั้น เมื่อสวมอยู่บนหน้าเรา จะต้องทำมุมโอบ 5 องศา  ทำมุมเท 8-9 องศา ห่างลูกตา 13 มม.  ถ้าไม่ได้ไปตามนี้ จะต้องสามารถดัดหรือปรับแต่งแว่นให้ได้มุมข้างต้น  ดังนั้นผู้สวมใส่ อย่าตามใจตนเองจนลืมนึกถึงเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าแว่นใส่ไม่สบายแล้ว มันดัดปรับมุมไม่ได้ มันจะยุ่ง  

สาเหตุ 8.2 : Addition สูงมากเกินไป 

ค่าแอดดิชั่นที่สูงนั้น แปรผันตรงกับ distortion ที่เพ่ิมขึ้นในอัตราส่วน 1: 3 หมายความว่า การเพ่ิมขึ้นของค่า addition หนึ่งหน่วย จะทำให้ distortion เพ่ิมขึ้น 3 หน่วย ดังนั้น ยิ่ง add มาก ยิ่งทำให้ distortion มาก และยิ่งทำให้ระยะกลางแคบมากยิ่งขึ้น ทำให้ตามีที่ที่จะมองผ่านแล้วชัดได้น้อย จึงต้องเคลื่อนศีรษะไปมามากกว่าปกติ 

สาเหตุส่วนใหญ่ของค่า addition ที่ไม่ถูกต้อง มักเกิดจากการแก้สายตามองไกลที่ไม่ถูกต้อง เช่น คนไข้มีสายตายาวมองไกล (hyperopia) แต่เลนส์ตาสามารถเพ่งให้ชัดได้  แล้วเราเห็นว่าเขามองไกลชัด เลยไม่แก้ให้เขา ทำให้ภาระไปกองอยู่กับค่า addition 

ตัวอย่างเช่น คนไข้อายุ 40 ปี สายตามองไกลจริงเป็น +2.00 D มีค่า add +1.00D   ถ้าคนไข้ยังมองด้วยตาเปล่าได้ 20/20 และเราดันไปคิดว่ามองไกลเขาสายตาปกติ  และดันไปจ่ายมองไกลเป็น 0.00 ทำให้ค่า addtion จะเพ่ิมขึ้นเป็น +3.00D ซึ่งจะไม่เป็นไรเลยถ้าเราจ่ายเป็น reading glasses ไว้มองใกล้อย่างเดียวเป็นสายตา +3.00D แต่ถ้าเป็นโปรเกรสซีฟ 0.00 add +3.00 มันจะกลายเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่น อะเวจี ได้เลยทีเดียว ผู้ใส่จะต้องทนทุกทรมาน คือเสียตังค์แล้วยังถูกทำร้ายทุกวัน  และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เป็นแบบนี้กันเยอะมาก  ต้องระวัง 

การแก้ไข 8.2 : จ่าย add ให้เหมาะสม 

คำว่า add เหมาะสมนั้น จะต้องเริ่มด้วยสายตาที่ถูกต้องก่อน  ซึ่งคำว่าถูกต้องนั้นหมายความว่า คนไข้มองไกลชัด 20/20 โดยที่เลนส์ตาอยู่ใน ภาวะผ่อนคลาย  ซึ่งตรงข้ามกับสายตาสั้นที่จ่ายเกินจริง หรือสายตายาวมองไกลที่แก้ไม่หมด  อันนี้ก็ชัดแต่ไม่ได้อยู่ในภาวะผ่อนคลาย  ซึ่งเราสามารถเช็คได้ด้วยการทำ BI-reserve ว่ามี blur หรือไม่ ซึ่งถ้ามองไกลเลนส์ตาไม่ได้เพ่งอยู่  การทำ BI-reserve จะไม่มี คือจู่ๆ แยกเลย  ถ้ามีเบลอ จะเกิดจาก accommodative convergence  ถูกกระตุ้นอยู่ หรือมองไกลเลนส์ตาติดเพ่งอยู่  ก็ให้ recheck สายตามองไกลซ้ำอีกรอบ สองรอบ สามรอบ แล้วแต่

เมื่อได้สายตามองไกลเรียบร้อยแล้ว  ก็มาทำ BCC (binocular cross cylinder)  เพื่อหาตำแหน่งที่เลนส์ตาดูใกล้แล้วผ่อนคลายที่สุด  ขณะทำ BCC ต้องระวังเรื่องความสว่าง คือต้องใช้ Dim light แต่ยังพอมองเห็นเป็นเส้นได้  เพื่อให้แสงมือดทำให้รูม่านตาขยาย และลดผลกระทบจาก Depth of focus ซึ่งจะเกิดกับรูม่านตาที่หดเล็ก  

เมื่อได้ BCC มาแล้ว ก็จะทำการเช็คบาลานซ์ BCC โดยการทำ NRA / PRA ซึ่งค่าที่ได้ควรจะเท่ากัน  โดยค่า NRA จะบอกเราได้ว่า ที่ตำแหน่งของ BCC นั้นเลนส์ตามีการ accommodation อยู่เท่าไหร่ ส่วนค่า PRA จะบอกเราต่อว่า ที่ตำแหน่ง BCC ที่มีการทำงานของ accommodation อยู่นั้น เลนส์ตาสามารถเพ่งต่อไปได้อีกเท่าไหร่ ซึ่ง BCC ที่พอดี ย่อมทำให้การคลายหรือเพ่งของเลนส์ตานั้นเท่าๆกัน 

และ BCC ยังสามารถช่วยเช็คบาลานซ์ได้ คือ ที่ตำแหน่ง BCC ลองให้คนไข้ดูตาทีละข้าง ว่า เส้นแนวตั้ง กับแนวนอน นั้นเท่ากันไหม ถ้าไม่เท่า ก็ปรับให้เห็นเหมือนกัน จากทั้นก็ทดสายตากลับไปที่สายตามองไกลเพื่อ recheck สายตามองไกลอีกครั้ง 

ศึกษาบทความที่เกี่ยวข้อง 

การจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น EP1

การจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น EP2

Multigressiv MyLife 2 เลนส์โปรเกรสซีฟที่ออกแบบเฉพาะพฤติกรรมแต่ละบุคคล 

เลนส์เฉพาะบุคคลคืออะไร 

Impression FreeSign 3 

เอาหล่ะ ก็พอหอมปากหอมคอ สำหรับพื้นฐานการแก้ปัญหาเลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งผม ดร.ลอฟท์ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะเกิดประโยชน์ทั้งกับ ผู้ให้และผู้รับบริการ  ผู้ที่ใส่โปรเกรสซีฟก็สามารถเช็คปัญหาตัวเองได้ ส่วนผู้ให้บริการได้ก็รู้หลักในการแก้ ไม่ใช่แก้ไปเรื่อยๆ ไม่มีเป้าหมาย มันจะทำให้เสียเวลาทั้งสองฝ่าย  

พบกันใหม่เรื่องหน้าครับ เรื่องอะไรนั้นยังไม่ได้คิดครับ  และขอขอบคุณแฟนคอลัมน์ทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันเสมอมา 

สวัสดีครับ 

ดร.ลอฟท์ 

ปรึกษาปัญหาสายตา ปัญหากล้ามเนื้อตา ปัญหาโปรเกรสซีฟ ได้ที่ ลอฟท์ ออพโตเมทรี วัชรพล กทม. โทร 090 553 6554  ,line id : loftoptometry