Case Study 32 : Lenticular Astigmatism สายตาเอียงที่เกิดจากเลนส์แก้วตา


Case Study 

topic  lenticular astigmatism

,by dr.loft

,15 May 2020


ประวัติ

คนไข้หญิง อายุ 45 ปี , มาด้วยอาการ

อาการหลัก : ดูใกล้ไม่ชัด ต้องใส่แว่นอ่านหนังสือ  เห็นหนังสือชัดขึ้นแต่ปวดหัว มองคอมพิวเตอร์ไม่ชัด ต้องชะโงกหน้าเข้าหาจอ มีอาการปวดหัวเช่นกัน 

อาการรอง  : มองไกลมัวหลังจากดูใกล้ไปสักระยะหนึ่งและต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าที่ไกลจะกลับมาชัดใหม่อีกรอบ เปลี่ยนระยะมองลำบาก

 

ประวัติเกี่ยวกับสุขภาพตา

ตรวจตา : ไม่เคยพบจักษุแพทย์หรือทัศนมาตรมาก่อน 

แว่นตา  :ใช้แว่น reading glasses ทำจากร้านแว่นทั่วไป  ใส่เฉพาะเวลาอ่านหนังสือ  แต่มีปัญหาเรื่องมองระยะคอมพิวเตอร์ไม่ชัด และปวดหัวเวลาทำงาน มองไกลไม่ใส่แว่น ชัดดี ขับรถได้

อื่นๆ :    ไม่มีประวัติ ผ่าตัด ติดเชื้อ กระทบกระเทือนหรือบาดเจ็บเกี่ยวกับดวงตาและศีรษะมาก่อน

 

Headache / Diplopia

มีปัญหาปวดหัว  บริเวณท้ายทอย หน้าผาก เป็นทุกวัน ช่วงบ่ายๆเย็นๆ ถ้าเป็นแล้วจะเป็นต่อเนื่องยาว มึนๆหัว ระดับความปวด 6/10 ต้องทานยาจึงจะหาย

 

ประวัติเกี่ยวกับสุขภาพ

สุขภาพแข็งแรง ไม่มีภูมิแพ้ ไม่มียาที่ต้องทานประจำ แต่มีปัญหาเมื่อยๆตึงๆบริเวณกล้ามเนื้อคอ เป็นมาประมาณ 3 ปี ตั้งแต่เริ่มดูใกล้ไม่ชัด

 

Lifestyle

ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน 6-8 Hr/Day

 

Clinical Finding

VAsc : 20/20 OD,OS,OU

CoverTest : Ortho ,Distant & Near

 

Refraction 

Retinoscopy

OD +0.75 - 0.7 5x 90 ,VA20/20

OS +0.75 - 0.75 x 90 ,VA20/20

BVA 

OD +0.50 -0.62 x87     20/15

OS +0.50 -0.75 x110   20/15

 

Binocular vision

Horz.phoria       2 BI ,exophoria (normal)

BI-reserve         x/10/6 (normal)

Vertical phoria   ortho (normal)

 

Accommodation 

BCC +0.75  

NPA/PRA +1.25/-1.25

DNEye Investigation data

 

Summary

Pupil : OD 5.5/3.2 mm,OS 5.6/3.1mm

Refraction @ Far

OD -0.13D  -0.50D x 108

OS  0.00D  -0.13D x 110

 

Refraction @ Near

OD +2.00 -0.50 x100  (Add+1.87)

OS +2.25 -0.13 x161 (Add +2.25)

 

Keratometry

OD 41.63@170 / 42.50@80 , corneal astig. Cyl -0.88x170 (WTR)

OS 41.63@ 8    /42.50@98   ,corneal astig. Cyl -0.75x8     (WTR)

 

Cornea Thickness  : OD 538 μm/ OS 565 μm

IOP/IOPc : OD 18.0mmHg/17.9mmHg ,OS 19 mmHg/18.5mmHg

 

Aberrometer Analysis

Refraction

at far

เป็นธรรมชาติของเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ ที่มักจะยิงให้ค่าออกมาเป็น over minus หรือ under plus เสมอและเนื่องจากคนไข้มีสายตายาวมองไกลแต่กำเนิด(+)ร่วมกับสายตาเอียง(-) เมื่อหักล้างกันแล้วก็ให้ค่าที่เข้าใกล้ศูนย์   ทำให้เครื่องตีค่าสายตาออกมาเป็นศูนย์และมองว่ามีสั้นเล็กน้อยที่ตาขวา แม้แท้จริงคนไข้เป็นสายตายาว 

 

จุดนี้ต้องระวังให้มากแม้ว่าเราจะใช้เครื่องมือที่ดีและแพงแค่ไหน แต่จุดอ่อนเรื่องตรวจสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ก็ยังแก้เรื่องนี้ไม่ได้  แต่อย่างน้อยก็เอาไว้เป็น guideline ในการทำ subjective ต่อ  ดังนั้นถ้า VA ตาเปล่าของคนไข้ชัดแล้วหรือค่าจากเครื่องยิงค่าสายตาออกมาและเมื่อให้ลองก็ชัดก็อาจจะยังสรุปอะไรจากความชัดไม่ได้ นอกเสียจากทำ subjective test ให้ดี หรือ recheck ด้วยกล้อง retinoscope

 

At Near

เดิมเครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตานั้น จะมีฟังก์ชั่นเฉพาะไว้วัดสายค่ามองไกล  แต่ปัจจุบันก็มีการพัฒนาให้สามารถวัดสายตาขณะมองใกล้เพื่อประเมินค่าสายตาสำหรับอ่านหนังสือ ( far refraction +addition = Near Refraction)  หรือ ถ้าเราอยากทราบค่า add ก็เอาไปเข้าสมการพีชคณิตธรรมดา ก็จะได้ค่า add ออกมา  แต่กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่า  ฟังก์ชั่นนี้ยังไม่ work ที่จะเอามาวัดค่าจากตามนุษย์  เพราะจากค่าที่ได้นั้น  เมื่อคำนวณเป็นค่า addition  ออกมา  ได้ค่า add มามากถึง +1.75D / +2.25D  ซึ่ง add ที่แท้จริงของคนไข้มีเพียง 0.75D เท่านั้น

 

มาถึงตรงนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า เครื่องที่ค่าละเอียดระดับ 0.1 ออกมานั้น เป็นค่าที่ออกมาจากเครื่องจริง  แต่ก็ยังห่างกับคำว่า Acuracy นัก  และแม้ว่าเครื่องเหล่านี้จะยิ่งซ้ำมาแล้วได้ค่าใกล้เคียงเดิม แต่ค่าที่ดูเหมือนจะน่าเชื่อถือก็ยังห่างค่าสายตาจริงอยู่มากเช่นกัน

 

ดังนั้น ท่านที่ฝันว่าอยากจะมีเครื่องประเภทนี้ ก็คงต้องไปดูว่าจะเอามาใช้ในเรื่องอะไร  ถ้าไม่เดือดร้อก็ซื้อมาไว้เป็นตัว investigation ได้ เพราะทำงานได้หลายอย่าง  ส่วนท่านที่ซื้อไม่ไหว ก็ให้ฝึกส่องกล้องเรติโนสโคปให้คล่องและทำ subjective test ให้เก่ง  ผลที่ได้จากวิธีพื้นฐานเหล่านี้ให้ได้ทั้ง acuracy ,repeatability และ reliability  ความแม่นยำของค่าสายตานั้นไม่ต่ำกว่า 90% แน่นอน  สามารถสร้างความสุขจากการมองเห็นให้คนไข้ของท่านได้มากกว่าเครื่องมือ 3มิติ 4มิติมาก เอาจริงๆก็คือว่า ถ้าได้ยินคำโฆษณาเหล่านี้ เช่นวัดสายตาด้วยระบบดิจิทัล 3D 4D 5D หรือจะกี่ดีก็ตามแต่ ให้คิดได้เลยว่า กระพี้ล้วนๆ  เพราะเรียนทัศนมาตร 6 ปี ไม่เคยมี professor ท่านไหนเคยบอกว่าเรื่องนี้มีอยู่ และผมได้ลองหมดแล้วก็ยังห่างไกลความแม่นยำจากวิธีเดิมอยู่มาก 

 

Astigmatism

Astig. หรือ สายตาเอียงนั้น เคสนี้มีจุดน่าทำความเข้าใจ เพราะเหตุว่า  สายตาเอียงที่เกิดขึ้นที่กระจกตาที่ถูก induced จากความโค้งกระจกตาไม่เท่ากันนั้น ทำให้เกิดสายตาเอียงที่มีแกนอยู่ในแนวนอนหรือเป็นแบบ with the rule,WTR ซึ่งวัดได้ค่ามา OD [Cyl -0.88DCx170] ,OS [Cyl -0.75DCx7 แต่พอตรวจสายตาจริงๆออกมา กลายเป็นมีสายตาเอียงอยู่ในแนวตั้งหรือ againt the rule,ATR คือ BVA  OD +0.50 -0.62 x87  , OS +0.50 -0.75 x110

 

ทบทวนเล็กน้อย สำหรับท่านที่มาใหม่ อาจจะยังไม่เข้าใจสายตาเอียงดีนัก  สายตาเอียงนั้นไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเอียงทั้งสิ้น แต่เกิดจากโฟกัสไม่รวมกันเป็นจุดแต่เป็นเส้น  เนื่องจากผิวหักเหโค้งไม่เท่ากัน (เหมือนลูกรักบี้ที่มีผิวโค้งด้านหนึ่งโค้งมากกว่าอีกด้าน)   ผิวหักเหของตานั้นมี 2 ส่วนคือ ที่กระจกตาและเลนส์ตา  นั่นหมายความว่า  สายตาเอียงนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งจากกระจกตาที่โค้งไม่เท่ากัน หรือเลนส์ตาโค้งไม่เท่ากัน หรือเป็นทั้งสองที่รวมกัน  

 

ถ้าเกิดทั้งสองที่และมีองศาเอียงอยู่ในแนวแกนเดียวกัน ก็จะได้ผลรวมของสายตาเอียงมากกว่าสายตาเอียงจากกระจกตา  แต่ถ้าสายตาเอียงจากแกนทั้งสองเกิดในแกนตรงข้ามกัน จะเกิดการหักล้างกัน และทิศทางก็จะมีองศาอยู่ในแกนที่มีค่าสายตาเอียงมากกว่า  ถ้าอยากอ่านมากกว่านี้ ตามลิ้งเข้าไปอ่านได้ในเรื่องสายตาเอียง https://www.loftoptometry.com/Eyecare/viewcase/42/2

 

สำหรับเคสนี้คนไข้มีสายตาเอียงที่ถูก induced จากเลนส์ตา(crystalline lens) ซึ่งเกิดขึ้นในแนวแกนตั้งและมีกำลังค่าสายตาเอียงมากกกว่าที่กระจกตาซึ่งเกิดในแนวนอน  ทำให้ผลรวมแบบ vecter ออกมาแล้ว คนไข้มีสายตาเอียงรวมในแนวตั้ง  เราเรียกสายตาเอียงจากเลนส์ตาว่า lenticular astigmatism  ซึ่งจากภาพล่างนั้นเป็นข้อมูลการการแสดง aberration จากเครื่อง Aberrometer (DNEye Scan2)  ดูจากแท่งสีซ้ายมีที่มีเลขกำกับ สีเหลืองเป็นสีแสดงถึงสายตาปกติ  สีที่อยู่ใต้สีเลืองแสดงถึงค่าสายตาที่มีความเป็นบวก และสีส้มแดงแดงอ่อนไปจนถึงขาวแสดงถึงค่าสายตามีความเป็นลบมากกว่า (ส่วนที่เห็นเครื่องหมาย +/- นั้นหมายถึงลักษณะกายภาพ แต่สายตาที่เกิดขึ้นจะให้เครื่องหมายที่ตรงข้าม)

 

จะเห็นว่า รูปกลางซึ่งเป็น aberration ที่เกิดจากเลนส์ตานั้น มีสายตาเอียงอยู่ในแนวองศา 90  ซึ่งเห็นชัดเจนว่ามีสีแดงวิ่งอยู่ในแนวดิ่งซึ่งถ้าดูจากสีจะมี cyl power ประมาณ -1.00DC  ในทางตรงข้ามเมื่อดูแนวนอนจะเห็นมีแนวน้ำเงินเข้มอยู่ ซึ่งจากสีนั้นคิดว่ามี power cylinder ในแนวนอนมากกว่า +1.00D และสายตาเอียงคือผลต่างของค่าสายตาของทั้งสองแกน ดังนั้นที่เลนส์ตาคนไข้นั้น มีสายตาเอียง -2.00DC เป็นอย่างน้อยในแนว WTR  ในขณะที่สายตาเอียงที่เกิดขึ้นที่กระจกตา จากเครื่อง topography นั้นมีสายตาเอียงประมาณ -0.75DC ในแนว ATR  เมื่อรวมกันแล้ว จึงเกิดการหักล้างกันบางส่วนและองศามีการ shift ไปในทางแนวดิ่งมากขึ้น 

 

 

ผลของ lenticular astigmatism 

ปรากฎการณ์ที่คนไข้มีสายตาเอียงเกิดขึ้นในเลนส์ตา หรือ lenticular astigmatism นี้ มักสร้างปัญหาเมื่อเลนส์ตามีการเพ่ง (accommodation)  เพราะการเพ่งของเลนส์ตานั้นทำให้มีการเปลี่ยนโค้ง (change shape) ของเลนส์ตา ส่งผลให้สายตาเอียงมีการเปลี่ยนแปลง(refractive change)ไปด้วยหรือส่งผลให้สายตาเอียงไม่คงที่นั่นเอง  นั่นหมายความว่า เวลาเลนส์ตาคลายตัว สายตาเอียงรวม (total astig.) ก็ได้มาค่าหนึ่ง  แต่เมื่อมีการดูใกล้นานๆ เลนส์ตาเกิดการเพ่งนาน ก็จะทำให้สายตาเอียงเปลี่ยนเป็นค่าอื่น

 

อาการลักษณะนี้เป็นการกระตุ้นให้เลนส์ตาทำงานหนักมากกว่าปกติเพื่อต้องพยายามหาจุดที่ชัดอยู่ตลอดเวลาและเมื่อกล้ามเนื้อคุมเลนส์ตาทำงานหนักเกินไป อาจทำให้เกิดอาการล้าของเลนส์ตาขึ้นมา เรียกว่า Accommodation fatique หรืออาจจะเกิดตะคริวกินเลนส์ หรือ Accommodative spasm ได้  ทีนี้เมื่อละสายตาจากใกล้ไปมองไกล เลนส์ตาคลายตัวไม่ทัน ทำให้สายตาเอียงที่แก้ด้วยแว่นตาเลนส์นั้นไม่ corrected กับตาไปชั่วขณะหนึ่ง เกิดเป็นอาการโฟกัสภาพช้าได้ เรียกว่า accommodative infacility 

 

ปัญหา lenticular astigmatism ของตนเอง

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่มีอาการลักษณะนี้ คือตอนเด็กๆนั้น จำได้ว่าผมน่าจะเป็นคนสายตาสั้นเล็กน้อย ตาเปล่าไม่ใส่แว่นก็พอมองไกลใช้ชีวิตได้ ดูใกล้ก็ชัดเจนดี แต่จะชัดไปสักระยะหนึ่ง คือแรกๆก็ชัดดี แต่พอดูไปสักระยะจะเริ่มเกิดภาพมีเงาซ้อนขึ้นมาซึ่งเป็นลักษณะของอาการสายตาเอียง  แต่แปลกกว่าสายตาเอียงปกติคือแรกๆไม่ซ้อนแต่จะซ้อนหลังจากดูใกล้ไปสักระยะเวลาหนึ่ง และยิ่งทนดูต่อไปอาการยิ่งเป็นซ้อนหนักขึ้น และเมื่อละสายตามองไกลนั้นจะภาพเกิดเป็นเงาขี่ซ้อนกันเลย  ก็ยอมรับว่ากังวลมาก เพราะไปร้านแว่นในสมัยนั้นซึ่งก็มีแต่ร้านในโฆษณาทีวีที่เราพอจะรู้จัก ก็ไปทำมา ปรากฏว่าได้แว่นที่มองไกลชัดแต่บีบๆ จ้าๆ แสบๆ เหมือนแพ้แสง แล้วก็ปวดขมับ และเวลาดูใกล้ยิ่งออกอาการหนักขึ้นชัดเจน ซึ่งคงจะเป็นค่าที่ over minus มาเยอะ แก้อยู่สองสามรอบก็ไม่หาย สุดท้ายก็เลิกไป และทิ้งไป  

 

ผ่านไปไม่นาน ก็มีรถหน่วยมาขายแว่นตั้งบูทในลานวัดแถวบ้าน ก็ไปใช้บริการ จำได้ว่าทำไป 4,000 บาท (เมื่อ 20 ปีที่แล้ว) ได้แว่นอาการเดียวกันมา  และสังเกตว่าวิธีการวัดของทั้งสองที่เหมือนกันคือ มีคอมพิวเตอร์วัดสายตา แล้วก็เลนส์เสียบให้อ่าน  อ่านได้ชัดแปลว่าจบ  แต่ปัญหาของเราไม่ใช่เรื่องชัดไม่ชัด แต่เป็นภาพมีเงาซ้อนหลังจากดูใกล้  ผู้ปกครองก็เลยไปพาไปหาหมอกลัวเราจะเป็นเนื้องอกขึ้นสมอง

 

 เราเดินทางกันตีสี่เพื่อไปรับบัตรคิวตอนตีห้าและรอคิวตรวจคิวแรกๆตอน 10 โมงเช้า และเวลานั้นผมยังไม่ได้อ่านหนังสือ สายตาเลยปกติ อ่านชาร์ตได้ทั้งหมด ใกล้ชัด ไม่มีเงา หมอก็ดูกายภาพของตาทั่วไป  ใช้เวลา 10 นาที ก็พบกว่าสายตาปกติ  กายภาพตา ประสาทตาปกติ ทุกอย่างปกติ  และบอกกับผู้ปกครองผมว่า "เด็กสุขภาพปกติดี ดวงตาปกติ  เด็กน่าจะคิดมากไปเอง"

 

ผมกลับบ้านพร้อมกับผู้ปกครองเชื่อว่าผมตาปกติ  ก็ได้แต่เก็บอาการนี้ไว้ และเป็นต่อเนื่องมาเป็นสิบปีก็ทนๆเอา เวลาขึ้นเงาซ้อนก็หรี่ตาเอา จนกระทั่งมาเรียนทัศนมาตรจึงได้รู้ปัญหาตัวเอง  และการแก้ไขของผมก็ง่ายมาก คือขณะให้เพื่อนตรวจสายตาให้ก็ต้องบังคับให้เลนส์ตาคลายตัวมากที่สุด เพื่อหาสายตาเอียงมองไกลขณะเลนส์ตาคลายตัวมากที่สุดและเมื่อดูใกล้ก็จ่าย addition ด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟ เพื่อให้เลนส์คลายตัว พอเลนส์คลายตัวแล้ว การ induce lenticular astigmatism ก็ไม่เกิด และผมก็สามารถดูใกล้นานๆได้โดยไม่รู้สึกถึงเงาซ้อนอีกเลย จะมีบ้างก็เล็กน้อย  ส่วนเลนส์โปรเกรสีฟมีภาพเบี้ยวนั้น ถ้าเทียบจากปัญหาภาพมีเงาซ้อนจากสายตาตัวเองแล้วแย่กว่าเยอะ

 

รูปล่างนั้น ผมเทสจากสายตาตัวเองเมื่อหลายปีก่อน และถ่ายรูป perspective ในเครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตา CANON RF10  และเมื่อผม fixate เป้าไปยังตำแหน่งต่างๆ ก็พบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์อ่านสายตาผมแตกต่างกันไป ทั้งค่าสายตาสั้นที่เพิ่มขึ้นและสายตาเอียงที่เพิ่มขึ้นมามาก  และจริงๆสายตาปัจจุบันผมอยู่ในแนวดิ่ง (Againt the Rule)  เลยเอามาให้ดู 

ดังนั้นในการแก้ไขสายตาคนไข้ลักษณะนี้นั้น ต้องมั่นใจว่าขณะตรวจสายตานั้นเลนส์ตาของคนไข้ relax จริงๆ และรีดปัญหาสายตาขณะที่เลนส์ตาคลายออกมาให้หมด  จากนั้นใช้เลนส์ add เข้าไปช่วยลดการเพ่ง เพื่อป้องกันการ change shape ของเลนส์แก้วตา โดยใช้เลนส์โปรเกรสซีฟ  ก็จะสามารถลดปัญหาดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งในเคสนนี้นั้น  คนไข้มี Add อยู่ +0.75D ก็ corrected ค่าสายตามองไกลให้หมด และ จ่าย add ด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟ  ซึ่งถ้าดูตามอายุแล้ว add ของคนไข้ต่ำกว่า norm มาก  เพราะถ้าให้มองหน้าแล้วจ่าย add สำหรับเคสนี้ถ้าไม่ระวังคงจะเป็น plano add +1.25 แน่นอนว่า เป็นการแก้ปัญหาแบบขอไปที แต่ไม่ได้แก้ให้ถูกต้อง 

 

สรุปเคส

ดังนั้นเคสนี้ ที่คนไข้แจ้งว่า ที่คนไข้มีปัญหาดูใกล้มัวและมองไกลมัวเป็นบางครั้ง เดี๋ยวชัด เดี๋ยวมัว ก็มาจากเรื่องนี้ สายตาเอียงที่ไม่ได้รับการแก้ไขซึ่งเกิดทั้งจากกระจกตาและเลนส์แก้วตาและเป็นกันคนละแกน ทำให้สายตาเอียงของคนไข้เปลี่ยนตลอดเวลาที่เลนส์ตามีการ เพ่งหรือคลายเพ่ง เลยเกิดอาการมัว ปวดหัวระดับ 6/10 ดังกล่าว ซึ่งเป็นระดับที่รบกวนการใช้ชีวิตได้มากทีเดียว 

 

ถ้าไม่มีเครื่องเช็คโค้งกระจกตาจะทำอย่างไร

แต่ในการจ่ายเลนส์แว่นตา ถ้าต้องการรู้ว่าคนไข้มีอาการที่ว่านี้หรือไม่  ถ้าไม่มีเครื่อง keratometer,topography และเครื่อง auto-refraction ที่สามารถอ่านค่า k ได้ก็นำมาฝึกพิจารณาดูได้  ถ้าสายตาเอียงรวมนั้นสูงกว่าสายตาเอียงจากกระจกตา หรือ สายตาเอียงที่วัดได้มีองศาตรงข้ามกับองศาสายตาเอียงที่เกิดขึ้นที่กระจกตา เราก็สามารถประเมินได้ว่าคนไข้น่าจะมีสายตาเอียงที่เกิดขึ้นในเลนส์ตาอยู่ และคนไข้อาจจะมีอาการอย่างที่เล่ามาได้ 

 

ถ้าไม่มีเครื่องวัดความโค้งของกระจกตา ก็ซักประวัติให้ดี ลงให้ละเอียดว่าลักษณะอาการมัวของคนไข้นั้นเป็นอย่างไร มัวตอนไหน และมัวอย่างไร  แล้วจากนั้นก็พยายามแก้ refrative error ให้หมดทั้งการส่องกล้อง retinoscope และ subjective test  ทำ binocular vision ก็จะทำให้ฟังก์ชั่นทุกอย่างกลับมาทำงานปกติ และ เราอาจไม่ต้องรู้ก็ได้ว่า กระจกตาโค้งเท่าไหร่ มีสายตาเอียงเกิดขึ้นที่กระจกตาเท่าไหร่ และถ้าไม่รู้ก็ไม่ต้องไปคำนวณสายตาเอียงที่เกิดขึ้นที่เลนส์ตาต่อ  แต่ที่ต้องหาให้ได้และแก้ให้หมดก็คือ total astigmatism ที่วัดได้  จะเกิดจากไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับการหาว่ามีทั้งหมดอยู่เท่าไหร่ แล้วก็แก้ไขให้หมด เท่านี้ก็ช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้นแล้ว อย่าไปเรียนวิชามาร ปัดทิ้งปัดขว้าง ตบแกนขึ้นแกนลง ส่วนใหญ่ถ้าต้องปัด แสดงว่าค่าที่หาได้นั้นยังไม่ใช่ค่าจริง แล้ว play safe ก็เลยตบเข้าแกนหลัก หรือ ลดค่า ซึ่งรูปแบบนี้เป็นการกวาดขยะหมกใต้พรมมากว่าที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาจริงๆ  

 

ประโยชน์ของเครื่อง DNEye Scan 

อนึ่ง...สิ่งที่บ้านเราเข้าใจผิดพลาดกันมากก็คือไปเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเครื่อง DNEye Scan 2 ที่มีค่าตัว 1.68 ล้านนั้นทำขึ้นมาเพื่อเอามาวัดสายตาสั้น ยาว เอียง ที่ดูดีและทันสมัย เอาไว้เพิ่มมูลค่าให้กับการขายแว่น  ซึ่งถ้าคิดอย่างนั้นก็ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ไปไกล  

 

แท้จริงแล้ว เครื่อง DNEye Scan2 นั้น เขาพัฒนาขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูลทางกายภาพของดวงตาที่จำเป็นในการนำไปออกแบบเลนส์รุ่นใหม่ของเขา เรียกว่า DNEye Technology  ซึ่งเป็น option technology สำหรับ add-on เข้าไปกับเลนส์พื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเลนส์ให้ดีขึ้น โดยมีหัวใจของเทคโนโลยีนี้คือต้องการคำนวณ optic ของเลนส์บนพื้นฐานทางกายภาพดวงตาของแต่ละคน เรียกว่า personal eye model  

 

แต่เดิมนั้นเมื่อ lens designer เวลาเขาจะทำการออกแบบเลนส์ ก็ต้องไปเอาโครงสร้างตาจำลองของ Gullstran's eye model  ซึ่งค่ากลางประมาณเอาไว้ตั้งเป็นร้อยปีมาแล้วใช้ อ่านเรื่อง eye model จากลิ้ง https://www.loftoptometry.com/whatnew/view/109 และปัจจุบันเลนส์ทั้งโลกก็ยังใช้โมเดลนี้อยู่ รวมถึงเลนส์รุ่นหลักๆของโรเด้นสต๊อกด้วย  

 

แต่โรเด้นสต๊อกเขาคิดใหม่ เพราะไหนๆเทคโนโลยีมันก็ไปไกลขนาดนั้นแล้ว ก็คิดต่อว่า จะทำอย่างไร ถึงจะเก็บข้อมูลทางกายภาพจริงของดวงตาแต่ละคนได้  ตั้งแต่ ความหนากระจกตา ความโค้งของกระจกตา ค่าสายตาเอียงดูใกล้ที่เปลี่ยนไป  ขนาดรูม่านตาขณะเปิดไฟ ปิดไฟ ความลึกของช่องน้ำในลูกตา ความหนาเลนส์แก้วตา ความลึกของวุ้นตา และความยาวของกระบอกตาทั้งหมด เพื่อให้รู้ระยะที่แน่นอนว่า จุดโฟกัสของดวงตาแต่ละคนนั้นอยู่ที่ไหน จะได้ออกแบบเลนส์เพื่อวางโฟกัสให้ตกพอดี ร่างกายจะได้ไม่ต้องออกแรงชดเชยเพื่อจะให้ชัด เมื่อโฟกัสได้แม่นยำ ภาพก็ชัดขึ้น สีก็สดขึ้นเพราะฟุ้งจากความคลาดเคลื่อนลดลง พอความคลาดเคลื่อนลดลง เนื้อชัดก็มากขึ้น ก็ได้ผลพลอยได้ว่าโครงสร้างเลนส์กว้างขึ้น  เหล่านี้คือหลักการของเครื่องตัวนี้  ไว้ว่างๆจะได้นำมาเขียนสู่กันอ่าน  สรุปว่า เครื่องเขาเอาไว้ออกแบบเลนส์ไม่ใช่ตั้งใจเอามาให้วัดสายตา

 

 

สรุป

สำหรับเคสนี้ก็หลักๆ ที่ตั้งใจเอามาให้ดู  ก็เพื่อให้ได้ไอเดียสองสามอย่างว่า

 

เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ให้ค่าที่ละเอียด ก็ไม่ได้หมายความว่าค่าที่ละเอียดนั้นจะเป็นค่าที่มีความแม่นยำ เพราะมันคนละส่วนกัน เรื่องนี้พูดบ่อยแล้ว ไม่ค่อยอยากพูดซ้ำ  แต่ประโยชน์ของเครื่องเหล่านี้ก็สามารถช่วยการ investigate ภาพรวมของคนไข้ให้เราได้

 

อาการชัดแต่ปวดหัว เป็นอาการลักษณะอาการของ binocular Funciton ทำงานไม่ปกติ  ซึ่งสายตาในตัวอย่างเคสนี้  มีเหตุจาการ Fluctuation ของระบบ accommodation จากความพยายามที่จะรวม focal line จากสายตาเอียง ให้กลายเป็น point  แต่ทำไม่เนื่องจากคนไข้มีสายตาเอียงอยู่ ดังนั้นความชัดที่คนไข้เห็นนั้นเกิดจาก circle of least confusion ตกบนจุดรับภาพ  ด้วยอาศัยการ accommodation ของเลนส์แก้วตา และเมื่อมี accommodation ก็มีเรื่องของ astig.change จาก lenticular astig. ขึ้นมากวนอีก ทำให้ระบบไม่สามารถผ่อนคลายได้เลย  และเห็นได้ชัดว่า คนไข้มีอาการหนักมากขึ้นหลังจากช่วงบ่ายๆ และการแก้ไขก็คือ Full correction refractive error  แล้วพิจารณาจ่ายเลนส์ addition เพื่อลดการเพ่งของเลนส์ตา ก็จะสามารถช่วยคนไข้ลักษณะนี้ได้

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจในการติดตาม

พบกันใหม่ตอนหน้าครับ

Dr.Loft ,O.D.

 

578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม.10220 

www.facebook.com/loftoptometry

lineid: loftoptometry

mobile : 090 553 6554

www.loftoptometry.com