Loft Optometry Lecture II : Red Green Test ตรวจอย่างไรให้ถูกต้อง


Loft optometry’s lecture II


ตอนที่ 2 Red-Green test บอกอะไรเรา   

เรื่องโดย  ดร.สมยศ เพ็งทวี O.D. (Dr.Loft)

Introduction 

สวัสดีครับ มาถึง lecture 2 วันนี้ เราจะไปรู้จักเทสง่ายๆ ที่นิยมใช้ในการวัดสายตาอีกเทสหนึ่ง ก็คือ Duochrome test  ซึ่งบางทีก็เรียกว่า RED/Green test  หรือที่เราเรียกง่ายๆกันว่า เทสเขียว/แดง นั่นแหล่ะ  ว่าหลักการเป็นอย่างไร เราเอาไว้ทดสอบอะไร ประโยชน์และข้อควรระวังในการใช้ของเทสนี้คืออะไร  ซึ่งเทสนี้นั้น มักจะไม่นำมาเป็น final prescription เพราะมีแนวโน้มจะเกิดความผิดพลาดด้วยหลายปัจจัย เช่นเพราะบางคนเป็นตาบอดสี บางคนไม่ชอบสีเขียว บางคนชอบสีแดง บางคนแม้ไม่ได้มีอคติกับสีเขียวหรือแดง แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่จะโดนแดงดึงดูดให้เลือก มักจะทำให้สายตา over minus มาเป็นประจำ ซึ่งในโรงเรียนทัศนมาตรที่ผมเรียนมานั้น Red/Green test ถือว่าเป็นเทสต้องห้ามในการทำเคสส่งครู แต่ในตอนนั้น ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมไม่ให้ใช้ แต่พอทำงานจริง ก็เริ่มเข้าใจว่า มันมีข้อที่ต้องระมัดระวังอยู่เยอะ ซึ่งวันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับเทสตัวนี้กัน 

หลักการของเรื่องนี้เป็นอย่างไร 

Red / Green test นั้นใช้หลักการเรื่อง chromatic aberration เข้ามาสร้างเทสสำหรับตรวจเพื่อหา best sphere โดยใช้หลักว่า โฟกัสของความยาวคลื่นของแสงสีเขียวกับสีแดงนั้น ห่างกัน 0.50D พอดี และระหว่างสองคลื่นนี้ ก็จะมีโฟกัสของคลื่นสีเหลืองซึ่งอยู่ตรงกลางพอดี  นั่นหมายความว่า ถ้าเราทำให้คนไข้มองตัวเลขหรือรูปที่อยู่บนพื้นเขียวกับพื้นแดงชัดเท่ากัน(หรือมัวเท่ากัน) ได้ นั่นหมายความว่า โฟกัสของเขียวและแดงนั้นห่างจากจุดรับภาพเท่าๆกัน เมื่อเราเอาฟิลเตอร์เขียวแดงออก ตาก็จะดูภาพปกติซึ่งเป็นคลื่นของแสงเหลืองซึ่งเป็นสีที่เซลล์ประสาทตาเราไวต่อการรับรู้มากที่สุด คนไข้ก็จะมองไกลชัดพอดี 

เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ผมได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ chromatic aberration ไว้โดยละเอียดใน Loft Optometry Lecture III ตอน chromatic aberration ซึ่งตามลิ้งค์เข้าไปอ่านได้ตามลิ้งที่แนบมาให้...

การถือกำเนิด Duochrome test 

ในอดีตนั้นมีการสันนิษฐานกันว่า ในช่วงความยาวของคลื่นแสงที่ตามองเห็นนั้น แสงที่โฟกัสบนจุดรับภาพน่าจะเป็นแสงสีที่อยู่ตรงกลางของความยาวคลื่นทั้งหมด  

จนกระทั่งในปี 1988 Rabbetts ได้คำนวณออกมาพบว่า คลื่นแสงช่วง 570 นาโนเมตร ซึ่งเป็นคลื่นแสงย่านสีเหลือง เป็นช่วงคลื่นที่ตกบนจุดรับภาพ และถ้าเราเอาจุดนี้เป็นหลัก เราจะคำนวณได้ต่อว่า แสงสีเขียวซึ่่งมีความยาวคลื่น 535 นาโนเมตร จะตกก่อนจุดรับภาพ 0.25D และแสงสีแดงซึ่งมีความยาวคลื่น 620 นาโนนาเมตร ซึ่งตกหลังจอรับภาพ 0.25D  ดังนั้นถ้าเราเอาฟิลเตอร์ที่เหมาะมาประยุกต์ใช้ โดยใช้ภาพคมชัด ใส่บนพื้นหลังสีเขียว และ สีแดง เราก็จะสามารถออกแบบชาร์ตเพื่อช่วยในการหาตำแหน่งโฟกัสของแสงสีเลืองให้ตกลงบนจุดรับภาพได้ เกิดเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตรวจสายตาแบบ subjective Refraction คือ Red /  Green test หรือ Duochrome test 

แต่สีเขียว / แดง นั้นก็มีหลายเฉด ดังนั้นการเลือกสีฟิลเตอร์มาใช้นั้นจะต้องเป็นสีที่ถูกกำหนดมาอย่างจำเพาะเจาะจง ซึ่งฟิลเตอร์มาตรฐานของ Duochrome นั้นรหัส BS 3668:1963 

Duochrome test คืออะไร 

Duochrome tes หรือ RED/GREEN test นั้นเป็นการตรวจแบบ subjective เพื่อหาตำแหน่งของ best sphere  ถ้าคนไข้มองชาร์ตเขียว/แดงแล้วเห็นตัวหนังสือบนพื้นเขียวกับพื้นแดงชัดเท่ากัน แสดงว่าที่ตำแหน่งนั้นเป็นตำแหน่งของ Best Sphere ซึ่งเราจะพูดถึง best sphere ในช่วงท้ายๆ 

หลักการในการทำ Duochrome Test 

สิ่งที่เราหวังได้จาก Duochrome test คือ Best sphere ดังนั้นขั้นตอนไหนที่ต้องการ best sphere ซึ่งมีขั้นตอนที่จำเป็นที่ต้องหา best sphere ให้เจอก็คือ ก่อนทำ Jackson cross cylinder เพื่อหา power cylinder และ Axis Cylinder 

Best Sphere คืออะไร 

Best Sphere ถ้าพูดกันให้ตรงๆก็คือ ตำแหน่งของจุดโฟกัสที่โฟกัสบนจุดรับภาพพอดี  เช่น ถ้าคนไข้มีแค่สายตาสั้น/ยาว อย่างเดียว ไม่มีสายตาเอียง ตำแหน่ง best sphere ก็คือ spherical lens ที่ทำให้โฟกัสตกบนจุดรับภาพพอดี  แต่ถ้าคนไข้มีสายตาเอียง ตำแหน่งของ best sphere จะกลายเป็นตำแหน่งของ circle of lesat confusion ซึ่งคำนวณได้จากค่า Sphericla Equivalent   ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านเรื่องนี้โดยละเอียดได้ที่ลิ้ง http://loftoptometry.com/Eyecare/viewcase/สายตาเอียงและแนวทางการแก้ไข

Point ของ Red / Green ก็อยู่ตรงนี้แหล่ะ คือ Red / Green มันบอกตำแหน่ง Best Sphere แต่ไม่ได้หมายความว่าตำแหน่งนั้นจะเป็นตำแหน่งของ BVA (best visual acuity) ที่เราจะเอาไปจ่ายเลนส์  เนื่องจากว่า best sphere นั้นอาจจะมีสายตาเอียงซ่อนอยู่ข้างในก็ได้ เพราะ best sphere จะกลายเป็นตำแหน่งของ circle of least confusion ซึ่งไม่ใช่ทั้งจุดของ sphere power หรือ cylinder power  นั่นหมายความว่า คนไข้ที่มองเห็นตัวหนังสือบนพื้นเขียว / แดง ชัดเท่ากัน ไม่ได้หมายความว่า สายตาขณะนั้นจะเป็นสายตาที่ถูกต้องเสมอไป  ตัวอย่างเช่น คนไข้สายตา +1.50 - 2.00 x 90 ไม่ใส่แว่นมองไกลชัด อ่านหนังสือเห็น แล้วมองชาร์ตเขียวแดงว่าชัดเท่ากัน โดยไม่ต้องใส่แว่นเนื่องจาก SE = 1.50+0.5(-2.00)=1.50+(-1.00) = +0.50D ซึ่งเลนส์ตาสามารถ Accommodate ให้สามารถมองไกลได้ชัดอยู่แล้ว ส่วนเวลาดูใกล้ก็จะได้ประโยชน์จาก cyl -2.00DC ที่องศา 90 ช่วยให้สามารถดูใกล้ได้ แม้ไม่ชัดมีเงาซ้อนอยู่บ้าง แต่ก็เพ่งๆอยู่ได้ ทำให้เราอาจจะวินิจฉัยผิดพลาดว่าคนไข้ไม่มีความผิดปกติของค่าสายตา 

ดังนั้นประโยชน์ของ Best Sphere คือนำไปหา Cylinder ด้วยวิธี Jackson cross cylinder เพื่อ fine out หาค่าสายตาเอียงต่อไป  ไม่ใช่นำมาเป็น final prescription ว่าคนไข้เห็นเขียวแดงชัดเท่ากันแล้วจะจ่ายค่านี้เป็นค่าสายตาเสมอไป 

ขั้นตอนในการทำ Duochrome test 

จุดประสงค์ในการตรวจ

ตรวจเพื่อหา best sphere หรือตำแหน่ง sphere power ที่เหมาะสมที่สุดที่ช่วยให้ VA ดีที่สุด  เพื่อนำค่าที่ได้ไปสู่กระบวนการตรวจอย่างอื่นต่อไป 

1.เปิดชาร์ต Duochrome (เขียว/แดง) ขึ้นมา หรือเปิด VA chart แล้วใส่ filter เขียวแดงเข้าไป 

2.ตรวจทีละข้าง ให้คนไข้มองด้วยตาขวา ดู VA แถว 20/25 หรือ VA ที่ใหญ่กว่า Best VA ของเขา 1 บรรทัด 

3.ให้คนไข้มองที่ตัวหนังสือฝั่งเขียวก่อน (เพื่อให้ Accommodation คลายตัว) แล้วค่อยไปมองฝั่งแดงแล้วกับไปดูฝั่งเขียวอีกครั้ง  อาจจะบอกคนไข้ว่า ให้ดูฝั่งซ้ายก่อนแล้วค่อยไปดูฝั่งขวาก็ได้ ก็ขึ้นกับว่าชาร์ตที่ใช้อยู่นั้น ฝั่งเขียวอยู่ฝั่งไหน แดงอยู่ฝั่งไหน 

4.ให้คนไข้สังเกตว่าฝั่งไหนที่ดูแล้ว คมชัดกว่า อ่านง่ายกว่า เคลียร์กว่า ไม่ควรถามว่า อันไหนดีกว่า และควรระมัดระวังคนไข้จะสับสนว่าอันไหนมืด/สว่างกว่ากัน  

 5.ถ้าฝั่งแดงชัดกว่า แสดงว่าโฟกัสตกก่อนจุดรับภาพ ให้ “เพิ่มลบ”(ในกรณีสายตาสั้น) และ “ลดบวก” (ในกรณีสายตายาว) เข้าไป ครั้งละ 0.25D จนกระทั่งเห็นชัดเท่ากัน  ถ้าฝั่งเขียวชัดกว่า แสดงว่าโฟกัสตกหลังจุดรับภาพ ให้ดึงโฟกัสเข้ามาด้วยการ “ลดลบ” หรือ “เพ่ิมบวก” ครั้งละ 0.25D จนกว่าจะชัดเท่ากัน 

6.ถ้าไม่สามารถหาจุดที่ balance ได้ ให้เลือกฝั่งเขียวถ้า best sphere ที่ได้มาจะนำไปหาสายตาเอียง ด้วยวิธี jackson cross cyliner ,JCC  เนื่องจากฝั่งเขียวนั้น เลนส์ตาสามารถ accommodate ให้ disc of least confusion ไปโฟกัสบนจุดรับภาพได้  แต่ถ้าจะนำไปหาสายตาเอียงด้วยวิธี clock dial test ก็ให้เลือกฝั่งที่แดงชัดกว่า เนื่องจากในการทำ clock dial test ต้องนำ disc of least confusion ให้ไปตกก่อนจุดรับภาพเล็กน้อย 

ข้อระวังในการใช้ Duochrome test 

เนื่องจาก duo chrome test เป็นการตรวจแบบ subjective test ดังนั้นการ ศิลปะในการถามตอบเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด การเลือกคำถาม การประเมินความเข้าใจของคนไข้ และการอธิบายให้คนไข้เข้าใจคำถาม เป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก ไม่อย่างนั้น ผลจากการตรวจนั้นไม่สามารถนำไปวิเคราะห์อะไรได้เลย 

สีของ filter เขียว / แดง นั้นให้ผลดีที่สุด คือต้องใช้ ฟิลเตอร์สีเขียวที่ให้ความยาวคลื่น 535 นาโนเมตร  ฟิลเตอร์สีแดงความยาวคลื่น 650 นาโนเมตร  โดยใช้หลอดทังสเตนซึ่งให้แสงที่ความยาวคลื่น 570 นาโนเมตร แต่เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ว่าผู้ผลิตเครื่องมือจะใส่ใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น RED / GREEN test จึงไม่ใช่ค่าที่จะนำไปเป็น choice ในการเป็น final prescription แต่ควรจะใช้วิธีอื่นเป็นหลัก และใช้ duochrome เป็นตัวประกอบจะดีกว่า  ส่วนผมนั้นใช้เพื่อหา best sphere ก่อนที่จะทำ JCC  เท่านั้น 

I.Red / Green Test กับระยะที่ใช้ในการตรวจ 

Ivanof (1949) พบว่า ระยะโฟกัสของแต่ละความยาวคลื่นที่ตกบนจอรับภาพจะเปลี่ยนระยะไปเมื่อระยะวัตถุ (target) เปลี่ยน  แม้ว่า Axial Chromatic Aberration จะคงที่ก็ตาม 

Millodot และ Sivak (1973) ได้ยืนยันอีกครั้งว่า ส่ิงที่ Vilanof พบนั้นเป็นเรื่องจริง โดยการศึกษาทั้งด้วยการทดสอบทั้งวิธีหยอดยาและไม่หยอดยา (cycloplegic & non-cycloplegic test) เพื่อตัดตัวแปรเรื่องการ accommodation ของเลนส์ตาออกไป  

เขาพบว่า โฟกัสของคลื่นแสงสีแดง นั้นมีแนวโน้มที่จะโฟกัสบนจุดรับภาพมากกว่าเมื่อ target อยู่ห่างออกไป แต่เมื่อ tartget เลื่อนใกล้เข้ามา แสงความยาวคลื่นสั้นสีน้ำเงิน-เขียว จะโฟกัสบนจุดรับภาพมากกว่าสีแดง  ดังนั้นในห้องตรวจที่ต้องมองไกลออกไปที่ระยะ 6 เมตรนั้น มีความเป็นไปได้ว่าแสงสีแดงจะโฟกัสบนจอรับภาพมากกว่าแม้ว่าจะเป็นสายตาที่ corrected ถูกต้องดีแล้ว คนไข้ก็จะยังคงบอกว่าแดงชัด และเมื่อเราทำจน balance เท่ากัน ก็มีแนวโน้มที่ค่าสายตาที่ได้นั้นจะ over minus หรือ under plus ได้ 

II.Red / Green ควรสว่างเท่าๆกัน 

ในการทำ Duochrome นั้น ชาร์ตที่ให้คนไข้มองนั้นควรเป็นรูปหรือตัวหนังมือง่ายๆ เช่น วงกลมดำๆ จุดง่ายๆ หรือตัวหนังสือ โดยข้างหนึ่งอยู่ฉายบนพื้นเขียว อีกรูปฉายบนพื้นแดง และต้องใช้ฟิลเตอร์ที่ให้ความสว่างใกล้เคียงกัน เมื่อให้คนไข้ไม่ไปโฟกัสอยู่ที่ความสว่างมากน้อยกว่ากัน แต่ให้ไปโฟกัสที่ความคมชัดของตัวหนังสือ และในขณะที่ถามต้องระมัดระวังคำถามที่จะถาม และฟังคำตอบที่คนไข้ต้องการสื่อสาร ให้เข้าใจตรงกัน ผลที่ได้ในการทำ Duochrome จึงจะดูมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด 

III.ความสะอาด

ฟิลเตอร์สกปรก ขึ้นเชื้อรา เลอะคราบไขมัน ล้วนทำให้เกิดความผิดเพี้ยนของสี ทำให้ผลการตรวจนั้นเชื่อถือไม่ได้ ต้องระวัง 

IV.Red/Green ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ

คนแก่ ที่อายุ 55 ปีขึ้นไป เลนส์ตา (crystalline lens) มักจะเหลือง จาก neclear sclerosis ซึ่งจะ absorb short wavelength ได้มาก ทำให้แสงย่านน้ำเงิน เขียว ผ่านเข้าไปได้น้อย  ทำให้คนไข้เห็นแดงชัดกว่า สว่างกว่าเสมอ ทำให้เราไปเข้าใจผิดว่าคนไข้ยังมีสายตาสั้นเหลืออยู่ หรือเลนส์บวกสำหรับสายตายาวที่จ่ายไปนั้นมากเกินไป แล้วไปพยายามบาลานซ์ ก็จะเสี่ยงต่อการ over minus ให้คนไข้  ดังนั้นไม่ควรใช้ Duochrome test กับผู้สูงอายุ

V.ขนาดของรูม่านตากับอายุ

คนสูงอายุ มักมีรูม่านตาที่หดเล็กลง ทำให้ไปเพ่ิม depth of focus ผลก็คือความต่างของ power ของเขียว-แดง ไม่ถึง 0.50D ทำให้ความแตกต่างของชาร์ตบนพื้นเขียว/แดง นั้นมีน้อย คนไข้แยกความต่างได้ยาก 

VI.Red / Green ไม่เหมาะที่จะตรวจกับ Ametropia > 1.00D

ในการทำ Duochrome test นั้นเป็นการตรวจเพื่อหา end point ของค่า best sphere เพื่อนำค่าที่ได้ไปเข้าสู่กระบวนการอื่นต่อเช่นการ หา best sphere เพื่อนำไปทำ JCC  นั่นหมายความว่า การทำ Duochrome นั้นจะต้องมีการแก้สายตาเกือบทั้งหมดแล้ว จึงจะเช็คด้วยชาร์ตเขียว/แดง เพื่อเป็น final check หรือ confirmation test เพื่อไปสู่ขั้นตอนอื่น  แต่ไม่ใช่ว่าจะไปเอาเป็นเทสเริ่มต้นโดยที่ยังไม่ได้แก้ ametripia เลย 

ดังนั้น คนไข้ที่มี Ametropia > -1.00D ที่ยังไม่ได้แก้  Red / Green จะ blur มาก ค่าที่ได้จากการทำจะไม่มีคุณค่าอะไรต่อการนำไปพิจารณาทางคลินิกเลย 

VII.Red  / Green เป็น Full Subjective refraction 

Duochrome นั้นเป็นการตรวจแบบ full subjective technique ดังนั้น “การตั้งคำถามเป็นเรื่อง critical” ดังนั้นคำถามที่ผู้ตรวจควรถามคือ "วงกลมดำ (หรือตัวหนังสือ) ที่อยู่บนพื้นเขียว กับพื้นแดง ฝั่งไหนดูแล้ว ดำและคมชัดกว่า หรือว่าเท่าๆกัน”

เมื่อ endpoint ของ Red / Green ไม่สามารถจบที่เขียวแดงชัดเท่ากัน

จุด end point ของการทำ Duochrome นั้นคือคนไข้เห็นว่า วงกลมหรือตัวหนังสือบนพื้นเขียวและพื้นแดงนั้นชัด(หรือมัว) เท่าๆกัน แต่ถ้าในกรณีที่ไม่สามารถทำทำให้เท่ากันได้ ให้สามารถเลือกฝั่งเขียวหรือแดงขึ้นอยู่กับว่าจะนำค่า Red / Green ไปทำอะไร 

  • ถ้าจ่ายค่าสายตาเพื่อมองไกล เลือกฝั่งแดงชัดกว่า เพื่อป้องกัน over minus 
  • ถ้าจ่ายค่าสายตามมองไกล เพื่อเป็นแว่นขับรถกลางคืน หรือใช้สายตากลางคืนบ่อยๆ เลือกฝั่งเขียว เพื่อป้องกันมองไกลมัวจาก night myopia 
  • ถ้าต้องการทำเป็นแว่น reading ให้เลือกฝั่งเขียว เพื่อให้ Accommodation ทำงานบ้างเล็กน้อย 
  • ถ้าต้องการนำค่า best sphere ไปหา cylinder ด้วยวิธี Jackson cross cylinder  ให้เลือกเขียว เพื่อให้ disc of least confusion ตกบนจอรับภาพ 
  • ถ้าต้องการนำค่า best sphere ไปหา cylinder ด้วยวิธี Clock Dial test  ให้เลือกแดงชัด เพื่อให้ ระบบนั้นตกก่อนจอรับภาพ

Duochrome ควรทดสอบขณะเปิดหรือปิดไฟ อย่างไหนดีกว่ากัน 

Polasky (1991) พบว่า ในห้องที่มืดสนิทนั้น จะทำให้รูม่านตาขยาย และทำให้เกิด chromatic aberation เพ่ิมมากขึ้น แต่ถ้าห้องสว่างก็จะไม่ทำให้เห็นเขียวแดงไม่ค่อยชัด ดังนั้น ในการทำคลินิกมักในห้อง dim light เปิดเฉพาะจุดที่คนไข้นั่งเพื่อควบคุมรูม่านตา ไม่ให้เล็กหรือใหญ่เกินไป 

เรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความแม่นยำของการทำ duochrome 

Duochrome นั้นออกแบบมาโดยหลักว่า โฟกัสของความยาวคลื่นสีเขียวกับสีแดงนั้นโฟกัสห่างกัน 0.50D โดยอ้างอิงจากแสงเเหลืองจากหลอด tungstane ที่มีความยาวคลื่น 570 นาโนเมตร  แต่ Red / Green test และที่นั้นออกแบบมาหลากหลายแตกต่างกันไป ทำให้ผลการทดสอบนั้นอ้างอิงกันยาก  เพราะไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกัน  

เขียวหรือแดงชัดบอกอะไร 

เขียวชัด นั้นไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เพราะนั่นบอกเราว่า โฟกัสที่เหมาะสมนั้นตกหลังจุดรับภาพ  ซึ่งอาจจะเกิดในคนสายตาสั้นที่เราไป over minus หรือเกิดในคนไข้สายตายาวที่ไม่ได้แก้ไข การแก้ไขก็ง่ายเพียงแค่เพิ่มบวกเข้าไปจนกว่า คนไข้จะเห็นชัดเท่ากัน 

แต่แดงชัดนั้นมีความซับซ้อนในการวิเคราะห์ คือมีความเป็นไปได้ทั้งในเรื่อง myopia ที่ไม่ได้ corrected หรือคนไข้กำลัง accommodate อยู่ หรือเลนส์แก้วตาของคนไข้เหลืองจาก nuclear sclerosis ก็ได้ ดังนั้นถ้าเรารู้สึกว่าคนไข้เลือกว่าฝั่งแดงชัดอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าก่อนทำ red/green เราจะเห็นบน retinoscope หรือ ได้จากการ fog-unfog subjective refraction แล้วคนไข้เห็น VA ได้ดี แต่พอจะทำ final check ด้วยเขียวแดงแล้วปรากฏว่าคนไข้เลือกฝั่งแดงไปอีกหลายคลิ๊ก ทำให้เราต้องเพ่ิมลบไปเรื่อยๆ จนกว่าคนไข้จะเห็นชัดเท่ากัน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้นั้น เสี่ยงต่อการ over minus มาก แนะนำให้ไปตรวจด้วยวิธีอื่นจะดีกว่า

สรุป Duochrome test 

  • ใช้ +0.25/-0.25 sphere เพื่อ balance ชาร์ต เขียว / แดง โดยมีจุด endpoint คือ เขียวแดงชัดเท่ากัน 
  • ถ้าเขียวชัด แสดงว่าโฟกัสตกหลังจอรับภาพ ให้เพ่ิม +0.25DS จนกระทั่งชัดเท่ากัน 
  • ถ้าแดงชัด แสดงว่าโฟกัสตกก่อนจอรับภาพ ให้เพิ่ม -0.25DS จนกระทั่งเขียวแดงชัดเท่ากัน 

ข้อมูลทางเทคนิค 

  • Duochrome ที่ถูกต้องและได้มาตรฐานนั้น ต้องใส่ filter สีเขียวแดง กรองผ่านหลอดไส้ทังสเตน 
  • Filter ที่ใช้คือ Courtoid Red 15 และ Green 16
  • ความหนาของ filter คือ 0.25 mm
  • maximum transmittance ของฟิลเตอร์สีแดง RED 15 ,620 นาโนเมตร แสงผ่าน. 15.9%LFT และเขียว Green 16 535 นาโนเมตร แสงผ่านได้ 18% LFT 

ทิ้งท้าย  

Red / Green test นั้นดูผิวเผินแล้วเป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ แต่ความจริงนั้น มีปัจจัยที่เป็นเหตุให้ผลการตรวจนั้นเกิดความผิดพลาดอยู่มากมาย จะว่าไปแล้วต้องระมัดระวังกันทุกจุดเลย และยากมากที่จะควบคุมตัวแปรเหล่านี้ได้

สมัยเป็นนักเรียนทัศนมาตรนั้น มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งใช้หลักสูตรของ indiana university ,USA นั้นไม่ให้เด็กใช้ชาร์ต เขียว / แดง ในการตรวจ สมัยนั้นก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดไม่ให้ใช้ โดยอาจารย์จะให้ใช้วิธีอื่นแทนชาร์ตเขียวแดง และไม่ยอมรับค่าสายตาที่ได้จากวิธีการตรวจด้วย red green test ก็ไม่ค่อยเข้าใจเหตุผล แต่ก็ต้องทำตามที่ consult ให้ทำ 

จนเมื่อผมเร่ิมทำงานเองที่ ลอฟท์ ประมาณ​ 4  ปี  ผ่านเคสมาประมาณสองพันเคสพบว่าชาร์ตเขียวแดงนั้นมีเรื่องต้องระวังอยู่มาก และง่ายที่จะผิดเช่น บ่อยครั้งที่ผมทำ retinoscope จากนั้นก็ทำ subjective refraction เค้นค่าสายตาคนไข้ออกมาได้ BVA คมชัดระดับ 20/10 คนไข้ก็ยังมีแนวโน้มจะบอกว่า แดงชัดกว่าอยู่เป็นประจำ และคิดอยู่ในใจว่า มันต้องมีอะไรผิดปกติกับชาร์ตเขียวแดง จนมานั่งหา texbook อ่านหลายๆเล่ม ก็เจอปัจจัยที่่ทำให้ RED /GReen ง่ายที่จะตรวจผิด และก็อยากนำมาแชร์ เพราะการวัดสายตาในบ้านเรานั้น ใช้ชาร์ตเขียว/แดง กันได้สนุกสนานมาก เห็นแล้วก็อดเป็นห่วงผู้บริโภคไม่ได้ ก็เลยเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง เพื่อให้ท่านที่ทำงานด้านบริการสายตา ได้รู้หลักการใช้งานที่ถูกต้องจริงๆ  รู้ว่าจะต้องควบคุมปัจจัยอะไรบ้าง เพื่อให้ผลการตรวจนั้นมีความใกล้เคียงกับค่าจริงมากที่สุด เพื่อให้คนไข้ได้นั้นได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม

dr.loft

ติดตามเรื่องราวของลอฟท์​ ออพโตเมทรี ได้ที่ ลอฟท์ แฟนเพจ www.facebook.com/loftoptometry 

ติดต่อขอรับบริการได้ที่เบอร์ติดต่อ 090 553 6554  id line : loftoptometry 

เวลาทำการ อังคาร - อาทิตย์ เวลา 9:00 -18:00 น.

578 Wacharapol rd. 

Bangken BKK 10220