การจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น 

เรื่องโดย สมยศ เพ็งทวี ,O.D.,นักทัศนมาตรประจำคลินิกทัศนมาตร ลอฟท์ ออพโตเมทรี

26 December 2017 : 8:20

ว่าด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น ยังมีเรื่องที่ต้องคุย ต้องทำความเข้าใจกันอยู่มาก และมีปัญหาต่างๆมากมายที่ท้าทายให้เราได้แก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา แม้เทคโนโลยีเลนส์โปรเกรสซีฟเลนส์ในปัจจุบันนั้น จะบอกว่าสามารถช่วยให้โครงสร้างเลนส์ดีขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็พบว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังกลัว ยังเข็ดขยาดกับการใส่เลนส์โปรเกรสซีฟอยูู่อีกมาก (คิดว่ามากกว่า 60%) เพราะการทำโปรเกรสซีฟไม่ใช่ของง่ายและถ้ามันง่ายเราคงไม่ต้องเสาะแสวงหาคนที่จะมาดูแลเรื่องเลนส์โปรเกรสซีฟให้เรา ในขณะที่ยอดขายเลนส์ของบริษัทเลนส์ขายดิบขายดี แต่ในขณะเดียวกันยอดเคลมเลนส์ก็มโหฬารด้วยเช่นกัน ว่ากันว่าบริษัเลนส์ที่ยอดขายสูงสุดนั้น ยอดเคลมเลนส์นั้นครึ่งต่อครึ่ง  แต่เนื่องจากปัญหาโปรเกรสซีฟนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุ หลายปัจจัย เช่น สายตาไม่ถูกต้อง แอดดิชั่นไม่เหมาะสม  กรอบแว่นไม่เหมาะสม การฟิตติ้งที่ไม่ได้เซนเตอร์ การฝนประกอบที่ไม่ได้เซนเตอร์ การเลือกโครงสร้างเลนส์ไม่เหมาะสม  ไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจการใช้งานโปรเกรสซีฟ หรือโครงสร้างเลนส์มันใช้ไม่ได้จริงๆก็เป็นไปได้  

ดังนั้นวันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจกับส่วนที่เราทำได้ คือการส่งมอบแว่นและการแก้ปัญหาโปรเกรสซีฟเบื้องต้น  เพื่อลดโลกร้อนจากปัญหาการเคลมเลนส์ และลดความรู้สึกผิดหวังต่อโปรเกรสซีฟ ซึ่งเราจะได้รู้ว่ามีอะไรบ้างที่เราต้อง concern เวลาต้องจ่ายโปรเกรสซีฟ   

การส่งมอบเลนส์โปรเกรสซีฟ 

เลนส์โปรเกรสซีฟตอนที่ส่งมาให้เราประกอบจะมี yellow stamp ซึ่งแสดงตำแหน่งสำหรับวางเซนเตอร์ในการฝนประกอบแว่น  ซึ่งเมื่อตัดเลนส์เข้ากรอบได้แล้ว อย่าพึ่งลบ เพื่อที่เราจะได้ดูว่า ตำแหน่งฟิตติ้งที่เราฝนเลนส์นั้น อยู่ในตำแหน่งที่ได้เซนเตอร์หรือไม่ 

 

สมมติว่า ค่าสายตาที่เราวัดได้และสั่งทำเลนส์มานั้นเป็นค่าสายตาที่ถูกต้อง และการฝนเลนส์สามารถทำเซนเตอร์ได้อย่างแม่นยำ สิ่งสำคัญต่อมาคือการดัดแว่นให้ fit กับหน้าคนไข้ โดยให้มีพารามิเตอร์ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ใช้นั้นสามารถได้ประโยชน์ใช้งานจากโปรเกรสซีฟให้ได้มากที่สุด ดังนั้นในวันนี้ สิ่งที่เราต้องคิดเป็นตรรกะเมื่อตอนส่งมอบโปรเกรสซีฟ ได้แก่ 

1.เลนส์อยู่ใกล้ตาเหมาะสมแล้วหรือยัง

การปรับเลนส์ให้อยู่ใกล้ตานั้น ช่วยให้สนามภาพนั้นกว้างมากขึ้น เนื่องจากตาที่อยู่ใกล้ช่องมองนั้นย่อมมีลานสายตาที่กว้างกว่า  นึกถึงเวลาเรายืนห่างหน้าต่างกับยืนใกล้หน้าต่าง  การยืนใกล้ช่องหน้าต่างย่อมทำให้เราเห็นสนามภาพได้กว้างมากกว่า  

 

นอกจากนี้ เลนส์ที่ใกล้ตา จะทำให้ Distortion หรือภาพบิดเบือนด้านข้างของเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นลดลง เนื่องจากว่า optic ที่อยู่ใกล้ตา จะทำให้กำลังขยายหรือ magnification นั้นลดลง และแน่นอนว่า ภาพขยายจาก unwanted oblique astigmatism ที่เป็น compromise ที่เกิดจากขึ้นตอนการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟ ก็จะลดลงด้วยเช่นกัน ผลคือ swimming effect ลดลง ความวูบวาบของภาพนั้นลดลง ปรับตัวง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ในคนไข้สายตาสั้น เลนส์ที่อยู่ใกล้ตาจะทำให้ภาพมีความคมชัดมากขึ้น เนื่องจากสายตาลบ จะมีกำลังเพ่ิมมากขึ้นเมื่ออยู่ใกล้ตา ทำให้เราต้องปรับสายตาในคอนแทคเลนส์ให้กับคนสายตาสั้นมากๆ 

แต่เลนส์ที่ชิดตามากเกินไป ก็จะทำให้การเหลือบอ่านหนังสือนั้นยาก เนื่องจากว่า เลนส์ที่ชิดตามาก ทำให้ตาต้องเหลือบลงทำมุมมากกว่าปกติ กว่าจะเจอ reading zone และมุมตกกระทบที่มากเกินไป (เกินว่าตอนที่ซอฟแวร์แบบออกแบบขึ้นมา) ก็จะทำให้ตำแหน่งนั้นมีค่าสายตาที่ผิดเพี้ยนไปจากการคำนวณในตอนต้น ซึ่งทำให้การใช้งานมีปัญหาอีกเช่นกัน  ดังนั้น CVD ที่เหมาะสม ที่ให้ทั้ง visual field และ ลด magnified และมุมเหลือบไม่ลึกจนเกินไปนั้น จะอยู่ที่ 12 -13 มม.​

2.แว่นมีความโค้งที่เหมาะสมไหม

ความโค้งที่เหมาะสมสำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟแบบพื้นฐานนั้นอยู่ที่ 5 องศา และไม่ควรเกิน 7 องศา  โดยปกติแว่นที่ได้มาตรฐาน จะมีความโค้งของหน้าแว่นมาประมาณ 5-6 องศาอยู่แล้ว  ที่ต้องดัดแว่นให้โค้งเนื่องจากว่า การเคลื่อนที่ของลูกตาของเรานั้น เป็นการเคลื่อนที่รอบจุดหมุน ดังนั้น ตาจะเคลื่อนที่เป็นในแนวโค้งตามรัศมีของวงกลม  เลนส์และกรอบแว่นจึงต้องออกแบบมาให้โค้งตาม เมื่อให้ระยะห่างระหว่างตาถึงเลนส์เมื่อมองผ่านเลนส์แต่ละจุดนั้นมีระยะคงที่  

 

3.แว่นมีมุมเทหรือมุม pantoscopic tilt angle ให้มากพอหรือเปล่า 

มุม panto นั้นเป็นมุมที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งควรให้มีมุมอย่างน้อย 8-9 องศา คือดัดให้ติดทาง panto มาก ดีกว่า panto น้อยๆ  แต่ก็ต้องไม่มากซะจนดูน่าเกลียด 

 

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อเมื่อเรา fit แว่นบนหน้าคนไข้แล้วก็คือ recheck center อีกคร้ั้ง โดยดูว่า yellow stamp ที่อยู่บนเลนส์นั้นตรงกับตำแหน่งรูม่านตาดำของคนไข้หรือยัง 

1.ดูตำแหน่ง fitting Cross (+)  ว่าอยู่กลางตาดำของแต่ละข้างไหม

โดยดูทั้งแนวสูง/ต่ำ หรือ fitting hight ในแนวแกน x และตำแหน่งของ PD ในแนวแกน x   โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนไข้ที่ ตาซ้าย/ตาขวา อยู่สูงต่ำไม่เท่ากัน  เพราะถ้าตาสูงต่ำไม่เท่ากัน แต่เราประกอบเลนส์โดยวางเซนเตอร์ในระนาบเดียวกัน จะเกิดปัญหาคือ ตำแหน่งที่ตามองผ่านเลนส์ของแต่ละข้างนั้น จะไม่ใช่จุดที่เป็นจุดคู่สมกัน (Synchronized point) ส่งผลให้เกิดกำลังหักเหที่เกิดจากการไล่ค่าแอดดิชั่น ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ตาต้องพยายามปรับ และส่งผลกับ Binocular vision ตามมา เช่น ตาข้างหนึ่งอยู่สูงกว่าแนว fitting cross ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตำแหน่งที่ชัด ส่วนตาอีกข้างอยู่ใต้ fitting cross  ซึ่่งเป็นตำแหน่งที่มัวเนื่องจากเป็นตำแหน่งที่เลนส์มีการ progress ของค่า addition แล้ว  ทำให้เมื่อมองไปที่วัตถุเดียวกัน ตาข้างหนึ่งจะได้ภาพที่คมชัด อีกข้างจะได้ภาพที่มัว  เมื่อภาพชัดกับมัวมารวมกัน ย่อมเป็นภาพที่ไม่ดี มุมมองแคบลง ดังนั้นต้องระวังเรื่องนี้ให้มาก และปัญหานี้ยังเกิดได้จากการบาลานซ์ค่าสายตามองไกลที่ไม่ดี ก็จะเกิดปัญหานี้ได้เช่นกัน  ส่วน PD ที่คลาดเคลื่อนจะทำให้สนามภาพในระยะกลางและใกล้นั้นแคบลง เนื่องจากสนามภาพที่จะมา overlap กันนั้น ไม่สมมาตรกัน ทำให้พอรวมกันเลยสามารถรวมได้เฉพาะบางจุด สนามโดยรวมจึงแคบลง โดยเฉพาะระยะกลางกับระยะใกล้ 

นอกจากนี้การประกอบเลนส์หรือดัดแว่นที่ไม่ได้เซนเตอร์ จะทำให้การคำนวณมุมตกกระทบต่างๆที่อ้างอิงจาก reference point เคลื่อนไปด้วย  เมื่อคำนวณมุมคลาดเคลื่อน ก็จะทำให้เกิด power error เกิดขึ้นตามมา  

2.เช็คดูแนว datum line ว่าได้ระนาบแนวนอนไหม

แนวของ datum line จะต้องไม่มีการ tilt โดยเด็ดขาด เพราะจะมีปัญหาเมื่อตอนรวมภาพ เนื่องจากว่าในการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟนั้นจะออกแบบให้ visual field ของตาซ้ายและขวามารวมกันแล้วเกิดการ overlap พอดี ดังนั้นถ้าแนว dutum line เกิดมีการ tilt ขึ้นมา จะทำให้ การ overlap ไม่พอดี และทำให้สนามภาพแคบลง 

เช็ด yellow stamp ออก 

เมื่อเรา fit แว่นบนหน้าคนไข้เรียบร้อยแล้ว มีมุมที่เหมาะสมแล้ว ต่อไปก็ทำความสะอาดเลนส์ เนื่องจาก yellow stamp เป็นสีที่ไม่ละลายด้วยน้ำดังนั้น เราเอา yellow stamp ออกโดยการเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ในบางครั้งมันติดทนทานมาก ก็เอาลมร้อนป่าวสักเล็กน้อย แล้วเอาแอลกอฮอล์เช็ดออกอีกที หรือวิธีที่ง่ายที่สุดคือ เอาเทปไส แปะแล้วดึงๆ เหมือนตอนติดฟิล์มมือถือ 

 

การแนะนำคนไข้ที่ใส่โปรเกรสซีฟครั้งแรก 

 

ขั้นตอนสำคัญที่อาจจะทำให้การจ่ายโปรเกรสซีฟนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าเลยก็คือ การให้ความรู้ความเข้าใจกับคนไข้  ให้เราลองนึกถึงอย่างนี้ว่า การไล่สเตปค่าสายตาเหมือนกับการการไล่สเตปขั้นบันได  ถ้าเราเดินบนพื้นราบมามืด ๆ แล้วเราไม่เคยรู้ว่าที่ตรงนั้นจะมีบันได เมื่อเราก้าวเหยียบบนพื้นต่างระดับมันก็จะทำให้เรานั้นเกิดการก้าวพลาดขึ้นมา หรือแม้แต่เรารู้ว่ามีบันได แต่มันเป็นบันไดที่เราเดินเป็นครั้งแรก เราก็จะต้องระมัดระวังมาก แต่พอเราได้เดินขึ้นเดินลงทุกวัน  เราสามารถหลับตาวิ่งขึ้นวิ่งลงยังสามารถทำได้เลย เพราะเราเคยชิน และเข้าในการกะระยะการก้าว และกะน้ำหนักเวลาก้าวขาได้  โปรเกรสซีฟก็เหมือนกัน เราต้องบอกให้คนไข้เข้าใจว่า ภาพบิดเบี้ยวด้านข้าง หรืออาการวูบวาบตอนเริ่มใส่นั้น เป็นสิ่งที่เขาต้องเจอแน่นอน แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าเราวัดสายตาได้ถูกต้อง ฟิตติ้งได้ถูกต้อง ฝนประกอบได้ถูกต้อง ดัดแว่นได้ถูกต้อง สอนการใช้งานเบื้องต้นได้เข้าใจ  คนไข้จะไม่มีทางที่จะ reject เลนส์โปรเกรสซีฟแน่นอน 

เรามาเริ่มกันเลย 

เริ่มต้นให้คนไข้นั่งในท่าปกติ แล้วให้คนไข้มองไกล...ชัดไหม...คนไข้ตอบ..."ชัด"  (ถ้ามองตรงแล้วไม่ชัด มี 2 เครื่องคือ fit สูง หรือสายตามองไกลผิด เดี๋ยวจะว่ากันตอนสอง)

จากนั้นถือ reading card  ไปวางขวางตำแหน่งมองไกลที่ระยะ 40 ซม. เราถามตัวหนังสือชัดไหม...."ไม่ชัด" (แน่นอนว่า ตำแหน่งมองตรงเอาไว้มองไกล ดังนั้นเราเอาอะไรไปขวางที่ระยะไกล คนไข้ย่อมมัว  แต่ถ้าคนไข้บอกชัด แสดงว่าคนไข้เป็นเด็ก เลนส์ตาจึงสามารถเพ่งได้ แต่นี่เรากำลังคุยในส่วนของสายตาคนแก่) 

ไหนลองค่อยๆเงยหน้าสิว่าชัดไหม..."เออๆๆๆ ชัดแล้ว" (การที่คนไข้เงยหน้าขึ้นนั้น เป็นการยก reading zone ขึ้นมา ทำให้หนังสือที่ระยะ 40 ซม.ชัดเจน) แล้วบอกคนไข้ว่า ส่วนบนมองตรงเอาไว้มองไกล เอาไว้อ่านหนังสือไม่ได้นะ ดังนั้นเวลาเดินดูสินค้าที่วางอยู่บน Self ในห้างที่อยู่สูงกว่าแนวตา เราจะมองไม่ชัด ต้องเงยหน้าสู้มัน  แต่ซื้อของแป๊บเดียวไม่เป็นไร ไม่ได้เงยหน้าดู shelf ทั้งวัน   ถ้าจะอ่านหนังสือต้องดูตรงนี้  ว่าแล้วเราก็เลื่อน reading card ลงจนชัด ถามว่าชัดรึยัง...."ชัดแล้ว" อืม เวลาอ่านหนังสือเหลือบตาลงมานะ  ไม่ต้องก้มหน้า ให้ทำหน้าตรงๆ แล้วทิ้งตาลงมาอย่างเดียว แปลกๆช่วงแรก เดี๋ยวก็เคย 

ทีนี้มาดูตำแหน่ง PC บ้าง  เนื่องจากจอ PC สมัยนี้ก็ใหญ่มาก ถ้าตำแหน่งจออยู่สูงมาก หรือเก้าอี้อยู่ต่ำมาก เราจะมองจอแล้วมัว ทำให้ต้องเงยหน้าเยอะ ดังนั้นวิธีแก้ไขคือ ปรับเก้าอี้ให้สูงขึ้นหรือปรับจอให้เตี้ยลง หรือให้คนไข้ช่วยดันแว่นให้สูงกว่าปกตินิดหนึ่งเวลาทำงานหน้าคอมพิวเตอร์  ก็จะสามารถช่วยยกระยะกลางขึ้นมาได้บ้าง และจุดระวังคือ ถ้าแว่นไหลตกลงมา จะทำให้ระยะอ่านหนังสือหรือระยะคอมพิวเตอร์ตกลงไปด้วย ทำให้คนไข้ต้องเงยหน้าหนักเลยทีนี้ ทำให้ปวดต้นคอได้ ใช้งานไม่สบาย ระยะชัดมีน้อย ดังนั้นแว่นจะต้องมีความเสถียรภาพที่ดีในระดับหนึ่ง 

จากนั้นสอนคนไข้ต่อ โดยให้คนไข้มองเห็น Depth Range ของแต่ละจุดว่ามองได้ลึกแค่ไหน โดยให้คนไข้มองผ่านตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งแล้วเลื่อนเข้าจนมัว และเลื่อนออกจนมัว คนไข้ก็จะรู้ว่าแต่ละจุดนั้น range ของความคมชัดนั้นมีอยู่ประมาณไหน  เมื่อคนไข้นำไปใช้งานจริง เขาจะรู้ว่าเวลาจะดูใกล้นั้น จะต้องมองผ่านตำแหน่งไหนในแต่ละระยะ 

สอนให้รู้จักภาพบิดเบือน 

เมื่อกี้นี้เราสอนให้คนไข้รู้ว่าเอาตรงไหนของเลนส์ไว้มองที่ระยะไหน  ทีนี้เราจะสอนให้คนไข้รู้จักตำแหน่งที่มัวบ้าง โดยขณะที่คนไข้มองตำแหน่งที่ชัดอยู่นั้น ให้เราสไลด์ reading card ไปทางซ้ายและขวา เพื่อให้เห็นว่า เมื่อเรามองผ่านด้านข้างของเลนส์ มันจะมัว จากนั้นให้คนไข้หันศรีษะมองตามก็จะเห็นตัวหนังสือชัดขึ้น  หรือแนะนำในช่วงแรกว่า จะมองอะไรให้ใช้จมูกมอง หรือหันไปทั้งหน้า  เมื่อเริ่มใส่จนชิน ร่างกายจะปรับคอ ปรับศีรษะให้เป็นธรรมชาติได้เอง และเราจะไม่รู้สึกถึงภาพบิดเบี้ยวอีกต่อไป  เวลาขับรถในช่วงแรกก็ให้หันจมูกไปมองกระจกข้างด้วย อย่าไปแต่ตา แต่เดี๋ยวพอใช้คล่องแล้วก็ไม่รู้สึกอะไรไปเอง

 

ระยะเวลาของการปรับตัวนั้น ถ้าเลนส์ที่ออกแบบโครงสร้างมาดีมากๆนั้น (รูปบนขวา) คนไข้สามารถปรับตัวได้แทบจะในทันทีที่ใส่ ส่วนเลนส์พื้นฐานทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับปัญหาสายตาว่ามีความซับซ้อนมากแค่ไหน ถ้าโครงสร้างเลนส์ไม่ดีอย่างรูปบนซ้าย ก็อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 100,000 กัปป์ ถ้าคนไข้เร่ิมใช้เลนส์โปรเกรสซีฟตั้งแต่อายุยังน้อย ค่า add ยังน้อย โครงสร้างจะกว้าง ภาพบิดเบี้ยวจะน้อย ทำให้ปรับตัวได้ง่าย และเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งค่า addition มากขึ้นตามไปด้วย โครงสร้างจะแข็งมากขึ้น สนามภาพแคบลง แต่เนื่องจากเคยใช้มาก่อนแล้ว ก็จะปรับตัวได้ไม่ยาก  แต่ถ้าไม่เคยใส่เลย มารอใส่เอาตอน add มากแล้ว จะต้องใช้เวลาปรับตัวกันมากหน่อย  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปรับตัวกับโปรเกรสซีฟที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้นั้นไม่ควรเกิน 7-10 วัน ถ้านานกว่านี้ ถือว่าผิดปกติ 

ย้ำกันอีกทีว่า “ให้บอกคนไข้ให้หมด” บอกให้รู้ว่าตรงไหนชัด ตรงไหนมัว ตรงไหนเอาไว้มองอะไร แล้วให้คนไข้กลับไปฝึกการใช้งาน อย่าปล่อยให้คนไข้ไปงมโข่งหาเอง เหมือนพาคนเดินลงบันไดที่เขาไม่เคยลงมาก่อน  เราก็ต้องจูงมือ แล้วค่อยสอนให้เรารู้กับระยะของกว้างสูงของบันได และเมื่อเขาชินแล้ว เขาจะสามรถวิ่งโดยไม่ต้องกลัวก้าวพลาดเลย 

เอาหล่ะพอหอมปากหอมคอ กับการส่งมอบเลนส์โปรเกรสซีฟเบื้องต้น  เดี๋ยวตอนหน้าจะพาไปดูว่า หลังจากที่เราส่งมอบแว่นที่เราคิดว่าถูกต้องทีสุดแล้ว สอนใช้งานแล้ว เอาไปให้คนไข้ใส่ปรับตัว แล้วปรากฏว่าเกิดปัญหาเกิดขึ้นตามมา  จะมีปัญหาอะไรที่สามารถเกิดขึ้นได้บ้าง และมีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร เดี๋ยวพบกันใหม่ตอนหน้า 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย  อากาศเริ่มหนาว ดูแลสุขภาพด้วย สำหรับค่ำนี้ของกล่าวคำว่า 

ราตรีสวัสดิ์ สวัสดีครับ 

ดร.ลอฟท์<>ดร.ฮ้วง