Optometry 4.0

แนวทางวิชาชีพทัศนมาตรจะเดินอย่างไรให้งามในยุค 4.0  

มุมมองโดย ดร.ลอฟท์ 

      วันนี้พักเรื่องวิชาการหนักๆ มาคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกันดูบ้าง เผื่อจะได้เห็นมุมที่่ต่างออกไป ทำงานมาเยอะ พักเที่ยวบ้าง โลกจะได้ไม่แคบ 

      เรื่องทั้งเรื่องคือผมมีพี่ชายที่นับถือคนหนึ่ง ขอเรียกว่า "เฮีย" ก็แล้วกัน  เราเหมือนเพื่อนสนิทกัน เหมือนพี่น้องแท้ๆ เฮียเป็นพี่ผม 5 เดือน แต่ถ้านับรุ่นทัศนมาตร ผมคือรุ่นพี่ของเฮีย

      คือผมรู้จักเฮียหลังจากที่ผมเรียนจบทัศนมาตรศาสตร์แล้ว  ซึ่งเฮียในครั้งนั้น เราต้องดิวกันในฐานะลูกค้าโรเด้นสต๊อก เพราะผมทำงานเป็น lens consultant ให้กับ Rodenstock Asia งานจริงๆของผมคือ training product แต่ส่วนใหญ่เราหาที่กินเบียร์กันมากกว่าที่จะเทรนโพรดักซ์  

      แล้วผมก็เริ่มชวนเฮียให้ไปเรียนทัศนมาตร

      มันมีอุปสรรคเยอะมากในการที่จะชวนลูกชายคนเดียวของร้านดังของจังหวัดพิจิตรให้ไปเรียนทัศนมาตร เปิดร้านมานานกว่า 30 ปี ซึ่งกิจการที่บ้านก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปเรียนเพ่ิม  มัมม๊า ไม่เก๊ต

 

     ท่ามกลางแรงต้านของแม่และของญาติพี่น้องของเฮีย แต่ผมก็ทำสำเร็จ เมื่อ 4 ปีที่แล้วผมไปลากเฮียมาเรียน วันนี้เฮียผมจบทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิต สอบใบประกอบโรคศิลปะได้เสร็จเรียบร้อย ปัจจุบันเฮียเป็นทัศนมาตรวิชาชีพเช่นเดียวกับผม

 

      ผมกับเฮียเรามีมุมมองเรื่องการสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ทัศนมาตรเหมือนๆกัน เราไม่ชอบการตลาดแบบ hard sale เหมือนๆกัน เราไม่ชอบการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานทัศนมาตร รวมถึงไม่ชอบเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐานเหมือนๆกัน เป็นพวกคลั่งในความสมบูรณ์แบบ (perfectionist) 

 

      ผมมักจะคุยกับเฮียเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับทิศทางทัศนมาตร ที่ฝันว่าจะให้มันเป็น ทั้งในเรื่องของ รูปแบบของการทำงานในคลินิก  รูปแบบการทำธุรกิจ เรื่องราวปัญหาต่างๆที่เกิดกับวิชาชีพ ซึ่งก็ได้มุมมองขึ้นมาในหลายๆอย่างเกิดขึ้นทุกครั้ง ก็เลยอยากนำมุมมองที่เกิดขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง 


 

       จะว่าไปแล้ว ทัศนมาตรในบ้านเรานั้นเป็นเรื่องใหม่มากถึงมากที่สุดและเชื่อว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่ 90% ยังไม่รู้ว่าทัศนมาตรคือใคร ทำอะไรได้บ้าง

 

       เพราะเราคุ้นชินแต่กับร้านแว่นตา เวลามองไม่ชัดก็ต้องไปตัดแว่น เมื่อตาติดเชื้อ โดนไม้ทิ่มตา โดนลูกแบตกระเทกเบ้าตา หรือโดนต่อยตาแตก ก็ต้องไปหาหมอตา(จักษุแพทย์) หมอก็ทำหน้าที่รักษาพยาธิสภาพให้หาย ด้วยการจ่ายยา หยอดยา หรือผ่าตัด ให้พยาธิสภาพนั้นหายไป 

 

       เมื่อพยาธิหายไปแล้ว แต่ยังมองไม่ชัดอยู่ หมอก็ให้ไปวัดแว่น วัดมาแล้วใส่ชัดแต่ปวดหัว ก็ไปหาร้านแว่นใหม่ shopping around ไปเรื่อยๆ ดังนั้นในอดีตบุคลากรที่ดูแลเกี่ยวกับตานั้นมีคนอยู่ 2  กลุ่มคือ กลุ่มช่างแว่นตา (optician) กับจักษุแพทย์ (Ophthalmologist)

 

มีบทสนทนาหนึ่ง ผมถามเฮียผมว่า

       “เฮียครับ ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมสินค้าที่เป็นกรอบแว่นตาและเลนส์สายตา มันไม่มีราคาของมัน  คือเวลาผมซื้อ โทรทัศน์ มือถือ รถยนต์  คอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็ตามแต่ หรือแม้แต่สั่งกับเข้าในร้านอาหาร  ถ้าคนขายบอกว่าเท่าไหร่ ผมก็ต้องจ่ายเท่านั้น         

       แล้วทำไมเวลาเป็นแว่นตา พอบอกราคาแล้ว ผู้บริโภคจะต้องถามว่า ราคานี้ลดแล้วหรือยัง ลดเท่าไหร่         

       พอผมบอกว่าผมไม่เคยทำโปรโมชั่นตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้าน เขาก็เอาราคาร้านแว่นร้านนู้นร้านนี้ ลดให้เท่านู้นเท่านี้         

       คือผมไม่เข้าใจว่า  เราเรียนมาก็หนักมาก เรียนแพงด้วย ค่าใช้จ่ายสูง หมดเงินก็หลายล้าน  ค่าเครื่องมือก็หลายล้าน  สินค้ากรอบแว่นที่นอนอยู่ในร้านก็ไม่ต่ำ 2 ล้าน คือผมก็ไม่เข้าใจว่า มันอุปกรณ์เหล่านี้มันไม่ใช่ต้นทุนหรืออย่างไร         

       ในขณะที่ซื้อกระเป๋าหลุยห์ คนขายก็ไม่ต้องเรียนอะไรมา เครื่องมือในการตรวจวัดก็ไม่ต้องมี คนขายบอกกี่หมื่นกี่แสนก็ต้องจ่าย  คือผมไม่เข้าใจ เฮียว่ามันเป็นเพราะอะไร หรือเมื่อก่อนสมัยเตี่ย มันเป็นแบบนี้ไหมเฮีย ผมเด็กนอกวงการ ผมไม่รู้เรื่องนี้ ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่” 

รูปนี้ผมถ่ายตอนไปเที่ยงฝรั่งเศส ที่เห็นนั้นคือคนกำลังนั่งรอคิวเพื่อซื้อกระเป๋าใน Louis Vitton shop

 

เฮียเล่าให้ผมฟังอย่างน่าสนใจว่า 

       “เอ็งต้องมองอย่างนี้ว่า....

       ในยุคเมื่อ 20 ปีก่อน ร้านแว่นสมัยแต่ก่อนไม่ได้เปิดกันง่ายๆเหมือนในปัจจุบัน การเรียนการสอนทัศนมาตรในระดับมหาวิทยาลัยนั้นยังไม่เกิดขึ้นในบ้านเรา คนทำแว่นสมัยแต่ก่อนเขาจะได้จากการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากปู่ มาเตี่ย จากเตี่ยมาลูก มาหลาน กันเป็นทอดๆ
       ถ้าเราอยากได้ความรู้ แต่เราไม่มีบรรพบุรุษที่ทำร้านแว่น เราจะต้องไปช่วยเถ้าแก่เจ้าของร้านแว่นทำแว่น ฝนแว่น กว่าเถ้าแก่จะยอมถ่ายทอดวิชาให้ก็ต้องใช้เวลาหลายปี ต้องอาศัยการ “ครูพักลักจำ” ต่อๆกันมา 

       เมื่อวิชาแก่กล้าก็จะออกท่องยุธภพไปเปิดกิจการของตัวเอง  

       ดังนั้นในอดีตนั้น ร้านแว่นตาร้านหนึ่งนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก ในจังหวัดหนึ่งๆ จะมีร้านประจำจังหวัดเพียงหนึ่งหรือสองร้านเท่านั้น เพราะมันเปิดยากกว่าปัจจุบันมาก 

       การเข้าถึงสินค้ากรอบแว่นตาก็ยาก เพราะมี supplier ไม่กี่เจ้า การเข้าถึงบริษัทขายเลนส์ก็ยาก การฝนประกอบเลนส์ก็ต้องอาศัยความชำนาญของช่าง ไม่เหมือนปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย         

       สินค้าก็มีให้เลือกไม่เท่าไหร่ สมัยนั้นจีนยังก๊อบไม่เก่ง ของก๊อปไม่ค่อยมี  เครื่องไม้เครื่องมือ ก็มีแต่ของดีๆจากญี่ปุ่นและอุปกรณ์แต่ละชิ้นนั้นแพงมาก ถ้าเงินไม่หนาจริงก็เปิดได้ยาก 

       ไม่เหมือนสมัยนี้ ถ้าจะอยากจะเปิดร้านแว่นตา ง่ายนิดเดียว มีทุนสักแสนหนึ่ง ไปสำเพ็งลงทุนกรอบแว่นสัก 1-2 หมื่นก็จะได้กรอบแว่นมาเป็นร้อย        

       เดี๋ยวนี้งาน mirror เกรด AAA ก็มีเยอะแยะ อันไม่กี่บาท ลงทุนซื้อเครื่องคอมพ์วัดตาจีนไม่กี่หมื่นบาท   ซื้อเลนส์เสียบอีกนิดหน่อย เครื่องเจียร์มืออีกไม่กี่พัน  แล้วไปหาทำเลตรงไหนก็ได้ที่มีคนก็สามารถเปิดเป็นร้านแว่นตาได้แล้ว ง่ายจะตาย”

       คิดๆตามดูผมว่าเฮียผมก็พูดถูกอยู่นะ 

 

       เฮียก็เล่าให้ฟังต่อว่า  

       “ดังนั้นเฮียคิดว่าปัญหาที่เอ็งถาม พี่ว่ามันน่าจะมาจากมาตรฐานของวงการแว่นตาเราแต่ละที่มันต่างกันมาก

       มันต่างตั้งแต่คนที่ทำหน้าที่วัดสายตา ซึ่งก็มีตั้งแต่พวกทัศนมาตรที่เรียนมา 6 ปีอย่างพวกเรา  ช่างแว่นที่ไปเรียนสมาคมแว่นตามา  ไปจนถึงบางคนที่ไม่ได้เรียนที่ไหนเลย มีทุกรูปแบบ 

       ทำให้รูปการทำงานมีความแตกต่างกันมากตามที่ความรู้ตัวเองจะมี  รู้มากหน่อยก็ระมัดระวังเยอะหน่อย รู้น้อยหน่อยก็ระมัดระวังน้อยหน่อย ไม่รู้เลยก็ไม่ระวังเลย

       ส่วนเครื่องมือในการตรวจก็มีตั้งแต่ของมาตรฐานจีนไปจนถึงไม่รู้กี่ล้านอย่างที่เอ็งทำ 

       สินค้ากรอบแว่นก็มีตั้งแต่ระดับสำเพ็งอันละ 20 บาท ไปจนถึงตัวเป็นสองสามหมื่นหรือมากกว่านั้น  เลนส์ก็มีตั้งแต่เลนส์จีนคู่หลักสิบ ไปจนถึงเลนส์เยอรมันคู่หลายหมื่น 

       ดังนั้นมันต่างกันอย่างงี้ แล้วเอ็งคิดว่าผู้บริโภคเขาจะรู้เรื่องแบบนี้ไหมหล่ะ  เขาก็ไม่รู้หรอก เพราะทุกที่ทำเหมือนกัน ลดราคาเหมือนกัน  พอคนแยกไม่ออก ก็เลยเกิดมหกรรม Hard Sale ลดทั้งปีไม่ต้องมี season เกิดขึ้นอย่างที่เอ็งเห็น แล้วพี่ก็มองไม่เห็นว่ามันจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

       ถ้าตราบที่มาตรฐานเรายังต่างกันขนาดนี้ และไม่มีท่าทีว่ากฏหมายจะออกมาสร้างมาตรฐานบังคับให้ผู้ให้บริการทำในมาตรฐานเดียวกัน  พี่ว่าอีกนานหว่ะ  เราก็ทำในส่วนที่เราทำได้ต่อไปน้อง พี่ว่านะ หรือเอ็งคิดว่าไง” 

       ซึ่งผมลอง search ใน google มาก็เห็นอย่างในรูปที่ crop มา  อันนั้นคงไม่ได้ละเมิดนะครับ เพราะอะไรก็ตามที่อยู่ใน google แปลว่า ยอมให้เผยแพร่ทางสาธารณะ ผมก็แค่ครอปมาเฉยๆ แต่ก็ทำ sensor brand แล้วครับ เผื่อมีใครไม่สบายใจ จุดประสงค์เพียงแค่ต้องการให้เห็นภาพรวมของร้านแว่นตาที่ผู้บริโภครับรู้ 

image : google.com  (google = public = share ได้)

 

       เฮียเล่าละเอียดและเห็นภาพมาก  ซึ่งจริงๆมันมากกว่านี้ แต่ผมตัดมาเฉพาะบางจุดที่สำคัญ​ เวลาผมคุยกับเฮียผม ก็จะได้มุมมองอะไรที่ดีเสมอ  มีคำหนึ่งที่เฮียพูดแล้วผมสะดุ้ง เฮียบอกว่า

       "มีคนเคยพูดให้เฮียฟังอีกทีว่า วงการแว่นตาบ้านเราหน่ะ ชอบเอาสังกะสีมาขายในราคากระเบื้อง"

        เฮียว่าที่เขาพูดก็มีส่วนจริงอยู่นะ หลายคนชอบ over price แล้วมาลดราคา ยิ่ง over มาก ก็ยิ่งทำ % ลดได้มาก ดึงดูตาดูดใจคนผ่านไปผ่านมา อย่างที่เราเห็น 70-80% แทบทุกร้าน ก็เลยทำให้คนซืื้อ ไปคิดเอาเองว่าทุกร้านต้อง over price ไว้เผื่อลดอยู่แล้วและทุกที่คงทำเหมือนกัน

       พอเราไม่ได้ทำอย่างเขามันก็เลยเป็นแบบนี้

       เฮียว่าความจริงถ้าเราจะขายสังกะสีก็บอกไปเลยว่าสังกะสี ราคามันต้องถูกกว่ากระเบื้องอยู่แล้ว แต่ฝนตกเสียงดังหน่อย คนซื้อก็ต้องยอมรับนะ แต่ไม่ใช่เอาสังกะสีไปเสกให้เป็นกระเบื้องอย่างที่บางคนเขาชอบๆทำกัน เฮียว่าไม่ถูกหว่ะ"

       อันนี้ผมชอบนะ ตรงประเด็น ตรงไปตรงมา ชัดดี ไม่ต้องแปล  และในความฝันของผม ความงดงามของทัศนมาตร ต้องหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ ส่วนใครยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนก็ไม่ว่ากัน  และเอาเข้าจริง ท่อนที่ผมกลัวที่จะนำเสนอที่สุดก็คือช่วงแรกนี่แหล่ะ  

       เพราะการเอาเรื่องจริง ยกขึ้นมาพูด เป็นเรื่องที่ลำบากใจอยู่พอสมควร  บางครั้งผมก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมธุรกิจอื่น เช่น Benz กับ BMW เวลาเขาเอามา ชนกัน เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่าย เราสามารถรีวิวได้เลยโดยไม่ต้องกลัว

       แต่สำหรับเรื่องนี้กลับกลายเป็นเรื่องเปราะบาง และไม่กล้าที่จะพูด แต่เรากลับกล้าที่จะทำ price war กัน อันนี้ผมไม่เข้าใจ  เดินไปต่อ เนื้อหากำลังข้น 

จุดเริ่มต้นของทัศนมาตรในประเทศไทย

       ย้อนไปที่ ร้านแว่นตาเป็นกิจการที่มีการสืบทอดแบบรุ่นสู่รุ่นและก็มีกลุ่มช่างแว่นตาหรือลูกหลานร้านแว่นตาในสมัยนั้น ก็เริ่มพบว่า ปัญหาการมองเห็นบางอย่างนั้น ไม่ได้มีแค่ สายตาสั้น ยาว เอียง อย่างที่ทำๆกันมา แต่มีอีกหลายปัญหาที่มีความซับซ้อนและลึกซึ้งเกินกว่าที่จะหาความผิดปกติได้จากการวัดแว่นทั่วๆไป

       ประกอบกับในยุคนั้น ความรู้ไม่หาได้ง่ายๆ บน smart phone เหมือนในยุคปัจจุบัน

       ดังนั้น ในยุคแรกๆ ร้านแว่นตาร้านใหญ่ๆที่มีกำลังเงินพอ ก็เริ่มมีการส่งบุตรหลาน เข้าไปเรียนหลักสูตรที่เฉพาะทางเกี่ยวกับการตรวจวัดสายตา เพื่อเอาความรู้มาทำงานที่ร้าน

       ซึ่งในขณะนั้น ราชบัณฑิต ยังไม่ระบุคำว่า ทัศนมาตร ขึ้นในประเทศไทย  และการเรียนการสอนทางด้านทัศนมาตร นั้นก็ไม่มีในประเทศไทย คนในยุคนั้นจึงต้องไปเรียนที่ต่างประเทศ และประเทศที่มีการเรียนการสอนทางด้านทัศนมาตร ที่เข้มข้นที่สุดในโลกก็อยู่ที่อเมริกา เนื่องจากอเมริกานั้นเป็นประเทศที่มี Optometry เกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก ซึ่งปัจจุบันนั้นมีอายุยาวนานกว่า 150 ปี มีศาสตร์ ศิลป์ ตำรา วิทยาการ ที่สั่งสมเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปี ผ่านร้อนผ่านหนาว จนมาเป็นปริญญาวิชาชีพสูงสุดของตัวเองคือสาขา Doctor of Optometry หรือ O.D.

       ซึ่ง Optometry นั้นเขามองว่า ศาสตร์และศิลป์ที่เขามีนั้น มีความเป็นปัจเจก มีอัตลักษณ์ มีความเฉพาะที่ไม่เหมือนหรือทับซ้อนกับแพทย์ทั่วไป (Medicine Doctor,M.D.) และเขาต้องการอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การทำงานของ M.D. และต้องการมีกฏหมายเฉพาะของตัวเอง มีการประกอบโรคศิลปะของตัวเอง

       ดังนั้นอเมริการจึงเป็นแหล่งความรู้ที่ดีที่สุดในการไปขุดเอาความรู้มาช่วยกิจการร้านแว่นตาของพ่อแม่ ในยุคนั้น  ตัวอย่างคนรุ่นนั้น ที่ไปศึกษาที่อเมริกา เช่น ดร.ดนัย ตันเกิดมงคล ซึ่งปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่ง คณะบดี คณะทัศนมาตรศาสตร์ ม.รามคำแหง และก็มีอีกหลายท่านที่ผมไม่ได้เอ่ยชื่อ 

Professor  GERALD E. LOWTHER ; Dean ของ Optometry Faculty แห่ง Indiana University ,USA บินมาสอน Optometry ที่ประเทศไทยด้วยตัวเอง 
 

       ซึ่งคนรุ่นนั้น เมื่อจบ Optometry จากต่างประเทศแล้ว ก็จะกลับมาทำงานที่ร้านแว่นตาที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น มาทำงานในรูปแบบที่เป็นคลินิกมากขึ้น

       แต่อย่างไรก็ตามในยุคนั้น  คำว่าทัศนมาตร นั้นยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นการรับรองในทางกฏหมายก็ยังไม่มี  ก็เริ่มมีการรวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อให้กฏหมายรองรับ เกิดเป็นพรบ.การประกอบโรคศิลปะ โดยอาศัยทัศนมาตร ซึ่งใบอนุญาตที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันยังใช้มาตรานี้อยู่ 

       หลังจากนั้น เมื่อเริ่มมีนักทัศนมาตรในบ้านเรา คนแรกที่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีคณะนี้ในประเทศไทยก็คือ ดร.รังสรรค์ แสงสุข ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็น อธิการบดี ม.รามคำแหง (ปัจจุบันท่านเสียไปแล้วด้วยโรคมะเร็งเมื่อไม่กี่วันมานี้) ซึ่งท่านก็เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีนักทัศนมาตรในประเทศเกิดขึ้น ก็ไปขอความร่วมมือทางวิชาการทางทัศนมาตร กับ School of Optometry ,Indiana University ,United State of America (เอาให้สุด)  โดยลงนามสัญญาความร่วมมือทางวิชาการ ตั้งแต่การร่างหลักสูตร (งาน mirror) ไปจนถึงส่ง professor มาสอนที่รามคำแหง เกิดเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่จัดตั้งสาขาทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิต (ทศ.บ.) หรือ Doctor of Optometry Program ,O.D. ปัจจุบันมี ดร.ดนัย ตันเกิดมงคล เป็นคณะบดีทัศนมาตรศาสตร์ ม.รามคำแหง 

Professor  GERALD E. LOWTHER  สอนเรื่องการฟิตติ้ง คอนแทคเลนส์ ทั้ง RGP ,Ortho-K ,Soft contact lens 
 

       ดังนั้นการเรียนการสอน Optometry ของรามคำแหงในยุคนั้นจึงเป็นการเรียนแบบกึ่ง Inter  คือในวิชาชีพเฉพาะทางนั้น จะเป็นอาจารย์จาก Indiana U. ทั้งหมด ส่วนวิชาอื่นๆ เช่นวิชาเกี่ยวกับยา เกี่ยวกับพยาธิ ต่างๆ ก็ได้รับความร่วมมือจาก คณะแพทย์ศาสตร์หลายแห่งเช่น ศิริราช รามา พระมงกุฏ จุฬา มศว. ม.ธรรมศาสตร์ ในการจัดคณะครูอาจารย์มาช่วยสอน ดังนั้นเนื้อหาจะหนักหน่วงมาก  และค่าเทอมแพงมากจริงๆ  ปัจจุบันหลักสูตรทัศนมาตรเปิดสอนอยู่ 3 แห่งคือ ม.รามคำแหง ม.รังสิต และ ม.นเรศวร  ซึ่งเป็นหลักสูตร 6 ปีทุกแห่ง 

เก็บตกภาพสมัยเรียน 

Dr. Richard E. Meetz จาก Indiana University มาช่วยสอนเกี่ยวกับ Physical Exam

Prof.Robert McQuaid, อาจารย์จากอเมริกา มาดูแลเรื่องการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่อง binbocular function
 

ออกทำงานภาพสนาม บริการชุมชน ออกตรวจวัดสายตาให้กับเด็กตามโรงเรียนต่างๆ 
 

เรื่องตลกเกี่ยวกับ “ทัศนมาตร”

       คำว่าทัศนมาตรนั้น เป็นการตีความของคำว่า Opto+metry ; opto หรือ optic แปลว่าเกี่ยวกับเลนส์ เกี่ยวกับการหักเหแสง ส่วน metry แปลว่าการวัด

       ดังนั้น ราชบัณฑิต ก็เลยแปลมันตรงเลยว่า “ทัศนมาตร” ฟังแรกๆก็แปลกๆ  จำไม่ได้ค่อยๆ ฟังยาก ไม่ค่อยเข้าใจความหมาย เพราะเป็นคนประเภทว่า บาลี+สันสกฤษ ไรทำนองนั้น  แต่เรียกบ่อยๆ เดี๋ยวก็ชิน  และก็เกิดเรื่องตลกขึ้นมาหลายเรื่องในชีวิตทัศนมาตรของผม

       มีครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นผมเรียน ทัศนมาตรศาสตร์อยู่ชั้นปีที่ 2 ซึ่งคณะที่ผมเรียนมันจะแต่งกายไม่เหมือนชาวเด็กรามทั่วไปสักเท่าไหร่ คือเด็กที่เรียนคณะนี้ดูจะมี uniform หน่อย เพราะเมื่อก่อนเด็กเขาจะใส่ชุด private มาเรียน ดังนั้น เวลาไปไหนในรั้วราม ก็จะถูกมองแปลกๆว่า พวก you เป็นใครมาเรียนที่นี่    ครั้งหนึ่งผมไปกินข้าวอยู่โรงอาหารตึกวิทย์  เด็กมันมองอยู่พักหนึ่ง มันคงทนไม่ไหว มันก็เลยเดินมาถามว่า

“นายๆ นายเรียนคณะไรอะ” 

“อ่อ ทัศนมาตร ครับ!” 

“ฮะ! อะไรนะ ขออีกที” 

“ทัศนมาตร ครับ!”

“มันเกี่ยวกับอะไรเหรอ  มันเกี่ยวกับทัศนศึกษาหรือเปล่า” 

“เปล่าครับ มันเกี่ยวกับสายตา ดวงตา ไรทำนองนี้ครับ” 

“เป็นหมอตาหรือเปล่า” 

“อ่อ ไม่เหมือนครับ แต่มันเกี่ยวกับตานี่แหล่ะ” 

พยาธิวิทยา (pathology) ที่คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.พระมงกฎ
 

       เราสนทนากันอยู่พักหนึ่ง แล้วเขาก็จากไปด้วยความงงยังติดอยู่บนหว่างคิ้วอยู่ ซึ่งผมก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง เพราะผมเองก็ยังพึ่งจะอยู่ปีที่ 2 เรียนคณะอะไร  เรียนไปทำอะไร  หรือ เราเป็นใคร ผมก็ไม่รู้  เพราะเอาเข้าจริง ในสมัยนั้น “ทัศนมาตรศาสตร์” ยังไม่มีในระบบการอุดมศึกษา รุ่นพี่ที่จบไปก็ยังไม่มี 

       แรกเริ่มเข้ามาเรียน มีเพื่อนอยู่ 25 คน เรียนผ่านไป 1 ปี เหลือเพื่อนอยู่ 7 คน กับค่าเทอมเฉียดแสน ไม่งงก็ไม่รู้จะให้ทำยังไง คือเพื่อนที่อยู่ส่วนใหญ่ที่บ้านมีกิจการร้านแว่นตาก็ส่งลูกมาเรียนก็พอเข้าใจได้ แต่ผมนี่ไม่เกี่ยวอะไรกับเขาเลย มาด้วยความมึนล้วนๆ ดังนั้นการเดินทางนั้น เดินด้วยความเชื่อล้วน ๆ

ไหนๆ ก็ตลกแล้ว ขอตลกต่อ 

       ครั้งหนึ่ง มีงานราตรีที่โรงเรียนเก่า ผมเป็นเด็กวัดของวัดหนึ่งแต่ไปเรียนโรงเรียนวัดของอีกวัดหนึ่ง งงไหมครับ คือผมเป็นเด็กวัดเต็มรักสามัคคีแต่ไปเรียนโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ทำนองนั้นครับ  ตอนนั้นเรียนทัศนมาตรอยู่รามคำแหง ปีไหนจำไม่ได้  มีงานราตรีคืนสู่เย้าของศิษย์เก่า  ซึ่งผมก็ไม่พลาด เพราะอยากเจอเพื่อนๆที่เรียน ม.ปลายมาด้วยกัน 

       ตามธรรมเนียมครับ เพื่อนก็ต้องถามว่า แต่ละคนได้ที่เรียนที่ไหน เรียนอะไร ซึ่งเป็นโต๊ะกลมวงใหญ่ เพื่อนๆนั่งอยู่รอบๆ แล้วการถามก็เริ่มขึ้น ระหว่างที่ผมนั่งฟังเพื่อนๆอยู่ ผมก็คิดคำตอบในใจตัวเองว่า “กูจะตอบอะไร ให้พวกมันไม่งงดีวะ” เพราะผมมีประสบการณ์กับเด็กรามมาแล้วหนหนึ่ง แล้ววันนี้ผมจะบอกเพื่อนว่ายังไง 

และแล้วคำถามก็มาถึงผม 

“พี่เหี้ยม!” เพื่อนจะเรียกเป็นฉายาของผม 

“พี่เหี่้ยม! เรียนไหน” 

“พี่เรียนราม” 

“เฮ้ย! พี่ จริงดิ! ไรวะ! พี่ก็เรียนดีนี่หว่า ทำไมเรียนรามวะ”  

คิดในใจ “สึด! เรียนดีแล้วเรียนรามไม่ได้หรือไงวะ” แต่ไม่ได้พูดออกมา ก็ตอบเพื่อนไปว่า 

“เออ..ช่างมันเหอะ พูดไปก็งงอยู่ดี อย่ารู้เลย แดกเหล้าดีกว่า” 

เพื่อน ก็ทำท่างงๆ แต่ก็อารมณ์ว่า ช่างมัน บางคนก็คิดว่าผมมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ถึงไม่เรียน ม.ปิดเหมือนกับคนอื่นเขา  

Caption
 

       คือเรื่องนี้นะ ผมก็ไม่รู้ว่า ใครเป็นคนกำหนดว่า จบ ม.ปลายแล้วต้องเรียน มหาลัยปิด แล้วก็ anti มหาลัยเปิด อาจด้วยสายตาของครูที่ดูผิดหวังเวลาเจอลูกศิษย์บอกว่าเรียนราม แล้วมองหัวจรดเท้าว่า “เรียนรามแล้วจะจบได้เหรอ” อะไรทำนองนั้น 

       คือรามแล้วมันทำไมหรือครัช สารรูปอย่างผมนี่มันไม่มีความรับผิดชอบขนาดเรียนรามไม่จบเลยหรือ  ทำไม! เรียนรามแล้วเป็นนายกไม่ได้หรือไง และปัญหาค่านิยมเช่นนี้มันทำให้เด็ก(รวมถึงผมในเวลานั้น) ไม่ยอมเข้าไปดูว่าในรั้วรามคำแหงมีวิชาอะไรเจ๋งๆ อย่างทัศนมาตรด้วย        

       ผมฟลุ๊คที่บังเอิญเจอและผ่าทะลวงค่านิยมมหาลัยปิดออกมาได้

             และตอนนี้รึ ฮึ!

       ถ้าพูดถึงทัศนมาตร ทุกคนจะมุ่งไปที่รามทั้งหมด อาจด้วยเพราะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีทัศนมาตรและเป็นมหาวิทยาลัยที่ยังทำสัญญาความร่วมมือกับ Indiana U. อยู่ ได้เรียนกับเจ้าของวิชาชีพโดยตรงด้วยมั้ง 

       แต่สิ่งที่แน่นอนว่า รามเป็นคณะในมหาลัยปิดที่ค่าเทอมแพงที่สุดในประเทศ (เทอมที่แพงที่สุดจำได้ว่า 95,000.00 บาท)  และผมเป็นเด็กวัดที่โชคดีที่สุดในจักรวาฬ ที่หลวงพ่อยอมจ่ายค่าเทอมขนาดนี้ให้ผมได้เรียนทัศนมาตร 

เป็นวันแห่งความภาคภูมิใจวันหนึ่ง ที่ได้รับใบอนุญาติประกอบโรคศิลปะทัศนมาตรศาสตร์ รุ่นผมสอบได้กันเท่านี้ เรียนก็ยาก สอบบอร์ดก็ยาก 
 

ตลกไปเรื่อยๆ แล้วกัน เดี๋ยวค่อยสาระทีเดียว 

       มีอีกเรื่องหนึ่งตอนผมขอเรียนทัศนมาตรกับหลวงพ่อของผม  

       ผมเป็นเด็กที่มุ่งมั่นในการเรียนคนหนึ่ง การขึ้นรับรางวัลเรียนยอดเยี่ยมหน้าเสาธงนั้นเป็นเรื่องปกติ เกรด 4.00 ของผมนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอะไร (ขอโม้หน่อยเถอะ) คือจริงๆก็เป็นคนที่ตั้งใจเรียน ดูภายนอกก็กุ้ยๆ เถื่อนๆ เพื่อให้มีเพื่อนเยอะๆ เอาไว้คุ้มกันเราได้เวลามีเรื่องชกต่อยตามประสาเด็ก        

       แต่พอกลับบ้านก็อ่านหนังสือตลอด จะเรียกว่าเสือซุ่มก็ไม่ผิดอะไร  เพราะผมมีหน้าที่ในการทำเกรดไปส่งหลวงพ่อ มั้งและถ้ามี 3 ขึ้นมาตัวเดียว สำหรับผมมันคือเรื่องใหญ่ เพราะต้องมาอธิบายว่ามีปัญหาอะไรกับวิชานี้ ก็นะบางทีมันก็ไม่ได้ส่งงานบ้างไรบ้าง ส่วน ม.ปลาย นั้นเกรดร่วงอยู่บ้าง เพราะชีวิตเริ่มมันส์ 

       เมื่อตอน ม.ปลาย ผมอยากเป็นหมอ  เหตุผลหรือ ฮึๆ เป็นหมอแล้วหล่อ แหม่มันนะ มันเท่หน่ะ ทำนองนั้น

       มีครั้งหนึ่งตอนนั้นเรียนอยู่ ม.5 ก็ไปทดลองฝึกงานอยู่ในโรงพยาบาลในช่วงปิดเทอม ซึ่งเป็นข้อบังคับว่า ใครอยากเป็นหมอ ต้องไปฝึกงานในโรงพยาบาลที่โรงเรียนแพทย์กำหนด  และผมเลือกไปที่ “สถาบันทรวงอก”

       ตอนที่ยื่นแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่บอกผมว่า “ดีเลย ที่นี่ไมเคยมีเด็กมีฝึกเลย เดี๋ยวให้ไปเจอของจริง”

       จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ยกหูติดต่อคุณหมอที่ห้องฉุกเฉิน ว่าจะมีน้องมาเรียนรู้งาน หมอบอก “ส่งมาเลย” 

       เจ้าพระคุณเอ๋ย ห้องฉุกเฉิน แผนกหัวใจและทรวงอก คือคนที่ไม่ Emergency จริงๆไม่มีทางได้เข้าห้องนี้  แต่ละเคสนั้นหนักหนาเหลือเกิน มีเครื่องช่วยพะยุงชีวิตเต็มไปหมด ไม่รอดก็มี  ผ่านไปวันเดียว มันยาวนานเหมือนเป็นเดือน ต้องเข้า 8 โมงเป๊ะ เลิก 5 โมงเย็น  ถ้ามาช้าหรือขาด จะถือว่าการฝึกนั้นเป็นโมฆะ จะต้องเริ่มใหม่

       หมอพาไปดูห้องพักที่อยู่ในห้องฉุกเฉิน เป็นห้องเล็กๆ มีโซฟาอันหนึ่ง มีห้องน้ำในตัว มีเสื้อผ้าแขวนอยู่ แกบอกผมว่า

       “นี่แหล่ะห้องนอนพี่เวลาเข้าเวร พี่นอนที่นี่มา 2 คืนแล้ว  แต่วันนี้พี่ออกเวรแล้ว  งานพี่มันเป็นแบบนี้แหล่ะ  ลองถามใจตัวเองดูว่าทำไมถึงอยากเป็นหมอ  แล้วการเป็นหมอไม่ใช่เป็นแค่หนึ่งเดือนหรือหนึ่งปี แต่มันคือ ยี่สิบถึงสามสิบปี หรือตลอดชีวิต  เราโอเคกับชีวิตแบบนี้ไหม  ถ้าอยากเป็นหมอเพราะมีเงินเยอะ พี่ไม่เถียงว่าพี่มีเงินเยอะ แต่พี่ไม่เคยมีเวลาได้ใช้เงิน ไม่มีเวลาของตัวเอง  มีอาชีพอื่นอีกมากที่มีทั้งเงินและได้ใช้เงินและมีเวลา ลองไปคิดทบทวนดูนะ”

       ผมนี่อึ้งไปพักใหญ่และมีความคิดอยู่ในใจว่า มีไหม อาชีพที่ได้ดูแลสุขภาพเหมือนหมอ แต่ไม่ต้องทำงานโหดขนาดนี้ แบบว่ามีคลินิกสวยๆ เหมือนอยู่บ้าน ทำงานสบายๆ คนไข้ไม่เยอะมาก มีเวลาพักผ่อน อ่านหนังสือ ทำงานไปด้วย ถ้ามีก็น่าจะดี 

       แล้วก็จินตนาการหาหมอที่งานเบาที่สุด ตอนนั้น นึกถึง “หมอตา” เพราะว่า คิดในใจว่าคงไม่มีเคสด่วนประเภทดึกๆตี 2 ให้มารักษาตาเท่าไหร่ และส่วนใหญ่น่าจะเป็นเคสที่รอได้ 

       เมื่อถึง ม.6 ซึ่งต้องเลือกคณะแล้ว  ด้วยความที่ไม่เจียมในความพร้อมของตัวเอง และไม่ได้เลือกคณะอื่นไว้ในใจ ก็เลยเลือก แพทย์ทั้ง 3 อันดับ และเลือก วิทย์เคมี ของ ม.เกษตร  เอาไว้กันคนถามว่าเรียนที่ไหน

       เป็นไปตามคาด ติิดคณะที่เลือกเอาไว้กันคนถามจริงๆ ในใจเริ่มเซ็งเพราะไม่อยากเรียน  ก็เลยไปลอง search หาตามกระทู้ DekD.com ว่าแพทย์เขาคะแนนเท่าไหร่กัน 

       อ่านๆ ใจก็แป้วไป ยังห่างเยอะเหลือเกิน ซึ่งไม่อยากโทษใคร เพราะชีวิตมันมันส์ไปหน่อย แต่ระหว่างที่หมดอาลัยตายอยากอยู่นั้น ก็เริ่มมี แสงเปลวเทียน จากรามคำแหง แว๊บๆเข้ามา 

       “สอบแพทย์ไม่ติด ไม่ต้องเสียใจ สนใจเรียนเฉพาะทางสายตา บลาๆๆๆๆๆๆ ติดต่อได้ที่....”

       คือแบบว่า เขียนได้ชวนฝันมากๆ ถ้าอารมณ์สมัยนี้ ก็มาแนวขายตรงเลย รวยเกิ้น...(ฮา)

       ป้าดดด...ใจเต้นเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ เอาวะ! “ทัศนมาตร นี่แหล่ะ” เป็นหมอสายตาด้วย อะไรไม่รู้แหละ ดูๆแล้วใกล้เคียงได้หมด 

       เดินอย่างผ่าเผย ไปหาหลวงพ่อ 

       “หลวงพ่อครับ ผมจะเรียนทัศนมาตร”

       “คณะอะไรของเอ็ง” หลวงพ่อถาม (จริงๆหลวงพ่อถามผมว่า “คณะอะไรของมึง”)

       “มันคือ Doctor of Optometry ครับ เรียน 6 ปีเหมือนหมอเลย แล้วนี่ครับโบรชัวร์หลักสูตร” กางด้วยความภาคภูมิใจ มีแต่ภาษาอังกฤษ ผมก็ไม่รู้ว่ามันคือวิชาอะไรบ้าง แต่ดูรวมๆแล้วเท่ดี 

       “Doctor เหรอ เรียนแล้วได้ Ph.D. เลยเหร่อ เอ็งโดนหลอกแล้ว ไปหาข้อมูลมาใหม่ หรือเรียนอันที่สอบติดไปก่อน ปีหน้าค่อยสอบใหม่ ถ้าสอบไม่ติดก็เรียนอันนี้ยาวไป จะได้ไม่เสียเวลา”

       เข้าไปเรียนแล้วถึงรู้ว่า มันคือ Doctor of Science เช่นหมอก็เป็น Doctor of Medicine ,M.D. , ผมก็เรียน Doctor of Optometry ,O.D. ,ซึ่งเป็นวิชาชีพสูงสุด  แต่ไม่ใช่ด๊อกเตอร์แบบทำ ป.เอกแบบ Doctor of Phylosophy ,Ph.D. อย่างที่เข้าใจ  คือฝรั่งเขาเรียกหมอว่าด๊อกเตอร์ เรียก Ph.D. ว่าด๊อกเตอร์เหมือนกัน แต่บ้านเราเรียกหมอว่า นพ. พญ. แต่เรียก Ph.D. ว่าด๊อกเตอร์  ทำนองนั้น  

กลับมาที่เรื่องตลก 

       ด้วยความดื้อของตัวเอง ผมก็ไปที่คณะไปเอาข้อมูลเพ่ิมเติม คือเมื่อก่อนเป็นแค่สาขาและยังไม่มีคนจบ เพราะพึ่งเริ่มมีสาขานี้เพียง 4 ปี ไปเก็บข้อมูลมาแล้ว ก็น่าสนใจ ก็รั้นจะเรียนทัศนมาตร หลวงพ่อก็เลยยอม เลยได้เรียนทัศนมาตร สมความตั้งใจ

       แต่อุปสรรคก็เยอะ เพราะคณะก็ใหม่ อะไรก็ใหม่ไปใหม่ คนก็ไม่รู้จักคณะเรา  ชีวิตเดินตามแสงของเปลวเทียนอย่างเดียว  ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว มีชื่อคณะชัดเจน มีหลายมหาวิทยาลัยให้เลือกเรียน กฏหมายชัดเจนขึ้น คนเริ่มรู้จัก ไม่ได้ยากเหมือนรุ่นบุกเบิก 

ปีที่รับปริญญาพร้อมๆกัน
 

       ซึ่งถ้าถามความรู้สึกตอนนี้นะ บอกตรงๆว่า รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่สอบไม่ติดแพทย์ และโชคดีมากที่เจอลิ้งของทัศนมาตร ในเว็บ DekD  และโชคดีในความดื้อรั้นที่จะเรียนของตัวเอง

       แม้เพื่อนร่วมห้องจะหนีไปแล้วมากกว่า 2 ใน 3 ก็ยังตะแบงจนจบ  ได้งานทำในตำแหน่งวิชาการของโรเด้นสต๊อก (lens consultant) ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

       ทำอยู่ 3 ปี ก็อยากทำงานแนวคลินิกที่ถนัดดู และก็เริ่มกลางปี 2014  ใช้เวลาเพียง 3 ปี ในการที่มีที่ทำงานในฝัน งานด้านสุขภาพสายตาที่ช่วยให้คนได้เห็นโลกที่สวยงามแท้จริง  สบายตา มีความสุข มีแว่นสวยๆใส่  คนไข้แต่ละคนล้วนแต่เดินมาได้เองทั้งสิ้น ห้องทำงานก็เหมือนบ้าน ทำงานไปยังนึกว่าตัวเองอยู่ในบ้าน มีเครื่องมือในฝันของคนทำงานทัศนมาตรครบทั้งหมด ด้วยทุนเริ่่มต้นไม่กี่แสนบาท จนมูลค่าของและเครื่องมือในร้านน่าจะใกล้ๆสิบล้านแล้วหล่ะ  และของที่ว่าดีที่สุดผมมีหมดแล้ว ถ้ามากกว่านี้คงจะเป็นโรงพยาบาลแล้วหล่ะ

 

แต่สิ่งที่              

       ยังพร่องอยู่และต้องเติมอยู่เสมอคือความรู้ที่ยังต้องอ่านและศึกษาอยู่ตลอดเวลา การที่ผมวาง positioning แบบนี้ทำให้ traffic และคนไข้ทุกคนต้องนัดวลาก่อนเข้ามา ทำให้คนไข้นั้นไม่เยอะมากจนเกินจนควบคุมคุณภาพไม่ได้  และการมีคนไข้ไม่มาก แนะนัดเวลาชัดเจน ทำให้ผมมีเวลาได้พัฒนาตนเอง อ่านหนังสือ ได้หยุดคิด ทบทวน การบริการ ให้ดียิ่งๆขึ้นไป

       ภารกิจต่อไปคือ สร้างความรับรู้ในงานของทัศนมาตรที่ถูกต้องให้กับประชาชน ให้ประชาชนเข้าใจว่าทัศนมาตรจริงๆ เขาทำงานยังไง  ทำสิ่งที่ทัศนมาตรต้องทำ  และไม่ทำในสิ่งที่ทัศนมาตรไม่พึงกระทำหรือไม่งามหรือทำให้วิชาชีพเสื่อมเสีย และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับน้องๆทัศนมาตรรุ่นหลังต่อไป  และรอดูต้นทัศนมาตรเติบโต ผลิดอกออกผล ไม่แคระไม่แกร็น  และต่อสู้กับความไม่ถูกต้องที่มาทำให้วิชาชีพมัวหมอง

       แม้มันยากก็จะทำ และวันหนึ่ง ทัศนมาตร จะเป็น standard ด้านสาธารณสุขด้านสายตา กล้ามเนื้อตา และระบบการมองเห็นและจะเปลี่ยนจาก product,price, place, promotion ซึ่งเป็นการตลาดโบราณแบบ 1.0 มาสู่ การทำงานที่สร้างคุณค่าจากการบริการหรือ  service value และที่สำคัญ

“เดินสายหล่อ และมีกินแบบพอเพียง” 

 

       เอะ! พูดเรื่องอะไร ทำไมไหลมาถึงเรื่องนี้ได้  ดูท่าจะยาว เพราะนี่ยังไม่ได้เข้าเรื่องเลย ไว้ต่อตอนสองก็แล้วกันนะครับ  เป็นคนแบบนี้ พอได้พูดแล้วพูดเป็นต่อยหอย หาที่ลงไม่ได้  ก็ลงมันดื้อๆอย่างนี้แหล่ะ งั้นสวัสดีกันตรงนี้

       เจอกันใหม่ ตอนที่ 2 ไปเรื่อยๆ เพราะว่าผมมีความคิดอะไรแปลกๆ อยู่ในหัวเยอะมาก และก็รู้สึกว่าอยากจะเริ่มแชร์  และอยากให้ทุกคนที่อยู่ในวิชาชีพลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ควรทำ ทัศนมาตรทำหน้าที่ให้เต็มที่ อาชีพเราคืออาชีพบริการในการขจัดปัดเป่าปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นให้กลับมาสมบูรณ์แบบอีกครั้ง  หวังว่าทุกท่านจะเห็นดีเห็นงามด้วย เพื่อให้วิชาชีพนั้นงดงามต่อไป 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม

-สวัสดีครับ-

ดร.ลอฟท์